ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้ว่าแบงก์ชาติชี้เศรษฐกิจโลก-ไทย-อาเซียน อยู่ในภาวะ “สามต่ำสองสูง” ภูมิคุ้มกันที่ดีเป็นหน้าที่ของทุกคน

ผู้ว่าแบงก์ชาติชี้เศรษฐกิจโลก-ไทย-อาเซียน อยู่ในภาวะ “สามต่ำสองสูง” ภูมิคุ้มกันที่ดีเป็นหน้าที่ของทุกคน

30 พฤศจิกายน 2016


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มาภาพ : ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มาภาพ : ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถา “บทบาทธนาคารแห่งประเทศไทยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง” ในงานสัมมนาทางวิชาการประจำปี ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ “ประเทศไทย 4.0” ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา มีรายละเอียดดังนี้

“ผมยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสต้อนรับทุกท่านในงานสัมมนาวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ในวันนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่พวกเราไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ นักการเงิน และผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ จะได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองทางเศรษฐกิจกับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม และประเมินโอกาสตลอดจนความท้าทายท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง รวมทั้งการเดินหน้าสู่ยุค “ประเทศไทย 4.0” เพื่อที่พวกเราจะพร้อมรับมือตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน”

สภาวะเศรษฐกิจโลก “สามต่ำสองสูง”

ในการบรรยายวันนี้ ผมขอเริ่มต้นด้วยสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลก เพื่อทบทวนเหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมา และคาดการณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น หลังจากนั้นผมจะพูดถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยภายใต้บริบทของเศรษฐกิจโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง และนัยต่อบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยและผู้ประกอบการเอกชนไทย เพื่อที่เราจะสามารถเตรียมตัวรับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น

เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันนี้อยู่ในสภาวะที่ผมขอเรียกว่าเป็นสภาวะสามต่ำสองสูง สามต่ำหมายถึง อัตราการขยายตัวต่ำ อัตราเงินเฟ้อต่ำ และอัตราดอกเบี้ยต่ำ ตัวแปรทั้งสามอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานาน และในระยะข้างหน้าก็ยังไม่มีทีท่าจะปรับตัวเข้าใกล้ค่าเฉลี่ยในอดีตได้ สำหรับสองสูง ผมหมายถึงตลาดเงินตลาดทุนจะผันผวนสูง และอีกด้านหนึ่ง ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกกระจุกตัวสูง ผลประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากวิกฤติการเงินโลกในปี 2551 ไม่ได้กระจายตัวอย่างทั่วถึง

ในด้านสามต่ำ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกือบร้อยละ 70 ของประเทศในโลกมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมหลัก แม้เราจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นในสหรัฐอเมริกาและในสหภาพยุโรปบางประเทศ แต่ญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักรยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ และเปราะบาง และต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจาก Brexit ที่จะมีความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้นอีกในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำ มาจากการที่ผลิตภาพหรือความสามารถในการผลิตเติบโตต่ำลง โดยผลิตภาพที่มีผลต่อการเติบโตของ GDP ปรับลดลงร้อยละ 30 ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในช่วงปี 2553-2557 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต และลดลงร้อยละ 25 ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ทั้งๆ ที่ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ผลิตภาพที่เติบโตต่ำเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นกฎเกณฑ์ กฎหมายที่ไม่เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง ข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน การกระจุกตัวของเจ้าของเทคโนโลยีใหม่ๆ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่เป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น และที่สำคัญ คือ การลงทุนของภาคเอกชนที่อยู่ในระดับต่ำ สถานการณ์เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะยังถ่วงการฟื้นตัวของอุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจโลก และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อคงอยู่ในระดับต่ำ (ซึ่งเป็นต่ำตัวที่สอง)

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำยังได้รับอานิสงส์จากอุปทานพลังงานส่วนเกินที่ส่งผลให้ราคาพลังงานลดลงมาก ในช่วงที่ผ่านมา เราพบแหล่งพลังงานใหม่ๆ พบเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้ต้นทุนการขุดเจาะพลังงานต่ำลงมาก ในปีที่แล้ว หนึ่งในสามของประเทศพัฒนาแล้วและหนึ่งในหกของประเทศกำลังพัฒนามีอัตราเงินเฟ้อติดลบ อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำทั่วโลก ทำให้ภาระหนี้ที่แท้จริงของธุรกิจและครัวเรือนไม่สามารถลดลงได้เร็ว ธุรกิจก็ไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้เร็วตามที่คาดการณ์ไว้แต่เดิม และรายได้ของประชาชนก็ไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้เร็วอย่างที่เคยคาด กำลังซื้อและการบริโภคของประชาชนส่วนหนึ่งก็ถูกลดทอนไปด้วย

การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกยังมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีน จากที่เน้นการลงทุนไปสู่การบริโภคและการบริการมากขึ้น จนกระทบต่อความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์และกดดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งโลก ซึ่งรวมถึงราคายางพาราให้อยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ กำลังการผลิตส่วนเกินของจีนที่ยังมีอยู่สูง และความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุนการผลิต ส่งผลให้ราคาสินค้าอุตสาหกรรมหลายชนิดไม่สามารถปรับสูงขึ้นได้ และอาจปรับลดลงด้วยซ้ำไป ภาวะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำมากเป็นเวลานาน ส่งผลให้การลงทุนอยู่ในระดับต่ำและทั่วโลกมีเงินออมส่วนเกิน

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ธนาคารกลางสามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนปรนได้มากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดการต่ำตัวที่สาม คือ อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำทั่วโลก ประเทศอุตสาหกรรมหลักหลายประเทศใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบเพื่อจูงใจสถาบันการเงินให้เร่งปล่อยสินเชื่อ และจูงใจให้ภาคเอกชนใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภคและลงทุนแทนที่จะออมเงิน อัตราดอกเบี้ยระดับต่ำหรือติดลบต่อเนื่องมาเป็นเวลานานเริ่มส่งผลให้เกิดการบิดเบือนโครงสร้างระบบการเงิน ที่ปกติจะต้องมีผลตอบแทนของการออมหรือการลงทุนเป็นบวกและสูงขึ้นตามระยะเวลาที่ออมหรือลงทุน เมื่ออัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมาก การเร่งแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นหรือที่เรียกว่า search for yield โดยประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ก็เกิดในทุกระดับไม่ว่าจะเป็นประชาชน ธุรกิจ และสถาบันการเงิน

มองไปข้างหน้า ธนาคารกลางในประเทศอุตสาหกรรมหลักหลายแห่งจะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรนมากและอัดฉีดสภาพคล่องโดยตรงต่อเนื่อง ก่อให้เกิดสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินโลก เงินทุนเหล่านี้ก็จะไหลเข้าสู่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่ตลาดการเงินโลกที่มีสภาพคล่องส่วนเกินสูงจะอ่อนไหวต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นักลงทุนจึงอาจจะเปลี่ยนจากสภาวะกล้าเสี่ยงเป็นสภาวะกลัวเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว และพร้อมจะดึงเงินกลับไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเหมือนกับที่เกิดขึ้นในช่วง 2 อาทิตย์ที่ผ่านมาหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตลาดการเงินโลกจึงมีความผันผวนสูง เป็นลักษณะสูงตัวแรกตามที่ผมได้เกริ่นนำไว้

ความผันผวนที่เกิดกับตลาดเงินโลก อัตราแลกเปลี่ยน และราคาสินทรัพย์ทั่วโลก จะคงอยู่กับเราต่อไป ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งที่เราพอมองเห็นและยังคาดเดาไม่ออก ปัจจัยเหล่านี้ ได้แก่ ช่วงเวลาและความเร็วของการปรับนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก กระบวนการ Brexit ของสหราชอาณาจักร การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีน การเลือกตั้งในยุโรปอีกหลายประเทศในปีหน้า ตลอดจนความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจและการต่างประเทศของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา

ลักษณะสูงตัวที่สอง คือ การกระจุกตัวสูงของผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือมีคนเพียงส่วนน้อยในโลกที่ได้รับผลประโยชน์ส่วนใหญ่จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา ในขณะที่คนส่วนใหญ่ในโลกรู้สึกว่าการกระจายตัวของผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่ทั่วถึงและไม่เป็นธรรม ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างขึ้นในหลายประเทศ เมื่อการกระจายผลประโยชน์ที่เกิดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง ประชาชนจึงเริ่มแบ่งขั้วทางความคิดกันมากขึ้น เกิดกระแสต่อต้านกระบวนการโลกาภิวัตน์ ต่อต้านสถาบันทางเศรษฐกิจและการเมืองแบบดั้งเดิม รวมทั้งต่อต้านชนชั้นผู้นำและธุรกิจขนาดใหญ่ ประชาชนหลายกลุ่มไม่แน่ใจในอนาคต ไม่เห็นโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง ส่งผลให้เกิดกระแสชาตินิยม กระแสประชานิยมในหลายประเทศ และหลายประเทศมีแนวโน้มกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น ปรากฏการณ์ Brexit และ Trump ชนะ ที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน

สภาพเศรษฐกิจโลกแบบ สามต่ำสองสูง หรือ เศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำ อัตราเงินเฟ้อต่ำ อัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่ต้องเผชิญกับความผันผวนสูง และผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นมีลักษณะกระจุกตัวสูง จะยังอยู่กับเราไปอีกระยะหนึ่ง เพราะหลายเรื่องเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องใช้เวลานานในการแก้ไข และหลายเรื่องยังไม่เห็นทางออกที่ชัดเจน

เศรษฐกิจไทย-ASEAN อยู่ในภาวะสามต่ำสองสูงเช่นกัน

เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจในภูมิภาค ASEAN ก็กำลังเผชิญกับภาวะสามต่ำสองสูงเช่นเดียวกัน แต่ความรุนแรงของปัญหาสามต่ำสองสูงในเศรษฐกิจไทยและภูมิภาค ASEAN ยังไม่รุนแรงเท่ากับที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นตลอดช่วงสามปีที่ผ่านมา GDP ในสามไตรมาสแรกของปีนี้เติบโตได้ร้อยละ 3.3 และเริ่มมีการขยายตัวที่ชัดเจนขึ้นในหลายภาคเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานของเรายังอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อเริ่มปรับขึ้นจากที่เคยติดลบต่อเนื่องถึง 15 เดือน เศรษฐกิจไทยได้รับอานิสงส์ทั้งจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลโดยต่อเนื่อง และจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศรอบบ้านที่กำลังขยายตัว ปรับโครงสร้าง และมีชนชั้นกลางเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังสามารถรองรับความผันผวนจากระบบการเงินโลกได้ดี เพราะเรามีกันชนด้านต่างประเทศที่เข้มแข็ง ดุลบัญชีเดินสะพัดของเราเกินดุลสูงเป็นประวัติการณ์ถึงร้อยละ 8 ของ GDP ในปีที่แล้ว และจะเกินดุลสูงเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงกว่าหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นถึง 3.2 เท่า และสูงกว่าหนี้สินต่างประเทศทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นหนี้ของเอกชนหรือรัฐบาลรวมกันถึง 1.3 เท่า ขณะที่ธุรกิจและรัฐบาลไทยพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากในประเทศเป็นหลัก สัดส่วนการถือครองพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติอยู่ที่เพียงร้อยละ 9 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อีกหลายประเทศ ปัจจัยเหล่านี้เป็นภูมิคุ้มกันที่จะช่วยลดแรงปะทะที่อาจจะเกิดขึ้นจากความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนโลกได้

เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินไทยก็ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนในระดับสูงที่ร้อยละ 18.5 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง และเงินสำรองหนี้เสียที่เกินกว่าร้อยละ 160 ของเงินสำรองพึงกันและมีความสามารถในการทำกำไรในระดับที่ใช้ได้ สามารถรองรับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง ตามตัวเลข NPL ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.9 เมื่อเดือนที่แล้ว สะท้อนผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไปและไม่กระจายตัว

อย่างไรก็ดี สภาวะเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ฟื้นตัว ทำให้การกระจายตัวของผลประโยชน์ไม่ทั่วถึง ครัวเรือนในภาคการเกษตรได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ตกต่ำ กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีสายป่านสั้นได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ผู้ส่งออกในหลายธุรกิจยังเผชิญกับการค้าโลกที่ซบเซาต่อเนื่องและอาจเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจึงยังอยู่ในสภาวะที่เปราะบาง

ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าสภาวะเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปีนี้ในระดับที่ใกล้เคียงกัน โดยยังมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ สำหรับการบริโภคที่อาจจะชะลอตัวในเวลานี้ เชื่อว่าจะชะลอตัวลงชั่วคราวและจะกลับมาขยายตัวต่อเนื่องในปีหน้า การท่องเที่ยวก็มีแนวโน้มจะกลับมาขยายตัวได้สูงขึ้นในปีหน้า จากที่ชะลอลงบ้างช่วงปลายปีนี้ อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวจีนอาจขยายตัวน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ เนื่องจากมาตรการจัดระเบียบนักท่องเที่ยวราคาถูกหรือทัวร์ศูนย์เหรียญ

ในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกจะยังคงอยู่ในสภาวะที่เรียกว่าสามต่ำสองสูงต่อเนื่องไปอีกช่วงหนึ่ง เราควรให้ความสำคัญกับการยกระดับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจไทยมากกว่าสนใจเพียงตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ ความท้าทายหลักที่เราต้องเร่งดำเนินการหาทางแก้ไข คือ การเร่งเพิ่มผลิตภาพ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่จะทำให้เราสามารถเดินหน้าไปสู่ “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นหลัก

ทั้งนี้ ตัวเลขผลิตภาพโดยรวมของไทยทรงตัวหลังจากวิกฤติการณ์การเงินโลกเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ เศรษฐกิจไทยจึงต้องเร่งเพิ่มผลิตภาพในหลายด้าน ทั้งการลดปัจจัยที่เป็นอุปสรรคหรือเป็นต้นทุนแฝงของการทำธุรกิจ เร่งสร้างนวัตกรรม สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยยกระดับผลิตภาพของเศรษฐกิจไทย เร่งการลงทุนของทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงเร่งยกระดับคุณภาพการศึกษา ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่งสำหรับการยกระดับผลิตภาพของเศรษฐกิจไทย

แบงก์ชาติกับบทบาทสร้างภูมิคุ้มกัน

ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาเชิงโครงสร้างตามที่ผมได้กล่าวมาข้างต้นนั้น พวกเราทุกคนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงิน หรือธุรกิจเอกชน มีหน้าที่ที่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อให้สามารถรับมือกับความผันผวนในอนาคต และมีหน้าที่ที่ต้องช่วยกันยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย ผมขอเล่าถึงบทบาทหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยก่อนที่จะขอพูดถึงบทบาทของภาคเอกชนในสองด้านนี้

สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย พันธกิจหลักของเราก็คือการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน ต้องสร้างภูมิคุ้มกันที่เรามีอยู่ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยดูแลเสถียรภาพด้านราคา เสถียรภาพระบบการเงิน ระบบสถาบันการเงิน และระบบการชำระเงิน

ในการดูแลเสถียรภาพด้านราคา คณะกรรมการนโยบายการเงินดำเนินนโยบายการเงินในทิศทางที่ผ่อนปรนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้เข้าใกล้ระดับเต็มศักยภาพ และอัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งล่าสุดได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อเริ่มมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ภาวะการเงินยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลาย และเสถียรภาพการเงินยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นเนื่องจากภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน รวมทั้งเศรษฐกิจด้านต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอนสูง คณะกรรมการนโยบายการเงินจึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินไว้ใช้ในกรณีที่จำเป็น

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ระมัดระวังไม่ให้เงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจผันผวนจากความไม่แน่นอนต่างๆ มากระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย พร้อมกับได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ด้านเงินทุนขาออกเพื่อให้เงินทุนเคลื่อนย้ายทั้งขาเข้าและขาออกมีความสมดุลกันมากขึ้น ตามแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ เช่น อนุญาตให้เพิ่มวงเงิน เพิ่มช่องทาง และประเภทนักลงทุนที่สามารถลงทุนในต่างประเทศได้โดยตรง รวมถึงการขยายวงเงินสำหรับไปลงทุนในต่างประเทศ และการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศด้วย

ด้านการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดตั้งกลุ่มงานใหม่ด้านเสถียรภาพระบบการเงินหรือกลุ่มงาน financial stability เพื่อที่จะ “จับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน และป้องกันอย่าให้ลาม” กลุ่มงานนี้จะพัฒนาทั้งจอเรดาร์ติดตามความเสี่ยงต่างๆ ในระบบการเงิน และพัฒนามาตรการกำกับดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ (macroprudential measure) ให้พร้อมรับกับความเสี่ยงใหม่ๆ มุ่งป้องกันการก่อตัวของความเสี่ยงเชิงระบบจากจุดเปราะบางต่างๆ ในระบบการเงิน และสามารถออกมาตรการใช้กับเฉพาะกลุ่มเป้าหมายได้ รวมทั้งเป็นแกนในการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆ ระบบการเงินมีความเชื่อมโยงกันมากและพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นหรือ พฤติกรรม search for yield อาจสร้างความเปราะบางได้หลายจุดถ้าเราไม่ระมัดระวังและป้องกันแต่เนิ่น ๆ

ด้านการดูแลสถาบันการเงินแต่ละแห่ง การตรวจสอบและติดตามสถานะของสถาบันการเงินต้องเท่าทันและมีลักษณะเชิงรุกมากขึ้น สถาบันการเงินต้องมีกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพและมีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ไม่สร้างความเสี่ยงใหม่ๆ โดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ เราต้องมุ่งยกระดับความสามารถด้าน cyber security ของสถาบันการเงิน ความสำคัญของความเสี่ยงด้านไซเบอร์จะมีมากขึ้นในระบบการเงินยุคดิจิทัล

ด้านเสถียรภาพระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยสนับสนุนและส่งเสริมให้โครงสร้างระบบการชำระเงินของประเทศมีความทันสมัย มั่นคง ปลอดภัย รวมทั้งขยายขอบเขตการกำกับดูแลให้เท่าทันต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นวัตกรรม และระบบการชำระเงินใหม่ๆ พ.ร.บ.ระบบการชำระเงินฉบับใหม่จะครอบคลุมผู้ให้บริการระบบการชำระเงินที่หลากหลาย และมีมาตรฐานการกำกับดูแลระบบการชำระเงินที่เป็นสากลมากขึ้น

พันธกิจหลักอีกด้านของธนาคารแห่งประเทศไทย คือ งานด้านการพัฒนา ที่จะช่วยยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย ขยายโอกาสให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าถึงบริการทางการเงินด้วยต้นทุนที่เป็นธรรม ให้ธุรกิจไทยได้รับประโยชน์จากระบบการเงินของประเทศอย่างเต็มที่ และสร้างความเชื่อมโยงกับระบบการเงินต่างประเทศ โดยเฉพาะระบบการเงินในภูมิภาค ASEAN

ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังดำเนินการตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3 ซึ่งครอบคลุมห้าปีข้างหน้านี้ เพื่อส่งเสริมให้ระบบการเงินไทยมีการแข่งขันกันมากขึ้น มีนวัตกรรมทางการเงิน มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์คนกลุ่มต่างๆ และมีบุคลากรทางการเงินที่มีความสามารถ เราคาดหวังให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรมมากขึ้น เราต้องการสนับสนุนให้ระบบการเงินไทย “แข่งได้ เข้าถึง เชื่อมโยง และยั่งยืน”

มาตรการสำคัญด้านหนึ่งที่จะทำให้ระบบการเงินแข่งได้และเข้าถึงได้มากขึ้น คือ การปรับตัวสู่การให้บริการ digital banking ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสถาบันการเงินและค่าใช้จ่ายของประชาชนผู้ใช้บริการ ช่วยเพิ่มช่องทางและขยายโอกาสการเข้าถึงบริการชำระเงินและสินเชื่อได้ด้วยราคาที่ถูกลง ธนาคารแห่งประเทศไทยมุ่งส่งเสริม FinTech หรือเทคโนโลยีทางการเงินสมัยใหม่ โดยเฉพาะ FinTech ที่จะช่วยเติมเต็มช่องว่างในการให้บริการทางการเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยมุ่งส่งเสริมความเชื่อมโยงทางการเงินในภูมิภาคมากขึ้น เศรษฐกิจในภูมิภาคจะเป็นฐานสำคัญทั้งในด้านการผลิตและการตลาดของไทย แต่ในวันนี้ ความเชื่อมโยงทางการเงินกับภูมิภาคยังตามหลังความเชื่อมโยงทางการค้าและการลงทุนอยู่มาก ธนาคารพาณิชย์ไทยยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการมีสาขาในภูมิภาคอย่างเต็มที่ การทำธุรกรรมโอนเงินกับประเทศ CLMV ที่อยู่รอบบ้านของเรายังมีต้นทุนสูงและไม่สะดวก มีหลายมาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ไทยขยายบทบาทการให้บริการทางการเงินไปยังประเทศในภูมิภาค รวมทั้งส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์จากต่างประเทศใช้ไทยเป็นฐานในการเชื่อมโยงกับระบบการเงินในภูมิภาค ส่งเสริมความเชื่อมโยงของระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศ โดยได้เริ่มประกาศใช้กับประเทศจีนและมาเลเซียแล้วในปัจจุบัน และอยู่ระหว่างทำข้อตกลงกับอีกหลายประเทศ

สำหรับผู้ประกอบการที่มีธุรกรรมค้าขายกับมาเลเซีย ท่านสามารถเลือกใช้บริการชำระเงินธุรกรรมการค้าในเงินสกุลริงกิตหรือบาทได้กับธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ การส่งเสริมให้ใช้เงินริงกิตหรือบาทจะลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากความผันผวนของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนิยมใช้กันแต่เดิม และทำให้ผู้ประกอบการสามารถพักเงินที่ได้รับในบัญชีเงินสกุลท้องถิ่นได้ ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ แม้ว่ามูลค่าอาจจะยังไม่สูงมากเท่าไหร่ แต่ทั้งยอดการซื้อขายเงินริงกิตและจำนวนผู้นำเข้าชาวไทยที่ใช้เงินริงกิตเพิ่มสูงขึ้นโดยต่อเนื่อง

ด้านการให้บริการทางการเงินอย่างยั่งยืน คนไทยส่วนใหญ่ยังออมเพื่อยามเกษียณไม่เพียงพอแม้ว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขณะที่หนี้ครัวเรือนของไทยก็ยังอยู่ในระดับสูง ประชาชนยังขาดการวางแผนทางการเงินและวินัยทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยจะผลักดันให้เกิดระบบนิเวศที่ส่งเสริมวินัยทางการเงินและการให้บริการทางการเงินอย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ผู้ใช้บริการการเงินต้องเข้าใจสิทธิของตน ได้รับการคุ้มครอง และสามารถเลือกใช้บริการทางการเงินได้ตรงกับความต้องการ ตลอดจนสนับสนุนให้สถาบันการเงินมีมาตรฐานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่ชัดเจน พร้อมกันกับดำเนินธุรกิจด้วยหลักธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

การพัฒนาระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์เป็นอีกมาตรการหนึ่งที่สำคัญมาก ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับกระทรวงการคลังและสมาคมธนาคารไทยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินใหม่ๆ ในวันนี้เรามีผู้ใช้บริการโอนเงินและถอนเงินข้ามธนาคารทางอิเล็กทรอนิกส์เฉลี่ยสูงถึง 3.9 ล้านรายการต่อวัน คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาททุกวัน แต่การใช้บริการการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค หนึ่งในโครงการที่เรากำลังดำเนินการอยู่ คือ ระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ซึ่งเป็นระบบโอนเงินที่สะดวก รวดเร็ว และต้นทุนต่ำ จะช่วยให้การโอนเงินหรือชำระเงินสะดวกขึ้นมาก ไม่ว่าผู้โอนและผู้รับโอนจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจ หรือประชาชนทั่วไป

นอกจากนี้ ยังมีโครงการสนับสนุนการใช้บัตรเดบิต ที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจรับบัตรเดบิตได้อย่างแพร่หลาย วันนี้เรามีจำนวนบัตรเดบิตถึง 47 ล้านใบ แต่ส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นเหมือนบัตร ATM สำหรับกดเงินสดเท่านั้น การส่งเสริมให้ประชาชนใช้ธุรกรรมโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์และบัตรเดบิตมากขึ้นจะช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการเงินสดให้กับทุกภาคส่วน หลายท่านอาจไม่ทราบว่าต้นทุนการบริหารเงินสดเฉพาะของธนาคารพาณิชย์ (ซึ่งยังไม่รวมต้นทุนของภาคธุรกิจ ประชาชน และธนาคารแห่งประเทศไทย) สูงกว่า 15,000 ล้านบาทต่อปี ถ้าลดต้นทุนเหล่านี้ได้จะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจไทยมาก

การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้หากภาคธุรกิจไทยไม่เข้มแข็ง ผู้ประกอบการไทยเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง ทนทานต่อสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนสูงและต้องแข่งขันกันสูงขึ้น ในระยะข้างหน้าที่เราต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจโลกแบบสามต่ำสองสูงต่อเนื่องนั้น ภาคธุรกิจก็มีหน้าที่ที่จะต้องสร้างภูมิคุ้มกันและยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยเช่นเดียวกัน

สร้างภูมิคุ้มกันเป็นหน้าที่ของทุกคน

สำหรับบทบาทของภาคธุรกิจในการสร้างภูมิคุ้มกันนั้นจะต้องครอบคลุมหลายด้าน เช่น ความรู้ความเข้าใจในการบริหารความเสี่ยง การกระจายความเสี่ยง การจัดโครงสร้างการเงินให้เหมาะสม และการติดตามข้อมูลข่าวสารตลาดเงินตลาดทุนอย่างเท่าทัน

ส่วนท่านที่ทำธุรกิจระหว่างประเทศ การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นทักษะที่จำเป็นของการทำธุรกิจสมัยใหม่ ในภาวะที่ตลาดเงินโลกจะผันผวนสูง ผู้ประกอบการต้องไม่ชะล่าใจว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งเพียงด้านเดียว และต้องบริหารความเสี่ยงด้าน อัตราแลกเปลี่ยนด้วยเครื่องมือทางการเงินอย่างเหมาะสมเป็นประจำ ซึ่งในวันนี้สถาบันการเงินต่างๆ มีผลิตภัณฑ์บริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลาย และธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ผ่อนปรนกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินหลายเรื่อง เพื่อให้นักธุรกิจสามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าเดิมมาก

อีกบทบาทสำคัญของภาคธุรกิจก็คือ การยกระดับผลิตภาพของเศรษฐกิจไทย หลายท่านอาจจะคิดว่าการยกระดับผลิตภาพหรือศักยภาพของระบบเศรษฐกิจเป็นเรื่องของภาครัฐ แต่แท้ที่จริงแล้ว ภาคธุรกิจเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการยกระดับผลิตภาพของเศรษฐกิจไทยได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะผ่านการลงทุนเพื่อยกระดับความสามารถในการผลิต ยกระดับประสิทธิภาพของเครื่องจักรด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ การลงทุนในการพัฒนาการวิจัย การร่วมมือกันสร้างคลัสเตอร์ของกลุ่มอุตสาหกรรมให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม การยกระดับกระบวนการบริหารจัดการซัพพลายเชน ตลอดจนการลงทุนพัฒนาบุคลากรและการทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาที่จะช่วยยกระดับคุณภาพของแรงงานไทยรุ่นใหม่

ในช่วงเวลานี้ที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำและรัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกอยู่หลายด้าน ภายใต้กรอบวิสัยทัศน์ “ประเทศไทย 4.0” จึงเป็นโอกาสที่เหมาะสมอย่างยิ่ง สำหรับการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

สภาพเศรษฐกิจโลกแบบสามต่ำสองสูงจะยังคงอยู่กับเราไปอีกระยะหนึ่ง และปฏิเสธไม่ได้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจะได้รับผลกระทบจากสภาวะดังกล่าว วันนี้เศรษฐกิจไทยมีสถานะที่แข็งแรงกว่าเศรษฐกิจของหลายประเทศ สามารถรองรับความท้าทายผันผวนจากเศรษฐกิจโลกได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมองกว้างและมองไกล และให้ความสำคัญต่อการสร้างภูมิคุ้มกันและการยกระดับผลิตภาพให้กับเศรษฐกิจไทย เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน