ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ถอดบทเรียนรับมือ “สารพิษ-ขยะ” มฤตยูเงียบหลังหายนภัย

ถอดบทเรียนรับมือ “สารพิษ-ขยะ” มฤตยูเงียบหลังหายนภัย

13 พฤศจิกายน 2011


ขยะและสารพิษปนเปื้อนกำลังเป็นประเด็นท้าทายกรุงเทพฯ ยามจมน้ำ
ขยะและสารพิษปนเปื้อนกำลังเป็นประเด็นท้าทายกรุงเทพฯ ยามจมน้ำ
(ที่มาภาพ: Reuters-http://cdn.theatlantic.com/static/infocus/bangkok102611/b18_RTR2T4CB.jpg)

ท่ามกลางวิกฤตน้ำท่วมที่แผ่ขยายคลื่นความเสียหายในหลายจังหวัด และกำลังกระชับวงล้อมในพื้นที่กรุงเทพฯ กลับมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงแทรกซ้อนมาพร้อมๆ กับมหาอุทกภัยครั้งนี้ นอกเหนือจากความเสียหายที่มองเห็นได้ชัดเจน

นั่นคือ “ขยะ” และ “สารพิษ” ที่ปนเปื้อนหลังเกิดหายนะภัยธรรมชาติ ทั้งพายุ สึนามิ และอุทกภัย ซึ่งนี่ไม่ใช่แค่ปัญหาน้ำเน่า แต่เป็นมหันตภัยเงียบที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากไม่แพ้ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น

ระยะนี้ประเด็นเรื่องขยะกลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ที่สื่อไทยและเทศต่างหยิบยกมานำเสนอ เพราะโดยปกติแล้วกรุงเทพฯ ก็มีปัญหาเรื่องการจัดการขยะเป็นทุนเดิม เมื่อผนวกกับมวลน้ำมหาศาลที่กำลังเน่าเสียหลังการเดินทางอันยาวนาน และสารเคมีจากข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ปนเปื้อนกับน้ำ ยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์วารีพิโรธครั้งนี้หนักหนามากขึ้นอีก

ข้อมูลจากวอลล์สตรีต เจอร์นัล ระบุว่า ชาวกรุงเทพฯ ที่มีจำนวน 8 ล้านคน หรือราว 12 ล้านคน เมื่อนับรวมพื้นที่เขตชานเมือง สร้างขยะมากถึงวันละ 8,700 ตัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของขยะทั้งหมดทั่วประเทศ ประกอบกับขยะจากซากปรักหักพังที่สะสมมาจากจังหวัดทางตอนเหนือ

ขณะที่การเก็บและกำจัดขยะทำได้ยากลำบาก เนื่องจากน้ำท่วมถนนหนทางหลายสาย ทำให้คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลต้องเผชิญกับสภาพน้ำท่วมที่ไม่เพียงแต่ระดับสูง แต่ยังสกปรก กลิ่นเหม็น และเต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูล

นี่เป็นบทเรียนสำหรับคนไทยที่จะต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบในเรื่องนี้ให้มากขึ้น เช่นเดียวกับมหานครหลายแห่งที่ประสบภัยพิบัติก่อนหน้านี้ได้เรียนรู้มาแล้ว ยกตัวอย่าง “มะนิลา” เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ที่พายุไต้ฝุ่นเมื่อปี 2552 ได้ก่อให้เกิดน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว เนื่องจากขยะจำนวนมากไปอุดตันระบบระบายน้ำ ทางการตากาล็อกจึงต้องส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อกำจัดขยะเหล่านี้ให้พ้นทาง พร้อมทั้งริเริ่มโครงการเพื่อสร้างความตระหนักถึงอันตรายจากการทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง

ดังนั้น เมื่อเกิดพายุอีกครั้งในช่วงปลายปี สถานการณ์น้ำท่วมในฟิลิปปินส์จึงไม่หนักหนาสาหัสเท่าครั้งก่อนๆ

เด็กน้อยว่ายน้ำในอ่าวมะนิลาที่เต็มไปด้วยขยะ
เด็กน้อยว่ายน้ำในอ่าวมะนิลาที่เต็มไปด้วยขยะ (ที่มาภาพ: (Reuters) http://blogs.reuters.com/gregg-easterbrook/files/2011/11/garbage.jpg)

เช่นเดียวกับไทยที่ปัญหานี้มีแนวโน้มจะสาหัสมากกว่า เพราะการระบายน้ำลงสู่ทะเลเป็นไปอย่างเชื่องช้า จึงทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไข้เลือดออก โรคท้องร่วง โรคฉี่หนู ไม่นับรวมความเสี่ยงจากการจมน้ำและไฟฟ้าดูดที่คร่าชีวิตผู้คนหลายร้อยคน

ปัญหาขยะและสารพิษนับเป็นภัยเงียบที่มักถูกละเลย ทั้งที่ในแต่ละปีเพชฌฆาตรายนี้พรากชีวิตผู้คนในโลกไปไม่น้อย เพราะอุทกภัยคุกคามแหล่งน้ำสะอาดและส่งผลต่อระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลต่างๆ ทั้งยังเป็นตัวแพร่กระจายขยะพิษ และสารเคมีให้ปนเปื้อนลงสู่สิ่งแวดล้อม

น้ำท่วมมักพาบรรดาเชื้อโรคมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแบคทีเรียอย่างเชื้ออี. โคไล ซาลโมเนลลาที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร และเชื้อชิเกลลาที่ก่อให้เกิดโรคบิด รวมถึงไวรัสตับอักเสบเอ เชื้อไทฟอยด์ พาราไทฟอยด์ และโรคบาดทะยัก ซึ่งเหยื่อน้ำท่วมที่สัมผัสเชื้อโรคเหล่านี้มักมีอาการใกล้เคียงกันแม้จะได้รับเชื้อที่แตกต่างกัน โดยอาการจะมีทั้งคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ปวดเกร็งท้อง ปวดกล้ามเนื้อ และเป็นไข้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักได้รับเชื้อจากการดื่มน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อน ส่วนโรคบาดทะยักมักติดเชื้อจากน้ำหรือดินที่ปนเปื้อนผ่านทางผิวหนังที่เป็นแผล

วารีพิโรธยังนำพาสารเคมีที่ใช้ในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงภาคครัวเรือนต่างๆ ปนเปื้อนมาด้วย การสัมผัสกับสารพิษเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอาการต่างๆ ตั้งแต่ปวดหัว ผิวหนังเป็นผื่นแดง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง

นอกจากนี้ น้ำนิ่งๆ ยังกลายเป็นแหล่งเพาะยุง ซึ่งเท่ากับเพิ่มความเสี่ยงของโรคไข้สมองอักเสบ โรคอุบัติใหม่อย่างไข้เวสต์ไนล์ หรือโรคต่างๆ ที่มียุงเป็นพาหะ ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงจากโรคจากสัตว์กัดต่อย รวมถึงโรคจากหมัด เห็บ และราที่ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วย

น่าสนใจว่าตลอดศตวรรษที่ผ่านมา เหตุการณ์น้ำท่วมถือเป็นหนึ่งในหายนภัยที่มีราคาแพงที่สุดเมื่อวัดในแง่ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ยกตัวอย่างน้ำท่วมใหญ่ในจีนเมื่อปี 2430 คร่าชีวิตผู้คนราว 2 ล้านคน พรากชีวิตคนไปเกือบ 4 ล้านคนในปี 2474 และอีก 1 ล้านคนในปี 2481 ส่วนอุทกภัยในแถบแม่น้ำมิสซิสซิปปีและตะวันตกตอนกลางของสหรัฐปี 2536 ที่แม้จะมีผู้เสียชีวิต 47 ราย แต่ประเมินกันว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมากถึง 1.5-2 หมื่นล้านดอลลาร์

ศาสตราจารย์สตีเฟน เอ. เนลสัน จากมหาวิทยาลัยทูเลน แบ่งอันตรายที่มาพร้อมน้ำท่วมเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.อันตรายโดยตรงที่เกิดจากน้ำ 2.ผลกระทบที่ตามมาจากเหตุน้ำท่วม อาทิ บริการพื้นฐานถูกทำลาย ผลกระทบจากโรคภัยและขาดแคลนอาหาร และ 3.ผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำลำคลอง

ผลกระทบโดยตรงที่เกิดจากการปะทะกับน้ำอาจทำให้จมน้ำเสียชีวิต อีกทั้งพลังของน้ำที่สามารถหอบพัดเอาสิ่งของขนาดใหญ่เข้ามาอยู่ในวงคลื่น ทั้งรถยนต์ อาคารบ้านเรือนและสะพานที่พังถล่ม นอกเหนือจากเศษหินและตะกอนต่างๆ หรือหากเป็นน้ำท่วมระดับไม่รุนแรงก็ยังคงสร้างความเสียหายให้บ้านเรือน เฟอร์นิเจอร์ รถยนต์ ซึ่งบางครั้งหนักหนาเกินกว่าจะซ่อมแซม รวมทั้งสร้างความเสียหายต่อการเพาะปลูกและปศุสัตว์ ทั้งยังนำพาขยะ ซากสิ่งก่อสร้าง และสารพิษ

ผลกระทบที่ตามมา คือ บริการพื้นฐานต่างๆ ที่เป็นอัมพาต ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่มที่อาจปนเปื้อนน้ำเสีย ซึ่งจะก่อให้เกิดโรคภัยและผลเสียต่อสุขภาพ โครงสร้างด้านไฟฟ้าและพลังงานที่พลอยได้รับผลกระทบ ทำให้การขนส่งหยุดชะงัก เกิดภาวะขาดแคลนสินค้าและอดอยากตามมา

ส่วนผลกระทบในระยะยาวมาจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำลำคลองหลังอุทกภัย อาจทำให้ทางน้ำเปลี่ยนไปจากเดิม ขณะที่ตะกอนจากน้ำอาจทำลายพื้นที่เกษตรกรรม

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างเผชิญกับภาวะน้ำท่วม เราจำเป็นต้องดูแลตัวเองให้ดี ด้วยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำเน่าเสียที่อาจก่อให้เกิดโรค ควรล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด หากไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้ควรนำมาต้มอย่างน้อย 10 นาที หรือฆ่าเชื้อด้วยสารเคมี กรณีมีความเสี่ยงที่อาจสัมผัสสารเคมีปนเปื้อน ควรสวมอุปกรณ์ป้องกัน อาทิ ถุงมือยาง รองเท้าบูท และเสื้อผ้ากันน้ำ ส่วนการป้องกันยุงและแมลงทำได้โดยใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และใช้ยากันแมลง

จำไว้เสมอว่าอย่าใช้น้ำปนเปื้อนในการล้างและปรุงอาหาร แปรงฟัน ล้างจาน หรือทำน้ำแข็ง หลีกเลี่ยงเขตพื้นที่เสี่ยงในการปนเปื้อนสารพิษ ระมัดระวังสารเคมีและขยะอันตราย

ที่สำคัญ เราจำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อเตรียมแผนรับมือและปรับตัวให้อยู่รอดท่ามกลางภัยธรรมชาติ เพราะปัจจุบันมนุษย์กำลังเผชิญกับหายนภัยที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในโลก

ในระดับรัฐบาล มหาอุทกภัยครั้งนี้ตอกย้ำว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีแผนบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ และจัดเตรียมแผนรับมือภัยพิบัติอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นก็จะต้องคอยแก้ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นซ้ำซาก และเกิดความโกลาหลในการบริหารงานท่ามกลางวิกฤต เพราะแต่ละหน่วยงานก็ต่างคนต่างทำ ไม่มีความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพ เท่ากับซ้ำเติมหายนภัยให้ยิ่งหนักหนาสาหัสขึ้นไปอีก

บทเรียนจากมหาวิปโยค “ญี่ปุ่น”

ธรณีพิโรธก่อคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มญี่ปุ่นเมื่อ 11 มีนาคม 2554
ธรณีพิโรธก่อคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มญี่ปุ่นเมื่อ 11 มีนาคม 2554
(ที่มาภาพ: http://cdn.theatlantic.com/static/infocus/jpq03111/j03_RTR2JQXC.jpg)

“ญี่ปุ่น” นับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงจากภัยพิบัติมากที่สุด เพราะตั้งอยู่บนแนวเปลือกโลก 4 แผ่น ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ แดนซามูไรก็ต้องเผชิญกับหายนภัยครั้งเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์จากเหตุธรณีพิโรธขนาด 9 ริกเตอร์ ที่ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า 2 หมื่นคน

ทว่าหลังเผชิญกับมหาวิปโยคครั้งรุนแรงในรอบหลายสิบปี ญี่ปุ่นกลับสามารถพลิกฟื้นประเทศได้อย่างรวดเร็ว ประสบการณ์การจัดการภัยพิบัติของแดนซามูไรจึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงภัยพิบัติ โดยเฉพาะการจัดการขยะจากหายนภัย ซึ่งเป็นประเด็นท้าทายของไทยในขณะนี้

“คาซูยูกิ อากาอิชิ” ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะจากสถาบันวิจัยแห่งญี่ปุ่น ประเมินว่า ปริมาณขยะและซากปรักหักพังจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อเดือนมีนาคมอาจมีมากถึง 80-200 ล้านตัน

ขณะที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นระบุว่า เศษซากปรักหักพังจากธรณีพิโรธและสึนามิน่าจะอยู่ที่ 25 ล้านตัน จากปกติที่ในแต่ละปีมีขยะจากครัวเรือนประมาณ 71 ตัน และขยะภาคอุตสาหกรรมอีกกว่า 400 ล้านตัน โดยซากปรักหักพังจากภัยพิบัติมีตั้งแต่ซากเรือ รถ สิ่งของต่างๆ รวมทั้งสารพิษที่ปนเปื้อน

กลางเดือนพฤษภาคม กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นเผยแพร่แผนแม่บทในการจัดการขยะจากภัยพิบัติในพื้นที่ตะวันออก โดยทางการจัดพื้นที่ทิ้งขยะชั่วคราวสำหรับขยะเหล่านี้ที่จะต้องอยู่ห่างไกลจากเขตชุมชน รวมทั้งมีมาตรการในการเผา รีไซเคิล และกระบวนการกำจัดขยะแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งหน่วยงานในพื้นที่ที่เกิดหายนภัยต้องพัฒนาแผนจัดการขยะที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ขณะที่รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือแก่ท้องถิ่นในด้านต่างๆ ทั้งอำนาจในการดำเนินการ งบประมาณ ผู้เชี่ยวชาญ และข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์

ทั้งนี้ หน่วยงานระดับจังหวัดจะเป็นผู้จัดหาพื้นที่ทิ้งขยะชั่วคราว พัฒนาแผนจัดการขยะ และประสานงานกับหน่วยงานระดับเทศบาล โดยการจัดการขยะจากภัยพิบัติจะดำเนินการผ่านคณะกรรมการ ในขณะที่แผนจัดการขยะจะต้องรับฟังความเห็นและข้อเสนอจากสาธารณะ ซึ่งการดำเนินการอยู่ภายใต้กฎหมายปกครองส่วนท้องถิ่น

ในส่วนของงบประมาณ รัฐบาลได้เพิ่มการอุดหนุนเงินเพื่อการจัดการขยะจากภัยพิบัติที่ดำเนินการโดยท้องถิ่น ภายใต้กฎหมายบรรเทาสาธารณภัย หากการอุดหนุนจากภาครัฐไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะภัยพิบัติที่มีต้นทุนสูง รัฐเปิดทางให้ท้องถิ่นระดมเงินผ่านพันธบัตรภัยพิบัติ โดยรัฐเป็นหลักประกันในการจ่ายคืนเงินลงทุนพร้อมดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ท้องถิ่นจะต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ อาทิ จัดหาผู้เชี่ยวชาญดูแลการบำบัดขยะ

สำหรับขั้นตอนการจัดการขยะจำเป็นต้องคัดแยกประเภทขยะให้ได้มากที่สุด เช่น ขยะมีพิษ ขยะที่นำไปรีไซเคิลได้ ก่อนจะขนส่งไปยังพื้นที่จัดเก็บชั่วคราว ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการกำจัดขยะลงได้ ขณะที่หากในพื้นที่ประสบภัยมีความสามารถจัดการเรื่องนี้จำกัด รัฐเปิดทางให้สามารถใช้โรงงานกำจัดขยะนอกพื้นที่ได้ ซึ่งการใช้อำนาจข้ามเขตจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มทางเลือก

น่าสังเกตว่า คู่มือของญี่ปุ่นได้แบ่งประเภทของขยะ รวมถึงวิธีการกำจัดทั้งฝังกลบ เผา หรือนำไปรีไซเคิลไว้อย่างชัดเจน ทั้งขยะประเภทไม้ ขยะไม่ติดไฟ เศษโลหะ เศษคอนกรีต เครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์ เรือ ขยะพิษ ตะกอนจากคลื่นยักษ์สึนามิที่มีทั้งส่วนประกอบที่เป็นพิษอย่างโลหะหนัก และส่วนประกอบอื่นๆ และขยะจากพื้นที่ที่เกิดไฟไหม้

เหตุการณ์มหาวิปโยคแดนอาทิตย์อุทัย
เหตุการณ์มหาวิปโยคแดนอาทิตย์อุทัย (ที่มาภาพ: http://schwarzehunde.files.wordpress.com/2011/03/debris-amid-floodwaters-i-003.jpg)

แต่แม้จะมีแผนดำเนินการที่ชัดเจน ญี่ปุ่นก็ยังประสบปัญหาด้านการจัดการ เนื่องจากพื้นที่ทิ้งขยะชั่วคราวไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับขยะจำนวนมหาศาล และการคัดแยกก็ดำเนินไปอย่างล่าช้า ยังไม่นับรวมกรณีโรงงานนิวเคลียร์ในฟูกูชิมารั่วไหลทำให้ขยะปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี ส่งผลให้การจัดการมีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก

อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ สึนามิได้พัดเอาขยะมารวมกัน ซึ่ง “โตชิอากิ โยชิโอกะ” จากทีมจัดการขยะภัยพิบัติ มองว่า ปัญหาดังกล่าวสะท้อนถึงอันตรายจากอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เพราะในอดีตสึนามิจากมหาสมุทรไม่ได้อันตราย แต่ปัจจุบันเราใช้วัตถุดิบในการผลิตสิ่งของหลากหลายมากขึ้น สึนามิทำให้พวกมันมารวมกันหมด หากใช้วิธีฝังหรือเผาขยะเหล่านี้เพียงแบบเดียวก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องหาวิธีการกำจัดขยะเหล่านี้ให้เหมาะสม

เมื่อโฟกัสประเด็นเรื่องสารพิษปนเปื้อน หลังเหตุโศกนาฏกรรม 11 มีนาคม กลุ่มเครือข่ายเฝ้าระวังสารพิษ (Toxic Watch Network) ได้เปรียบเทียบแผนที่น้ำท่วมหลังถูกสึนามิพัดถล่ม และข้อมูลการปล่อยสารพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR) ซึ่งกำหนดให้บริษัทรายงานข้อมูลเรื่องสารอันตราย พบว่าแม้จะเริ่มกระบวนการทำความสะอาดบ้านเมืองหลังหายนภัยผ่านพ้นไปหลายสัปดาห์ แต่คำถามถึงการปนเปื้อนของสารเคมีก็ยังคงอยู่ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้คนที่ต้องใช้ชีวิตในพื้นที่ดังกล่าว

คำถามนี้ไม่ได้แตกต่างจากเหตุภัยพิบัติครั้งอื่นๆ ทั้งเฮอร์ริเคนแคทรีนา เฮอร์ริเคนริต้า ในปี 2548 กรณีแหล่งน้ำมันของบีพีรั่วไหลในอ่าวเม็กซิโกเมื่อปี 2553 แต่สำหรับหายนภัยครั้งล่าสุดของญี่ปุ่นนับเป็นครั้งที่เลวร้ายและยังเผชิญกับเคราะห์ซ้ำกรรมซัดจากวิกฤตโรงงานนิวเคลียร์

“วินิเฟรด เอ. เบิร์ด” และ “เอลิซาเบธ กรอสแมน” พยายามหาคำตอบของเรื่องนี้ พบว่า สึนามิได้พัดถล่มพื้นที่ชายฝั่งเป็นวงกว้าง ทั้งที่ดินที่ถูกใช้ประโยชน์และพื้นที่อุตสาหกรรม เฉพาะจังหวัดมิยางิก็มีโรงงานนับพันแห่ง รวมถึงโรงกลั่นน้ำมันที่เมืองเซนได ส่วนที่คาชิมามีเขตอุตสาหกรรมที่ประกอบด้วยอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีคัล นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมไฮเทคและผลิตรถยนต์

ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงต้องการข้อมูลว่าแต่ละพื้นที่มีความเสี่ยงจากสารเคมีชนิดใดบ้าง ทว่าในทางปฏิบัติก็ยังมีช่องว่างเรื่องข้อมูลสารพิษในบริษัท ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ในการดำเนินการเรื่องนี้ และในระยะแรกๆ หลังเกิดภัยพิบัติก็ไม่ได้มีมาตรการป้องกันเรื่องสารพิษอย่างชัดเจน

ในเดือนพฤษภาคม เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นยอมรับว่าไม่ได้ตรวจสอบอันตรายจากพื้นที่อุตสาหกรรมหรือการปนเปื้อนสารเคมี เพราะพวกเขามัวแต่สาละวนกับภารกิจช่วยเหลือและกู้สถานการณ์ จนถึงกลางเดือนกระทรวงสิ่งแวดล้อมจึงเริ่มจัดตั้งทีมดูแลเรื่องนี้ และลงพื้นที่ตรวจสอบในเขตประสบภัย

กระทั่งถึงต้นเดือนมิถุนายนกลับไม่พบรายงานเกี่ยวกับการปนเปื้อนของสารเคมีจากหายนภัยครั้งใหญ่ รายงานของรัฐบาลและระดับท้องถิ่นก็กระจายอยู่ในหลายหน่วยงาน และไม่เป็นที่ต่อสาธารณะ มีเพียงข้อมูลจากสำนักงานความปลอดภัยด้านอาหารและยาเวอร์ชั่นออนไลน์ที่เสนอให้รัฐหามาตรการป้องกันการรั่วไหลของสารพิษและสารอันตรายจากบริษัทต่างๆ พร้อมหยิบยกกรณีตัวอย่างที่ตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสารอันตรายถูกคลื่นยักษ์ซัดและไม่อาจกู้คืนได้

ขณะที่เครือข่ายเฝ้าระวังสารพิษได้จัดทำรายการสารพิษที่อาจรั่วไหลในเขตประสบภัย ซึ่งมีสารเคมีหลายชนิดที่มีความเสี่ยง บางชนิดมีพิษร้ายแรง บางชนิดก็อาจส่งผลในระยะยาว รวมถึงสารพิษในภาคเกษตร ไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าแมลงและปุ๋ย แต่ไม่ได้มีการแยกประเภทของสารเคมีภาคเกษตรที่มีความเสี่ยงเหล่านี้

หลังจากรัฐบาลผ่านงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาหลังภัยพิบัติ ในเดือนมิถุนายนกระทรวงสิ่งแวดล้อมเริ่มตรวจสอบสารอันตรายที่รั่วไหลจากโรงงานและแหล่งอื่นๆ โดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตรวจสอบคุณภาพแหล่งน้ำ ดิน และอากาศ ขณะที่การทำความสะอาดก็ต้องดำเนินไปตามแนวปฏิบัติที่มีมาตรฐาน

แต่ความเสียหายที่กินวงกว้าง นี่จึงเป็นความท้าทายของญี่ปุ่นในการตรวจสอบ รับมือ และป้องกันประชาชนและเหล่าอาสาสมัครจากสารเคมีอันตราย รวมถึงมาตรการจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และการจัดการวิกฤตโรงงานนิวเคลียร์ ซึ่ง “นากาฮิสะ ฮิรายามา” ผู้เชี่ยวชาญการวางแผนจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยเกียวโต มองว่า ญี่ปุ่นไม่ได้มีแผนที่เป็นรูปธรรมในการจัดการขยะปนเปื้อนสารพิษก่อนที่จะเกิดภัยพิบัติ โดยแผนนี้จะต้องมีรายละเอียดในการประเมินซากปรักหักพังอย่างทันท่วงทีว่าเป็นอันตรายหรือไม่ และมีกรอบแนวทางชัดเจนในการรับมือขยะเหล่านี้

การจัดเตรียมแผนไม่เพียงแต่จะต้องคำนึงถึงในแง่สุขภาพและความปลอดภัยของผู้คน แต่ยังต้องคำนึงถึงความเชื่อมั่นทางธุรกิจ การปฏิบัติได้จริง และต้นทุน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแผนรับมือภัยพิบัติที่ดีแล้ว แต่ในการปฏิบัติจริงก็ยังอาจไม่เพียงพอ

แชร์ประสบการณ์เฮอร์ริเคนแคทรีนา

สหรัฐเผชิญอิทธิฤทธิ์ของเฮอร์ริเคนแคทรีนาเมื่อปี 2548
สหรัฐเผชิญอิทธิฤทธิ์ของเฮอร์ริเคนแคทรีนาเมื่อปี 2548
(ที่มาภาพ: FEMA-http://1510365blog.files.wordpress.com)

เฮอร์ริเคนแคทรีนานับเป็นพายุที่มีความรุนแรงและสร้างความเสียหายมากสุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ เมื่อแคทรีนาพัดถล่มเมือง
นิวออร์ลีนส์ในเดือนสิงหาคม ปี 2548 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ตามมา ซึ่งนอกจากจะคร่าชีวิตผู้คนราว 1,400 คน ยังจุดความกังวลเรื่องสารปนเปื้อนที่ตามมา เพราะพื้นที่ประสบภัยมีทั้งโรงงานเคมีคัล โรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งประเมินกันว่าปริมาณน้ำมันที่ปนเปื้อนจากภัยพิบัติครั้งนี้มีมากถึง 8 ล้านแกลลอน ยังไม่นับรวมสารเคมีอื่นๆ จากภาคครัวเรือนและธุรกิจที่อาจปนเปื้อนในน้ำ

สหรัฐมีแผนรับมือภัยฉุกเฉินแห่งชาติ (National Response Plan) ที่เป็นเหมือนแผนแม่บทในการรับมือกับภัยฉุกเฉินทุกรูปแบบ ทั้งภัยธรรมชาติ การก่อการร้าย และเหตุฉุกเฉินต่างๆ ซึ่งเป็นแผนการทำงานที่บูรณาการหน่วยงานต่างๆ ในทุกๆ ระดับ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกัน การเตรียมพร้อม การรับมือ และการฟื้นฟูหลังหายนภัย โดยมีโครงสร้างและกลไกในการทำงานทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น

หน่วยงานที่มีบทบาทในการตรวจสอบการปนเปื้อนสารอันตรายและประเมินความเสี่ยง คือ สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (EPA) และสำนักงานสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งสหรัฐ (NOAA) ทำหน้าที่เก็บตัวอย่างในเมืองนิวออร์ลีนส์และพื้นที่ประสบภัยจากพายุแคทรีนา ทั้งในระหว่างเกิดน้ำท่วมและหลังน้ำท่วม ขณะที่มีหน่วยงานอื่นๆ ร่วมทำหน้าที่ประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์นี้

EPA ยังทำหน้าที่แนะนำและสนับสนุนการรีไซเคิลขยะจากภัยพิบัติ และกำจัดขยะมีพิษในภาคครัวเรือนที่มีอยู่กว่า 4 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงรีไซเคิลและจัดการขยะประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่กว่า 380,000 เครื่อง อาทิ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ และรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่า 661,000 ชิ้น เพื่อประหยัดพื้นที่ฝังกลบและนำชิ้นส่วนกลับมาใช้ใหม่

แม้แผนรับมือภัยฉุกเฉินจะจัดการหายนภัยครั้งก่อนๆ ได้ แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับภัยพิบัติครั้งใหญ่อย่างแคทรีนา รัฐบาลสหรัฐได้จัดทำรายงานความยาว 217 หน้าที่มีชื่อว่า “The Federal Response to Hurricane Katrina: Lessons Learned” ที่สรุปการจัดการหลังเกิดพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนาในด้านต่างๆ ซึ่งจะเป็นบทเรียนสำหรับการจัดการภัยพิบัติครั้งต่อๆ ไปได้

ปัญหาหลักๆ อยู่ที่ขาดการสื่อสารและความตระหนักถึงสถานการณ์ที่ส่งผลต่อการรับมือของทางการ หน่วยงานต่างๆ ประยุกต์ขั้นตอนการทำงานในการจัดการภัยพิบัติได้ยากลำบาก ปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความอ่อนแอเชิงระบบในการเตรียมความพร้อมระดับชาติ ขาดผู้เชี่ยวชาญในการรับมือ กอบกู้ และฟื้นฟู พายุแคทรีนาสะท้อนถึงความจำเป็นในการบูรณาการและประสานงานในทุกระดับ ตั้งแต่รัฐบาลกลาง รัฐ ท้องถิ่น เอกชน และองค์กรไม่แสวงผลกำไร

รายงานฉบับนี้สรุปบทเรียนและข้อเสนอในหลายด้าน หนึ่งในบทเรียนที่สำคัญคือโมเดลการตัดสินใจแบบสำเร็จรูปไม่สามารถนำมาใช้ได้เสมอไป กระบวนการตัดสินใจจะต้องมีความเป็นเอกภาพ โปร่งใส เหมาะสมกับประเภทของภัยพิบัติและการจัดการกับขยะอันตรายที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม พายุแคทรีนานั้นสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง จึงต้องปรับเปลี่ยนเครื่องไม้เครื่องมือที่เคยมีและใช้ก่อนหน้านี้ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์

อีกหนึ่งบทเรียน คือ การสื่อสารมีบทบาทสำคัญมากหลังเกิดภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นภัยจากธรรมชาติหรือมนุษย์ เพราะความหวาดกลัวและข่าวลือเกี่ยวกับโรคระบาดจะสร้างปัญหาในการจัดการตามมา “เคลล็อกก์ ชแวบ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากวิทยาลัยสาธารณสุขจากจอห์น ฮอปกินส์ บลูมเบิร์ก มองว่า จำเป็นต้องหากลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งเตรียมข้อมูลและคำแนะนำด้านสุขภาพต่อประชาชน

ด้าน “พอล ลอย” รองผูอำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรัทเจอร์ส ระบุว่า เหตุการณ์ 9/11 สร้างความเสี่ยงทางอากาศรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้น ขณะที่แคทรีนาสร้างความเสี่ยงทางน้ำอย่างมาก และจะกระทบในระยะยาว จึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องทบทวนมาตรฐานและแนวทางในการจัดการข้อมูล เพื่อให้ประชาชนรู้ถึงอันตรายและความเสี่ยงในระยะยาว นอกจากนี้ รัฐบาลต้องบูรณาการมาตรการรับมือในส่วนของแผนอพยพ การออกแบบชุมชนเมือง การสื่อสาร การติดตามด้านสิ่งแวดล้อมและประชากร

สิ่งที่ทิ้งไว้หลังแคทรีนาพัดถล่มสหรัฐ
สิ่งที่ทิ้งไว้หลังแคทรีนาพัดถล่มสหรัฐ (ที่มาภาพ: http://www.katrina.noaa.gov/helicopter/images/katrina-biloxi-miss-trailers-newsprint-2005b.jpg)

หมายเหตุ: รวบรวมข้อมูลจากวอลล์สตรีต เจอร์นัล, www.osha.gov, เว็บไซต์กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น, บทความเรื่อง “Hazards Associated with Flooding” ของศาสตราจารย์สตีเฟน เอ. เนลสัน แห่งมหาวิทยาลัยทูเลน, http://factsanddetails.com, บทความ “Chemical Contamination, Cleanup and Longterm Consequences of Japan’s Earthquake and Tsunami” ของวินิเฟรด เอ. เบิร์ด และเอลิซาเบธ กรอสแมน, บทความเรื่อง “Toxic and Contaminant Concerns Generated by Hurricane Katrina” โดยแดนนี ดี. ไรเบิล ชาร์ลส เอ็น. ฮาส จอห์น เอช. ปาร์ดู และวิลเลียม เจ. วอลช์, วารสาร Environmental Health Perspectives, รายงาน The Federal Response to Hurricane Katrina: Lessons Learned