ThaiPublica > คนในข่าว > “เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ในโลกออนไลน์ – เช็กก่อนแชร์เปลี่ยนสังคมเชื่อตามกัน

“เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ในโลกออนไลน์ – เช็กก่อนแชร์เปลี่ยนสังคมเชื่อตามกัน

29 กันยายน 2015


แม้ประเด็น GT200 จะซาไปบ้างแล้ว แต่ดูเหมือนว่ากระบวนการคิดของผู้คนในสังคมไทยก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ราวกับบทเรียนนั้นไม่เคยเกิดขึ้น นักวิชาการจุฬาฯ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาสำคัญของกระบวนการคิดที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ขาดการวิพากษ์ (critical thinking) ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์แบบผิดๆ อันส่งผลถึงการทำความเข้าใจที่ขาดการย้อนแย้ง ขาดการไตร่ตรองต่อประเด็นสังคมในมิติอื่นๆ

ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีอีกบทบาทในโลกออนไลน์คือ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ (Science Communicator) ทำหน้าที่คอยอธิบายเรื่องเหลือเชื่อในโซเชียลเน็ตเวิร์กในเชิงวิทยาศาสตร์ เพราะเชื่อว่าประชาชนทุกคนสามารถเข้าใจวิทยาศาสตร์ได้ วิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องยากลึกลับ ด้วยความเชื่อมั่นดังกล่าว ทำให้อาจารย์มี รายการ SciFindฉายในช่องยูทูบ เป็นความร่วมมือจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับ พสวท. (โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) เพื่อเผยแพร่ความรู้วิทยาศาสตร์แบบเข้าใจง่ายและสนุก

ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไทยพับลิก้า: ที่มาที่ไปกับบทบาทของอาจารย์ในการสร้างสังคมการเรียนรู้ในโซเชียลมีเดียเป็นอย่างไร

มันค่อยๆ พัฒนามาเอง ไม่ใช่ความตั้งใจโดยตรง แต่จากเรื่องที่เราเรียนรู้ในอดีต เป็นสิ่งที่เรารู้ว่าโดยภาพรวมแล้วว่าคนไทยไม่ได้ตัดสินใจหรือวิเคราะห์เรื่องต่างๆ ตามข้อมูล แต่ใช้เชื่อตามๆ กัน เช่น สมมติมีคนบอกว่าเครื่องนี้มันใช้ได้ มีคนเอาไปใช้ตามๆ กัน ผู้น้อยที่บอกว่าใช้ได้ดี ผู้ใหญ่ก็เห็นดี ผู้ใหญ่ข้างบนอีกก็พร้อมอนุมัติงบตาม ซึ่งกระบวนการนี้อาจจะไม่มีใครผิดเลยก็ได้ เพราะว่าคนที่ตั้งใจขายเครื่องตั้งแต่แรกเขามีจิตวิทยาในการหลอกเราอยู่ ซึ่งประเทศที่เจริญในแง่วิธีการคิด เช่น มีวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ จะเห็นว่ากระบวนการอย่างนี้จะไม่เกิดขึ้น

เราจะไม่เห็นว่าใช้ GT200 ใน ญี่ปุ่น อเมริกา หรือในยุโรป จะไม่ใช่เครื่องมือหลักๆ เพราะเขาอาจจะเห็นว่ามีคนเอามาใช้โชว์ปุ๊บ สักพักก็ตั้งคำถามได้ วิเคราะห์หาคำตอบได้ แต่บ้านเราไม่เกิดกระบวนการตั้งคำถาม ฉะนั้น ตั้งแต่แรกที่เราเริ่มเห็นเครื่องนี้ออกมา มันไม่มีใครตั้งคำถาม จนกระทั่งพวกผมและสื่อมวลชนช่วยกันรณรงค์ขึ้นมาว่าเครื่องนี้มันใช้ไม่ได้ มันคือการสอนสังคมไทย ให้เริ่มรู้จักตั้งคำถามต่อสิ่งรอบตัว หลังจากเรื่อง GT200 ชีวิตผมเปลี่ยนไปทีละนิดๆ

ผมเริ่มเข้าไปเล่นอินเทอร์เน็ตมากขึ้น จากที่ไม่เคยยุ่งเท่าไหร่เลย เริ่มเล่นในพันทิป มันมีห้องหว้ากอ ที่เขาชอบคุยเรื่องวิทยาศาสตร์ ก็จะเห็นเรื่องแปลกๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ประเด็นอย่างเช่น มีคนแอบอ้างว่ามีพลังจิตแล้วเปิดคอร์สสอนเด็ก ซึ่งเกิดในบ้านเรา ในมุมนักวิทยาศาสตร์ก็คิดว่ามันเป็นไปได้อย่างไร มีคนดังๆ ก็เอาลูกหลานไปเรียน ก็เห็นกระบวนการเดิมๆ คือใช้เชื่อตามกัน พอมีคนบอกว่าทำได้ เห็นการสาธิต ก็ทำตามกัน โดยไม่คิดว่ามันเป็นไปได้หรือ ทำไมไม่เอามาดูว่าเป็นเหตุเป็นผลเปล่า ซึ่งมันขัดกับเรื่องทางด้านวิทยาศาสตร์

กระบวนการเรียนวิทยาศาสตร์ในบ้านเรามันผิดมาตลอด ใช้วิธีเรียนแบบท่องจำ หาสูตรตอบข้อสอบ เรียนจบ แต่ครูไม่เคยกระตุ้นให้เด็กถามคำถาม หรือไม่ก็ถามแย้งครูว่าครูสอนผิดหรือเปล่า หรือปัจจุบันความรู้ที่ครูสอนมันมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า เราไม่เคยมีกระบวนการนี้ พอผมไล่ประเด็นในพันทิปมากขึ้น ก็จะเห็นสินค้าหลอกลวงมีเยอะเลยนะ ไม่ใช่แค่เครื่องตรวจระเบิด มีน้ำแร่ น้ำโมเลกุลเล็กใหญ่ เหรียญแขวนแล้วมีพลัง สินค้าในทีวี แม้แต่อาหารเสริมมากมาย กลไกเดียวกัน กินคอลลาเจนแล้วจะเต่งตึง จริงๆ มันไม่มีผลเลย กินไปมันก็ย่อยหายหมด มันจะไปที่ผิวหน้าได้ไง กลูตาไทโอนกินเข้าไปแล้วจะขาว มันเป็นไปไม่ได้อีก เพราะว่าจริงๆ แล้วมันคือโปรตีนที่ย่อยไป ทำให้ขาวไม่ได้ เพราะฉะนั้น พอเห็นกระบวนการแบบนี้เยอะๆ ก็อยากจะเผยแพร่

ฉะนั้น พอเห็นอะไรในพันทิป ก็จะเห็นปรากฏการณ์ forward mail ถึงได้รู้ว่า เมื่อก่อนมันมีอีเมลนะ สร้างเรื่องแปลกๆ ขึ้นมา วันดีคืนดีบอกว่า วันนี้ห้ามใช้มือถือนะ จะมีพลังงานลึกลับส่งมาจากอวกาศส่งลงมา ถ้าเปิดมือถือเวลานี้รังสีนี้จะเข้าเราเป็นอันตราย องค์การนาซา สำนักข่าวบีบีซียืนยันแล้วว่าเป็นเรื่องจริง แล้วคนก็เชื่อ คนก็ส่งต่อกัน เรื่องบางเรื่องเป็น 10 ปีแล้ว แย้งกันมาเป็น 10 ปี มันก็ยังวนกลับมาตลอด เราเห็นพัฒนาการมา

สังคมไทยเป็นสังคมเชื่อตามกัน หรือสังคมที่ไม่ตั้งคำถาม แล้วมันก็โยงไปเรื่องรอบตัวต่างๆ ได้ อย่างเรื่องศาสนา เรื่องพื้นบ้าน ทำไมคนยังถูกหลอกอยู่เรื่อยๆ ให้ไปทำพิธีไสยศาสตร์ มันเป็นไปได้อย่างไรว่าคนยังเชื่อเรื่องพวกนี้อยู่ ก็กลับมาคำถามเดิม ทำไมคนไม่ตั้งคำถามกับชีวิต ทำไมยังเชื่อตามกัน แล้วมาปีหลังๆ ยิ่งเห็นภาพชัด มันกระเทือนไปไกลกว่านั้น เป็นเรื่องการเมือง การเมืองบ้านเราก็เป็นแบบเชื่อตามกัน เราศรัทธาคนนี้ คนนี้พูดอะไรก็ถูกหมด เราไม่คิดเลยว่าเขาจะมีทั้งจุดถูกและจุดผิด ทั้งสองฝ่าย หรือหลายๆ ฝ่ายก็ตาม ทุกคนเชื่อแต่ผู้นำของตัวเอง แล้วมองว่าฝั่งตรงข้ามผิดหมดเลย ซึ่งกระบวนการวิทยาศาสตร์คือการตั้งคำถามทีละเรื่อง แยกแยะ คิดวิเคราะห์

ตอนแรกผมก็แอนตี้สังคม ไม่เล่นเฟซบุ๊ก มันไม่ดีหรอก เล่นแล้วติด จนเพื่อนบอกว่าต้องเล่นนะ เอาไว้คุยงาน แค่ประมาณเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แล้วแป๊บเดียวก็รู้สึกได้ว่ามันเป็นเครื่องมือที่มีพลังกว่าที่คิดมาก

เราเผยแพร่สิ่งที่เราคิดไปได้ไกลมาก แล้วเรื่องบางเรื่องมันควรจะมีคนช่วยตอบเร็วๆ มันไม่มีคนช่วยตอบ พอแชร์กันมันก็ไม่มีคนแก้ว่าผิดหรือถูก ผมเลยใช้ตรงนี้โพสต์เรื่องนี้มากขึ้น ผมรู้ว่าจริงๆ เป็นอย่างไรนะ เรื่องนี้รู้ เฮ่ย forward mail ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว มันหลอกกันมา ก็อธิบายให้เขาฟังได้ หรือเรื่องใหม่ๆ ที่ไม่มีใครเคยแตะเลย แล้วจากตอนแรกๆ ที่เล่นก็เหมือนไม่มีใครจะสนใจจะตามเท่าไหร่ แต่พอเราเริ่มรู้สึกว่าเรื่องพวกนี้มีคนสนใจเยอะขึ้นนะ มีคนขอแอดเฟรนด์เข้ามาเรื่อยๆ แล้วในไม่นานเฟรนด์ที่เค้าตั้งไว้ก็เต็มเร็วมาก มีคนขอฟอลโลว์เรื่อยๆ

ปัจจุบันที่ผมดูเดือนที่แล้ว ก็ประมาณ 130,000 คนที่ตามผมในช่วงสองปี ซึ่งจะมาในช่วงหลังๆ ด้วยที่คนรู้จักผมเยอะขึ้น ไม่เคยรู้ตัวว่าคนสนใจขนาดนี้ จนประมาณ 2-3 เดือนนี้ ที่นักข่าวมาขอสัมภาษณ์ คือจะเริ่มคุ้นเคยมากขึ้น ว่าอาจารย์เจษฎาอธิบายเรื่องนี้ว่าอย่างนี้ อาจารย์เจษฎาแย้งเรื่องนี้ว่าอย่างนี้ หรือยืนยันว่าอะไร แต่อาจารย์เจษฎาเป็นใคร เขาไม่รู้จัก ประมาณสองสามเดือนนี้ที่นักข่าวมาขอสัมภาษณ์ ผมก็พูดมานานแล้ว แต่อย่างที่ว่าโซเชียลมีเดียมันทำให้เรามีพลังมากขึ้น

FB เจษฎา

ไทยพับลิก้า: เป็นเครื่องมือสำคัญ

จริงๆ แล้วก็น่าจะประมาณนี้ กลายเป็นว่าเรามีเครื่องมือใหม่ที่ช่วยทำให้เราทำสิ่งที่อยากทำมากขึ้นได้ คือตั้งแต่ผมจบวิทยาศาสตร์กลับมา แล้วมาทำงานเป็นอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ เราก็ทำพันธกิจทั่วๆ ไปคือสอนหนังสือ ทำวิจัย เผยแพร่ผลงาน แต่พอเราเริ่มรู้สึกว่าพวกนี้มันเป็นเครื่องมือที่ดี มันก็ทำให้เกิดการเผยแพร่มากขึ้น

ผมก็เริ่มบอกหลายๆ คนว่า ผมน่าจะเรียกว่านักสื่อสารวิทยาศาสตร์ได้เหมือนกันนะ คือมันอาจจะไม่เต็มร้อย จะไม่ใช่คนที่ทำหน้าที่นักสื่อสารวิทยาศาสตร์เลย แต่จำนวนคนมีน้อยมากในไทย คือเมืองนอกฮิตมากเลยนะ คำว่า Science Communication (การสื่อสารวิทยาศาสตร์) แต่เมืองไทยน้อยมาก นับได้ไม่กี่คน เพียงแต่ว่าสไตล์ผมออกแนวสื่อสารในสิ่งที่สังคมอยากรู้ บางทีการสื่อสารวิทยาศาสตร์ทั่วไปคือจะบอกว่านักวิทยาศาสตร์ทำอะไรอยู่ กระทรวงทำอะไรอยู่ มีผลงานอะไรบ้าง อยากเผยแพร่ออกไป อันนี้เขาก็ทำ แต่ผมจะเอาประเด็นที่ว่าสังคมอยากรู้อะไร แล้วผมจะช่วยตอบ

“บางทีคนทั่วๆ ไปมองว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระ บางทีมีรูปภาพแปลกๆ มีรอยพญานาค งูตกจากฟ้า ผมก็ตอบให้ พยายามหาคำตอบให้ ประเด็นที่ตามมา คนก็เริ่มสงสัยอาจารย์เป็นอะไร ทำอะไร เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไหนกันแน่ อะไรก็ตอบ เรื่องไหนถามมาก็ตอบ จริงๆ มันง่ายนะ คือ ข้อมูลในยุคเราตอนนี้ มันเป็นยุคที่สนุกมากเลยสำหรับข้อมูล ข้อมูลมันเต็มไปหมด ในอินเทอร์เน็ต ในที่ต่างๆ เพียงแต่คุณหาข้อมูลเป็นหรือเปล่า หาแล้วคุณจะวิเคราะห์ได้ไหม”

เพราะฉะนั้น กระบวนการมันเกิดขึ้นแล้ว เริ่มตั้งแต่ว่าเจอเรื่องแล้วยังไม่ต้องแชร์ เช่น คิดกันก่อนว่า น้ำแข็งห้ามกิน มันใส่ฟอร์มาลีนไปด้วย กินแล้วจะอันตราย เราก็นั่งคิด มันจะจริงเหรอ จะใส่ไปได้ไง แล้วก็หาข้อมูลสิ ว่าฟอร์มาลีนมันผสมน้ำแข็งได้ไหม ผสมแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง มันมีข่าวแบบนี้จริงๆ หรือไม่ แล้วเราก็ค่อยเผยแพร่ตรงนี้ออกไป แล้วผมก็พยายามสอนกระบวนการนี้ให้คนไทยคุ้นเคยมากขึ้น

“ซึ่งก็น่าสนใจว่าเมื่อก่อนไม่เคยมีใครทำตรงนี้เลยมั้ง พอผมเริ่มทำ เขาก็เลยตื่นเต้นกัน แล้ววันนี้ผมรู้สึกดีขึ้น มีคนทำด้านนี้กันมากขึ้น ถ้าใครตามเฟซบุ๊กผมอย่างเกาะติดหน่อยก็จะเห็นว่าในช่วงเดือนสองเดือนนี้ผมแทบไม่ต้องตอบอะไรมากมายเลย นักข่าวเองก็เริ่มเข้ามาช่วยตอบ คนอื่นก็ช่วยตอบแล้ว บางเรื่องที่เก่าแล้ว คนก็เอาเรื่องที่ผมเคยโพสต์ไว้มาแชร์ซ้ำ กระบวนการจะเริ่มเดินหน้าไปแล้ว หรือแม้แต่สื่อเองเมื่อก่อนก็ไม่ช่วยอธิบาย เวลามีข่าวประหลาดๆ หรือช่วงใกล้ช่วงหวยออก วันที่ 1 กับ 15 แต่ละเดือน ช่วยกันใหญ่เลย”

แต่เดี๋ยวนี้สื่อเป็นอีกกระแสหนึ่งก็จะเข้ามาช่วยอธิบาย อย่างการที่กล้วยมันมีเครือเหมือนพญานาคจริงๆ แล้วมันเป็นแค่การกลายพันธุ์ธรรมดาเอง เขาช่วยตอบแล้ว จากเมื่อก่อนเขาเป็นคนเล่นมากกว่า ให้คนตามข่าว เพราะสังคมมันเริ่มเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น

ไทยพับลิก้า: คนที่มีองค์ความรู้ช่วยกันสร้างให้เกิดกระแสเปลี่ยนทัศนคติ

คือผมคิดว่าองค์ความรู้มีอยู่แล้ว แต่มันต้องเริ่มจากการตั้งคำถามในชีวิตก่อน ว่าจริงหรือเปล่า ว่าใช่หรือเปล่า มันมีอะไรผิดปกติไหม เมื่อกี้ผมเพิ่งเช็กเลย มาใหม่ล่าสุด บอกว่ามีคนผ่าตัดแล้ว เปลี่ยนหัวคนได้สำเร็จ ผมบอกเดี๋ยวก่อน อย่าตื่นเต้น ถ้ามันสำเร็จ มันคงไม่หยุดแค่โพสต์ในไม่กี่เว็บหรอก มันต้องข่าว CNN BBC ดังไปทั่วโลกแล้ว แล้วผมก็กดเช็กในกูเกิลคำเดียว หรือบางทีเรามีแค่รูปภาพ ก็กูเกิลอิเมจได้ มันก็ขึ้นมาเลยว่าเป็นเรื่องหลอกลวง เป็น hoax ไม่ใช่เรื่องจริง

พอมันมีเรื่องใหม่ๆ ก็มีข้อมูลเยอะแยะเลย เรียนรู้ได้ว่ามันจริงไม่จริง มันไมต้องรออาจารย์เจษฎาฟันธง ไม่จำเป็น จริงๆ ทุกคนสามารถช่วยกันหาข้อมูลได้ เพียงแค่อย่าเพิ่งเชื่อกับเรื่องต่างๆ

อาจารย์เจษฎา ดวงเด่นบริพันธ์

ไทยพับลิก้า: การรับสื่อ รับข้อมูลอย่างมีสติ

อันดับหนึ่ง ก็เช็กก่อนแชร์ เวลารับเรื่องราวต่างๆ มาปุ๊บ ตั้งคำถามก่อนว่าจริงหรือเปล่า ถ้าตั้งคำถามแล้วเห็นอะไรผิดปกติเยอะ เช่น มันไม่มีที่มาชัดเจน มันอ้างเรื่องราวขึ้นมา แต่ว่าใครก็ไม่รู้ไม่มีชื่อคน ไม่มีแหล่งข่าว ไม่มีอ้างอิง ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนแชร์ไป ถามผู้เชี่ยวชาญก่อน กูเกิลเองก็ยังได้ เอาคำต่างๆ เข้าไปใส่ ดูสิว่าคำๆ นี้ มันโผล่อะไรขึ้นมาบ้าง ถ้ามีรูปภาพ สั่งกูเกิลอิมเมจเสิร์ชก็ได้ มันก็จะช่วยค้นหาว่ารูปนี้ เคยมีคนโพสต์มาก่อนแล้วไหม บางทีเอารูปสองสามรูปที่ไม่เกี่ยวกันมาจับรวมกันให้คนตื่นเต้นตกใจ ถ้าเราแค่เช็กรูปภาพ เราก็จะรู้แล้ว

บางทีส่งบอกว่ามีรูปงูกำลังโดนถลกหนัง แล้วก็มีรูปลูกชิ้น แล้วก็บอกว่า ระวังอย่ากินลูกชิ้นช่วงนี้ เพราะเอาเนื้องูมาทำลูกชิ้นปลา ซึ่งถ้าเราเห็นปุ๊บ เราก็ตกใจ รีบแชร์ให้เพื่อนดู ก็ต้องเปลี่ยนใหม่ มันจะจริงเหรอ มันจะเอางูมาทำลูกชิ้นปลาทำไม เอ๊ะ เนื้องูมันแพงกว่าลูกชิ้นไม่ใช่เหรอ ถ้าใครรู้นะครับ แล้วรูปภาพที่มามันจริงหรือเปล่า แค่คลิกเช็กดูก็จะรู้แล้วว่า รูปงูที่ว่ามันมาจากโรงงานทำเครื่องหนัง ลูกชิ้นปลาก็มาจากลูกชิ้นปลา มันคนละเรื่องเลย แล้วก็จะจบข่าวได้ว่ามันเป็นอย่างนี้นี่เอง อย่างนี้คือกระบวนการที่คนจะช่วยกันได้ หรือไม่สำนักข่าวเองก็สามารถช่วยกันได้

ไทยพับลิก้า: ปัจจุบันมีเครื่องมือให้เราค้นหาเยอะ แต่ความน่าเชื่อถือของสื่อ ของข้อมูล ยังขาดอยู่ไหม

ยังขาดมาก คือคนไทยยังไม่ค่อยจะเรียนรู้ว่าข่าวไหน น่าเชื่อถือ ไม่น่าเชื่อถือ ที่ผมจะโดนแชร์มาถามตลอด แล้วผมต้องคอยตอบแก้ มันเป็นเว็บไซต์อะไรก็ไม่รู้ ซ่าๆ บางทีชื่อ ohoza blogza มันมีชื่อซีรีย์แบบประหลาดๆ ผมก็ถาม มันไม่ใช่สำนักข่าวเลยนะ คุณจะเชื่อได้ไง สเต็ปแรก คือของพวกนี้มันไม่ใช่ของที่น่าเชื่อถือ แต่เขามักสร้างสีสัน เขาตั้งใจ ขายยอดไลค์ ยอดวิว ให้คนดู เข้ามากด ดังนั้นเขาจะโพสต์ให้มีสีสันมาก ทิ้งคำไว้ เนื้อหาไม่ครบ ให้เรารู้สึกกลัวตาม หรือตื่นเต้นตาม เราก็ไม่ควรเชื่อตั้งแต่แรก

ต่อมาก็ไปดูสำนักข่าวจริงๆ ถ้าบอกว่าแชร์มาจากสำนักข่าวนั้นข่าวนี้ก็ต้องไปดูว่ามีตัวตนจริงๆ หรือไม่ เป็นสำนักข่าวระดับโลกไหม BBC CNN หรือ Washington Post อะไรไหม หรือว่าชื่อประหลาดๆ แต่ดูเหมือนสำนักข่าวก็ต้องแยกแยะให้ได้ แม้แต่ของไทยเอง หลังๆ ก็ต้องระวังเหมือนกัน สำนักข่าวของไทยบางสำนักก็เน้นที่เนื้อหาวิชาการจริงๆ บางที่ก็เน้นสีสัน ฉะนั้นมันก็มีสเต็ปในการไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วก็เหมือนเดิมครับ คือเราจะสามารถเช็กได้ว่าถ้าเราฉุกใจก่อนว่าสำนักข่าวนี้อาจจะพูดอะไรไม่จริง

เราอาจจะเช็กเองหรือถามผู้รู้ก็ได้ และถ้ายิ่งเราอยู่ในยุคที่จะเป็น ASEAN มากขึ้น ภาษาอังกฤษเราควรจะแข็งแรงขึ้น ทำไมผมถึงได้เปรียบคนอื่น เพราะเวลาผมเช็กพวกนี้ ภาษาอังกฤษผมก็พอได้ ฉะนั้น หลายๆ อย่างที่มันแปลเป็นไทยมาเรียบร้อย มันมีอะไรที่บิดเบือนไปเยอะ แปลผิดก็มี หรือว่าหลอกลวงปนเข้ามาก็มี พอเราเข้าไปเช็กแหล่งข่าวจริงๆ ที่เป็นภาษาอังกฤษมนได้คำตอบชัดเจนตั้งแต่แรก เราก็จะรู้เรื่องราวมันเป็นอย่างนี้

และในมุมกลับ คือนอกจากคุณจะช่วยผมก็ได้นะ คุณจะเจอ อ๋อ รู้แล้วเรื่องนี้จริงๆ มันโดนหลอกมาว่าอย่างนี้ ตอนแรกผมเป็นใครก็ไม่รู้ที่สังคมไม่รู้จักเลย ทำไมพอวันนี้คนก็เริ่มรู้จักผมมากขึ้น แล้วจริงๆ ผมว่าทุกคนทำได้ สำนักข่าวเองก็ทำได้

ไทยพับลิก้า: เหตุที่สังคมเชื่อไม่ลืมหูลืมตา

ผมพยายามมองย้อนกลับไปที่ผมพูดตั้งแต่แรกว่าเราเรียนวิทยาศาสตร์มาผิดๆ กว่าผมจะรู้ตัวคือตอนไปเรียนเมืองนอกด้วยซ้ำ ตอนที่เริ่มเห็นภาพว่ามายาคติว่าวิทยาศาสตร์เรียนอย่างนี้ พอไปอยู่ต่างประเทศมันไม่ใช่ พอกลับมา มาเจอปรากฏการณ์เรื่อง GT200 ยิ่งเห็นภาพว่าไม่ใช่แล้ว เราคงหลงทางมานานกับการเรียน อาจจะทั้งวิทยาศาสตร์และวิชาอื่นๆ ด้วย อย่างประวัติศาสตร์ก็คงจะเรียนมาผิดๆ แน่ๆ เพราะเราเรียนมาแบบเดียวกัน มีเนื้อหาบางอย่างที่ตั้งมาเลย ให้คุณท่องตามนั้น คุณเชื่อตามนั้น แต่ไม่มีการตั้งคำถามเลยตั้งแต่แรก

พอไปอยู่เมืองนอกมันเห็นภาพว่าอาจารย์ก็จะเน้นแต่การตั้งคำถามว่าจริงหรือไม่จริงอะไรบ้าง เราเห็นตั้งแต่เด็กๆ เลย เด็กฝรั่งเขายกมือถามยกมือตลอด สมัยผมเรียนระดับปริญญาโทขึ้นไป เขาเรียนปริญญาโทกับเอกรวมกันนะ เวลาผมไปเรียน ผมเห็นเพื่อนปริญญาโทเขาซักอาจารย์กันมากเลย มันไม่มีระบบอาวุโสที่ผู้ใหญ่พูดต้องเชื่อ ทุกคนพร้อมจะหาข้อมูลมา เขาหาข้อมูลมา อาจารย์ก็หาข้อมูลมา ทุกคนพร้อมจะยันกันด้วยเรื่องข้อมูล นี่คือบรรยากาศที่บ้านเราไม่เป็น

การโต้เถียง การแลกเปลี่ยน การหาข้อมูลมันไม่มี ซึ่งตรงนี้มันผิดมาตั้งแต่กระบวนการศึกษาแล้ว ทีนี้พอมันผิดมาตลอด มันเลยมาเจอปรากฏการณ์ที่ว่า แล้วแถมเราไปหลงประเด็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยากไปอีก อันนี้น่าสนใจนะ คือคนในวงการเอง เราไม่เคยรู้ตัวกัน นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก เจอสถานการณ์เดียวกัน Science Communication (การสื่อสารวิทยาศาสตร์) ในเมืองนอกถึงได้ฮิตมาก เมืองนอกเขารู้ตัวว่านักวิทยาศาสตร์พูดไม่รู้เรื่อง เป็นคำที่ฟังดูเจ็บปวดมาก แต่มันเป็นเรื่องจริง หรือแม้กระทั่งนักวิชาการทั่วๆ ไป

ผมก็ไม่รู้สาขาอื่นนะ บางครั้งผมก็มีหลักฐานอ้างอิงนะ ผมฟังคุณหมอพูด ผมก็ไม่รู้เรื่อง ฉะนั้น สายวิทยาศาสตร์เองจะโดนฝึกมาว่า ต้องมีศัพท์เทคนิค ภาษาอังกฤษ คำศัพท์เฉพาะทาง คุณอาจไม่ตั้งใจ แต่คุณรู้ว่ามันสื่อสารกันเองในวงการได้ง่าย แต่สำหรับคนข้างนอกวงการ ชาวบ้านที่มองเข้ามา เขาไม่รู้เรื่อง มันจำเป็นที่ต้องหาวิธีการทำให้คนเข้าใจได้ง่ายขึ้น เมื่อเราเรียนวิทยาศาสตร์ในห้องเรียนมาอย่างผิดๆ ไม่รู้จักโต้แย้ง ไม่รู้จักตั้งคำถาม เชื่ออย่างเดียว พอถึงวันที่เราต้องค้นหาข้อมูลเอง เราก็ไม่กล้าอ่าน แล้วหนังสือก็ยาก ไปถามนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิชาการก็พูดไม่รู้เรื่อง นักข่าวไปสัมภาษณ์บางทีก็ตอบอะไรไม่รู้เรื่อง

มันจำเป็นต้องเรียนรู้กระบวนการย่อยข้อมูล ให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องง่ายๆ คำไทยธรรมดาๆ แม้ภาษาไทยเองก็แยกเป็นภาษาไทยยากกับง่าย ก็ต้องเลือกคำที่ฟังแล้วรู้เรื่องเลย หรือสั้นๆ กระชับ นักวิทยาศาสตร์ชอบอธิบายทุกอย่างยาวกว่าจะได้คำตอบ แต่สังคมต้องการคำตอบที่สั้นกระชับ รู้เรื่องเลยว่า อ๋อ เป็นอย่างนี้ๆ แล้วก็อาจจะมีเหตุผลแค่นี้ แล้วก็รู้เรื่องแล้ว พวกนี้ต้องมาเรียนรู้กัน ผมก็พยายามฝึกตัวเองด้วย แล้วก็พยายามถ่ายทอดด้วยว่าเราทำได้

ณ วันนี้ เราจะเริ่มเห็นมีเพจเฟซบุ๊กมากขึ้น โดยเฉพาะเพจด้านการแพทย์ จะมีคุณหมอหลายคนลงมาช่วยทำอย่างนี้ หมอก็จะพูดเรื่องสั้นๆ นิดเดียวให้เห็นภาพ ว่าที่ใช้กันอยู่มันไม่จริงนะ ที่แชร์กันไม่จริงนะ แล้วคุณหมอเขาจะมีมุกของเขา ซึ่งเขาก็จะเหมือนผมที่ทำตัวไม่ค่อยเหมือนหมอในกระแสเขาเท่าไหร่ หมอในกระแสหลักก็แบบหนึ่ง ก็อาจฉีกไปบ้าง ผมก็มีกระแสหลักของนักวิทยาศาสตร์ ผมก็อาจฉีกมาบ้าง ซึ่งทุกคนทำหน้าที่ของตัวเอง ทำวิจัย ทำการเผยแพร่ตรงนั้นดีแล้ว แต่เราพยายามเสริมบางอย่างเข้าไปให้เขาอยู่ใกล้ประชาชนมากขึ้น

เจษฎา

ไทยพับลิก้า: วิธีสอนแบบผิดๆ แล้วในแง่เนื้อหาผิดด้วยไหม

ในแง่เนื้อหาผมว่ายังไม่ผิด แต่มันมีสิทธิผิดในอนาคต ซึ่งเป็นปรัชญาที่สำคัญมากที่เราไม่เคยสอนเด็กเลย วิทยาศาสตร์กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ สองสามพันปี ตั้งแต่กรีก โรมัน ยุคกลาง มันเรียนรู้มาตลอด และมันแก้มาตลอด ที่เราเรียนที่เราสอนกันอยู่ปัจจุบัน เราสอนกันว่าองค์ความรู้ ณ วันนี้มันคืออะไร ตามที่เวลาที่ตำรานั้นเขียน หรือตำรานั้นอ้างอิง หรือแปลมาอีกที แต่เราไม่เล่าให้เด็กฟังว่ากว่าจะมาถึงวันนี้มันแก้อะไรมาบ้าง

อย่างผมสอนวิชาวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ถ้าเราเรียนแบบตำราเลย เช่น ชาร์ลส์ ดาร์วินบอกว่า วิวัฒนาการกฎเกณฑ์เป็นอย่างนี้ แล้วก็จบอย่างนี้มียีราฟ มีเต่า อะไรก็ว่าไป เขาไม่ได้สอนว่ามาว่าก่อนชาร์ลส์ ดาร์วิน คนเชื่อว่าอะไรบ้าง เคยมีใครเสนอไอเดียอะไรบ้าง แล้วแก้อะไรบ้าง แล้วดาร์วินเอง จริงๆ แล้ว 150 ปีแล้วนะจากที่เขาสอน วันนี้ดาร์วินโดนแก้อะไรมาบ้าง ไม่สอน ฉะนั้น สิ่งที่เราไม่ได้เรียนรู้ สิ่งที่เราไม่ถูกซึมซับ จริงๆ ถ้าเป็นฝรั่งเขาจะซึมซับโดยไม่รู้ตัว เขาจะเรียนประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ในแต่ละเรื่องก่อน แต่เราไม่ทำ

สังคมไทยเราชอบสอนหนังสือแบบเอาความรู้ไปเยอะๆ คุณไม่มีเวลามานั่งคุยความรู้ประวัติศาสตร์แล้ว คุณเอาความรู้ปัจจุบันไป พอเยอะขึ้นไป คุณไม่ซึมซับแล้วว่ามันแก้มาเรื่อยๆ คุณก็เลยเชื่อว่านี่คือความรู้ และความรู้นี้แก้ไม่ได้

คนไทยมองความรู้เป็นไบเบิล เป็นตำรา เป็นพระคัมภีร์ คุณโดนสอนมาอย่างนี้ หรือว่าสมัยที่อาจารย์ที่สอนเขาก็เรียนอย่างนี้มาเมื่อ 40 ปีที่แล้ว หรือ 30 ปีที่แล้ว นี่สมมตินะ เขาเชื่ออย่างนี้ แต่เขาไม่รู้ว่าตั้งแต่เขาเรียนหนังสือจนเขามาสอนวันนี้มันโดนแก้ไปไกลแค่ไหนแล้ว แล้ววันที่เราโดนเองด้วยซ้ำ ข้อมูลมันผิดไปตั้งเยอะแล้ว ชาวโลกเขาไปถึงไหนต่อไหนแล้ว แต่เราก็จำอย่างนี้ไปสอนลูกหลานเราต่อโดยที่เราไม่รู้ตัวเลยว่ามันโดนแก้ไปแล้ว

ฉะนั้น ความผิดพลาดคือเราไม่ซึมซาบไปว่างานวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องแก้ไขได้โดยการตั้งคำถาม โดยการเปลี่ยนแปลง และมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ความรู้ที่เราเรียนวันนี้ ตำรานี้ มันอาจจะผิดก็ได้ในอนาคต ผมพูดตรงๆ ว่าตำราที่เด็กไทยที่ใช้ตอนนี้ผิดเยอะมาก เพราะมันคือองค์ความรู้ของคนเขียนเมื่อ 10 ปีก่อน

ไทยพับลิก้า: อาจารย์ยกตัวอย่างได้ไหม

ตัวอย่างที่ผมชอบใช้ยก เวลาผมไปบรรยายที่ไหนก็ตาม คือเรื่องของลิ้น ลิ้นรับรสได้ต่างๆ 4 รส มีเค็ม เปรี้ยว หวาน ขม เด็กก็เรียนอย่างนี้ ผมถามเด็กโรงเรียนต่างๆ ทุกคนก็ตอบ 4 รส ผมก็ถาม แล้วคุ้นๆ รสอูมามิไหม ทุกคนก็คุ้นๆ อร่อย แล้วถามว่าคุ้นจากไหน เขาตอบโฆษณา แต่ตำราไม่ได้สอน แล้วผมบอกรสอูมามิเป็นรสที่ 5 แล้วนะ ระดับโลกเขายอมรับแล้ว

ผมก็เล่าให้ฟังว่าตอนผมเรียนหนังสือมัธยม ผมเคยเถียงครู ผมถามว่าแล้วอาจารย์รู้ได้ไงว่ามีแค่ 4 รส ผมมั่นใจว่าตำราที่เรียนอยู่ ฝรั่งเขียน แล้วคนไทยแปลมา แล้วฝรั่งไม่เคยกินอาหารเอเชีย ไม่เคยกินส้มตำ ไม่เคยกินอะไรอย่างนี้ แล้วจะรู้จักรสต่างๆ มากกว่า 4 รสหรือ ซึ่งอาจารย์เขาจะไม่สนุกด้วยกับการที่ผมไปแย้งอย่างนั้น แต่ว่าเราก็เห็น อ้าว คนไทยไม่เคยคิดจะแย้ง เพราะรสที่ 5 เป็นรสที่คนญี่ปุ่นคิด

คือ สังคมญี่ปุ่นที่เราก็มองว่าเขาเคารพอาวุโส แต่กระบวนการคิดเขาก็เป็นวิทยาศาสตร์กว่า และเขาค้นจนพบว่าเป็นรสที่ 5 แล้ววันนี้ตำราต่างๆ ก็บอกว่ามันไม่ได้มีแค่ 5 มันมีเป็นพันเลย แล้วแต่ว่าเราจะนับอย่างไร เรื่องเกี่ยวกับแผนที่ลิ้น ตำราเรายังใช้อยู่เลยว่ามีแผนที่ลิ้นนะ ตรงปลายลิ้นรับรสหวาน ตรงโคนลิ้นรับรสขม ตรงนี้รับรสเปรี้ยว มีแผนที่บอก ซึ่งตำราฝรั่งเลิกใช้ไปนานแล้ว มันเป็นความเชื่อมากว่า 200 ปี เราเชื่อกันมาเฉยๆ เลย ทั้งที่ไม่มีการรองรับทางวิทยาศาสตร์

ตำราปัจจุบันบอกว่าทั้งลิ้นรับรสเท่าเทียมกัน แต่ตำราไทยยังใช้อยู่เลย อันนี้ก็เพราะเราไม่ได้เรียนรู้ว่าทุกอย่างมันแก้ไขได้ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดสำหรับคนเขียนตำราเขานะ แต่มันไปผิดที่กระบวนการ คือถ้าอาจารย์ผู้สอนเองก็เรียนรู้คอนเซปต์นี้ว่าทุกอย่างแก้ไขได้ อาจารย์ก็ควรจะบอกเด็กในชั้นเรียนว่าครูเพิ่งเช็กมาเมื่อวานมันเปลี่ยนไปแล้วนะ หรือเด็กเอง ถ้าเป็นเด็กฝรั่งเถียงครูไปแล้ว เปิดวิกิพีเดียบอกอาจารย์ไปเลยว่าผิด แล้วถ้าเป็นอาจารย์ไทยจะทำอย่างไร ผมว่าถ้าเป็นอาจารย์ไทยส่วนใหญ่พูดว่า เธอมาเถียงอะไรครู แต่ถ้าเป็นเมืองนอกคงมีการแก้ไข คงมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง

ไทยพับลิก้า: การสอนอย่างที่อาจารย์บอก ทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยาก ทั้งที่วิทยาศาสตร์มันอยู่รอบตัวเรา

ใช่ ผมโดนว่ามาอย่างนี้เหมือนกันในอินเทอร์เน็ต คือก็มีคนชอบผมมากขึ้น และคนไม่ชอบผมก็มี ว่าอาจารย์คนนี้เป็นใคร มันตอบทุกเรื่องเลย แล้วตอบแต่เรื่องไร้สาระตอบเก่งจริงตอบเรื่องยากๆ สิ ตอบทำไมเรื่องพญานาค เรื่องรอยนั่นรอยนี่ บางทีข่าวเล็กข่าวน้อยผมก็ตอบ เรื่องกินเต้าหู้ เรื่องกินน้ำ ผมตอบหมดเลย ตอบแต่เรื่องง่ายๆ ตอบเรื่องยากๆ สิ เรื่องยากๆ จะให้ผมตอบไหมล่ะ ผมก็ตอบได้ เอาศาสตร์ที่สอนไหมล่ะ ผมก็ตอบได้ รับรองคุณก็ไม่รู้เรื่องเรื่องที่ผมสอนแน่ๆ

แต่มันไม่ใช่เรื่องที่สังคมไทยต้องการใช่ไหมครับ ผมว่าสิ่งที่สังคมไทยต้องการคือคำตอบกับทุกเรื่อง ถ้าผมจำสมัยรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์คนหนึ่งคือ คุณกร ทัพพะรังสี ผมชอบท่านมาก เพราะว่าท่านให้แคมเปญ ให้สโลแกนกระทรวงไว้ว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ใกล้ชิดประชาชน วิทยาศาสตร์มีคำตอบ ผมชอบคำนี้มากเลย ผมว่าคิดได้ดี

ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีความรู้สึกว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์สำคัญกับคนไทย คือเรารู้ตัว นักวิทยาศาสตร์รู้ตัว แต่ถ้าถามคนไทยทั่วไป กระทรวงวิทยาศาสตร์ทำอะไร ตอบไม่ได้ มันไม่เหมือนกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม ซึ่งชัดว่าทำอะไร กระทรวงวิทยาศาสตร์จะเห็นไม่ชัด แต่ท่านบอกว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์ก็มีหน้าที่ตอบคำถามประชาชนไง ผมก็เลยช่วยตรงนี้เหมือนกัน

เรื่องต่างๆ ถึงเป็นเรื่องไร้สาระใกล้ตัว กินปลาอันตรายไหม มีพยาธิหรือไม่ นักวิทยาศาสตร์ก็ช่วยตอบได้ ปลาหั่นแล้วแต่มันไม่ยอมตายมันยังเด้งอยู่ เรื่องมีพยาธิอาจมีหมอมาช่วยตอบ มีสัตวแพทย์มาช่วยตอบ แต่ปลาหั่นแล้วยังไม่ตายมันยังเด้งๆ ใครจะช่วยตอบ ก็นักวิทยาศาสตร์ไงก็ช่วยตอบได้ คนมันก็จะ อ๋อ ที่เคยเรียนเรื่องระบบประสาทในร่างกาย ในร่างกายมันก็เหมือนไฟฟ้า นี่ไงเห็นคลิป อย่าไปมองว่ามันคือคลิปมหัศจรรย์หรือต้องกราบไหว้ปลาตัวนี้ ไม่ใช่ นี่ไง ที่เราเรียนก็มาอธิบายเรื่องนี้ได้ นื่คือกระบวนการที่ผมว่าต้องทำกัน

อาจารย์เจษฎา ดวงเด่นบริพันธ์

ไทยพับลิก้า: จริงๆ มันเป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องทำ แต่เราละเลยมันมานาน

ผมใช้คำว่าหลงทาง ทุกคนอาจจะรู้ มันเป็นเรื่องดี อาจจะทำอยู่บ้าง แต่ว่าไปให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นมากกว่า

ไทยพับลิก้า: วันนี้ต้องกลับมาที่พื้นฐานใช่ไหม

ผมอยากกระตุ้นให้มีคนมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น โอเค สิ่งที่ทำกันอยู่ก็เป็นเรื่องดี ผมบอกแล้วเรามีงานวิจัยชั้นยอด เรามีนักวิทยาศาสตร์ไทยที่เก่งระดับโลกค่อนข้างเยอะ แต่เรายังขาดเรื่องพวกนี้อีกเยอะเหมือนกัน

การทำให้สังคมรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์อยู่รอบตัว มีคำตอบให้เรื่องต่างๆ ได้ มีแต่คนชอบบอกผมอย่างนี้ ถ้าผมรู้จักอาจารย์ตั้งแต่เรียนหนังสืออยู่ ป่านนี้ผมคงตั้งใจเรียนวิทยาศาสตร์มากกว่านี้ ผมฟังแล้วผมประทับใจนะ แสดงว่าผมประสบความสำเร็จระดับหนึ่งให้เขารู้สึกว่า วิทยาศาสตร์มันรอบตัวจริงๆ มันสนุกนะ หลายๆ เรื่องกลับไปคุยกับครูที่โรงเรียนได้เลย แต่เสียดายกระบวนการเรียนการสอนมันไม่สนุก ก็เลยหลุดจากกระแสกันไป

ไทยพับลิก้า: สังคมที่เป็นสังคมแห่งความเชื่ออย่างนี้ มันจะทำให้ทุกอย่างมันบิดเบี้ยวไปหมดไหม

เมื่อก่อนไม่เคยรู้สึกเพราะเราเรียนวิทยาศาสตร์เฉยๆ เราก็อยู่ในโลกแบบนี้ โลกทางวิทยาศาสตร์ โลกทำวิจัย เราก็จะเฉยๆ มองเรื่องเป็นเรื่องขำๆ คนไทยเชื่อเรื่องผีเหรอก็ขำๆ หรือว่าเชื่อเรื่องทำพิธีกรรมไสยศาสตร์ก็เป็นเรื่องของเขา แต่พอมาเจอเรื่องที่ว่า ผ่านเรื่อง GT200 ผ่านเรื่องการหลอกลวงขายสินค้าต่างๆ ผ่านเรื่องพิธีกรรมที่มีเรื่องเสียเงินเสียทอง บางทีมันกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต จนระดับผู้นำของชาติ สมมตินะ ไม่ได้พูดถึงนั่นนะ แต่เอาเรื่องไสยศาสตร์มาเกี่ยวข้องกับบ้านเมืองด้วย มันไม่ใช่แล้ว มันกระทบมากกว่าที่คิด จำเป็นต้องมาช่วยกันพูดมากขึ้นนะ แล้วก็พูดในมุของแต่ละคน

อย่างสไตล์ผมจะซอฟต์ๆ ผมก็จะพูดในเชิงวิชาการ ในเชิงความรู้ ถ้าใครบางคนเป็นนักวิทยาศาสตร์จ๋ากว่านี้อีก อธิบายเป็นฟิสิกส์ เคมี ชีวะได้ หรือบางคนอาจไปอีกแนวหนึ่ง อาจจะไม่ซอฟต์ อาจจะมีอะไรที่มันท้าทายกว่านั้น ปัจจุบันมีเพจที่ดังมากชื่อเพจฟัคโกสต์ ซึ่งก็ออกแนวแรงเลย ไปท้าทาย ไปว่าเขา ก็เป็นเส้นทางเขา ซึ่งผมก็ไม่ได้เห็นด้วยมากนัก บางทีมันก็แรงไป แต่ว่ามันต้องเกิดระบวนการย้อนแย้งบ้างในสังคมไทย ที่ผ่านมาไม่มีใครเชื่อเรื่องกระบวนการย้อนแย้ง ก็โชคดีที่เรามีพลังของเครื่องมือใหม่ๆ เช่น โซเชียลมีเดีย หรือวันนี้เรามีทีวีดิจิทัล

การเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัลช่วยผมมากเลยนะ เมื่อก่อนเรามีทีวี 3 5 7 9 11 ไทยพีบีเอส กระแสของเรื่องต่างๆ จะไปทางเดียวกัน เขาทำข่าวคล้ายๆ กัน แล้วเขาจะไม่กล้าเล่นอะไรที่มันแรงเกินไป วันนี้พอมีทีวีโผล่มา 20 กว่าช่อง เราเริ่มเห็นการแข่งขันกันกับเรื่องต่างๆ

ไทยพับลิก้า: หมายถึงการทำเนื้อหา

เนื้อหาที่ไม่ตามกระแสเดิม ผมยกตัวอย่างเช่น ไทยรัฐทีวี ผมชอบมาก ก็เริ่มเข้ามาทำเหมือนผมเลย คือเขาจะมีโควต วันนี้อาจารย์เจษฎาพูดว่าอะไรบ้าง ตอนนี้เขาไม่แล้ว จะมีสายตรวจโซเชียล เขาจะเริ่มเช็กเองแล้ว ตอบเองแล้ว ซึ่งผมว่าอย่างนี้เป็นเรื่องดี

เมื่อก่อนสื่อกระแสหลักไม่ทำ เพราะมันขัดกระแสสังคม แต่อย่าลืม ตอนแรกผมทำ ผมโดนว่าว่าอาจารย์ไปแย้งกระแสสังคมทำไม ตอนนี้เริ่มรู้สึกว่ามันเริ่มมีคนมาช่วยมากขึ้น เริ่มมีพลังมากขึ้น เรื่องบางเรื่องมันต้องแย้งกันนะ การแย้งไม่ใช่เรื่องเสียหายมันเป็นการกระตุ้นให้คิดมากขึ้น

ไทยพับลิก้า: ต้องมีคนกล้าและย้อนแย้ง

ใช่ ผมพยายามทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง การกล้าย้อนแย้งมันทำได้ แล้วมันทำแล้วไม่ได้อันตรายอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ แล้วมันสนุกด้วย มันกลายเป็นสีสันที่คุณเอาไปทำข่าวได้ด้วย ถ้าคุณอยากทำข่าว

ไทยพับลิก้า: เป็นการใช้โซเชียลมีเดียในทางบวกของอาจารย์พูดอย่างนั้นได้ใช่ไหม

ก็ผมคิดว่าโซเชียลมีเดียโดยหลักๆ โดยภาพรวมมันต้องเป็นทางบวกอยู่แล้ว ไม่งั้นมันไม่มีประโยชน์มาถึงวันนี้ แต่คนไปใช้ทางลบค่อนข้างเยอะ มันเหมือนดาบสองคมที่ว่าใช่ไหมฮะ ด้านบวกได้ความรู้เต็มๆ เลย ด้านลบก็ให้ความรู้ผิดๆ หรือว่าทำให้คนเสียเงินเสียทองอย่างที่ว่า

ผมอาจจะฟังดูแปลกนะ ผมมีหน้าที่ทำให้ด้านลบมันทื่อลง คือคนที่เขาเติมด้านบวกมีอยู่มากมายแล้ว ก็ต้องอยู่ที่วิธีการว่าเขาจะให้เข้าถึงประชาชนอย่างไร แต่ด้านลบ คนมันชอบ คนมีแนวโน้มจะเสพสื่อด้านนี้มากกว่าด้านบวก เรื่องที่มีสีสัน มีดราม่ากระทบกระแทกกันหรือว่าตื่นเต้นตกใจ คนมีสัญชาติญาณจะชอบตรงนี้อยู่แล้ว

ผมก็พยายามเขามาช่วยถูให้มันทื่อลง วันหนึ่งบอกมีรอยพญานาคโผล่มาจุฬาฯ ผมก็รีบโผล่ไปชี้แจงเลยว่าไม่ใช่ มันก็จะได้ทื่อลงบ้าง

ไทยพับลิก้า: วันนี้ในแง่ของอาจารย์เอง มองว่าตัวเองมีชื่อเสียง ใครก็วิ่งมาหาอาจารย์กัน

ผมว่าอาจจะนิดหน่อย แต่เดี๋ยวมันก็จะเปลี่ยนแปลงไป ถ้าผมพูดตรงๆ นะ ในวงการวิทยาศาสตร์ ในอดีตที่ผ่านมายังไม่ค่อนคุ้นเคยใครที่สังคมจะรู้จักมากนัก ว่านักวิทยาศาสตร์คนนี้ ชื่อนี้ พูดเรื่องนี้

โอเค เราจะพูดถึงดอกเตอร์บางท่าน ผมระบุชื่อไม่ได้ ที่คนบอกว่าเวลามีอะไรก็สัมภาษณ์ท่านนี้ ผมก็แย้งว่าท่านไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ ตัวตนจริงๆ ในหลายๆ อย่างท่านก็พูดผิดเยอะ แต่ในวันนี้ผมมั่นใจว่า ผมอาจจะมีพูดผิดบ้าง แต่ในภาพรวมผมมั่นใจว่าผมพูดถูกค่อนข้างเยอะ และผมเป็นนักวิทยาศาสตร์จริง ผมทำงานทางด้านวิทยาศาสตร์จริง สอนวิทยาศาสตร์จริง แต่ผมเชื่อว่ามันจะไม่ได้มีแค่ผม เช่น ตอนนี้ผมอาจจะเริ่ม ช่วงเวลาปิดเทอมก็มีเวลาว่างเยอะ โพสต์เยอะ เปิดเทอมก็โพสต์น้อยลง คนก็อาจจะลืมผมไปก็ได้ แต่มันก็จะมีคนใหม่ๆ เกิดขึ้น

ตัวอย่างดีมากเลย อาจารย์อ๊อด วีรชัย พุทธวงศ์ คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเกษตร ก็เป็นอาจารย์ท่านหนึ่งที่เข้ามาช่วยผมพูดในช่วงหลัง เช่น ตอนมีบ้านไฟไหม้ที่พัทลุง ผมก็อธิบายว่าบ้านไฟไหม้มันไม่น่าเกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ ไม่น่าจะได้

คือต้องช่วยโปรโมตซึ่งกันและกันด้วยครับ จริงๆ ก็มีคนเริ่มทำด้านนี้มากขึ้นแล้วมันต้องให้ถูกตัว อย่างที่ผมเกริ่น อย่างในอดีตบางทีมีคนที่สังคมเชื่อว่าเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์แต่เขาไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์จริงๆ ก็เยอะ แล้วบางทีไปถามอะไรเขาข้อมูลก็ผิดไปเลยก็ได้ หรือเขามีประเด็นแอบแฝงบางอย่างอยู่

พอเรามีโซเชียลมีเดียมันทำให้เรารู้จักตัวตนคนมากขึ้น โลกมันแคบลง ทำให้รู้ว่าคนนั้นคนนี้ทำเรื่องอะไรอยู่ และใครบ้างจะตอบเรื่องไหน ตอบได้ชัดเจนตอบได้รู้เรื่อง คนอาจจะมีความสามารถสูงมาก แต่ถามแล้วอาจจะคุยไม่รู้เรื่องก็ได้ อย่างที่ผมยกตัวอย่างว่า มีคุณหมอหลายคนเข้ามาช่วยตอบมากขึ้น ถ้าผมแนะนำจะมีเพจหมอแมว หมอสปาร์ตัน หมอจ่าพิชิต Drama-addictแล้วพวกเราก็มีกลุ่มนั่งคุยในเฟซบุ๊กว่าวันนี้จะพูดอะไรเรื่องกันดี จะช่วยเรื่องอะไรได้บ้าง

อาจารย์เจษฎา ดวงเด่นบริพันธ์

ไทยพับลิก้า: เป็นเครื่อข่ายร่วมมือกันใช่ไหม

อย่างสมมติผมทำเรื่องเคมี คือในภาพรวมผมเป็นนักชีววิทยา แต่ผมจะเล่าเรื่องต่างๆ ได้ อย่างเรื่องบ้านไฟไหม้ที่พัทลุง วิเคราะห์แล้วยังไงก็ไม่ได้ที่มันจะเกิดสารเคมีลุกไหม้ขึ้นมาเอง เราจะว่ามีผีทำก็คงไม่ใช่ มันก็มีสิทธิเป็นไปได้สูงว่าคนจะทำขึ้นมา แต่ผมพูดอย่างนี้ คนก็จะบอกว่า อาจารย์มันไม่มีอะไรพิสูจน์เลยเหรอ ก็โชคดีที่ได้อาจารย์อ๊อด วีรชัย ที่ภาคเคมี มหาวิทยาลัยเกษตร อาจารย์ก็สนใจเรื่องพวกนี้ มาทำการทดลองให้ ส่งทีมไปดูให้ ผมอภิปรายบางอย่างเพิ่มเติม

มันเหมือนกับว่าเรามีทีมมากขึ้น มีคนแบคอัพ มากขึ้น แล้วผมก็เลยบอกว่า ผมไม่ใช่เซเลบหรอก เดี๋ยวผมอาจจะหายไปเลยก็ได้ อาจจะไปทำอย่างอื่น เดี๋ยวผมมีลูก ผมก็เลี้ยงลูก แต่ว่าหลายๆ อย่างมันเริ่มจะมีตัวตนจริงๆ เข้ามาช่วยมากขึ้น อย่างวันนี้ พอมีเรื่องเคมี พอมีปรากฎการณ์อะไร คนก็จะแบบว่ามีอะไรถามอาจารย์เจษฎา และถ้าผมรู้ ผมก็จะรีบตอบสั้นๆ ให้ก่อน ว่าเรื่องนี้เป็นอย่างนี้นะ พอนักข่าวโทรมาหาผม บอกว่าอาจารย์อยากให้อธิบายเรื่องนี้ และอยากให้ทดลองโชว์หน่อย ผมก็จะบอกเลยว่า เออ ลองไปหาอาจารย์อ๊อดไหม ถ้าถามเรื่องดินฟ้าอากาศ ไปถาม ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ที่ สวทช. ไหม คือเราจะมีชื่อของคนที่เรารู้จักในใจที่นักข่าวควรไปหารายละเอียดเพิ่มอีก คนที่เป็นผู้รู้จริงๆ

ไทยพับลิก้า: อาจารย์เลือกไหมว่าจะตอบคำถามอะไร อย่างไร

มีบ้างครับ วิธีการเลือก อย่างที่หนึ่งก่อนผมไม่มีทีมงาน มีหลายคนบอกว่าผมมีทีมแน่ๆ เลยตอบอะไรเยอะ โชคดีที่เรามีโทรศัพท์เป็นเหมือนสมาร์ทโฟน สามารถหาข้อมูลต่างๆ ได้ มันทำให้เราได้ข้อมูลที่เร็วขึ้น เพราะยุคนี้มันก็หาข้อมูลง่ายขึ้น พอมีสิ่งที่มีคนมาถามข้อมูล

คือส่วนใหญ่ผมจะไม่ได้นั่งไล่ มีคนบอกว่าวันๆ ไม่ทำงานเหรอ เอาแต่นั่งไล่โซเชียล เปล่า ผมบอกไม่ใช่ คนถามคำถามเข้ามาในอินบ็อกซ์ในแต่ละวันคนถามมาเพียบเลย หลายเรื่องก็ตอบสั้นๆ กลับไปว่า เรื่องนี้เคยตอบแล้ว เรื่องนี้โพสต์แล้ว เรื่องนี้รู้แล้ว แต่บางเรื่องเราจะรู้สึกว่าถามซ้ำๆ กันนะ สามสี่คนแล้ว มันควรจะต้องยกขึ้นมาตอบบ้าง อย่างรวดเร็ว บางเรื่องใหม่ๆ มีคนถามซ้ำกัน ก็จะรู้ว่าเรื่องนี้จะฮอตแล้ว ผมก็ไม่รอช้าเบรกจากช่วงทำงานปุ๊บ ก็หาข้อมูลแล้วก็ตอบอย่างที่ว่าคือ ถ้าใครอยากรู้รายละเอียด ก็ไปลองหาที่อื่นเพิ่มขึ้นได้ แต่อย่างน้อยผมช่วยตอบตั้งแต่แรกเหมือนกัน

ไทยพับลิก้า: ใช้เวลาตอบแค่ไหน

นี่คือข้อเสียของเฟซบุ๊ก ที่ผมกะไว้แล้วเชียว มันก็เป็นจริงๆ คือทำให้ชีวิตเรามันก็ผูกพันกับเฟซบุ๊ก เมื่อก่อนผมแอนตี้ ไม่อยากจะใช้เพราะกลัวติด มันก็ติดจริงๆ ตื่นมาก็เปิดแล้ว มีอะไรหรือเปล่า เข้าห้องน้ำ กินข้าว อาบน้ำ ก็เปิดตลอด โดนแฟนว่าตลอดเลยว่าหันมาคุยกันบ้างสิ แต่มันก็ไม่ขนาดนั้น โอเคเราทำงานๆ สักครู่ พอมีเวลาปุ๊บ ก็ดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในโลกนี้ ก็เอาเวลาตรงนั้นไปตอบ ก็ใช้ชีวิตปกติทำงานด้วยแล้วก็เล่นอย่างนี้ด้วย

บางครั้งบางเรื่องยาก บางเรื่องมันหาไม่เจอจริงๆ มันก็จะเสียเวลาเยอะ คืออย่างที่ผมเกริ่นไปแล้วว่า บางเรื่องผมรู้มาตั้งแต่สมัยเล่นพันทิปแล้วก็ตอบได้เร็ว คือเรื่องที่ส่วนใหญ่ที่แชร์ๆ กัน มักจะเป็นเรื่องที่มาจากเมืองนอก แล้วฝรั่งมันต้องมีใครสักคนคอยตอบใช่ไหม ส่วนใหญ่เรื่องต่างๆ มันมักจะมีคนตอบไว้แล้ว ถ้าเรารู้จะหาจากแหล่งข้อมูลไหน เพจไหนที่เขาช่วยตอบ เราก็ดึงมาเลย

แต่เรื่องหลายเรื่องเป็นเรื่องในไทยเราเอง เกิดขึ้นมาเอง บางทีอย่างนี้ เราหาข้อมูลอยู่นานมาก กว่าจะหาเจอว่าจริงๆ มันคือเรื่องอะไร หรือว่าบางทีผมใช้วิธีเหมือนโยนหินถามทางไปก่อน เรื่องนี้ตอบไว้ประมาณนี้ คนอื่นมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมไหม

คือผมชอบเฟซบุ๊กนะ มันมีช่องที่ให้คอมเมนต์ได้ แล้วพอคุณคอมเมนต์มันจะมีการแย้งกันเกิดขึ้น ผมไม่ได้บอกใครเลยนะว่าเชื่อที่ผมโพสต์ในเฟซบุ๊กนะ ผมบอกว่าก็มาแย้งสิ ผมจะเปิดให้เฉพาะเฟรนด์ผม คือคนไทยมันมีคนแย้งเข้ามาด่าๆ ก็เยอะ ซึ่งผมไม่ชอบบรรยากาศ ผมชอบให้คนมาแย้งกันสุภาพ หาข้อมูลมาแย้งกัน พอเราได้ข้อมูลใหม่ๆ จะรู้อ๋อ จริงๆ มันไม่ใช่ จริงๆ มันอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็ปรับข้อมูลเราใหม่ให้ดีขึ้นได้ มันแล้วแต่ความยากง่ายของเรื่อง

ไทยพับลิก้า: อาจารย์เคยคิดไหมว่าวันหนึ่งที่ทำมา มันก้าวมาถึงตรงนี้ได้

ไม่คิด ต้องบอกว่าไม่คิด แต่พอมองว่ามันก็ทำได้ เราเป็นแค่คนธรรมดาก็ทำได้ ทำไมคนอื่นไม่ทำ บางทีก็หาเรื่องชาวบ้านนะ พูดกันตรงๆ บางทีผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบก็น่าจะทำเนอะ ใช่ไหม คือพอผมพูดเรื่องรอยพญานาคหรือว่าคลื่นพญานาคก็เคยมีนักข่าวถามว่าอาจารย์ทำไมมาทำเรื่องนี้ อาจารย์เป็นนักชีววิทยา เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย คิดว่าใครควรทำ ผมบอกรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ควรทำ ถามว่าผมล้อเล่นหรือ ผมก็ว่าจริง ผมชอบแซวเล่นๆ ในเฟซบุ๊กตอนหลังๆ ว่าถ้าผมเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ ผมจะทำอะไรบ้าง เพราะผมเชื่อว่ามันทำได้ไง

คือกระทรวงวิทยาศาสตร์เองโดยภาพรวมมีองค์กร มีองคาพยพมากมาย มีงบประมาณ อย่างผมก็ขอจากเว็บไซต์นั้นบ้าง ขอจากกระทรวงเองด้วยซ้ำ มาทำรายการตัวเองสั้นๆ ที่ตอบคำถามแบบนี้ กลูตาไทโอนกินแล้วมันขาวขึ้นจริงหรือเปล่า แทนที่ผมจะตอบแค่ในเฟซบุ๊กเฉยๆ ผมก็มาทำเป็นรายการวิดีโอเลย ซึ่งกระทรวงน่าจะทำได้ เป็นองค์กรหลักที่น่าทำ

โอเค เราพูดถึงสื่อมาเยอะแล้วว่าสื่อน่าจะทำ แต่ตัวราชการเองน่าจะทำได้ งบประมาณมันไม่ได้เยอะอะไรมากมาย แต่ว่ามันควรจะมีทีม ผมดูรายการฝรั่งนะ ฝรั่งก็เป็น เขามีทีมงานตอบโต้โดยเฉพาะเลย เรื่องนี้มาปุ๊บก็มีคนเข้ามาแย้ง กระทรวงสาธารณสุขเป็นตัวอย่างที่ดีเวลามีข่าวลือเรื่องโรคระบาดก็ตาม หรือข่าวลือเรื่องอาหารเป็นพิษ หรือมีอะไรแปลกๆ เกิดขึ้น เขาก็จะมีการแถลงข่าวค่อนข้างเร็ว แต่เรื่องสัพเพเหระอย่างนี้มันไม่มีใครทำ ซึ่งผมเชื่อว่าผู้ใหญ่มองว่าเป็นเรื่องไกลตัวเกินไป

แต่ผมว่าถ้ากระทรวงเข้ามาทำ สวทช. ก็ได้ เข้ามาช่วยทำ คนสังคมทั่วไปเขาก็จะมองว่ามันมีคุณค่า ขนาดตอนนี้ผมว่าสังคมส่วนหนึ่งก็มองว่ามีคุณค่า เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีคุณค่า คนในวงการวิทยาศาสตร์เองก็มองว่า เจษฎาทำอะไรวะ ตอนนี้เขาก็เริ่มเห็นว่ามันมีผลกระทบต่อสังคมเนอะ กระทรวงก็ได้ทำได้ หน่วยงานก็ทำได้ จะได้ช่วยๆ กัน