ThaiPublica > เกาะกระแส > ออป.ลุยตัดไม้สัก-ไม้กะยาเลย 300 ต้น ผู้ว่าฯตากแจงทำประชาพิจารณ์แล้ว

ออป.ลุยตัดไม้สัก-ไม้กะยาเลย 300 ต้น ผู้ว่าฯตากแจงทำประชาพิจารณ์แล้ว

17 พฤศจิกายน 2011


ถนนสาย 12 สุโขทัย - ตาก มีไม้สัก 2 ข้างทาง
ถนนสาย 12 สุโขทัย - ตาก มีไม้สัก 2 ข้างทาง
สภาพตอไม้หลังมีการตัด
สภาพตอไม้หลังมีการตัด

หลังจากที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้นำเสนอข่าวกรมทางหลวงกำลังลุยตัดไม้สักอายุกว่า 80 ปี ที่อยู่ 2 ข้างทางบนทางหลวงหมายเลข 12 ระหว่างสุโขทัย-ตาก เพื่อขยายช่องทางจราจรจาก 2 เลนเป็น 4 เลนเมื่อ 2 วันก่อน ผู้สื่อข่าวได้สอบถามข้อเท็จจริงกับสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 (จ.ตาก) กรมป่าไม้ โดยนายนที เสนีวงศ์ ณ อยุธยา หัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไปกล่าวว่า เรื่องการตัดไม้ที่อยู่ 2 ข้างทางหมายเลข 12 นั้นทางกรมทางหลวงได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบทุกประการ โดยมอบหมายให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(ออป.) เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้จังหวัดตาก ตามกระบวนการเมื่อตัดเสร็จแล้ว ก็ทำการชักลาก และนำไม้ที่ได้มารวมหมอนตีตรา เพราะถ้าไม้ทำอย่างนี้ ไม้อาจจะหาย และถ้าไม่หายก็ต้องไปแจ้งความ

ก่อนหน้านี้ทางจังหวัดตากได้เชิญชาวบ้านเข้ามารับฟังความคิดเห็น ครั้งแรกชาวบ้านไม่ยินยอม จึงทำประชาวิจารณ์ในรอบที่ 2 และครั้งที่3 กรมทางกลวงแขวงการทางตากที่ 1 เปิดรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านเป็นครั้งสุดท้าย โดยเชิญนายวุฒิ สิทธิสุราษฎร์ รองผู้ว่าราชการ จังหวัดตาก เป็นประธานการประชุมครั้งที่ 3 ที่หอประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำรึม จังหวัดตาก ชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมยกมือผ่านทั้งหมด ทางผู้ว่าราชการจังหวัดตากจึงทำเรื่องไปถึงอธิบดีกรมป่าไม้ เพื่อขออนุญาตตัดไม้ที่อยู่ข้างทางที่จะดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งกรมป่าไม้ก็มอบหมายให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นผู้ดำเนินการตัดไม้ครั้งนี้ ส่วนไม้ที่ตัดได้ ยกให้เป็นทรัพย์สินของออป.ตามข้อตกลง และก่อนที่จะลงมือตัดไม้ ทางจังหวัดตากก็ไปเชิญพระสงฆ์มาทำพิธีสึกต้นไม้ ซึ่งก็มีชาวบ้านเข้าร่วมพิธีครั้งนั้นด้วย

ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตาก เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปประเมินจำนวนต้นไม้ที่เรียงรายอยู่ตาม 2 ข้างทางบนถนนหมายเลข 12 ตาก-สุโขทัย ซึ่งไปขวางแนวเขตก่อสร้างขยายถนนจะมีรายการดังนี้ คือ ต้นไม้สัก 284 ต้น ไม้กะยาเลยหวงห้าม 64 ต้น และไม้กะยาเลยที่ไม่หวงห้ามอีก 3 ต้น ทางสำนักงานได้รวบรวมข้อมูลจำนวนต้นไม้ที่อยู่ในเขตก่อสร้างส่งให้ทางจังหวัดตากไปประกอบกับผลการประชาวิจารณ์เสนออธิบดีกรมป่าไม้ เพื่อขอใบอนุญาตทำไม้ โดยกรมป่าไม้ได้มอบหมายให้ออป.เป็นผู้ดำเนินการ

ผู้สื่อข่าวได้ถามประเด็นนี้ต่อนายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ว่าทำไมไม่เก็บต้นไม้สักไว้เพราะกว่าจะมีขนาดลำต้นใหญ่ขนาดนี้ต้องใช้เวลาในการปลูกนานหลายสิบปี นายสามารถกล่าวว่า เรื่องนี้ทางกรมทางหลวงทำเรื่องเสนอมาเพื่อขอเคลียร์พื้นที่ขยายถนนเป็น 4 เลน พร้อมกับมีการทำประชาวิจารณ์ร่วมรับความคิดเห็นกับชาวบ้านมาแล้วหลายครั้ง ซี่งได้รับความยินยอมจากชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณนั้นจนออกมาเป็นมติ เพราะชาวบ้านต้องการถนน ทั้งหมดถูกต้องตามกระบวนการของกฎหมายทุกประการ ส่วนบริเวณคลองสักใหญ่นั้น ซึ่งเป็นจุดที่มีต้นไม้สักมาก ทางกรมทางหลวงได้ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแบบแปลนมาแล้วหลายครั้ง ทั้งนี้เพื่อที่จะรักษาต้นไม้ไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจจะได้รับการยกเว้นบางส่วน

ถนนสาย 12 สุโขทัย - ตาก เจ้าหน้าที่ออป.กำลังลุยตัดไม้สักที่ตำบลคลองสักใหญ่
ถนนสาย 12 สุโขทัย - ตาก เจ้าหน้าที่ออป.กำลังลุยตัดไม้สักที่ตำบลคลองสักใหญ่

แหล่งข่าวจากชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณพื้นที่คลองสักใหญ่ เปิดเผยว่า กรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดตากให้สัมภาษณ์ว่าพื้นที่บริเวณคลองสักใหญ่ที่มีต้นสักอายุกว่า 80 ปี อาจจะได้รับการยกเว้นนั้นว่า “ท่านอาจจะไม่ทราบข้อมูลหรือลงไปติดตามการตัดไม้อย่างใกล้ชิด เพราะเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของออป.ได้ตัดไม้สักในบริเวณตำบลคลองสักใหญ่ (ดูภาพประกอบ) โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยอำนวยความสะดวก”

ประชาพิจารณ์โครงการก่อสร้างทาง ทางหลวงหมายเลข 12 สาย สุโขทัย – ตาก ตอน 3

สำหรับความเป็นมาเรื่องนี้กรมทางหลวง โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 1 ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 12 สายสุโขทัย – ตาก ตอน 3 ระหว่างกม.90+000 – กม.112+905.504 ระยะทาง 22.905 กม. จากทาง 2 ช่องจราจร เป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ 4 ช่องจราจร กำหนดเวลาทำการ 660 วัน วงเงินงบประมาณ 611.95 ล้านบาท

หากโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นประตูเปิดไปสู่ทุกภูมิภาคของประเทศจากแนวเหนือ – ใต้ และ ตะวันออก – ตะวันตก เพิ่มมูลค่าด้านเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมของประชาชนในภูมิภาค ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ในแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวง แม่สอด – มุกดาหาร หรือ East – West Economic Corridor

ทั้งนี้ กรมทางหลวงระบุว่าได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างมาก เพราะการดำเนินงานตามโครงการจะมีประสิทธิภาพ และบรรลุความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ต้องดำเนินงานอย่างโปร่งใส ยุติธรรม และก่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ดำเนินการ ตลอดจนประชาชนที่สนใจ ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการหรือกิจกรรม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นผ่านกระบวนการสื่อสารสองทาง (Tow Ways Communication) อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการหรือกิจกรรม อันสอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 จึงมีการจัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน และรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย

การประชาพิจารณ์ครั้งที่ 3 ที่มา : สำนักประชาสัมพันธ์เขตพื้นที่ 4 กรมประชาสัมพันธ์
การประชาพิจารณ์ครั้งที่ 3 ที่มา : สำนักประชาสัมพันธ์เขตพื้นที่ 4 กรมประชาสัมพันธ์
การประชาพิจารณ์ครั้งที่ 3 ที่มา : สำนักประชาสัมพันธ์เขตพื้นที่ 4 กรมประชาสัมพันธ์
การประชาพิจารณ์ครั้งที่ 3 ที่มา : สำนักประชาสัมพันธ์เขตพื้นที่ 4 กรมประชาสัมพันธ์
การประชาวิจารณ์ครั้งที่ 3 ที่มา : สำนักประชาสัมพันธ์เขตพื้นที่ 4 กรมประชาสัมพันธ์
การประชาวิจารณ์ครั้งที่ 3 ที่มา : สำนักประชาสัมพันธ์เขตพื้นที่ 4 กรมประชาสัมพันธ์

ครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2553 ณ ห้องฝึกอบรมศูนย์ฝึกอบรมที่ 5 (ตาก) การทางตากที่ 1 สำนักงานทางหลวงตากได้เชิญหน่วยงานภาครัฐ องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น สื่อมวลชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประชาชนในพื้นที่ ผลการทำประชาวิจารณ์มีกลุ่มชาวบ้านบางส่วนไม่ยินยอมที่จะให้มีการตัดต้นไม้สักบริเวณ คลองสัก จ.ตาก

ครั้งที่ 2 เมื่อเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2553 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตตาก โดยมีนายวุฒิ สิทธิสุราษฎร์ รองผู้ว่าราชการ จังหวัดตาก เป็นประธานเปิดประชุมและร่วมประชุม วันที่ 5 ตุลาคม 2554 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมที่มาลงทะเบียนจำนวน 309 คน โดยเจ้าหน้าที่ได้ให้ชาวบ้านแสดงความคิดเห็นด้วยการยกมือ

ผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งที่ 2 สรุปได้ดังนี้

1) ให้ตัวแทนแสดงความคิดเห็นโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข สายสุโขทัย -ตาก ตอน 3 ปรากฏว่ามีฝ่ายที่เห็นด้วยจำนวน 3 คน และฝ่ายไม่เห็นด้วยจำนวน 3 คน

2) ให้แสดงความคิดเห็นโดยยกมือว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับโครงการก่อสร้างทางหลวง เห็นด้วยให้ก่อสร้างโครงการฯจำนวน 257 คน ไม่เห็นด้วยจำนวน 6 คน ไม่ออกเสียงจำนวน 46 คน

3) ให้แสดงความคิดเห็นโดยยกมือว่า ท่านต้องการให้กรมทางหลวงสร้างถนน รูปแบบใด

รูปแบบที่ 1 มีเกาะกลางถนน (แบบมาตรฐาน)คันทางเดิม 4 ช่องจราจร จำนวน 226 คน เกาะ Raised Median 4.20 เมตร ไหล่ทางข้างละ 2.50 เมตร

รูปแบบที่ 2 มีเกาะสี 1.60 เมตร ไหล่ทางข้างละ 1.50 เมตร (แบบปรับปรุง) จำนวน 5 คน

รูปแบบที่ 3 ขึ้นคันทางซ้าย – ขวา ความกว้างช่องจราจร 3.50 เมตร ไหล่ทาง จำนวน 13 คน ข้างละ 1.50 เมตร (แบบปรับปรุง)

4) สำหรับต้นไม้ที่ได้รับผลกระทบ กรมทางหลวงไม่มีความประสงค์ที่จะนำไม้มาใช้ในงานทาง

5) ชุมชน ท้องถิ่น มีความต้องการจะขอไม้ไว้ใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวม

6) สำหรับทางกลับรถ หรือ U-Turn กรมทางหลวงยินดีรับพิจารณาให้ตรงกับความต้องการของประชาชน ( ดูรายละเอียดประชาพิจารณ์ครั้งที่2)

ครั้งที่ 3 ครั้งสุดท้าย จัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ณ หอประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำรึม อ.เมืองตาก มีประชาชนเข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นประมาณ 400 คน โดยมีนายวุฒิ สิทธิสุราษฎร์ รองผู้ว่าราชการ จังหวัดตาก เป็นประธานในการประชุม ผลการประชุมครั้งนี้ชาวบ้านลงมติเลือกแบบที่ 1 ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานของกรมทางหลวง คือ ตัดต้นไม้ทั้งหมด มีเกาะกลางกว้าง 4 เมตร มีไหล่ทาง ข้างละ 2 เมตร ส่วนต้นไม้ในเขตทางหลวงให้ทางองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด (ดูรายละเอียดประชาพิจารณ์ครั้งที่ 3)