
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2554 นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สำนักงานหลักประกนสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ได้แถลงข่าวอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการรายงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน วันที่ 27 กันยายน 2554 ในทุกข้อสงสัย พร้อมแจกเอกสารประกอบ “ข้อเท็จจริงและคำชี้แจงต่อรายงานการตรวจสอบประเมินผล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามรายงานของสำนักงานการตรวจสอบแผ่นดิน วันที่ 27 กันยายน 2554” อ่านรายละเอียดตามไฟล์แนบรายงานข้อเท็จจริงและคำชี้แจงของสปสช.ต่อสตง.
นพ.วินัยได้กล่าวถึงการตรวจสอบสตง.ว่าเป็นการตรวจสอบปกติของสตง. โดยสตง.ส่งรายงานการตรวจสอบไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานสปสช.และส่งที่ตนด้วยซึ่งการตรวจสอบของสตง.แบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ให้ข้อเสนอแนะประธานกรรมการและส่วนที่เสนอแนะเลขาธิการในการปรับปรุงการทำงานของสปสช. ในเรื่องนี้รัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตนชี้แจงสตง.แทน ทั้งนี้ได้ทำรายงานส่วนของสปสช. และในส่วนของรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว
“เราใช้เวลาในการประมวลข้อมูลเยอะมาก ผมตั้งใจว่าจะส่งภายในสัปดาห์นี้(วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม) ช้าที่สุดคือต้นสัปดาห์หน้า เนื่องจากเอกสารเยอะ เวลาอ้างถึงข้อมูลอะไรต้องแนบเอกสารประกอบซึ่งเป็นประเด็นในรายละเอียด และต้องทำให้อ่านง่ายด้วย” นพ.วินัยกล่าว
อย่างไรก็ตามตนไม่ได้หนักใจ เพราะประเด็นรายละเอียดต่างๆ หลายเรื่องเป็นเรื่องที่มีมติตามคณะกรรมการ ตามระเบียบ ข้อบังคับของสปสช. เนื่องจากสปสช.เป็นหน่วยงานอิสระ ตั้งโดยกฎหมายของเราเอง มีระเบียบของตัวเอง ไม่ใช่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี จึงไม่มีข้อหนักใจ บางเรื่องที่สตง.ให้สปสช.ปรับปรุงในการทำงาน เราก็ยินดีรับมาพิจารณาว่าจะปรับปรุง ส่วนการเข้มงวดในการส่งรายละเอียดรายการการจัดซื้อให้ทันเวลา ทางสปสช.ก็เข้มงวด เช่น ส่งแผนการจัดซื้อจัดจ้างให้ทัน 30 ตุลาคมของทุกปี ซึ่ง 2 ปี ที่ผ่านมาเราส่งตามกำหนดเวลา
“ต้องเรียนว่าการตรวจสอบนี้ตรวจสอบตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน มีหลายเรื่องเราได้ปรับปรุงไปแล้ว แต่เมื่อสตง.ตรวจเจอ สตง.ก็เสนอมาให้แก้ไข” นพ.วินัยกล่าว
นพ.วินัยกล่าวต่อว่าโดยหลักเกณฑ์ปฏิบัติใหญ่ๆจะไปในทิศทางเดียวกัน คือพยายามทำให้หน่วยงานทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงแต่รายละเอียดในระเบียบอาจจะแตกต่างกัน โดยเฉพาะระเบียบพัสดุ อย่างขั้นตอนการต่อรองราคา เพียงแต่ว่าการเป็นองค์กรอิสระเราคำนึงถึงความคล่องตัวในการจัดการด้วย

ผู้สื่อข่าวได้ถามต่อว่าการตรวจสอบของสตง. จะทำให้นโยบาย 30 บาทถูกบั่นทอนหรือไม่ นพ.วินัยกล่าวว่า“ผมคิดว่าถ้าสปสช.จะล้ม มันน่าจะมาจากสาเหตุอย่างเดียวคือประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ หรือถ้าประชาชนรู้ว่ามีสปสช.ก็ไม่เกิดประโยชน์กับตัวเอง ไม่มีอาจจะดีเสียกว่า แต่ถ้าตราบใดที่ประชาชนเห็นว่ามีโครงการบัตรทอง โครงการ 30 บาท ทำให้เขามีศักดิ์ศรี มีสิทธิเข้าถึงบริการ คนไข้โรคไตได้รับบริการ ไม่หมดเนื้อหมดตัว หรือการจัดการโรคมะเร็ง โรคยากๆที่ประชาชนสัมผัสได้ ผมเชื่อว่าสปสช.ยังอยู่คู่กับประชาชน เราต้องพิสูจน์ตัวเองว่าเรายังเป็นประโยชน์กับประชาชน ได้จริงๆ ถ้าถามว่าอะไรที่จะเป็นจุดอ่อนที่สุดคือเราไม่สามารถทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการ”
“ดังนั้นการตรวจสอบของสตง.เป็นกลไกปกติ เราไม่ได้ถือเป็นปัญหา คนทำงานไม่มีใครทำเพอร์เฟค 100 % ข้อบกพร่องเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีอยู่แล้ว ขออย่าให้เป็นการทุจริตคอรัปชั่น อย่างนี้รับไม่ได้ ถ้าถามผม ผมไม่วิตกกังวล เพราะ 10 ปีที่ผ่านมามันพิสูจน์ว่าได้ทำให้ประชาชนไม่ต้องล้มละลายเยอะแยะ และประชาชนได้ประโยชน์”นพ.วินัยกล่าว
สำหรับการตรวจสอบครั้งนี้เป็นการตรวจสอบระบบ ซึ่งเป็นการตรวจสอบครั้งแรกตั้งแต่จัดตั้งสปสช. ส่วนการตรวจสอบบัญชี ตรวจการจัดการ ทางสตง.ย่อยได้ตรวจสอบประจำเพราะมีเจ้าหน้าที่มานั่งตรวจสอบที่สปสช.อยู่แล้ว แต่อันนี้เป็นการตรวจเพื่อการพัฒนาระบบ เป็นหน้าที่ของสตง. ซึ่งเป็นการเวียนไปตรวจสอบหน่วยราชการ ถือเป็นงานปกติ
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าก้าวต่อจากนี้ของสปสช.จะทำอย่างไร นพ.วินัยกล่าวว่าต้องยอมรับว่าการมีแรงเสียดทานเป็นเรื่องปกติ ก้าวต่อไปสปสช.จะมุ่งมั่นในการพัฒนา โดยมองทศวรรษหน้าและเหลียวไปข้างหลัง 10 ปีว่าเกิดอะไรขึ้น ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ มีประเด็นอะไรที่ยังไม่ได้ทำ ขณะนี้อยู่ในช่วงการประเมิน 10 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการมองไปข้างหน้า ประกอบกับรัฐบาลใหม่มีนโยบายจะปรับปรุงพัฒนานโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคด้วย
“ข้างหน้าที่เราอยากเห็น คือคนไทยมีหมอประจำครอบครัว โดยอาจจะเป็นหมออนามัย อยากให้มีหมอใกล้บ้านใกล้ใจ เพราะคนไทยขาดที่พึ่ง ขาดที่ปรึกษาเวลามีปัญหาสุขภาพ ไม่รู้จะปรึกษาใคร บางเรื่องเป็นเรื่องส่วนตัว หากข้างหน้าเราสามารถทำให้คนไทยมีหมอใกล้บ้านใกล้ใจ จะเป็นเรื่องที่ดีมาก ซึ่งการทำกับคนในเมืองอาจจะยากกว่าคนในต่างจังหวัด หากให้มีหน่วยบริการชุมชนและทำหน้าที่จริงๆ โดยการส่งเสริมให้มีแพทย์ประจำครอบครัว ทำหน้าที่คัดกรองไม่ให้คนไข้ไปแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ประชาชนจะได้อุ่นใจและระบบบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นี่คือเรื่องที่อยากเห็น แต่อีกหลายก้าวกว่าจะเห็น แต่ทั้งนี้ทิศทางต้องชัดว่าเราอยากเห็นอะไร เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ” นพ.วินัยกล่าว
ส่วนเรื่องที่สองอยากเห็นคือโรคเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดัน ปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีที่ในการจัดการป้องกัน เนื่องจากสปสช.ทำงานร่วมกันท้องถิ่นคือกองทุนตำบล เพราะการเปลี่ยนพฤติกรรมคนต้องทำในชุมชนท้องถิ่น ต้องมีการปฏิบัติจริง เพราะชุมชนท้องถิ่นมีผู้นำ มีการดำเนินการปรับปรุง เปลี่ยนพฤติกรรมและเฝ้าระวังกันเอง ซึ่งสปสช.ได้วางรากฐานไว้กับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยลดโรคเรื้อรังที่เป็นภัยเงียบ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของชุมชนที่จะลุกขึ้นมาดูแลกันเอง ลงมือปฏิบัติ สร้างพลังชุมชนก็จะช่วยป้องกัน มีระบบคัดกรองที่รู้เร็ว รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนเบาหวานเข้าตา เข้าไตก็จะช่วยได้
ส่วนประเด็นเรื่องความโปร่งใส ทางสำนักงานสปสช.ทำหน้าที่อยู่แล้ว ความโปร่งใสในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง การจัดสรรเงินกองทุน มีการรายงานข้อมูลการประชุมคณะกรรมการในเว็บไซต์ หรือขบวนการจัดสรรเงินจะมีตัวแทนจากโรงพยาบาลที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วม อนาคตการประชุมของอนุกรรมการชุดต่างๆก็จะเปิดเผยได้ด้วย