ThaiPublica > คอลัมน์ > ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของเงินตรา (A Very Brief History of Money)

ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของเงินตรา (A Very Brief History of Money)

10 มิถุนายน 2012


อภิชาต สถิตนิรามัย

เนื่องจากเงินตรามีหน้าที่สามอย่างคือ หนึ่ง เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ซึ่งทำให้ความยุ่งยากและต้นทุนในการแลกเปลี่ยนลดลงมาก หากไม่มีเงินตรา เราคงต้องแลกวัวหนึ่งตัวโดยตรงกับไก่ร้อยตัวต่อไป สอง เป็นหน่วยวัดในทางบัญชี หากไม่มีเงินตราเราคงวัดยากว่ารถโต้โยต้ากับรถเปอร์เช่คันไหนมีมูลค่ามากกว่ากัน สาม เป็นตัวสะสมมูลค่า หากเงินไม่ทำหน้าที่นี้ เราคงไม่สามารถทำการค้าทางไกลหรือข้ามเวลาได้

จากหน้าที่ทั้งสามอย่างนี้เอง โลหะหลายประเภทจึงถูกใช้ทำเงินตรา เนื่องจากมันพกพาได้ เชื่อถือได้ คงทน และไม่หายากจนเกินไป (ลองนึกภาพว่าทำไมเราไม่เอาเพชรมาทำเงินตรา) ฉะนั้น เงินเหรียญแรกสุดที่เรามีหลักฐานจึงทำจากส่วนผสมของทองและแร่เงิน ซึ่งเป็นของอารยธรรมอายุ 600 ปีก่อน ค.ศ. (Lydian coin) ปัจจุบันอยู่ในประเทศตุรกี และเป็นต้นแบบในการพัฒนาเป็นเงินเหรียญของอารยธรรมกรีซ โรมัน ในยุคต่อมา ส่วนเงินเหรียญยุคแรกของจีนทำจากสำริด เมื่อประมาณ 200 กว่าปีก่อนคริสตกาล

เงินตราระหว่างประเทศสกุลแรกของโลกเป็นเหรียญเงินของอาณาจักรสเปน (Spanish ‘piece of eight’) ตั้งแต่ประมาณศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ซึ่งเกิดจากปัจจัยสำคัญสองประการคือ

1. การค้นพบโลกใหม่ (ลาตินอเมริกา) ของสเปนและประวัติศาสตร์อันโหดร้ายของการใช้แรงงานทาสในการทำเหมืองแร่เงินที่ตามมา ประมาณกันว่าสเปนปล้นและส่งโลหะเงิน 170 ตันต่อปีข้ามมหาสมุทรมาใช้ในเมืองแม่ ในปลายศตวรรษที่ 16 กว่า 44% ของรายจ่ายราชวงศ์มาจากแหล่งเงินนี้

2. เหรียญเงินจำนวนมหาศาลนี้เองที่สเปนเอาไปใช้จ่ายทำสงครามกับประเทศในยุโรป และใช้ในการทำการค้าทางไกลกับทวีปเอเชียซึ่งขยายตัวขึ้นมากในยุคนี้ ทั้งหมดนี้ทำให้เหรียญสเปนแพร่หลายไป “ทั่วโลก” การเพิ่มขึ้นของปริมาณเงิน (money supply) เหรียญสเปนที่มาจากโลกใหม่จำนวนมหาศาลจึงทำให้มูลค่าที่แท้จริงของมันในรูปของสินค้าอื่นลดลงมากทั่วยุโรป ในช่วง 1540s-1640s ราคาอาหารในประเทศอังกฤษเพิ่มขึ้นถึงเจ็ดเท่าตัว ในขณะที่ช่วงสามร้อยปีก่อนนั้นราคาอาหารแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย

ในปัจจุบันเราเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า “เงินเฟ้อ” กษัตรย์สเปนลืมไปว่า แม้จะมีเงินตรามากเพียงใดมันก็ไม่ได้ทำให้สังคมสเปนร่ำรวยขึ้น เงินของเราจะมีค่าเพียงใดก็ย่อมขึ้นกับว่า ผู้อื่นจะยอมนำสิ่งอื่นมาแลกกับมันในมูลค่าเท่าไรเท่านั้น

อย่างช้าที่สุด อารยธรรมเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) เมื่อห้าพันปีที่แล้ว เริ่มมีบางสิ่งที่เป็นจุดตั้งต้นของธนบัตรกระดาษ (banknote) ในปัจจุบัน มันคือแผ่นดินเหนียวตากแดด ซึ่งบันทึกธรุกรรมเกี่ยวกับผลผลิตการเกษตร ตัวอย่างเช่น บันทึกในแผ่นดินเหนียวอายุสองพันปีก่อนคริสตกาลระบุว่า จะส่งมอบข้าวบาเล่จำนวน 330 หน่วยแก่ผู้ใดก็ตาม (barer) ซึ่งเป็นเจ้าของแผ่นดินเหนียวในฤดูเก็บเกี่ยว แผ่นดินเหนียวนี้จึงมีค่าเท่ากับ promissory note ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินแบบหนึ่งที่ใช้กันทั่วไปในทุกวันนี้

ลองจินตนาการว่าท่านเป็นเจ้าของแผ่นดินเหนียว แล้วท่านไม่ต้องการแลกมันกับข้าวบาร์เลย์ ท่านย่อมสามารถนำมันไปแลกกับสิ่งอื่นๆ ที่มีมูลค่าไม่มากไปกว่าข้าว 330 หน่วยได้ ตราบใดก็ตามที่ผู้ที่ท่านแลกเปลี่ยนด้วยเชื่อมั่นว่า เมื่อเขาเอาแผ่นดินเหนียวไปแลกกับผู้สร้างแผ่นดินเหนียวนี้ขึ้น เขาจะได้รับข้าวในจำนวนและเวลาที่ระบุ หรือตราบใดที่ยังมีผู้รับแลกมันต่อไปเรื่อยๆ ในแง่นี้แผ่นดินเหนียวย่อมทำหน้าที่เทียบเท่ากับธนบัตรราคา 330 นั้นเอง

คำถามคือ แล้วอะไรเล่า ที่ทำให้แผ่นดินเหนียวซึ่งไม่มีมูลค่าโดยตัวมันเอง ถูกยอมรับในฐานะเงินตรา คำตอบก็คือ “ความน่าเชื่อถือ (credibility)” ของสัญญาที่ถูกระบุไว้ในแผ่นดินเหนียวนั้นเอง

ดังนั้น ตราบใดที่เราเชื่อมั่นว่าสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนจะคงมูลค่าตามที่มันระบุไว้ ไม่ว่าจะทำจากกระดาษหรือแผ่นดินเหนียว ตราบนั้นมันก็จะทำหน้าที่เป็นเงินตราต่อไป โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมีข้าวบาร์เลย์หนุนหลัง พูดอีกแบบคือ เงินกระดาษที่เราใช้ๆ อยู่นั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องมีวัตถุมีค่าใดๆ หนุนหลัง ตราบเท่าที่คนเชื่อถือว่ามันจะไม่เสื่อมค่าไปในอัตราที่เร็วเกินกว่าที่จะยอมรับได้

ในปัจจุบันเงินกระดาษ ซึ่งเรียกว่า “ธนบัตร” และไม่มีค่าในตัวมันเอง จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีอะไรเชื่อมโยงกับโลหะมีค่า เช่น ทอง ฯลฯ อีกต่อไป ครั้งสุดท้ายที่เราอาจเอาเงินดอลลาร์ สรอ.ไปแลกเป็นทองคำจากรัฐบาลอเมริกาคือวันที่ 15 สิงหาคม 2514 ยิ่งไปกว่านั้น เงินกระดาษกลายเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนส่วนน้อยเท่านั้นในยุคอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนใหญ่ของเงินตราขณะนี้จึงเป็นเพียงสัญญาณไฟฟ้าที่เราส่งผ่านจากบัญชีหนึ่งสู่อีกบัญชีหนึ่งในธนาคาร และทั้งๆ ที่เราไม่เห็นตัวเป็นๆ ของเงินตราอีกแล้ว แต่เรากลับเชื่อถือมันไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเงินที่เป็นวัถตุ พูดอีกแบบคือ โลกเรายึดติดกับเงินตราที่เป็นโลหะหรือวัตถุบางอย่างที่มีค่าในตัวเอง จนเมื่อพัฒนาเป็นเงินกระดาษก็ยังต้องมีวัตถุมีค่าหนุนหลังมาอีกนับพันๆ ปี

จำได้ว่าประมาณชั้นประถมสอง-สาม ผมสงสัยว่า ทำไมรัฐบาลจึงไม่พิมพ์เงินกระดาษมาแจกประชาชน ชาวบ้านจะได้รวยๆ กันถ้วนหน้าโดยไม่ต้องทำงานหนัก ทั้งๆ ที่ค่ากระดาษและค่าพิมพ์ธนบัตรก็ไม่น่าจะแพงมาก วันนั้นผมสรุปว่าคงเป็นเพราะรัฐบาลขี้เกียจ และผมก็เก็บความสงสัยนี้ไว้กับตัวเองมาอีกนานนม