ThaiPublica > เกาะกระแส > ศอตช. สรุปผลสอบ “ราชภักดิ์” โปร่งใส-ไม่แพง ยอดบริจาครวม 841 ล้าน – อ้าง “อุดมเดช” รับมีหัวคิวแค่เข้าใจผิด

ศอตช. สรุปผลสอบ “ราชภักดิ์” โปร่งใส-ไม่แพง ยอดบริจาครวม 841 ล้าน – อ้าง “อุดมเดช” รับมีหัวคิวแค่เข้าใจผิด

24 มีนาคม 2016


(จากซ้ายไปขวา) ยงยุทธ มะลิทอง รองเลขาธิการ ป.ป.ช. ประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม และพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. ที่มาภาพ : http://www.pacc.go.th/index.php/home/view_content/45/2162
(จากซ้ายไปขวา) ยงยุทธ มะลิทอง รองเลขาธิการ ป.ป.ช., ประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท., พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธาน ศอตช. และพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. ที่มาภาพ: http://www.pacc.go.th/index.php/home/view_content/45/2162

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 ที่กระทรวงยุติธรรม ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) นำโดย พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธาน ศอตช. และตัวแทนจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกันแถลงผลการตรวจสอบโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ในพื้นที่โรงเรียนนายสิบทหารบก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่จัดทำโดย สตง. และ ป.ป.ท.

ถือเป็นการแถลงผลการตรวจสอบโครงการนี้ ครั้งที่ 3 แล้ว ต่อจากของกองทัพบก (ทบ.) และของกระทรวงกลาโหม

โดยในการแถลงข่าวมีฝ่ายการเมืองอย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย มาร่วมรับฟังด้วย

ป.ป.ท. ระบุ “เงิน 20 ล้าน” เป็นค่าตอบทางธุรกิจที่เอกชนจ่ายกันเอง

พล.อ. ไพบูลย์ กล่าวว่า ทั้ง 2 หน่วยงานแจ้งมาเพียงว่าได้ตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดมาด้วย ดังนั้น ตนจะร่วมฟังผลการตรวจสอบพร้อมกับทุกคน โดยหลังจากนั้นเรื่องจะไปที่ ป.ป.ช. จึงเชิญตัวแทนมาร่วมรับฟังด้วย ทั้งนี้ ความจริงแล้วเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับ ศอตช. แต่เมื่อแกนนำ นปช. มายื่นคำร้องเมื่อเดือนธันวาคม 2558 จึงมอบหมายให้ สตง. และ ป.ป.ท. ไปตรวจสอบ โดยเฉพาะประเด็นการเรียกรับหัวคิว

“ตอนนั้นยังไม่มีการตรวจสอบอะไร ผมเลยบอกไปว่าถ้ามีการเรียกรับหัวคิว ถือว่าทำผิดกฎหมายแน่นอน ซึ่งขณะนั้นผมก็ยังยืนยันในหลักการเดิม” พล.อ. ไพบูลย์ กล่าว

จากนั้นเป็นการแถลงผลการตรวจสอบ โดยนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวสั้นๆ ว่า จากการตรวจสอบของ ป.ป.ท. ซึ่งดำเนินการตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 69/2557 พบว่า กรณีเงิน 20 ล้านบาท ที่อ้างว่าเป็นหัวคิวนั้น มีการจ่ายเงินกันจริงระหว่างเอกชนกับเอกชน ซึ่งผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายพูดตรงกันว่าเป็นการให้ค่าตอบแทนทางธุรกิจ ในอัตรา 6-7% ของค่าจ้างในการหล่อพระรูปอดีตพระมหากษัตริย์แห่งสยาม ที่จากการตรวจสอบก็ไม่พบว่ามีการตั้งราคาแพงเกินจริง

“เมื่อดูจากพยานหลักฐานทั้งหมด จึงรับฟังได้ว่า เงิน 20 ล้านบาท เป็นการจ่ายค่าตอบแทนทางธุรกิจ” นายประยงค์กล่าว

ผู้ว่าฯ สตง. ร่ายยาว ไม่มีหัวคิว-ไม่แพง-ไม่มีทุจริต

จากนั้นเป็นการแถลงข่าวของนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. ซึ่งใช้เวลานานกว่า 30 นาที โดยระบุว่า สตง. ได้ตั้งประเด็นในการตรวจสอบไว้ 5 ประเด็น

1. เงินบริจาคมีจำนวนเท่าใด ใช้จ่ายอะไรบ้าง

พบว่า แม้จะรับบริจาคโดยใช้ชื่อบัญชี “กองทุนสวัสดิการทหารบก” แต่มีการแยกบัญชีออกจากตัวกองทุนฯ โดยจากเดิมที่เคยรับบริจาคผ่านธนาคารพาณิชย์ 6 แห่ง ร้านสะดวกซื้อ 7-11 รวมถึงตู้บริจาคหน้าอุทยานราชภักดิ์ พบว่าในการบริจาคทุกช่องทางมีพยานหลักฐานชัดเจน มีการลงบัญชี โดยหลังจากเกิดเป็นประเด็นก็มีการรวมบัญชีธนาคาร จาก 6 ธนาคาร เหลือเพียงธนาคารเดียว คือธนาคารทหารไทย ทั้งนี้ สตง. ยังได้ตรวจสอบไปถึงการประกาศรับบริจาคผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางโทรทัศน์ ก็พบว่ามีการบริจาคและลงบัญชีถูกต้อง กรณีนี้จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

สำหรับยอดเงินบริจาคทั้งหมด (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558) อยู่ที่ 733 ล้านบาท ใช้จ่ายไปแล้ว 458 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการหล่อพระรูปฯ 318 ล้านบาท โดยมีการยืมเงินไปทำเหรียญที่ระลึกเพื่อระดมเงินบริจาคเพิ่มเติมอีก 105 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ ใช้ในการก่อสร้างรายการอื่นๆ

ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงเงินบริจาคในมูลนิธิราชภักดิ์ ที่ได้จากการระดมทุนด้วยวิธีการอื่นๆ อีก 108 ล้านบาท ซึ่งถึงปัจจุบันยังไม่มีการใช้จ่ายเงินแม้แต่บาทเดียว

ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงการบริจาคเป็นสิ่งของอื่นๆ โดยเฉพาะวัสดุก่อสร้าง ที่ไม่สามารถประเมินค่าได้

ยอดรวมเงินบริจาค 841 ล้าน – ใช้แล้ว 548 ล้าน

2. กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างถูกต้องหรือไม่

พบว่า นอกจากในส่วนของ 2.1) เงินบริจาค ที่มีการใช้จ่ายไปแล้ว 458 ล้านบาท แม้จะเบิกจ่ายผ่านกองทัพบก (ทบ.) แต่การจัดซื้อจัดจ้างไม่ให้ใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 แต่ใช้ระเบียบในการจัดซื้อจัดจ้างของกองทุนสวัสดิการฯ เอง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน เพราะไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 รวมถึงกฎหมายของ ป.ป.ช. มาตรา 103/7 ในการเปิดเผยราคากลางบนเว็บไซต์ของ ทบ. ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างทุกโครงการใช้วิธี “พิเศษ” ทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังมีการใช้งบประมาณปกติในการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งต้องดำเนินตามวิธีการปกติของราชการ แบ่งเป็น 2.2) งบกลาง ใช้ใน 5 โครงการ วงเงิน 63 ล้านบาท และ 2.3) งบประมาณปกติของ ทบ. ในการก่อสร้างรั้ว รวม 2 โครงการ วงเงิน 27 ล้านบาท

โดยสรุปมีการใช้งบจัดซื้อจัดจ้างในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ (ทั้งจากเงินบริจาคและงบประมาณปกติ) ไปแล้วทั้งสิ้น 548 ล้านบาท ซึ่งพบว่าทุกอย่างเป็นไปโดยถูกต้อง

3. เนื้องาน การก่อสร้างและการหล่อพระรูปฯ ถูกต้องตามสัญญาหรือไม่

พบว่า 95% ของโครงการก่อสร้างทั้งหมดเป็นไปตามรายละเอียดที่ระบุไว้ในสัญญา กรณีการหล่อพระรูปฯ ทาง สตง. ได้ตัดโลหะของพระรูปฯ บางองค์ส่งไปตรวจยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าเนื้อโลหะถูกต้องตามสเปกที่ระบุไว้ในสัญญาหรือไม่ ก็พบว่าทุกอย่างถูกต้องตามสเปก นอกจากนี้ จากการให้วิศวกรของ สตง. ประเมินราคาการหล่อพระรูปฯ ก็พบว่าไม่ได้มีราคาที่แพงไปกว่าท้องตลาด ทั้งตัวเนื้อโลหะและศิลปกรรม

เช็คยิบประวัติ “เซียนพระ” ยันมาช่วยหล่อพระรูปจริง

4. มีการหักหัวคิวการหล่อพระรูปฯ หรือไม่

จากการตรวจสอบพยานหลักฐานทั้งหมดรวมถึงสอบปากคำเจ้าของโรงหล่อทั้ง 5 โรง ที่ตามข่าวระบุว่าถูกเรียกรับหัวคิวจาก “เซียนพระ อ.” ทุกคนพูดตรงกันว่าเป็น “ค่าที่ปรึกษา” รวม 20 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นมูลค่าราว 7% ของค่าจ้างทั้งหมด (ตามข่าวระบุว่า มีโรงหล่อถูกเรียกรับหัวคิว 5 โรง จากทั้งหมด 6 โรง ในการหล่อพระรูป 5 พระองค์ จากทั้งหมด 7 พระองค์) และเป็นการให้โดยสมัครใจ

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสถานะสังคม ประวัติ รวมถึงความรู้ความสามารถของ “เซียนพระ อ.” ว่าศักยภาพพอที่จะมาเป็นที่ปรึกษาให้กับโรงหล่อถึง 5 โรงในโครงการนี้หรือไม่ พบว่า “เซียนพระ อ.” มีกิจการโรงหล่อเป็นของตัวเอง และมีผลงาน เช่น การหล่อรูปปั้นหลวงปู่ทวดหน้าตักขนาด 20 เมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าพระรูปฯ ในอุทยานราชภักดิ์เสียอีก

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบยังพบว่า เงินค่าปรึกษารวม 20 ล้านบาท มีการลงบัญชีรับจ่ายของโรงหล่อ ทั้ง 5 โรงว่าให้กับ “เซียนพระ อ.” จริง นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานเป็นภาพถ่ายจำนวนมากว่า “เซียนพระ อ.” ได้ไปช่วยให้คำปรึกษาในพื้นที่ก่อสร้างและคอยแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมถึงช่วยต่อรองราคาในการหล่อพระรูปฯ จากเดิมองค์ละเฉลี่ย 70 ล้านบาท เหลือเพียงเฉลี่ยองค์ละ 41-45 ล้านบาท

ส่วนภายหลังจะมีบุคคลใดไปแนะนำให้เซียนพระ อ. บริจาคเงินคืนให้กับอุทยานราชภักดิ์ โดยใช้ชื่อของโรงหล่อทั้ง 5 โรง สตง. ไม่ติดใจและไม่เห็นว่าเป็นเรื่องปกติ มีเจตนาร้าย หรือหวังผลประโยชน์อะไร เพราะทำให้เงินบริจาคในโครงการนี้มีเพิ่มขึ้นถึง 20 ล้านบาท

5. ประเด็นอื่นๆ

ตามปกติกองทุนสวัสดิการฯ ต่างๆ ของราชการจะมีการตรวจสอบภายในกันเองอยู่แล้ว หากไม่มีเรื่องผิดปกติ สตง. จะไม่เข้าไปตรวจสอบ แต่กรณีนี้เมื่อมีเรื่องร้องเรียนมา สตง. จึงเข้าไปตรวจสอบ ที่อาจมีคนสงสัยว่ามีการแก้ไขพยานหลักฐานเพื่อให้เอาผิดบุคคลใดได้หรือไม่ สตง. ขอยืนยันว่าได้ใช้ทุกวิธีในการตรวจสอบ ก็ไม่พบสิ่งผิดปกติแต่อย่างใด

“สตง. จะไม่สรุปว่าโครงการนี้มีสิ่งผิดปกติ หรือมีการเรียกรับหัวคิวหรือไม่ แต่จะสรุปเป็นข้อเท็จจริงจากที่ได้ตรวจสอบมาแทน” นายพิศิษฐ์กล่าว

581119ราชภักดิ์-620x467

อ้าง “อุดมเดช” รับว่าราชภักดิ์มีหัวคิว เพราะ “เข้าใจผิด”

เมื่อถามว่า ในอนาคตอาจมีกรณีที่เรียกรับค่าหัวคิว แล้วอ้างว่าเป็นค่าที่ปรึกษา สตง. จะทำอย่างไร นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงเป็นคนละส่วนกัน คงจะดูเป็นเรื่องๆ ไป กรณีอุทยานราชภักดิ์จะต่างกับกรณีอื่นๆ เช่น สนามฟุตซอล ห้องเรียนอัจฉริยะ ที่สรุปแล้วว่ามีการเรียกรับค่าหัวคิวจริง โดยเงินหายไปถึง 30% ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด

“หากจะมีการเรียกรับหัวคิว ราคากลางต้องสูง เพื่อนำเงินส่วนต่างมาเป็นหัวคิว แต่กรณีอุทยานราชภักดิ์ ราคากลางก็ไม่แพง แล้วจะเอาอะไรไปเป็นหัวคิว เงินค่าที่ปรึกษาเพียง 7% ของค่าจ้างทั้งหมด หรือกว่า 20 ล้านบาท ในทางสรรพากรอาจเรียกได้ว่าเป็น management fee หรือค่าโสหุ้ย ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร เป็นสิ่งที่พอรับได้ นอกจากนี้ จ่ายเงินให้หลังจากหล่อพระรูปฯ เสร็จ ต่างกับการเรียกรับหัวคิวอื่นๆ ที่จะเอาจากเงินที่จ่ายก่อน” นายพิศิษฐ์กล่าว

เมื่อถามว่า ก่อนที่จะมาแถลงข่าวครั้งนี้ สตง. ได้นำผลการตรวจสอบไปแจ้งกับ พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะอดีตผู้บัญชาการทหารบก ผู้ริเริ่มโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ก่อนหรือไม่ เหตุใด พล.อ. อุดมเดช ถึงออกมาให้สัมภาษณ์ล่วงหน้าว่าจากการตรวจสอบของ สตง. ตนไม่มีความผิดอะไร นายพิศิษฐ์กล่าวว่า ในการตรวจสอบครั้งนี้ หากไม่ไปสอบถามข้อมูลจาก พล.อ. อุดมเดช สังคมคงจะตั้งข้อสงสัย ตนจึงติดต่อไปสอบถาม โดยเฉพาะกรณีที่ให้สัมภาษณ์ว่าโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์มีการเรียกรับค่าหัวคิว ซึ่ง พล.อ. อุดมเดช ก็ชี้แจงว่าเป็นการเข้าใจคำถามของผู้สื่อข่าวผิด จึงตอบไปว่าได้มีการบริจาคเงินคืนให้กับมูลนิธิราชภักดิ์แล้ว โดยไม่ทันได้ปฏิเสธว่าเงิน 20 ล้านบาทที่บริจาคคืนไม่ใช่หัวคิว ทั้งนี้ ในการเข้าพบ พล.อ. อุดมเดช สตง. ไปเพื่อสอบถาม ยืนยันว่าไม่เคยนำผลการตรวจสอบไปแจ้งให้ทราบ อาจจะเป็นการสรุปของตัว พล.อ. อุดมเดช จากที่ตนได้ให้สัมภาษณ์เรื่องความคืบหน้าในการตรวจสอบกับสื่อมวลชนอยู่เป็นระยะ

“แม้จะสรุปผลการตรวจสอบไปแแล้ว แต่ สตง. จะติดตามตรวจบัญชีทางการเงินของโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ต่อไป และจะส่งมอบพยานหลักฐานให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบต่อ เพื่อให้เกิดความสบายใจ แต่หากบุคคลใดมีพยานหลักฐานว่าโครงการนี้มีสิ่งผิดปกติ เช่น ราคากลางการหล่อพระรูปฯ อาจจะแพงเกินไป ก็ขอให้ส่งมา สตง. พร้อมจะเข้าไปตรวจสอบเพิ่มเติม” ผู้ว่าฯ สตง. กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างช่วงที่เปิดให้ถามตอบ นายจตุพรและนายเรืองไกรได้ตั้งคำถามกับ สตง. หลายครั้ง ทั้งกรณีพระรูปฯ เริ่มชำรุด กรณีการเรียกภาษีจากเซียนพระ อ. ที่ได้รับค่าที่ปรึกษาจากโรงหล่อ รวม 20 ล้านบาท รวมถึงกรณีอื่นๆ

พล.อ. ไพบูลย์ กล่าวปิดท้ายการแถลงข่าวว่า เท่าที่ฟังการแถลงข่าวจากทั้ง สตง. และ ป.ป.ท. ก็น่าจะยืนยันได้ว่าโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ไม่มีการเรียกรับหัวคิว ที่หลายคนอาจยังเคลือบแคลงสงสัย ตนเองก็เข้าใจ แต่เมื่อหน่วยงานตรวจสอบได้ทำหน้าที่จนเสร็จสิ้น วันนี้ก็ถือว่าทุกอย่างได้เสร็จสิ้นแล้ว คงไม่มีอะไรที่เกินเลยไปกว่านี้ ส่วนจะสร้างความศรัทธาได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับสังคมไทย

ป.ป.ช. รอส่งมอบหลักฐาน ตั้ง 2 ประเด็น ลุยสอบ “2 พลเอก”

ด้านนายยงยุทธ มะลิทอง รองเลขาธิการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ได้ขอพยานหลักฐานจาก สตง. ไปแล้วถึง 2 ครั้ง คาดว่าหลังจากนี้น่าจะส่งมอบมาให้ กรณีอุทยานราชภักดิ์ ป.ป.ช. ได้ตั้งประเด็นในการแสวงหาข้อเท็จจริงที่แตกต่างจาก สตง. ไว้ 2 ประเด็นใหญ่ๆ แต่ขอยังไม่เปิดเผย ยอมรับว่าคงเป็นประเด็นที่อยู่ในคำร้องที่นายวีระ สมความคิด เลขาธิการ เครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชัน (คปต.) ยื่นคำร้องเข้ามาขอให้ ป.ป.ช. ไต่สวนเอาผิดกับ พล.อ. อุดมเดช และ พล.อ. ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สมัยเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม

ส่วนที่ต้องเรียกนายวีระให้มายืนยันว่าได้ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ให้ไต่สวนเอาผิด 2 พลเอกดังกล่าวจริงหรือไม่ นายยงยุทธกล่าวว่า เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำมานานแล้ว เพื่อให้การรับคำร้องมีความชัดเจนขึ้น ไม่ได้เป็นเพราะเกรงกลัว คสช. แต่อย่างใด และปัจจุบัน นายวีระก็ได้ส่งเอกสารมายืนยันการยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว