ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ส่องโลกไมโครไฟแนนซ์: เงินออมกับสวัสดิการชุมชน

ส่องโลกไมโครไฟแนนซ์: เงินออมกับสวัสดิการชุมชน

22 มีนาคม 2012


สฤณี อาชวานันทกุล

นอกจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 จะทำให้ชาวอเมริกัน อังกฤษ และอีกหลายประเทศก่นด่าภาคการเงินของตัวเองอย่างรุนแรงแล้ว ยังทำให้คนจำนวนมากมองแบบเหมารวมว่า “นวัตกรรมทางการเงิน” อย่างหลักทรัพย์ซีดีโอนั้นก่อโทษมากกว่าประโยชน์ แถมยังมีอานุภาพทำลายล้างรุนแรงจนไม่คุ้มที่จะผลิตขึ้นมา

แต่ในความเป็นจริง นวัตกรรมทางการเงินที่น่าตื่นเต้นที่สุดกำลังเกิดขึ้นในภาคการเงินขนาดจิ๋วนอกโลกการเงินกระแสหลัก วงการที่มุ่งเน้นการส่งมอบบริการทางการเงินให้กับคนจน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักในนาม “ไมโครไฟแนนซ์” (microfinance)

ปัจจุบัน มีสถาบันไมโครไฟแนนซ์ระดับชาติกว่า 12,000 แห่งทั่วโลก หลายสิบแห่งในจำนวนนี้ประสบความสำเร็จสูงมากจนเป็นกรณีศึกษา รูปแบบนิติบุคคลหลากหลาย ตั้งแต่ธนาคารเชิงพาณิชย์ (อาทิ เอสเคเอสไมโครไฟแนนซ์ (SKS) จากอินเดีย) ธนาคารเชิงธุรกิจเพื่อสังคม (อาทิ ธนาคารกรามีน (Grameen) จากบังกลาเทศ) องค์กรไม่แสวงกำไร (อาทิ แอคซิออน (Accion) จากเวเนซุเอลา) ไปจนถึงองค์กรการกุศลที่มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับสถาบันการเงิน (อาทิ แคร์อินเตอร์เนชันแนล (CARE) จากอังกฤษ)

อย่างไรก็ดี เมื่อวงการนี้เติบโตจนแนบชิดกับการเงินกระแสหลัก ธนาคารพาณิชย์ยักษ์ใหญ่จำนวนมากโดดลงมาเล่นในตลาดนี้ด้วย (ถึงแม้ส่วนใหญ่จะทำผ่านสถาบันไมโครไฟแนนซ์ที่มีอยู่เดิม ไม่ได้ทำธุรกรรมกับชาวบ้านตรงๆ ก็ตาม) ผลการวิจัยมากมายก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ไมโครไฟแนนซ์ไม่ใช่ “ยาแก้จน” ที่ใช้ได้ในทุกกรณี เช่น ผู้อดอยากที่ไร้ทักษะใดๆ และสิ้นไร้ไม้ตอกจริงๆ ต้องการความช่วยเหลืออื่นก่อนจะแข็งแรงพอที่จะใช้บริการทางการเงิน นอกจากนี้ สถาบันไมโครไฟแนนซ์จำนวนมากก็ตกเป็นเป้าครหาว่า ปล่อยดอกเบี้ยโหดน้อยกว่าเจ้าหนี้นอกระบบไม่มาก ในปี 2008 ลูกหนี้นับร้อยรายในแคว้นอุตตรประเทศ อินเดีย เครียดจากการถูกทวงหนี้จนตัดสินใจฆ่าตัวตาย เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกและจุดกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามากำกับดูแล

เสียงครหาว่าเป็น “เจ้าหนี้โหด” ดังกลบคุณูปการของสถาบันไมโครไฟแนนซ์จำนวนมากที่ได้พิสูจน์แล้วว่าช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนจนได้จริง และเมื่อมองลึกลงไปในความสำเร็จของพวกเขาเหล่านี้ สิ่งหนึ่งที่มีเหมือนกันคือ การมองเห็นความสำคัญของเงินออม

ในเมื่อ “เงินออม” เป็นส่วนสำคัญของการสร้างความมั่นคงในบั้นปลายชีวิตด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอพึ่งพาสังคมสงเคราะห์จากรัฐหรือการกุศล และในเมื่อ “วินัย” เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในทักษะการจัดการเงินทั้งของตัวเองและครอบครัว สถาบันไมโครไฟแนนซ์ที่สร้างแรงจูงใจให้สมาชิกมีวินัยในการออมได้สำเร็จ จึงสามารถสร้างพลัง (empower) ให้คนได้ใช้ศักยภาพในตัวเอง ฉุดตัวเองให้พ้นบ่วงความจน อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของไมโครไฟแนนซ์และเศรษฐศาสตร์พัฒนาทั้งแขนง

นอกจากนี้ การออมเงินอย่างสม่ำเสมอยังเป็นกลวิธีที่สถาบันไมโครไฟแนนซ์ใช้ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ในไทยกำหนดว่า สมาชิกต้องมาฝากเงิน (เรียกว่า “เงินสัจจะ” เพราะสมาชิกตั้งสัจจะร่วมกันว่าจะออม) หลักสิบหรือร้อยบาทเป็นประจำทุกเดือน เมื่อออมถึงระดับหนึ่ง คือพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีวินัยในการใช้เงิน จึงจะปล่อยกู้ (และคนอื่นก็จะไว้วางใจพอที่จะมาค้ำประกันให้)

พูดง่ายๆ คือ จะออมก่อนแล้วค่อยกู้ หรือกู้ก่อนแล้วค่อยออมก็ได้ แต่ต้องบังคับให้ออม

งานวิจัยล่าสุดชี้ว่า สถาบันไมโครไฟแนนซ์ที่มุ่งปล่อยสินเชื่ออย่างเดียวนั้นไม่อาจช่วยคนจนได้อย่างยั่งยืน ช่วยได้แต่ผู้ประกอบการขนาดจิ๋วที่ไม่จนมาก มีลู่ทางและทักษะในการประกอบอาชีพพร้อมอยู่แล้ว แต่คนจนต้องการทักษะและบริการทางการเงินที่หลากหลายกว่าสินเชื่อ ตั้งแต่เงินฝาก เงินโอน และประกันขนาดจิ๋ว เพื่อสร้างพลัง สะสมความมั่นคง และจัดการความเสี่ยงในชีวิตที่มีอยู่มากมาย และเป็นเรื่องคอขาดบาดตายมากกว่าชีวิตชนชั้นกลาง ยกตัวอย่างเช่น ภัยแล้งหรือน้ำท่วมเพียงครั้งเดียวอาจทำให้ไร่นาทั้งหมดล่มสลาย เงินลงทุนทำการเกษตรสูญเปล่า ทั้งครอบครัวเปลี่ยนสถานะจากปริ่มเส้นยากจนเป็นคนจนผู้ยากไร้ทันที

ถึงแม้การสร้างวินัยการออมจะมีบทบาทที่ขาดไม่ได้ในการช่วยให้คนจนหายจนอย่างยั่งยืน แต่ปัจจุบัน สถาบันไมโครไฟแนนซ์โดยรวมยังไม่ให้ความสำคัญกับเงินออมมากพอ ยังมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อมากกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงกดดันจากผู้ให้ทุน

ในปี 2010 ผลการสำรวจแหล่งทุนของ CGAP องค์กรวิจัยและให้คำปรึกษาด้านไมโครไฟแนนซ์ชั้นนำ ระบุว่า องค์กรกว่า 150 แห่ง (กองทุน นักลงทุน และมูลนิธิ) ให้ทุนสนับสนุนไมโครไฟแนนซ์รวมกันกว่า 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่อยู่ในรูปสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ผู้ให้ทุนเหล่านี้มองเป้าสินเชื่อของสถาบันไมโครไฟแนนซ์เป็นหลัก เนื่องจากดูจะ “เห็นผล” ในชั่วพริบตา (อย่างน้อยก็บอกได้ว่าคนจนเข้าถึงทุนแล้วในทันทีที่ได้สินเชื่อ) ขณะที่การสร้างวินัยการออมต้องใช้เวลาสิบปีหรือนานกว่านั้นกว่าจะเห็นผล (เงินออม 30-100 บาทต่อเดือนในวันนี้ต้องใช้เวลาหลายปี และผู้ออมต้องมุมานะอดทนมาก เก็บเล็กผสมน้อยเพื่อความมั่นคงในอนาคต)

อย่างไรก็ดี สถาบันไมโครไฟแนนซ์จะให้ความสำคัญกับการออมด้านเดียวก็ไม่ได้ เพราะต้องหารายได้มาจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากให้กับสมาชิก เนื่องจากเงินออมที่ปราศจากผลตอบแทนจะถูกอัตราเงินเฟ้อบั่นทอนลงเรื่อยๆ (ค่าของเงินน้อยลง) วิธีหารายได้ส่วนใหญ่ไม่ต่างจากสถาบันการเงินทั่วไป นั่นคือ ปล่อยกู้ให้กับสมาชิก แต่สถาบันที่เน้นการออมมักจะปล่อยกู้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากเงินที่ปล่อยกู้นั้นเป็นเงินออมของสมาชิกด้วยกันเอง จึงมีแรงจูงใจสูงมากในการทำให้เกิดการประเมินคำขอสินเชื่ออย่างรอบคอบ ป้องกันไม่ให้เงินหาย (ต่างจากกลุ่มการเงินที่รัฐโอนเงินงบประมาณหรือเงินกู้จากธนาคารของรัฐมาจัดตั้ง)

หันกลับมาดูประเทศไทย กลุ่มการเงินชุมชนหลายพันแห่งเน้นการออมมากกว่าการปล่อยกู้ รูปแบบองค์กรก็หลากหลาย อาทิ สัจจะลดรายจ่ายวันละบาท สัจจะออมทรัพย์ กลุ่มออมทรัพย์ สหกรณ์ออมทรัพย์ กลุ่มสวัสดิการชุมชน ฯลฯ ปัจจุบันบริหารจัดการเงินรวมกันเป็นหลักหลายหมื่นล้านบาท ใช้เงินออมในการปล่อยกู้และจัดสวัสดิการ “เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย” ให้กับสมาชิก คล้ายประกันขนาดจิ๋ว (microinsurance) ของสถาบันไมโครไฟแนนซ์ในต่างประเทศ เช่น เมื่อสมาชิกคนใดคนหนึ่งตาย ถ้าไม่ขาดส่งเงินสัจจะเลยตลอด 20 ปี ครอบครัวจะได้เงินค่าฌาปนกิจ 8,000-10,000 บาท (หลักคิดคือ ต้องใกล้เคียงกับยอดเงินสัจจะรวมที่สมาชิกคนนั้นส่ง ถ้าสูงกว่านั้นกลุ่มอาจรับความเสี่ยงมากเกินไป)

ความท้าทายหลักของวงการไมโครไฟแนนซ์ จึงมิได้อยู่ที่การเน้นขยายสินเชื่อให้คนจนเข้าถึงมากขึ้นเรื่อยๆ (เป้าหมายที่คับแคบและอันตราย แต่นักการเมืองหลายคนยังเชื่อเช่นนี้) หากแต่อยู่ที่การทำความเข้าใจในวิถีชีวิตของคนจน และนำส่งบริการทางการเงินที่ตรงต่อความต้องการ หลากหลาย สะดวก ยืดหยุ่น และมีราคาย่อมเยา ผ่านสถาบันการเงินในท้องถิ่นและ/หรือเทคโนโลยีที่ทันสมัย อาทิ บริการธนาคารผ่านมือถือ (mobile banking)

รากฐานของการเงินที่ยั่งยืนมิได้อยู่ที่สินเชื่อ หากแต่อยู่ที่การออม เพราะการออมเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาคน

“นวัตกรรมทางสังคม” ของนักการเงินชุมชนไทย

ประเทศไทยมี “นักการเงินชุมชน” หลายคนผู้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แต่คนทั่วไปยังไม่รู้จัก น้อยคนที่รู้จักจากสื่อก็รู้จักในฐานะ “ปราชญ์ชาวบ้าน” ผู้สร้างชุมชนเข้มแข็ง มากกว่าจะมองว่าเป็น “ผู้ประกอบการเพื่อสังคม” (social entrepreneur) ผู้ประดิษฐ์คิดค้น “นวัตกรรมทางสังคม” (social innovation) จำนวนไม่น้อยที่ควรค่าแก่การศึกษา ต่อยอด และขยายผลในวงกว้าง

ตัวอย่างนวัตกรรมทางสังคมของนักการเงินชุมชนไทยได้แก่

1. กุศโลบายให้คนออม

ครูชบ ยอดแก้ว ผู้สร้างหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ชุมชนจนเป็นที่ยอมรับของผู้ดำเนินนโยบาย รัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้นำแนวคิดบางส่วนไปก่อตั้งกองทุนหมู่บ้าน (แต่น่าเสียดายที่นำไปใช้เพียงส่วนเดียว) ลองผิดลองถูกจนพบว่า ถ้าบอกให้คนจนออมเงิน เขาจะรู้สึกท้อแท้ เชื่อว่าทำไม่ได้ เพราะจะคิดทันทีว่าต้องไป “หารายได้เพิ่ม” ถึงจะออมได้ เพราะไม่รู้จะหารายได้เพิ่มมาจากไหน แต่ถ้าเปลี่ยนโจทย์เป็น “ลดรายจ่าย” วันละบาท แบบนี้คนจนจะรู้สึกมีกำลังใจว่าทำได้ นอกจากนี้ ครูชบยังเห็นว่า คนจนออมเดือนละ 30 บาทไม่ได้ แต่ออมวันละ 1 บาทได้ ทั้งที่จำนวนเงินเท่ากัน ทั้งนี้เพราะ 1 บาทซื้ออะไรไม่ได้มาก แต่ถ้าออมจนถึง 30 บาทก็อาจพ่ายแพ้ต่อกิเลส นำเงินจำนวนนี้ไปซื้อบุหรี่หรือของฟุ่มเฟือยอื่นๆ ได้

แนวคิด “สัจจะลดรายจ่ายวันละบาท” ของครูชบจึงเป็นนวัตกรรมทางสังคม เพราะสามารถสร้างแรงจูงใจให้คนจนเก็บออมเงินได้สำเร็จ

2. ใช้ธรรมะเป็นกลไก

พระสุบิน ปณีโต ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์
พระสุบิน ปณีโต ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์

พระสุบิน ปณีโต บุกเบิกกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ในจังหวัดตราดกว่า 20 ปีก่อน จนปัจจุบันทั้งเครือข่ายมีเงินออมรวมกันกว่า 1,000 ล้านบาท จัดการการเงินชุมชนโดยใช้วัดเป็นศูนย์กลาง เริ่มจากการเชื้อเชิญคนที่เข้าวัดทุกวันพระให้ร่วมกันสะสมเงิน โดยตั้งอยู่บนคำสอนของพระพุทธเจ้า

พระสุบินกล่าวถึงกุศโลบายนี้ว่า

“เราบอกว่าการออมในเด็กออมแล้วขาดทุน ใส่กระปุกออมแล้วไม่เกิดประโยชน์ บางทีพ่อแม่ก็ไปแคะกระปุก แต่หลักพุทธเน้นให้ออมอย่างเกิดประโยชน์ การออมเป็นสิ่งดีอยู่แล้ว แต่การออมแบบใส่กระปุกอย่างนี้ไม่ทันยุคทันสมัย เพราะเป็นเงินตาย เราออมใส่กระปุกวันบาทละ 1 บาท ในหมู่บ้านมี 100 คน เงินจะตายวันละ 100 บาท เดือนละ 3,000 บาท ปีละ 36,000 บาท อยู่ในกระปุกเฉยๆ แต่เงินเฟ้อ 3-4% ฉะนั้นเราขาดทุน กว่าเราจะแคะกระปุกไปฝากสถาบันการเงินได้ร้อยละ 0.75 แล้วไปกู้มาร้อยละ 9 ร้อยละ 10 ขาดทุนทั้งขึ้นทั้งล่อง ทำไมเราไม่คิดเชิงบริหารบ้าง ถามว่าพ่อแม่เป็นหนี้ไหม ถ้าเป็น ทำไมไม่เอาเงินลูกหลานมาหมุนล่ะ มีกำไรก็ปันผลให้ลูกหลานไปเลย หรือยามป่วยไข้ก็เอาเงินนี้มาดูแลตัวเรา ลูกหลานเรา ต้องลุกขึ้นมาทำเลย ชุมชนเขาก็เห็นด้วย ก็เริ่มออมกันแบบนี้”

“การแก้ปัญหาต้องเริ่มจากพื้นฐานของเราก่อน เมื่อมีทุนน้อย ก็ค่อยๆ ใช้วิธีการเจือจานจากความฟุ่มเฟือย จากการกินเหล้า เล่นการพนัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เขายากจน ขัดสน จึงขอแบ่งเศษจากที่เขาใช้อย่างฟุ่มเฟือย เอาทุนส่วนนี้มาสัก 10 บาท ไม่เกิน 100 บาท ต่อเดือน มาทดลองเรียนรู้”