ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Thai-PAN ตรวจผักฤดูฝนพบสารตกค้างในผักผลไม้เกิน 50% เจอสารต้องห้าม “เมทามิโดฟอส” กลับมาใหม่

Thai-PAN ตรวจผักฤดูฝนพบสารตกค้างในผักผลไม้เกิน 50% เจอสารต้องห้าม “เมทามิโดฟอส” กลับมาใหม่

7 ตุลาคม 2016


งานแถลงข่าวผลการตรวจสอบสารพิษตกค้างรอบที่ 2 ประจำปี 2559 โดยนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงาน Thai-PAN(ขวา) นางสาว นรินทรกุล ณ อยุธยา จากกลุ่มกินเปลี่ยนโลก(ซ้าย)
งานแถลงข่าวผลการตรวจสอบสารพิษตกค้างรอบที่ 2 ประจำปี 2559 โดยนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงาน Thai-PAN (ขวา) นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากกลุ่มกินเปลี่ยนโลก (ซ้าย)

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2559 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เปิดเผยผลการตรวจสอบสารพิษตกค้างรอบที่ 2 ประจำปี 2559 ว่าการสุ่มตรวจครั้งนี้ไม่ใช่การสุ่มตรวจทั้งประเทศ ซึ่งความหมายของการ “เฝ้าระวัง” ของ Thai-PAN คือ การทำตัวอย่างการตรวจสอบ เพื่อชี้สัดส่วนและชี้ปรากฏการณ์ของปัญหาว่ามีอยู่จริง ส่วนจะมากน้อยในระดับประเทศแค่ไหนคงต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปขยายผลทำการเฝ้าระวังที่กว้างขวางกว่านี้ เพราะหน่วยงานของภาคเอกชนก็มีข้อกำกัดทั้งเรื่องของกำลังคนและงบประมาณ ขณะที่รัฐเองมีห้องทดลองที่สามารถตรวจผักได้นับหมื่นชนิด การตรวจของ Thai-PAN จึงเป็นเพียงแค่การสุ่มตรวจจากแหล่งจำหน่าย และตราผลิตภัณฑ์แบบต่างๆ เท่านั้น

ในภาพรวมการตรวจผัก-ผลไม้ รอบ 2 พบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน (MRL) ถึง 56% จากตัวอย่างทั้งหมด ตัวอย่างผักที่เก็บช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2559 พบว่าผัก-ผลไม้ทุกชนิดมีสารเคมีตกค้างเกินค่า MRL และพบการตกค้างสูงกว่าตัวอย่างที่เก็บช่วงกลางเดือนมีนาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยผักผลไม้จากห้างค้าปลีก และที่ได้รับฉลาก Q เป็นกลุ่มที่มีปัญหาหนัก ซึ่งการตรวจในครั้งนี้ ส้ม (สายน้ำผึ้ง) และคะน้าครองแชมป์ผัก-ผลไม้ที่มีสารเคมีตกค้างมากที่สุด เนื่องจากพบการตกค้างของสารเคมีต้องห้ามที่ถูกแบนแล้วและไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน ปนเปื้อนประมาณ 20% ของตัวอย่างทั้งหมด

นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงาน Thai-PAN กล่าวว่า ได้ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างผัก-ผลไม้ที่นิยมบริโภค 16 ชนิด รวม 158 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23-29 สิงหาคม 2559 ได้แก่ พริกแดง กะเพรา ถั่วฝักยาว คะน้า ผักบุ้ง ผักกาดขาวปลี กะหล่ำปลี แตงกวา มะเขือเปราะ และมะเขือเทศ และผลไม้ 6 ชนิด ได้แก่ ส้มสายน้ำผึ้ง มะละกอ แตงโม แคนตาลูป ฝรั่ง และแก้วมังกร รวมทั้งสิ้น 158 ตัวอย่าง จากห้างโมเดิร์นเทรด 3 ห้างหลัก ได้แก่ บิ๊กซี แมคโคร เทสโก้โลตัส และตลาดค้าส่ง 3 ตลาด ได้แก่ ตลาดไท ตลาดปฐมมงคล จ.นครปฐม และตลาดศรีเมือง จ.ราชบุรี

“ในครั้งนี้เรามีการจัดเก็บกลุ่มตัวอย่างที่มีความหลากหลายขึ้นในด้านการตรวจผัก-ผลไม้ที่ได้ตรารับรอง ได้แก่ กลุ่มแสดงฉลากเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ หรือ organic ประกอบด้วย 1. สินค้าที่แสดงตรารับรอง Organic Thailand 2. สินค้าที่แสดงตรารับรอง อื่นๆ เช่น JAS, European and USDA Organic Standards และ A.C.T./IFOAM 3. สินค้าที่ไม่แสดงตรารับรอง (แต่ระบุในฉลากว่าเป็นอินทรีย์) และกลุ่มที่แสดงฉลากเป็นสินค้าปลอดภัย ได้แก่ ตรา Q-GAP Q-GMP และไม่แสดงตรารับรอง (แต่ระบุในฉลากว่าปลอดภัย)” นางสาวปรกชลกล่าว

โดยได้เก็บตัวอย่างผักผลไม้ที่ติดฉลากปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์จากห้างและซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่ง เช่น กูร์เมต์มาร์เก็ต ท็อปส์ โฮมเฟรชมาร์ท แม็กซ์แวลู วิลล่ามาร์เก็ต เลมอนฟาร์ม โกลเด้นเพลส ฟู้ดแลนด์ โดยส่งวิเคราะห์หาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างแบบ Multi Residue Pesticide Screen (MRPS)

ที่มาภาพ :Thai-PAN
ที่มาภาพ: Thai-PAN

นางสาวปรกชลเปิดเผยว่า แหล่งจำหน่ายที่พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานมากที่สุดคือผักและผลไม้จากห้างโมเดิร์นเทรด เจอตกค้างมากสุดถึง 70.2% โดยเทสโก้โลตัสพบไม่ปลอดภัย 12 จาก 16 ตัวอย่าง รองลงมา ได้แก่ แมคโคร 11 จาก 16 ตัวอย่าง บิ๊กซี 10 จาก 15 ตัวอย่าง ส่วนตลาดค้าส่งพบตกค้างเกินมาตรฐาน 54.2% โดยตลาดไทพบ 10 จาก 16 ตัวอย่าง ตลาดปฐมมงคล 9 จาก 16 ตัวอย่าง และตลาดศรีเมือง 7 จาก 16 ตัวอย่าง ซึ่งโดยทั่วไปผู้บริโภคที่ซื้อผักและผลไม้จากโมเดิร์นเทรดต้องจ่ายในราคาแพงหลายเท่าตัว

“จากที่พบว่า ตลาดศรีเมือง เป็นแหล่งจำหน่ายที่พบผัก-ผลไม้มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานน้อยที่สุด จึงมีการลงพื้นที่ศึกษาอีกครั้ง พบว่าตลาดศรีเมืองมีโครงการส่งเสริมเกษตรกรให้พัฒนาการผลิตที่ปลอดภัย มีอาคารผักผลไม้ที่ปลอดภัยเพื่อรองรับผลผลิตดังกล่าวเป็นการเฉพาะ ทำให้พบการตกค้างน้อยกว่าแหล่งจำหน่ายอื่นอย่างเห็นได้ชัด โดยผักและผลไม้ 4 ตัวอย่างซึ่งเก็บมาจากโซนโครงการอาหารปลอดภัยของตลาดนั้นพบว่า 2 ใน 4 เป็นตัวอย่างที่พบการตกค้างไม่เกินค่า MRL และอีกหนึ่งตัวอย่างไม่พบสารพิษตกค้างเลย ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวควรมีการขยายผลและทำเป็นตัวอย่างแก่แหล่งจำหน่ายอื่นๆ สำหรับห้างค้าปลีกที่พบปริมาณมากนั้นคงต้องดูไปถึงกลไกตรวจสอบย้อนกลับในการคัดเลือกสินค้าอีกครั้งหนึ่ง” นางสาวปรกชลกล่าว

สำหรับผักที่พบสารพิษตกค้างเกินค่า MRL มากที่สุด คือ คะน้า 10 จาก 11 ตัวอย่าง ลำดับรองลงมา ได้แก่ พริกแดง 9 จาก 12 ตัวอย่าง ถั่วฝักยาวและกะเพรา 8 จาก 12 ตัวอย่าง ผักบุ้ง 7 จาก 12 ตัวอย่าง มะเขือเปราะ 6 จาก 11 ตัวอย่าง แตงกวา 5 จาก 11 ตัวอย่าง มะเขือเทศ 3 จาก 11 ตัวอย่าง ในขณะที่กะหล่ำปลีและผักกาดขาวปลีพบน้อยที่สุดเพียง 2 จาก 11 และ 12 ตัวอย่างตามลำดับ สอดคล้องกับผลการเฝ้าระวังของ Thai-PAN ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ส่วนผลไม้ที่พบสารพิษตกค้างเกินค่า MRL มากที่สุด คือ ส้มสายน้ำผึ้ง 8 จาก 8 ตัวอย่าง รองลงมา ได้แก่ แก้วมังกร 7 จาก 8 ตัวอย่าง ฝรั่ง 6 จาก 7 ตัวอย่าง มะละกอและแตงโม 3 จาก 6 และ 7 ตัวอย่างตามลำดับ และแคนตาลูปพบ 1 จาก 7 ตัวอย่าง

ผลการตรวจผักที่ได้รับตรารับรองจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบสารพิษตกค้างเป็นจำนวนมากเช่นกัน โดยฉลากสินค้า Q พบการตกค้างเกินมาตรฐาน 16 จาก 26 ตัวอย่าง หรือ 61.5% ซึ่งสูงกว่าการตรวจพบในการสำรวจเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา (57%) ส่วนผักผลไม้ที่ติดฉลากว่าเป็นสินค้าปลอดภัยโดยไม่มีตรารับรองมาตรฐานพบเกินมาตรฐาน 5 จาก 10 ตัวอย่าง

“ในผักมีเพียงพริกแดงที่มีสัดส่วนการพบสารพิษตกค้างเกินค่า MRL ต่ำกว่าช่วงต้นปี อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างพริกแดงที่ไม่พบสารพิษตกค้างนั้นเป็นตัวอย่างที่แสดงฉลากเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั้ง 3 ตัวอย่าง ส่วนในผลไม้กลุ่มแตง ยังคงพบการตกค้างน้อยที่สุด แต่การเก็บตัวอย่างของแตงโมครั้งนี้พบสารพิษตกค้างเกินค่า MRL มีสัดส่วนสูงกว่าช่วงต้นปี ส่วนแคนตาลูปแม้จะมีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานเพียง 1 ตัวอย่าง แต่สัดส่วนของการพบสารตกค้าง (ไม่เกินมาตรฐาน) อยู่ที่ 5 ตัวอย่างซึ่งเป็นสัดส่วนที่กว้าง ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดของชนิดและปริมาณสารพิษตกค้างที่พบยังไม่น่ากังวลเท่ากับ ส้มสายน้ำผึ้ง แก้วมังกร และฝรั่ง แต่ก็ต้องมีการศึกษาเพิ่มในแปลงเกษตรโดยตรงเพื่อหาสาเหตุให้ชัดเจนว่าผลไม้กลุ่มแตงนั้นมีการใช้สารเคมีน้อยจริงๆ หรือผลไม้กลุ่มนี้มีความสามารถทำให้สารเคมีสลายตัวเร็ว” นางสาวปรกชลกล่าว

ด้านผักและผลไม้ที่มีตรารับรอง Organic Thailand ซึ่งกำกับดูแลโดย มกอช. (สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ) พบสารพิษตกค้างเกินค่า MRL2 จาก 10 ตัวอย่าง ส่วนตรารับรองอินทรีย์อื่นพบใกล้เคียงกัน คือพบ 2 จาก 9 ตัวอย่าง ในขณะที่สินค้าที่ระบุว่าเป็นผักและผลไม้อินทรีย์ที่ขายในห้างต่างๆ ซึ่งไม่แสดงตรารับรองมาตรฐานนั้น พบสารพิษตกค้างเกินค่า MRL จำนวน 4 ตัวอย่างจากจำนวนที่สุ่มตรวจ 8 ตัวอย่าง

สารพิษตกค้างที่พบทั้งหมดในการเก็บตัวอย่างครั้งนี้มี 68 ชนิด สามารถแบ่งตามวัตถุประสงค์ในการใช้กำจัดศัตรูพืชออกได้เป็น 3 ประเภท คือ สารกำจัดไร (acaricide) ที่เป็นสารดูดซึม พบ 6 ชนิด สารกำจัดแมลง (insecticide) พบ 39 ชนิด และสารป้องกันและกำจัดโรคพืช (fungicide) พบ 23 ชนิด

ที่มาภาพ : Thai-PAN
ที่มาภาพ: Thai-PAN
ที่มาภาพ : Thai-PAN
ที่มาภาพ: Thai-PAN

“สิ่งที่น่าตระหนกคือการพบว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตามรายชื่อวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งยกเลิกการใช้แล้ว ได้แก่ ไดโครโตฟอส เอ็นโดซัลแฟน เมทามิโดฟอส และโมโนโครโตฟอส รวมทั้งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่กรมวิชาการเกษตรไม่อนุญาตทะเบียน 2 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน และเมโทมิล ตกค้างอยู่ในผลผลิตรวม 29 จาก 158 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 18.4% โดยเฉพาะเมทามิโดฟอสที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยพบแต่กลับมาพบในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถาม และสะท้อนให้เห็นว่าต้องการตรวจสอบการจำหน่ายสารเคมีที่เข้มงวดกว่านี้” นางสาวปรกชลกล่าว

ทั้งนี้ สิ่งที่ Thai-PAN แนะนำผู้บริโภคคือการเลือกทานผัก-ผลไม้ที่ได้รับรองมาตรฐานอินทรีย์ เนื่องจากพบแล้วว่ามีความปลอดภัยกว่าที่ไม่ได้รับมาตรฐาน แต่อย่างไรก็ตาม สารเคมีหรือสารพิษชนิดดูดซึมยังคงเป็นไปได้ยากในการกำจัดการตกค้าง เพราะเป็นสารชนิดที่แม้การล้างให้สะอาดก็ไม่เป็นผล ซึ่งการรับสารต่างๆ ที่ตกค้างในผัก-ผลไม้เป็นเวลานาน ทางการแพทย์ได้ระบุแล้วว่ามีผลนำไปสู่โรคมะเร็ง มีผลต่อระบบประสาท และกระทบถึงเด็กในครรภ์มารดา

ดังนั้น จึงต้องดำเนินการให้มีการ “สุ่มตรวจ” อย่างสม่ำเสมอ แล้วรายงานผลอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา การดำเนินงานที่ Thai-PAN และหน่วยงานที่สนับสนุนอื่นๆ ต้องการนำเสนอภาครัฐว่าควรจะมีการสุ่มตรวจอย่างเป็นกลาง โดยไม่ให้ผู้ถูกตรวจรู้ตัว ด้วยการสุ่มแบบไม่แจ้งล่วงหน้า เพราะเท่าที่ทราบหลายครั้งหน่วยงานราชการเรียกตรวจตัวอย่างโดยการให้ผู้ประกอบการส่งตัวอย่างให้เอง ทำให้เกิดข้อสงสัยในกระบวนการได้ ทั้งนี้ ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยเก็บตัวอย่างส่งให้รัฐดำเนินการตรวจสอบ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้อย่างเห็นผล

อนึ่ง ตามปกติแล้ว Thai-PAN จะทำการตรวจสอบสารพิษตกค้างแค่ในฤดูร้อน เป็นผักที่มีรอบการผลิตอยู่ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ โดยจะทำการเก็บตัวอย่างในเดือนมีนาคม ผลตรวจจะออกในช่วงเดือนเมษายน เนื่องจากกำลังในการตรวจมีจำกัด แต่จากเสียงเรียกร้อง และการถอดบทเรียนจากการทำงานที่ผ่านมาที่เสนอว่าให้ทำการสุ่มตรวจทุกฤดู ในปี 2559 นี้จึงมีการเก็บตัวอย่างในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งถือว่าเป็นผักฤดูฝนร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม การสุ่มตรวจควรมีต่อเนื่องไปถึงผักในฤดูหนาว คือ การเก็บตัวอย่างช่วงก่อนปีใหม่ ด้วยอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ได้มีการชี้แจงว่า เป็นช่วงที่ผักและผลไม้หลายชนิด “ขาดตลาด” ที่ถือเป็นข้อจำกัดในการสุ่มตรวจครั้งนี้ โดยเฉพาะกลุ่มตัวอย่างสินค้าที่แสดงตรารับรองมาตรฐานต่างๆ ทำให้ไม่สามารถเก็บตัวอย่างผักผลไม้ได้ครบในบางกลุ่ม ดังนั้นการรายงานผลในครั้งนี้จึงรายงานเป็นจำนวนตัวอย่างโดยไม่เปรียบเทียบเป็นร้อยละ

ด้านนางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากกลุ่มกินเปลี่ยนโลก ซึ่งเป็นกลุ่มรณรงค์ประเด็นอาหารร่วมกับ Thai-PAN ได้เรียกร้องให้รัฐบาลหยิบยกประเด็นความปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้กลายเป็นวาระสำคัญของประเทศ เพราะในญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปพบการตกค้างของสารพิษเกินมาตรฐานในระดับ 3-5% เท่านั้น พร้อมทั้งเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องปฏิรูประบบรับรองมาตรฐานของ มกอช. อย่างเร่งด่วน รวมทั้งยุติความพยายามในการผลักดันมาตรฐานเกษตรอินทรีย์โดยทันที เพราะไม่สามารถแสดงให้เห็นว่าจะทำให้ตรารับรองที่หน่วยงานกำกับดูแลอยู่มีความปลอดภัยกว่าสินค้าทั่วไปในท้องตลาดได้แต่อย่างใด

ส่วนกรณีการพบสารต้องห้ามในผักและผลไม้นั้น นางสาวกิ่งกรกล่าวว่า “เป็นบทบาทหน้าที่ของนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรคนใหม่ ต้องดำเนินการ โดยควรร่วมกับกองบังคับการปราบปรามคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)ใช้หลักฐานจากไทยแพนเพื่อสืบสวนย้อนกลับจับกุมผู้ครอบครองและจำหน่ายสารพิษดังกล่าวมาลงโทษโดยเร็ว โดยกลุ่มผู้บริโภคจะติดตามการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ข้างต้นอย่างใกล้ชิด และพร้อมจะร่วมมือกับ Thai-PAN เพื่อใช้มาตรการทางกฎหมายและการรณรงค์กับผู้บริโภคในการเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรและอาหารให้ปลอดภัยมากขึ้นต่อไป”

โดยในวันที่ 7 ตุลาคม 2559 Thai-PAN จะยื่นหนังสือและข้อมูลทั้งหมดไปยังหน่วยงานราชการ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.), สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และ บก.ปคบ. เพื่อให้ดำเนินการต่อผู้กระทำผิดต่อไป

อ่านรายงานฉบับเต็ม