ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “กิตติรัตน์” ทำผู้ส่งออกป่วน ถูกกดราคาหลังรัฐบาลส่งสัญญาณบาทอ่อน ติงระวังซ้ำเติมเงินเฟ้อ

“กิตติรัตน์” ทำผู้ส่งออกป่วน ถูกกดราคาหลังรัฐบาลส่งสัญญาณบาทอ่อน ติงระวังซ้ำเติมเงินเฟ้อ

3 เมษายน 2012


นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มาภาพ : http://www.bloomberg.com/image/it9daYOG9Nmo.jpg
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มาภาพ : http://www.bloomberg.com/image/it9daYOG9Nmo.jpg

ประเด็นฮอตช่วงปลายสัปดาห์ของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ต้องยกให้กับเรื่อง “โต้งทำบาทอ่อน” ซึ่งโดยทั่วไปการแสดงความคิดเห็นต่างระหว่างรัฐมนตรีคลังกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในประเด็นเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนไม่ใช่เรื่องแปลก และทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ความคิดเห็นต่างของทั้งสองฝ่าย ก็มักตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะเห็นพ้องหรือเข้าข้างรัฐมนตรีคลังมากกว่า ธปท.

เพราะรัฐมนตรีคลังแทบทุกรัฐบาลจะพูดเป็นสียงโทนเดียวกันว่า ต้องการเห็น “ดอกเบี้ยต่ำ” ส่วนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนก็อยากเห็น “เงินบาทอ่อน” จึงไม่แปลกที่จะมีเสียงเชียร์เข้าข้างรัฐบาล เพราะใครๆ ก็ชอบดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่ผู้ส่งออกซึ่งได้ประโยชน์มากที่สุดจากค่าเงินบาทก็มักจะออกมาหนุนช่วยรัฐบาลกดดัน ธปท.

แต่ปรากฏการณ์ “โต้งทำบาทอ่อน” ด้วยการส่งสัญญาณผ่านสื่อต่างประเทศและสื่อไทยว่า ต้องการเห็นอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ 32-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรืออ่อนค่าลงจากปัจจุบัน เคลื่อนไหวในช่วงแคบ 30-31 บาทต่อดอลลาร์ ในลักษณะ “ออกคำสั่ง” หรือ “แทรกแซง” ธนาคารแห่งประเทศไทยในที่สาธารณะอย่างเปิดเผย

“ผมไม่มีหน้าที่เถียงกับแบงก์ชาติ และแบงก์ชาติก็ไม่มีหน้าที่มาเถียงผม แค่ฟังผมและเถียงผมให้น้อยลงแล้วทุกอย่างจะดีเอง เพราะผมไม่ใช่แค่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ยังเป็นผู้ดูแลภาพรวมเศรษฐกิจด้วย การที่ส่งสัญญาณว่าอยากให้บาทอ่อน ก็เพราะต้องการแบบนั้นจริง ใครจะมาฟาดปากผม ผมก็ไม่แคร์ และผมก็ไม่ชอบที่จะให้เงินทุนไหลเข้ามามาก” นี่คือคำตอบที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเรื่องค่าเงินบาทเมื่อต้นสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ท่าทีดังกล่าวของนายกิตติรัตน์ มีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้านเหมือนที่ผ่านๆ มา แต่ครั้งนี้ตรงข้าม เพราะปรากฏว่า เสียงเชียร์เข้าข้างรัฐบาลแผ่วลงไปมาก โดยเฉพาะเสียงจากผู้ส่งออกส่วนใหญ่ที่ออกมา “เบรก” พฤติกรรมของนายกิติรัตน์ โดยขอให้ปล่อยเรื่องค่าเงินบาทเป็นไปตามกลไกตลาด และให้เป็นหน้าที่ของ ธปท. เมื่อผนวกกับความคิดเห็นของนักลงทุนในตลาดทุน และนักเศรษฐศาสตร์ที่สนับสนุนกลไกตลาดอยู่แล้ว จึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ “ถล่ม” นายกิตติรัตน์ ผ่านสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะทุกคนเป็นห่วงว่าจะกระทบระบบ “ความเชื่อมั่น” หรือทำให้เกิดความ “ไม่น่าเชื่อถือ” ในการบริหารนโยบายการเงิน เพราะหลักการทั่วไปในการบริหารเศรษฐกิจของทุกประเทศ จะต้องมีความสมดุลทั้งด้านการเงินและการคลัง

การออก “คำสั่ง” ให้ ธปท. ทำเงินบาทอ่อนค่าตามที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังต้องการ จึงเท่ากับเป็นการแทรกแซงการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่มีอำนาจรับผิดชอบโดยตรง แม้จะเป็นความ “หวังดี” อยากให้เงินบาทอ่อน ช่วยผู้ส่งออก และกระตุ้นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออก 60-70% แต่ผลกระทบที่ตามมาอาจไม่ใช่สิ่งที่ต้องการก็ได้

แหล่งข่าวจากนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้งมูดี้ส์และเอสแอนด์พี กำลังจับตามองรัฐบาลไทยว่า สิ่งที่ดำเนินการในหลายๆ เรื่องตั้งแต่การออกพระราชการแก้ปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จนมาถึงเรื่องค่าเงินบาท อาจทำให้รัฐบาลถูกลดเครดิตความเชื่อถือได้

หากพิจารณาในแง่ของ “หลักการ” บริหาร หากไม่มีการถ่วงดุลอำนาจในการบริหารนโยบายการเงิน การคลัง หรือมีการแทรกแซงการทำหน้าที่ของหน่วยงานผู้มีความรับผิดชอบ เช่น ธนาคารกลาง ก็อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น หรือเครดิตรัฐบาลได้

ธปท. สรุปการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทล่าสุดช่วงวันที่ 1-22 มี.ค. 2555 เฉลี่ยอยู่ที่ 30.68 บาท/ดอลลาร์  แข็งค่าขึ้น 0.1% จากเดือนก่อนหน้า
ธปท. สรุปการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทล่าสุดช่วงวันที่ 1-22 มี.ค. 2555 เฉลี่ยอยู่ที่ 30.68 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น 0.1% จากเดือนก่อนหน้า

นอกจากนี้ การที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังออกมาบอกว่าต้องการเห็นเงินบาทอ่อน อาจนำไปสู่การคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตได้ โดยจะเป็นการ “เติมเชื้อ” ให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น เพราะคาดการณ์ว่า เมื่อค่าเงินบาทอ่อนจะเป็นแรงกดดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมันที่ราคามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

ที่สำคัญ การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวของนายกิตติรัตน์ อาจทำให้เศรษฐกิจไทย “สะดุด” ทั้งที่ภาวะเศรษฐกิจไทยตอนนี้กำลังอยู่ในภาวะสมดุล ทั้งด้านการเติบโตและ ด้านเสถียรภาพ

โดยภาวะเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากผลกระทบน้ำท่วมในปี 2554 อย่างชัดเจน เห็นได้จากข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ที่ ธปท. และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงล่าสุด พบว่าเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญทั้้งการบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออก มีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องชัดเจน โดยเฉพาะดัชนีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวอยู่เหนือระดับก่อนช่วงน้ำท่วม (ธปท. รายงานภาวะเศรษฐกิจการเงินเดือนกุมภาพันธ์ 2555)

ขณะที่นโยบายการคลังยังผ่อนคลายอัดฉีดเงินเข้าระบบเต็มที่จากการขาดดุลงบประมาณ 400,000 ล้านบาท และการกู้ยืมเพื่อลงทุนป้องกันอุทกภัยภายใต้พระราชกำหนดให้กระทรวงการคลังกู้ยืมเงิน 350,000 ล้านบาท ส่วนนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 3% ถือว่าต่ำมาก และค่าเงินบาทก็เคลื่อนไหวตามกลไกตลาด ซึ่งผู้ส่งออกจำนวนมากปรับตัวได้แล้ว นอกจากนี้ยังมีแรงหนุนจากเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มปรับตัวดีขึ้น เป็นสัญญาณบวกต่อเศรษฐกิจโลก

เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจจะมีแรงส่งทั้งจากปัจจัยในประเทศและภายนอกประเทศ ส่วนอัตราเงินเฟ้อปัจจุบันอยู่ที่ 3.4% หากพูดตามภาษาของนายกรัฐมนตรี ทาง ธปท. ก็มั่นใจว่าขณะนี้ยัง “เอาอยู่” แต่ยอมรับว่าในอนาคตต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะมีแรงกดดันรอบด้านจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันแพง และการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ในวันที่ 1 เม.ย. 2555

ดังนั้น หลังจากนี้ไปต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แม้จะมีผลเฉพาะ 8 จังหวัด แต่ระบบเศรษฐกิจไม่มีพรมแดน โอกาสที่ต้นทุนและราคาสินค้าจะขยายไปในวงกว้างทั่วประเทศก็มีความเป็นไปได้ จึงต้องระมัดระวังเรื่องเงินเฟ้อย่างยิ่งยวด และนี่คือประเด็นที่ ธปท. และ กนง. เป็นห่วงมากที่สุด เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มีการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นถึง 40%

“ทุกคนมีหน้าที่ประคับประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าไปได้ และถ้ารักษาสมดุลตรงนี้ไว้ให้ได้ เศรษฐกิจไทยจะเติบโตไปได้ดีพอสมควร แต่ถ้านโยบายการเงิน การคลัง พากันแตะคันเร่งพร้อมๆ กัน รวมถึงนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนด้วย อาจทำให้เศรษฐกิจเสียสมดุล เมื่อถึงตอนนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่สิ่งที่ต้องการก็ได้” แหล่งข่าว กนง. กล่าว

ขณะที่ผู้ส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นรายหนึ่ง เล่าถึงผลกระทบหลังจากนายกิตติรัตน์ออกมาบอกว่าต้องการเห็นเงินบาทอ่อนค่าที่ 32-34 บาท/ดอลลาร์ว่า เมื่อมีข่าวนี้ออกไป มีบริษัทลูกค้าในญี่ปุ่นโทรศัพท์ทันทีเพื่อต่อรองราคาสินค้า หรือกดราคาให้ต่ำลงเพื่อลดต้นทุนให้มากที่สุด โดยอ้างว่าผู้ส่งออกไทยจะมีกำไรเพิ่มขึ้น 2-3 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายให้ค่าเงินบาทอ่อนลง

ผลกระทบอีกประเด็นที่ตามมาคือ ส่งผลให้การเจรจาค้าขายของผู้ส่งออกไทยกับลูกค้าต่างประเทศขณะนี้อยู่บนพื้นฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 32-34 บาท/ดอลลาร์ แทนที่จะอยู่ในอัตราปัจจุบัน 30-31 บาท/ดอลลาร์ เพราะฉะนั้น แทนที่ผู้ส่งออกจะได้ประโยชน์ กลับมีรายได้ลดลงเนื่องจากถูกกดราคา

อย่างไรก็ตาม การส่งออกในภาคเกษตรอาจได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อน และเป็นผลดีต่อการแข่งขันด้านราคาในตลาดโลก โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิและข้าวนึ่ง ซึ่งบาทที่อ่อนค่าลง 1 บาท จะทำให้ราคาส่งออกข้าวไทยลดลงได้ 15-30 ดอลลาร์ต่อตัน ทำให้ราคาข้าวหอมมะลิไทยอยู่ที่ตันละ 1,050 ดอลลาร์ และข้าวนึ่งมาอยู่ที่ตันละ 570 ดอลลาร์ ใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่ง แต่ยังไม่ได้มีผลต่อการส่งออกข้าวขาว แม้ว่าราคาข้าวไทยจะลดลง 15 ดอลลาร์ แต่ข้าวขาวไทยยังสูงกว่าประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามเกือบร้อยดอลลาร์ สาเหตุหนึ่งเป็นผลจากนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลที่กำหนดราคาสูงกว่าตลาดค่อนข้างมาก

“รัฐบาลคงกำลังเข้าตาจน เนื่องจากตัวเลขส่งออกติดลบ และราคาน้ำมันแพงขึ้น จึงคิดว่าหากทำให้เงินบาทอ่อนจะช่วยให้ผู้ส่งออกมีรายได้เพิ่มขึ้น มาลดภาระต้นทุนน้ำมันแพง ซึ่งกลุ่มที่ได้ประโยชน์น่าเป็นผู้ส่งออกขนาดกลางขนาดย่อม แต่ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ที่ปรับตัวเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนได้แล้วต้องการให้เงินบาทเป็นไปตามกลไกตลาดมากกว่า การที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงแบบนี้อาจเกิดการเก็งกำไร และส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุนได้ ดังนั้นรัฐบาลพูดอะไร จะทำอะไร ควรดูผลกระทบข้างเคียงด้วย” ผู้ส่งออกรายหนึ่งกล่าว

ดังนั้น การออกมาส่งสัญญาณเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนของนายกิตติรัตน์ จะด้วยความหวังดีหรืออะไรก็ตาม แต่ผลที่เกิดขึ้นกลายเป็นตรงข้าม คือ ทำให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อ ถ้าปะทุขึ้นมามากกว่านี้อาจ “เอาไม่อยู่” และทำให้เศรษฐกิจสูญเสียโอกาสการเติบโตอย่างที่ควรจะเป็น

เพราะฉะนั้น รัฐบาลพึ่งระมัดระวังไม่ควรออกมา “ป่วน” เศรษฐกิจแบบนี้

ทั้งนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2555 ค่าเงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 30.82-30.86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากช่วงเช้าที่ผ่านมา เนื่องจากดัชนีภาคการผลิตหรือ PMI ของยุโรปออกมาดี โดยระหว่างวันค่าเงินบาทแข็งค่าที่สุดที่ระดับ 30.75 บาท/ดอลลาร์ และค่าเงินบาทอ่อนค่าที่สุด 30.82 บาท/ดอลลาร์