ThaiPublica > สัมมนาเด่น > ThaiPublica Forum พลังการเปิดเผยข้อมูล พลังความโปร่งใส (4) : “วิริยะ รามสมภพ” พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารไม่มีปัญหา แต่หน่วยงานรัฐปกปิด กลัวการตรวจสอบ กลัวความผิดของตัวเอง

ThaiPublica Forum พลังการเปิดเผยข้อมูล พลังความโปร่งใส (4) : “วิริยะ รามสมภพ” พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารไม่มีปัญหา แต่หน่วยงานรัฐปกปิด กลัวการตรวจสอบ กลัวความผิดของตัวเอง

23 กันยายน 2015


เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง "การเปิดเผยข้อมูล พลังความโปร่งใส โอกาส-อนาคต ประเทศไทย"
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง “การเปิดเผยข้อมูล พลังความโปร่งใส โอกาส-อนาคต ประเทศไทย”

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง “การเปิดเผยข้อมูล พลังความโปร่งใส โอกาส-อนาคต ประเทศไทย” โดยมีวิทยากร นายวิชา มหาคุณ กรรมการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) นายวิริยะ รามสมภพ นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล คณะบรรณาธิการ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และ กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด และนายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดำเนินรายการ นายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ ณ KTC POP

นายวิริยะ รามสมภพ นิติกรชำนาญการ สขร. ได้กล่าวต่อจากนายธิปไตรว่า “จริงๆ แล้ว พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการปัจจุบันใช้บังคับมาแล้ว 18 ปี ตัวกฎหมายไม่ได้มีปัญหามากนัก ที่มีปัญหาจริงๆ คือหน่วยงานของรัฐ ส่วนใหญ่กลัวการตรวจสอบโดยภาคประชาชน จึงพยายามที่จะไม่ให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนที่มาร้องขอ หรือให้แต่ว่าดึงเวลา จน สขร. ออกหลักเกณฑ์ว่า ถ้ามีคนไปขอข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐแล้วโดยปกติจะต้องจัดหาข้อมูลข่าวสารให้ภายในวันนั้น ถ้าเป็นข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่แล้วและพร้อมจะให้ได้ แต่อย่างช้าต้องไม่เกิน 15 วัน”

พอครบ 15 วัน แล้วยังไม่ให้เขา ยังไม่ได้ตอบปฏิเสธหรือไม่ปฎิเสธว่าจะไม่ให้ ก็สามารถที่จะใช้สิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของข้าราชการได้ เพราะว่าถ้าท่านที่ได้ดู พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการจะเห็นได้ว่า พ.ร.บ. นั้นไม่มีโทษกำหนดไว้สำหรับกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่ พ.ร.บ. กำหนด

ใน พ.ร.บ. จะกำหนดไว้ชัดเจนว่าข้อมูลใดที่หน่วยงานของรัฐต้องนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ประชาชนรับทราบ เช่น อำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน กฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่ไม่ใช่กฎหมายแม่ แต่เป็นกฎหมายลูกที่หน่วยงานของรัฐจะออกมาบังคับใช้กับประชาชน ต้องให้ประชาชนรับทราบก่อน ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 7 (ดูรายละเอียดพ.ร.บ.)

แล้วก็มีข้อมูลตามมาตรา 9 หน่วยงานต้องเอาไปจัดไว้ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของหน่วยงาน ซึ่งทุกหน่วยงานต้องมี และปัจจุบันหน่วยงานต้องนำข้อมูลตามมาตรา 9 ใส่ไว้บนเว็บไซต์ของหน่วยงานด้วยถ้าหน่วยงานนั้นมีเว็บไซต์แล้ว

เรากำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ออกมาซึ่งมีในกฎหมายแล้ว เช่น งบประมาณรายจ่ายประจำปีของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งต้องเป็นนิติบุคคลระดับกรม ไม่ใช่ระดับกอง ถ้าระดับกองอยู่ในกรม ซึ่งงบประมาณไม่ได้ระบุว่าให้แต่ละกองเท่าไร ต้องดูงบประมาณของกรมแล้วไปจัดสรรให้กับกองต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ นี่เป็นเรื่องระบบงบประมาณ แล้วก็เรื่องการใช้จ่ายงบประมาณนั้นมีหนังสือที่สำนักงบประมาณทำออกมาเผยแพร่เป็นการทั่วไปอยู่แล้ว

นายวิริยะ รามสมภพ (กลาง)
นายวิริยะ รามสมภพ (กลาง)

อีกเรื่องที่สำคัญคือมาตรา 9 (8) เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง เราเสริมระเบียบให้สามารถขอคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการที่จะกำหนดให้หน่วยงานของรัฐนำข้อมูลข่าวสารมากำหนดเพิ่มเติมให้ประชาชนสามารถตรวจดูได้ เช่น ประกาศประกวดราคา สรุปผลการจัดซื้อจัดจ้างเป็นรายเดือน เมื่อเดือนนั้นหน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างไปแล้วจะต้องสรุปให้ประชาชนเห็นว่าจัดซื้อจัดจ้างอะไรไปบ้าง จัดซื้อกับใคร มีวงเงินงบประมาณเท่าไร มีราคาเท่าไร และมีผู้เข้าเสนอราคากี่ราย และใครเป็นผู้ได้รับการพิจารณาเป็นคู่สัญญาของรัฐ และสัญญาเลขที่เท่าไร ลงวันที่เท่าไร

ตรงนี้กฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้ว ตลอดจนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) เช่น การทำเหมืองแร่ หรือโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เรามีประกาศตั้งแต่ปี 2553-2554 แล้วว่า อีเอชไอเอนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องจัดไว้ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ เป็นข้อมูลข่าวสารตามมาตร 9 (8) อันนี้เรากำหนดไว้อย่างชัดเจน เป็นประกาศของ สขร.

แม้จะมีกฎหมายหมดแล้ว แต่หลายๆ หน่วยงานก็ไม่ได้ดำเนินการ เพราะเป็นกฎหมายที่ไม่มีโทษ ตรงนี้ก็เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน เพราะว่าในเรื่องธรรมาภิบาลหรือ good governance หลักความโปร่งใสก็เป็นหลักการหนึ่งที่อยู่ในธรรมาภิบาล หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักความคุ้มค่า ฯลฯ

หลักความโปร่งใสมีความสำคัญและมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ปี 2540 เป็นกฎหมายที่สามารถทำให้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในภาครัฐได้

คำพูดในระบบราชการที่ว่า “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” ก็หมายถึงว่า ในภาครัฐ หลักการโดยทั่วไปเปิดเผยได้หมด ซึ่งกำหนดไว้ชัดเจนในมาตรา 7 ซึ่งมีประมาณ 4 เรื่อง ข้อมูลตามมาตรา 9 มีประมาณ 8 เรื่อง ที่เป็นเรื่องสำคัญที่หน่วยงานรัฐต้องนำมาจัดให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้

แต่ไม่ใช่ว่านอกจาก 4+8 เรื่องนี้แล้วประชาชนจะเข้าถึงไม่ได้ เพราะประชาชนสามารถยื่นคำร้องขอกับหน่วยงานได้ ถ้าหน่วยงานไม่มีเหตุผลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 15 คือไม่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ ไม่มีผลกระต่อบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นแล้ว ในหลักการโดยทั่วไปของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ สามารถเปิดเผยได้หมด ดังนั้น เวลาประชาชนต้องการข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐ ถ้าไม่ใช่ข้อมูลตามมาตรา 7 และมาตรา 9 เขาสามารถยื่นคำร้องขอกับหน่วยงานได้ตลอดเวลา และหน่วยงานมีหน้าที่ต้องจัดหาให้ ถ้าไม่จัดหาให้ต้องเป็นเหตุตามมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ถ้าไม่เข้าเหตุปฏิบัติก็คือเปิดเผยได้หมด

แต่เมื่อหน่วยงานไม่ดำเนินการ ไม่ค่อยจะเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบ เพราะกลัวการตรวจสอบโดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ก็จะขอ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เข้าแข่งขันด้วยกันแล้วไม่ได้รับเป็นคู่สัญญาก็จะมาขอตรวจสอบของคนที่ชนะ ตรงนี้ก็เปิดเผยได้เป็นการทั่วไปอยู่แล้ว

“จริงๆ แล้วกฎหมายตัวนี้เท่าที่ทำมาไม่ได้มีอะไรมากมายและไม่น่ามีปัญหา แต่จุดใหญ่คือหน่วยงานของรัฐพยายามที่จะปกปิดข้อมูลจนต้องไปถึงกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร เมื่อเรื่องการขอข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานรัฐปฏิเสธไปถึงกรรมการวินิจฉัยข้อมูล ส่วนใหญ่ร้อยละ 95 กรรมการสั่งเปิดหมด แต่ว่าเป็นการดึงเวลาของหน่วยงานรัฐที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร

นายวิริยะ รามสมภพ
นายวิริยะ รามสมภพ

ที่สำคัญอีกคือ เรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารประชาชน เมื่อให้ไปแล้วประชาชนจะเอาไปทำอะไรได้ ถ้าไม่รู้หลักเกณฑ์ ระเบียบ แบบแผนนั้นๆ ของหน่วยงานรัฐ เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง นาย ก. นาย ข. นาย ค. มาขอดูข้อมูลข่าวสารจัดซื้อจัดจ้างแล้วเขาจะไปดูอะไรถ้าไม่รู้ระเบียบพัสดุ หลักเกณฑ์ขั้นตอนตามระเบียบพัสดุ เราต้องส่งเสริมให้เขามีความรู้เรื่องอื่นๆ ด้วย เพราะไม่รู้ว่าได้ข้อมูลข่าวสารไปแล้วจะเอาไปทำอะไร ตรวจสอบอะไรก็ไม่ได้เพราะไม่รู้เรื่องระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ

“คือ สื่อขอไป ท่านตรวจสอบได้ไหมว่าการจัดซื้อจัดจ้างนั้นดำเนินการตามขั้นตอนระเบียบการจัดซื้อจัดหาของทางราชการไหม ปัญหาคือตรงนั้น เท่าที่ผมดู ในฐานะที่เคยทำระเบียบจัดซื้อจัดจ้างสมัยที่อยู่สำนักนายกฯ มาก่อน คือ เอาไปแล้วใช้งานอะไรไม่ได้ เพราะติดกับแผนแบบระเบียบราชการ แล้วไม่ใช่ติดแค่เรื่องพัสดุอย่างเดียว แต่มีกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีออกมามากมาย

เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง แล้วล็อกสเปก ประชาชนจะรู้ไหมถ้าไม่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ซึ่งจุดนี้สื่อสารมวลชนอาจจะช่วยได้ เพราะประชาชนโดยทั่วไปอาจจะไม่รู้เรื่องนั้น ขอไปก็ดูไม่ได้ว่าล็อกสเปกหรือเปล่า หรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐเองถ้าไม่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นแล้วไปดูก็ไม่รู้หรอกว่าล็อกสเปกไหม เรื่องต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากกว่า คือ การให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ กับประชาชนด้วย

ดังนั้น พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ปัญหาจริงๆ อยู่ที่หน่วยงานรัฐไม่พยายามที่จะเปิดเผยให้ประชาชนทราบเพราะว่ากลัวการตรวจสอบ กลัวความผิดของตัวเอง เพราะไม่ถูกต้องตามระเบียบนิดเดียว บางครั้งไม่เจตนาทุจริตก็ถูก สตง. ตรวจสอบ ถ้าเจอก็เล่นงาน ฉะนั้น ถ้าให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนไปก็กลัวความผิดของตัวเองจะปรากฏแล้วทำให้อนาคตราชการมีปัญหา

จริงๆ ผมมองว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ปัจจุบันพอเดินไปได้ แต่ว่าการใช้ข้อมูลของประชาชนยังไม่สามารถใช้ได้อย่างเต็มที่ เพราะติดเรื่ององค์ความรู้เรื่องอื่นๆ ด้วย แต่ถ้าสื่อสารมวลชนหรือผู้ที่มีความรู้ เช่น อาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ มีอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ทำงานในส่วนวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารก็มีเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์กีฬาของกรมพลศึกษา ก็มีปัญหาตอนที่ดำเนินการที่เป็น option ในสมัยนั้น ปรากฏมีปัญหาเรื่องการกำหนดคุณสมบัติของตัวผู้เข้าเสนอราคา คือวงเงิน 700-800 ล้านบาท แต่ว่าเวลาเสนอต้องบริษัทใหญ่ กำหนดผลงาน ถ้าเป็นเรื่องตามมติคณะรัฐมนตรีกำหนดได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของวงเงินค่าก่อสร้าง

ทีนี้ ถ้าวงเงินสูง กำหนดผลงานไว้แล้วใครจะเข้าได้บ้าง ก็มี 2-3 บริษัทที่เข้าได้ ก็คล้ายๆ การล็อกสเปก แต่ก็ไม่รู้ว่าเขาล็อกหรือเปล่าเพราะว่ายังไม่มีการตรวจสอบอย่างแท้จริง แล้วก็มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมาขอดูข้อมูลข่าวสารตั้งแต่เริ่มโครงการว่าเขียนโครงการยังไง ความพร้อมในการซื้ออุปกรณ์กีฬาซื้อแล้วจะเอาไปติดตั้งที่ไหน มีรายละเอียดของการติดตั้งในหน่วยงานต่างๆ หรือเปล่า มีหนังสือยินยอมจากหน่วยงานที่จะไปติดตั้งหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาซื้อจริงแต่ไปตั้งทิ้งไว้แล้วทำให้ของเสียหาย หน่วยงานยังดำเนินการจัดซื้อไม่เสร็จ เขาก็มาขอดูข้อมูลข่าวสารแต่หน่วยงานปฏิเสธไม่ให้

เขาไปใช้สิทธิ์ร้องที่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร กรรมการก็วินิจฉัยสั่งเปิดทั้งหมด ต่อมากระทรวงท่องเที่ยวก็โยกย้ายโดยคำสั่ง คสช. ซึ่งไม่รู้ว่าเพราะเรื่องนี้หรือเปล่า เนื่องจากว่าอาจารย์คนนี้ไปร้องหลายที่ แล้วขอข้อมูลข่าวสารด้วย ผลออกมาก็เป็นลักษณะอย่างนั้น

นี่คือประโยชน์จาก พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ถ้าชี้ให้เห็นว่าหากคนที่มีความรู้นำข้อมูลตรงนี้ไปใช้จะเกิดประโยชน์ แต่ถ้าประชาชนที่ได้ข้อมูลไปไม่มีความรู้เรื่องระเบียบแบบแผนของทางราชการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นแล้ว ข้อมูลข่าวสารก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร

นี่คือจากการที่ผมทำระเบียบจัดซื้อจัดจ้างมาก็เห็นจุดนี้ คือขอไปแล้วไม่ได้ทำอะไร ถึงแม้ตามมาตรา 9 จะกำหนดให้เอกสารพวกนี้เปิดเผย แต่เปิดเผยแล้วก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์เรื่องการตรวจสอบการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้เต็มที่ เพราะว่ามีระเบียบแบบแผนราชการซึ่งเขาไม่มีความรู้ในเรื่องพวกนี้

อย่างไรก็ตาม จริงๆ แล้วรัฐบาล โดยเฉพาะท่านนายกฯ ได้พูดถึงเรื่องนี้มาโดยตลอด ในการที่จะให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนรับทราบ ก็จะมีระบบ pre-info ของเราที่นำข้อมูลต่างๆ เชื่อมโยงกับของหน่วยงานต่างๆ ก็สามารถเชื่อมโยงไปยังหน่วยงานต่างๆ ได้ว่าข้อมูลข่าวสารมีแค่ไหน เพียงใด ก็พยายามทำระบบตัวนี้ขึ้นมา

อ่านตอนที่ 5 นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล