ThaiPublica > คอลัมน์ > “โต้งทำบาทอ่อน”

“โต้งทำบาทอ่อน”

29 มีนาคม 2012


ดร.วิมุต วานิชเจริญธรรม

ก่อนอื่น ผมต้องขออนุญาต “ยืม” พาดหัวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับประจำวันอังคารที่ 27 มีนาคม 2555 มาเป็นชื่อบทความนี้นะครับ

ข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์นี้ มีที่มาจากคำให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ต้องการเห็นธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้ค่าเงินของไทยอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ…”

ผมเหลือบไปดูแถบด้านขวาของหน้าหนึ่งซึ่งมีตัวเลขค่าเงิน ดัชนีตลาดหุ้น และราคาน้ำมันล่าสุด ฯลฯ ก็พบว่า อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยในวันก่อนหน้านั้นอยู่ที่ 30.764 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

นั่นหมายความว่า ถ้าหากธนาคารแห่งประเทศไทยจะดำเนินการตามปรารถนาของ รมต.คลัง ค่าเงินบาทจะต้องอ่อนลงกว่าปัจจุบัน ถึง 3 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ เลยทีเดียว!

แรงปรารถนาของ รมต.คลัง ถือได้ว่าเป็นการฝืนตลาดอย่างแรงครับ เพราะหากเราพิจารณาถึงทิศทางค่าเงินบาทในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เราจะพบว่าอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
(ดังปรากฎในภาพที่ 1 ด้านล่างนี้) นั่นแสดงถึงแนวโน้มของค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นโดยตลอด

ในภาพที่ 1 นี้นั้น นอกจากผมจะแสดงให้เห็นถึงทิศทางค่าเงินบาทในช่วงปีที่ผ่านมา ผมยังได้ลากเส้นขนานแกนนอนอีกสองเส้นด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นระดับอัตราแลกเปลี่ยน ณ สองจุดที่ท่าน รมต.คลังได้พูดไว้ นั่นคือที่ระดับ 32 และ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

จะเห็นได้ว่า ค่าเงินบาทที่จะแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจนได้ผ่านระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ฯ เมื่อช่วงปลายปี 2550 (หรือปี ค.ศ. 2007) ซึ่งเป็นระยะก่อตัวของวิกฤตซับไพรม์ในประเทศสหรัฐฯ แนวโน้มดังกล่าวเปลี่ยนทิศในทางตรงข้ามเมื่อวิกฤตสถาบันการเงินในประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก่อให้เกิดการดึงเงินทุนกลับออกจากประเทศไทยในช่วงกลางปี 2551 จวบจนเมื่อวิกฤตเศรษฐกิจนั้นได้คลี่คลายลง ทิศทางค่าเงินบาทจึงได้กลับมาสู่แนวโน้มที่เป็นก่อนช่วงปี 2550 อีกครั้ง นั่นคือเงินบาทกลับมาแข็งค่าต่ำกว่าระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ขอย้ำอีกครั้ง…การจะฝืนให้ค่าเงินบาทกลับไปอยู่ในช่วง 32-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ตามปรารถนาของ รมต.คลังนั้น จึงเป็นการฝืนอุปสงค์และอุปทานในตลาดปริวรรตเงินตราอย่างแรง

เหตุผลหนึ่งที่อธิบายได้ว่า เหตุใดเงินบาทจึงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ การเกินดุลการค้าของประเทศไทย โดยนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการเกินดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง กอปรกับในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ เงินทุนจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน จากภาพที่ 2 นี้จะเห็นได้ว่า การเกินดุลการค้าและปริมาณเงินไหลเข้าสุทธิในช่วงระหว่างปี 1997-2010 ส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยพอกพูนขึ้นจนมีปริมาณมากถึง 178.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะนี้

ปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศจำนวนมหาศาลนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการเข้าแทรกแซงกลไกราคาในตลาดปริวรรตเงินตราของธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวคือ โดยกลไกการทำงานภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว (Flexible Exchange Rate) ซึ่งใช้มาตั้งแต่หลังวิกฤตการเงินปี 2540 นั้น ค่าเงินบาทจะถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทานในตลาดปริวรรตเงินตรา โดยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเข้าแทรกแซงด้วยการเข้าซื้อขายในตลาดนี้แต่อย่างใด เพราะธนาคารฯ มิได้มีหน้าที่รักษาค่าเสมอภาคของเงินบาทดังเช่นในยุคสมัยที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (Fixed Exchange Rate System) ภายใต้แนวทางปฏิบัตินี้ ปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทยถือครองจึงน่าจะคงที่ เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยมิได้เข้าไปซื้อขายเงินตราต่างประเทศ จึงทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศไม่เพิ่มและไม่ลด

อย่างไรก็ดี ระบบอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันถูกเรียกขานว่าเป็นระบบลอยตัวแบบจัดการ (Managed Float) กล่าวคือเป็นระบบที่ธนาคารมีสิทธิที่จะเข้าแทรกแซง “จัดการ” กับค่าเงินตามที่เห็นสมควร

เส้นกราฟของเงินสำรองระหว่างประเทศที่พอกพูนอย่างต่อเนื่องบอกให้เราทราบว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยมิได้กระทำตนเป็นเพียงผู้เฝ้าสังเกตการณ์ตลาดปริวรรตเงินตรา แต่หากเป็นผู้เข้าร่วมทำธุรกรรม ที่ซื้อเงินเหรียญสหรัฐฯ เพื่อนำออกจากตลาดและปล่อยเงินบาทเข้าสู่ระบบการเงินอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการชะลอมิให้เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไปจนสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงิน และบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของสินค้าออกไทยในตลาดโลกไปพร้อมๆ กัน

กล่าวอีกนัยหนึ่ง หากธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เข้ามาแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา เงินบาทน่าจะแข็งค่าในอัตราที่เร็วกว่าเส้นกราฟที่ปรากฎในภาพที่ 1 อย่างแน่นอน

แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะได้ดำเนินนโยบายต้านการแข็งค่าอย่างรวดเร็วของค่าเงินบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของ รมต.คลังคนปัจจุบัน แต่การจัดการกับค่าเงินบาทและการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศกลับถูกโจมตีจาก รมต.คลังคนก่อนและบรรดานักเศรษฐศาสตร์ ที่สนับสนุนแนวคิดของการนำเงินสำรองระหว่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทยมาตั้งเป็นกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ

ผมเองก็เริ่มสับสนแล้วเหมือนกันว่า ตกลงรัฐบาลนี้จะมีจุดยืนเรื่องค่าเงินบาทอย่างไรกันแน่ เราไม่สามารถมีนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ปรับเปลี่ยนไปทุกๆ 6 เดือน ตามวาระของรัฐมนตรีคลังได้หรอกนะครับ

เอาล่ะ สมมุติว่า รมต.คลังคนปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งเกินกว่า 6 เดือน และยังตัองการผลักดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงสู่ช่วงที่ระบุไว้ข้างต้น เราลองมาพิจารณากันดูว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะดำเนินการอย่างไรเพื่อสนองต่อแรงปรารถนาของ รมต.คลัง

ผมขอเดาว่า รมต.คลังคงอยากเห็นธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินนโยบายการเงินที่ส่งผลให้ดอกเบี้ยลดลงกว่านี้อีกเยอะๆ เพราะคงคิดว่า ดอกเบี้ยที่ลดลงไม่เพียงจะลดส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนการลงทุนในประเทศกับต่างประเทศ (ซึ่งเป็นตัวดึงดูดเงินทุนไหลเข้า ที่เป็นสาเหตุทำให้บาทแข็ง) แต่ยังช่วยกระตุ้นภาคการผลิตอีกด้วย (เพราะลดต้นทุนการกู้ยืมของภาคธุรกิจ ส่งผลให้เกิดการกู้ยืมเพื่อการจ้างงานและการผลิตมากยิ่งขึ้น)

ฟังดูเหมือนง่าย แต่นโยบายการเงินนั้นมิใช่ยาวิเศษ ที่จะสั่งให้ดอกเบี้ยลดลงได้มากขนาดนั้นโดยไม่ส่งผลเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ อีกทั้งยังมิได้มีความสามารถที่จะแก้ปัญหาในภาคเศรษฐกิจจริงได้ในระดับที่ รมต.คลังคาดหวังอีกด้วย

คนที่จะให้ความเห็นนี้ได้ที่สุดคนหนึ่งคือ ท่านผู้ว่าการเฟดแห่งเมืองมินนิอาโปลิส คุณนารายณะ โคเชอลาโคต้า (Narayana Kocherlakota) ซึ่งท่านได้เลคเชอร์เรื่อง “ว่าด้วยขีดจำกัดของนโยบายการเงิน” (หรือ On the Limits to Monetary Policy) เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ผู้อ่านสามารถชมการบรรยายนี้ได้ด้านล่างนี้นะครับ
(เนื้อหาในรายละเอียด ผมจะขอนำมาเล่าในโอกาสหน้านะครับ)

สำหรับท่านที่ได้รับชมแล้ว คงคิดเหมือนกันว่า คุณโคเชอลาโคต้าบรรยายหัวข้อนี้ในแบบของนักวิชาการมหาวิทยาลัยมากกว่าในมาดของนักการธนาคารกลาง นั่นเป็นเพราะท่านเคยเป็นอาจารย์ในคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมินเนโซต้า และมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดมาก่อน ด้วยความที่มีพื้นเพทางวิชาการระดับแนวหน้า ท่านจึงเป็นคนมีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงในเรื่องของข้อจำกัดของนโยบายการเงิน ทราบดีว่านโยบายการเงินทำอะไรได้…และทำอะไรไม่ได้

ต่างจากคนที่ไม่ได้รู้ลึกซึ้งเรื่องวิชาการเศรษฐศาสตร์…แต่ยังจะคิดใช้นโยบายการเงินเกินศักยภาพ โดยไม่ตระหนักถึงผลเสียที่จะตามมาในภายหลัง