ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 3 ตัวแปร “วัดดวง” ปลดชนวนวิกฤตหนี้ยุโรป หรือโดมิโนจะลามทั่วโลก

3 ตัวแปร “วัดดวง” ปลดชนวนวิกฤตหนี้ยุโรป หรือโดมิโนจะลามทั่วโลก

12 ตุลาคม 2011


ที่มา : http://4.bp.blogspot.com/-Op_dcNvqr78/TexR9T94gkI/AAAAAAAAKAg/T0pcPhYSqlc/s1600/greece-debt-crisis.jpg

ท่ามความหวังของประชาคมโลกต่อความเป็นไปได้ที่ประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปจะมาพร้อมกับแผนปลดชนวนวิกฤตในภูมิภาค ดูเหมือนว่า วิกฤตหนี้ยุโรปกลับเดินถอยหลังสู่ความไม่แน่นอนอีกครั้ง หากพิจารณาจากตัวแปรความเสี่ยงหลายประการที่เริ่มปรากฏออกมาเป็นเงาตามตัว

ความเสี่ยงแรกเกิดขึ้นคู่ขนานกับข้อตกลงอุ้มแบงก์เดเซียที่รัฐบาลฝรั่งเศส เบลเยียมและลักเซมเบอร์กเห็นชอบร่วมกันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นั่นคือ คำเตือนเรื่องผลประกอบการของ “เอิร์สต์ กรุ๊ป” ธนาคารออสเตรีย ซึ่งคาดการณ์ว่า จะประสบปัญหาขาดทุนเกือบ 1 พันล้านยูโร อันเป็นผลมาจากความเสี่ยงผูกพันจากการลงทุนในตราสารหนี้ของประเทศที่มีปัญหาในกลุ่มยูโรโซน และการดำเนินการลดหนี้ของหน่วยงานในเครือในฮังการีและโรมาเนีย

วอลล์สตรีท เจอร์นัลฉบับ 11 ตุลาคมตั้งข้อสังเกตว่า การเคลื่อนไหวของเอิร์สต์ กรุ๊ปอาจเพิ่มความเป็นไปได้ที่ธนาคารรายอื่นๆ ในกลุ่มยูโรโซนอาจตัดสินใจรับรู้การขาดทุนจากความเสี่ยงผูกพันอยู่กับตราสารหนี้รัฐบาลหลายประเทศ ในช่วงที่ธนาคารเหล่านี้ทยอยรายงานผลประกอบการในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

ทั้งนี้ เอิร์สต์ กรุ๊ปให้ตัดสินใจตั้งสำรองชดเชยการขาดทุนจากความเสี่ยงผูกพันต่อพันธบัตรรัฐบาลประเทศในกลุ่มยุโรปใต้ จากการดำเนินการลดหนี้ในส่วนของสัญญาสว็อปความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (credit default swaps : CDSs) เป็นมูลค่า 450 ล้านยูโร พร้อมทั้งยอมเปิดข้อมูลด้วยว่า สามารถลดความเสี่ยงที่ผูกพันอยู่กับพันธบัตรรัฐบาลประเทศที่มีปัญหาเหลือ 600 ล้านยูโรจากเดิมที่มีอยู่มากถึง 1.9 พันล้านยูโรเมื่อปีที่แล้ว

ตัวแปรความเสี่ยงประการถัดมาเป็นข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการเจรจาทำแผนช่วยเหลือทางการเงินให้กับรัฐบาลกรีซเป็นรอบที่สอง โดยเฉพาะการผลักดันให้ธนาคารเจ้าหนี้ลดหนี้ให้กับรัฐบาลกรีซ 40 % – 60 % สูงกว่าที่ธนาคารเจ้าหนี้เคยตกลงไว้เมื่อเดือนกรกฏาคมว่า ยินยอมลดหนี้ให้ 21 % ของมูลหนี้เดิม หรือยอมรับความเสี่ยงจากการขาดทุนครั้งนี้สูงสุดที่ 1.35 หมื่นล้านยูโร แต่การยอมลดหนี้ในสัดส่วนดังกล่าวอาจช่วยให้หนี้พันธบัตรกรีซ 3.5 แสนล้านยูโรลดลงไปไม่ถึง 5 %

ความพยายามที่จะให้แบงก์เจ้าหนี้ยอมลดหนี้ให้กรีซสูงสุด 40% ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการเจรจาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม แต่ปรากฏว่า ฝรั่งเศสยืนกรานคัดค้าน เนื่องจากธนาคารของฝรั่งเศสมีความเสี่ยงผูกพันกับหนี้พันธบัตรรัฐบาลกรีซมากที่สุด ความขัดแย้งดังกล่าวนำไปสู่การตัดสินใจประชุมสุดยอดผู้นำชาติสมาชิกสหภาพยุโรป เพื่อหาข้อสรุปแผนหยุดวิกฤตหนี้ในภูมิภาค จากวันที่ 17 ตุลาคม ออกไปเป็นวันที่ 23 ตุลาคม 2554

อีซีบีนั่งทับระเบิดเวลาหนี้เสี่ยง 1 ล้านล้านยูโร

รายงานข่าวระบุว่า ทางเลือกที่อยู่ระหว่างการเจรจามีอยู่ 2 แนวทาง โดยทางแรกให้เจ้าหนี้ยอมลดหนี้ให้กับรัฐบาลกรีซ 50 % หรือมากกว่านั้นจากมูลหนี้เดิม โดยนำพันธบัตรรัฐบาลกรีซชุดเดิมที่ถือครองอยู่มาแลกกับพันธบัตรชุดใหม่ที่มีมูลค่าเงินต้น หรือมูลค่าตามบัญชีน้อยลงกลับไปในปริมาณที่มากกว่าเดิม เพื่อเป็นการลดสัดส่วนหนี้กรีซต่อผลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลง แต่การทำเช่นนั้นจะทำให้เจ้าหนี้ขาดทุนเป็นจำนวนมาก

ส่วนทางเลือกที่สองเป็นการเสนอให้เจ้าหนี้ทั้งเอกชนและระดับรัฐบาลยอมลดหนี้ให้กรีซโดยตรง 50 % หรือสูงกว่านั้น โดยการดึงทุกประเทศในยุโรปที่เคยร่วมในแผนช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซในรอบแรกเมื่อพฤษภาคม ปี 2553 มาร่วมรับผิดชอบการลดหนี้ดังกล่าวด้วย เนื่องจากหนี้จำนวนมากของกรีซอยู่ในมือของรัฐบาลอื่นๆ ในยุโรปและในมือของธนาคารกลางแห่งยุโรป(อีซีบี) ดังนั้น ทางเลือกนี้จึงจำเป็นให้เจ้าหนี้กลุ่มนี้ยอมลดหนี้ให้กับกรีซด้วย

ฌอง โคลด ทริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรป
ที่มา: www.theepochtimes.com

จากข้อมูลการจัดทำแผนช่วยเหลือกรีซรอบแรก เจ้าหนี้กลุ่มรัฐบาลในยุโรปถือครองหนี้อยู่รวมกัน 4.8 หมื่นล้านยูโร ขณะที่ประเมินว่า ธนาคารกลางแห่งยุโรปมีหนี้ในมืออยู่ประมาณ 5 หมื่นล้านยูโร

หนี้ที่ธนาคารกลางยุโรปถือครองอยู่เป็นหนี้เฉพาะพันธบัตรรัฐบาลกรีซ ยังไม่นับรวมหนี้จากการปล่อยกู้ธนาคารพาณิชย์ในกรีซ ซึ่งคาดว่ามีมูลค่าหลายหมื่นล้านยูโรเช่นกัน

การแบกรับภาระความเสี่ยงของธนาคารกลางแห่งยุโรปกลายเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง หลังจากเดวิด ไบม์ นักวิชาการด้านการเงิน จากวิทยาลัยธุรกิจโคลัมเบียและกรรมการสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐ ได้เปิดเผยผลการศึกษาล่าสุด ซึ่งพบว่าธนาคารกลางยุโรปอาจนั่งทับ “ระเบิดเวลา” จากตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงของกลุ่มยูโรโซนอยู่กว่า 1 ล้านล้านยูโร ครอบคลุมพันธบัตรของรัฐบาลกรีซ อิตาลี โปรตุเกส และสเปน

ศาสตราจารย์ไบม์ ตั้งข้อสังเกตว่า การแบกรับความเสี่ยงมหาศาลดังกล่าวอาจเป็นเหตุผลที่ธนาคารกลางแห่งยุโรปพยายามป้องกันไม่ให้กรีซผิดนัดชำระและยังคงเสแสร้งว่า พันธบัตรรัฐบาลกรีซมีมูลค่ามากกว่าราคาตลาดปัจจุบัน

เพิ่มทุนแบงก์อาจไม่ช่วยหยุดวิกฤต

ความเสี่ยงประการสุดท้ายคือ ข้อถกเถียงเกี่ยวกับแผนเพิ่มทุนให้กับธนาคารพาณิชย์ในภูมิภาค ซึ่งประธานาธิบดีนิโคลาส์ ซาร์โกซี แห่งฝรั่งเศสและนางอังเกลา เมอร์เกล ผู้นำฝรั่งเศสให้คำมั่นจะสนับสนุนแนวทางนี้อย่างเต็มทีหลังเสร็จสิ้นการประชุุมเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า จะเพียงพอต่อการปลดชนวนวิกฤตหนี้ยุโรปหรือไม่

ในการประชุมยอดผู้นำสหภาพยุโรป 23 ตุลาคมนี้ โฟกัสสำคัญนอกจากแผนช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซรอบสองแล้ว วาระที่มีน้ำหนักไม่แพ้กัน อยู่ที่การข้อสรุปแผนเพิ่มทุนให้กับธนาคารต่างๆ ซึ่งข้อเสนอล่าสุดอยู่ที่เพิ่มเม็ดเงินในเงินกองทุนขั้นที่ 1 ให้ได้ถึง 9 % ซึ่งสูงกว่าสัดส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า จะมีการเพิ่มทุนในส่วนให้ได้ถึงระดับ 6 % – 7 % เท่านั้น

ประธานาธิบดีนิโคลาส์ ซาร์โกซี ของฝรั่งเศส และนางอังเกลา เมอร์เกล ผู้นำเยอรมนี
ที่มา: http://img.ibtimes.com

หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์อ้างตัวเลขประเมินของมอร์แกน สแตนเลย์ ที่คาดการณ์ว่า การเพิ่มสัดส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 เป็น 9 % หมายความว่า ธนาคารหลายสิบรายในภูมิภาคจะถูกบีบให้ต้องเพิ่มทุนเป็นเงินรวมกัน 2.75 แสนล้านยูโร

ซินเซีย อัลซิดี ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมหภาคระหว่างประเทศ นโยบายการเงินและตลาดการเงิน จากศูนย์ศึกษานโยบายสหภาพยุโรป เตือนว่า การเพิ่มทุนรอบใหม่ให้กับธนาคารในยุโรปไม่ควรจะเลือนออกไปอีก เพราะเป็นสิ่งจำเป็นและเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม อัลซีดีชี้ว่า การเพิ่มทุนอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอแล้ว โดยจำเป็นจะต้องสร้างแรงกันชนรอบๆ อิตาลีและสเปน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า มีสภาพคล่องพอในกรณีที่จำเป็น และต้องดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้กรีซอย่างเป็นระบบด้วย

ข้อเสนอแนะของอัลซีดีสอดคล้องกับมุมมองของทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ที่ออกมาเรียกร้องให้สหภาพยุโรปดำเนินการมากกว่าการเพิ่มทุนธนาคารเพื่อให้มั่นใจได้ว่า เศรษฐกิจขนาดใหญ่ในยุโรปที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้สามารถเข้าถึงเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่สามารถรับภาระได้

ด้านสก็อต แมเธอร์ หัวหน้าฝ่ายบริหารกลุ่มสินทรัพย์พันธบัตรทั่วโลกของบริษัทแปซิฟิก อินเวสต์เมนต์ แมเนจเมนต์ หรือพิมโก ให้ความเห็นว่า แม้การเพิ่มทุนให้กับธนาคารจะช่วยฟื้นความมั่นใจได้ระดับหนึ่ง แต่วิกฤตความเชื่อมั่นจะไม่หมดไป หากปัญหาการเติบโตและการขาดดุลงบประมาณยังไม่ได้รับการแก้ไข

แมเธอร์เสนอแนะว่า แนวทางแก้ไขปัญหาในกลุ่มยูโรโซนจะต้องอาศัยแนวทางที่ครอบคลุมและหลายแนวทางในการดำเนินการ ซึ่งควรครอบคลุมการปฏิรูปเชิงโครงสร้างในตลาดแรงงานและระบบบำนาญ ประเด็นสำคัญยังอยู่ที่การประคับประคองเศรษฐกิจให้เติบโตเพื่อชดเชยผลกระทบด้านลบจากการดำเนินมาตรการรัดเข็มขัด กรณีของกรีซที่ไม่ได้ผลเนื่องจากพยายามลดการขาดดุล ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ลงด้วย

3 ตัวแปรเหล่านี้อาจมีผลต่อการแก้ไขปัญหาหนี้ในยุโรปให้ลุล่วง หรือนำไปสู่โดมิโนรอบใหม่ที่ลามไปทั่วโลกอีกครั้ง ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด