ThaiPublica > เกาะกระแส > PwC แนะภาคธุรกิจ-บุคคลเตรียมรับมือรัฐตรวจเข้มขอคืนภาษี หลังจัดเก็บพลาดเป้า 4 ปีซ้อน

PwC แนะภาคธุรกิจ-บุคคลเตรียมรับมือรัฐตรวจเข้มขอคืนภาษี หลังจัดเก็บพลาดเป้า 4 ปีซ้อน

27 ตุลาคม 2015


นายสมบูรณ์ วีระวุฒิวงศ์ หัวหน้าหุ้นส่วนกรรมการอาวุโส และกรรมการบริหารสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย
นายสมบูรณ์ วีระวุฒิวงศ์ หัวหน้าหุ้นส่วนกรรมการอาวุโส และกรรมการบริหารสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 นายสมบูรณ์ วีระวุฒิวงศ์ หัวหน้าหุ้นส่วนกรรมการอาวุโส และกรรมการบริหารสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนากฎหมายและภาษีประจำปี การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นผ่านการวางแผนภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ ในหัวข้อ ‘ปรับกลยุทธ์ด้านภาษี เพิ่มดีกรีรับมือการตรวจสอบ’ ว่า ในปีงบประมาณหน้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีทุกหน่วยงานมีแนวโน้มตรวจสอบภาษีเข้มข้นขึ้น รวมทั้งขั้นตอนการคืนเงินภาษีอาจใช้เวลามากขึ้นด้วย เนื่องจากเพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษีให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ หลังจากไม่สามารถจัดเก็บรายได้ภาษีได้ตามเป้าต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 ปี แล้ว

“การที่สรรพากรไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ตามเป้าในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา เพราะลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน และการที่รัฐตัดสินใจคงภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 7% เช่นเดิม รวมถึงการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้การจัดเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าทั้งสิ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลจะพยายามจัดเก็บภาษีให้มากขึ้น ผ่านการตรวจสอบภาษีที่เข้มงวดกว่าเดิม” นายสมบูรณ์กล่าว

จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เปิดเผยตัวเลขการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557 – กันยายน 2558) จัดเก็บได้ 2.2 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 117.5 แสนล้านบาท หรือ 5.1% โดยยังพบว่าในปีงบประมาณ 2558 กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ภาษีต่ำสุดเพียง 1.73 ล้านล้านบาท จากเป้าหมายที่วางไว้ 1.96 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 12% สาเหตุหลักจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงตั้งแต่ปลายปี 2557 ส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และรายได้จากสัมปทานปิโตรเลียม จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่วางไว้

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ แผนกที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องภาษีจะมีความสำคัญมากสำหรับองค์กร รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลด้านภาษีจะต้องมีความโปร่งใส เพื่อสามารถสื่อสารกับประชาชนและภาคธุรกิจได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ข้อกำหนดในการรายงานข้อมูลภาษี (เช่น การลดฐานภาษีและการโอนกำไรไปต่างประเทศ หรือ Base Erosion and Profit Shifting ที่เรียกว่า ‘BEPS’ รวมทั้งโครงการริเริ่มในด้านความโปร่งใสอื่นๆในลักษณะเดียวกัน) จะมีการเติบโตแบบทวีคูณและจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจด้วย

นายสมบูรณ์กล่าวต่อว่าผู้เสียภาษีควรประเมินสถานะทางภาษีของตนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จำเป็น และดำเนินการตรวจสอบตนเอง (Self-review) เพื่อลดโอกาสในการตรวจพบความเสี่ยงในประเด็นที่อาจไม่เป็นไปตามกฎหมาย และก่อนที่เจ้าหน้าที่สรรพากรจะมีประเด็นคำถาม โดยการสำรวจตนเองในที่นี้ รวมไปถึงร่างกฎหมายการกำหนดราคาโอนฉบับใหม่ พระราชบัญญัติศุลกากรฉบับใหม่ การจัดทำเอกสารภาษีมูลค่าเพิ่ม และการจ่ายเงินระหว่างประเทศ ซึ่งประเด็นดังกล่าว ถือเป็นประเด็นที่มักถูกตรวจสอบจากทางภาครัฐ

หากมองแนวโน้มในอนาคต มองว่ารัฐบาลควรพิจารณาคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) ไว้ที่ 7% ต่อไปในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อภายในประเทศ เพราะหากขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในช่วงเวลานี้ อาจเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจของประเทศที่ยังอยู่ในภาวะเปราะบางได้ ดังนั้นภาคเอกชนและบุคคลทั่วไปต้องเตรียมให้พร้อม ทั้งด้านเอกสารและข้อมูลตั้งแต่วันนี้ นอกจากนี้ การตรวจที่เข้มข้นอาจขยายผลไปยังภาษีประเภทอื่นๆ เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคลอีกด้วย

นายสมบูรณ์กล่าวต่อว่า ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคงและการบังคับกฎหมายภาษีอากรที่เคร่งครัดกว่าที่เคยเป็น ผู้เสียภาษีที่มีความพร้อมจะได้ประโยชน์จากการมีสถานะทางภาษีที่เข้มแข็งกว่า อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในกรณีที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และขจัดอุปสรรคในการพัฒนาหรือขยายธุรกิจในอนาคต

ป้ายคำ :