ThaiPublica > คอลัมน์ > ข้อเสนอต่อประเทศไทย (ตอนที่1): ปูพื้นเรื่องปัญหา

ข้อเสนอต่อประเทศไทย (ตอนที่1): ปูพื้นเรื่องปัญหา

21 ธันวาคม 2013


“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” โดย “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ซึ่งเขียนเป็นซีรีส์ 7 ตอนในเฟซบุ๊ก “Banyong Pongpanich”

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2556 ผมได้รับเชิญให้ไปบันทึกเทปรายการ “ทางออกประเทศไทย” ของสถานี ThaiPBS ซึ่งออกอากาศไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2556

กับคำถามว่า ในฐานะนักธุรกิจ ผมมีข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์อย่างไร ผมต้องออกตัวว่า ขอพูดในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เพราะสิ่งที่จะพูด นักธุรกิจเขาไม่พูดกัน เนื่องจากคนอาจจะไม่ชอบทั้งสองฝ่าย แถมไม่มีประโยชน์กับผู้พูด เรียกว่า น่าจะขาดทุน ผิดวิสัยนักธุรกิจ

แน่นอนครับ ผมคงไม่เก่งพอที่จะมีข้อเสนอแนะแบบเจ๋งๆ ทำแล้วแก้ปัญหาได้หมดในทันที แต่ผมมีแนวคิดบางอย่างอยากให้พิจารณากัน

ก่อนอื่น ผมขอตั้งคำถามก่อนว่า เรารู้หรือยังว่า พื้นฐานความแตกแยกใหญ่หลวงครั้งนี้คืออะไร มีพัฒนาการความเป็นมาอย่างไร

ทำไมคนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งหลายล้านคน ถึงลุกขึ้นมารวมตัวกัน มุ่งมั่นต่อต้าน ประกาศก้อง “เราไม่เอาระบอบทักษิณ” ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ (ตามการสังเกตของผม) ได้แก่ คนที่มีฐานะดี หรือค่อนข้างดี มีการศึกษาตามระบบค่อนข้างสูง (หรืออย่างน้อยก็เข้าใจว่าตนการศึกษาสูง) เป็นคนชั้นบนและชั้นกลางที่เข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้ดี ถ้าเป็นนักวิชาการ ก็เป็นประเภทอนุรักษนิยม ถ้าเป็นข้าราชการก็เป็นพวกที่ไม่ได้รับการนับเข้าเป็นพวก (จากผู้มีอำนาจปัจจุบัน) หรือถูกรังแก ถ้าเป็นนักธุรกิจ ก็เป็นพวกที่ไม่ได้อาศัยอำนาจรัฐ หรือเข้าไม่ถึงอำนาจรัฐ

แต่ขณะเดียวกัน อีกกลุ่มใหญ่ (ที่อาจมีมากกว่าด้วยซ้ำ) กลับยกย่องเทิดทูน แทบจะสละชีพเพื่อปกป้อง ถือว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวแทนของระบบประชาธิปไตยเลยทีเดียว พวกนี้มักเป็นคนรากหญ้า คนที่ปกติมีโอกาสทางเศรษฐกิจน้อย ถ้าเป็นนักวิชาการก็มักเป็นพวกหัวก้าวหน้า ไม่ชอบความเหลื่อมล้ำ เป็นนักประชาธิปไตย ถ้าเป็นนักการเมือง ข้าราชการ หรือนักธุรกิจ ก็จะเป็นพวกที่ได้รับการนับเป็นพวกจากผู้มีอำนาจ หรือกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากระบบ “พรรคพวกนิยม”

ส่วนสาเหตุที่เห็นต่าง หลายคนในกลุ่มแรกคงอยากตอบอย่างมั่นใจด้วยกำปั้นทุบดินเลยว่า ก็เพราะเงิน เพราะโง่ เพราะโดนหลอกนะสิ ขณะที่กลุ่มหลัง ก็มองกลุ่มแรกว่า เพราะผลประโยชน์ เพราะความได้เปรียบอย่างไม่ยุติธรรม จึงพยายามรักษาสถานะ “อำมาตย์” ไว้ มันง่ายๆ อย่างนี้เลยหรือ ประเทศจึงแยกเป็นสองเสี่ยง

ผมไม่ใช่ปราชญ์ ไม่ใช่นักคิด ไม่ใช่นักรัฐศาสตร์ ทั้งไม่ใช่นักวิชาการ แต่จะขอเสนอทฤษฎีความเป็นมาของความขัดแย้งนี้ โดยจะใช้หลักเศรษฐศาสตร์นำการวิเคราะห์ เพื่อหวังว่าถ้ามีการนำไปวิเคราะห์วิจัยต่อ จนเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างถาวรได้

ที่มาภาพ : Reuters
ที่มาภาพ : Reuters

ผมขอมองย้อนหลังไป 13 ปี เมื่อต้นปี 2544 ที่พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้ง และ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อดูพัฒนาการของความแตกแยก และพยายามเข้าใจคำว่า “ระบอบทักษิณ”

ก่อนหน้านั้น ความแตกต่าง แตกแยก ย่อมมีอยู่บ้างแล้ว แต่อาจไม่ชัดเจน ไม่เป็นรูปธรรม ไม่รุนแรงพอที่จะเป็นปัญหาใหญ่ ผมขอแบ่งกลุ่มประชาชนออกเป็นกลุ่มตามมิติ 3 ด้าน ดังนี้

1) มิติความเหลื่อมล้ำ คือกลุ่มที่มีรายได้และความมั่งคั่งสูง กับ กลุ่มยากจน ความจริงถ้าวัดตามความยากจน ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา คนไทยที่ยังอยู่ภายใต้นิยามยากจนตามสหประชาชาติลดลงอย่างมาก จากกว่าร้อยละ 42 เหลือเพียงร้อยละ 9.6 แต่ด้านความเหลื่อมล้ำ ที่วัดจากค่าสัมประสิทธิ์ Gini ดีขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ความเหลื่อมล้ำที่วัดจากรายได้ของคน ที่รวยร้อยละ 20 บนสุด กับ ร้อยละ 20 ล่างสุด แตกต่างกันถึง 13 เท่า คนร้อยละ 1 แรก มีรายได้ถึง 13% ของรายได้ทั้งหมด ตัวเลขเหล่านี้แสดงความเหลื่อมล้ำที่สูงมาก ถึงแม้จะคงที่ หรือไม่เลวลง แต่เมื่อรวมกับการเปลี่ยนแปลงด้านอื่นๆ แล้วทำให้เกิดปัญหา ดังผมจะวิเคราะห์ต่อไป

2) มิติด้านถิ่นที่อยู่ (Urbanization) ถ้าสังเกตทั่วประเทศ จะเห็นการขยายตัวและการอพยพเข้าสู่เขตเมืองอย่างมากในทุกๆ จังหวัดทั่วประเทศ ตามลักษณะเศรษฐกิจที่ปรับตัวจากเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรม การพาณิชย์ และบริการ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 เรามีแรงงานภาคเกษตรอยู่ 14.5 ล้านคนจาก 30 ล้านคน คิดเป็นเกือบครึ่ง แต่ปัจจุบันเราก็ยังคงมี 14.5 ล้านคน จาก 39 ล้านคน ลดลงเหลือแค่ 37% แถมอายุเฉลี่ยเกษตรกรเพิ่มจาก 42 ปี เป็น 50 ปี ใน 16 ปี ซึ่งหมายถึงว่า คนรุ่นใหม่แทบไม่ได้เป็นเกษตรกรเลย เข้าไปเรียนในเมืองแล้วไม่ยอมกลับชนบท กลายเป็นแรงงานไร้ทักษะ หรือทำงานอิสระนอกระบบอยู่ในเมือง

3) มิติที่สาม คือ มิติด้านการศึกษา ในประเทศเรา ความเหลื่อมล้ำในด้านโอกาสที่จะได้รับการศึกษาในคุณภาพใกล้เคียงกันมีสูงมากมานานแล้ว จริงอยู่ คนได้รับการศึกษาเป็นจำนวนมากขึ้น อัตราการอ่านออกเขียนได้ (literacy rate) เราสูงถึง 92.6% แต่คุณภาพเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราก็รู้ว่าระบบการศึกษาของเราค่อนข้างล้มเหลว ไม่ตอบโจทย์ เคยมีคนพูดว่า “ในแง่การปกครอง คนได้รับการศึกษาบ้าง สร้างปัญหามากกว่าคนไร้การศึกษา”

ถึงตอนนี้ พอผมแยกคนออกเป็น 3 มิติ มิติละ 2 กลุ่ม ก็คงพอจะมองออกนะครับ ว่าคู่กรณีของเราปัจจุบันนั้น “ไผเป็นไผ” พวกไหนใส่เสื้อสีอะไร ความจริงนั้น ความแตกแยกเริ่มต้นเกิดจากวิวัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่แล้ว และเป็นกระบวนการวิวัฒนาการธรรมดาที่เกิดขึ้นทุกแห่งตลอดเวลา มี “ทักษิณหรือไม่มีทักษิณ” ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ตามกระบวนการเวทีต่อรองที่จะเกิดขึ้น

แล้ว “ระบอบทักษิณ” คืออะไร มาเกี่ยวข้องกับมิติเหล่านี้ได้อย่างไร ก่อให้เกิดความแตกแยกได้อย่างไร อะไรเป็นผลงาน อะไรเป็นข้อผิดพลาด แล้วเราควรจะปรับ จะรับ จะเดินหน้ากันต่ออย่างไร ไม่ให้เกิดระเบิด เกิดสงครามกลางเมือง เกิดหลายทศวรรษที่หายไปของประเทศ

ผมคงต้องขอยกยอดไปต่อตอนที่ 2 วันนี้คงขอแค่ฉายหนังตัวอย่างไปก่อน เรื่องอย่างนี้ต้องว่ากันอย่างละเอียด