ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > เบื้องหลังนโยบาย 1 เดือน “ยิ่งลักษณ์” ยิ่งทำยิ่งบาน

เบื้องหลังนโยบาย 1 เดือน “ยิ่งลักษณ์” ยิ่งทำยิ่งบาน

24 กันยายน 2011


น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ภาพจาก innnews.co.th
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ภาพจาก innnews.co.th

ทันทีที่เสร็จสิ้นจากการแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา ครม.ยิ่งลักษณ์1 เดินหน้าทำนโยบายที่เคยสัญญาไว้กับประชาชนในช่วงหาเสียงให้เป็นรูปธรรมอย่างเร่งด่วน แต่การแปลงนโยบายสู่ภาคปฎิบัติเมื่อเปรียบเทียบกับนโยบายพรรคไทยรักไทยสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2544 มีทีมเศรษฐกิจที่วางแผนตั้งแต่การกำหนดนโยบายพรรค กลยุทธ์ทางการตลาดรวมทั้งแผนปฏิบัติการหลังชนะการเลือกตั้ง เพียงแต่เชิญข้าราชการมาให้นโยบายแค่นั้น งานก็พร้อมที่จะเดินหน้าไปได้ตามขั้นตอนที่วางเอาไว้

ผู้สื่อข่าวซึ่งติดตามและเกาะติดนโยบายรัฐบาลได้วิเคราะห์ว่าการดำเนินนโยบายแตกต่างจากสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ จากติดตามการทำงานของข้าราชการกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญๆ หลังจากครม.ยิ่งลักษณ์ 1 เข้ามาบริหารว่าทีมที่เข้ามาบริหารคือรัฐมนตรีเศรษฐกิจหลายคน ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่มีส่วนรู้เห็นกับนโยบายหาเสียงของพรรค แต่ต้องทำให้ได้ตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน

ดั้งนั้นกระบวนการแปลงนโยบายไปสู่แผนปฏิบัติการ จึงต้องเร่งให้ข้าราชการศึกษา ทำงานกันแบบหามรุ่งหามค่ำ โดยเฉพาะข้าราชการกระทรวงการคลัง พยายามหาทางออกให้ดีที่สุดเพราะกระทบงบประมาณทั้งรายรับและรายจ่าย รวมทั้งภาคธุรกิจ เนื่องจากนโยบายหลักๆ หลายเรื่อง อาทิ บ้านหลังแรก รถยนต์คันแรก เงินเดือนปริญญาตรีขั้นต่ำ15,000 บาท ค่าแรง 300 บาท แม้จะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่ยังต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงใหม่ ซึ่งต่างจากการประกาศนโยบายในอดีต

โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มีนโยบายบ้านหลังแรก รถยนต์คันแรก หลังจากที่ครม.มีมติอนุมัติมาตรการ เริ่มจากนโยบายบ้านหลังแรก ที่ให้นำค่าใช้จ่ายจากการซื้อบ้านไม่เกิน 5 ล้านบาท ไม่เกิน 10% นำไปหักลดหย่อนภาษีเฉลี่ย 5 ปี หรือปีละ 1 แสนบาท นโยบายนี้นักวิชาการชี้ว่าคนรวยได้ประโยชน์ แต่ส่วนใหญ่ต่างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านหลังแรกกันหมดแล้ว ส่วนคนฐานะปานกลางได้รับเงินคืนภาษีเล็กน้อย ส่วนคนจนที่ไม่เสียภาษีไม่ได้อะไรจากมาตรการชุดนี้ แต่ถ้าเอาเงินไปซื้อรถยนต์คันแรกจะได้รับเช็คคืนภาษีสรรพสามิตจากกรมบัญชีกลางเต็มๆ 1 แสนบาท

หลังจากที่มาตรการชุดนี้ผ่านความเห็นชอบจากครม.มาได้ไม่ถึง 7 วัน ล่าสุดทางกระทรวงการคลังกำลังเตรียมเรื่องเสนอครม.ในวันที่ 27 ก.ย.นี้ ปรับปรุงวิธีการหักภาษีใหม่ โดยให้นำค่าใช่จ่าย 10 % ของราคาบ้าน ไปหักกับภาษีที่พึงชำระได้โดยตรง แทนวิธีเดิมที่ให้นำค่าใช้จ่ายที่ว่า ไปหักลดหย่อนภาษี ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ซื้อบ้านได้รับเงินคืนภาษี หรือประหยัดค่าภาษีได้มากขึ้นกว่าเดิม

ยกตัวอย่าง นาย ก. เคยเสียภาษีให้กับกรมสรรพากร ปีละ 150,000 บาท หากซื้อบ้านหลังละ 5 ล้านบาท นำค่าบ้าน 10 %(เท่ากับ 500,000 บาท เฉลี่ย 5 ปีๆละ 100,000 บาท) ณ ที่นี้คือ 100,000 บาท นำไปหักภาษีที่ต้องเสียให้กับกรมสรรพากรได้โดยตรงเลยไม่ต้องนำไปหักเป็นค่าลดหย่อนภาษี หมายความเอาภาษ๊ที่ต้องจ่ายจริง 150,000 บาท เป็นตัวตั้งแล้วลบด้วย 100,000 บาทออกไปเลย เท่ากับว่านาย ก.เสียภาษีแค่ 50,000 บาทเท่านั้น

แต่ถ้านาย ก.ปกติมีภาระภาษีที่ต้องเสียภาษีให้กับกรมสรรพากรปีละ 50,000 บาท เอาค่าใช้จ่ายจากการซื้อบ้าน 10 % ไปหักภาษีโดยตรงจะได้คืนภาษีกลับมา 50,000 บาท หรือได้เท่ากับจำนวนภาษีที่เสีย แต่ถ้านาย ก.ไม่เคยเสียภาษีเลย เพราะรายได้ไม่ถึง ซื้อบ้านหลังแรกก็ไม่มีประโยชน์ เพราะจะไม่ได้รับเงินคืนภาษี

ขณะที่มาตรการรถยนต์คันแรก ส่งผลกระทบวงการตลาดรถยนต์ หลังจากที่มาตรการชุดนี้ผ่านความเห็นชอบจากครม.เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา พร้อมกับมาตรการบ้านหลังแรกมีหลายประเด็นที่เป็นปัญหา อย่างเช่น กรณีที่ค่ายฟอร์ตออกมาโวยว่าทำไมกำหนดที่ขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,500 ซีซี จึงได้เช็คคืนภาษี 100,000 บาท รถที่มีขนาดเครื่องยนต์ 1,600 ซีซีของฟอร์ต ประหยัดน้ำมัน และปล่อยมลพิษน้อยกว่ารถยนต์เครื่อง 1,500 ซีซี หลายยี่ห้อ แต่ทำไมฟอร์ตไม่ได้รับสิทธิ และใช้หลักเกณฑ์อย่างไร

นอกจากนี้ประเด็นที่กรมสรรพสามิตกำหนดเงื่อนไขว่าต้องซื้อรถยนต์ที่ผลิตในประเทศเท่านั้น จึงจะได้รับสิทธิ ทำให้ทั้งค่ายผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อทาทา โปรตอน ซึ่งเป็นรถยนต์นำเข้าไม่ได้รับสิทธิ เตรียมที่จะฟ้อง WTO กล่าวหาไทยเลือกปฏิบัติ

ขณะที่ไฟแนนซ์เองก็ประสบปัญหา เพราะผู้ที่ใช้สิทธิซื้อรถยนต์คันแรก จะไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ภายใน 5 ปี หากลูกค้าผ่อนไม่ไหว ไฟแนนซ์ยึดรถได้ แต่เอามาขายทอดตลาดเปลี่ยนมือไม่ได้ ต้องรอให้ครบ 5 ปีก่อน ซึ่งในวันอังคารที่ 27 ก.ย.นี้ ครม.จะมีการทบทวนมาตรการรถคันแรกใหม่เช่นเดียวกัน ทำให้ตอนนี้ตลาดรถยนต์ปั่นป่วน ผู้บริโภคกำลังรอความชัดเจนว่ารัฐบาลจะให้สิทธิ์คืนภาษีสรรพสามิต 100,000 บาท ทุกขนาดเครื่องยนต์ รวมทั้งรถยนต์นำเข้าด้วยหรือไม่ และปัญหาไฟแนนซ์จะแก้ปัญหากันอย่างไร

ส่วนเรื่องการปรับขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำ สำหรับข้าราชการที่จบปริญญาตรีเดือนละ 15,000 บาท ที่ผ่านมา ได้ผ่านครม.แล้ว แต่เป็นการผ่านแค่หลักการเท่านั้น รายละเอียดยังต้องไปปรับใหม่ ทั้งนี้ต้องมีการปรับขึ้นรายได้หรือค่าครองชีพกันทั้งระบบ เพื่อไม่ให้คนที่จบปริญญาโท ปริญญาเอก ข้าราชการและลูกจ้างระดับล่างเสียเปรียบ ประเด็นนี้ข้าราชการยังพอมีเวลาคิดหาทางออก เพราะมาตรการชุดนี้จะมีผลบังคับในวันที่ 1 ม.ค.2555

นี่คือนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่กว่าจะออกมาเป็นนโยบาย และเมื่อออกมาแล้วก็ยังไม่พร้อมดำเนินการ ถ้ามองย้อนไปถึงมาตรการชุดแรก กรณีที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประกาศลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงน้ำมันที่มีผลบังคับมาตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค. 2554 ไปจนถึงวันที่ 27 ก.พ. 2555 เกิดปรากฏการณ์ oil run เพราะการปรับราคาน้ำมันดีเซลที่หน้าปั้มลงมา 3 บาท น้ำมันเบนซินลดลงมา 7-8 บาท แก๊สโซฮอล์ราคาเท่าเดิมไม่ลด

ปรากฏว่าผู้ใช้น้ำมันแห่เติมเบนซิน 91,95 จนหมดปั๊ม พอวันรุ่งขึ้นผู้ประกอบการปั้มน้ำมันแขวงป้ายที่หน้าปั้มว่าเลิกรับน้ำมันก๊าซโซฮอล์มาขาย เพราะราคาไม่แตกต่างจากน้ำมันเบนซิน 91 มาก คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) จึงต้องเรียกประชุมด่วน เพื่อลงมติเพิ่มเงินชดเชยให้กับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ทั้งนี้เพื่อจูงใจให้คนกลับมาใช้แก๊สโซฮอล์เหมือนเดิม ขณะที่วงในระบุว่านี่คือการเดินกลยุทธ์การตลาดในการสร้างข่าวให้เป็นที่ฮือฮาก็ตาม

นี่คือตัวอย่างผลงานของครม.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา