ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ร่วมค้นหาวิถีใหม่ สร้างสมดุลระบบนิเวศในเอเชีย (2)

ร่วมค้นหาวิถีใหม่ สร้างสมดุลระบบนิเวศในเอเชีย (2)

19 มิถุนายน 2012


โครงการปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย (Asian Public Intellectuals Fellowships Program) จัดเสวนาในหัวข้อ “ร่วมค้นหาวิถีใหม่ สร้างสมดุลระบบนิเวศในเอเชีย” เมื่อวันที่ 14-15 มิถุนายน 2555 ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ เพื่อร่วมแบ่งบันปัญหาและหาทางแก้ไขจากกรณีศึกษาของสมาชิกภาคีทั้ง 5 ประเทศ คือ ไทย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเชีย และมาเลเซีย

ชุมชนเอพีไอเกิดขึ้นจากโครงการปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย (API Fellowships Program) ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2543 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธินิปปอน(Nippon Foundation) โครงการหลัก ได้แก่ ให้ทุนสนับสนุนปัญญาชนสาธารณะแก่สมาชิกทั้ง 5 ประเทศ และในปี 2553 ได้เริ่มให้ทุนกับประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม

ในวันที่สองของงานเสวนา “ร่วมค้นหาวิถีใหม่ สร้างสมดุลระบบนิเวศในเอเชีย” ดร.ดิคกี้ ซอฟจัน ผู้จัดการโครงการระดับภูมิภาค ผู้รับทุนเอพีไอปีที่ 7 (Asian Public Intellectuals Fellowships) จากประเทศอินโดนีเซีย เป็นผู้นำเสวนาในหัวข้อ “เสียงจากชุมชน” ร่วมกับผู้นำชุมชนจากอีก 5 ประเทศ ดำเนินการอภิปรายโดย ดร.คอลิน นิโคลัส ผู้ก่อตั้งและประสานงานหลักของศูนย์เพื่อชนพื้นเมืองออรัง แอสลี ผู้รับทุนเอพีไอปีที่ 1 จากประเทศมาเลเซีย

เริ่มจากนายเท็ตสึยะ อิมาคิตะ ผู้ปลูกป่าชุมชน ประเทศญี่ปุ่น กล่าวถึงสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในชุมชนของเขาว่า ชุมชนรอบทะเลสาบบิวะที่เขาอาศัยอยู่นั้นเป็นป่าต้นน้ำ ลักษณะของพื้นที่คือมีหมู่บ้านอยู่ตรงกลาง มีต้นสนซีดาร์ล้อมรอบ ถัดออกไปเป็นป่าขนาดใหญ่

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือต้นสนซีดาร์ขึ้นรอบๆ หมู่บ้านไม่เป็นระเบียบ ส่งผลให้พืชและผักป่าต่างๆ ตายหมด ดังนั้นสัตว์ป่าไม่มีอาหารกิน จึงลงมาหาอาหารยังหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน เพื่อให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เขาจึงตัดต้นสนบางส่วนทิ้งเพื่อให้เป็นระเบียบ แล้วนำไม้นั้นมาทำเป็นทางในหมู่บ้าน และเผาป่าเพื่อให้เกิดเถ้าถ่านที่เป็นปุ๋ยให้กับดิน ทำให้พืชและผักป่าขึ้นได้เองตามธรรมชาติ

Biwako ที่มาภาพ: http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/8/87/Biwako_Quasi-National_Park_Omihachiman06n3200.jpg
Biwako ที่มาภาพ: http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/8/87/Biwako_Quasi-National_Park_Omihachiman06n3200.jpg

นอกจากนี้ได้ปลูกป่า รักษาภูเขา แม่น้ำ และต้นน้ำ เพื่อให้ชุมชนมีแหล่งอาหาร สามารถฟื้นฟูตัวเองได้ และเมื่อชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์ ก็จะเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้คนหนุ่มสาวกลับมายังบ้านเกิด

สำหรับข้อสงสัยที่ว่า “การเผา” นั้นดีหรือมีประโยชน์อย่างไรต่อดินและพืช นางสุภา ใยเมือง ผู้รับทุนเอพีไอปีที่ 6 ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับการเกษตร กล่าวว่า การเผาจะช่วยกระตุ้นให้เมล็ดพันธุ์นั้นเจริญเติบโต และเถ้าถ่านที่ได้จากการเผาจะกลายเป็นธาตุคาร์บอนเติมให้กับดิน อีกทั้งช่วยกำจัดวัชพืช ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่มักใช้วิธีนี้เป็นปกติ สำหรับการเผาที่ญี่ปุ่นนั้นคิดว่าเขามีวิธีจำกัดพื้นที่ที่ดีจึงไม่ก่อให้เกิดมลพิษ

ด้านชุมชนคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช ของไทย นายยงยุทธ กระจ่างโลก หนึ่งในผู้นำชุมชนเล่าว่า ชุมชนคีรีวงมีอายุกว่า 200 ปีแล้ว เดิมชื่อชุมชนขุนน้ำ ที่แปลว่า ต้นน้ำ ลักษณะหมู่บ้านคือล้อมรอบด้วยภูเขา มีทางเข้าออกทางเดียว ชาวบ้านใช้ชีวิตแบบ “คนอยู่กับป่า” ส่วนใหญ่ทำสวนสมรม คือ ทำสวนผสมผสานที่กลมกลืนกับป่า
ในปี พ.ศ. 2505 เกิดพายุใหญ่ทำให้สวนสมรมและป่าเชิงเขาเสียหายอย่างหนัก ต้นไม้ต่างๆ ล้มไปในแม่น้ำ ทำให้ทางคมนาคมที่มีทางเดียวในสมัยนั้นเสียหาย เพราะน้ำน้อยเกินกว่าที่เรือจะแล่นได้ ภายหลังจึงสร้างถนนกว้างเพียงรถจักรยานยนต์วิ่งได้เข้าหมู่บ้าน

ต่อมาปี พ.ศ. 2518 ชุมชนถูกประกาศเป็นพื้นที่สีแดงจากเหตุการณ์คอมมิวนิสต์ และโดนพายุหนัก เกิดดินถล่ม บ้านเรือนเสียหาย กลายเป็นอุทกภัย เพราะก่อนหน้านี้เกิดเลื่อยยนต์ขึ้นทำให้การตัดไม้ทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่าเดิม และในปี พ.ศ. 2531 ชุมชนคีรีวงก็เกิดอุทกภัยใหญ่อีกครั้ง

“แต่คนของชุมชนคีรีวงได้ฝึกอบรมชุดครูฝึกและวิทยากรโครงการอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) มาตั้งแต่ พ.ศ. 2528 และมีหน่วยงานต่างๆ มาให้ความรู้เพื่อพัฒนาคนในชุมชนตั้งแต่ พ.ศ. 2532 เพราะปัญหาที่สำคัญคือ คนไม่พัฒนา มีวิถีชีวิตที่ทำลายป่า ทำให้แก้ไขปัญหาไม่ได้ จนถึงวันนี้ กว่า 20 ปีแล้วที่ชุมชนคีรีวงไม่เคยเกิดอุทกภัย เพราะความร่วมมือกันของคนในชุมชนที่ช่วยรักษ์ป่า และมีวิธีการจัดการและเฝ้าระวังน้ำที่ดี”

คีรีวง ที่มาภาพ: http://www.oknation.net

ดร.ฟลอเรนดิโน ฮอร์เนโด ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมพื้นเมืองอิวาตัน บนเกาะบาตาเนส ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า เพื่อป้องกันความเสื่อมถอยของระบบนิเวศและวัฒนธรรมและความเป็นเมืองที่จะเข้ามาแทนที่วัฒนธรรมและชนพื้นเมืองเก่าแก่กว่า 5,000 ปี สิ่งที่เขาทำคือพยายามศึกษาและทำความเข้าใจธรรมเนียมแบบปากต่อปากของชุมชน เช่น การทำนายอากาศ การทำนายก่อนออกเรือประมงหรือปลูกพืชผักต่างๆ ว่าทำกันอย่างไร แล้วก็พบว่าชาวอิวาตันนั้นมีหลักวิทยาศาสตร์ของเขา แต่ไม่ได้ถูกสอนอย่างเป็นสากลในสถาบันการศึกษา เพราะเขาไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ออกมาเป็นวิชาการได้ ส่วนชาวบ้านที่เรียนเก่งๆ พอออกไปศึกษาในสถาบันข้างนอกก็จะหลุดออกจากวัฒนธรรมเดิมของตนเอง

ดังนั้นเขาจึงทำให้ชาวอิวาตันตระหนักในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของตัวเอง และได้ตั้งมูลนิธิพัฒนาบาตาเนส เพื่อให้ชุมชนมีน้ำประปามีไฟฟ้าใช้ และในปี ค.ศ. 1991 ก่อตั้งวิทยาลัยในบาตาเนส โดยดึงด็อกเตอร์จากข้างนอกเข้ามาให้ความรู้แก่นักศึกษาระดับปริญญาโท เพราะบุคคลที่มีตำแหน่งสูงแล้วมาอยู่ที่เกาะนี้จะเป็นบุคคลภายนอกทั้งหมด ปัจจุบันมีนักศึกษาปริญญาโทจบแล้ว 64 คน เมื่อมีครูที่เป็นคนในชุมชน ก็จะมีมุมมองในการถ่ายทอดวัฒนธรรมของเขาอย่างเป็นสากลได้ และในฐานะนักวิชาการ เราต้องสร้างสำนึกรู้ในวัฒนธรรม

ส่วนชุมชนแม่น้ำโชเดแห่งเมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเชีย นายโตต๊ก พราโตโป ผู้นำชุมชนดังกล่าวเล่าถึงชุมชนของเขาว่า ชุมชนของเขาประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่อยู่เสมอ เนื่องจากการระเบิดของภูเขาไฟเมราปี ในปี 2010 ทำให้เกิดเถ้าถ่านตะกอนดินไหลลงทางน้ำ ทำให้แม่น้ำตื้นเขิน อีกทั้งยังมีปัญหาขยะจำนวนมากในแม่น้ำด้วย

ที่มาภาพ: http://stat.ks.kidsklik.com
แม่น้ำโชเดแห่งเมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเชีย ที่มาภาพ: http://stat.ks.kidsklik.com

วิธีการจัดการของเขาคือให้ความรู้แก่ชาวบ้านเพื่อเพิ่มคุณภาพคน สร้างกิจกรรมร่วมกับชุมชน เช่น ช่วยกันเก็บขยะขึ้นจากแม่น้ำ ประกาศห้ามทิ้งขยะลงแม่น้ำอย่างเด็ดขาด และตอนนี้กำลังก่อตั้งคณะกรรมการของชุมชน โดยมีตัวแทนจากชาวบ้าน 48 คน กลุ่มเอ็นจีโอ กลุ่ม API และตัวแทนจากรัฐบาล เพื่อสร้างความร่วมมือให้ครอบคลุมทั้งภายในและภายนอกชุมชน

ด้านนายบาตินอะวัง อะล๊ก ผู้นำชุมชนโอรังอัสลี ในทะเลสาบชินี่ ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า ปัญหาของทะเลสาบคือคุณภาพน้ำลดลงมาก จากการปล่อยน้ำทิ้งจากอุตสาหกรรมและเหมืองแร่ ระบบนิเวศที่ถูกทำลายจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว การตัดไม้ และการสร้างเขื่อนขนาดเล็ก ทำให้สูญเสียความเป็นป่าไม้และการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำ ทั้งๆ ที่ทะเลสาบนี้ใหญ่เป็นอับดับสองของมาเลเซีย และเป็นแหล่งรองรับน้ำกว่า 100 สายจากภูเขาที่โอบโดยรอบ

เมื่อ 5 ปีที่แล้ว มีกลุ่มเอ็นจีโอเข้ามาช่วยฟื้นฟูให้ทะเลสาบสามารถเป็นแหล่งหากินได้ของชาวโอรังอัสลี ต่อมาไม่นานก็มีความคิดที่จะก่อตั้งกลุ่มในชุมชนเพื่อคุ้มครองสภาพแวดล้อมพื้นที่ต้นน้ำ มีการจัดทำแผนที่ชุมชนที่แบ่งชัดเจนว่าส่วนไหนคือพื้นที่ของชาวบ้านบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดการทับซ้อนพื้นที่ทำกินกัน และสร้างกิจกรรมเพื่อไม่ให้ใครมาทำลายสิ่งแวดล้อมของเขา

“ผมไม่เคยคาดหวังเลยว่ารัฐบาลหรือใครๆ จะเข้ามาช่วยเหลือพวกเรา ดังนั้นเราต้องดูแลรักษาของของเรา ด้วยเงินและทุกอย่างที่เรามีอยู่”

จากการเสวนาจากผู้นำชุมชนทั้ง 5 ประเทศ สรุปได้ว่า มนุษย์ส่วนใหญ่ทำตัวเหมือนกับไม่ใช่ส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ทั้งๆ ที่จริงแล้วเราใช่ และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมต้องเชื่อมโยงกันแบบ 2 ทางด้วยกันคือ เราต้องเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับเช่นเดียวสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เพราะเราต่างก็ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันอย่างสมดุล

ในเรื่องการศึกษา เรามักเน้นการศึกษาที่เป็นสากลในระดับโลก โดยลืมศึกษาเรื่องของตัวเอง ดังนั้นเราต้องศึกษาตัวเองให้เข้าใจด้วยก่อนที่จะไปเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นๆ ภายนอก สิ่งสำคัญที่เราต้องทำคือ จะถ่วงดุลระหว่างมนุษย์และธรรมชาติได้อย่างไร

สำหรับในช่วงบ่ายเป็นการเสวนาในเรื่อง “การมีส่วนร่วมกับชุมชน: ปรับความรู้สู่การปฏิบัติ” โดยตัวแทนจากทั้ง 5 ประเทศ เริ่มจากทานาโกะ โมมิยามะ นักประพันธ์ดนตรี ผู้รับทุนเอพีไอปีที่ 2 จากประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่าการจะมีส่วนร่วมกับชุมชนได้ ต้องเข้าไปคลุกคลีกับชาวบ้าน รับฟัง พูดคุย ทำความเข้าใจและสร้างกิจกรรมกับชุมชน แล้วผลิตผลงานออกมาเป็นเพลงหนึ่งเพลง ตัวอย่างเช่น เพลงแรกเกิดจากการผสมผสานระหว่างเสียงไวโอลิน และการเลียนเสียงสัตว์ของเด็กๆ ในชุมชนแห่งหนึ่งที่ เด็กๆ ขาดพื้นที่ในการทำกิจกรรมร่วมกัน

อีกแห่งคือที่เนเธอร์แลนด์ หลังที่เธอเห็นว่าน้ำมีความเชื่อมโยงกับประเทศนี้มาก ทั้งเป็นประเทศต่ำกว่าระดับน้ำทะเลและมีคลองจำนวนมาก จึงรวบรวมเอาเสียงน้ำมาประกอบเป็นบทเพลง

ด้าน ศ.มายเฟล พาลูก้า ประธานคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ วิทยาเขตมินดาเนา ผู้รับทุนเอพีไอปีที่ 6 จากประเทศฟิลิปปินส์กล่าวว่า ชุมชนต้องสัมพันธ์กับลักษณะทางภูมิศาสตร์ และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็สะท้อนลักษณะทางภูมิศาสตร์ ที่เราต้องรู้จักเอาแนวคิดเก่ามาสร้างใหม่ให้เหมาะสมอย่างไร และต้องรู้ว่าจะต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร จะอยู่กับธรรมชาติได้อย่างไร ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องรีบลงมือทำอย่างยิ่ง

นายยูลิ นูกรอฮอ นักวิจัยอาวุโส ผู้รับทุนเอพีไอปีที่ 5 จากประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า การช่วยเหลือชุมชนต่างๆ เหล่านี้ นอกจากจะต้องใช้ความรู้กับคนในชุมชนแล้ว เราต้องดึงเอาองค์กรต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย นอกจากนี้ก็ยังต้องหาเงินทุนจากรัฐ เพื่อนำมาจัดการแก้ไขและพัฒนา ถ้าหากไม่มีเงินทุนจากแหล่งใด เราก็ต้องพึ่งพาเงินตนเอง อีกทั้งยังต้องขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะความร่วมมือของนักวิชาการ

ด้านนางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ผู้รับทุนเอพีไอปีที่ 5 จากประเทศไทย เปรียบเทียบความแตกต่างของชุมชนทะเลสาบชินี่และชุมชนคีรีวงว่า ชุมชนทะเลสาบชินี่ใหญ่เป็นอันดับสองของมาเลเซีย มีชาวพื้นเมืองโอรังอัสลีอาศัยอยู่ประมาณ 500 คน และมีความรู้เรื่องยาสูง เรียกได้ว่าเป็นหมอยาที่สำคัญในอดีต ทรัพยากรและระบบนิเวศมีความเสื่อมโทรมมากและกระทบวิถีชีวิตของชาวบ้าน อีกทั้งนโยบายของรัฐบาลยังสนับสนุนให้ตัดไม้ ทำสวนปาล์ม ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เหมืองแร่ อุตสาหกรรม ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยการสร้างเขื่อนขนาดเล็ก นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีสิทธิจัดการทรัพยากรธรรมชาติน้อยมาก

ในขณะที่ชุมชนคีรีวงทำสวนสมรมที่อนุรักษ์ป่าไม้ มีประชากรประมาณ 3,000 คน และมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ แม้จะมีปัญหากับรัฐบาลเพราะเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ แต่ก็ช่วยให้ชาวบ้านเกิดการปักปันเขตแดนของตัวเอง มีความสามรถในการต่อรองกับรัฐได้ เพราะชุมชนมีความเข้มแข็ง ที่สำคัญคือมีกองทุนออมทรัพย์ของชุมชนซึ่งมีเงินหมุนเวียนประมาณ 60 ล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจของชุมชนมีความมั่นคง สำหรับสิ่งที่เหมือนกันของ 2 ชุมชน คือ คนในชุมชนมีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อธรรมชาติมาก

ส่วนโจซี่ เฟอนันเดซ เลขาธิการองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ประจำประเทศมาเลเซีย ผู้รับทุนเอพีไอปีที่ 6 กล่าวถึงชุมชนในทะเลสาบชินี่ว่า ชาวบ้านต้องปกป้องตนเอง เพราะพวกเขาคือบุคคลที่อาศัยอยู่ที่นี่มานานก่อนที่ประเทศมาเลเซียจะมีกษัตริย์ปกครองเสียอีก พวกเขาควรจะมีสิทธิเลือกตั้ง และได้รับสิทธิพื้นฐานอื่นๆ ของประเทศ แต่พวกเขากลับไม่ได้รับสิทธิอะไรเลย แม้แต่การครอบครองที่ดินที่ตนเองอยู่มานาน อย่างนี้แล้วพวกเขาจะมีอำนาจอะไรไปปกป้องอะไรได้

ต่อมาชาวบ้านก็ได้เขียนข้อเรียกร้องสิทธิต่างๆ ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี นี่เป็นครั้งแรกที่ทำให้คนภายนอกได้รู้ถึงการมีตัวตนของพวกเขา และถึงแม้รัฐบาลจะทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นที่ทะเลสาบ นักวิชาการหลายฝ่ายจะเข้ามาวิจัย แต่รัฐบาลก็ช่วยเหลืออะไรไม่ได้เลย เพราะเวลาเรื่องถูกรายงานต่อนายกฯ ก็จะบอกว่าดีขึ้นแล้ว ส่วนนักวิชาการเองก็ล้มเหลว เพราะรู้ปัญหาแต่ไม่ได้แก้ไข

ในงานเสวนาครั้งนี้มีแขกพิเศษจากพม่าคือ นายแฟรงกี้ ฮับรู นักสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์และการเปิดประเทศของพม่าจึงเกิดโครงการมากมาย และหนึ่งในโครงการที่สำคัญก็คือ การสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย ซึ่งจะมีขนาดใหญ่กว่าพื้นที่มาบตาพุดของไทยถึง 10 เท่า

ทวายมีทะเลที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์มาก ชาวบ้านสามารถหาปลาเลี้ยงชีพได้ทุกวัน มีป่าชายเลนที่สมบูรณ์ ส่วนในป่าไม้ก็มีการปลูกหมากเป็นหลัก ซึ่งสามารถสร้างรายได้กว่า 100 ล้านบาทต่อปี โดยใช้วัวเทียมเกวียนเป็นพาหนะขนส่งหมากออกจากป่า

แต่ปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป พื้นที่ป่าถูกบุกรุกโดยบริษัทอิตาเลียนไทย เพื่อสร้างเป็นถนน ต้นไม้หลายต้นถูกเชือกผูกไว้เป็นสัญลักษณ์เพื่อจะทำบางอย่าง แต่ทั้งหมดนี้ไม่เคยมีใครมาบอกให้ชาวบ้านรู้มาก่อน จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครมาเจรจาเลย แม้แต่การจ่ายเงินชดเชยหรือเรื่องการย้ายออกจากพื้นที่ชาวบ้าน เพราะจะถูกน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนเพื่อรองรับการใช้น้ำของอุตสาหกรรม แล้วจะให้ย้ายไปที่ไหน เป็นอย่างไรก็ไม่รู้ การรับรู้ของชาวบ้านก็เพียงแต่ได้ยินคนงานที่เอาเครื่องจักรเข้ามาและพูดคุยกันเท่านั้น

“ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่อยากย้ายถิ่นไปไหน เพราะการสร้างที่อยู่ใหม่เนื่องจากย้ายถิ่นทำให้เงินก้อนโตที่มีอาจไม่พอ และย้ายไปอยู่ก็อาจอยู่ได้ไม่นานเงินก็หมดหากไม่มีอาชีพให้ทำ แม้แต่เด็กๆ เองก็ไม่อยากแยกย้ายจากเพื่อนๆ ของเขา ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งทำงานด้านสังคมก็ถูกขมขู่ไม่ให้ต่อต้านใดๆ เพราะการอนุรักษ์ของเธอเท่ากับกระสุนหนึ่งนัด”

ทุกวันนี้ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็มักจะเห็นชาวพม่าอ่านหนังสือแทบจะทุกคน โดยมีความสนใจแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ หนังสือพิมพ์การเมืองและหนังสือพิมพ์ธุรกิจ

“พวกผู้นำมักจะบอกให้ชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไปตามโลกอยู่เสมอ แล้วพวกคุณทำไมไม่เปลี่ยนแปลงความคิดเดิมๆ ของตัวเองบ้าง”

นายเดชรัต สุขกำเนิด ที่มาภาพ: http://kubag.lib.ku.ac.th
นายเดชรัต สุขกำเนิด ที่มาภาพ: http://kubag.lib.ku.ac.th

นายเดชรัต สุขกำเนิด ศาสตราจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะ เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สรุปการอภิปรายว่า เราสามารถต่อสู้กับทุกอย่างได้ ยกเว้นเมื่อเราถูกครอบงำด้วยสถาบันที่เรียกว่า “รัฐ” เนื่องจากเรามีพื้นฐานที่ไม่เท่ากัน รัฐมีทั้งอำนาจ การควบคุมความรู้และการรับรู้ของสังคม ซึ่งเป็นการควบคุมอย่างเป็นระบบที่เราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำคือการให้ความรู้ และเปลี่ยนความเข้าใจที่ผิดๆ ของชาวบ้าน ที่เกิดจากการครอบงำของรัฐ เช่น ที่ประจวบคีรีขันธ์ รัฐเคยจะเปลี่ยนให้เป็นจังหวัดศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเหล็ก แต่ก็มีคนชี้ให้ชาวบ้านเห็นว่าการทำเกษตรทั้งมะพร้าว สับปะรด ปลาทู สามารถสร้างรายได้ที่ดีกว่าให้กับเขา และเป็นการรักษาระบบนิเวศไม่ให้เสื่อมโทรมด้วย

สุดท้ายนี้ ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการโครงการปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชียประจำประเทศไทยและสำนักประสานงานโครงการ กล่าวว่า เวลาเปลี่ยนแปลงไป โลกของเรากำลังระเบิด แต่ไม่มีใครได้ยินเสียงมัน เพราะเราไม่ได้ยินแม้แต่เสียงของกันและกันด้วยซ้ำ อย่ามองอะไรแบบสุดขั้วจนเหลือเพียงสองด้าน เก่า-ใหม่ คนได้กำไร-คนสูญเสีย สิ่งสำคัญที่เราต้องยึดถือคือความซื่อสัตย์ต่อบริบทที่เราทำ ตอนนี้เราทุกคนกำลังวิ่งตามกันหมด โดยที่เราไม่มีความรู้สึกร่วมกันของความเป็นอาเซียน เรามีแต่ตลาดที่ต้องแข่งขันกันเท่านั้น และขาดความสามัคคี