ThaiPublica > คนในข่าว > “พ.อ.วินัย สมพงษ์” เล่าเรื่องร้อนๆ จาก”สุพจน์ ทรัพย์ล้อม” ถึงพรรคภูมิใจไทย

“พ.อ.วินัย สมพงษ์” เล่าเรื่องร้อนๆ จาก”สุพจน์ ทรัพย์ล้อม” ถึงพรรคภูมิใจไทย

19 ธันวาคม 2011


พ.อ.วินัย สมพงษ์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปปัตย์ และอดีตรมว.คมนาคม
พ.อ.วินัย สมพงษ์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปปัตย์ และอดีตรมว.คมนาคม

หากถามถึง “มือทำงาน” ด้านคมนาคมของพรรประชาธิปัตย์ ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ไว้วางใจมากที่สุด หนึ่งในนั้นเป็นใครไม่ได้นอกจาก “พ.อ.วินัย สมพงษ์” ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และอดีตรมว.คมนาคม

แม้วัยจะล่วงเลยไปถึงหลักกิโลเมตรที่ 7 แต่ฝีไม้ลายมือ รวมไปถึง “ฝีปาก” ของพ.อ.วินัย ยังจัดจ้าน จนนายอภิสิทธิ์ ต้องขอให้เป็นตัวแทนพรรค เข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร

แน่นอนว่า งบประมาณด้านคมนาคมของประเทศรวมกันหลายหมื่นล้านบาทต่อปี มีจุดรั่วไหลได้ร้อยแปด ถ้าไม่ใช้คนที่มีประสบการณ์ยาวนานมาตรวจสอบ การคอรัปชั่นในรัฐบาลอาจเกิดขึ้นได้ง่าย

เห็นได้จากกรณีอื้อฉาว “เงินล้นตู้เซฟ” ในบ้านของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ที่ถูกปล้นในซอยลาดพร้าว 64 มีการรวบของกลางได้มากกว่า 15 ล้านบาท ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจคาดว่าเงินน่าจะมีอยู่จริงถึง 200 ล้านบาท

นำไปสู่ข้อกล่าวหาของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เมื่อวันทีี่ 22 พ.ย.2554 ระบุว่า นายสุพจน์อาจประพฤติมิชอบต่ออาชีพข้าราชการ และร่ำรวยผิดปกติ

มุมมองในฐานะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ของ พ.อ.วินัย เห็นว่า คดีของนายสุพจน์อาจทำให้สังคมรู้สึกว่าข้าราชการระดับสูงแย่ไปหมด ทั้งที่่คนดีก็มี คนแย่ก็มาก แต่ไม่ควรเหมารวม ซึ่งเรื่องแบบนี้ต้องขึ้นอยู่กับผู้ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมด้วย

“ให้จำไว้เลยว่าถ้าคนสามกลุ่มนี้จับมือกันเมื่อไหร่ล่ะก็ อันตราย หนึ่งคือนักการเมือง สองคือข้าราชการประจำ และสามคือนักธุรกิจ แต่ถ้าคนสามกลุ่มนี้ไม่สุมหัวกัน ก็ไม่เกิดการคอรัปชั่น” พ.อ.วินัยกล่าว

อดีตรมว.คมนาคมรุ่นใหญ่ ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ยืนยันว่า ในยุคที่ตนเองกุมบังเหียนกระทรวงคมนาคมอยู่นั้น ข้าราชการทุกคนทราบดีว่ารมว.ไม่กิน ไม่ชักเปอร์เซนต์ และไม่เอาเศษขี้เขียงใคร เพราะถือว่าทำงานต้องมีศักดิ์ศรี และมาจนถึงล่าสุดเป็นกรรมาธิการคมนาคม ความคิดแบบนั้นก็ยังเหมือนเดิม

“นักการเมืองส่วนใหญ่ได้รับงบประมาณ หรือได้โครงการมา ก็จะเอาไปขาย แต่ผมไม่เอา ผมไม่ชักเปอร์เซนต์ ใครไปแอบอ้างชื่อผม ให้ไล่เตะได้เลย เรื่องแบบนี้ชีวิตผมทำไม่ได้ ให้เอาไม้หน้าสามไปฟาดหัวคน ผมว่ายังทำได้ง่ายกว่า” พ.อ.วินัยระบุ

ขณะที่การทำงานในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ช่วง 2 ปีกว่านั้น มีเสียงกระเซ็นกระสายเข้ามาตลอดถึงปัญหาความไม่โปร่งใสจากการใช้งบประมาณ ในหลายกระทรวงของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ “พรรคภูมิใจไทย” กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม ซึ่งพ.อ.วินัย ยอมรับว่า อึดอัดและ “เจ็บปวดอย่างมาก”

มีการเรียกร้องไปยังผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์หลายครั้ง แต่เสียงที่ดังกลับมาจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ ถ้าไม่มีพรรคภูมิใจไทย เราก็เป็นรัฐบาลไม่ได้ ขณะที่นายอภิสิทธิ์ จะตัดสินใจอย่างใดก็ต้องหารือกับนายสุเทพก่อน

“ผมยอมรับว่าเจ็บปวด แต่ก็เห็นใจคุณอภิสิทธิ์ เพราะถ้าไม่มีพรรคภูมิใจไทยทางนี้เขาก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล สุดท้ายก็หวานอมขมกลืน แต่ถ้าเป็นผมจะไม่อดทน ผมจะชัวะๆไปแล้ว แต่นี่เขาทำอะไรไม่ได้”พ.อ.วินัยยอมรับ

โดยสิ่งที่มีการเรียกร้องกันภายในขณะนั้นก็คือ ให้ประชาธิปัตย์ตัดพรรคภูมิใจไทยออกไป เพื่อเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งถ้าเหลือ เวลาอีก 3 เดือนจะยุบสภาหรือเลือกตั้งใหม่ ก็เลือกบุคลากรที่ดีๆและเก่งเข้ามาทำงานในเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คมนาคม และเกษตรไปเลย เพื่อให้ผลงานเข้าตาประชาชนที่ต้องการเห็นคนดีและกล้ามาทำงานให้บ้านเมือง

พ.อ.วินัย มั่นใจว่า ถ้าพรรคกล้าตัดสินใจเอาคนที่ดี มาสร้างผลงานในช่วง 3 เดือนสุดท้าย ทำตามแผนที่วางเอาไว้ เชื่อว่าคะแนนเสียงจะดีกว่านี้แน่นอน แต่เมื่อรัฐบาลมัวอ้อยสร้อย ไม่ทำอะไรกับพรรคร่วมรัฐบาล สุดท้ายผล

“ข่าวที่กระเซ็นกระสายเข้ามาไม่เฉพาะกระทรวงคมนาคม แต่กระทรวงอื่นๆด้วย ผมก็หดหู่ แต่เข้าใจ เวลาไปต่างประเทศถูกถาม รู้สึกอายเค้า เพราะตอนนั้นอยู่ในกรรมาธิการสภา ต้องเดินทางไปดูงานต่างประเทศ ต่างชาติก็จะถามเรื่องพวกนี้ด้วย” อดีตรมว.คมนาคมกล่าว

ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีโครงการของกระทรวงคมนาคมที่พรรคภูมิใจไทยดูแลอยู่ เกิดขึ้นพร้อมเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย โดยเฉพาะการประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายเส้น ตั้งแต่โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทางปรมาณ 26 กิโลเมตร วงเงิน 52,220 ล้านบาท โดยบริษัท ซิโนไทย-เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ชนะการประมูล ซึ่งภายหลังมีการร้องเรียนต่อศาลปกครองถึงความไม่โปร่งใสในขั้นตอนการประกวดราคา

โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ที่แยกย่อยเป็นหลายสัญญา โดยการก่อสร้างมี 3 สัญญาหลักๆ คือ ช่วงทางยกระดับบางซื่อ-เตาปูน-สะพานพระนั่งเกล้า ระยะทาง 12 กิโลเมตร วงเงิน 14,842 ล้านบาท โดยกิจการร่วมค้าซีเคทีซี ทีี่จับมือกันระหว่างบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท โตคิว คอนสตรัคชั่น จำกัด ชนะการประมูล

สัญญาที่ 2 วงเงิน 13,050 ล้านบาท ก่อสร้างตั้งแต่สะพานพระนั่งเกล้า-คลองบางไผ่ ระยะทาง 11 กิโลเมตร มีบริษัท ซิโนไทย เอ็นจิเนียริ่งฯชนะการประมูล และสัญญาที่ 3 เป็นการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดรถ มูลค่า 5,050 ล้านบาท ผู้ชนะคือกิจการร่วมค้าพีเออาร์ ประกอบด้วยบริษัทเพาเวอร์ไลน์และบริษัทรวมนครก่อสร้าง(ประเทศไทย)

ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทซิโนไทย เอ็นจิเนียริ่งฯ ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล บุตรชาย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีตรมว.มหาดไทยแะละหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รวมถึงเป็นคนใกล้ชิดนายเนวิน ชิดชอบ แห่งปราสาทสายฟ้า เจ้าของพรรคภูมิใจไทยตัวจริง ยังได้สัมปทาน “วางระบบราง” รถไฟฟ้าสายสีม่วง ในสัญญาที่ 6 วงเงิน 3,663 ล้านบาท

แต่ล่าสุดทางองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นหรือไจก้า ไม่เห็นชอบข้อเสนอด้านเทคนิคและมองว่ากรรมการของไทย ไม่ได้ให้คะแนนบริษัทซิโนไทยตามเงื่อนไขในทีโออาร์ ตอกย้ำถึงความไม่โปร่งใสในช่วงที่ผ่านมา

พ.อ.วินัย ยอมรับว่า บทบาทการตรวจสอบโครงการลงทุนของคณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีค่อนข้างน้อยมาก และไม่ได้เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น เพราะบุคคลที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม ก็มาจากพรรคภูมใจไทยด้วยกันเอง จึงไม่แปลกที่จะไม่ค่อยมีการเรียกประชุม

แม้แต่บรรจุวาระการประชุมกรรมาธิการยังมีน้อยมาก ทั้งที่เราได้ยินเรื่องไม่ดีๆเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ามาตลอด แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ รวมถึงถ้ามีการโหวตคะแนนเสียงกันในสภาฯคนที่เป็นรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังชนะอยู่ดี

“ถ้าเป็นสมัยผมเป็นรมว.คมนาคม ผมจะบอกเลยว่าควรตั้งฝ่ายค้าน หรือฝ่ายตรงข้าม มาทำหน้าที่ประธานกรรมาธิการคมนาคม เพราะจะได้มาตรวจสอบผมเต็มที่ ซึ่งผมพร้อมให้ตรวจสอบเลย ไม่ใช่ให้คนพรรคเดียวกันมาเป็นกรรมธิการ”พ.อ.วินัยระบุ

ข้อกังขาของพ.อ.วินัย ต่อการบริหารงานของพรรคภูมิใจไทย ยังรวมถึงความพยายามที่จะให้ประเทศไทยมีสนามบินเดียว ทั้งที่่ศักยภาพของประเทศในการเป็นศูนย์กลางการบิน สวนทางกับแนวคิดของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เห็นว่าควรใช้สนามบินดอนเมืองควบคู่กับสนามบินสุวรรณภูมิ

กระทรวงคมนาคมที่ดูแลโดยพรรคภูมิใจไทย ไม่พยายามสร้างรถไฟแอร์พอร์ตลิงค์จากสถานีสุวรรณภูมิ มาเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สนามบินดอนเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารได้อย่างครอบคลุม เพราะจะเช็คอินได้ตั้งแต่ที่หน้าสถานี สุดท้ายรถไฟแอร์พอร์ตลิงค์ก็จบแค่สถานีมักกะสันเท่าเดิม

“ไม่ว่าจะเรื่องแอร์พอร์ตลิงค์หรือนโยบายสนามบินเดียว เหมือนการประเคนให้การค้าปลอดภาษี ซึ่งผมพูดเรื่องนี้ในสภามาหลายครั้งแล้ว เพราะสถานีมักกะสันใกล้ซอยรางน้ำ และก็มีแรงผลัดดันให้ย้ายผู้โดยสารดอนเมืองไปอยู่สุวรรณภูมิให้หมด ก็เป็นเรื่องของผลประโยชน์ของผู้ประกอบการทั้งสิ้น”พ.อ.วินัยกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายวิชัย รักศรีอักษร เจ้าของบริษัทคิงเพาเวอร์ ผู้รับสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีหรือดิวตี้ฟรีที่สนามบินสุวรรณภูมิ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความใกล้ชิดกับนายเนวิน ชิดชอบ รวมทั้งเป็นหนึ่่งในผู้มีบทบาททำให้เกิดการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล

อดีตรมว.คมนาคม ยังให้คำแนะนำไปถึงเจ้ากระทรวงในขณะนี้ด้วยว่า ถ้าอยากให้การดำเนินการโปร่งใส เวลาประมูลอะไรก็ควรเชิญสื่อมวลชน เชิญชาวบ้านมาร่วมตรวจสอบด้วย รวมถึงเรียกผู้รับเหมาทั้งรายเล็กรายใหญ่มาประชุมเลยว่า กระทรวงไม่ต้องการอะไรนอกจากให้งานเสร็จตามเวลา ไม่เอาทรายขี้เป็ด ปูนต้องผสมแล้วไม่จืด เหล็กต้องเต็มเส้น ถือเป็นสิ่งที่ผู้รับเหมารับรู้ สุดท้ายต้องได้โครงการที่ีมีคุณภาพ ใครชนะก็เอาไปเลย

“อย่างเวลาผมทำงานจะไม่รับฝากใคร ใครเอาซองมาให้ผมเหวี่ยงทิ้งหมด เพราะผมไม่ยอมเป็นขี้ข้าใคร ผมเป็นคนประหยัด มัธยัสถ์ ไม่เที่ยวคลับบาร์ ลูกเมียก็สมถะใช้เงินวันละ 50-100 บาทก็อยู่ได้” พ.อ.วินัยยืนยัน พร้อมข้อสรุปทิ้งท้ายว่า “ถ้าบ้านเราไม่คอรัปชั่น จะเจริญกว่านี้แน่นอน”

เส้นทาง นักการเมืองไม้บรรทัด

พ.อ.วินัย สมพงษ์ เข้ามาเป็นรมว.คมนาคม 2 ปีเศษ ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ชนะการเลือกตั้งหลังปีพ.ศ. 2535 หรือที่เรียกว่า รัฐบาลชวน 1

แม้ตำแหน่งจะเป็นแม่บ้านหรือเลขาธิการพรรคพลังธรรม ของพล.ต.จำลอง ศรีเมือง แต่พ.อ.วินัย ก็มีความชื่นชมในตัวนายหัวชวน มิใช่น้อย โดยเฉพาะเรื่องของความซื่อสัตย์สุจริต

สุดท้ายเขาเลือกที่จะเข้ามาสังกัดและได้รับความไว้วางใจจากพรรคประชาธิปัตย์ให้ดูแลพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่เขาบอกว่าลงพื้นที่ไปปราศรัยกว่า 146 ครั้ง

“สมัยเป็นเลขาธิการพรรคพลังธรรม ผมไม่เคยรับเงินใคร คนเลยให้สมญานามผมว่าไม้บรรทัด” พ.อ.วินัยกล่าว และยืนยันว่า ไม่เคยรับสินบน หุ้น หวย มวยม้า ค้าที่ดิน ไม่เอาแม้แต่สตางค์เดียว

“ผู้รับเหมามาจ่ายผม ผมด่า ไม่เห็นแก่หน้าใครทั้งนั้น”

กระทั่งวันหนึ่งพ.อ.วินัย ได้รับจดหมายจากนายแสงชัย สุนทรวัฒน์ ที่ขณะนั้นเป็นคอลัมนิสต์ นสพ.ไทยรัฐ เขียนมาบอกว่า ได้รับข้อมูลจากผู้รับเหมา ที่พบกันในต่างประเทศ ยืนยันว่าพ.อ.วินัยไม่รับเงินใต้โต๊ะ นายแสงชัยจึงเขียนเรื่องนี้ลงในนสพ.ให้

พ.อ.วินัย กล่าวว่า สมัยเป็นรมว.คมนาคม ได้บุกเบิกรถไฟรางคู่ จากเดิมเป็นช่องจราจรเดียว วิ่งสวนกันไปมาหรือซิงเกิลเรล ขยายเป็นโปรเจกต์ “สี่ราง ทางคู่” ของบประมาณไป 8 หมื่นล้านบาท ก็เริ่มจากเส้นทางชานเมืองใน4จังหวัดก่อน ภาคเหนือถึงลพบุรี ภาคอีสานถึงสระบุรี ภาคตะวันออกถึงฉะเชิงเทรา และภาคใต้ถึงนครปฐม โดยใช้งบประมาณก้อนแรก 7.9 พันล้านบาท

เนื่องจากขณะนั้นมีแนวคิดสร้างเมืองบริวาร สนับสนุนให้คนนั่งรถไฟมาทำงานตอนเช้า เย็นนั่งรถไฟกลับบ้าน ไม่อยากเห็นกทม.เติบโตเพียงเมืองเดียว แต่เสียดายในช่วงหลังรัฐบาลมาเน้นพัฒนาเครื่องบิน เพราะสร้างผลกำไรดีกว่า ก่อนจะกลับมาผลักดันการก่อสร้างรถไฟสายสีต่างๆ ทั้งที่มีมานานแล้ว

เมื่อถามถึงความสัมพันธ์ทางการเมือง กับพล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น พ.อ.วินัย ยืนยันว่า ยังรักใคร่ดีเหมือนพี่กับน้อง แวะเวียนนำของไปฝากที่บ้านของพล.ต.จำลองบ่อยครั้ง

โดยอดีตเลขาธิการพรรคพลังธรรม เชื่อว่ากลุ่มพันธมิตรคงเดินไปได้เรื่อยๆเพราะมีเอเอสทีวีเป็นแกนกลาง ที่ผ่านมาเส้นทางพันธมิตรและประชาธิปัตย์ใกล้เคียงกัน ช่วงที่พันธมิตรแรงๆก็มีประชาชนที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ให้กำลังใจ แต่หลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ทางพันธมิตรก็มีการโจมตีการทำงานของนายอภิสิทธิ์มาก “แม่ยก” เลยหายไปหมด

“ตอนนี้ประชาธิปัตย์เป็นฝ่่ายค้าน เขาก็ด่าน้อยลง แสดงว่า เค้าไม่ตะบี้ตะบันด่าลูกเดียว หมายความว่าดีก็ดี ไม่ดีก็ว่า สะท้อนว่าพันธมิตรก็มีความเป็นกลางมาก ซึ่งส่วนตัวแล้วผมคิดว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ดีที่สุด แต่ก็เลวน้อยหน่อย เมื่อเทียบกับพรรคการเมืองที่มีทั้งหมด ผมถึงมาอยู่ร่วมกับพรรคนี้ เลยอยู่กับเขาได้” พ.อ.วินัยกล่าว

ส่วนข้อคิดที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องปรับปรุงต่อไป คือหากต้องการชนะเลือกตั้งกลับมาเป็นรัฐบาล พรรคต้องได้คะแนนเสียงในพื้นที่ภาคอีสานมากขึ้น เพราะอีสานมีส.ส.คิดเป็นสัดส่วนหนึ่งในสามของประเทศ ต้องหาวิธีครองใจคนอีสาน เพราะในช่วงการหาเสียงที่ผ่านมา ก็รู้สึกเจ็บปวดที่คนถามว่า ทำไมพรรคยืมจมูกคนอื่นหายใจ

“ในประวัติศาสตร์ไม่มีใครได้เป็นรัฐบาล โดยไม่ได้ครองพื้นที่อีสาน ดังนั้นยุทธศาสตร์อีสานของประชาธิปัตย์ต้องชัดเจนกว่านี้ นักการเมืองบางคนบอกอีสานจะเขียว แต่ไปอีกทีมีแต่เหลืองกรอบ ก็ยังไม่เห็นคนนั้นไปโดดแม่น้ำโขงตาย อีกคนบอกอีสานต้องเลิกจน สุดท้ายก็จนกว่าเก่า ดังนั้น ประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีศักดิ์ศรี แต่ยุทธศาสตร์อีสานต้องปรับเปลี่ยนด้วย คราวที่แล้วพรรคให้น้ำหนักอีสานน้อยเกินไป ตอนลงพื้นที่เค้าก็บอกเรายืมจมูกคนอื่นหายใจ เราก็เจ็บปวด” พ.อ.วินัยกล่าว

โดยในช่วงที่พ.อ.วินัย ลงพื้นที่หาเสียงที่โคราชถูกกลุ่มผู้สนับสนุนทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง กลุ่มโนโหวตรุมถล่ม แต่สุดท้ายก็เข้ามาสู่สภาผู้แทนราษฎรได้ พ.อ.วินัย จึงรู้สึกภูมิใจที่ว่า “แม้วันนี้เป็นนักการเมืองต๊อกต๋อย แต่ก็เลือกตั้งมาด้วยความบริสุทธิ์ ไม่มีการซื้อเสียงแม้แต่สตางค์แดงเดียว”