ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 14 ปี พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารไทย ถึงเวลาปรับเป็นเชิงรุก

14 ปี พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารไทย ถึงเวลาปรับเป็นเชิงรุก

14 ธันวาคม 2011


งานสัมมนา 14 ปีของพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554
งานสัมมนา 14 ปีของพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 สมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดงานสัมมนา “14 ปีของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ถึงเวลาแก้ไขแล้วหรือยัง” เพื่อวิเคราะห์สิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายเธียรชัย ณ นคร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการและอาจารย์สอนกฏหมาย มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติเคยทำสำรวจพบว่า 10 ปีที่ผ่านมา คนไม่ค่อยรู้จัก พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ และมีการใช้สิทธิไม่มากนัก โดยในช่วงปี 2535 ที่เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ทำให้มีแรงผลักดันจากสังคมในเรื่องความโปร่งใส่ของรัฐบาล ให้มี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ สำเร็จเป็นรูปเป็นร่างขึ้นได้ใน ปี 2540 และออกเป็นกฏหมายพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการขึ้น

โดยปัญหาส่วนใหญ่ที่พบในระยะเวลาที่ผ่านมา คือ คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารปฏิบัติงานในเชิงรุกน้อยมาก ปฏิบัติงานโดยเป็นฝ่ายรับเสีย นั่งรอให้ผู้ต้องการใช้สิทธิ์เข้ามาตรวจสอบเสียมากกว่า อีกทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นจากองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่อ้างตัวว่าเป็นอิสระจาก พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบอย่างละเอียดได้

“ข้่อมูลที่เกี่ยวกับความมั่นคง เจ้าหน้าที่จะต้องใช้ดุลพินิจว่า ประชาชนขอพื่อไปทำอะไร มีส่วนได้เสียหรือไม่ ทั้งที่กฏหมายไม่ได้บอกว่าต้องมีส่วนได้เสีย แต่เจ้าหน้าที่จะปฏิเสธไว้ก่อน เพื่อความปลอดภัย แล้วส่งไปให้กรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเป็นคนสั่งให้เปิด ซึ่งใช้เวลานานเกินไป” นายเธียรชัยกล่าว

นายเธียรชัย ณ นคร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการและอาจารย์สอนกฏหมาย มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
นายเธียรชัย ณ นคร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการและอาจารย์สอนกฏหมาย มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

นอกจากนี้ในประเด็นการแก้ไขกฎหมายนั้นประชาชนที่รู้จัก พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ เป็นอย่างดีในประเทศไทยมีเพียงไม่กี่คน ทำให้การจะเคลื่อนไหวปรับปรุงกฎหมายว่าควรจะเป็นอย่างไรจึงเป็นเรื่องที่พิจารณากันได้ยาก ตราบใดที่ยังไม่มีอะไรรับรองว่าเจ้าหน้าที่เปิดเผยแล้วจะไม่เจ็บตัว ผู้บังคับบัญชาจะไม่เกิดความไม่พอใจ ทั้งที่กฎหมายคุ้มครองอยู่ จึงยังเป็นเรื่องยาก

“การบอกว่ากฎหมายข้อมูลข่าวสารเป็นกลไกสำคัญในเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น อาจจะไม่ใช่ แต่ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ เป็นแค่เครื่องมือหนึ่ง ที่ทำให้ฝ่ายการเมืองกลัว และตื่นตัว เวลาจะขยับแก้อะไรเกี่ยวกับกฎหมายข้อมูลข่าวสารก็เป็นเรื่องยากเข้าไปอีก” นายเธียรชัยกล่าว

อย่างไรก็ตามโดยกฎหมายข้อมูลข่าวสารของไทย ยังต้องการการขับเคลื่อนอีกมาก ถ้าเราเชื่อว่ามันขับเคลื่อนได้ วันนี้ถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว อีกทั้งในเรื่องของวิธีคิดในการเปิดเผยข้อมูลของเจ้าหน้าที่ข้อมูลของรัฐด้วย ว่าเรื่องได้สมควรเปิดเผยหรือไม่อย่างไร

พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ควรพิจารณาให้รอบด้าน และอาจมีการกำหนดเป็นกฏหมายไปเลยว่าข้อมูลประเภทใด เปิดเผยได้หรือไม่ได้บ้าง รวมไปถึงจะทำอย่างไรให้มีการเปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุด เน้นการปฎิบัติงานในเชิงรุกให้มากกว่าที่จะเป็นเชิงรับ

ทั้งนี้มีข้อแนะนำประชาชนว่า กฏหมายข้อมูลข่าวสารจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยมาก ก็ต่อเมื่อผู้ใช้สิทธิ์รู้ว่าควรใช้ข้อมูลใดที่สำคัญ เพราะในบางข้อมูลไม่จำเป็นต้องเปิดเผยทั้งหมดก็ได้

พ.ต.ท. วรัท วิเชียรสรรค์ ผู้อำนวยการส่วนหารือและร้องเรียน สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ
พ.ต.ท. วรัท วิเชียรสรรค์ ผู้อำนวยการส่วนหารือและร้องเรียน สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ

ด้านพ.ต.ท. วรัท วิเชียรสรรค์ ผู้อำนวยการส่วนหารือและร้องเรียน สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ กล่าวว่าในช่วงแรก เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ใช้สิทธิมากกว่า ระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ประชาชนเริ่มใช้สิทธิมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีเรื่องร้องเรียนและอุทธรณ์เป็นจำนวนมาก แต่อัตราลูกจ้างเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานกลับลดลง เพราะเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานในส่วนนี้ มองว่าตน ต้องรับผิดชอบในการเปิดเผยข้อมูลหลายอย่าง เรื่องบางเรื่องก็เกิดความล่าช้า เพราะเจ้าหน้าที่ ไม่มีคำสั่งจากผู้ใหญ่ กลัวว่าจะมีปัญหาจึงยังไม่มีความกล้าตัดสินใจให้เปิดเผยข้อมูล อีกทั้งการเป็นพยานในชั้นศาล หากการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เป็นเรื่องที่ต้องถึงชั้นศาล ทำให้เจ้าหน้าของรัฐทำงานได้ไม่นาน และตัดสินใจที่จะเปลี่ยนงาน

นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม
นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม

ส่วนนายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม ในฐานะผู้ใช้กฎหมายนี้ตั้งแต่ปี 2542 ในยุคแรกๆ เปิดเผยว่า ในกรณีโรงไฟฟ้าหนองแซง ตนยื่นเรื่องขอข้อมูล พอกรรมการวินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูล บริษัทโรงไฟฟ้าก็ฟ้องศาลปกครอง สามปีผ่านมายังไม่ได้ดูเอกสารฉบับที่ขอเลย ตอนนี้หน่วยงานรัฐปฏิบัติคือ ไม่ให้ไว้ก่อน เพราะกลัวถูกบริษัทฟ้อง แต่ไม่กลัวประชาชนฟ้อง ทางด้านปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ได้บอกกับตนว่าไม่เคยเห็นกฎหมายนี้มาก่อน อีกทั้งนายอำเภอก็สั่งห้ามพูดเรื่องงนี้ เพราะต้องการให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลจากทางโรงไฟฟ้าอย่างเดียว

“อีกเรื่องหนึ่งที่รู้สึกสะท้อนใจมาก คือการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ที่บอกว่าจะเปิดเผยไม่ได้จนกว่าอนุมัติแล้ว ซึ่งเมื่ออนุมัติแล้ว ก็ไม่มีผลอะไรกับเราแล้ว เพราะการดำเนินงานล่าช้ามากๆ ตัวอย่างเรื่องการขุดดินถมดิน ที่กระทบสิทธิของเรามาก บริษัทกลับบอกว่าเป็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เขาคิดค้น ไม่สามารถเปิดเผยได้” นายตึ๋กล่าว

อีกปัญหาหนึ่งคือเจ้าหน้าที่ไม่รู้เรื่อง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ตนไปที่ไหนก็ต้องไปสอนเจ้าหน้าที่ เป็นงานที่เหนื่อยมาก โดยทางเจ้าหน้าที่บอกกับตนว่าถ้าอยากได้ข้อมูล ให้เขียนว่า “ข้าพเจ้าจะไม่นำข้อมูลไปดำเนินการฟ้องร้องหรือร้องเรียนใดๆ” ซึ่งตนก็ยอมไม่เขียนอย่างนั้น และหลายเรื่องที่เกิดควาล่าช้า พอได้ข้อมูลมาก็ไม่มีความหมายอะไรแล้ว ควรต้องกำหนดประเภทข้อมูลที่ขอว่าประเภทไหนสามารถขอได้ทันทีจะดีกว่า

นายโทบี้ เมนเดล ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์กฏหมายและประชาธิปไตย
นายโทบี้ เมนเดล ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์กฏหมายและประชาธิปไตย

นายโทบี้ เมนเดล ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์กฎหมายและประชาธิปไตย เปิดเผยว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาจจะเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีกฎหมายข้อมูลข่าวสารฯ โดยผลการจัดอันดับ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทั่วโลก ได้แก่ 1. เซอร์เบีย 2. อินเดีย 3. สโลวีเนีย 4. เอล ซัลวาดอร์ 5. ไลบีเรีย

การจัดอันดับกฎหมายให้สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เป็นเครื่องมือในการประเมิน หรือจัดอันดับกฎหมายที่ให้สิทธิดังกล่าวของประเทศต่างๆ ประเมินอย่างละเอียดถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของกฎหมายในแต่ละประเทศ ซึ่งการจัดอันดับนี้ประเมินออกมาเป็นตัวเลข โดยคะแนนสูงสุดที่จะได้คือ 150 คะแนน และการให้คะแนนแบ่งออกเป็น 7 หมวดคือ สิทธิในการเข้าถึง ขอบเขตของการเข้าถึง ขั้นตอนในการขอ ข้อยกเว้นและการไม่เปิดเผย การอุทธรณ์ การลงโทษและคุ้มครอง และมาตรการส่งเสริม โดยหัวใจคือตัวชี้วัด 61 ตัว แต่ละตัวชี้วัดจะมีคะแนนเป็นช่วง โดยส่วนใหญ่จะเป็น 0-2 คะแนน

สำหรับผลการจัดอันดับกฎหมายใช้สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประเทศไทย พบว่า อยู่ในอันดับที่ 45 จาก 89 ประเทศทั้งหมดทั่วโลก รวมแล้วประเทศไทยได้คะแนนทั้งหมด 83 คะแนน จากคะแนนเต็มทั้งหมด 150 คะแนน โดยได้คะแนนแบ่งเป็นหมวดดังนี้

1.สิทธิในการเข้าถึง ได้ 4 คะแนน จากคะแนนเต็ม 6 คะแนน
2.ขอบเขตของการเข้าถึง ได้ 22 คะแนน จากคะแนนเต็ม 30 คะแนน
3.ขั้นตอนในการขอ ได้ 17 คะแนน จากคะแนนเต็ม 30 คะแนน
4.ข้อยกเว้นและการไม่เปิดเผย ได้ 16 คะแนน จากคะแนนเต็ม 30 คะแนน
5.การอุทธรณ์ ได้ 12 คะแนน จากคะแนนเต็ม 30 คะแนน
6.การลงโทษและคุ้มครอง ได้ 2 คะแนน จากคะแนนเต็ม 8 คะแนน
7.มาตรการส่งเสริม ได้ 10 คะแนน จากคะแนนเต็ม 16 คะแนน

เมื่อเทียบกับประเทศอินโดนีเซีย ประเทศไทยทำได้ดีกว่าในเรื่องของระเบียบขั้นตอน แต่ก็ต้อง ยอมรับว่า ยังมีจุดอ่อนที่สำคัญในส่วนของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการของไทยขาดความเป็นอิสระ ทำให้ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมเนื่องจากอยู่ในสังกัดของสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากยังไม่เป็นองค์กรอิสระ ก็ไม่สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัญหาอีกประการคือข้อยกเว้นที่ไม่ต้องเปิดเผยข้อมูล มีมากเกินไป และไม่มีการตรวจสอบก่อนว่าเปิดเผยแล้วจะเป็นอันตรายหรือไม่ เสนอให้บรรจุเรื่องหลักการในการตีความ การคัดค้านว่าข้อมูลส่วนไหนเปิดได้หรือไม่ได้ เพิ่มความเข้มข้นให้เรื่องเกี่ยวกับสาธารณะประโยชน์ รวมถึงเรื่องของบทลงโทษที่น้อยเกินไปสำหรับผู้ที่กีดขวาง ไม่มีการจัดการกับความล้มเหลว ไม่มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ ไม่มีการให้ความรู้แก่ประชาชน ไม่มีข้อกำหนดที่จะเปิดเผยว่าข้อมูลนี้ใครเป็นผู้ถือครอง และไม่มีการฝึกอบรม หรืออาจจะมี แต่ก็ไม่ได้เขียนไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน

ขณะที่ พ.ต.ท.วรัท วิเชียรสรรค์ ผู้อำนวยการส่วนหารือและร้องเรียน สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารราชการ กล่าวถึงข้อโต้แย้งถึงการจัดอันดับครั้งนี้ว่า ยอมรับได้กับตัวชี้วัดที่ประเทศไทยได้คะแนนค่อนข้างสูง แต่ยังมีข้อสังเกตในบางข้อว่าในการสำรวจ อาจไม่ได้มาจากการสอบถามผู้ที่มีความรู้ในเรื่องกฎหมายนี้อย่างแท้จริง

ด้านนายโรเบิร์ต บูธ นักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการภาครัฐ ธนาคารโลก เปิดเผยว่า เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการศึกษาร่มกับสถาบันนิด้า เพื่อตรวจสอบว่า สิ่งใดดีหรือไม่ดีอย่างไร โดยสื่อมวลชนผู้เกี่ยวข้องนั้นสำคัญมากในการร่วมกันเปิดเผยข้อมูล แต่สำหรับประเด็นที่ต้องเปลี่ยนแปลงแนวกฏหมายหรือไม่นั้น ยังสรุปไม่ได้ในขณะนี้ อาจต้องใช้เวลาในการหาข้อมูล และข้อขัดแย้งต่างๆ ของกฏหมายในแต่ละฉบับเพิ่มเติม
ทั้งนี้ทางนิด้า ได้ให้ข้อเสนอว่า ความโปร่งใสของกฏหมายต้องดูที่การทำงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ควรมีการทำงานในเชิงรุก มุ่งเปิดเผยข้อมูลในแต่ละประเด็นอย่างชัดเจน

ที่สำคัญประเทศที่มีระบบราชการที่เข้มแข็งอย่างประเทศไทย ควรมีผู้นำที่มีความเข้าใจในตัวกฏหมายและสิทธิข้อมูลข่าวสารให้มาก เพราะการถึงข้อมูลข่าวสาร ส่งผลถึงการคอรัปชั่นอย่างชัดเจน ผู้นำที่สามารถใช้กฏหมายนี้ได้อย่างชัดเจน อาจได้รับเลือกในครั้งต่อไป เพราะนั้นหมายถึง ได้สร้างความไว้วางใจต่อประชาชนให้เกิดขึ้นแล้ว

นางพิรงรอง รามสูต ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นางพิรงรอง รามสูต ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นางพิรงรอง รามสูต ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กฎหมายข้อมูลข่าวสารเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งของสื่อ จึงอยู่อันดับท้ายๆ ในความสำคัญ เพราะมีกฎหมายอื่นๆ ที่มีผลโดยตรงมากกว่า อีกทั้งในยุคที่สื่อต้องการข่าวสารอย่างรวดเร็วที่สุด เป็นเรื่องง่ายกว่าที่จะหาข้อมูลจากทวิตเตอร์ หรือการโทรศัพท์ถามคนรู้จัก ซึ่งมีนักข่าวอยู่ไม่กี่คนที่รู้จักช่องทางในการหาข้อมูลจริง และเมื่อเรื่องข่าวเป็นเรื่องของธุรกิจ การทำข่าวเชิงสืบสวน หาข้อมูลเชิงลึก จึงไม่ใช่ช่องทางในการทำกำไร ทำให้ไม่มีใครสนใจในสิทธิการเข้าถึงของประชาชน

“กฎหมายควรจะปรับในเรื่องข้อมูลส่วนตัว ในกฏหมายข้อมูลข่าวสาร ให้มีการตรวจสอบได้ทั้งภายในและภายนอก ปรับตัวกฏหมายที่ยังมีความขัดแย้งกัน รวมทั้งมีมาตรการและบทลงโทษที่ชัดเจนด้วย”นางพิรงรองกล่าว