ThaiPublica > คอลัมน์ > สารคดีเรื่องแรกสไตล์ คริสโตเฟอร์ ดอยล์ Hong Kong Trilogy: Preschooled Preoccupied Preposterous

สารคดีเรื่องแรกสไตล์ คริสโตเฟอร์ ดอยล์ Hong Kong Trilogy: Preschooled Preoccupied Preposterous

31 มีนาคม 2017


1721955

แม้จะเป็นหนังที่ไม่เคยคว้ารางวัลใดมาประดับ แต่สำหรับหนังที่ถ่ายภาพโดย คริสโตเฟอร์ ดอยล์ แล้ว ย่อมไม่อาจมองข้ามได้ แถมยังเป็นงานกำกับสารคดีเรื่องแรกของเขาด้วย ใน Hong Kong Trilogy: Preschooled Preoccupied Preposterous (2015)

ดอยล์ คือ อดีตผู้กำกับภาพสไตล์จัด คู่บุญของหว่องกาไว ในช่วงปี 1990-2004 ซึ่งทำให้ดอยล์คว้ารางวัลด้านกำกับภาพมาแล้วกว่า 60 รางวัล ทั่วโลก รวมถึงจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ใน In the Mood for Love และจากเทศกาลหนังเวนิส ใน Ashes of Time เขาบอกลาจากออสเตรเลียบ้านเกิดตั้งแต่อายุ 18 ก่อนจะมาตั้งรกรากในฮ่องกง และมีชื่อใหม่เป็นจีนว่า ตู้เข่อฟง (มีความหมายว่า ‘เป็นดั่งสายลม’) เขาถ่ายหนังพูดจีนมาไม่ต่ำกว่า 50 เรื่อง เช่น Chungking Express, Temptress Moon, Hero, Happy Together, Dumplings, 2046 ฯลฯ และอีกกว่า 20 เรื่องในภาษาอื่นๆ เช่น Psycho, Liberty Heights, Last Life in the Universe, Rabbit-Proof Fence, Paranoid Park, The Limits of Control ฯลฯ

ดอยล์กำกับสารดีเรื่องนี้ด้วยการระดมทุนจากเว็บ Kickstarter จากเดิมทีที่ต้องการทุนรอนราวสามล้านบาท แต่กลับได้มามากถึงกว่าสี่ล้านบาท หลังจากนั้นเขาและทีมงานก็ใช้เวลาหนึ่งปีในการไปถ่ายสัมภาษณ์ผู้คนกว่าร้อยชีวิต ที่เกือบทั้งหมดไม่เคยแสดงอะไรมาก่อน (ยกเว้น เควิน เชอร์ล็อก เพื่อนผู้เป็นครูสอนภาษาชาวอังกฤษ ซึ่งเคยแสดงหนังเรื่องแรกที่ดอยล์กำกับมาก่อนใน Away with Words) ก่อนจะเลือกบางคนในนั้นมาเป็นตัวหลักในสารคดีเรื่องนี้

Hong Kong Trilogy ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าแบ่งเป็นไตรภาค เริ่มด้วยสองหนูน้อย หนึ่งคือสาวน้อยหมวกแก๊ปแดง ผู้ต้องการจะไขปริศนาโลกแตกสำหรับเธอว่า “ทำไมหนอโลกของเราถึงมีเทพเจ้ามากมายหลายองค์เหลือเกิน หรือมันจะเป็นเพราะมีคนมากมายที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ” ส่วนอีกหนึ่งหนุ่มน้อย วอดก้า ลูกเศรษฐีผู้เชื่อว่าถ้าเขาปล่อยเต่าพลาสติกลงบ่อ จะสามารถแก้กรรมที่พ่อแม่ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเขาในฮ่องกงได้

ส่วนที่สองเกี่ยวกับวัยรุ่นหนุ่มสาว ผู้ออกมายึดถนนใจกลางฮ่องกงในช่วง “ขบวนการร่ม” (Umbrella Movement) เพื่อจะหยุดเมืองไว้สักพัก ให้ชาวเมืองได้ครุ่นคิดว่าจะจัดการอย่างไรต่อไปกับอนาคตอันมืดมนของชาวฮ่องกง ภายใต้เงื้อมเงาของจอมเผด็จการจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเน้นไปที่ซินแสฮวงจุ้ยสาวคนดัง แร็ปเปอร์ และบรรดาศิลปินใต้ดิน ซึ่งต่างก็หงุดหงิดใจต่อจีน

ส่วนสุดท้ายเป็นวัยชรา วางเหตุการณ์ไว้ใน ‘ปาร์ตี้รถราง’ อันเป็นสปีดเดทสำหรับผู้สูงอายุ ให้มาจับคู่หนุงหนิงหรือทำความรู้จักกัน และร่วมกันทำกิจกรรมยามว่าง

ทุกคนในเรื่องต่างสงสัยว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างไรนับจากนี้ แล้วไม่ว่าจะพบคำตอบนั้นหรือไม่ แต่สิ่งที่พวกเขาได้รู้คือ พวกเขาไม่ใช่มนุษย์เพียงคนเดียวในจักรวาลอันอ้างว้างที่ตั้งคำถามนี้

ดอยล์เล่าไอเดียตั้งต้นให้ฟังว่า “ผมต้องการจะบอกเล่าเกี่ยวกับคนฮ่องกงแท้ๆ เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าเราไม่ได้ต่างจากผู้คนอื่นๆ บนโลกใบนี้เลย พวกเด็กๆ แชร์มุมมองที่พวกเขามีต่อโลกใบนี้ คนหนุ่มสาวแสดงออกถึงความหวังต่อชาติบ้านเมือง ขณะที่วัยชราผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวและเคยพบพานสิ่งเหล่านี้มานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว กลับมานั่งหัวร่อให้กับชีวิตที่เหลืออยู่ เสียงเล็กเสียงน้อยของคนธรรมดาสามรุ่นนี้คือพลังขับเคลื่อนหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าพวกเขาจะพูดมันออกมาด้วยความระมัดระวัง แสดงออกถึงความชาญฉลาด หรือหลุดปากเผลอพูดมันออกมาอย่างไม่ตั้งใจก็ตาม แต่ก็ต่างเป็นเสียงที่ยากจะได้ยิน พวกเขาคือผู้แต่งเติมเรื่องราวให้กับหนังเรื่องนี้อย่างแท้จริง ผมยังจำคอมเมนต์หนึ่งที่เข้ามาโพสต์ตอนผมระดมทุนได้ หนึ่งในนั้นบอกว่า ‘โปรดช่วยเราทำหนังเกี่ยวกับความหวังและความฝันของพวกเราด้วยเถิด’ จะมีอะไรมากไปกว่านี้อีกที่ภาพยนตร์สามารถจะบอกเล่าได้”

หนังเปิดเรื่องด้วยการแนะนำทุกคนทีละคน คนดูจะค่อยๆ รู้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนเหล่านี้ หรือบางทีก็ไม่แน่ใจว่าระหว่างพวกเขามีความสัมพันธ์อย่างไรต่อกันกันแน่ แต่สิ่งที่ต่างจากสารคดีอื่นๆ ทั่วไป คือ มันดูเหมือนการแสดง เพราะเป็นการจัดฉากเกือบทั้งหมด หนำซ้ำยังมีฉากที่ดูเซอร์เรียลขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ตรงนี้ดอยล์ให้คำอธิบายว่า

“ชาวฮ่องกงต้องปรับสมดุลระหว่างความฝันและความเป็นจริงมาช้านาน นานก่อนที่พวกเขาจะเกิดเสียด้วยซ้ำ และนี่คือสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ คือสิ่งที่เราต้องการแชร์ให้โลกรู้

เราต้องการทำมันในมุมมองของคนฮ่องกง ให้พวกเขาได้ถักทอเรื่องราวของพวกเขาเอง และบางคราว การปะติดปะต่อความเป็นจริงกับจินตนาการเข้าด้วยกันก็เป็นเสมือนการสะท้อนเสียงใหม่ๆ ที่ทำงานเข้าขากันได้อย่างน่าทึ่ง สะท้อนตัวตนของคนฮ่องกงออกมาได้เป็นอย่างดี เสมือนความจริงสองสิ่ง คือ เมืองฮ่องกง และพลังที่อยู่ภายในตัวตนของผู้คนในเมืองนี้ และสองสิ่งนี้เองที่สร้างเมืองนี้ขึ้นมา มันประกอบกันด้วยวิถีทางที่เหนือจริง”

“ดังนั้น หน้าที่ของผมจริงๆ ในหนังเรื่องนี้คือแค่สร้างโครงสร้าง แล้วสะท้อนเสียงของพวกเขาออกมาให้มากที่สุด ด้วยการสร้างภาพให้คู่ขนานไปกับพลังเสียงที่พวกเขาส่งออกมา ผมว่าสิ่งที่พวกเขาพูดสนุกดี ดังนั้นผมจึงควรสนุกกับการสร้างภาพ แน่นอนว่าแม้จะเป็นการจัดฉากขึ้นมา แต่สันหลังที่แท้จริงของสารคดีเรื่องนี้ก็ยังคงเป็นไปตามขนบอยู่ดี นั่นคือบทสัมภาษณ์ แต่คนดูไม่สามารถนั่งดูพวกเขาจ้อกันนานๆ ได้ถึง 90 นาทีหรอก ความท้าทายของผมเลยเป็นว่าจะกำกับภาพออกมาอย่างไรถึงจะดึงตัวตนที่แท้จริงของพวกเขาออกมาได้ ซึ่งวิธีที่ผมใช้คือ การปลอม”

“แต่ผมไม่สามารถกำกับภาพสไตล์จัดๆ แบบที่เคยทำๆ มาได้ เพราะต้องการให้มันเกิดสุนทรีย์ เล่ามันอย่างบทกวี ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ ผมต้องรับฟังเรื่องราวจากปากของพวกเขาให้ได้มากที่สุด ตอนที่ผมตามล่าว่าใครกันจะเหมาะสำหรับมาบอกเล่าในหนังเรื่องนี้ เราไม่ได้แคสติ้ง แต่เป็นการเรียนรู้และรู้จักเมืองนี้ผ่านผู้คน พวกเขาอยู่กันคนละถิ่น ต่างชนชั้น ต่างอายุ ต่างที่มา หรือบ้างก็ต่างเชื้อชาติด้วยซ้ำไป แต่ความหลากหลายแบบนี้แหละที่สื่อความเป็นฮ่องกงแท้ๆ ออกมาได้จริงๆ”

“เมื่อคุณดูหนัง หนังเป็นของคุณแล้ว เราแค่ทำมันออกมา ส่วนคุณจะสนองตอบต่อมันอย่างไรก็เป็นเรื่องของคุณแล้ว แต่หน้าที่ของเราคือการไม่ตัดสิน และหน้าที่ของเราคือการเป็นสื่อเพื่อส่งต่อเสียงของพวกเขาให้ผู้คนทั้งโลกนี้ได้ยิน”

Hong Kong Trilogy เปิดตัวในเทศกาลหนังโตรอนโต ก่อนจะไปฉายในเทศกาลหนังปูซาน, เทศกาลหนังเอเชียแปซิฟิกในบริสเบน, เทศกาลหนังโตริโน, เทศกาลหนังซานฟรานซิสโก และเทศกาลหนังด็อกอะวีฟ แล้วกลับมาลงโรงฉายในฮ่องกงวันที่ 28 กันยายน 2015 ในวาระครบรอบหนึ่งปี “ขบวนการร่ม” พร้อมกับการเข้าฉายใน เยอรมัน ไต้หวัน และกรีซ

ต่อคำถามว่า หน้าฝรั่งตาน้ำข้าวอย่างเขา จะพูดแทนชาวฮ่องกงได้อย่างไร ดอยล์ตอบว่า “ผมถ่อจากบ้านมาอาศัยที่นี่ตั้งแต่อายุ 18 เบิ่งตาดูหน้าผมสิ ผมนี่แหละชาวฮ่องกง เพราะอะไรน่ะหรือ เพราะฮ่องกงทำให้ผมเป็นคนแบบนี้ คิดแบบนี้ ทำแบบนี้ แล้วในฐานะศิลปินที่ผมสามารถแจ้งเกิดบนโลกภาพยนตร์ใบนี้ได้ ก็เพราะฮ่องกง ผมจึงสมควรทำหนังเรื่องนี้ เพื่อตอบแทนต่อสิ่งที่ฮ่องกงให้กับผม และนี่คือคุณค่าและศักดิ์ศรีของหนังเรื่องนี้”

ถ้าเช่นนั้นแล้วสำหรับเขา ชาวฮ่องกงคืออะไร?
ดอยล์ตอบว่า “ผมไม่รู้ และนี่แหละสาเหตุที่ผมทำหนังเรื่องนี้”