ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เสวนา “คนไทย” ปฎิบัติการเวิร์คช็อป ต้านคอรัปชั่นที่เป็นรูปธรรม

เสวนา “คนไทย” ปฎิบัติการเวิร์คช็อป ต้านคอรัปชั่นที่เป็นรูปธรรม

17 ธันวาคม 2011


คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ประธานเสวนา " คนไทย"
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ประธานเสวนา " คนไทย"
การแก้ปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือ การคอร์รัปชั่นที่ผ่านมา มักมุ่งที่การแก้ไขกฎระเบียบ หลักเกณฑ์ของภาครัฐหรือส่วนราชการเป็นหลัก ขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งของปัญหานี้กลับไม่ค่อยมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ทำให้การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นที่ผ่านมาเปรียบเสมือนการ “ปรบมือข้างเดียว” ที่ไม่ดัง หรือไม่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

แต่ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจเอกชนเริ่มเคลื่อนไหวจุดประกายการต่อต้านคอรัปชั่น โดยมีการรวมตัวเป็นภาคีเครือข่ายต่อต้านคอรัปชั่น และภาคธุรกิจนำโดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทยได้ดำเนินการผลักดันกระบวนการต่อต้านคอรัปชั่นผ่านกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ทั้งการประกาศเจตนารมณ์ การศึกวิจัย การรณรงค์ผ่านสื่อ การจัดสัมมาเรื่อง “การต่อต้านคอรัปชั่น … จุดเปลี่ยนประเทศไทย” เพื่อระดมพลังสร้างความตระหนักรับรู้ถึงผลร้ายของปัญหาคอรัปชั่นที่ส่งผลกระทบต่อคนไทยและประเทศไทยในทุกภาคส่วน

โดยเมื่อเร็วๆ นี้มีการเปิดเผยผลการวิจัยวิจัย “คนไทย” มอนิเตอร์ ที่มีการเก็บข้อมูลลงพื้นพูดคุยกับคนไทยทั่วประเทศ 100,000 คน ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด ในและนอกเขตเทศบาล ช่วงเวลาเก็บข้อมูล 3 เดือน ระหว่างวันที่ 25 เมษายน – 24 มิถุนายน 2554 ยิ่งตอกย้ำถึงความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชั่น ถ้าไม่รีบทำอะไรอาจเป็นสัญญาณอันตรายต่อสังคมไทยทุกภาคส่วน

ดร.กฤตินี ณัฐวุฒิสิทธิ์ กรรมการเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รายงานผลการวิจัยว่า ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงอย่างยิ่งในทุกภาค โดยเฉพาะ “กรุงเทพฯ” มีปัญหารุนแรงมากที่สุด

นอกจากนี้ผลการวิจัยบ่งชี้ว่า ความพยายามในการแก้ปัญหาการทุจริต การคอรัปชั่นของภาครัฐยังไม่เป็นที่พอใจ โดยเมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆ ที่รัฐบาลพยายามแก้ปัญหา เรื่องทุจริต คอรัปชั่นเป็นอันดับแรกที่มีความไม่พอใจ รองลงมาคือ ความซื่อสัตย์ โปร่งใส และเป็นธรรมในการปฏิบัติงาน กับ ผลงานโดยรวมของรัฐบาล เป็นต้น

แต่สิ่งที่คนไทยอยากทำเพื่อพัฒนาประเทศไทย อันเป็นบทบาทของคนไทยทุกคน ในงานวิจัยพบว่า อันดับแรกคือ การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งไปคนละทางกับการแก้ปัญหาคอรัปชั่น ขณะที่ความพยายามเป็นกระบอกเสียง เป็นหูเป็นตาให้ประเทศ เพื่อป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น กลับเป็นสิ่งที่คนไทยอยากทำอันดับท้ายๆ

ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ คุณค่าที่ควรปลูกฝังให้คนรุ่นหลัง ปรากฏว่า คนไทยให้ความสำคัญกับการสั่งสอนให้ลูกหลานรักการเรียน ห่างไกลยาเสพติดมาที่สุด แต่เรื่องการไม่คดโกง การคอรัปชั่น กับให้ความสำคัญกับการอบรมสั่งสอนน้อยมาก

“ข้อมูลสถานการณ์คอรัปชั่นที่ปรากฏนั้น ถือว่าปัญหามีความรุนแรง น่าจะเป็น wake up call ให้ทุกคนตระหนัก และหาทางแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น” ดร.กฤตินีกล่าว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา ภาคีเครื่อข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น หอการค้าไทย โครงการ “คนไทย” หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้จัดเสวนา “คนไทย” – เดอะเนทเวิร์คฟอรัม ครั้งที่ 3 เพื่อระดมความคิดเห็นเรื่องการสร้างกลไกความร่วมมือในการพัฒนาระบบ Watch Dog เพื่อผลักดันงานฟื้นฟูประเทศให้ปราศจากการคอรัปชั่น และเพื่อพัฒนาแนววิธีปฏิบัติงานที่เปิดเผย โปร่งใส และเป็นธรรมของภาคธุรกิจ และเพื่อเป็นต้นแบบการเรียนรู้ นำไปสู่การขยายผลการป้องกันความเสี่ยงและโอกาสการคอรัปชั่น

คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ประธานการจัดเสวนา “คนไทย” เดอะเนทเวิร์คฟอรัม ครั้งที่ 3 กล่าวเปิดงานว่า การคอรัปชั่นคือการเอาเงินภาษีไปใช้ในทางที่ไม่ถูกไม่ควร ทำให้ประเทศมีความเสียหายในเชิงงบประมาณ และประเทศชาติ โครงกรต่างๆต้องเสียไล่เบี้ยรายทางจาก 5-10 % เพิ่มเป็น 20 %

“คอรัปชั่นทำลายสังคมแล้วยังทำลายโอกาสของลูกหลานก่อนจะเรียกให้รัฐบาลแก้ปัญหา ควรเรียกร้องตัวเองก่อน อย่าบ่น หรือบ่นน้อยๆ คิดมากๆ และทำมากๆ เพราะกิจกรรมระดมความคิดเห็นครั้งนี้ ต้องการหาทางออกให้ประเทศไทย” คุณหญิงชฎากล่าว

โดยมีกลุ่มป้าหมายจากภาคธุรกิจประมาณ 50 บริษัท ร่วมกันค้นหาแนวทางป้องกันความเสียงและโอกาสการคอร์รัปชั่นกับโครงการฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วมซึ่งธนาคารโลกคาดว่าในช่วง 2 ปีจากนี้ไปจะมีความต้องการใช้เงินสูงมากจำนวน 756,374 ล้านบาท แบ่งเป็นความต้องการใช้จ่ายเงินในส่วนของภาคเอกชน 5.20 แสนล้านบาท และภาครัฐ 2.35 แสนล้านบาท

ดร.กฤตินี ชี้ว่า ความต้องการใช้เงินที่อยู่ระดับสูงดังกล่าว ทำให้มีความเสี่ยงต่อปัญหาคอรัปชั่นโดยเฉพาะทีเกี่ยวกับภาคธุรกิจ ดังนั้นเพื่อป้องกันการคอรัปชั่นจากโครงการฟื้นฟูฯ มีการเสนอ 2 รูปแบบ คือ 1. ระบบ Watch Dog กับ 2. แนวทางพัฒนาการปฏิบัติของภาคธุรกิจที่เปิดเผย โปร่งใส และเป็นธรรม

ทั้งนี้ ระบบ Watch Dog จะเน้นการป้องกันคอรัปชั่นอย่างมีส่วนร่วม โดยตัวอย่างแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เช่น สร้างช่องทางเว็ปไซด์ ที่เป็นสื่อการเผยแพร่และติดตามการทำงาน โดยรายงานข้อมูลอย่างเปิดเผย โปร่งใส และเป็นธรรม ซึ่งมีกลุ่มของ change fusion ช่วยทำเว็ปไซด์ว่า โครงสร้างข้อมูลที่จะเปิดมีอะไรบ้าง โดยมีการศึกษารูปแบบจากประเทศเคนยา ประเทศติมอ และอเมริกา

ดร.กฤตินี กล่าวว่า ลักษณะข้อมูลเบื้องต้นที่ตั้งไว้คือ ข้อมูลโครงการที่เอกชนดำเนินการในช่วงน้ำท่วม เปิดเผยข้อมูลพื้นฐาน และแสดงเจตจำนง และสามารถรวบรวมเป็นรายงานการเปิดเผยข้อมูลในช่วงฟื้นฟูพร้อมผลการดำเนินงานได้เมื่อสิ้นปี 2555

ทั้งนี้ โครงสร้างข้อมูลเบื้องต้น ประกอบด้วย โครงการทั่วไป รายละเอียดโครงการ การจัดซื้อจัดจ้าง ผลการดำเนินงาน และเอกสารที่เกี่ยวข้อง

ดร. กฤตินี ณัฐวุฒิสิทธิ์ กรรมการเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ดร. กฤตินี ณัฐวุฒิสิทธิ์ กรรมการเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

“การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เริ่มต้นให้เอกชนเปิดเผยด้วยความสมัครใจเท่าที่จะเปิดเผยได้ หรือเท่าที่รู้สึกสบายใจ แต่การจะดำเนินการได้ต้องสร้างรกรอบความตกลงเปิดเผยข้อมูลพื้นฐานในหมู่ภาคี กำหนดแนวทางการนำเข้าข้อมูล การตรวจสอบและจัดทำรายงาน และต้องพัฒนาระบบสนับสนุนแนะนำภาคีให้ทดลองใช้งาน”ดร.กฤตินีกล่าว

นอกจากการทำเว็ปไซต์แล้ว ยังมีข้อเสนอให้จัดตั้งองค์กรกลางที่แข็งแกร่งในการตรวจสอบการทุจริตในภาคเอกชน เช่น PSPD ของเกาหลีที่มีกลยุทธ์หลักในการช่วยผลักดันให้ผู้ถือหุ้นดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายแทนบริษัท (derivative suit) ในกรณีที่ผู้บริหารมีพฤติกรรมที่ทุจริตและกดดันให้รัฐบาลดำเนินคดีกับผู้บริหาร การสนับสนุนการพัฒนาระบบตรวจสอบ การมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแสที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง เช่น ICAC ที่ฮ่องกงและทีมที่พร้อมดำเนินการทันที และ การดำเนินคดีต่อกรณีการทุจริตทุกกรณีจะมีการรายงานผ่านสื่อและช่องทางสื่อสารที่พัฒนาขึ้น

สำหรับแนวทางพัฒนาการปฏิบัติของภาคธุรกิจที่เปิดเผย โปร่งใส และเป็นธรรม ดร.กฤตินี ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมเช่น การประกาศจุดยืนองค์กรที่ชัดเจนในการ “ไม่ให้ ไม่รับ ไม่ยอม” การกำหนดมาตรฐานทางจรรยาบรรณและแนวทางการประกอบกิจการที่ดีขององค์กร สื่อสารและผลักดันการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง พร้อมให้มีการเผยแพร่และติดตามการทำงาน สร้างช่องทางและกระตุ้นให้มีการรายงานหากพบการทุจริตทั้งภายในและภายนอกองค์กร เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การให้ภาคธุรกิจเปิดเผยข้อมูล โปร่งใส และเป็นธรรม ดร.กฤตินียอมรับว่า ทำคนเดียวไม่ได้ เพราะอาจเสียโอกาสจากคนที่ไม่ยอมเปิดเผย ดังนั้นต้องคนอื่นๆ ให้เข้าร่วมดำเนิน “ไม่ให้ ไม่รับ ไม่ยอม” และต้องร่วมกันสร้างงานที่โปร่งใส เป็นธรรม เช่น ภาคธุรกิจอาจจับมือกันร่วมงานกันในโครงการฟื้นฟูฯ แล้วเปิดเผยข้อมูลให้โปร่งใส แนวทางนี้น่าจะทำให้การจับมือกับร่วมงานได้ผลงานดี มีคุณภาพ และต้นทุนต่ำ

“แนวทางการเสวนาเพื่อหาแนวปฏิบัตที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาคอรัปชั่น นักธุรกิจทุกคนต้องหันมาชี้นิ้วเข้าหาตัวเอง แล้วถามว่า เราจะทำอะไรได้บ้าง เริ่มจากตัวเอง แทนที่จะโยน หรือชี้นิ้วไปหาคนอื่น” ดร.กฤตินีกล่าว