ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เบื้องลึก “ธีระชัย” รื้อประมูลบัตรเครดิตชาวนายุคนายกฯ อภิสิทธิ์ 3.1 ล้านใบ

เบื้องลึก “ธีระชัย” รื้อประมูลบัตรเครดิตชาวนายุคนายกฯ อภิสิทธิ์ 3.1 ล้านใบ

17 ตุลาคม 2011


บัตรเครดิตชาวนา ที่มาภาพ : http://www.bangkokbiznews.com/home/media/2011/05/26/images/news_img_392642_1.jpg
บัตรเครดิตชาวนา ที่มาภาพ : http://www.bangkokbiznews.com/home/media/2011/05/26/images/news_img_392642_1.jpg

ภายหลังจากที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้รับหนังสือร้องเรียนจากบริษัทที่เข้าร่วมประมูลโครงการบัตรเครดิตเกษตรกรรายหนึ่ง ระบุว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) อาจมีการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มผู้ประมูลบางราย โดยมีการกำหนดสเปคและวงเงินลงทุนเอาไว้สูงเกินความจำเป็น

ดังนั้นเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา นายธีระชัย ในฐานะประธานกรรมการ ธ.ก.ส. จึงได้นำข้อร้องเรียนดังกล่าวเสนอที่ให้ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส.พิจารณา และภายหลังการหารือนายธีระชัยให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมมีมติให้ยกเลิกโครงการประมูลบัตรเครดิตเกษตรกร เนื่องจากโครงการนี้ใช้เงินลงทุนสูง 1,008 ล้านบาท และมีการกำหนดคุณสมบัติของการใช้งานที่สูงเกินความจำเป็น โดยเกษตรกรจะนำบัตรเครดิตไปรูดซื้อสินค้าได้เฉพาะร้านค้าที่มาขึ้นทะเบียนกับ ธ.ก.ส.เท่านั้น ไม่สามารถนำบัตรได้รูดซื้อสินค้าตามร้านค้าทั่วไปได้ จึงจำเป็นที่จะต้องยกเลิกการประมูลครั้งนี้ และมอบหมายให้ฝ่ายบริหารของธนาคารกลับไปกำหนดคุณสมบัติบัตร มาเสนอต่อที่ประชุมอีกครั้ง ก่อนที่เปิดประมูลใหม่ คาดว่าจะเริ่มแจกบัตรเครดิตให้กับเกษตรกรได้ตั้งแต่เดือนมกราคมปีหน้าเป็นต้นไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการเร่งด่วนของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องการโชว์ผลงานในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการหาเสียง จึงได้มอบหมายให้ ธ.ก.ส. รับไปดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้วิธีพิเศษ ทาง ธ.ก.ส. ได้ไปเรียกบริษัทที่มีความชำนาญทางด้านนี้เข้ามาร่วมประมูล ซึ่งมีทั้งหมด 5 กลุ่ม ดังนี้

1.กลุ่มของล็อกซ์บิท ประกอบไปด้วยบริษัทล็อกซ์บิท ทำหน้าที่วางระบบบริหารจัดการบัตรเครดิตและจัดหาเครื่องรูดบัตร,บริษัทศิริวัฒนา เป็นผู้ผลิตบัตรและดูแลการพิมพ์เอกสารและบริษัท อินเนอร์เทค ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของ ธ.ก.ส.และคณะกรรมการ

2.กลุ่มสามารถ ประกอบไปด้วยกลุ่มบริษัทโพสเนท ดูแลเครื่องรูดบัตร ปลายทาง,บริษัท EXCELENCE วางระบบบริหารจัดการบัตรเครดิตส่วนกลางและบริษัทจันวาณิชย์ ผู้ผลิตบัตรเครดิตและโรงพิมพ์

3.กลุ่มเพทเนร่า ประกอบด้วยบริษัทเพทเนร่า ติดตั้งฮาร์ดแวร์ และบริษัท CP GROUP ดูแลระบบบริหารจัดการบัตรเครดิต วางระบบงานและเครื่องรูดบัตร

4.บริษัทวีสมาร์ท นำเสนอโครงการทั้งหมด

และกลุ่มที่ 5 บริษัทกรุงไทยคอมพิวเตอร์เซอร์วิส ไม่มายื่นซองประมูล

สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาตามที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขการประมูล หลักๆ จะมีดังนี้ 1) ระบบบริหารจัดการบัตรเครดิต (card management system) 2) ระบบการจัดการบัตรเครดิต เครื่องรูดบัตรปลายทาง และระบบการบริหารจัดการร้านค้าสมาชิก 3) ระบบการรักษาความปลอดภัย และป้องกันการโจรกรรม เป็นต้น โดย ธ.ก.ส.จะผ่อนจ่ายเงินค่าเช่า (ลิสซิ่ง) ให้กับบริษัทเป็นเวลา 3 ปี

ส่วนความคืบหน้าล่าสุดก่อนที่นายธีระชัยจะสั่งยกเลิกการประมูลโครงการนี้ กลุ่มบริษัททั้ง 4 รายได้ทำการจัดส่งแผนการพัฒนาโปรแกรมและระบบบริหารจัดการบัตรเครดิตทั้งหมดแล้ว ปรากฎว่ามีเพียง 3 กลุ่มที่ผ่านเข้ารอบ ได้แก่ กลุ่มล็อกซ์บิท,กลุ่มวีสมาท และกลุ่มสามารถ ที่ผ่านเข้ารอบ เพราะสามารถสาธิตวิธีการทำงานทั้งระบบตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทางได้ ส่วนบริษัทแพทเนร่าตกรอบ ไม่สามารถสาธิตวิธีการทำงานกับคณะกรรมการประมูลได้

ทางคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างของ ธ.ก.ส.จึงเรียกผู้ที่ผ่านเข้ารอบการประมูลทั้ง 3 กลุ่มมาเจรจาต่อรองราคาลงมา แต่เอกชนไม่ยอม สุดท้ายการประมูลโครงการนี้ก็ถูกยกเลิกเสียก่อน โครงการนี้ก็เลยถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวต่อไปอีกว่า หาก ธ.ก.ส.เปิดประมูลในครั้งต่อไป ทั้ง 4 กลุ่ม ก็คงจะต้องเข้าร่วมประมูลอีก เพราะประเทศไทยมีบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้อยู่ไม่กี่ราย แต่วงเงินลงทุนจะต้องปรับลดลงจาก 1,008 ล้านบาท อาจจะลดลงเหลือ 500 ล้านบาท โดยตัวบัตรจะเปลี่ยนจากไมโครชิฟมาเป็นแถบแม่เหล็ก ต้นทุนบัตรน่าจะอยู่ที่ใบละ 30 บาท ทำแจกเกษตรกรที่มาลงทะเบียนในโครงการรับจำนำข้าวจำนวน 3.1 ล้านราย ต้นทุนก็น่าจะอยู่ที่ 100 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 400 ล้านบาทเป็นค่าเช่าระบบและเครื่องรูดบัตร 3,000 จุด

อนึ่ง โครงการบัตรเครดิตเกษตรกรจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรับจำนำข้าว หรือ โครงการสินเชื่อปกติของ ธ.ก.ส.โดยเกษตรกรที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจาก ธ.ก.ส.จะได้รับเป็นเงินสดโอนเข้าบัญชีประมาณ 70 % ของวงเงินสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติ ส่วนที่เหลืออีก 30 % จะเป็นวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิต เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ในการซื้อปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์ เป็นต้น ทาง ธ.ก.ส.จะไม่คิดดอกเบี้ย 30 วันแรก จากนั้นรัฐบาลจะจัดงบประมาณมาจ่ายดอกเบี้ยแทนเกษตรกรในอัตรา 7 % ต่อปี ไปจนกว่าเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวผลผลิตไปขายนำเงินมาชำระหนี้ ธ.ก.ส. หากพ้นกำหนดระยะเวลาที่กำหนด เกษตรกรไม่นำเงินมาชำระหนี้เต็มจำนวน เกษตรกรจะต้องจ่ายดอกเบี้ยพร้อมเบี้ยปรับในอัตรา 13 % ต่อปี