วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 เป็นวันศาลรัฐธรรมนูญนัดไต่สวนคำร้อง กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นให้ศาลตีความพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก. ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้ เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 ขัดกับหลักการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรค 1 และวรรค 2 หรือไม่
นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวชี้แจงถึงเหตุผลความจำเป็นที่พรรคประชาธิปัตย์ ต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.ก. 2 ฉบับ ว่า พรรคประชาธิปัตย์มองว่ากฏหมายทั้ง 2 ฉบับ ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ตราเป็น พ.ร.ก. อย่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทนั้น ปัจจุบันยังไม่มีรายละเอียดของโครงการเลย คาดว่าโครงการเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการลงทุนในระยะยาว กว่าจะเบิกจ่ายได้หมดต้องใช้เวลา 3-4 ปี จึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องตราเป็น พ.ร.ก. ควรจะออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือหันไปใช้กลไกของงบประมาณประจำปีดีกว่า
“ในปีงบประมาณ 2555 รัฐบาลยังเหลือวงเงินที่จะกู้เงินได้ถึง 1.1 แสนล้านบาท แทนที่จะออกกฏหมายพิเศษ หรือ พ.ร.ก. มากู้เงิน รัฐบาลก็อาจจะใช้วิธีออกเป็นพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี 2555 ก็ได้ ซึ่งใช้เวลาแค่ 2 เดือน ก็สามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณได้ภายในปีงบประมาณ 2555 แต่รัฐบาลไม่ทำ” นายกรณ์กล่าว
แม้แต่ในช่วงที่มีการแปรญัตติ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2555 ทางฝ่ายนิติบัญญัติได้มีการตัดทอนงบประมาณรายจ่ายในบางโครงการลงหลายรายการ จนกระทั่งได้วงเงินเหลือที่จะนำไปใช้ในโครงการอื่นๆ ถึง 40,000 ล้านบาท แทนที่รัฐบาลจะเอางบฯ ส่วนนี้ไปแก้ปัญหาเรื่องน้ำ แต่กลับเอาไปจัดสรรให้หน่วยงานราชการตามปกติ ก็สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้มองว่ามันเร่งด่วนจริงๆ
“ถามว่าทำไมรัฐบาลไม่นำเงินงบประมาณจำนวนนี้มาแก้ปัญหาเรื่องน้ำ คำตอบก็คือ รัฐบาลไม่มีโครงการลงทุนที่มีความพร้อมที่จะมาใช้เงินในส่วนนี้ และถ้ายอมให้รัฐบาลออก พ.ร.ก. ได้ ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ เรื่องของวินัยการเงินการคลัง เสมือนกำลังส่งสัญญาณว่า ฝ่ายบริหารสามารถตรากฏหมายกู้เงินโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติได้ โดยเฉพาะกฏหมายที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ การพิจารณาโดยศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ คิดว่ามีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศเป็นอย่างมาก ผมและพรรคประชาธิปัตย์มั่นใจ การออกเป็น พ.ร.ก. นั้นขัดต่อหลักกฏหมายรัฐธรรมนูญ” นายกรณ์กล่าว
นายกรณ์กล่าวต่ออีกว่า ส่วนเรื่อง พ.ร.ก.โอนหนี้ไปให้กองทุนฟื้นฟูฯ ตนมองไม่เห็นความจำเป็นเร่งด่วนแต่อย่างใดเลย ภาระหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นหนี้ที่ทุกรัฐบาลแบกรับมาได้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็ไม่ได้เป็นปัญหาหรืออุปสรรคในการจัดหางบฯ ไปพัฒนาประเทศ และที่สำคัญที่สุด ในปีงบประมาณ 2555 รัฐบาลได้จัดสรรงบฯ เอาไว้ชำระค่าดอกเบี้ยให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ แล้ว 68,000 ล้านบาท หมายความว่า ถ้าวันนี้งบฯ มีปัญหาจนไม่มีเงินจะมาใช้หนี้ให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ กรณีนี้จึงจะถือว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อโอนหนี้ก้อนนี้ออกไปให้ผู้อื่นดูแลอย่างนี้ ส่วนในปีงบฯ 2556 ก็สามารถตั้งงบฯ มาใช้หนี้ให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ ได้เช่นเดียวกัน
“ถ้ารัฐบาลมีเจตนาที่จะโอนหนี้ก้อนนี้ไปให้กองทุนฟื้นฟูฯ จริง รัฐบาลก็มีเวลาเพียงพอที่จะเสนอกฏหมายเป็น พ.ร.บ. ไม่ใช่ออกเป็น พ.ร.ก. เพราะไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนแต่อย่างใด จริงๆ ผมก็มีเหตุผลอื่นๆ อีกหลายประเด็น ซึ่งจะนำไปชี้แจงต่อศาลในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555” นายกรณ์กล่าว
อย่างกรณีที่รัฐบาลเก็บค่าธรรมเนียมจากแบงก์รัฐ 0.47% แล้วโอนเข้าไปที่กองทุนพัฒนาประเทศ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้มีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ เพราะถ้าตั้งใจทำจริงๆ แล้ว ทำไมไม่เอาค่าธรรมเนียมที่เก็บมาจากแบงก์รัฐไปสมทบกับค่าธรรเนียมที่เก็บมาจากแบงก์พาณิชย์ ตามประมาณการเดิมของแบงก์ชาติ คาดว่าจะใช้เวลาชำระหนี้หมดภายใน 25 ปี แต่ถ้ามีเงินของแบงก์รัฐเข้ามาร่วมสมทบด้วยคาดว่าจะใช้หนี้หมดภายใน 10 ปี เพราะเงินฝากมีสัดส่วนถึง 28% ของยอดเงินฝากทั้งระบบ
ประเด็นต่อมา รัฐบาลกำลังจะปล้นเงินจากคลัง เอาเงินรายได้รัฐไปใช้โดยไม่ผ่านระบบงบประมาณ เพราะเงินรายได้ของแบงก์รัฐต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เวลารัฐบาลจะใช้จ่ายต้องไปผ่านกระบวนการงบประมาณ แต่งานนี้จะเอาเงินรายได้ที่ต้องส่งเข้าคลังไปใช้กันโดยตรง ไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบของสภา สุดท้ายจะนำไปสู่ปัญหาทุจริต คอรัปชั่น เพราะว่าไม่มีใครตรวจสอบได้ เงินปีละ 10,000 กว่าล้านบาท ตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้อะไร กองทุนพัฒนาประเทศตั้งที่ไหน ต้องจ้างคณะกรรมการมาบริหารเดือนละ 2-3 แสนบาท เหมือนที่เคยมีมาในอดีตหรือไม่
“ตลอด 10 ปี แบงก์พาณิชย์จ่ายเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ ประมาณ 0.4% ขณะที่แบงก์รัฐไม่ต้องจ่ายเลย นี่คือข้อเท็จจริง แต่แบงก์รัฐมีภาระค่าใช้จ่ายอย่างอื่น อาทิ พักหนี้เกษตรกร แก้หนี้นอกระบบ ซึ่งไม่เคยมีแบงก์พาณิชย์เข้ามารับภาระตรงนี้ แต่เป็นหน้าที่ของแบงก์รัฐ นอกจากจะต้องจากภาษีในรูปของเงินนำส่งคลังแล้วยังต้องสนองนโยบายของรัฐด้วย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผลประกอบการของแบงก์รัฐ”
ที่ผ่านมา ฝ่ายรัฐบาลมักจะเอา พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ไปเปรียบเทียบกับ พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง แต่เหตุผลที่พรรคประชาธิปัตย์ออกกฏหมายเป็น พ.ร.ก. คือ เมื่อปี 2552 เป็นปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือ (จีดีพี) ติดลบอย่างรุนแรง ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 จีดีพีติดลบ 3.5% ไตรมาสแรกของปี 2552 ติดลบอีก 7% มีคนตกงานประมาณ 8 แสนคน ขณะที่วันนี้มีคนว่างงานเพียงแค่ 1.7 แสนคน สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
นายกรณ์กล่าวต่อว่า ที่สำคัญ ในปีนั้น รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้จัดทำงบประมาณแบบขาดดุลจนเต็มเพดานและไม่สามารถกู้เงินได้ ขณะที่กระทรวงการคลังได้ทำการประมาณการรายได้คาดว่าจะต่ำกว่าเป้าหมาย 2.5 แสนล้านบาท ยิ่งทำให้ขาดดุลงบประมาณเกินกว่าที่กฏหมายบัญญัติไว้ ตอนนั้นรัฐบาลไม่มีเครื่องมือทางการคลังเหลืออยู่อีกเลย นอกจากการออก พ.ร.ก. กู้เงิน
“สถานการณ์ตอนนั้นแตกต่างจากปัจจุบัน อย่างเรื่องเพดานเงินกู้ ตอนนี้ยังเหลือช่องให้กู้ได้อีก 1.1 แสนล้านบาท ขณะที่กรมจัดเก็บภาษีคาดว่า ปีนี้น่าจะเก็บภาษีได้สูงกว่าเป้าหมาย อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 4-4.5% ต่อปี นักการเมืองไม่ควรบิดเบือนข้อเท็จจริงเพราะจะทำให้ประชาชนเกิดความสับสน จะมาอ้างว่าสมัยรัฐบาลโน้นเคยทำ ทำไมรัฐบาลชุดนี้จะทำไม่ได้ อ้างแบบนั้นโดยไม่ได้ดูที่ข้อเท็จจริงไม่ได้ ผมมั่นใจว่าตุลาการศารัฐธรรมนูญน่าจะเห็นความแตกต่าง การตรากฏหมายเป็น พ.ร.ก. ไม่ใช่จะทำได้ทุกกรณี ต้องพิจารณาตามความเหมาะสม รัฐบาลควรเร่งกำหนดแผนการลงทุนให้มีความชัดเจนเพื่อนำไปสู่ภาคปฎิบัติให้ได้ก่อน ตอนนี้ประชาชนและผู้ประกอบการยังไม่มีความมั่นใจ ไม่กล้าซ่อมบ้าน เพราะถ้าซ่อมไปแล้วไม่รู้ว่าปีนี้น้ำจะท่วมอีกหรือไม่ แต่ถ้ายังไม่มีแผนงาน ก็ไม่รู้ว่าจะกู้เงินเมื่อไหร่ ใช้เงินอย่างไร ก็อย่าไปกู้ เพราะจะเป็นภาระของพี่น้องประชาชน” นายกรณ์กล่าว
ส่วนการสร้างเขี่อนล้อมรอบนิคมอุตสาหกรรม ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ประกอบการจะทำธุรกิจได้ตามปกติ เพราะสินค้าและคนก็เข้า-ออกไม่ได้อยู่ดี ข้อดีคือป้องกันไม่ให้ทรัพย์สินของผู้ประกอบการในนิคมเสียหาย แต่ข้อเสียคือชุมชนที่อยู่นอกเขื่อนกั้นน้ำจะรู้สึกอย่างไร น้ำจะไหลไปอยู่ในบริเวณที่พักอาศัยของชาวบ้าน แต่ไม่เข้าไปท่วมในพื้นที่อุตสาหกรรม