ThaiPublica > คอลัมน์ > คิดถึง “วินัย”

คิดถึง “วินัย”

14 มีนาคม 2012


ดร.วิรไท สันติประภพ
[email protected]

ผมจำได้ว่าสมัยเด็กๆ ค่อนข้างคุ้นหูกับ คำว่า “วินัย” ชายไทยหลายคนมีชื่อว่า “วินัย” เวลาเรียนวิชาศีลธรรมหรือหน้าที่พลเมืองจะถูกปลูกฝังว่าต้องมีวินัย เด็กจะพัฒนาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีไม่ได้ถ้าขาดวินัย และสังคมจะมีแต่ปัญหาถ้าคนในสังคมขาดวินัย

เมื่อเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ ก็จะถูกปลูกฝังเรื่องวินัยการเงินการคลังมากเป็นพิเศษ เพราะถ้าประเทศใดดำเนินนโยบายเศรษฐกิจโดยไม่รักษาวินัยการเงินการคลังแล้ว หนีไม่พ้นที่จะสะดุดขาตัวเอง เกิดปัญหาเงินเฟ้อ เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างยั่งยืน

สมัยนี้ใครตั้งชื่อลูกว่า “วินัย” คงดูแปลกและเชย วิชาศีลธรรมและหน้าที่พลเมืองได้ถูกลดความสำคัญลง และนำไปรวมกับวิชาอื่น ปัญหาวินัยหย่อนยานเริ่มเห็นได้ทุกระดับในสังคมไทย ตั้งแต่นักศึกษาที่ดัดแปลงเครื่องแบบจนไม่ถูกระเบียบวินัย พระที่ไม่ปฏิบัติตามพระวินัย ไปจนถึงนักการเมืองระดับประเทศที่เมาเหล้าเข้าสภา โดยไม่รู้สึกผิดและขาดสำนึกในวินัย

ปัญหาการขาดวินัยมักเริ่มจากเรื่องเล็กๆ ค่อยๆ สะสม ก่อนที่จะบานปลายแล้วเสื่อมลงในที่สุด คนมักจะมองเรื่องวินัยว่า ถ้าคนอื่นหย่อนยานได้ฉันก็หย่อนยานได้ จนนำไปสู่ความเคยชิน และยอมรับความหย่อนยานไปโดยไม่รู้ตัว จนกระทั่งเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมากแล้ว คนในสังคมจึงคิดแก้ไข ซึ่งมักจะทำได้ยาก เพราะคนส่วนใหญ่ได้ติดวินัยหย่อนยานจนเป็นนิสัยไปเสียแล้ว

ปัญหาที่เกิดจากการขาดวินัยจึงเป็นเรื่องที่ต้องกันไว้ก่อน ดีกว่ามาตามแก้ภายหลัง แม้ว่าเศรษฐกิจไทยวันนี้ยังห่างไกลจากวิกฤติเศรษฐกิจเหมือนกับหลายประเทศในยุโรป หรือเหมือนกับเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจไทยปี 2540 แต่เราชะล่าใจไม่ได้กับการหย่อนยานวินัยการเงินการคลังที่เพิ่มขึ้นในช่วงก่อนปี 2540 รัฐบาลไทยและคนไทยส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นมาได้ แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกหลายคนได้เตือนว่า เศรษฐกิจไทยจะเกิดวิกฤติต่อจากเม็กซิโกในปี 2537

วิกฤติหนี้สาธารณะในกรีซขณะนี้ ก็เกิดขึ้นจากการการขาดวินัยการเงินการคลังที่สะสมมาหลายปี และแสดงให้เห็นว่า ถ้าปัญหาการขาดวินัยการเงินการคลังสะสมถึงจุดหนึ่งแล้ว จะปะทุรวดเร็วแบบไฟลามทุ่ง เพราะกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดเงินตลาดทุน เป็นวงจรที่ฉุดเศรษฐกิจลงเหวไปเรื่อยๆ รัฐบาลต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นมาก ซึ่ง นำไปสู่ฐานะการคลังที่เสื่อมลงเร็วขึ้นไปอีก รัฐบาลกรีซต้องรัดเข็มขัดอย่างรุนแรง คนตกงานจำนวนมาก รัฐบาลต้องหยุดให้บริการสาธารณะในหลายๆ ด้าน ส่งผลให้สวัสดิการและคุณภาพชีวิตของคนกรีซถอยหลังไปนับสิบปี

ด้วยความที่ผลเสียจากการขาดวินัยการเงินการคลังจะค่อยๆ สะสม ใช้เวลานานก่อนที่จะปะทุขึ้น นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่สนใจแค่ผลการเลือกตั้งครั้งต่อไป จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อวินัยการเงินการคลัง ในระบอบประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้วจึงต้องคานอำนาจนักการเมืองในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการมีกฏหมายงบประมาณและกฏหมายหนี้สาธารณะ ที่ตีกรอบไม่ให้รัฐบาลบริหารงบประมาณตามอำเภอใจ ระบบการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการคลังและภาระผูกพันล่วงหน้าของรัฐบาลอย่างโปร่งใส ให้ประชาชนติดตามได้ การมีธนาคารกลางที่เป็นอิสระจากรัฐบาล การมีระบบข้าราชการที่นักการเมืองไม่สามารถกลั่นแกล้ง หรือสั่งให้ทำในเรื่องไม่สมควรได้โดยง่าย ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศมีกลไกที่จะมองกว้างและมองไกล มากกว่าที่จะคำนึงถึงเพียงผลการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ในกรณีของประเทศไทยนั้น แม้ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะเมื่อเทียบกับรายได้ประชาชาติของเราในขณะนี้ ยังค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ และธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินในระดับหนึ่ง แต่เราคงต้องเรียกร้องเรื่องวินัยการเงินการคลังกันมากขึ้นด้วยเหตุผลอย่างน้อยสามประการ

ประการแรก ภาระผูกพันในภายหน้าของรัฐบาลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาก ในขณะที่ฐานรายได้ของรัฐบาลโตตามไม่ทัน เพราะรัฐบาลมีแนวโน้มลดอัตราภาษีลงเรื่อยๆ รายงานการศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า กองทุนประกันสังคมจะมีเงินทุนไม่เพียงพอกับรายจ่ายในอนาคต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักการเมืองชอบเพิ่มผลประโยชน์เพื่อเอาใจประชาชน ภาระรายจ่ายด้านสุขภาพของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นสูงมาก จากสัดส่วนของคนชราที่เพิ่มสูงขึ้น และคนไทยมีแนวโน้มที่จะเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น จากโรคเรื้อรังที่มีค่ารักษาพยาบาลค่อนข้างสูง เช่น โรคไต เบาหวาน หรือหัวใจ

นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจหลายแห่งยังมีความสามารถในการแข่งขันลดลงเรื่อยๆ มีการคอรัปชั่นสูง ซึ่งจะนำไปสู่การขาดทุนต่อเนื่อง ส่งผลให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบในอนาคต ท้ายที่สุด สถาบันประกันเงินฝากถูกทำให้อ่อนแอลงมาก เพราะถูกเบียดบังรายได้เกือบทั้งหมดไปชำระหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จนไม่มีใครเชื่อว่าสถาบันประกันเงินฝากจะจัดการสถาบันการเงินที่มีปัญหาได้ ถ้าสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งล้มลง เราจะขาดเครื่องมือที่ตัดไฟแต่ต้นลม อาจทำให้สถาบันการเงินล้มลงเป็นลูกโซ่ ซึ่งหนีไม่พ้นว่าจะกลับมาเป็นภาระของรัฐบาล ด้วยความที่สถาบันประกันเงินฝากอ่อนแอ ประชาชนจะเชื่อว่ารัฐบาลต้องเข้ามาดูแลเงินฝากของประชาชน ผู้ฝากเงินจะขาดวินัยที่จะคำนึงถึงความเสี่ยงของสถาบันการเงิน ถ้าเกิดวิกฤติสถาบันการเงินขึ้นอีกรอบหนึ่งแล้ว หนี้สาธารณะจะกระโดดขึ้นเร็วมากเหมือนกับที่เกิดขึ้นที่ในช่วงวิกฤติปี 2540

ภาระผูกพันในภายหน้ายังมีผลมาจากวัฒนธรรมการหาเสียง ที่พรรคการเมืองมักจะเกทับนโยบายประชานิยม ซึ่งเสนอให้ประชาชนทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ การเพิ่มราคาจำนำสินค้าเกษตร การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หรือการพักหนี้แล้วพักหนี้อีก

ยิ่งประเทศไทยเลือกตั้งบ่อยแค่ไหน เราจะยิ่งเข้าใกล้วิกฤตหนี้สาธารณะมากขึ้นเท่านั้น เพราะประชาชนเสพติดนโยบายประชานิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และนักการเมืองไม่มีหลักการ

ประการที่สอง ระบบคานอำนาจระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการประจำอ่อนแอลงมาก เมื่อใดที่เปลี่ยนรัฐบาล ข้าราชการระดับสูงที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลชุดก่อนมักจะนั่งไม่ติดที่ เราเห็นข่าวการปูนบำเหน็จข้าราชการระดับสูงที่เอาใจนักการเมืองอยู่เป็นประจำ

นอกจากนี้ รัฐมนตรีทั้งหลายมักจะนำพรรคพวกของตนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องแต่มีผลประโยชน์ มาดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง คอยแทรกแซงการทำงานของข้าราชการ ระบบราชการในวันนี้จึงรักษาคนดีมีความสามารถได้ยาก ข้าราชการไม่ค่อยเสนอเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาวจากล่างขึ้นบน แต่จะทำเรื่องนโยบายที่นักการเมืองสั่งจากบนลงล่างเท่านั้น

การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยจึงกลวงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับประเทศรอบข้าง

ประการที่สาม อาจเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากที่สุด คือการระบาดของวัฒนธรรม “mob ประชาชนกับรัฐบาลกลัว mob” ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ใครอยากได้อะไรก็จะจัด mob เดินขบวนโดยไม่สนใจว่าจะสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นอย่างไร คิดเพียงว่าถ้าจัดตั้ง mob ได้มาก ก็จะเรียกร้องเรื่องต่างๆ จากรัฐบาลได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้รัฐมนตรีในช่วงหลังๆ ยังมีแนวโน้มกลัว mob ตอบสนองข้อเรียกร้องของ mob กลุ่มต่างๆ อย่างรวดเร็วโดยไม่คำนึงถึงภาระในอนาคตของรัฐบาล และไม่คำนึงถึงความบิดเบือนที่จะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจ วัฒนธรรม “mobประชาชน กับรัฐบาลกลัว mob” ผนวกกับการเสพติดนโยบายประชานิยมนี้อันตรายมาก

ผมขอย้ำอีกครั้งว่า ผลเสียที่เกิดจากการขาดวินัยการเงินการคลัง เป็นเรื่องที่ต้องกันไว้ก่อนดีกว่ามาตามแก้ ในแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ Vision 2020 ของมาเลเซีย ได้กำหนดแนวทางของนโยบายเศรษฐกิจไว้ชัดเจนว่า รัฐบาลจะระวังไม่ให้เกิดนโยบายที่ไปแย่งทรัพยากรของคนรุ่นต่อไปมาใช้ล่วงหน้า

แนวคิดนี้ตรงข้ามกับแนวคิดของนักการเมืองไทย ที่ไม่สนใจเรื่องวินัยและมักคิดว่า “ไปตายเอาดาบหน้า”

ในช่วงหลังๆ นี้ ผมคิดถึง “วินัย” มากเป็นพิเศษ เพราะไม่ค่อยพบคนชื่อ“วินัย” และไม่ได้ยินนักการเมืองพูดถึงเรื่องวินัย คิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องเรียกร้องให้เกิดวินัยในภาคการเมือง และวินัยในระดับนโยบาย โดยเฉพาะวินัยการเงินการคลัง และอาจจะต้องรณรงค์ให้ “วินัย” กลับมาเป็นชื่อสามัญของชาวไทยอีกครั้งหนึ่ง

หมายเหตุ ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์เศรษฐศาสตร์พเนจร ฉบับวันที่ 14 มีนาคม 2555