ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ระดมเซียนแปลงขยะเป็นพลังงาน พัฒนาโมเดลแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม – โลกร้อน

ระดมเซียนแปลงขยะเป็นพลังงาน พัฒนาโมเดลแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม – โลกร้อน

28 พฤศจิกายน 2011


ความต้องการของมนุษย์ที่มีอย่างไม่จำกัด แม้จะมีโลกอีกกี่โลกก็คงช่วยอะไรไม่ได้ หากมนุษย์ยังคงใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่ยเฟือย ยิ่งใช้มากขยะก็ยิ่งมาก กำจัดอย่างไรก็ไม่หมด เช่นเดียวกับภาวะน้ำท่วมในครั้งนี้ก็คาดว่าขยะจะล้นเมือง โดยที่ขบวนการกำจัดขยะของคนเมืองยังไม่มีประสิทธิภาพ

ตรงกันข้ามกับหลายชุมชนพยายามคิดค้นที่จะใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า โดยเชื่อว่าขยะคือพลังงาน ไม่เว้นมูลสัตว์ ขยะของเน่าเสียที่ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่วทุ่งก็สามารถแปลงเป็นพลังงานได้เช่นกัน

ดังนั้นเพื่อเป็นการกระตุ้นให้หลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือภาคเอกชนได้ตระหนักถึงคุณค่าทรัพยากรที่มีในแต่ละชุมชน มูลนิธิคำแสดธรรมธาร ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงาน “มหกรรมพลังงาน ดับโลกร้อนด้วยคำสอนพ่อ” ขึ้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ในระหว่างวันที่ 25-27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยการคัดเลือกกูรูที่ถือว่าเป็นต้นแบบของพลังงานชุมชนต่างๆจากทั่วประเทศ นำผลงานทางด้านเทคโนโลยีมาประชันกันในงานนี้ พร้อมกับสาธิตวิธีการนำขยะ ของเสียที่เป็นปัญหาของชุมชนมาแปลงเป็นพลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานในรูปแบบอื่นๆ

การนำขยะมาแปลงเป็นพลังงาน เป็นเรื่องเก่าที่หลายประเทศทั่วโลกทำกันมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ประเทศไทยกลับไม่เป็นที่รู้จัก แถมยังไม่มีหน่วยงานใดให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง

ส่วนใหญ่ระบบการกำจัดขยะของเมืองไทย ถูกปล่อยให้เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิน ซึ่งทำกันแบบง่ายๆ คือการฝังกลบ การเผาทำลายทิ้ง โดยหารู้ไม่ว่าขยะเหล่านี้คือสินทรัพย์อันมีค่า

งานมหกรรมครั้งนี้ได้มีการเชิญบรรดาผู้รู้มาเสวนาอย่าง “เวทีชุมนุมเซียนก๊าซชีวภาพ(BIOGAS)” ที่รวบรวมช่างชุมชน ผู้พัฒนาเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพจากทั่วประเทศ ซึ่งมีตั้งแต่ปราชญ์ชาวบ้านยันดอกเตอร์ที่คร่ำหวอดในแวดวงวิชาการนำประสบการณ์ และเทคนิคมาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อนำไปปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไบโอแก๊ส

เวทีชุมนุมเซียนไบโอแก๊ส
เวทีชุมนุมเซียนไบโอแก๊ส

อย่างกรณีของคุณลุงเฉลียว สุขงาม จากจังหวัดสุรินทร์ใช้โอ่งขนาด 1,200 ลิตร เอามาฝังดินทำเป็นบ่อหมักก๊าซ โดยการต่อท่อพีวีซีเข้าไปเฉียงๆ เพื่อนำมูลสุกรเติมเข้าไปในโอ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่งมีท่อพีวีซีต่อออกมาเพื่อใช้ระบายของเสีย ซึ่งนำไปทำปุ๋ย ด้านบนจะมีถังส้วมล้อมรอบปากโอ่ง เพื่อเทน้ำใส่ลงไปป้องกันก๊าสรั่วซึม เติมมูลสัตว์ 1 ครั้ง ชาวบ้านนำแก๊สที่ได้ไปใช้ในการหุ้งต้มได้ 3 วัน (ดูภาพประกอบ)

โอ่งทำบ่อหมัก
โอ่งทำบ่อหมัก

ถัดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน พัฒนามาเป็นถุงหมักก๊าซชีวภาพของดร.สุชน ตั้งทวีวิพัฒน์ ภาควิชาสัตวศาสตร์และสัตว์น้ำ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ใช้ถุงพลาสติกพีวีซีอย่างหนาสีดำผืนเดียวใช้ความร้อนรีด เพื่อนำมาทำเป็นถุงหมักก๊าซชีวภาพ

สาเหตุที่ต้องใช้ถุงดำ ดร.สุชน กล่าวว่าจุลินทรีย์จะย่อยสลายมูลสัตว์ เศษขยะเปียกได้ดีที่อุณหภูมิ 30-35 องศาเซลเซียส จึงต้องใช้ถุงสีดำและตั้งไว้กลางแจ้งด้วย เพือดูดความร้อนของแสงแดด นอกจากนี้ยังต้องรักษาความเป็นกรด-ด่างให้อยู่ที่ระดับ 6.6-7.5 ด่างนิดๆ ถ้าเป็นกรด หรือมีคลอรีน และพวกอีเอ็มปะปนเข้ามาจุลินทรีย์จะตายหมด

ถุงหมักก๊าซชีวภาพ
ถุงหมักก๊าซชีวภาพ

จากนั้นมีเซียนไบโอแก๊สพยายามคิดต่อยอด เพื่อนำก๊าซชีวภาพส่วนเกินไปแบ่งปันให้กับชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนใช้กัน โดยใช้คอมเพรสเซอร์ของตู้เย็นเก่าเป็นเครื่องสูบก๊าซที่ผลิตได้อัดใส่ถังแก๊สแอลพีจีขนาด 15 ลิตร ไปใช้นภาคครัวเรือน เนื่องจากระบบท่อที่ต่อมาจากบ่อหมักก๊าซชีวภาพ ไม่มีแรงดันเพียงพอที่จะส่งไปใช้ตามบ้าน จึงต้องอัดใส่ถัง ซึ่งใช้ได้ 2 ชั่วโมง

ขณะที่ดร.สุนันทา เลาวัณย์ศิริ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คิดค้นเครื่องแยกก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟต์(H2S) โดยใช้เศษหรือขี้เหล็กที่หาซื้อได้จากโรงกลึง ลักษณะคล้ายฝอยขัดหม้อ เอาไปแช่น้ำให้เกิดสนิมเหล็กแล้วนำไปใส่ในท่อก๊าซ ซึ่งตัวสนิมเหล็กจะเป็นตัวดักก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟต์ได้ดีถึง 90 % สาเหตุที่ต้องแยกเอาก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟต์ออกมา เพราะว่าก๊าซตัวนี้จะไปทำปฎิกริยาที่หัวเตาแก๊ส ทำให้เกิดการหัวเตาผุ ชำรุดเสียหายเร็วกว่ากำหนด

ขบวนการในการผลิตก๊าซชีวภาพนั้นจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ จากการย่อยสลายสารอินทรีย์ โดยจุลินทรีย์ภายใต้สภาวะที่ปราศจากออกซิเจน โดยก๊าซที่ได้จากการย่อยสลายนั้นส่วนใหญ่จะเป็นก๊าซมีเทน(CH4) รองลงมาจะเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) ไนโตรเจน (N2) ไฮโดรเจน(H2) และก๊าซอื่นๆ ซึ่งก๊าซมีเทนมากที่สุดจะมีคุณสมบัติไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ติดไฟได้และเบากว่าอากาศ ส่วนก๊าซที่มีกลิ่นเหม็นนั้นเกิดจากก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟต์(H2S) หรือ “ก๊าซไข่เน่า” แต่ถ้านำไปจุดไฟแล้วกลิ่นเหม็นที่ว่านี้ก็จะหายไป

หากนำไปโอแก๊สที่ได้ไปผ่านกระบวนการแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดรเจนซัลไฟต์ และไอน้ำออกไป มันก็คือก๊าซเอ็นจีวีที่ผลิตมาจากอินทรีย์วัตถุนั่นเอง ซึ่งในขณะนี้ทางบริษัทปตท.กำลังทำการวิจัย โดยการตั้งโรงงานแยกก๊าซเอ็นจีวีออกจากไบโอแก๊สขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำไบโอแก๊สที่มีความบริสุทธิ์ไปใช้ในภาคขนส่งต่อไป

องค์ประกอบก๊าซชีวภาพ
องค์ประกอบก๊าซชีวภาพ

จบจากการสาธิตกระบวนการผลิตก๊าซชีวภาพแปลงขยะของเหลวมาเป็นก๊าซชีวภาพ ในวันที่ 2 ของงานมหกรรมพลังงานฯจัดให้มี “เวทีชุมนุมเซียนเตาผลิตก๊าซชีวมวล” โดยได้นำเทคโนโลยีในการแปลงขยะพลาสติก เศษไม้มาเป็นน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติผ่านกระบวนการไพโรไลซิส (pyrolysis) มาแสดง

กระบวนการไพโรไลซิส
กระบวนการไพโรไลซิส

โดยขยะประเภทพลาสติกและยางจะมีสารไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นสารประกอบของน้ำมันผสมอยู่ประมาณ 50-60 % หากนำขยะพวกนี้มาผ่านกระบวนการไพโรไลซิส เพื่อทำให้โมเลกุลของพลาสติกมีขนาดเล็กลงด้วยความร้อนสูงประมาณ 300-500 องศาเซลเซียส โดยที่ไม่มีออกซิเจน พร้อมกับใช้ตัวเร่งปฎิกริยา ผลผลิตที่ได้คือน้ำมันประมาณ 38-56 % ประกอบไปด้วย 1) น้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา และน้ำมันหนักผสมอยู่ 2) ก๊าซธรรมชาติ 10-30 % ซึ่งประกอบไปด้วย ก๊าซมีเทน โพรเพน บิวเทน(แอลพีจี) เป็นต้น และ 3) ของแข็งประเภทคาร์บอนแบล็ค ซึ่งนำไปใช้เป็นเชื่อเพลิงในอุตสาหกรรมหล่อโลหะได้อีก เพราะให้ความร้อนสูงมากกว่า 500 องศาเซลเซียส

แปลงขยะพลาสติกเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง
แปลงขยะพลาสติกเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง

หากทำแบบครบวงจร ก๊าซธรรมชาติที่ได้จากกระบวนการไพโรไลซิส ก็จะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเดินเครื่องปั่นไฟฟ้า เพื่อใช้ในเตาปฎิกรณ์ไพโรไลซิส โดยที่ไม่ต้องเสียเงินค่าไฟฟ้า ส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผลิตได้จะมีสีออกดำเข้ม เพราะมีคาร์บอนผสมอยู่ในสัดส่วนที่สูงต้องนำไปใช้กับเครื่องยนต์รอบต่ำๆ อย่างเช่น เครื่องดีเซล แต่จะต้องเปลี่ยนไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิงและหมั่นล้างปั้มหัวฉีดของเครื่องยนต์บ่อยครั้งขึ้น เพื่อไม่ให้หัวฉีดอุดตัน หากจะนำน้ำมันที่ได้ไปใช้กับเครื่องยนต์เบนชินจะต้องผ่านกระบวนการกลั่นน้ำมัน เพื่อให้ได้น้ำมันเบนซินบริสุทธิ์ก่อนถึงจะนำไปใช้ได้

จากนั้นวิทยากร ซึ่งเป็นผู้บรรยายสาธิตการนำน้ำมันที่ได้จากพลาสติกไปเติมลงในเครื่องยนต์ ปรากฏว่าเมื่อเร่งเครื่องแรงๆ จะมีควันดำออกมาก ทำให้เซียนชีวมวลตั้งคำถามขึ้นมาว่าน้ำมันชนิดนี้ปล่อยกำมะถัน หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเป็นจำนวนเท่าไหร่

อาจารย์เอ็ดดี้ผู้บรรยายพลังงานชีวมวล
อาจารย์เอ็ดดี้ผู้บรรยายพลังงานชีวมวล

อาจารย์เอ็ดดี้ซึ่งเป็นวิทยากรตอบว่า พลังงานทุกชนิดมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากเปรียบเทียบแล้วดีมากกว่าเสียก็ทำไป ขณะที่ข้อเสียก็คือปัญหาที่ต้องหาทางแก้ไขปรับปรุง โดยในส่วนของกำมะถันคงจะไม่มีปะปนเข้ามาอยู่ในน้ำมัน เพราะกระบวนการไพโรไลซิสใช้อุณหภูมิไม่เกิน 500 องศาเซลเซียส ยังไม่ถึงจุดเดือดที่จะทำให้กำมะถันแตกตัวเข้ามาเจือปนอยู่ในน้ำมัน ตัวกำมะถันจะเข้าไปรวมอยู่ในกาก หรือคาร์บอนแบล็ค ส่วนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็ต้องหาทางปรับปรุง

“ไม่มีพลังงานชนิดไหนหรอกที่ไม่มีปัญหา ต้องน้ำข้อดีและข้อเสียมาชั่งดู หากมีปัญหาก็ต้องหาทางแก้ไขกันไป หาเครื่องมือกลไกมาดักของเสียมันออกไป ไม่ใช่ยังไม่ทันชั่งน้ำหนักดูเลยว่าข้อดี-ข้อเสียอย่างไร ก็ตั้งป้อมไม่เอาแล้ว เหมือนโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ไม่เอา หรือโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ก็ไม่เอา อะไรทำนองนั้น โดยไม่คำนึงถึงว่าในอนาคต ลูกหลานจะมีไฟฟ้าใช้เพียงพอไหม เรื่องพลังงานชีวมวลผมผลักดันมานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่คนยังไม่เห็นภาพ วันนี้ผมก็เลยลงมือทำเครื่องผลิตน้ำมันจากพลาสติกให้ดู เป้าหมายคือการแปลงขยะเป็นพลังงานเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก ส่วนเชื้อเพลิงที่ได้จากการทำแบบนี้จะเป็นผลพลอยได้ที่ตามมา” อาจารย์เอ็ดดี้กล่าว