ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > รัฐบาลออกพ.ร.ก. 4 ฉบับ ฉับไว-กระชับวงล้อม คลัง-แบงก์ชาติ 15 วัน

รัฐบาลออกพ.ร.ก. 4 ฉบับ ฉับไว-กระชับวงล้อม คลัง-แบงก์ชาติ 15 วัน

13 มกราคม 2012


แม้คณะรัฐมนตรีจะมีมติรับร่างพระราชกำหนด 4 ฉบับ ไปแล้ว และเตรียมเดินหน้าดำเนินการเพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว แต่เสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยกลับดังมากขึ้น โดยเฉพาะร่างพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. … เนื่่องจากเป็นห่วงว่าการทำลักษณะนี้จะไม่รอบคอบ หากเกิดความผิดพลาดอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่่นต่อระบบการเงินของประเทศ

โดยนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่และผู้ที่เคยเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ อาทิ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวากุล อดีตผู้ว่าการ ธปท. และอดีตรัฐมนตรีคลัง มีการเรียกร้องให้ออกเป็นพระราชบัญญัติในกรณีการแก้หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพราะปัญหานี้ไม่จำเป็นเร่งด่วนจนต้องออกเป็นพระราชกำหนด

“ไม่ควรอ้างถึงความจำเป็นในการแก้ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำมาเป็นเหตุผลในการเร่งออกพระราชกำหนด เพราะเสี่ยงที่จะเป็นโมฆะ ถ้าทำไม่ได้ก็จะกระทบเสถียรภาพของรัฐบาล” ม.ร.ว. ปรีดิยาธรกล่าว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มาภาพ : http://www.106familynews.com/post_photo/Image/pridiyathorn.jpg

ทั้งนี้ถ้าพิจารณาระยะเวลาในการดำเนินการเกี่่ยวกับการออกร่างพระราชบัญญัติ 4 ฉบับ พบว่า มีกระบวนการที่กระชับฉับไวมาก ใช้เวลาเพียง 15 วัน เท่านั้นเอง สามารถออกพระราชกำหนดได้ถึง 4 ฉบับรวด

เริ่มจาก 27 ธ.ค. 2554 เป็นครั้งแรกที่คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องนี้ ด้วยการรับทราบมติข้อเสนอของ ดร.วีระพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ซึ่งเสนอแนวทางเตรียมการทางด้านการเงินเพื่อให้สามารถลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้ โดยเฉพาะโครงการลงทุนพื้นฐานในระบบบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ และคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ไปหาปรึกษาหารือกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง

30 ธ.ค. 2554 นายกิตติรัตน์ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สภาพัฒน์ฯ) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อดูว่าหลักการที่จะรับข้อเสนอของประธานกยอ. ต้องดำเนินการอย่างไร

4 ม.ค. 2555 คณะรัฐมนตรีมีมติรับในหลักการร่างพระราชกำหนด 4 ฉบับ ตามที่นายกิตติรัตน์นำเสนอ และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปตรวจยกร่างว่า เนื้อหาและถ้อยคำต่างๆ ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบนั้นควรปรับเปลี่ยนหรือไม่ โดยนำไปปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง และเสนอกลับมาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

10 ม.ค. 2555 นายกิตติรัตน์นำเสนอพระราชกำหนด 4 ฉบับ เป็นวาระจรให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับร่างพระราชกำหนดดังกล่าว และมีความเห็นว่า ร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ ควรเป็นพระราชกำหนด เพื่อจะได้ดำเนินการต่อได้ด้วยความรวดเร็ว

ขั้นตอนการพิจารณาพระราชกำหนด 4 ฉบับ ที่ดำเนินการค่อนข้างรวบรัด ใช้เวลาพิจารณาแค่ 15 วัน บวกกับกระแสความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินการของนายกิตติรัตน์กับนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจรัฐบาลในการออกพระราชกำหนดครั้งนี้

ดร.ปราณี ทินกร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ประเด็นว่า สาเหตุที่มีการคัดค้านการออกพระราชกำหนดแก้ปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ โดยเห็นว่าควรออกเป็นพระราชบัญญัติ เนื่องจากต้องการให้กระบวนการพิจารณาผ่านการอภิปรายโต้แย้งอย่างโปร่งใสของสภาผู้แทนราษฎรที่มีทั้งสมาชิกสมาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา

“กระบวนการทางรัฐสภา จะทำให้เกิดความรอบคอบ และโปร่งใสในการพิจารณา เพราะเราจะได้เห็นข้อมูลอย่างชัดเจนว่ามีจำนวนหนี้เท่าใด ภาระหนี้เป็นอย่างไร และการแก้ไขปัญหาจะทำอย่างไร ไม่ใช่มาลักไก่ออกเป็นพระราชกำหนดพร้อมกับพระราชกำหนดแก้ปัญหาน้ำท่วมอีก 3 ฉบับ”

ดร.ปราณี ทินกร
ดร.ปราณี ทินกร
http://www.prachachat.net

อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า ในทางวิชาการหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นหนี้สาธารณะ ไม่ว่าคนที่จัดการเกี่ยวกับหนี้จะอยู่ที่กระทรวงคลังหรือ ธปท. และเห็นด้วยว่าต้องมีการจัดการ หรือมีคนลุกขึ้นมาจัดการ แต่ไม่คิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ต้องออกเป็นพระราชกำหนด การที่รัฐบาลลักไก่แบบนี้มีลักษณะเหมือนกรณีที่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เคยดำเนินการออกพระราชกำหนดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคม เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2546 โดยอ้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ แต่ในที่สุดก็มีปัญหาตามมา ตอนนี้ก็อ้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจอีก ทั้งที่หนี้ค้างมา 14 ปีแล้ว เรื่องนี้จึงอาจมีปัญหาได้เช่นกัน ถ้าไม่ระมัดระวังให้รอบคอบ

อย่างไรก็ตาม ดร.ปราณีเห็นด้วยว่าปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ มีความจำเป็นต้องแก้ไข แต่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนถึงกับต้องออกเป็นพระราชกำหนด และเมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์การออกพระราชกำหนดแล้ว ไม่ได้ปรากฏว่าหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นภัยพิบัติต่อประเทศหรือเป็นภัยต่อสาธารณะ หรือภัยต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ การออกพระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร เป็นการออกกฎหมายในกรณีพิเศษที่ถือเป็นข้อยกเว้น เพราะโดยทั่วไปแล้ว การออกกฎหมายเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติโดยเฉพาะ ดังนั้นเหตุผลพิเศษที่ฝ่ายบริหารสามารถออกพระราชกำหนดได้มีอยู่ 2 กรณี คือ

1.ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศหรือความปลอดภัยสาธารณะหรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ

2.ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตรา ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วน และลับ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน

อดีตคณะบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ตามขั้นตอนกฎหมายเมื่อฝ่ายบริหารออกพระราชกำหนดมาใช้แล้ว รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องเสนอขออนุมัติต่อรัฐสภา ถ้ารัฐสภาอนุมัติ พระราชกำหนดนั้นจะมีผลบังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป แต่ถ้ารัฐสภาไม่อนุมัติพระราชกำหนดนั้นจะตกไป แต่การที่พระราชกำหนดใช้บังคับต่อไปไม่ได้นั้น ไม่มีผลกระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น ดังนั้น ถ้าเกิดกรณีพระราชกำหนดบังคับใช้ต่อไม่ได้ เท่ากับสิ่งที่ดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้แม้จะเป็นความผิดพลาดแต่ถูกกฎหมาย ไม่สามารถเอาผิดได้เลย จึงเป็นประเด็นที่น่าห่วงเหมือนกัน

“หากรัฐบาลจะออกพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพราะว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนเรื่องแก้ไขน้ำท่วมก็ออกไป แต่การแก้ปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไม่ได้กระทบความมั่นคงทางเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องอธิบายให้ได้ว่า ถ้าไม่แก้หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ อย่างเร่งด่วนแล้วจะเป็นภัยพิบัติต่อสาธารณะ หรือต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจร้ายแรงต่อประเทศอย่างไร ถ้าตอบไม่ได้ก็ควรออกเป็นพระราชบัญญัติ”

ขณะเดียวกัน การแก้ปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่โอนภาระการชำระหนี้ไปให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ รับผิดชอบ โดยให้อำนาจ ธปท. สั่งเก็บอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินนั้น ดร.ปราณีกล่าวว่า เมื่อสถาบันการเงินมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการถูกเรียกเก็บอัตราเงินนำส่งเพิ่มขึ้น ผลสุดท้ายประชาชนต้องรับภาระด้วย เนื่องจากสถาบันการเงินจะผลักภาระให้ผู้ฝากเงิน และผู้กู้เงินแน่นอน ขณะที่ในปัจจุบันเงินฝากในรูปตั๋วแลกเงิน (บีอี) ไม่นับเป็นฐานคำนวณในการนำเงินส่งเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ทำให้อัตราดอกเบี้ยของตั๋วบีอีสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ถ้านำตั๋วบีอีไปเป็นฐานคำนวณด้วยก็จะมีผลกระทบทำให้ดอกเบี้ยปรับลดลงเหมือนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเช่นเดียวกัน

ดร.ปราณีได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องความโปร่งใสด้านการคลังด้วย โดยให้ความเห็นว่า แม้รัฐบาลจะสามารถจัดการหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ซึ่งเป็นหนี้สาธารณะ ไม่ให้เป็นภาระงบประมาณได้ แต่ควรคำนึงถึงความโปร่งใส และความเสี่ยงทางการคลังด้วย โดยเฉพาะความเสี่ยงจากภาระที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการดำเนินนโยบายทุกประเภท หรือ “contingent liability” ตัวอย่างเช่น การสั่งให้ธนาคารรัฐ ทำมาตรการตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งไม่เป็นภาระงบประมาณ แต่ถ้าสถาบันการเงินมีปัญหาขาดทุน ทางรัฐบาลก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขฐานะด้วยการใช้เงินภาษีเป็นภาระงบประมาณในที่สุด

ในทางเดียวกัน กรณีรัฐบาลโอนภาระการชำระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท ให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ รับภาระจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย โดยให้ ธปท. เป็นผู้กำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด เพราะฉะนั้น ถ้า ธปท. จัดการหนี้จำนวนนี้ไม่ได้ หรือมีปัญหาเกิดขึ้นกับฐานะของ ธปท. ทางรัฐบาลก็ต้องเข้าช่วยเหลือด้วยการใช้เงินภาษีเป็นภาระงบประมาณเหมือนกรณีรัฐบาลช่วยธนาคารรัฐ

เพราะฉะนั้นกรณีนี้ แม้ภาระเงินต้น และดอกเบี้ยของหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จะเป็นหนี้สาธารณะ ที่ไม่เป็นภาระงบประมาณ แต่ถือเป็นความเสี่ยงทางการคลัง ฉะนั้น การที่รัฐบาลจะไปกู้เงินจำนวนมากก็ต้องระมัดวังให้ดี

“การแก้หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไม่ว่ารัฐบาลจะเลือกใช้วิธีใดแก้ปัญหา ประชาชนต้องรับภาระทั้งขึ้นทั้งล่อง ดังนั้นควรออกกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติ เพื่อความโปร่งใส และอธิบายให้ประชาชนเข้าใจถึงภาระที่จะเกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา หากเป็นเช่นนี้พอรับได้ ” ดร.ปราณีกล่าว