ThaiPublica > เกาะกระแส > “ดีเอสไอ” ลุ้นอัยการ ฟ้อง-ไม่ฟ้อง “ธรรมกาย” อาจเข้าข่ายรับของโจร ปมรับเช็ค “สหกรณ์ฯ คลองจั่น” 1,260 ล้านบาท

“ดีเอสไอ” ลุ้นอัยการ ฟ้อง-ไม่ฟ้อง “ธรรมกาย” อาจเข้าข่ายรับของโจร ปมรับเช็ค “สหกรณ์ฯ คลองจั่น” 1,260 ล้านบาท

22 ตุลาคม 2015


พ.ต.ท. ปกรณ์ สุชีวกุล ผู้บัญชาการสำนักคดีการเงินการธนาคาร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยความคืบหน้าการสอบเส้นทางการเงิน ในคดีพิเศษที่ 146/2556 ข้อหายักยอกทรัพย์จากสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น ซึ่งนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯ และพวกรวม 4 คน เซ็นเช็คสหกรณ์สั่งจ่ายแก่บุคคลต่างๆ จำนวน 878 ฉบับ รวมมูลค่า 12,160 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มี 22 ฉบับที่สั่งจ่ายแก่วัดพระธรรมกาย พระเทพญาณมหามุนี (พระธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย มูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ขนนกยูง และพระลูกวัดของธรรมกาย ระหว่างปี 2552–2553 รวมมูลค่ากว่า 1,260 ล้านบาท

เงินวัดธรรมกาย

พระธัมมชโยเซ็นเอกสารบางอย่าง ระหว่างให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนของดีเอสไอ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2558
พระธัมมชโยเซ็นเอกสารบางอย่าง ระหว่างให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนของดีเอสไอ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2558

พ.ต.ท. ปกรณ์ เปิดเผยว่า คดีนี้เคยสรุปสำนวนให้อัยการสั่งฟ้องไปตั้งแต่ปี 2557 แต่อัยการได้สั่งสอบเพิ่มเติมใน 8 ประเด็น โดยเฉพาะเส้นทางเช็คทั้ง 878 ฉบับ ซึ่งดีเอสไอจะสรุปสำนวนเพิ่มเติมส่งให้อัยการภายในเดือนตุลาคมนี้ โดยส่วนหนึ่งของสำนวนสรุปข้อกล่าวหาระบุว่า เช็คที่สั่งจ่ายไปบุคคลต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้มีมูลหนี้ต่อกันจริง ส่วนเช็คที่สั่งจ่ายไปกลุ่มวัดพระธรรมกาย ซึ่งนายศุภชัยแจ้งว่าเป็นการบริจาคเงินเพื่อศาสนา ก็ถือเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ดังนั้น วัดพระธรรมกายรวมถึงส่วนที่เกี่ยวข้องก็อาจเข้าข่ายรับของโจร ซึ่งส่วนนี้เป็นความเห็นประกอบสำนวนของพนักงานสอบสวน ไม่ใช่การแจ้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด จึงขึ้นอยู่กับอัยการว่าจะมีดุลยพินิจให้สั่งฟ้องเพิ่มเติมในประเด็นใดหรือไม่ ซึ่งถ้ามีความเห็นให้ฟ้องเพิ่มเติมในข้อหารับของโจร ก็จะส่งสำนวนกลับมาให้ทางดีเอสไอสอบสวนเพิ่มเติม

พ.ต.ท. ปกรณ์ กล่าวอีกว่า จากการให้ปากคำของตัวแทนของวัดพระธรรมกาย สามารถชี้แจงการใช้จ่ายเงินได้เพียง 70% ของที่ได้รับบริจาค โดยอ้างว่านำเงินไปก่อสร้างศาสนสถานในวัด ขณะที่เอกสารการใช้จ่ายบางส่วนนั้น วัดอ้างว่าสูญหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้สหกรณ์ฯ คลองจั่นเคยยื่นฟ้องเรียกทรัพย์คืนต่อวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโยมาแล้ว จนนำไปสู่การไกล่เกลี่ยยอมความ โดยคณะศิษย์ของวัดพระธรรมกายยอมลงขันจ่ายเงินคืนสหกรณ์เฉพาะส่วนที่บริจาคให้วัดพระธรรมกายและพระธัมมชโย 11 ฉบับมูลค่า 684.78 ล้านบาท เพื่อแลกกับการถอนฟ้องคดี ซึ่งการเฉลี่ยจ่ายจะครบถ้วนภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนั้นเป็นการฟ้องตามหลักฐานการบริจาคเงินที่พบ ซึ่งภายหลังดีเอสไอพบหลักฐานการบริจาคเงินเพิ่มเติมจนยอดรวมพุ่งไปเป็น 1,260 ล้านบาท

ศาลสั่ง “วัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ – รัฐประชา” คืนเงินสหกรณ์ฯ คลองจั่น 1,000 ล้าน

นอกจากคดีข้างต้นแล้วนางประภัสสร พงศ์พันธุ์พิศาล กรรมการผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการสหกรณ์ฯ คลองจั่น เปิดเผยความคืบหน้าในการดำเนินคดีแพ่งว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2558 ศาลแพ่งมีคำพิพากษา คดีดำที่ 590/2558ซึ่งมีโจทก์คือสหกรณ์ฯ คลองจั่น ยื่นฟ้อง 3 จำเลย ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนรัฐประชา นายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ ประธานสหกรณ์ฯ และนางสาวฐิติรัตน์ หงส์เชิดชูสกุล ลูกสาวนายวัฒน์ชานนท์ โดยฟ้องร้องเรียกทรัพย์คืน หลังจากสหกรณ์ฯ รัฐประชา ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้กับสหกรณ์ฯ คลองจั่น 6 ฉบับในช่วงปี 2552–2555 แต่เมื่อถึงกำหนดชำระคืนกลับไม่ใช้เงินต้นตามสัญญารวมถึงดอกเบี้ยร้อยละ 6.5 ต่อปี(คลิกภาพเพื่อขยาย)

เส้นทางเงินสหกรณ์ฯคลองจั่น

โดยศาลมีคำพิพากษาให้สหกรณ์ฯ รัฐประชา ชำระคืนเงินต้นทั้ง 1,000 ล้านบาทแก่โจทก์รวมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 13 ต่อปี ตั้งแต่วันฟ้อง (1 สิงหาคม 2557) จนกว่าจะชำระคืนครบถ้วน รวมไปถึงให้ชำระดอกเบี้ยย้อนหลังตั้งแต่ปี 2555 ในอัตราลดหลั่นกันไป ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 ศาลพิพากษาให้ยกฟ้องเนื่องจากให้นิติบุคคลรับโทษแล้ว อย่างไรก็ตาม จากการสืบสวนพบว่าสหกรณ์ฯ รัฐประชาถือครองที่ดินราว 30 แปลงซึ่งน่าจะมีมูลค่าพอสมควร และสหกรณ์จะบังคับคดีเพื่อนำมาสร้างรายได้คืนสหกรณ์ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ เจ้าของบริษัทเครือรัฐประชา และประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนรัฐประชา ถือเป็นอีกหนึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญกับคดีสหกรณ์ฯ คลองจั่น โดยนอกตั๋วแลกเงินมูลค่า 1,000 ล้านบาทที่ศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว นายวัฒน์ชานนท์ยังเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท รัฐประชา จำกัด ซึ่งในปี 2550 มีหลักฐานว่ากู้เงินจากสหกรณ์ฯ คลองจั่นไป 594 ล้านบาท ซึ่งสหกรณ์ฯ คลองจั่นได้ยื่นฟ้องเรียกทรัพย์คืน ในคดีดำที่ 1674/2557 พร้อมกับนายศุภชัยและคนอื่นๆ รวม 18 ราย โดยคดีนี้มีทุนทรัพย์ฟ้อง 3,811 ล้านบาท

นอกจากนี้ นายวัฒน์ชานนท์เคยถูกดีเอสไอแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันยักยอกทรัพย์พร้อมกับนายจิรเดช วรเพียรกุล อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง (สมัยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) ในคดีพิเศษที่ 146/2556 ว่าร่วมกันยักยอกทรัพย์สหกรณ์กว่า 12,000 ล้านบาท โดยระบุว่านายวัฒน์ชานนท์ นายจิรเดช และบริษัทในเครือเป็น 1 ใน 6 กลุ่มที่รับเช็คจากนายศุภชัย 135 ฉบับรวมมูลค่า 2,566 ล้านบาท แต่ภายหลังดีเอสไอส่งสำนวนให้อัยการโดยมีความเห็นไม่สั่งฟ้องนายวัฒน์ชานนท์และนายจิรเดช ให้ฟ้องเพียงนายศุภชัยและพวกรวม 4 คนเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ และพฤติการณ์เป็นการรับโอนเงินจากนายศุภชัยจึงไม่ใช่การยักยอกทรัพย์