ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > อาณาจักร BDMS บริการสุขภาพแบบเบ็ดเสร็จของ “นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ”(1)

อาณาจักร BDMS บริการสุขภาพแบบเบ็ดเสร็จของ “นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ”(1)

5 มีนาคม 2017


จากข่าวการปิดโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ของโรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งมีสมาชิก 284 คน ผู้เป็นลูกค้าที่เคยอุ้มชูโรงพยาบาลมาในสมัยประสบวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ด้วยการช่วยซื้อแพกเกจนี้แลกกับสัญญาการรักษาพยาบาลตลอดชีพ โดยจ่ายค่ารักษาพยาบาลครั้งละ 100 บาทเท่านั้น

การยกเลิกโครงการครั้งนี้ด้วยการคืนเงินต้นตั้งแต่ 1-1.3 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 10% และให้ส่วนลดในการรักษาพยาบาล 50% แต่มีเงื่อนไขตามที่โรงพยาบาลกำหนด จึงเป็นเหตุให้มีการฟ้องร้องระหว่างสมาชิกโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับกับโรงพยาบาลกรุงเทพ

ข้ออ้างที่โรงพยาบาลชี้แจงกับสมาชิกคือแพกเกจไลฟ์พริวิเลจคลับเป็นสัญญาประกันภัยที่เข้าข่ายต้องตั้งสำรองตามมาตรฐานบัญชีใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งต้องใช้เงินในการกันสำรองประมาณ 4,000 ล้านบาท และระบุว่าโรงพยาบาลไม่มีใบอนุญาตประกันภัยทีขายแพกเกจนี้ได้ จากความเดือดร้อนในเรื่องนี้สมาชิกโครงการได้ร้องเรียนสมาคมคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานก.ล.ต. และได้ยื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อให้ตีความว่าโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับเข้าข่ายสัญญาประกันภัยหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาผู้สื่อข่าวได้ติดต่อสอบถามเพื่อติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้จากโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้รับคำตอบว่าผู้บริหารโรงพยาบาลไม่มีนโยบายที่จะให้สัมภาษณ์

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2558 และเว็บไซต์ของโรงพยาบาลกรุงเทพซึ่งสืบค้น ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 พบว่าบมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) เป็นกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนแบบครบวงจรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของไทย ถือหุ้นใหญ่โดยนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ในสัดส่วนร้อยละ 18.26 ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มธุรกิจหลักๆ คือ กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล

ที่มาภาพ: http://www.moneyandbanking.co.th/

ชื่อ “ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” คือเศรษฐีหุ้นไทยอันดับหนึ่งของเมืองไทยที่ครองตำแหน่งนี้ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 แล้ว และติดอันดับ50 เศรษฐีไทยของนิตยสารฟอร์บส์เอเชีย

จากรายงานของวารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทย ปรากฏว่า น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ หรือ “หมอเสริฐ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BDMS เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ครองแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยปี 2559 โดยปี 2559 “หมอเสริฐ” ถือครองหุ้นมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 รวม 67,244.71 ล้านบาท รวยขึ้น 4,879.52 ล้านบาท หรือ 7.82%

หุ้นที่หมอเสริฐถือครองมี 3 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น ได้แก่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) หรือโรงพยาบาลกรุงเทพ โดยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ในสัดส่วน 18.26% รวมมูลค่า 61,680.46 ล้านบาท บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) เจ้าของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส 10.61% มูลค่า 5,502.60 ล้านบาท และ บมจ.โรงพยาบาลนนทเวช (NTV) 0.79% มูลค่า 61.64 ล้านบาท

นอกจากนี้ น.พ.ปราเสริฐยังถือครองธุรกิจอื่นๆ ด้วย ทั้งธุรกิจการบิน ธุรกิจสื่อ อสังหาริมทรัพย์ ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่าถือหุ้นในบริษัท เซาท์อีสท์ แอร์ จำกัด, บริษัท ไทยคาร์โกแอร์ไลน์ จำกัด, บริษัท กรุงเทพเฮลิคอปเตอร์เซอร์วิสเซส จำกัด, บริษัท บางกอกแอร์เวย์สโฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท บีดีเอ็มเอสเวลเนสคลินิก จำกัด, บริษัท ปราสาททองโอสถ จำกัด, บริษัท สหแพทย์เภสัช จำกัด, บริษัท สบาย สบาย นิเวศน์ จำกัด, บริษัท สบาย สบาย สุโขทัย จำกัด, บริษัท สินสหกล จำกัด, บริษัท กรีนไลน์ ซินเนอร์จี้ จำกัด, บริษัท ไทยปิโตรเลียมเซอร์วิส จำกัด, บริษัท บางกอกมีเดียแอนด์บรอดคาสติ้ง จำกัด (PPTV) และบริษัท พาราไดซ์ ช้อปปิ้ง จำกัด

และเมื่อปลายปี 2559 BDMS เข้าซื้อที่ดินบริเวณโครงการปาร์คนายเลิศ จำนวน 15 ไร่ บนถนนวิทยุ จากตระกูลสมบัติศิริ ด้วยราคา 10,800 ล้านบาท โดยระบุว่าบริษัทกำหนดงบประมาณลงทุนและปรับปรุงทรัพย์สินเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจศูนย์สุขภาพแบบครบวงจร BDMS Wellness Clinic และช่วงปลายปีบริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด ของตระกูลปราสาททองโอสถ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ของช่อง One HD ด้วยสัดส่วนร้อยละ 50

เว็บไซต์โรงพยาบาลกรุงเทพระบุข้อความเกี่ยวกับ BDMS ว่า “กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ในเชิงรายได้ และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดในหมวดธุรกิจการแพทย์” โดยมีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 มูลค่า 105,111 ล้านบาท และผลประกอบการปี 2555-2558 พบว่า มีกำไรสุทธิ 7,917.47 ล้านบาท 7,393.52 ล้านบาท 6,261.46 ล้านบาท และ 7,936.95 ล้านบาท ตามลำดับ

นอกจากนี้ ยังมีเครือธุรกิจโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ด้วยจำนวนโรงพยาบาลในเครือรวม 47 แห่ง มีขนาดรวม 9,057 เตียง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจากการสำรวจโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนปี 2555 (จัดทำทุก 5 ปี) ระบุว่า ประเทศไทยมีโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนรวม 321 แห่ง โดยมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีเตียงมากกว่า 250 เตียงจำนวน 17 แห่ง พบว่า BDMS มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 15 ของโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้ BDMS มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเครือถึง 13 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 76.5 ของโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ทั้งหมด(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลของ BDMS

โรงพยาบาลในเครือ BDMS

BDMS มีธุรกิจโรงพยาบาลในเครือทั้งหมด 47 แห่ง แบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท กลุ่มโรงพยาบาลเปาโล กลุ่มโรงพยาบาลท้องถิ่น กลุ่มโรงพยาบาลรอยัล และกลุ่มโรงพยาบาลที่ลงทุนถือหุ้นแต่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหาร ดังนี้

กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ จำนวน 20 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ โรงพยาบาลวัฒโนสถ โรงพยาบาลกรุงเทพไชน่าทาวน์ โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน โรงพยาบาลกรุงเทพพระประแดง โรงพยาบาลกรุงเทพสนามจันทร์ โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา โรงพยาบาลกรุงเทพระยอง โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี โรงพยาบาลกรุงเทพตราด โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา โรงพยาบาลกรุงเทพปากช่อง โรงพยาบาลกรุงเทพอุดร โรงพยาบาลกรุงเทพขอนแก่น โรงพยาบาลกรุงเทพพิษณุโลกและโรงพยาบาลเด็กรัตนเวช โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ โรงพยาบาลกรุงเทพสมุย โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต และโรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่

กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช จำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลสมิติเวชสุขุมวิท โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ โรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา โรงพยาบาลสมิติเวชธนบุรี โรงพยาบาลสมิติเวชชลบุรี และโรงพยาบาลบีเอ็นเอช

กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลพญาไท 1 โรงพยาบาลพญาไท 2 โรงพยาบาลพญาไท 3 โรงพยาบาลพญาไทนวมินทร์ และโรงพยาบาลพญาไทศรีราชา

กลุ่มโรงพยาบาลเปาโล จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลเปาโลพหลโยธิน โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย 4 และโรงพยาบาลเปาโลรังสิต

กลุ่มโรงพยาบาลท้องถิ่น จำนวน 7 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลสนามจันทร์ โรงพยาบาลเทพากร โรงพยาบาลสิริโรจน์ โรงพยาบาลเมืองเพชร โรงพยาบาลศรีระยอง โรงพยาบาลดีบุก และโรงพยาบาลเมืองราช

กลุ่มโรงพยาบาลรอยัล ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในประเทศกัมพูชา จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย Royal Angkor Pisith และ Royal Phnom Penh

กลุ่มโรงพยาบาลที่ลงทุนถือหุ้นแต่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหาร จำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลเอกอุดร โรงพยาบาลรามคำแหง และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาพยาบาล

BDMS มีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาพยาบาลจำนวน 22 แห่ง แบ่งเป็น 13 ประเภท ที่เสริมให้ BDMS กลายเป็นธุรกิจโรงพยาบาลที่ครบวงจรมากขึ้น ได้แก่(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาพยาบาลในเครือ BDMS

นี่คือภาพรวมของกลุ่มธุรกิจในเครือ BDMS ผู้ให้บริการสุขภาพของไทยที่เป็นเจ้าของกิจการโรงพยาบาลและธุรกิจเกี่ยวเนื่องรายใหญ่ที่สุดของไทย

ผลประกอบการโรงพยาบาลในตลาดหลักทรัพย์

สำหรับผลประกอบการของโรงพยาบาลในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่วนใหญ่มีผลประกอบการที่ดีอย่างต่อเนื่อง (ดูตารางประกอบ คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)