ThaiPublica > คนในข่าว > 12 ปี พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าการบังคับใช้ล้มเหลว หวั่นเปิดเสรีอาเซียนไทยเสียเปรียบ-ต่างชาติแฮปปี้ นักกฎหมายเร่งรัฐทลายกำแพงผูกขาด

12 ปี พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าการบังคับใช้ล้มเหลว หวั่นเปิดเสรีอาเซียนไทยเสียเปรียบ-ต่างชาติแฮปปี้ นักกฎหมายเร่งรัฐทลายกำแพงผูกขาด

4 กุมภาพันธ์ 2012


แม้จะมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 มาจนถึงขณะนี้ บวก ลบ คูณ หารได้กว่า 12 ปี แต่ยังไม่มีธุรกิจใดที่ถูกดำเนินคดีว่าด้วยการทำ “การค้าที่ไม่เป็นธรรม” ได้แม้แต่รายเดียว

สวนทางกับความเป็นจริงของสภาพเศรษฐกิจไทยที่ยังคงอยู่ในวังวนของระบบ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” การผูกขาดและใช้อิทธิพลทางการค้า เอารัดเอาเปรียบรายย่อย ซึ่งสุดท้ายแล้ว ผู้บริโภคและสังคมต้องรับสภาพไปตามระเบียบ

พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 กำกับดูแลโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ล่าสุดมีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าขึ้นมาเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการหรือบอร์ด ที่มีอำนาจในการออกกฎเกณฑ์และพิจารณาเรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้น

จนถึงปัจจุบัน ในบรรดาเรื่องร้องเรียนผ่านเข้ามายังคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเกือบ 80 เรื่อง ปรากฎว่ามีเพียงเรื่องเดียวคือกรณี บริษัท ฮอนด้า ห้ามเอเย่นต์ขายจักรยานยนต์ของคู่แข่ง ที่เรื่องถูกดำเนินการไปถึงขั้นตอนของอัยการ แต่ปรากฎว่าอัยการสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากดำเนินการผิดขั้นตอน

“พรนภา ไทยเจริญ” ผู้บริหาร (Partner) บริษัท เบเคอร์แอนด์แม็คเค็นซี่ (Baker & Mckenzie) ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายระดับโลก และยังมีบทบาทสำคัญในฐานะอดีตคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีเมื่อปลายปี 2551 ถือเป็นหนึ่งในบุคคลที่คลุกวงในทั้งภาคธุรกิจและหน่วยงานที่กำกับดูแลกฎหมายฉบับนี้

ไทยพับลิก้า : 12 ปีของการบังคับใช้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ผลที่ออกมาถือว่าล้มเหลว

อย่างที่ทราบอยู่แล้ว่า 12 ปีที่ผ่านมา เรื่องนี้ไม่ได้มีปัญหาที่ตัวกฎหมาย แต่มีปัญหาที่การบังคับใช้กฏหมาย คือไม่ได้บังคับใช้อย่างเข้มข้น นโยบายของแต่ละรัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างจริงจังต่อกฎหมายฉบับนี้ ทั้งที่ในต่างประเทศกฎหมายนี้มีความสำคัญมาก แทบทุกประเทศบังคับใช้อย่างจริงจัง ซึ่งกฎหมายของเรานั้นดีในระดับหนึ่ง หากได้มีการบังคับใช้จริงจัง จะนำมาซึ่งการพัฒนาโดยตัวมันเอง

แน่นอนว่า กฎหมายมีเนื้อหาสาระที่ต้องเอาการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์มาจับด้วย การตีความต้องใช้ประเด็นเศรษฐศาสตร์เยอะ แต่ถ้ายังไม่บังคับใช้จริงจังก็เป็นแบบนี้ ความล้มเหลวอยู่ที่ตัวผู้บังคับใช้กฎหมาย เพราะเนื้อหาสาระกฎหมายค่อนข้างเป็นสากล ครอบคลุมพฤติกรรมต่างๆ ที่ประเทศอื่นๆ เขาก็ดูแลควบคุมอยู่

ไทยพับลิก้า : ความล้มเหลวเกิดจากระดับข้าราชการหรือระดับนโยบาย

แทบทุกระดับ ตั้งแต่ที่เป็นผู้ดูแลระดับสูง ท่านเจ้ากระทรวงให้ความสำคัญจริงจังแค่ไหน มาถึงระดับคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า แล้วก็มาถึงระดับเจ้าหน้าที่ ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าทางเจ้าสำนักไม่ให้ความสำคัญ ไม่มีนโยบายที่จะให้ความสำคัญ ส่วนต่างๆ ที่เป็นระดับรองลงมาจนถึงระดับคนทำงานก็ทำอะไรไม่ได้มาก และการประชุมคณะกรรมการต้องให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน รัฐมนตรีแต่ละท่านจะให้ความสำคัญกับการเรียกประชุมหรือไม่ ถ้าไม่มีการประชุมก็ทำอะไรมากไม่ได้ ขณะเดียวกัน ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้ามีส่วนของการเมืองมาเกี่ยวข้องมาก ก็ทำให้ขับเคลื่อนไปไหนลำบากเหมือนกัน ไม่ต้องพูดถึงว่าเจ้าหน้าที่ทำงาน ก็ยิ่งทำอะไรไม่ได้มากเท่าไหร่ ถ้าไม่มีนโยบายอะไรลงมาชัดเจน

ไทยพับลิก้า: ช่วงที่เข้าไปเป็นคณะกรรมการแข่งขันการค้าเผชิญปัญหานี้หรือไม่

ก็เป็นอย่างนั้น แทบจะไม่มีการเรียกประชุมคณะกรรมการเลย อย่างที่กล่าวมาว่าเนื้อหาสาระของกฎหมายพอใช้ได้ระดับหนึ่ง อีกส่วนควรแก้ไขให้ดีขึ้น อาทิ ประเด็นที่บอกว่า เรื่องราวมีหลายขั้นตอนกว่าจะฟ้องร้องกันได้ กว่าเรื่องไปถึงอัยการพิจารณาว่าจะตีกลับหรือไม่ จะส่งฟ้องรือไม่ส่งฟ้อง มันมีขั้นตอนเยอะเกินไป ตลอดเวลาที่ผ่านมา 12 ปี ยังไม่มีเคสที่ส่งฟ้องศาล ใกล้เคียงสุดคือเคสของฮอนด้า ที่ตีกลับไปกลับมาอยู่ในขั้นอัยการ ก็หวังว่าเคสนี้จะไปถึงศาลได้

มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาตลอด เจ้าหน้าที่ก็ทำงาน พยายามหาข้อมูลให้คณะกรรมการพิจารณา แต่ขั้นตอนมีมาก ใช้เวลานาน คณะกรรมการต้องตั้งอนุกรรมการเชี่ยวชาญ อนุกรรมการสอบสวน หาข้อมูลพิจารณาทำเรื่องก่อนจะเสนอกลับมาอีก จึงพิจารณาว่าจะส่งเรื่องฟ้องหรือไม่ ถ้าจะฟ้องก็ส่งอัยการพิจารณาข้อมูล ถ้าข้อมูลไม่ครบพอจะฟ้องศาล ก็ตีกลับไปกลับมา แต่ละเรื่องใช้เวลานานมาก ประเด็นจริงๆ คือ ถ้าเรียกประชุมคณะกรรมการกันจริงจัง ก็จะใช้เวลาไม่นานเกินไป ถ้าทางประธานเข้าประชุม ก็ไม่น่าจะมีอะไรที่ใช้เวลานาน บางเรื่องมีการล็อบบี้กันพอสมควร

ไทยพับลิก้า : อาจเป็นเพราะบอร์ดแข่งขันการค้าไม่มีการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่มีผลประโยชน์ทางการเมือง

คงไม่เกี่ยว เพราะกฎหมายฉบับนี้ดูแลธุรกิจให้เป็นธรรม ไม่ให้มีการฮั้วกันระหว่างรายใหญ่ ไม่ให้เอาเปรียบหรือรวมตัวกันอย่างไม่ยุติธรรมกับรายอื่น บางเรื่อง ถ้ารัฐบาลหรือคนในรัฐบาลคนเกี่ยวข้อง หรือมีส่วนได้เสียกับธุรกิจที่เป็นประเด็นนั้นๆ ก็อาจจะมีกรณีว่า มีการใช้อิทธิพลโน้มน้าว ดึงเรื่อง ก็เป็นไปได้ มีหลายปัจจัย

ส่วนกรณีกฎหมายมีข้อบกพร่องหรือไม่ ก็ไม่เชิง ถ้าจะดูว่ากฎหมายกำหนดเรื่องผู้มีอำนาจเหนือตลาด ก็ต้องมีกฎเกณฑ์ตามมา แต่ปรากฎว่าเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาด กลับออกตามมาหลังกฎหมายที่บังคับใช้ไปแล้วเกือบ 10 ปี อย่างกรณีบังคับขายเหล้าพ่วงเบียร์ที่เกิดขึ้นก่อนนิยามนี้จะออกมา ดังนั้น เมื่อตอนเกิดเรื่องยังไม่มีนิยามนี้ ก็บังคับใช้ไม่เต็มที่ แต่ตอนนี้นิยามออกมาแล้ว ก็ทำได้มากขึ้น

นอกจากนั้น กฎเกณฑ์เรื่องการควบรวมกิจการ ตอนนี้ยังไม่ประกาศออกมาว่าต้องขออนุญาตยังไง ต้องเข้าข่ายอะไรบ้าง ก็มีปัญหาในการบังคับใช้เหมือนกัน สะท้อนว่ารัฐบาลและคณะกรรมการไม่ให้ความสำคัญอย่างเป็นจริงเป็นจังเท่าไหร่ ซึ่งมีจะปัญหาแน่ เพราะต่อไปประชาคมอาเซียนหรือเออีซีจะเกิด การที่เราไม่มีกฎระเบียบหรือวิธีบังคับใช้กฎหมายที่เป็นจริงเป็นจังจะทำให้มีความเสียเปรียบ เพราะทุกประเทศในเอเซียมีการบังคับใช้แล้ว

พรนภา ไทยเจริญ ผู้บริหาร (Partner) บริษัท เบเคอร์แอนด์แม็คเค็นซี่ จำกัด
พรนภา ไทยเจริญ ผู้บริหาร (Partner) บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด

ไทยพับลิก้า : ธุรกิจไทยจะเสียเปรียบธุรกิจต่างชาติ

เราไม่มีกฎเกณฑ์บังคับใช้กฎหมาย บางคนมองว่ากฎหมายนี้จะทำให้ธุรกิจไม่เติบโต ซึ่งไม่ใช่อย่างนั้น แต่จะเป็นการช่วยกันดูแลไม่ให้เกิดการเอาเปรียบ หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรม เราไม่บังคับใช้กฎหมายประเภทนี้ แต่ขณะนี้ประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียนเขาใช้ เวลาเราไปลงทุนประเทศเขา เขาบังคับใช้รุนแรง แต่ถ้ามาประเทศเราซึ่งไม่ได้มีการบังคับใช้ เราก็เสียเปรียบ เราไปทำอะไรก็เข้ากฎเกณฑ์พวกนั้น แต่เวลาเขามากลับไม่มีเกณฑ์ควบรวม

หรือแม้แต่เกณฑ์อำนาจเหนือตลาดที่กฏหมายมีแล้ว ก็ต้องมาดูว่าเป็นเกณฑ์ที่กว้างเกินไปหรือไม่ จนแทบจะจับตัวผู้มีอำนาจเหนือตลาดได้ไม่กี่ราย เช่น กำหนดว่าผู้มีอำนาจเหนือตลาดต้องมีมาร์เก็ตแชร์ตั้งแต่ 50% ยอดขายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท บางอุตสาหกรรมหรือบางธุรกิจต้องเข้าเกณฑ์ทั้งสองอย่าง เห็นชัดว่าในบางกรณี ตลาดสินค้าบางประเภทมีมาร์เก็ตแชร์เกิน 50% แต่ธุรกิจไม่เกิน 1,000 ล้าน มันก็ไม่เข้าเกณฑ์ ต้องมาทบทวนกันอีกครั้งเพื่อให้กฎหมายบังคับใช้ได้

เพราะถ้าเราบังคับใช้กฎหมายจริงๆ มันก็ต้องจับได้บ้าง ขณะเดียวกัน เมื่อเกณฑ์ควบรวมกิจการไม่ออก ตอนนี้ก็ไม่มีใครดูแล ใครจะมาควบรวม ทำอะไรก็ไม่ต้องขออนุญาต บางคนมองว่าถ้าคุมก็ไม่เติบโต จริงๆ มองอย่างนั้นมันแคบไป เพราะการจดทะเบียนเป็นการดูแล ไม่ได้ห้ามควบรวม แต่ดูแลว่าการควบรวมนั้นไม่ได้มีผลทำให้เกิดการผูกขาดตลาด หากเป็นการควบรวมเพื่อประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่ก็ต้องอนุมัติอยู่แล้ว คนจะมองแต่ว่าไปบล็อค จริงๆ เป็นการเก็บข้อมูล ไม่ให้มีพฤติกรรมไม่เป็นธรรม ไม่อย่างนั้นหลายประเทศที่มีกฎหมายนี้เข้มแข็งคงไม่เกิดการควบรวมกิจการได้แน่ บริษัทใหญ่ๆ ควบรวม ยื่นไฟลิ่งขอนุมัติ เขาก็ได้อนุมัติ จริงๆ ไม่ได้บล็อคเหมือนอย่างภาพที่หลายคนพยายามสร้างขึ้น

เว้นแต่มีแนวโน้มว่าควบรวมแล้วจะกินส่วนแบ่งตลาดถึง 90% แบบนั้นก็ต้องระวัง จะให้ควบรวมต้องมีเงื่อนไข เราน่าจะมองกฎหมายฉบับนี้เพื่อช่วยแก้ไขมากกว่า ถ้าไม่มีการบังคับใช้จะไม่รู้ว่าวิธีการจะทำอย่างไร ประเทศอื่นๆ ใช้แล้วก็ไม่ได้มีกรณีที่ทำให้เกิดการบล็อคเลย

ไทยพับลิก้า : ที่หลักเกณฑ์ควบกิจการไม่ออกมา เพราะบอร์ดไม่ค่อยประชุม

การไม่ออกหลักเกณฑ์ทำให้นักลงทุนไม่ต้องยื่นขอ ตอนนี้ฟรีเลย ใครจะเทคโอเวอร์อะไร ก็แฮปปี้ (Happy Hour) ถ้าหลักเกณฑ์ออกมา การยื่นขออนุญาตสามารถยื่นทางสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันการค้าได้

ไทยพับลิก้า : ควรมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.แข่งขันการค้า กับรัฐวิสาหกิจด้วยไหม

เป็นอันหนึ่งที่เห็นด้วยมากๆ ว่าควรแก้ไขกฎหมายปัจจุบันที่ไม่บังคับใช้กับรัฐวิสาหกิจ เพราะเดี่ยวนี้รัฐวิสาหกิจได้แปรสภาพไปกลายๆ แล้ว และประกอบธุรกิจแข่งขันกับเอกชน การไม่บังคับใช้เท่ากับบิดเบือนเจตนารมณ์ของการบังคับใช้กฎหมายไปหน่อย ถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจจริงๆ บางประเภทเราก็ยกเว้นให้ได้อยู่แล้ว แต่ถ้ามีการค้าแข่งกับผู้ประกอบการทั่วไป ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้

ไทยพับลิก้า : การบังคับใช้จำเป็นต้องให้แปรรูปก่อน

ตาม พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจ จะมีประเภทของรัฐวิสาหกิจอยู่แล้ว ถ้าเป็นของรัฐจริงๆ ประกอบธุรกิจที่ไม่ได้ทำการแข่งขัน แต่ให้ประโยชน์กับสาธารณะ เช่น ต้องให้บริการ ไม่ได้หากำไร ก็โอเค เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องให้บริการสาธารณะไม่แสวงหากำไร อีกประเภทคือรัฐวิสาหกิจ ที่เข้าคำนิยามเพราะรัฐถือหุ้นเกิน 50% ขึ้นไป ทั้งๆ ที่วิธีประกอบการแสวงหากำไรเป็นลักษณะเดียวกับผู้ประกอบการเอกชนทั่วไป รัฐวิสาหกิจประเภทนี้ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ในต่างประเทศก็อยู่ กฎหมายใช้บังคับได้ อย่างกรณีบริษัท ปตท. ประกอบธุรกิจแข่งกันเอกชนทั่วไปอยู่แล้ว คงไม่ใช่รัฐวิสาหกิจเพื่อสังคม

ไทยพับลิก้า : ถือว่าประชาชนจะได้ประโยชน์

จะทำให้เกิดการแข่งขันเป็นธรรม ประชาชนได้ประโยชน์ไม่ได้หมายความว่าบริษัท ปตท. ไม่เป็นธรรม แต่การทำตามกฎกติกากฎหมายฉบับนี้จะช่วยได้ ถ้าอยู่ในนิยามผู้มีอำนาจเหนือตลาด ก็จะมีเงื่อนไขว่า อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ รัฐวิสาหกิจส่วนที่ทำธุรกิจจะได้รับการปฏิบัติแบบเดียวกับผู้ประกอบการทั่วไป ส่วนรัฐวิสาหกิจบริการประชาชนอย่างรถเมล์ ขสมก. ก็ไม่มีปัญหา เขาก็ไม่ได้แสวงหากำไร ขาดทุนตลอด

ไทยพับลิก้า : ช่วงเป็นกรรมการแข่งขันการค้า แนวคิดเช่นนี้ได้รับการผลักดันหรือไม่

ก่อนหน้านี้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อดูว่ากฎหมายข้อไหนควรแก้ไข เรื่องรัฐวิสาหกิจเป็นหนึ่งที่คณะทำงานต้องการผลักดัน แต่การแก้ไขกฎหมายต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผลักดันจากหลายฝ่าย ไม่ใช่แค่ผู้ปฏิบัติงานหรือกระทรวงจะผลักดันอย่างเดียว

ไทยพับลิก้า : สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์และรัฐบาลขิงแก่ ถือเป็นจังหวะดีในการแก้กฎหมาย

ก็น่าจะ แต่ก็เสียดายไม่มีอะไรเป็นจริงเป็นจัง เกณฑ์ควบรวมกิจการก็ค้างอยู่ ไม่ไปไหน ไม่เข้าใจว่าทำไมออกมาไม่ได้ ทั้งที่เกณฑ์ควบรวมไม่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี แต่อำนาจเหนือตลาดต้องผ่าน ก็ยังออกมาได้ ก็ขึ้นอยู่กับว่าที่เจ้ากระทรวงให้ความสำคัญหรือไม่ ต้องช่วยกันตีฆ้องร้องป่าว

ไทยพับลิก้า : กรณีเครือซีพีบังคับเกษตรกรซื้อวัตถุดิบทางการเกษตร ทางบอร์ดเคยยกมาคุยกันไหม

คณะกรรมการแข่งขันการค้าชุดที่เคยเป็นอยู่ไม่มีเรื่องนี้ ต้องดูว่ามีเรื่องร้องเรียนหรือไม่ ถ้าไม่ร้องก็ยากเหมือนกัน เจ้าหน้าที่จะไม่ทราบเรื่อง ปัญหาทางปฏิบัติก็คือ ลักษณะคนไทยที่ไม่อยากยุ่งวุ่นวาย หลายเรื่องมีการร้องเรียนเข้ามา พอเจ้าหน้าที่ขอข้อมูลเพิ่มเติมก็ไม่ให้ความร่วมมือ ถ้าข้อมูลไม่พอการตั้งเรื่องก็ยาก ไม่ได้หลักฐาน ดังนั้นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ร้องเรียนด้วย หลายเคสเป็นอย่างนี้ การทำงานก็ลำบาก เรื่องก็ต้องตกไปเพราะไม่มีหลักฐาน ลำพังแค่ร้องเรียนเข้ามาแล้วจะไปบอกว่าเขาผิดก็ไม่ได้ เพราะใครก็สามารถร้องเรียนได้ ดังนั้น ต้องปรับพฤติกรรม ถ้าใครคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมต้องเตรียมข้อมูลด้วย

และถ้านโยบายของทางรัฐบาลสั่งลงมาเลยว่า ให้ดูแลบังคับใช้อย่างเข้มแข็ง จริงๆ เจ้าหน้าที่มีอำนาจมาก สามารถเรียกมาให้ข้อมูลได้ ไม่ให้ข้อมูลก็มีความผิดทางอาญาเหมือนกัน อยู่ที่เจ้ากระทรวงมากกว่า ถ้าไม่สนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ เขาก็ไม่กล้า นายไม่สั่งก็ไม่กล้า เพราะกฎหมายให้อำนาจถึงขนาดตรวจค้นสถานที่ได้ ประเทศอื่นๆ ให้อำนาจค้นสถานที่เอาข้อมูลเอกสารได้ กฎหมายเราก็ให้อำนาจนั้นเหมือนกัน แต่ก็ไม่มีการใช้ หรือคนไม่กล้าเพราะนายไม่ได้บอก ทำไปก็จะถูก…

ไทยพับลิก้า : ที่ผ่านมา มีคนพูดถึงประเด็นข้อขัดแย้งทางผลประโยชน์ของกรรมการแข่งขันการค้าที่มาจากตัวแทนบริษัทใหญ่

ต้องมองสองแง่ เพราะคณะกรรมการมีทั้งมาจากภาคเอกชนและจากสภาอุตสาหกรรม แน่นอนว่าต้องมีบริษัท อยู่ที่ว่าเขาสวมหมวกใบไหน ต้องรู้ว่าถ้าเป็นเรื่องที่ตัวเองมีส่วนได้เสียก็ต้องไม่อยู่ในที่ประชุม เป็นเรื่องของสำนึก แต่การที่มีภาคเอกชนเข้าไปในคณะกรรมการก็ถือเป็นผลดีได้ เพราะทำให้ได้มุมมองของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งไม่ใช่มุมมองจากภาคราชการทั้งหมด เพียงแต่เราต้องรู้ว่าเราทำบทบาทอะไร ถ้าบอกเป็นจุดอ่อนก็เป็นจุดอ่อน มองเป็นจุดแข็งก็เป็นจุดแข็ง แล้วแต่ความสำนึกของตัวเองว่าทำบทบาทไหนด้วย ถ้ามองเรื่องสร้างสรรค์ก็สร้างสรรค์

ไทยพับลิก้า : ในแวดวงกฎหมายระหว่างประเทศ นักลงทุนต่างชาติมีการมองกฎหมายตัวนี้แค่ไหน

มีมาก เวลาไปพูดบนเวทีระหว่างประเทศ ก็ได้แต่กระมิดกระเมี้ยนว่ายังไม่มีอะไรคืบหน้า ฝรั่งก็งง เพราะกฎหมายนี้สำคัญมากในต่างประเทศ เวลาทำธุรกรรมอะไรเขาจะดูกฎหมายนี้เป็นอันดับแรกๆ แต่เมืองไทยยังไม่บังคับใช้เท่าไหร่ เวลาเราให้ความเห็นต้องให้ความเห็นเรื่องเนื้อหา ว่าทำอย่างนี้ถูกไม่ถูก แล้วให้คำปรึกษาตามนั้น เราต้องบอกว่าบ้านเรามีกฎหมาย แต่ส่วนที่ประเทศอื่นๆ มองว่าเราไม่มีสักทีก็คือเกณฑ์การควบรวมกิจการ เรียนได้เลยว่า ในทุกประเทศที่่มีกฎหมายนี้ การควบรวมจะเป็นเรื่องต้นๆ ที่เขาต้องระมัดระวังกันเลย

คำถามแรกที่เราพบจากนักลงทุนคือ ตามกฏหมายแข่งขันการค้าของเรา ถ้าเขาจะเข้าซื้อกิจการนี้ต้องขออนุญาตหรือเปล่า เป็นคำถามต้นๆ ของการควบรวม โดยเฉพาะกรณีผู้ประกอบการมาจากประเทศอื่น คำตอบคือเรามีกฎหมายแต่ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้ เพราะเกณฑ์เรื่องการควบรวมยังไม่ออกมา ถ้าออกมาก็ต้องขอ ตอนนี้เขาก็แฮปปี้ เพราะมันง่ายจังเลย บางกรณีเขาเทคโอเวอร์ทั่วโลก ก็ต้องรออนุมัติจากทุกประเทศทั่วโลกจึงจะจดทะเบียนได้ อย่างในอียูก็มี สหรัฐอเมริกาก็มีหน่วยงานที่ดูแลการควบรวม เอเชียมีเกือบทุกประเทศ จีน สิงคโปร์ มีกฎหมายหลังเราแต่เขาไปไกลแล้ว เรามี 12 ปี จีนอย่างเก่งก็ 5-6 ปี แต่เขาบังคับใช้ไปถึงไหนแล้ว มาเลเซียก็เพิ่งมีเมื่อต้นปีนี้ ตามหลังเราเกือบสิบปี แต่บังคับใช้อย่างเข้มแข็ง

ไทยพับลิก้า : ในมุมมองนักฎหมาย อยากให้รัฐบาลชุดนี้เดินหน้าต่ออย่างไร

อันดับต้นคือ นโยบายของรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ คนจะเห็นความสำคัญของกฎหมายก็เพราะมีการบังคับใช้ ต้องมีเคสเกิดขึ้นอย่างเป็นจริงเป็นจัง เรื่องรัฐวิสาหกิจก็น่าจะมีการแก้ไข แต่ถ้าแก้ไขยาก ขั้นตอนมาก ส่วนไหนเรื่องไหนที่ง่ายๆ ก็ควรทำได้เลย เพราะเรามีกฎหมายอยู่แล้ว ปัญหาคือการบังคับใช้ ทำให้มันเป็นจริงเป็นจัง ให้นโยบายไปเลยว่า จะใช้กฎหมายเต็มที่หากใครทำไม่ถูกหรือได้รับการร้องเรียน แล้วเกณฑ์ควบรวมก็ควรออกมาได้แล้ว เพราะต่อไปเป็นโลกาภิวัฒน์ อาเซียนบวกสาม บวกหก เราพูดถึงการขยายตลาดออกไปทั้งภูมิภาค ต่อไปพวกนอกอาเซียนจะมีช่องทางเข้าอาเซียนและใช้ประโยชน์จากเออีซีเหมือนกัน จึงจำเป็นอย่างมากที่เราจะต้องบังคับใช้กฎหมายของเราให้เป็นตามมาตรฐานที่ประเทศอื่นๆ ใช้

ไทยพับลิก้า : คณะกรรมการแข่งขันการค้าไม่ค่อยเรียกประชุมตั้งแต่คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็น รมว.พาณิชย์ มาจนถึงคนปัจจุบัน

ยังไม่มีเลย อาจต้องเห็นใจนิดหนึ่ง เพราะตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามาก็มีปัญหาน้ำท่วม มีนั่นมีนี่ ท่าน รมว.พาณิชย์ เป็นรองนายกฯ ด้วย ต้องดูภาพรวม ไปอยู่ตรงนั้นมากกว่าการดูแลกระทรวง ต้องเรียนว่าเป็นช่วงวิกฤต แต่โดยหลักการแล้ว ถ้าให้ความสำคัญกับตรงนี้เพิ่มสักหน่อยก็จะดี

ธุรกิจเล็ก-ใหญ่ฟ้องกันนัว

พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ออกมาในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี และมี ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เป็น รมว.พาณิชย์ มีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันไม่ให้ธุรกิจขนาดใหญ่ ใช้ความมีอำนาจเหนือตลาดก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมต่อกิจการขนาดย่อม หรือเกี่ยวพันกับธุรกิจโดยทั่วไป

กรณีใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและมีการร้องเรียน อาทิ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร้องเรียนว่า บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเบียร์อาชา มีพฤติกรรมขายเหล้าพ่วงเบียร์ และมีการนำเบียร์มาขายในราคาต่ำกว่าทุน

กรณีเอเย่นต์ร้องเรียนบริษัทฮอนด้าบังคับห้ามจำหน่ายรถจักรยานยนต์คู่แข่ง, กรณีร้องเรียนเรื่องโทรทัศน์ระบบบอกสมาชิกหรือยูบีซี กำหนดอัตราค่าบริการรายเดือนสูงเกินควร, บริษัท เจียเม้ง จำกัด ร้องเรียนว่า ถูกบริษัท เซ็นคาร์ จำกัด หรือ คาร์ฟูร์ นำสินค้าข้าวสารบรรจุถุงขนาด 5 กิโลกรัม ไปจำหน่ายในราคาต่ำกว่าทุน และกรณีบริษัท กานดาซัพพลาย จำกัด ร้องเรียนชมรมเอเย่นต์ส่งหนังสือ ทำการจำกัดกีดกันการส่งหนังสือให้กับบริษัท เนื่องจากบริษัทไม่เข้ารวมกลุ่มเพื่อต่อรองสิทธิประโยชน์ในการทำธุรกิจกับบริษัท ซีเอ็ดบุ๊ค จำกัด เป็นต้น

กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน มีหน้าที่ออกกฎกระทรวง ประกาศกำหนดส่วนแบ่งตลาด ยอดขายของผู้ประกอบธุรกิจแต่ละประเภทที่มีอำนาจเหนือตลาด พิจารณาเรื่องร้องเรียน กำหนดหลักเกณฑ์การรวมธุรกิจ การขออนุญาติต่างๆ ตามที่กำหนดในกฎหมาย

โดยหลักการคือ ห้ามผู้มีอำนาจเหนือตลาดดำเนินการการค้าที่ไม่เป็นธรรม แทรกแซงการดำเนินธุรกิจของผู้อื่น ห้ามมิให้มีการรวมธุรกิจอันอาจก่อให้เกิดการผูกขาด และก่อให้เกิดการจำกัดการแข่งขัน และไม่ว่าจะก่อให้เกิดการผูกขาดหรือไม่ หากจะทำการดำเนินการเพื่อให้เกิดการรวมธุรกิจ ก็ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า

กฎหมายได้กำหนดสิทธิของผู้เสียหายจากการกระทำที่ฝ่าฝืนให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ให้มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ และให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือสมาคมตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจฟ้องคดีแทนได้