ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ร่วมค้นหาวิถีใหม่ สร้างสมดุลระบบนิเวศในเอเชีย (1)

ร่วมค้นหาวิถีใหม่ สร้างสมดุลระบบนิเวศในเอเชีย (1)

17 มิถุนายน 2012


นายสมบัด สมพอน ที่มาภาพ: http://www.saobancrafts.com/our-story/our-founder

โครงการปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย (Asian Public Intellectuals Fellowships Program) จัดเสวนาในหัวข้อ “ร่วมค้นหาวิถีใหม่ สร้างสมดุลระบบนิเวศในเอเชีย” เมื่อวันที่ 14-15 มิถุนายน 2555 ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ เพื่อร่วมแบ่งปันปัญหาและหาทางแก้ไขจากกรณีศึกษาของสมาชิกภาคีทั้ง 5 ประเทศ คือ ไทย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเชีย และมาเลเซีย

ชุมชนเอพีไอเกิดขึ้นจากโครงการปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย (API Fellowships Program) ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2543 ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธินิปปอน (Nippon Foundation) โครงการหลักได้แก่ ให้ทุนสนับสนุนปัญญาชนสาธารณะแก่สมาชิกทั้ง 5 ประเทศ และในปี 2553 ได้เริ่มให้ทุนกับประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม

ในงานดังกล่าว นายสมบัด สมพอน ผู้อำนวยการศูนย์อบรมและพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เจ้าของรางวัลแมกไซไซ ปี ค.ศ. 2005 สาขาผู้นำชุมชน เป็นองค์ปาฐกถาในหัวข้อ “พลังแห่งการเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน” ว่า เราต้องรู้จักเชื่อมโยงตัวเรากับสิ่งอื่น ถ้าเราทำไม่ได้ก็จะทำให้ตัวเราไม่ยั่งยืน ไม่มีเสถียรภาพ

“เราจะเชื่อมโยงตัวเราเองได้ไหม ลองหลับตาประมาณ 1-2 นาที เพื่อฟังตัวเราเอง โดยเฉพาะฟังลมหายใจเข้า-ออกของเรา ว่าจะติดตามกระแสความคิดของเราได้ไหม ด้วยการหายใจเข้า-ออกช้าๆ ทำตัวสบายๆ การพักผ่อนเช่นนี้หลายๆ คนมักมองข้าม การนั่งสมาธิไม่ใช่แค่วิธีการทางศาสนาเท่านั้น แต่เป็นหลักการทางวิทยาศาสตร์ ที่ช่วยเชื่อมโยงสมองของเราและเพิ่มศักยภาพในตัวของเรา”

ย้อนไป 20 ปี ความเจริญของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมพัฒนาไปมากในทุกด้าน เกิดยุคโลกาภิวัตน์ และกระจายไปยังประเทศที่พัฒนาน้อยกว่า ประชากรเพิ่มมากขึ้น แต่มีความมั่นคงน้อย เพราะเราใช้ทรัพยากรมากเกินไป ประชากรในเมืองมีมากกว่าในชนบท ช่องว่างระหว่างความรวย-จนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ผลจากโรงงานอุตสาหกรรมกระทบสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อตอบสนองการขยายตัวทางเศรษฐกิจและประชากรโดยไม่คำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติที่ค่อยๆ หมดไป

หลายประเทศกลายเป็นประเทศยากจน ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาก็ไม่มีความมั่นคงทางการเงิน ศูนย์กลางเศรษฐกิจกลายมาอยู่ที่เอเชียแทน แล้วเราจะให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจมาทำลายเราอย่างในตะวันตกหรือ ดังนั้น นี่จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะต้องตรวจรูปแบบการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับประเทศและเกิดความยั่งยืน

หลายทศวรรษที่ผ่านมา แม้จะมีรูปแบบพัฒนาเศรษฐกิจที่หลากหลายอยู่บ้าง สิ่งเหล่านั้นก็ถูกโดดเดี่ยว และถูกนักการเมืองหรือนโยบายของรัฐครอบงำแทน ดังนั้นเราต้องพยายามมากขึ้นเพื่อต่อสู้กับเรื่องนี้ และเชื่อมโยงการพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้าไปในระบบ

ในแนวทางการศึกษาและพัฒนารูปแบบใหม่ ต้องทำร่วมกันไปอย่างสมดุลแบบบูรณาการหรือองค์รวมมากขึ้น น่าเสียดายที่การศึกษาจำกัดเฉพาะในสถาบัน และการพัฒนาขึ้นอยู่กับคนวางแผนและนักวิชาการ นอกจากนี้คนที่จบการศึกษายังไม่สามารถเชื่อมโยงความรู้ที่เรียนมากับสิ่งที่เกิดในชีวิตจริงได้เลย การเชื่อมโยงที่สำคัญเราต้องสามารถเชื่อมโยงการศึกษา การพัฒนา ความคิด และสังคม เข้าด้วยกันได้ เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญของความยั่งยืนและมีความสุข มิเช่นนั้นจะเป็นความยั่งยืนของลูกหลานได้อย่างไร

ปัจจุบันมนุษย์มีความยากจนมากขึ้น หากไม่ใช่เรื่องของวัตถุ ก็ยากจนในเรื่องของจิตใจ เพราะเน้นแต่ GNP ต้องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ใช้ทรัพยากรเปลืองอย่างขาดความสมดุล สุดท้ายแล้วก็นำมาสู่ความรุนแรง เพราะถูกกดดันให้ใช้ชีวิตเพื่อตอบสนองเศรษฐกิจแบบทุนนิยม พ่อแม่ก็ขาดเวลาในการอบรมเลี้ยงดูลูก การใช้ชีวิตของคนเป็นธุรกิจมากเกินไป นายทุนมีอำนาจมากเกินไป และเป็นการส่งเสริมให้เกิดคอรัปชั่น และบริโภคทรัพยากรของโลกมากเกินกว่าที่โลกจะผลิตได้มานานตั้งแต่ปี 1997 แล้ว และอีก 30 ปีข้างหน้าเราจะบริโภคเกินจากที่ธรรมชาติสร้างได้สูงถึง 200% เรากำลังฆ่าโลกของเรา และอยู่ในกระบวนการฆ่าตัวเอง

เพื่อให้หลุดพ้นจากวงจรดังกล่าว เราต้องเชื่อมโยงตัวเองกับธรรมชาติ ต้องสำนึกอยู่เสมอว่าทุกอย่างมีผลกระทบต่อกันอย่างมีที่มาที่ไป เริ่มความสันตินี้จากตัวเราเอง แม้ว่าสันติภาพจากภายในจะทำได้ยากในโลกใบที่เอนไหวอยู่ตลอดเวลานี้ แต่เราก็ต้องพยายามสร้างความรู้สึกชื่นชมสันติ ชื่นชมธรรมชาติ นั่งสมาธิ เพื่อสร้างสันติจากภายใน ระลึกอยู่เสมอว่าเรามีความคิด มีศักดิ์ศรี มีภูมิปัญญาเชื่อมโยงกับการพัฒนาด้านต่างๆ

โดยสรุป มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 4 ประการ คือ 1. สร้างความเชื่อมโยงการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ 2. ใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียเพื่อปฏิวัติความคิดของเราให้เป็นองค์รวม 3. มีการลงทุนที่คนหนุ่ม-สาวเพื่อพัฒนาการศึกษาแบบองค์รวม ให้เกิดกระบวนทัศน์การพัฒนาที่มีความสมดุลมากขึ้น และกำหนดอนาคตของตนเองได้ 4. ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาภูมิปัญญา

ในส่วนของผลงานโครงการระดับภูมิภาคนั้นมีทั้งรูปแบบของหนังสือ ภาพยนตร์สารคดี เว็บไชต์ และอื่นๆ โดยที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการศึกษาในพื้นที่ต่างๆ ของผู้รับทุนเอพีไอ ซึ่งจะทำให้เข้าใจและเห็นพลวัตของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างคนกับธรรมชาติที่อยู่ร่วมกันอย่างสมดุล เราจะได้เห็นถึงพลังของธรรมชาติ การจัดการธรรมชาติของมนุษย์ การเคารพและเข้าใจธรรมชาติ ความเชื่อ การเคารพอาวุโส ภูมิปัญญาที่เกิดขึ้นซึ่งสอดแทรกไว้ด้วยปัญญาสู่ความยั่งยืน

สำหรับการแสดงศิลปะร่วมกับชุมชนในภูมิภาคชุดแรกชื่อ “Code Purnama Hatiku” หรือเดือนเต็มแห่งหัวใจของฉัน โดย โทโมโกะ โมมิยามะ นักประพันธ์ ผู้รับทุนเอพีไอปีที่ 3 จากประเทศญี่ปุ่น ผลงานชิ้นนี้มาจากชุมชนแม่น้ำโจเดที่อินโดนีเชีย ที่ไหลผ่านตอนกลางของเมืองผ่านสำคัญๆ ทางเศรษฐกิจ ทั้งทางรถไฟ เขตคนหนาแน่น และแหล่งที่อุดมไปด้วยวัฒนธรรมทั้งทางช่างและศิลปะ

ภูมิหลังของชุมชนนี้คือ หลังจากภูเขาไฟเมราปีระเบิดในปี 2010 ทำให้ชุมชนตอนเหนือของแม่น้ำเดือดร้อนจากน้ำท่วมทุกปี อีกทั้งปัญหาดินตะกอนจากการระเบิดของภูเขาไฟที่ทำให้แม่น้ำตื้นเขิน และกลายเป็นน้ำโคลนหลากมายังชุมชนดังนั้น กลุ่มเอ็นจีโอในท้องถิ่นและชุมชนแม่น้ำโจเดจึงร่วมมือกัน ทำโครงการที่ทำให้ชาวบ้านแสดงออก และมีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน

ภูเขาไฟเมราปิ ที่มาภาพ: http://www.decadevolcano.net
ภูเขาไฟเมราปิ ที่มาภาพ: http://www.decadevolcano.net

ในการประพันธ์เพลงครั้งนี้ ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการแต่งเพลง ทำให้เข้าใจที่มาของเขาว่าทำไมพวกเขาจึงต้องมาอาศัยอยู่ตรงนี้ ต้องเผชิญกับภัยภิบัติเช่นนี้ จึงเกิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และเกิดความเข้าใจกันในชุมชน

“ในชุมชนตอนกลางของแม่น้ำก็เกิดปัญหาน้ำท่วม การก่อสร้างที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางเสียง ดินถล่ม แม่น้ำที่เต็มไปด้วยขยะและของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชนที่ไหลมาตามน้ำ ทำให้ชาวบ้านเกิดปัญหาด้านสุขภาพ แล้วเราก็ทำให้พวกเขาเกิดการรวมตัวกันเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหาแก่กัน”

ส่วนชุมชนในตอนท้ายของแม่น้ำ พวกเขาต้องเก็บเอาขยะที่ลอยมานั้นนำมาใช้ใหม่ ซึ่งชาวบ้านในตอนเหนือของแม่น้ำตกใจมากที่รู้เรื่องนี้ เพราะไม่เคยคิดเลยว่าขยะที่พวกเขาทิ้งไปนั้นได้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านชุมชนอื่นๆ

จากการบันทึกการเดินทางตลอดแม่น้ำโจเด ทำให้รู้ว่าปัญหามีอะไรบ้าง และจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านอยู่ร่วมกันอย่างสันติ กลายเป็นบทเพลงหนึ่งที่เกิดจากที่ชาวบ้านแต่ละคนเตรียมอุปกรณ์ประกอบเสียงและเครื่องดนตรีต่างๆ ประมาณ 20 ชิ้นมาบรรเลงเพลงที่ร่วมกันแต่ง

ผลงานอีกชิ้นเป็นของ ดร.ทากาโกะ อิวาซาวะ ผู้รับทุนเอพีไอปีที่ 7 จากประเทศญี่ปุ่น ชื่อ “Water Children” แสดงโดยเยาวชน “กลุ่มลูกขุนน้ำ” จากชุมชนคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช

การแสดงผลงานเริ่มจากฉายวิดีโอให้เห็นธรรมชาติที่สวยงามของคีรีวง จากนั้นก็เปิดเสียงน้ำแบบต่างๆ ให้เราจินตนาการว่า สิ่งที่ได้ยินนั้นเป็นเสียงของน้ำฝน น้ำตก หรือพายุฝน จากนั้นเด็กๆ จากคีรีวงก็จะเริ่มการแสดง โดยใช้ภาษาท่าทางสื่อสารออกมาเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับชุมชนคีรีวงตั้งแต่แรกเริ่ม จนกระทั่งเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ โดยให้เด็กๆ ใช้ผ้าสีน้ำเงินสื่อถึงลักษณะต่างๆ ของภูเขา แม่น้ำ โรงเรียน วัด คลอง ประกอบการบรรยาย และใช้ผ้าสีน้ำตาลสื่อถึงดินถล่มจนบ้านเรือนและที่ทำกินเสียหาย จบด้วยการมองเห็นถึงปัญหาว่าเกิดจากตัดไม้ ดังนั้นพวกเขาจึงกันกันปลูกป่าขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ปิดท้ายด้วยการฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “Cross Currents: Journey to Asian Environments” (ดูที่นี่) โดยนายทัตสึยะ ทานามิ ผู้อำนวยการผลิต และนายนิค ดีโอแคมโป ผู้กำกับหนังสารคดีและผู้อำนวยการศูนย์เพื่อภาพยนตร์ใหม่ ผู้รับทุนเอพีไอปีที่ 1 จากประเทศฟิลิปปินส์

“ทัตสึยะ” กล่าวถึงหนังเรื่องนี้ว่า “ภูมิภาคต่างๆ มีลักษณะชุมชนบางอย่างที่สอดคล้องกัน หนังเรื่องนี้เป็นการบันทึกการเดินทางของกลุ่มเอพีไอในดินแดนต่างๆ ระหว่างคนในชุมชนและธรรมชาติ ที่พยายามแสวงหาการอยู่ร่วมกันต่อไป ธรรมชาติที่เราใช่ไม่ใช่มรดกจากบรรพบุรุษ แต่เป็นสิ่งที่เราหยิบยืมลูกหลานมาใช้”

ด้าน “นิค” กล่าวว่า หนังเรื่องนี้เขาใช้การถ่ายทอดเรื่องราวธรรมชาติโดยใช้คน แทนการเล่าเรื่องโดยใช้ภาพของธรรมชาติมาเล่า เพราะคนมีจิตวิญญาณที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ และมีวิถีชีวิตหรือทำกิจกรรมร่วมของชุมชนที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติด้วย

สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า ณ สถานที่ที่ความเจริญและนายทุนยังเข้าไปไม่ถึง คนในชุมชนมีวิถีชีวิตอยู่คู่กับธรรมชาติอย่างไร ด้วยความสมดุลและไม่ทำลายซึ่งกันและกัน และหากถูกภัยธรรมชาติทำลาย เราจะต่อสู้และมีวิธีจัดการอย่างไรเพื่อให้ความสมดุลนั้นคืนกลับมา ในขณะเดียวกัน หากสถานที่ใดที่มีความเจริญบุกรุกเข้าไปหา ผลกระทบที่ตามมาจะทำลายนิเวศทั้งระบบและกระทบวิถีชีวิตดั้งเดิมเช่นไร