ThaiPublica > คอลัมน์ > ไชโย…ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก ควรจัดฉลองใหญ่ได้หรือยัง?

ไชโย…ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก ควรจัดฉลองใหญ่ได้หรือยัง?

12 มีนาคม 2017


บรรยง พงษ์พานิช

พลันที่สำนักข่าว Bloomberg ประกาศการจัดอันดับ Misery Index 2017 เมื่อต้นเดือนมีนาคม ก็มีเสียงขานรับกันหลายรูปแบบ เพราะปรากฏว่าประเทศไทยถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีความทุกข์ทรมาน (misery) น้อยที่สุดในโลก อยู่ในอันดับที่ 65 จาก 65 ประเทศที่ถูกนำมาจัดอันดับ ซึ่งพอเขาว่าทุกข์ทรมานน้อยที่สุด เราก็เลยแปลกลับได้ว่า มีความสุขที่สุดนั่นเอง

พวกเหล่าเสื้อเหลืองเหล่าสลิ่มอาจจะพากันดีใจยกใหญ่ อยากให้ยืดอายุการพักยกประชาธิปไตยไปอีกนานๆ เพราะตั้งแต่มีปฏิวัติ เราก็ได้อันดับหนึ่งมาสามปีซ้อน (ซึ่งความจริงก่อนหน้านั้น เราก็อยู่อันดับดีต้นๆ มาตลอด แม้แต่ตอนที่ประกาศตอนมีนาคม 2557 ซึ่งประเทศไทยกำลังแตกแยกกันเละ ผู้คนเต็มท้องถนน รัฐบาลง่อย ชาวนารอเงินขายข้าว แต่ดัชนีก็ยังบอกว่าไทยเป็นหนึ่งในสามประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก)

ส่วนพวกที่เป็นกลางๆ ก็อาจจะสงสัยหน่อยว่า เราจะสุขที่สุดได้ไง ในเมื่อปัญหาก็ยังเต็มเมืองทุกๆ ด้าน คนทุกข์ยากก็ยังเห็นเต็มไปหมด เทียบกับเมืองอื่นๆ ที่ไปเห็น น่าจะสู้เขาไม่ได้เป็นส่วนใหญ่ อย่าว่าแต่เป็นแชมเปี้ยนเลย ให้ติดหนึ่งในยี่สิบยังไม่น่าจะมีทาง

ยิ่งพวกคนส่วนใหญ่ที่ยังทุกข์ยาก ยังลำบาก ยิ่งคงงงเต๊ก ว่าดัชนีมันออกมายังงี้ได้ยังไง ก็พวกกูยังปากกัดตีนถีบ ชักหน้าไม่ถึงหลัง หนี้สินท่วมหัวอยู่เห็นๆ ใครจะมีความสุขไปได้ สงสัยมันไปถามแต่พวกไฮโซ 1% แรก ที่ยึดครองทรัพย์สิน 58% ของประเทศ (ตามCredit Suisse Global Wealth Report) ซึ่งพวกนั้นยังไงๆ มันก็ต้องมีความสุข ขนาดทำคนตายยังไม่ต้องรับโทษเลย

นี่ท่านโฆษกรัฐบาลก็รีบออกมาประกาศแสดงความชื่นชมยินดี แถมเมื่อวันศุกร์ท่านนายกฯ ก็พอใจและชมเชยหน่วยงานทั้งหลายของรัฐที่ทำให้เรามีความสุข โดยท่านบอกว่า “การวัดในลักษณะนี้ เป็นการมองความสุขในสายตาของต่างประเทศที่เห็นว่า ประเทศไทยของเรามีพัฒนาการที่ดีขึ้นในหลายๆ ด้าน ทั้งการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี มีธรรมาภิบาลมุ่งมั่นขจัดการทุจริตคอร์รัปชัน รวมทั้งการเร่งแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ โดยมีการเร่งรัดที่ประชาคมโลกให้ความสนใจ อาทิเช่น เรื่องการประมงผิดกฎหมายและไร้การควบคุม (IUU) การบินพลเรือน (ICAO) ให้เป็นไปตามกติกาสากล และในเรื่องของการค้ามนุษย์ ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลนี้ เหล่านี้เป็นต้น โดยการดำเนินการในทุกๆ มิติ ทุกๆ มาตรการของรัฐบาลและ คสช. ที่ทำอยู่ในช่วงเวลาเกือบ 3 ปี ที่ผ่านมา มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกัน และส่งผลให้เห็นผ่านตัวชี้วัดต่างๆ รวมทั้งในครั้งนี้ด้วย”

เรามาดูข้อเท็จจริงกันดีกว่านะครับ ว่าเรื่องของเรื่องมันเป็นยังไง…

ก่อนอื่นคงต้องมาทำความรู้จักเจ้า “ดัชนีความทุกข์ยาก” (Misery Index) กันสักหน่อย ว่ามันคืออะไร มีความหมายอย่างไร

Misery Index ถูกสร้างขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960s โดย Art Okun นักเศรษฐศาสตร์อเมริกัน เพื่อใช้วัดความเป็นอยู่เฉลี่ยของประชาชน โดยมีสมมติฐานง่ายๆ ว่า อัตราเงินเฟ้อ (inflation) กับ อัตราว่างงาน (unemployment) เป็นสองปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้คนทุกข์ยาก Okun ก็เลยจับสองตัวนี้ที่มีค่าเป็นเปอร์เซ็นต์มาบวกรวมกันเลย แล้วสรุปว่าถ้าตัวเลขมีค่าสูงก็แปลว่าประชาชนทุกข์ยากมากเพราะต้องผจญกับภาวะเงินเฟ้อสูงต้องซื้อของแพงขึ้น ขณะที่งานก็หายากแถมเสี่ยงที่จะตกงานเพราะอัตราว่างงานสูง

ส่วนถ้าตัวเลขมีค่าต่ำประชาชนก็น่าจะมีความสุข เพราะเงินเฟ้อต่ำแถมมีงานทำกันเป็นส่วนใหญ่

ในช่วงสามสิบปีแรกที่คิดขึ้นมา Misery Index ถูกใช้เพื่อเปรียบเทียบสภาวะในช่วงต่างๆ ของสหรัฐฯ เท่านั้น โดยเฉพาะภาวะความทุกข์ความสุขในแต่ละยุคของประธานาธิบดีแต่ละคน (น่าสังเกตว่าหลังสงครามโลก ยุคจอห์นสันจะเป็นยุคที่ประชาชนมีความสุขมากสุด ในขณะที่ Okun เป็นประธานที่ปรึกษาเศรษฐกิจของประธานาธิบดีจอห์นสัน) จนกระทั่งเมื่อไม่ถึงยี่สิบปีนี่เองจึงจะมีคนเอาไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศต่างๆ ในโลก

มีการวิพากษ์กันมากว่า การใช้แค่ปัจจัยสองอย่างในน้ำหนักที่เท่าๆ กันมาวัดความทุกข์ความสุขนั้น จะทำให้ไม่ครบถ้วนและอาจคลาดเคลื่อนสูงได้ มีการปรับปรุงกันหลายเวอร์ชัน เช่น เพิ่มเอาตัวเลขอัตราดอกเบี้ยบวกเข้าไป และลบด้วยอัตราการเติบโต แต่ไม่ว่าจะวัดด้วยสูตรไหน ประเทศไทยก็จัดว่ามีความทุกข์น้อยในกลุ่มต้นๆ ทั้งสิ้น

แล้วเรามีความสุขกันจริงๆ ไหม

ถ้าเอาประเทศไทยไปเปรียบเทียบกับประเทศที่มีค่า Misery Index สูงๆ 10 อันดับแรก อย่าง เวเนซุเอลา แชมป์ 3 ปีซ้อนที่ได้คะแนนปาเข้าไป 499.7 (เงินเฟ้อ 492% ว่างงาน 8%) หรือ แอฟริกาใต้ (32.2) อาร์เจนติน่า (30.9) กรีซ (23.2) ตุรกี (19.8) สเปน (19.6) ยูเครน (19) เซอร์เบีย (17.9) บราซิล (17.3) และอุรุกวัย (15.9) เราก็คงจะเห็นด้วยว่าประชาชนไทยน่าจะมีความสุขมากกว่า

แต่ถ้าไปเปรียบกับพวกประเทศพัฒนาแล้วอย่างพวกในยุโรปเหนือ ในสแกนดิเนเวีย สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หรือในเอเชีย อย่าง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เราก็อาจจะสงสัยว่าเรามีความสุขมากกว่าเขา มีความทุกข์น้อยกว่าเขาตามที่ดัชนีชี้บอกจริงหรือ

ตามอันดับในดัชนี มีประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้นที่มีดัชนีตำ่กว่า 3 คือมี 2.6 และมีแค่อีก 4 ประเทศเท่านั้นที่ตำ่กว่า 5 คือ สิงคโปร์ (3.1) สวิตเซอร์แลนด์ (3.6) ญี่ปุ่น (3.6) และไอซ์แลนด์ (4.6) นอกนั้นล้วนมีความทุกข์เกิน 5 ทั้งสิ้น

ที่พี่ไทยมีความสุขชนะคนอื่นหลุดลุ่ยก็เพราะเรามีคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่ 1.6% และมีคาดการณ์อัตราการว่างงานเพียง 1.0% เท่านั้น

การที่เรามีเงินเฟ้อต่ำนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย ถึงแม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโลกจะมีอัตราเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำอยู่ที่ประมาณปีละ 3% แต่การที่เรามีเงินเฟ้อ -0.9% ในปี 2015 และ 0.2% ในปี 2016 นั้น เป็นที่น่าเป็นห่วงว่าจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ถึงแม้ว่าปี 2017 คาดว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มเป็น 1.6% แต่ก็ยังต่ำมากถ้าเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่คาดว่าจะเฟ้อ 4.5%

แน่นอนครับ เงินเฟ้อสูงมากๆ ย่อมนำความทุกข์ยากมาให้ประชาชน แต่เงินเฟ้อต่ำเกินไปก็ทำให้การพัฒนาหยุด การเติบโตชะงัก โดยเฉพาะประเทศอย่างเราที่คนจำนวนมากมีรายได้ขึ้นกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity) ที่ราคาดันลดลง ย่อมทำให้คนกลุ่มนี้เดือดร้อน ซึ่งดันเป็นคนส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อยเสียอีก

ส่วนเรื่องอัตราการว่างงาน ที่ประเทศไทยครองแชมป์ว่ามีคนว่างงานน้อยที่สุดในโลกต่อเนื่องมาหลายปี โดยเป็นหนึ่งในสองประเทศในโลกเท่านั้นที่มีอัตราการว่างงานต่ำกว่า 1% (มีเพียงกาตาร์ที่มีพลเมืองแค่สองล้านเศษอีกประเทศเท่านั้น) ประเทศนอกนั้นมีการว่างงานมากกว่า 2% ทั้งหมด โดยในภาวะปรกติที่เศรษฐกิจเติบโตได้ดี ประเทศพัฒนาแล้วจะมีอัตราว่างงาน 4-7 % อย่างอเมริกาที่ตอนนี้ถือว่าดีจนจะต้องขึ้นดอกเบี้ยก็เพราะมีอัตราว่างงานแค่ 4 % เศษ

ที่ตัวเลขการว่างงานเราต่ำอย่างไม่น่าเชื่อเช่นนี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเป็นห่วงว่าไม่ได้สะท้อนภาวะแท้จริง เพราะนิยามที่สำนักงานสถิติแห่งชาติใช้คือคนที่มีงานทำอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็ถือว่ามีงานทำแล้ว ถ้าโรงงานปิดตกงานกลับบ้านนอก แค่ไปช่วยเก็บถั่วฝักยาวที่บ้านสักอาทิตย์ละครั้งก็ถือว่ามีงานทำแล้ว การจ้างงานไม่เต็มที่ (underemployment) ที่ประเทศไทยมีเยอะไม่ถูกนับใน Misery Index แถมเวลามีการสำรวจ คนว่างงานไทยไม่ค่อยจะชอบเปิดเผยตัว เพราะเปิดไปก็อายเปล่าๆ ไม่ได้อะไร ไม่มีสวัสดิการใดๆ ให้เหมือนประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายที่คนว่างงานเขารีบไปรายงานตัวรับเงินสวัสดิการ

นอกจากนั้น ถ้าเราไม่มีคนว่างงานจริงๆ ยิ่งน่าเป็นห่วงใหญ่ว่าเศรษฐกิจชะงักงันติดกับอยู่อย่างนี้ แถมกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ “แก่ก่อนรวย” แล้วจะเอาคนจากไหนมาช่วยเพิ่มผลผลิต

สรุปว่า การที่เราได้แชมป์โลกสามปีซ้อน มี Misery Index (ที่เอาอัตราเงินเฟ้อกับอัตราการว่างงานมาบวกกันดื้อๆ) ต่ำที่สุดในโลกนั้นเป็นเรื่องควรดีใจควรฉลองหรือควรกังวลควรทุ่มเททำงานให้หนักขึ้นนั้นยังน่าสงสัยนัก ถ้ามีหน่วยงานไหนควรได้รับคำชมเชยควรได้รางวัล ก็น่าจะมีแค่สำนักงานสถิติแห่งชาติแหละครับ ที่ช่วยนิยามช่วยสำรวจการว่างงานซะจนเราทิ้งห่างทุกประเทศแบบไม่เห็นฝุ่น

ที่เขียนมาทั้งหมดนี่ ไม่ได้ตั้งใจจะขัดคอ หรือจะขัดขวางให้เสียบรรยากาศการฉลองข่าวดีใดๆ เลยนะครับ เพียงแต่อยากให้ตระหนักถึงความจริง ไม่อยากให้มีความประมาทใดๆ นะครับ เรายังมีงานต้องทำอีกเยอะ ก่อนที่ความทุกข์ยากของประชาชนทั้งหลายจะหมดไป

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich 11 มีนาคม 2560