ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > “ยุทธการ มากพันธุ์” สร้างคำแสดโมเดล แปลงขยะเป็นพลังงาน

“ยุทธการ มากพันธุ์” สร้างคำแสดโมเดล แปลงขยะเป็นพลังงาน

13 ธันวาคม 2011


“เราต้องเปลี่ยนค่านิยมว่าการจบปริญญาตรีเป็นที่สิ่งที่ทุกคนต้องจบเหมือนกัน พอจบแล้วทุกคนต้องเสมอภาคกัน และเริ่มเรียนรู้ปริญญาใบที่สองคือการเรียนรู้ การอยู่กับคน อยู่กับสังคม อยู่กับความจริงของชีวิต อันนี้คนจะสอบตกเยอะในบ้านเรา”

คงจะพิสูจน์กันชัดแล้วว่ามนุษย์ใช้ชีวิตนอกลู่นอกทางมากเกินไปแล้วจริงๆ ภัยพิบัติจึงแวะเวียนมาไม่ขาดสาย หลายเสียงจึงบอกว่านี่คือเวลาที่ต้องชดใช้ ไม่ใช่เวลามาคร่ำครวญ เวลาที่ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต เพราะโลกใบนี้คงไม่แตกสลาย มีแต่มนุษย์ที่จะล่มสลายหากยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมเร่งผลิต เร่งใช้ เร่งทิ้งกันแบบนี้

ดังคำพังเพยที่ว่าไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา ภัยพิบัติน้ำท่วมปี 2554 จึงกระตุกต่อมฉุกคิดให้คนไทยตระหนักถึงการทำลายและการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย และตื่นตัวรับภัยพิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและถาวร ความจริงแม้จะเลวร้ายในบางครั้งแต่จำเป็นต้องเปิดเผยและยอมรับ เพื่อให้คนอยู่กับความจริง เผชิญหน้าและร่วมกันแก้ไข

แม้จะช่วยโลกไม่ได้ แต่ไม่ทำร้ายซ้ำเติม ก็อาจช่วยพยุงให้ดำรงต่อไป หลายองค์กรหลายหน่วยงานได้ปฏิบัติและเปลี่ยนวิถีตัวเองทั้งในด้านการดำรงชีวิตและธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับธรรมชาติและความเสี่ยงที่เกิดผลพวงจากมนุษย์

“มูลนิธิคำแสดธรรมธาร”เป็นอีกหนึ่งหน่วยธุรกิจที่ลุกขึ้นมาทำงานเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยลงมือปฏิบัติจนเป็นตัวอย่างให้คนมาดูงานและเป็นโมเดลองค์กรยั่งยืนสอดรับกับวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งนับวันมีแต่ความเข้มแข็งมากขึ้นๆ

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มูลนิธิคำแสดธรรมธารได้จัดกิจกรรมมหกรรมลดโลกร้อนด้วยคำสอนของพ่อ อ่าน ระดมเซียนแปลงขยะเป็นพลังงาน พัฒนาโมเดลแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม – โลกร้อน ที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นกิจกรรมการแปลงขยะเป็นพลังงานในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำมาใช้ใหม่ และใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า

นายยุทธการ มากพันธุ์ ที่ปรึกษามูลนิธิคำแสดธรรมธาร
นายยุทธการ มากพันธุ์ ที่ปรึกษามูลนิธิคำแสดธรรมธาร

นายยุทธการ มากพันธุ์ ที่ปรึกษามูลนิธิคำแสดธรรมธาร ได้เล่าถึงแนวคิดของการกลับสู่ธรรมชาติและอยู่กับธรรมชาติ อย่างที่เห็นคุณค่าของทรัพยากรนั้น เริ่มต้นมาจากวิกฤตเศรษฐกิจของโรงแรมที่มีบ่อยขึ้น ถี่มากขึ้น ตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ธุรกิจโรงแรมควบคุมยาก เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เกิดเหตุการณ์ข่าวลือเขื่อนศรีนครินทร์แตก น้ำท่วม พอมีวิกฤตอะไรก็แล้วแต่ คนจะไม่ท่องเที่ยว คนเริ่มกลัวและเก็บเงิน

“เราก็มาคิดกับเจ้าของโรงแรมคำแสด ริเวอร์แคว รีสอร์ท ว่าจะทำอย่างไรให้คำแสดอยู่ได้ ก็เริ่มนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เริ่มปลูกผัก และคิดต่ออีกว่าถ้าไม่มีเงินจ่ายค่าไฟทำอย่างไร ไม่มีเงินซื้อแก๊สทำอย่างไร ก็เริ่มไปทำไบโอแก๊ส เป็นจุดที่เราเปลี่ยนตัวเอง เราเริ่มทำเพื่อพนักงาน ทำไปสักพักก็มีคนมาดูงาน ดูไปดูมา ชาวบ้านที่มาดูก็บอกว่าอยากทำเหมือนกัน แต่ทำขนาดโรงแรมใหญ่เกินไปเขาทำไม่ได้ เราก็มาพัฒนาพลังงานให้กับชุมชน เริ่มมาคิดนวตกรรมพลังงาน วันหนึ่งกลายมาเป็นคนทำเทคโนโลยีพลังงาน โดยที่เราไม่รู้ตัว ค่อยๆพัฒนามาทุกเรื่อง”

พอเราเริ่มจากเศรษฐกิจพอเพียง เราเริ่มเห็นจริงๆว่าประเทศเราต้องการองค์ความรู้เรื่องพวกนี้เยอะ ทุกหน่วยงานช่วยกันทำ ทุกกระทรวง ราชการประจำ ใครก็อยากเห็น เพียงแต่ว่าเป็นหน้าที่ของทุกคน โรงแรมคำแสดฯก็มีหน้าที่อย่างหนึ่งกับสังคม ต้องคิดอะไรบางอย่างให้ประเทศของเราและพวกเราเองด้วย คือเราได้ ประเทศก็ได้ ก็เกิดโครงการแปลงขยะเป็นพลังงาน ทำมาถึงทุกวันนี้ ร่วมมือกับเครือข่าย พวกเราก็ใหญขึ้น แต่เรายังเป็นคนโรงแรมเหมือนเดิม อาชีพเป็นเด็กเสิร์ฟเหมือนเดิม แต่ว่าอีกมุมของเด็กเสิรฟคือเรามีโนฮาวของพวกเราเอง โนฮาวของเราคือคนไทยทุกคน หน้าหนึ่งคือคนโรงแรม อีกหน้าหนึ่งคือหน้าที่ของความเป็นคนไทยที่ต้องช่วยกันคิด ก็อยากบอกสังคมว่าเราไม่ควรผลักภาระให้กับใคร คนใดคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงใด เขาก็คนเหมือนกัน เป็นคนไทยเหมือนกัน เขาไม่ได้เก่งกว่าเรา เพียงแต่เขาทำหน้าบางอย่างของเขาอยู่

ผมมองว่าสังคมเราต้องการคนคิดกับคนทำ และวันนี้มีกลุ่มหนึ่งคือนักวิชาการ ซึ่งเก่งกว่าหลายๆกลุ่ม แต่ปัญหาของเราหรืออาจจะเป็นดีเอ็นเอของคนไทย เรามักชินกับระบบว่าหัวหน้าใหญ่สั่งก็ต้องเป็นความคิดฉัน คนที่สั่งส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคนทำ เพราะฉะนั้นเทคโนโลยี่ของชุมชนที่สั่งให้ทำชาวบ้านก็จะใช้ไม่ได้ แล้วปัญหาบ้านเรา คือเราให้เกียรติเรื่องเกียรติยศมากกว่าความสามารถ ทำให้คนที่เป็นนักวิชาการหรือคนที่ได้เรียนทางด้านนั้นโดยตรง พอเรียนจบปริญญาตรีก็เริ่มพูดเริ่ม สื่อสารกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง ใช้ศัพท์แสงคนละศัพท์กับชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านเข้าไม่ถึง

ผมเป็นคนโรงแรม เป็นคนอาชีพบริการ ต้องดูแลทั้งแขกวีไอพี และดูแลชาวบ้าน เราก็คุยได้ จะชินทั้งสองภาษา ภาษาวิชาการก็ฟังรู้ เวลาแขกวีไอพีมาเราก็คุยได้ ชาวบ้านมาเราก็คุยได้ เพราะโรงแรมไม่เลือกคณะ อาชีพเราจึงน่าจะเหมาะเป็นคนระหว่างกลาง ระหว่างคนรักเทคโนโลยี่กับคนปฏิบัติ เราเริ่มมาพัฒนาความรู้บางอย่าง ผมไม่ได้คิดเอง ได้มาจากนักวิชาการ สอนมา และเราเอาสิ่งเคยเป็นเคยทำจากชาวบ้าน ปัญหาของเขามาวิเคราะห์ มาประดิษฐ์ หรือมาแอพพลายให้กลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมา

ซึ่งเทคโนโลยีระหว่างกลาง ผสมผสาน 2 หน่วยงาน ชาวบ้านฟังรู้เรื่อง เพราะคนกลางเป็นคนทำ เพราะผมพูดภาษาชาวบ้านเป็น นักวิชาการถ่ายทอดภาษาวิชาการเป็น ทำให้ถ่ายทอดเร็วขึ้น ตรงนี้เป็นจุดที่อยากให้สังคมเราน่ามีมิติในการเรียนรู้ ในการสอนคนใหม่ จากที่เราจบปริญญาตรีแล้วจะเป็นนายคน

“ผมมีบทเรียนบ่อยๆเวลารับเด็ก ต้องสัมภาษณ์เด็กจบปริญญาตรี ไม่ว่าจะเป็นด้านการโรงแรม เขาจะไม่เสิร์ฟอาหาร ไม่ล้างห้องน้ำ ผมบอกว่า น้อง.. อาชีพเราคือคนโรงแรม คืออาชีพล้างห้องน้ำ เสิร์ฟอาหาร จะจบปริญญาโทก็คืออาชีพเดียวกันนั่นแหละ สิ่งนี้ทำให้เราถอยหลัง เพราะเรายึดถือใบปริญญาเกินไป ผมไม่ได้บอกว่าไม่ดีนะ คนที่จบปริญญาได้คือคนที่มุมานะ ต้องเรียนเป็นคนเก่ง เพียงแต่ว่าเราเอามาใช้ไม่ถูกทาง”

เราต้องเปลี่ยนค่านิยมว่าการจบปริญญาตรีเป็นที่สิ่งที่ทุกคนต้องจบเหมือนกัน พอจบแล้วทุกคนต้องเสมอภาคกัน และเริ่มเรียนรู้ปริญญาใบที่สองคือการเรียนรู้การอยู่กับคน อยู่กับสังคม อยู่กับความจริงของชีวิต อันนี้คนจะสอบตกเยอะในบ้านเรา เราจบปริญญาแต่ไม่ได้เรียนต่อ ไปเรียนต่อปริญญาโท ซึ่งไม่มีประโยชน์แล้ว แต่คนอีกกลุ่มไม่ได้เรียนในภาคปฏิบัติ ในการเรียนภาคบังคับ ไม่ได้ปริญญา แต่เขาไปเรียนวิชาความจริงของชีวิต

สิ่งที่ผมทำเสริมคือเอาวิชาที่นักปริญญาเรียนกันมาสอนชาวบ้าน ซึ่งพัฒนาแก๊ส อย่างแก๊สซิไฟเออร์ คนที่เป็นดอกเตอร์ทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ ได้วุฒิดอกเตอร์ แต่ชาวบ้านเขาก็ทำเป็นเหมือนกัน เพียงแต่เขาไม่รู้ขบวนการทางเคมี ขบวนการไฮโดรคาร์บอน ว่าแก๊สเกิดขึ้นได้อย่างไร ศัพท์เทคนิคในขบวนการต่างๆ แต่เราได้แปลงเป็นภาษาชาวบ้าน พอชาวบ้านชินสักพัก ภาษาศัพท์เทคนิคเขาจะจำได้ มีอยู่คนหนึ่งแกจบป.4 แต่พอทำไปหลายๆปี เขาจะรู้ศัพท์ภาษาอังกฤษหมด เรียนรู้ได้ วัยเขาไม่ใช่วัยนั่งท่องแบบเด็กๆ เช่น ตารางธาตุ เราค่อยๆบอกเขาว่าเป็นอย่างไรเวลาทำงาน คือติดปัญญาให้กับคนอีกกลุ่มนี้ เขาปฏิบัติได้ พอรู้ทฤษฎีเขาจะไปได้เร็วมาก เก่งมาก แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียนมาในระบบ และไม่ยอมลงมือทำวันหนึ่งก็จะตัน

วันนี้บ้านเราคนที่เรียนในระบบตันแล้วไม่ยอมทำอะไร ได้แต่พูดอย่างเดียว ไม่เคยลงมือทำอะไรสักชิ้น หรือทำแล้วแต่ไม่เคยใช้ ไม่เกิดทักษะ ไม่เกิดความชำนาญ และคนกลุ่มนี้กลับเป็นคนที่คุมประเทศ คุมนโยบาย ผมกล้าบอกว่าบ้านเราการศึกษาเราเดินถอยหลัง เพราะคนกลุ่มนี้มาบริหาร

ผมไม่ได้บอกว่าเขาไม่เก่งนะ เก่งมาก แต่ควรจะเซคชั่นหนึ่ง ให้คนกลุ่มนี้ควรหยุดสอนสักปี ไปอยู่กับชุมชน ทำงานกับชุมชน เขาจะเกิดองค์ความรู้ หากเราพัฒนาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งได้ คนกลุ่มนี้จะเก่งมาก ประเทศเราจะไปได้ไกลมาก

วันนี้เรื่องการบริหารประเทศผมมองว่าไม่ต้องจบอะไรก็ได้ แต่ต้องเก่งจริงๆ ด้วยการปฏิบัติ เมื่อเรารู้หลัก และไปศึกษาเพิ่มเติม จะง่ายขึ้น ผมว่าสันดานเดิมคนไทยเก่งอยู่แล้ว ผมมีโอกาสได้ทำงานกับยูเอ็น ส่งเสริมเรื่องพวกนี้ ผมว่าคนเราเก่งกว่าเยอะ วิธีคิด ภูมิปัญญา เพราะคนหลายประเทศถูกปลูกฝังโดยธรรมเนียมปฏืบัติ ห้ามคิดนอกกรอบ ตื่นขึ้นมาก็เป๊ะๆๆ เป็นระเบียบหมด และมองโลกอีกแบบหนึ่ง คนไทยมองโลกแบบเสรี จะเห็นอะไรกว้างกว่า และคนไทยมีทั้งทรัพยากร ความฉลาดเราไม่แพ้ใคร

สมัยก่อนคนไทยเราเคยผลิตกังหันน้ำด้วยไม้ ใช้ไม้ทำเครื่องจักรทั้งเครื่อง สร้างบ้านไม้ ไม่ต้องใช้ตะปู อยู่ได้เป็นร้อยๆปี คนไทยเป็นคนเก่ง ภูมิปัญญาไทยเก่งมาก เพราะฉะนั้นความเป็นคนเก่งมีข้อเสียบางเรื่อง เพียงแต่เราต้องจับจุดประเทศเราให้ถูก แล้วพัฒนาองค์ความรู้ของเรากลับขึ้นมาใหม่ เรามัวไปเอาความรู้ฝรั่ง ซึ่งเทคโนโลยี่เขาเหมาะกับคนของเขาไม่ใช่คนของเรา คนที่ไปเรียนเมืองนอกมาเป็นผู้บริหารประเทศ บริหารกระทรวง ไปเอาความรู้ที่มาใช้กับบ้านเราไม่ได้ ทำให้ทุกอย่างมีปัญหา

วันนี้คนบริหารระดับข้าราชการมาจากเด็กๆ จบมาจากเมืองนอกก็เยอะ ไม่รู้เทคโนโลยี่บ้านเรา มาเห็นบ้านเราก็มองว่าเป็นเทคโนโลยี่ล้าหลัง เพราะเขาไปเห็นมาอีกภาพหนึ่ง เหมาะกับคนฝั่งโน้น และผู้บริหารประเทศระดับนักการเมืองมาจากคะแนนเสียง มาโดยเงิน มาโดยอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งคนเหล่านี้ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรี ถามจริงว่ามีองค์ความรู้อะไรบ้าง เรื่องของประเทศไม่ใช่ลองผิดลองถูก ต้องเจ๋งจริงๆ แต่เมืองไทยใครก็ได้ ขึ้นมาเป็นได้ ใครก็ได้ที่มีเพื่อนเยอะ มีเงินเยอะ มีคนหนุนเยอะ เอาใจคนเก่ง และนิสัยนักการเมือง ไม่ยอมผิดอะไรเลย ไม่ว่าใคร จะผิดจะถูกเอามวลชนไว้ก่อน จึงไม่มีกฎ ใครพวกเยอะก็ถูก ทำให้สังคมไทยเราเตี้ยอุ้มค่อม พอนักการเมืองเปลี่ยนเด็กของฉันสามารถย้ายข้ามห้วยได้ เอาคนไม่เก่งมารวมกันอีก กลายเป็นเคราะห์ซ้ำของประเทศอีก ได้ผู้บริหารที่ไร้ความสามารถโดยสิ้นเชิง ต้องบอกว่าโดยสิ้นเชิง ไม่มีโนฮาวอะไรทั้งสิ้น ได้แต่ไปดูงานต่างประเทศ มาแล้วแบะแบะ พอเห็นหัวแดงก็โอ้.. ดี ขณะที่ต่างชาติคนบริหารระดับโลกที่เก่งเขาจะมอง เขาจะวิเคราะห์ก่อนว่าพื้นฐานใกล้กันไหม ภูมิประเทศใกล้ๆกันไหม พืชใกล้ๆกันไหม ก็เอาไปปรับเอา ต่างกับบ้านเรา

วันนี้สิ่งที่“คำแสด”เป็นคือ คำแสดเป็นหน่วยหนึ่ง ที่พยายามทำอะไรบางอย่าง เพื่อตัวเองและเพื่อสังคม และสิ่งเราทำพยายามให้สังคมเรียนรู้ เป็นแค่หน่วยงานเล็กๆหนึ่งหน่วย อยากเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานลุกขึ้นมาทำเถอะ ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน ผู้ประกอบการใดๆก็แล้วแต่ มีความสามารถหมด เศรษฐกิพอเพียงเป็นเรื่องที่นักบริหารควรต้องเอาไปใช้ ให้อิสระคนในการคิด ส่งเสริมเทคโนโลยี่ เชื่อมั่นพวกเรากันเอง เชื่อมั่นในสิ่งที่เรามีในภูมิปัญญาโบราณ ต้องเอามาใช้ ถ้าไม่เจ๋งจริง ประเทศไทยไม่อยู่มาเป็นพันปี เรามีนวตกรรมมหาศาลในอดีต ขุดขึ้นมาแล้ววิเคราะห์ใหม่ เราส่งคนไปเรียนปริญญาเอกเพียบ แต่จะมีใครวิเคราะห์สมุนไพรในป่าเราบ้าง

“ผมเอาเทคโนโลยี่เศษเหล็กทั้งหลาย ไปขายทั่วโลก ไปออกบูธ มีคนถามว่าอายไหม ที่เอาเทคโนโลยี่เศษเหล็กไปโชว์.. ก็เป็นตัวผม มีอะไรหรือเปล่าล่ะ มั่นใจในสิ่งที่เราเป็น ยูใช้ได้ก็ใช้ ยูใช้ไม่ได้ก็ไม่ต้องใช้ แต่เราใช้ได้ เราอย่าทำตัวเป็นคนจนใส่ทอง คนรวยไม่ใส่กัน เอาเงินไปกินข้าวดีกว่า เพราะว่าฐานะไม่บอกที่ทอง บอกที่ว่าเรามีความสุขแค่ไหน”

ประเทศไทยต้องเปลี่ยนหลายอย่าง ตั้งแต่องค์กร ต้องเปลี่ยนสื่อ หมายถึงว่า สื่ออย่างละครไทย ผมชอบวิธีคิดของฝรั่ง อย่างคนอเมริกันจะรณรงค์เรื่องทหารขาด ให้เข้ากองทัพ เขาไม่ได้บังคับ เขาใช้วิธีการให้ทุนไปสร้างหนัง สร้างอะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าเป็นวีรกรรมทหารอเมริกัน อาจจะถูกฆ่าตาย เครื่องบินตก แต่คนอยากเป็นทหาร… อารมณ์ประมาณนั้น เขาใช้มีเดียซึ่งมีอิทธิพลกับคน

“เรื่องนี้คนไทยก็รู้ ทำไมไม่มีหน่วยงานไหนสักแห่งให้ทุนเขาไปสร้างละคร ต่อไปนี้ถ้าใครทำแนวเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องนักวิทยาศาสตร์ คุณเอาทุนไปเลย ไม่ต้องไปโฆษณากระทรวงนั้นกระทรวงนี้ ไม่มีประโยชน์ เพราะคนดูละครมากกว่า ต้องสนับสนุนให้ทุนทำละคร เอาเรื่องแบบนี้ เช่น พระเอกเป็นชาวนา ไม่ต้องเป็นคนรวยก็ได้ พระเอกเป็นรปภ.ก็ได้ เป็นเด็กเสิร์ฟก็ได้ อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ต้องปลูกฝังเรื่องพวกนี้ให้คนของเรา ไม่ต้องสอนเยอะ ไม่ต้องมาเข้าคอร์สอบรม ไม่มีประโยชน์ เพราะสื่อทีวีปัจจุบันใส่เราทุกวัน ต้องไปแก้ที่สื่อเลย จัดการที่ต้นตอปัญหา ปลูกฝัง “คนซื่อคือวีรบุรุษ คนโกงกินคือคนชั่ว” เอาละครใส่ไปเลย คนชั่วถูกประนาม ปลูกฝังไปเรื่อยๆ ไม่ต้องรณรงค์อะไรเยอะ คนทำละครก็มีเงิน ทีวีอยู่ได้ บางทีเราคิดเยอะไป ดังนั้นใครทำละครแนวคิดแบบนี้รัฐบาลให้ทุนไปสร้างเลย สนับสนุนไปเลย”

ผมมองว่าประเทศเราต้องคิดนอกกรอบบ้าง แล้วต้องวิเคราะห์จริงๆ บางอย่างที่ไปดูงานต่างประเทศก็มีประโยชน์ แต่เราดูงานแบบเข้าไม่ถึงเนื้อที่เขาทำ เข้าไม่ถึงเนื้อของเขาจริงจัง ต้องมีการวิเคราะห์จริงๆ

“อย่างกองทัพบกอเมริกาให้เงินไปทำ อย่างน้อยทำให้คนอยากเป็นทหาร บ้านเราผมมองว่าละครน้ำเน่า ทำไมไม่ทำน้ำดี พอรัฐไม่ให้เขาต้องอยู่รอด รัฐมีเงินเยอะ แต่ไปทำอะไรบ้าๆบอๆ ผมว่ามีคนอยากทำเยอะ หากรัฐให้เงินไปทำ สังคมจะดีขึ้น ละครจะเป็นจุดที่จะช่วยได้เพราะมีบทบาทมาก อย่าให้ตลาดเป็นคนกำหนด ไม่งั้นเราก็คุมอะไรไม่ได้ รัฐบาลก็แจกเงินไปเรื่อยๆ อย่างงานที่เราจัดงานมหกรรมลดโลกร้อน ทางสสส.ให้เงินกลุ่มนักคิด ทั้งที่จริงๆควรเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงพลังงาน แต่ก็ไปติดระเบียบว่าต้องเขียนโครงการ และให้ชาวบ้านมาเขียน ก็เขียนไม่ได้ ต้องเขียนที่มาที่ไปโครงการ และคนที่เขียนโครงการได้คืออาจารย์ มีคนกลุ่มเดียว และคนกลุ่มนี้ก็ไม่เคยทำ นักวิชาการได้ทุนก็สร้างมาเครื่องหนึ่งก็ไม่เคยใช้ ต่างจากชาวบ้านที่สร้างแล้วใช้จริง”

ผมมีโอกาสได้เป็นหน่วยที่ไปตรวจงาน รู้สึกชื่นชมผลงานของชุมชนมากกว่างานของกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้โดยตรง อย่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ ที่คิดค้นจากนักวิชาการ คิดจากคนที่ไม่ใช่ชาวบ้าน ส่วนใหญ่ 80 – 90 % ล้มเหลว ใช้ไม่ได้เลย แต่งานเหล่านั้นเป็นของดีหมด เป็นของดีมาก เพียงแต่ว่าเทคโนโลยีที่เขาผลิตออกแบบไม่เหมาะกับคนของเรา แต่ที่ สสส.ให้เงินเรามาทำคือเทคโนโนโลยีของเรา คนของเรา กระทรวงอาจจะมองว่าโอ้.. เด็กๆ เป็นแค่เตาใส่แกลบ แต่ชาวบ้านเขาใช้ของเขาได้ เป็นสุดยอดเทคโนโลยีของเขาแล้ว แต่จะเอาสแตนเลสมาตั้งเป็น 10 ล้าน แต่ใช้ไม่ได้ มันก็แค่เศษเหล็ก เราเก่งเอาของดีมาทำเป็นเศษเหล็ก แต่ชาวบ้านเอาเศษเหล็กมาทำเป็นของใช้ได้ นี่คือสุดยอดของมนุษย์

รัฐอย่าไปคิดแทนชาวบ้าน แม้เทคโนโลยีจะล้าหลัง หากเขาใช้ได้ก็ใช้ไปเลย เป็นนวตกรรมของเขา เมื่อรัฐเห็นก็ต้องส่งเสริม เพียงแค่ไปสอนเพิ่ม ไปช่วยกันคิด ให้ไอเดีย ช่วยเขาคิดตัวใหม่ขึ้น ไม่ใช่บอกว่าคุณใช้ไม่ได้ เอาของฉันดีกว่า. เจ๊ง และเขาก็ไม่ได้เรียนรู้

ตัวอย่างกังหันคีรีวง เป็นกังหันที่ถูกหลักวิชาการเป๊ะเลย ชาวบ้านเขาคิดมาจากเล็ก ๆ จากผิดๆก่อน มีอาจารย์มหาวิทยาลัยไปช่วยคิด ส่งเสริม ทำให้ถูกแบบ เป็นกังหันที่ใช้งานได้จริง เอาหลักวิชาการไปเสริม กระทรวงไม่ต้องมาคิดว่าฉันจะเป็นเจ้าของเทคโนโลยี่เอง มันเป็นของประเทศอยู่แล้ว จะเป็นของใครก็แล้วแต่ ในมุมของคนอื่นมอง มันเป็นประเทศไทยอยู่แล้ว แต่ไม่ต้องบอกว่าเป็นของกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ หน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้ ผมว่าเราเหมือนคนจนใส่ทอง กระทรวงกำลังเป็นแบบนั้น จนความคิด แต่พยายามบอกว่าฉันมีทองใส่… หยุดเถอะกระทรวง

ผมไม่ใช่นักเทคโนโลยี่ แต่ผมเป็นนักประสาน ผมมีเทคโนโลยี่มากกว่ากระทรวง มาจากการประสานระหว่าง 2 หน่วย ผมอยากเห็นชาวบ้านมีเยอะกว่านี้อีก และชาวบ้านมีเยอะกว่านี้จริงๆ ผมสร้างเครื่องได้ก็จริง ใช้ได้ แต่คนที่ดัดแปลงได้ดีคือชาวบ้าน และเขาดัดแปลงเป็นเครื่องที่ใช้งานได้ดีขึ้น

นี่คือจุดสูงสุดของมนุษย์ อย่าดูถูกภูมิปัญญาชาวบ้าน คนที่คิดเรื่องอวกาศ ไม่เคยไปอวกาศ แต่เขามีภูมิปัญญาจากอดีต คนโบราณมีอารยธรรมมหาศาล อย่างคนอียิปต์ตัดหินได้ตรงเป๊ะ สมัยก่อนไม่มีมอเตอร์ไฟฟ้าแน่นอน สูงขนาดไหน เครนก็ไม่มี ทุกวันนี้ยังหาคำตอบอยู่ มีแต่คนเดา

“ของโบราณดีกว่าตอนนี้ ต้องยอมรับว่าของปัจจุบันเลวลง ต้องเอาทรัพยากรทั้งหมดมากมายขึ้นมาใช้ ต้องยอมรับนวต กรรม แนวคิดสมัยก่อนถ้าไม่ดีจริง ไม่เหลือทรัพยากรมาถึงเรา โลกอยู่มาเป็นล้านปี คนโบราณสร้างเมืองใหญ่โต ไม่ทำลายขนาดนี้ วันนี้เราถึงจุดที่เทคโนโลยี่อับจนที่สุด อับจนคือพัฒนาจนโลกพัง แต่สมัยก่อนเขาอยู่กันอย่างไร รักษาโลกให้เรามาใช้ได้ เราต้องย้อนกลับไปดู เริ่มจากชาวบ้าน ว่าภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดมา ที่เหลืออยู่มีอะไรบ้าง วันหนึ่งหวังว่าเราจะเจอเทคโนโลยีที่ดีที่สุด ไม่งั้นอียิปต์ตัดหินได้อย่างไร

โลกเราเคยเจริญสูงสุด วันนี้เราถึงจุดที่แย่ที่สุด แต่ผมว่ายังสู้คนโบราณไม่ได้ เพราะงั้นเราอย่าไปหลงกับปริญญาเยอะ อย่าไปหลงกับฐานะทางสังคมที่เขาหยิบยื่นให้ ทำให้เราไม่สามารถมีความคิดมากพอที่จะกลับไปมองของเดิม อย่างนักวิชาการมาเห็นงานผมก็มองว่าเป็นเศษเหล็ก แต่มาคุยกับผมก็บอกว่าเคยเรียน แต่ไม่เคยรู้ แล้วผมยังรู้ได้ แต่ชาวบ้านเก่งกว่าผมเยอะ

ถั่วพลูปลูกไว้ในแปลงผักติดแม่น้ำของโรงแรมคำแสดฯ
ควายเผือกที่เลี้ยงไว้ในพื้นที่โรงแรมคำแสดฯ
นักวิทยาศาสตร์ คุณสมบัติพื้นฐานต้องเป็นนักสังเกต นักทำ นักทดลอง อย่างพื้นฐานชาวบ้านไทย อาชีพเกษตรกรรม ต้องสังเกตธรรมชาติทั้งหมด เพราะไม่มีเครื่องชี้วัด ชาวบ้านเขาจะเป็นนักสังเกตุ มีความอดทน เป็นนักปรัชญา มีการพูดคุย พื้นฐานเขาเก่ง กลุ่มชาวบ้านจะพัฒนาเทคโนโลยี่ดีที่สุด ขณะที่นักวิชาการเคยทำแต่วิทยานิพนธ์ ทำผลงานแค่ชิ้นเดียวก็จบ หรือได้ทุนทำโครงการทำผลงานไปให้ชาวบ้าน เขียนหนังสือเสร็จ ใช้ได้ ไม่ได้ไม่รู้ ปิดโครงการ ไม่มีใครมาตามผลงาน …จบ นักวิชาการหากไม่ได้ทำงานจริงๆ ทำแล้วใช้ไม่ได้

ต้องให้นักวิชาการพบกับชาวบ้าน ไม่ต้องอวดชาวบ้าน ไม่ต้องพูดไทยคำอังกฤษคำ ต้องทำตัวเป็นแก้วไม่มีน้ำ เป็นจิตวิทยาพื้นฐาน แล้วช่วยกันประดิษฐ์นวัตกรรมขึ้นมา สิ่งที่น่าจะทำคือให้อาจารย์ทุกคนไปเรียนรู้กับชาวบ้าน อยู่กับชุมชนจริงๆทุก 2 ปีออกไปพื้นที่ จะต้องต่อยอดภูมิปัญญาชาวบ้าน

ตัวอย่างที่ผมเจอ ผมตกใจมากที่ผมทำหอกลั่นน้ำมัน มหาวิทยาลัยมาดูเยอะมาก บอกว่าเคยเรียนแต่ไม่เคยเห็น วิศวกร มาทำงานกับผม ท่องสูตรคำนวณได้เก่งมาก ผมคิดว่าหากเขาได้ทำด้วย พอลงมือทำเอง ก็คิดว่าง่ายอย่างนี้เอง เพราะหลักสูตรส่วนใหญ่นำเข้าเครื่องมาสอนเด็ก เขาไม่รู้พื้นฐานเดิมว่ามาอย่างไร

ดังนั้นข้าราชการมัวแต่ทำเคพีไอ ตัวชี้วัด ต้องมีงบประมาณถึงจะทำงานเป็น ผมมองว่าตัวชี้วัดน่าจะวัดว่าประชาชนมีความสุขไหมมากกว่า

“คนที่จะเป็นแม่ทัพได้ก็ต้องเป็นนักรบที่เก่งมาก่อน ต้องไปฟันดาบกับข้าศึก อยู่กับชุมชน อยู่กับพื้นที่ถึงจะรู้จริง การบริหารประเทศก็จะดีขึ้น แต่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่จบปริญญา มาก็ทำงาน อยู่ไปสักพักหนึ่งก็เด็กใคร คนของใคร อย่างนี้ก็เจ๊ง ผมว่าหากยังอยู่อย่างนี้ วงประชาชนน่าจะไปไกลกว่า ประชาชนเริ่มเข้มแข็งมากขึ้น รัฐบาลจะเริ่มอายประชาชน

โมเดลคำแสด…แปลงขยะเป็นพลังงาน

มูลนิธิคำแสดธรรมธารเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกด้วยงาน “มหกรรมพลังงาน ดับโลกร้อนด้วยคำสอนพ่อ” เมื่อวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2554 ที่จังหวัดกาญจนบุรี นับเป็นมหกรรมคนพลังงานทางเลือกที่คัดเลือกกูรูต้นแบบของพลังงานชุมชนต่างๆจากทั่วประเทศ นำผลงานทางด้านเทคโนโลยีมาประชันกันในงานนี้ พร้อมกับสาธิตวิธีการนำขยะ ของเสียที่เป็นปัญหาของชุมชนมาแปลงเป็นพลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานในรูปแบบอื่นๆ

นับเป็นโครงการแปลงขยะมาเป็นพลังงานที่ค่อนข้างครบวงจร เป็นการจุดประกายให้คนหันกลับมาวิเคราะห์ภูมิปัญญาชาวบ้านซึ่งเป็นทุนทางสังคมของไทยที่สำคัญยิ่ง

ดร.ชีวานุช ทับทอง ที่ปรึกษามูลนิธิคำแสดธรรมธาร
ดร.ชีวานุช ทับทอง ที่ปรึกษา มูลนิธิคำแสดธรรมธาร

ขยะเป็นเหมืองแร่ในเมือง

ดร.ชีวานุช ทับทอง ที่ปรึกษา มูลนิธิคำแสดธรรมธารให้ความเห็นต่อแนวคิด“แปลงขยะเป็นพลังงาน” ว่าเราต้องดูองค์ประกอบของขยะก่อน ขยะชุมชนของไทยประมาณ 50 % เป็นขยะเศษอาหาร และเศษอาหารเราเอาไปผลิตก๊าซชีวภาพ ถ้ามีทั้งขยะเศษอาหาร มูลสัตว์ เอามาผสมกัน ก็ผลิตก๊าซชีวภาพได้ ซึ่งคุณสมบัติและจุดเด่นของก๊าซชีวภาพสามารถเอาไปใช้งานได้หลากหลาย ถ้าผลิตได้น้อยๆสามารถไปแทนก๊าซแอลพีจี ถ้าปริมาณมากๆสามารถทำโรงไฟฟ้า และถ้าทำให้บริสุทธิ์สามารถเอาไปเติมรถยนต์ได้

ส่วนขยะอีกประมาณ 20 – 30 % เป็นขยะรีไซเคิล ซึ่งขยะรีไซเคิลมีความสำคัญมากๆ หากเราไม่แยกออกมา เราจะเสียทรัพยากรทั้งหมดลงไปในหลุมฝังกลบ ซึ่งขยะรีไซเคิลนี้เราเรียกว่าเหมืองแร่ในเมือง แทนที่เราต้องไปถลุงแร่ต่างๆใหม่ เราสามารถเก็บไว้ให้ลูกหลานได้ และเราใช้รีไซเคิลในรุ่นของเรา อย่างแก้ว เรารีไซเคิลได้ไม่รู้จบ หากเราไม่เข้าใจเราก็ทิ้งไปในหลุมฝังกลบ เราก็ไม่ได้มันกลับมา นี่คือขยะรีไซเคิล 20 % ที่ไม่ต้องทิ้งอีก

ขยะที่เหลือมีโฟม พลาสติก ประมาณ 10 – 20 % เราสามารถทำได้หลายอย่าง เช่น เชื้อเพลิงแข็ง ทำน้ำมันที่เรียกว่า ไพโรไรซิส ซึ่งช่วยลดขยะได้ทั้งคู่ ต่างกันที่ว่าถ้าเราเอาไปทำเชื้อเพลิงแข็งเราต้องไปเผาในโรงเผาที่ใช้ความร้อนสูงมากๆ เพราะสารไดออกซินนี้ก่อให้เกิดมะเร็ง แต่ถ้าง่ายก็ทำเป็นน้ำมัน

สำหรับขบวนการไพโรไรซิสนั้น ช่วยลดขยะได้ อย่างขยะพลาสติด โฟม ซึ่งมีประมาณ 20 % มันเบา มันดูเยอะ มีปัญหาในการเก็บขน ขบวนการจริงๆคือการเอาพลาสติกมาผ่านขบวนการความร้อนแบบจำกัดอากาศแล้วเปลี่ยนเป็นน้ำมัน ช่วยลดปริมาณขยะ เวลาขนทีมันฟูมาก และพลาสติกย่อยยาก ใช้พื้นที่ฝังกลับเยอะ

ดังนั้นขยะประมาณ 90 % ใช้หมด ไม่เหลือขยะ หรือเหลือประมาณ 10 % ที่ลงไปในหลุมฝังกลบ ถ้ามองวันนี้ว่าทรัพยากรหมดในรุ่นเรา ไม่เหลือให้เก็บให้รุ่นต่อไป พร้อมกลับทิ้งมรดกให้เขาแก้ ไม่ว่าปัญหาโลกร้อน ปัญหาไม่เหลือทรัพยากรให้เขาเลย และต้องแก้ปัญหาขยะ ปัญหาน้ำใต้ดิน น้ำเหม็น เราจะตอบคนรุ่นหลังไม่ได้ หากเราไม่ทำอะไรในวันนี้ ว่าเราเป็นผู้ร้ายที่กลับใจ อย่างน้อยเรารู้แล้วว่ายุคเราเป็นยุคที่สร้างปัญหา ส่วนจะแก้ปัญหาได้ทันไม่ทันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

จริงๆขยะมันคือเหมืองแร่ในเมือง ทรัพยากรแต่ละชิ้น กว่าจะเป็นแต่ละชิ้น เราใช้ทรัพยากรมากกว่าที่เราคิด เราเรียกว่ายุคเร่งผลิต เร่งใช้ เร่งทิ้ง เมื่อก่อนกว่าเราจะได้กระป๋องอลูมิเนียมสักกระป๋องหนึ่ง เราต้องทำเหมืองแร่อลูมิเนียม เราต้องใช้พลังงานในการระบิดมัน ขนส่งมัน สะกัดมัน กว่าจะตีเป็นกระป๋องเราต้องใช้ความร้อนเซทขึ้นมา เราเติมน้ำอัดลมเสร็จ ต้องขนส่งมาขาย เราดื่มเสร็จภายใน 5 นาที ก็ทิ้งลงขยะ

หากเราไม่รีไซเคิล เราก็ทิ้งและลงไปสู่หลุมฝังกลบ ก็หายไปเลย หรือมันอาจจะเป็นปัญหาเน่าเสียในอนาคต เพราะมันจะปนไปกับน้ำ หากเรารีไซเคิล เราไม่ต้องทำเหมือง ไม่ต้องสูญเสียพลังงานตั้งแต่ต้นทางและปลายทาง อย่างน้อยเราก็ใช้กระป๋องใบเดียวกันนี้ได้ 100 ปี ยิ่งเป็นแก้ว ลูกหลานเหลนโหลนสามารถใช้ใบเดียวกันได้ นี่คือสิ่งที่เราต้องเข้าใจ หากเข้าใจจะรู้สึกหวงแหนว่าขยะในมือเรามีคุณค่ามากกว่าที่เราใช้ได้ เหมือนเป็นมรดกให้เด็กๆรุ่นต่อไป

แนวคิด zero waste

ประเด็น zero waste ต้องมอง 2 ประเด็น ในอดีตเรามองว่าเทคโนโลยีเราไม่ถึง แต่วันนี้เทคโนโลยี่ไม่ใช่ปัญหา เราทำได้ แต่ปัญหาของไทยคือการบริหารจัดการ ไม่มีใครมองภาพรวมเรื่องนี้ หากพูดถึงzero waste เราต้อมองตั้งแต่ต้นว่าเราจะแยกขยะอย่างไร จะเก็บขนอย่างไร เก็บมาแล้วเราจะนำขยะแต่ละประเภทมาทำอะไร เพราะขยะมาจากหลากวัตถุดิบ วิธีการจัดการก็หลากหลาย สุดท้ายจริงๆขยะแทบจะไม่มีเหลือเลย

ถ้ามาดูที่โรงแรมคำแสด ริเวอร์แคว รีสอร์ท จะรู้ว่าขยะทุกเนื้อมันคือทรัพยากรทั้งสิ้นที่ถูกนำไปใช้งาน เทคโนโลยี่เป็นแค่ส่วนหนึ่ง ต้องถามตัวผู้บริหารหน่วยงานว่าจะบริหารจัดการอย่างไร ถังขยะที่แยกเหมาะสมไหม ปริมาณถังขยะพอไหม รถที่จะมาขนส่งพอไหม รวมทั้งการให้ความรู้ประชาชน ที่จะให้เขาให้ความร่วมมือ การปลูกจิตสำนึก หากไล่ตามนั้นและทำได้ หาเทคโนโลยี่มาลง ก็สามารถทำzero wasteได้

ที่“คำแสด” ทำง่ายเพราะเป็นองค์กรเดียวกัน มีการสั่งการจากผู้บริหารว่าอยากให้แยกขยะแบบนี้ พนักงานในตอนแรกไม่รู้หรอก รู้ว่าเป็นนโยบายที่ต้องแยกแบบนี้ และมีส่วนงานคือมูลนิธิคำแสดธรรมธาร ที่ดูเรื่องเทคโนโลยี เขาเอาขยะที่แยกมาให้มาใส่ให้ถูกกล่อง และแปลงขยะแต่ละกล่องมาเป็นพลังงาน

แต่ถ้าเป็นชุมชน ภาคประชาชน ต้องใช้แรงเยอะ สร้างให้เขาเข้าใจ ตอนนี้มีหน่วยงานมาดูงานที่เราหลายหน่วยงานเป็นพันคน ทั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงพลังงาน หลายๆที่มาดูงานเพื่อตั้งหลัก อยากทำแบบนี้บ้าง ซึ่งปีหน้าทางมูลนิธิคำแสดธรรมธาร จะพัฒนาเป็นหลักสูตรฝึกอบรม แทนที่จะให้มาดูงาน เราเริ่มสอนตั้งแต่การแยกขยะ การผลิตด้วยเทคโนโลยี สอนการเขียนโครงการของบประมาณ หลายองค์กรต้องการแบบนี้ เพราะส่วนใหญ่เจ้าของทุนอยากเห็นภาพว่าเอาเงินไปทำอะไร แต่ถ้าเอาแค่เทคโนโลยีไปตั้ง ก็ไม่รอดอยู่ดี เหมือนเอาเงินไปทิ้ง ซึ่งจะมีคำถามตามมาว่ามีเทคโนโลยี่แล้ว ทำไมยังไม่สามารถใช้งานได้ มองว่าเทคโนโลยีเป็นประเด็นรอง แต่ชุมชนกับการบริหารจัดการในการสื่อสารเป็นเรื่องหลักคือต้องสร้างความเข้าใจให้เห็นภาพเดียวกัน ซึ่งใช้เวลานานกว่าจะผลิตเทคโนโลยีมาใช้ด้วยซ้ำ

สำหรับมูลนิธิคำแสดธรรมธารเพิ่งเปิดตัวงานนี้งานแรก ที่“คำแสด” โครงการแปลงขยะเป็นพลังงาน เกิดจากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อมีวิกฤติคนจะไม่ท่องเที่ยว เรากลับมามองตัวเรา หากเจอวิกฤตบ่อยๆ เราจะอยู่รอดอย่างไร จึงหันมาคิดเรื่องเพิ่มรายได้กับลดรายจ่าย

ดอกปีบในบริเวณโรงแรมคำแสด ริเวอร์แคว รีสอร์ท
ดอกปีบในบริเวณโรงแรมคำแสด ริเวอร์แคว รีสอร์ท

ในแง่เพิ่มรายได้ เรามองรอบตัว เรามีดอกปีบ ในพื้นที่เป็น 100 ไร่ เอามาทำหัวน้ำหอม และผลิตเป็นเจลอาบน้ำ ขายที่ร้านโกลเด้นเพลส จากเดิมเราคิดว่าจะทำลายดอกปีบอย่างไร ตอนนี้เราไล่เก็บ และทำชาดอกปีบ ส่วนกิ่งก้าน เอาทำถ่าน ใบไม้ใบหญ้าเราบดทำปุ๋ยหมัก ผลิตก๊าซหุ้งต้ม เราลดค่าใช้จ่ายได้เยอะ เพิ่มรายได้ด้วย

จากนั้นมีคนมาดูงานเยอะ จากเดิมที่ทำเพื่อความอยู่รอดตัวเอง ตอนนี้ก็พัฒนามาเป็นศูนย์การดูงานที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆด้านพลังงานเพิ่มขึ้น เดิมเป็นโครงการหนึ่งของโรงแรม ก็พัฒนามาเป็นมูลนิธิ เพื่อจะได้พัฒนาตัวเองเป็นแหล่งเรียนรู้ เอากลับไปกับทำชุมชนได้ หลักสูตรอาจจะเจาะคนที่รู้เทคโนโลยีอยู่แล้ว มุ่งไปแต่ละเทคโนโลยี่ หรือหลักสูตรสำหรับเยาวชน ทำเป็นค่ายให้เขารู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมกับพลังงานทดแทน ปลูกจิตสำนึกเขา หรือหลักสูตรชุมชนเมือง เป็นกลุ่มที่ใช้พลังงานเยอะ มาสอนแผนการแยกขยะ ทำแผนประหยัดพลังงานในองค์กร การสร้างจิตสำนึกในองค์กร การรับพนักงานใหม่ทำอย่างไร เป็นต้น

ทุกคนอาจจะเจอคำถามว่าทำไมทำให้โลกเป็นไปได้ขนาดนี้ เราจึงพยายามกระจายความคิดนี้ออกไปว่าถึงเวลาต้องช่วยกัน ดิฉันเป็นวิทยากรด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ปีนี้เป็นปีที่คนไทยประสบน้ำท่วมทั้งภาคกลาง ภาคใต้โดนกันหมด เพราะฉะนั้นรุ่นเรา เราหลงทางมานาน พลาดมานาน ต้องแก้ให้เร็ว และเตรียมพร้อมให้รุ่นลูกหลานอยู่ได้

“มีคนพูดหลายคนว่าไม่ต้องช่วยโลกหรอก โลกมันไม่แตก เพราะโลกอยู่ก่อนมนุษย์ โลกอยู่ก่อนไดโนเสาร์ วันหนึ่งไดโนเสาร์พ่ายโลกไป มนุษย์หากสูญพันธ์ โลกก็อยู่ของโลกไปอย่างนี้ ถ้ามนุษย์ทำให้สมดุลโลกเปลี่ยน โลกก็ต้องกำจัดตัวที่ทำให้สมดุลเปลี่ยน คือกำจัดมนุษย์ออกไป”

ถ้าใครได้ดูหนังเรื่อง Home บอกว่าโลกอนาคตต้องการ 3 คำมากที่สุด คือมีพื้นฐานบนความพอเพียง ภูมิปัญญาและการแบ่งปัน

“ความพอเพียง”ไม่ว่าเราจะต้องการโลกกี่ใบ ความจริงคือโลกมีใบเดียว จึงต้องจำกัดความต้องการตัวเอง ส่วน”ภูมิปัญญา” ต้องหาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ต้องช่วยกันพัฒนาให้เร็ว แม้เทคโนโลยีเหล่านี้จะแพง แต่พลังงานทดแทนต้องการเวลา หากเราช่วยกัน มันจะถูกลงในที่สุด และหากทรัพยากรหมด มีเงินก็ซื้อไม่ได้ ส่วน”การแบ่งปัน” เมื่อภาวะโลกร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องเกิดภัยพิบัติบ่อยๆ ก็ต้องแบ่งปันกันไปเรื่อยๆ