ThaiPublica > คอลัมน์ > การจัดอัตรากำลังบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข

การจัดอัตรากำลังบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข

20 พฤษภาคม 2017


พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
กรรมการแพทยสภา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กรรมาธิการสาธารณสุข สนช.

เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2560 มีข่าวเกี่ยวกับการจัดสรรอัตรากำลังบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข สายพยาบาลวิชาชีพ กล่าวคือ มีข่าวว่ามติจากการประชุมคณะรัฐ (ครม.) ไม่อนุมัติอัตราข้าราชการพยาบาลวิชาชีพตั้งใหม่ 10,992 อัตราตามที่กระทรวงสาธารณสุขขอไป แต่อนุมัติเฉพาะตำแหน่งข้าราชการพยาบาลวิชาชีพ 450 อัตราเพื่อบรรจุพยาบาลที่สำเร็จการศึกษาตามโครงการผลิตพยาบาลเพื่อจังหวัดชายแดนให้ รพ.สต. พื้นที่ชายแดน

แล้ว ครม. ยังแนะนำให้ สธ. นำตำแหน่งที่ว่างที่มีอยู่และที่กำลังจะว่างในอนาคตมาบริหารจัดการเพื่อรองรับการบรรจุพยาบาลวิชาชีพตามความจำเป็น ตามอัตรากำลังที่มีอยู่ ให้ สธ. ปรับปรุงการทำงานใน รพ. ให้มีลักษณะผสมผสานทักษะความชำนาญเฉพาะด้าน หรือให้ สธ. ใช้วิธีจ้างพนักงานจากภายนอกองค์กร (outsource)

พยาบาลวิชาชีพไม่เห็นด้วยกับมติ ครม.

ภายหลังจากที่มีข่าวเรื่องมติ ครม. ออกมาดังกล่าว ทำให้เกิดปฏิกริยาที่ไม่เห็นด้วยกับมติ ครม. มากมายจากฝั่งของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานใน รพ. ของกระทรวงสาธารณสุข เช่น เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว ได้ออกมาเคลื่อนไหวผ่านสังคมออนไลน์ ว่าจะลาออกในวันที่ 30 กันยายน 2560 เพื่อแสดงความไม่พอใจมติ ครม. ดังกล่าว ซึ่งความเคลื่อนไหวครั้งนี้ทำให้รัฐบาลต้องหันมาทบทวนมติ ครม. ใหม่ โดยมีขาาวว่าในวันที่ 15 พ.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาให้ข่าวว่าจากการหารือร่วมกันระหว่าง รมต.สธ. ปลัด สธ. รองปลัด สธ. และอุปนายกสภาพยาบาล ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) กระทรวงการคลัง ได้ข้อยุติว่ามีทางยุติปัญหาที่จะเสนอต่อ ครม. ในวันที่ 16 พ.ค. สรุปว่าที่ขอมา 10,992 อัตรานั้น สธ. จะใช้ตำแหน่งว่างที่มีอยู่บรรจุได้ 2,200 อัตรา ที่เหลืออีก 8,900 อัตราจะแบ่งบรรจุใน 3 ปี

ภายหลังจากการประชุม ครม. ในวันที่ 16 พ.ค. 2560 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาให้ข่าวว่า เกี่ยวกับการบรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการจะมีการทยอยบรรจุให้โดยใช้อัตราภายในไปก่อน ส่วนที่เหลือจะมีการเพิ่มเติมในเวลา 3 ปี พร้อมกับบอกว่ารัฐบาลจะดูแลเรื่องนี้ โดยได้มอบหมายภารกิจให้ทั้ง ก.พ. และ ก.พ.ร. ไปดูว่าจะปรับโครงสร้างภายในส่วนราชการใหม่หรือไม่ และจะเพิ่มคนอย่างไร โดยใช้งบประมาณน้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาล ที่ได้มองเห็นความเดือดร้อนของพยาบาลวิชาชีพ ที่ต้องทำงานในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมงตลอด 365 วัน แต่การที่จะ “เพิ่มคน” โดยใช้งบประมาณน้อยที่สุดที่นายกรัฐมนตรีแนะนำนั้น อาจจะทำได้ยากในเรื่องเกี่ยวกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข

นโยบาย Medical Hub พยาบาลวิชาชีพเลือกไป รพ.เอกชน

เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการรักษาพยาบาล (Medical Hub) ที่จะช่วยดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกมารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทย ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนต่างก็ขานรับนโยบายนี้ของรัฐบาลอย่างท่วมท้น มีการขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้ป่วยมากขึ้น ทั้งการเพิ่มจำนวนเตียงและอาคารสถานที่ เทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งการขยายขีดความสามารถในการบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนี้ทำให้โรงพยาบาลเอกชน มีความต้องการบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น โดยเฉพาะแพทย์และพยาบาล ซึ่งการที่โรงพยาบาลเอกชนจะสามารถดึงดูดแพทย์และพยาบาลไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชนได้นั้น ก็จะต้องให้ค่าจ้าง เงินเดือน ค่าตอบแทน ที่สูงกว่าระบบราชการ และให้ภาระงานไม่มากเหมือนในระบบราชการ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงว่า ระบบเอกชนสามารถดึงดูดแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ไปทำงานในโรงพยาบลเอกชนได้มากมาย ซึ่งมีผลให้กระทรวงสาธารณสุขต้องสูญเสียแพทย์และพยาบาลไปสู่โรงพยาบาลเอกชนได้มากทุกๆ ปี

ฉะนั้น ถ้ารัฐบาลจ้างพยาบาลในอัตราค่าจ้างต่ำ แต่มีภาระงานมากมาย และไม่มีสวัสดิการที่ดีเหมือนในระบบราชการ ก็คงไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้พยาบาลมาทำงานอยู่ในภาคราชการได้นาน แม้ว่าแพทย์และพยาบาลจบใหม่ อาจมีภาระผูกพันที่จะต้องเข้าทำงานชดใช้ทุนตามพันธสัญญาที่ได้ทำไว้กับกระทรวงสาธารณสุขในขณะที่เริ่มเข้าศึกษาในวิชาชีพเหล่านั้น แต่ภาระงานหนัก ค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าค่าตอบแทนจากภาคเอกชน และไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ ทำให้ขาดสิทธิประโยชน์ในการได้รับสวัสดิการแก่ครอบครัว (เช่น สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของพ่อแม่และตนเอง) และที่สำคัญคือ ต้องเป็นลูกจ้างชั่วคราวของกระทรวงสาธารณสุข โดยค่าจ้างก็ต่ำกว่าอัตราบรรจุข้าราชการใหม่ กล่าวคือ ข้าราชการใหม่บรรจุขั้นต่ำ เดือนละ 15,000 บาท (เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ ในขณะที่เป็นค่าแรงที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี) แต่กระทรวงสาธารณสุขจะจ่ายค่าจ้างแก่พยาบาลจบใหม่แค่เดือนละ 12,000 บาทเท่านั้น จึงทำให้พยาบาลที่ทนทำงานเป็นลูกจ้างตามพันธสัญญานั้น ถ้าไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ก็จะลาออกไปอยู่ในภาคเอกชน

จึงเท่ากับเราต้องสูญเสียพยาบาลที่เริ่มจะมีความชำนาญงานไปให้แก่ รพ.เอกชนทุกๆ ปีเป็นจำนวนมาก ส่วนพยาบาลลูกจ้างที่ยังอยู่ในระบบรัฐก็มีความหวังที่จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการต่อไป

ที่มาภาพ : http://oknation.nationtv.tv/blog/home/user_data/file_data/201212/03/589454e01.jpg

พยาบาลมีภาระงานก็เยอะ ค่าจ้างก็ต่ำ สวัสดิการไม่มี

วิญญูชนพึงคิดเองได้ว่าอัตราค่าจ้างพยาบาลลูกจ้างของกระทรวงสาธารณสุขนั้นก็ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ในขณะที่ภาระงานของพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขนั้นก็มีมาก เพราะมีพยาบาลเป็นจำนวนน้อย แต่มีผู้ป่วยจำนวนมาก

นับวันที่ผู้ป่วยจะมีจำนวนมากขึ้นทุกปี จากการที่รัฐบาลได้ให้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฟรีแก่ประชาชน 48 ล้านคน ทำให้ประชาชนมาใช้บริการรักษาพยาบาลที่ รพ. เพิ่มขึ้น จากบริการผู้ป่วยนอกเฉลี่ยปีละ 2 ครั้งต่อคนต่อปีในปีแรก เป็นปีละ 3.17 ครั้งต่อคนต่อปีในปี 2559 และประชาชนไปใช้บริการผู้ป่วยในปีละ 0.6 ครั้งต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 0.7 ครั้งต่อคนต่อปี ซึ่งสรุปได้ว่าประชาชนไปใช้บริการที่โรงพยาบาลประมาณ 200 ล้านครั้งต่อปี

ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2558 พบว่ามีประชากรสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) จำนวน 10.3 ล้านคน คิดเป็น 16 % โดยมีประชากรในวัยเด็กอยู่ 11.7 ล้านคน คิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ และเนื่องจากประเทศไทยมีอัตราการเกิดลดลงเหลือเพียงร้อยละ 0.5 ต่อปี ก็จะทำให้อัตราส่วนผู้สูงอายุมีมากกว่าประชากรวัยเด็กในอีก 3 ปีข้างหน้า

ในขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติให้ข้อมูลว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำการสำรวจประชากรผู้สูงอายุทุก 3 ปี ครั้งสุดท้ายที่สำรวจในปี 2557 ในส่วนที่เกี่ยวกับสุขภาพ พบว่าร้อยละ 2.1 สุขภาพไม่ดีมากๆ ร้อยละ 42.4 สุขภาพดี และร้อยละ 3.3 สุขภาพดีมาก โรคที่พบส่วนใหญ่คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน แต่ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี ก็ยังมีปัญหาเรื่องอุบัติเหตุ เนื่องจากสภาพที่อยู่อาศัย การใช้ห้องน้ำห้องส้วม ซึ่งความเจ็บป่วยของผู้สูงอายุมีสาเหตุมาจากความเสื่อมของอวัยวะและสังขารร่างกาย นอกจาก 2 โรคที่กล่าวถึงแล้ว ยังมีอาการโรคที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษา เช่น โรคจากภาวะหัวใจและสมองขาดเลือด ทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ไม่สามารถพึ่งพิงตัวเองได้ในชีวิตประจำวัน ยังมีภาวะข้อเข่าอักเสบ ปวดหลัง หูตึง สายตาเสื่อมจากต้อกระจก ต้อหิน ฟันผุ เหงือกอักเสบ หัวใจขาดเลือด ไตเสื่อม ไตวาย ฯลฯ

จึงเห็นได้ว่ามากกว่าครึ่งของผู้สูงอายุจะต้องไปใช้บริการในการรักษาสุขภาพจากโรงพยาบาล และยิ่งผู้สูงอายุมากขึ้นเท่าใด ความต้องการใช้บริการสุขภาพก็เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ฉะนั้น การที่นายกรัฐมนตรีและกระทรวงสาธารณสุขสามารถแก้ปัญหาการบรรจุข้าราชการในขณะนี้สำหรับพยาบาลที่รอการบรรจุอยู่ในขณะนี้ คงไม่สามารถป้องกันแก้ไขปัญหาระยะยาวที่จะเกิดขึ้น กับความต้องการแรงงานจากพยาบาลที่จะต้องให้การดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่จะเพิ่มมากขึ้นจากการที่สังคมไทยมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น

พยาบาลวิชาชีพบางคนเคยบอกผู้เขียนว่า ข้าราชการนั้นทำงานเดือนละ 20-22 วัน แต่พยาบาล (บางแห่ง) นั้นต้องทำงานเดือนละ 30-35 วัน เนื่องจากพยาบาลมีจำนวนน้อย จะถูกหัวหน้าขอร้องแกมบังคับให้ขึ้นเวรเช้าต่อบ่าย บ่ายต่อดึก คือเข้ากะละ 8 ชั่วโมง และบวกเพิ่มอีก 1 กะคืออีก 8 ชั่วโมง ก่อนจะได้ออกเวรไปพักผ่อน จนเกิดความเครียดสะสม ความเป็นอยู่ในครอบครัวเสียหาย สามีไปมีกิ๊ก ลูกไปเป็นเด็กแว้น และตัวเองสุขภาพกายและสุขภาพจิตทรุดโทรม

พยาบาลที่เป็นลูกจ้าง ต้องทำงานไปโดยไม่รู้ว่าจะได้บรรจุเมื่อไหร่ เพื่อจะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นตามอัตราความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา และพยาบาลเก่าที่เป็นข้าราชการก็ขาดความก้าวหน้าทางวิชาชีพ เพราะ “ซีตัน” คือตันแค่ซีเจ็ด ในขณะที่วิชาชีพครู สามารถเลื่อนตำแหน่งได้ถึงซีเก้า และเงินเดือนค่าตอบแทนสูงกว่ามาก ในขณะที่ภาระงานก็ไม่ต้องทำหามรุ่งหามค่ำเหมือนพยาบาล

การแก้ปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังพยาบาลวิชาชีพในระยะยาว

สัปดาห์ที่ผ่านมาผู้แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ไปชี้แจงกับคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่าจะบรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการได้ประมาณ 5,000 อัตรา และเหลือที่ยังไม่ได้บรรจุอีกประมาณ 3,000 อัตรา ซึ่งจะสามารถทยอยบรรจุได้ทั้งหมดใน 3 ปี แต่ที่สะดุดใจผู้เขียนก็คือ ท่านผู้ชี้แจงบอกว่า “น้องพยาบาลที่จบใหม่นั้นรับรู้อยู้แล้วว่าเขาจะไม่ได้บรรจุใน 2 ปี” ฟังแล้วก็อดให้ความเห็นในที่ประชุมไม่ได้ว่า ทำไมกระทรวงสาธารณสุข จึงไม่คิดที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว กระทรวงสาธารณสุขควรจะมองตัวอย่างจากกระทรวงศึกษาธิการ ที่แยกการบริหารงานบุคคลออกจาก ก.พ. ซึ่งสามารถช่วยให้จัดสรรตำแหน่ง อัตรากำลัง และความก้าวหน้าในวิชาชีพครูได้อย่างชัดเจน สามารถจัดสรรครูให้เหมาะสมกับจำนวนนักเรียนและพัฒนาความก้าวหน้าในวิชาชีพครูได้ ทำให้ผู้เป็นครูมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และมีความก้าวหน้ามั่นคงในวิชาชีพครู

แต่บุคลากรสาธารณสุขนั้น ไม่ได้รับการส่งเสริมความก้าวหน้าและความมั่นคงในการประกอบวิชาชีพ ต้องทำงานหนัก เงินเดือนน้อย ไม่มีตำแหน่งทางราชการมารองรับ และยังขาดโอกาสที่จะมีตำแหน่งที่มั่นคง และขาดความความก้าวหน้าในชีวิตข้าราชการหรือชีวิตการทำงาน กลายเป็นลูกจ้างราคาต่ำ ทั้งๆ ที่งานของพยาบาลนั้น มีผลงานในการรักษาพยาบาลเพื่อรักษาสุขภาพและชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งเป็นงานที่มีคุณค่าสูงไม่น้อยไปกว่าการสั่งสอนให้ความรู้แก่เด็กๆ และเยาวชนของชาติเลย

บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขอีกหลายสาขาที่ไม่มีอัตราบรรจุเป็นข้าราชการ

นอกจากพยาบาลวิชาชีพที่ต้องเป็นลูกจ้าวชั่วคราวของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังมีบุคลากรอีกหลายสาขาที่ต้องทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งในสาขาวิชาชีพอื่น และสายงานสนับสนุนบริการ ซึ่งมีความสำคัญไม่ด้อยไปกว่าสาขาวิชาชีพแพทย์หรือพยาบาล เพราะการทำงานในด้านการแพทย์นั้น ต้องมีทีมงานที่มีความรู้ความสามารถร่วมกันทำงานตามความรู้ที่ได้เล่าเรียนมา แต่บุคลากรต่างๆ นั้นต่างก็มีสภาพการทำงานไม่แตกต่างไปจากพยาบาลวิชาชีพดังที่กล่าวมาแล้ว

จึงขอเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขคิดทำงานนอกกรอบ คือออกมาจาก “การบังคับบัญชา” ของ ก.พ. เพื่อมาจัดอัตรากำลังของบุคลากรทุกวิชาชีพและทุกอาชีพที่ทำงานอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข การที่จะทำให้บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขทำงานให้มีประสิทธิภาพ มีความหวังที่จะได้รับความสำเร็จและความก้าวหน้าในการทำงานตามสาขาวิชาชีพที่ได้เล่าเรียนมาเพื่อดูแลรักษาสุขภาพให้แก่ประชาชนทุกเพศทุกวัย เพื่อช่วยสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีสุขภาพดี เป็นกำลังผลิตทางเศรษฐกิจช่วยประเทศชาติต่อไป ไม่ใช่ทำงานแค่ปีสองปี มีประสบการณ์ทักษะและความเชี่ยวชาญแล้วก็ลาออก สมองไหลไปสู่ภาคเอกชนเสียหมด

นโยบายรัฐบาลควบคุมอัตราข้าราชการ

ในขณะที่รัฐบาลต้องการ “แช่แข็ง” อัตราข้าราชการเนื่องจากรัฐบาลมองเห็นว่าจำนวนข้าราชการจะเป็นภาระแก่งบประมาณแผ่นดิน แต่การ “แช่แข็ง” อัตราข้าราชการสาธารณสุข จะทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการไปรับการรักษาพยาบาล และอาจจะไม่ได้รับการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานและไม่มีความปลอดภัยเนื่องจากจำนวนบุคลากรน้อย และสภาพการณ์ของสังคมสูงวัยจะยิ่งทำให้ภาระงานของโรงพยาบาลและกระทรวงสาธารณสุขนับวันจะมีแต่มากขึ้น นอกจากรัฐบาลจะต้องเพิ่มอัตราข้าราชการสาธารณสุขแล้ว รัฐบาลควรจะต้องเพิ่มการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันการเจ็บป่วย และตรวจคัดกรองโรคมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถป้องกันการเกิดความเจ็บป่วยจากโรคและอุบัติเหตุได้ดีขึ้น เพื่อช่วยลดอัตราการเจ็บป่วย และลดอัตราการใช้บริการทางการแพทย์ไม่ให้มากขึ้นไปกว่าเดิม

แต่ถ้ารัฐบาลต้องการที่จะแช่แข็งอัตรากำลังข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ก็อาจจะต้องพิจารณาว่าจะให้กระทรวงสาธารณสุขออกนอกระบบราชการเหมือนมหาวิทยาลัยหรือไม่ เพื่อที่จะลดภาระงบประมาณจากภาษีประชาชน แต่ก็จะทำให้ประชาชนจะไม่ได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 47 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ

บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ในกฎหมายหลักประกันสุขภาพก็ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 5 วรรคสองว่า คณะกรรมการอาจกำหนดให้บุคคลที่เข้ารับบริการสาธารณสุขต้องจ่ายค่าบริการในอัตราที่กำหนดให้แก่หน่วยบริการในแต่ละครั้งที่เข้ารับบริการ เว้นแต่ผู้ยากไร้หรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่ต้องจ่ายค่าบริการ

จากการที่รัฐบาลประกาศให้ผู้ยากไร้ไปลงทะเบียนกับทางการแล้วพบว่า มีจำนวนบุคคลไปลงทะเบียนแล้วเพียง คน ซึ่งจะทำให้งบประมาณของรัฐบาลที่จะจ่ายเข้าสู่กองทุนหลักประกันสุขภาพลดลง และจะมีงบประมาณแผ่นดินเหลือมากพอที่จะเพิ่มอัตราข้าราชการสายสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานการรักษาพยาบาลให้อยู่ในระดับดีอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะทำให้รัฐบาลสามารถดำเนินการตามการปฏิรูปประเทศที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 257 ช.(4) ปรับระบบหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนได้รับสิทธิและประโยชน์จากการบริหารจัดการและการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและสะดวกทัดเทียมกัน

การจะพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาลประชาชนให้อยู่ในสภาพดีและรักษาคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง ก็ต้องจัดการด้านบุคลากรให้มีอัตรากำลังที่เหมาะสมกับผู้ป่วย และสามารถทำงานอยู่กับ รพ.รัฐบาลได้ต่อเนื่องยาวนาน เนื่องจากได้รับตำแหน่ง อัตราเงินเดือนเหมาะสม มีภาระงานไม่มากเกินกำลัง มีความก้าวหน้าและความมั่นคงในการทำงานตามมาตรฐานวิชาชีพ เหมือนข้าราชการอื่นๆ

สรุป รัฐบาลได้มองเห็นปัญหา และได้ตัดสินใจแก้ปัญหาอย่างฉับไวทันสถานการณ์ แต่เป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้น รัฐบาลต้องวางแผนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไปดังกล่าวแล้ว เพื่อที่ประชาชนจะได้รับการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานการแพทย์ที่ดีต่อไป