ThaiPublica > คอลัมน์ > สู่สังคมผู้สูงอายุ

สู่สังคมผู้สูงอายุ

30 ตุลาคม 2014


ณัฐเมธี สัยเวช

เริ่มมีความตื่นตัวว่า ในปี พ.ศ. 2568 หรืออีกเพียง 11 ปีข้างหน้า สังคมไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ถึง 14.4 ล้านคน

เป็นเรื่องที่ต้องคิดนะครับ และโดยส่วนใหญ่ก็จะมีความกังวลและเตรียมรับมือกันในเรื่องปัญหาเชิงสุขภาพกายและใจ ซึ่งทางหนึ่งนั้นแล้วก็ใช่ เพราะนอกจากสุขภาพกายที่เสื่อมลงตามกาลเวลาแล้ว ในวัยที่เริ่มจะห่างจากทุกอย่าง ตั้งแต่ความอ่อนเยาว์ ลูกหลานที่เติบโตขึ้นทุกวัน หรือกระทั่งสิ่งต่างๆ ที่ตัวเองเคยทำได้ดิบดีคล่องแคล่ว เหล่านี้ล้วนมีผลต่อสุขภาพใจไปด้วย และจะวนกลับมามีผลต่อสุขภาพกายอีกต่อหนึ่ง ส่วนอื่นนอกจากนี้ ก็คงเป็นเรื่องของการออมเงินออมทอง เตรียมพร้อมสำหรับวัยเกษียณ

แต่มีอยู่สองสิ่ง ที่ผมคิดว่ายังไม่ค่อยมีใครพูดถึงกัน

เรื่องแรกก็คือ บ้านเมืองของเรานั้นเหมาะสมแก่การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุแค่ไหน เอื้อให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตัวเองเมื่อต้องสัญจรไปมานอกบ้านขนาดไหน

ผู้สูงอายุย่อมไม่สามารถขับขี่รถเองได้ตลอดไป ทั้งไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกคนจะมีลูกหลานคอยขับรถให้ตลอดเวลา และที่สำคัญที่สุดเป็นเบื้องต้น ไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกคนที่จะมีรถส่วนตัว ไม่ว่าจะรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ หรือพาหนะส่วนตัวใดๆ ที่จะใช้สัญจร

เช่นนั้นแล้ว จึงสำคัญมากที่ต้องตั้งคำถามว่า สภาพพื้นที่สาธารณะในรูปแบบต่างๆ ที่มีอยู่ทุกวันนี้ เป็นมิตรกับผู้สูงอายุมากน้อยขนาดไหน หรือกล่าวให้รุนแรงกว่านั้น (ซึ่งอาจจะถูกต้องมากกว่า) ก็คือ เป็นศัตรูกับผู้สูงอายุเพียงใด

เริ่มกันตั้งแต่ฟุตบาท ถามว่าทุกวันนี้ฟุตบาทเป็นมิตรกับผู้สูงอายุไหม ผมคิดว่าเราๆ ท่านๆ น่าจะตอบได้ทันทีเลยว่าไม่ และคงตอบว่าใช่ถ้าถามว่าเป็นศัตรูหรือเปล่า ก็หนุ่มๆ สาวๆ เดินเองยังยาก ไม่ว่าจะเพราะพื้นปูที่ไม่ราบเรียบเสมอกัน บางแผ่นเผยอกระดกขึ้น ความลื่นเมื่อยามเปียกน้ำ (บางทีไม่ทันเปียกน้ำก็ยังลื่น) นี่ยังไม่ต้องนับถึงความระเกะระกะต่างๆ ที่ปรากฏขึ้น เสาไฟฟ้า ฐานปูนรอบโคนต้นไม้ ในขณะที่ฟุตบาทบางที่ก็แคบลงเพื่อให้ถนนขยายตัวขึ้น มีอะไรต่อมิอะไรมากมายที่กินพื้นที่ไปจนทำให้การเดินฟุตบาทนั้นบากบั่นราวกับกำลังผจญภัย นี่ยังไม่ต้องนับถึงว่า มีอยู่วันหนึ่ง ผมเจอผู้สูงอายุที่ยืนงกเงิ่นที่สุดปลายฟุตบาทซึ่งยกสูงขึ้นจากพื้นถนน เพราะแข้งขาแกนั้นไม่แข็งแรงพอจะก้าวลงพื้นที่ต่างระดับนั้นได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเมื่อผมช่วยแกลงจากฟุตบาทหนึ่ง ประคองเดินผ่านปากซอยเล็กๆ หนึ่ง ผมก็ต้องช่วยแกในการส่งตัวขึ้นไปยังอีกฟุตบาทหนึ่งด้วย

มาถึงทางม้าลาย ผมเคยเข้าใจว่าถ้าเป็นผู้สูงอายุยืนรอข้ามถนนแล้วละก็ รถราแบบไหนก็จะพร้อมใจกันหยุดให้ข้ามทันที แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ใช่ ผู้สูงอายุนั้นเท่าเทียมกับคนหนุ่มสาว ต่างต้องยืนรอให้รถโล่งถนนเหมือนกัน ปุ่มกดรอสัญญาณไฟก็ช่วยอะไรไม่ได้ ไฟแดงที่ไม่ได้ปรากฏขึ้นตามแยกใหญ่นั้นไม่ศักดิ์สิทธิ์ ไฟทางข้าม ต่อให้แดงขึ้นแล้ว ก็กลายเป็นเรื่องวัดดวงอีกว่ารถจะหยุดหรือไม่ ไม่ใช่จะวางใจข้ามได้ในทันที (ทั้งที่จริงๆ ตามกฎหมายนี่ต้องหยุดให้คนข้ามอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีสัญญาณไฟแดงหรือไม่)

รถประจำทางต่างๆ บันไดทางขึ้นนั้นสูงจากพื้นถนนเกินไปหรือไม่ ขาดีๆ ปวดนิดเดียวบางทียังก้าวขึ้นไปยาก ประสาอะไรกับผู้สูงอายุที่กำลังวังชาไม่ดีอย่างหนุ่มสาว นี่ยังไม่ต้องนับเรื่องที่ว่า พนักงานเก็บค่าโดยสาร บางทีแทนที่จะเข้ามาช่วยให้ผู้สูงอายุขึ้นลงรถได้ง่ายขึ้น ก็กลับร้องบอกให้ก้าวไวๆ

รถไฟฟ้า ส่วนที่เป็นปัญหาที่สุดน่าจะเป็นความเร็วของบันไดเลื่อน ซึ่งทางหนึ่งเข้าใจได้ว่าจำเป็นต้องเลื่อนไวเพื่อจะได้ระบายคนในยามที่มีผู้ใช้บริการปริมาณมาก แต่ความเร็วนั้นเหมาะสมแก่ผู้สูงอายุหรือไม่ ทว่า ตรงนี้ก็อาจไม่เป็นปัญหานัก เพราะสถานีรถไฟฟ้าก็จะมีลิฟต์สำหรับคนพิการ ซึ่งถ้าผู้สูงอายุไม่คิดมาก ก็จะเป็นการสะดวกสบายและปลอดภัยมากกว่า

เรื่องที่สอง จะเป็นเรื่องทางสังคมวัฒนธรรม ที่คิดว่าต้องเตรียมการกันอย่างตลอดชีวิต นั่นก็คือ การทำให้คนเราเติบโตไปเป็นผู้สูงอายุที่มีวุฒิภาวะ

การมีวุฒิภาวะในยุคปัจจุบันนี้ ไม่ควรเป็นเพียงการรู้กาลเทศะ สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี รู้จักการแสดงออกตอบโต้ที่เหมาะสมแก่สถานการณ์ แต่ควรรวมถึงการเติบโตอย่างทันโลก เข้าใจในความเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญพอๆ กับการเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง

เรามักทำเช่นนี้กับเด็กๆ กล่าวคือ เตรียมการให้เขาเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดี แต่ในความเป็นจริง ชีวิตไม่ได้จบที่การเป็นผู้ใหญ่ แต่ยังยาวไกลไปถึงการเป็นผู้สูงอายุ ในโลกยุคปัจจุบันที่การเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง การตามทันความเปลี่ยนแปลงของโลกไปในตลอดเวลาที่อายุมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ถ้อยคำที่เรามักได้ยินมาพร้อมกับวีรกรรมอันไม่ถึงปรารถนาในที่สาธารณะก็คือ “มนุษย์ป้า” และ “มนุษย์ลุง” เป็นถ้อยคำที่เรียกกันเหมือนจะขำๆ แต่แท้ที่จริงก็แฝงแววชิงชังรังเกียจ และแม้จะเป็นการจัดประเภทตามพฤติกรรม แต่คำที่ใช้นิยามกับตั้งอยู่บนฐานของวัย เราไม่พอใจพฤติกรรม แล้วจึงเหยียดกันด้วยสภาวะทางกายภาพ แทนที่จะตั้งคำถามถึงแรงจูงใจ ว่ามีความเข้าใจอะไรที่ไม่ตรงกันในการใช้พื้นที่สาธารณะหรือไม่ ที่ทำให้เกิดผลลัพธ์เป็นพฤติกรรมอันไม่พึงปรารถนา

ชวนคิดนะครับ เป็นไปได้ไหมว่า ผู้ที่ถูกเรียกว่ามนุษย์ป้าและมนุษย์ลุงทั้งหลาย แท้จริงไม่ใช่ว่าเป็นผู้ที่เห็นแก่ตัวแต่อย่างใด (แน่ละว่าที่เห็นแก่ตัวนั้นก็อาจจะมีอยู่จริง พวกที่ยกความแก่มาอ้างเอาสิทธิพิเศษนั้นมีอยู่จริง) แต่อาจเพราะมีโลกทัศน์ที่ต่างไปจากคนหนุ่มคนสาว ผู้มีอายุเหล่านั้นอาจจะมากับโลกทัศน์ที่มันเคยใช้ได้ในอดีตชีวิตที่ผ่านมา แต่พอวันหนึ่งโลกเปลี่ยนไป กฎเกณฑ์ต่างๆ ในสังคมเปลี่ยนไป (ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้บางทีก็ไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษรเสียด้วย แต่คือเข้าใจกันโดยปริยาย) แต่พวกเขายังไม่เปลี่ยน เช่น เขาอาจจะยังเชื่อว่าคนแก่นั้นจะได้สิทธิพิเศษในทุกๆ เรื่องและทุกๆ ที่ตามความถ้อยทีถ้อยอาศัย แต่โลกทุกวันนี้ไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว เขาอาจจะเคยได้รับการหลีกทางให้ขึ้นรถเมล์ก่อนใคร (ซึ่งทุกวันนี้ก็เป็นอยู่) แต่กฎเกณฑ์ทั้งโดยปริยายและโดยบัญญัติในการขึ้นรถไฟฟ้านั้นไม่ใช่ คนส่วนใหญ่เชื่อในการเข้าคิวตามลำดับการมาถึงก่อน-หลังอย่างไม่มีใครมีสิทธิพิเศษกว่าใคร และเชื่อเถอะว่า การเข้าคิวขึ้นพาหนะโดยสารเป็นสิ่งแปลกใหม่ในสังคมไทย ที่ก็คงจะมากับรถไฟฟ้านี่เอง เพราะกับพาหนะโดยสารอื่นๆ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังเห็นอยู่ว่าเป็นไปอย่างทีใครทีมัน แต่ถ้ามีผู้สูงอายุ คนส่วนใหญ่ก็จะหลีกทางให้ได้ขึ้นไปก่อน

นั่นอาจจะเป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่แสดงถึงความไม่ทันโลก ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะไม่ได้รู้ว่าจำเป็นต้องรู้ หรือโลกไม่บอกให้รู้ แต่ผลที่เกิดขึ้นก็คือ กับในรายที่ไม่ทันและไม่รู้จริงๆ นั้น พวกเขาถูกจัดเหมารวมไปอยู่ในกลุ่มพฤติกรรมน่ารังเกียจ และถูกเบียดออกไปจากสังคม โดยเริ่มต้นในระดับของการใช้ถ้อยคำ ซึ่งสามารถส่งผลเป็นการตั้งแง่แก่คนเหล่านั้นตั้งแต่ยังไม่ได้เห็นพฤติกรรมกัน ซึ่งคงไม่ดีต่อสุขภาพของสังคมนัก เพราะผู้สูงอายุนั้นถูกทอดทิ้งจากทุกสิ่งไปตามกาลเวลาอยู่แล้ว ถูกทอดทิ้งแม้กระทั่งจากความแข็งแรงของตัวเอง แล้วถึงตอนนี้ยังถูกทอดทิ้งจากความเข้าใจของสังคมอีก

ที่กล่าวไปนั่นคือการพยายามเข้าใจผู้สูงอายุเป็นสัดส่วนที่มากกว่า แต่ในทางกลับกัน ก็มีเรื่องที่ผู้สูงอายุต้องทำความเข้าใจโลกเป็นสัดส่วนที่มากกว่าด้วย

ในโลกปัจจุบัน สำนวนไทยที่ว่า “อาบน้ำร้อนมาก่อน” หรือ “เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด” คงจะใช้ได้ผลน้อยลงเรื่อยๆ ทุกวันนี้ อาจจะต้องวัดกันว่าใครอาบน้ำหลายขันหลายที่มากกว่า ส่วนหมานั้นก็มีอยู่เป็นฝูง ต่อให้เดินตามผู้ใหญ่ ก็ไม่ได้แปลว่าผู้ใหญ่จะช่วยป้องกันอะไรให้เราได้ทั้งหมด เผลอๆ จะโดนรุมกัดยับเยินเสียทั้งคู่

ถ้าจะว่ากันจริงๆ เรื่องราวลักษณะอย่างคนอายุน้อยรู้ดีกว่าคนอายุมากนั้นมีมาโดยตลอด และมันยิ่งรุนแรงขึ้นในโลกยุคที่ข้อมูลข่าวสารแพร่หลายและเข้าถึงง่ายขึ้นเยอะ โลกทุกวันนี้ทำให้คนหันไปเคารพนับถือกันที่ข้อมูลความรู้ที่มีมากเสียกว่าอาวุโส ซึ่งผู้ใหญ่ที่ตามโลกไม่ทัน จะไม่มีวันได้รับความเคารพจากคนรุ่นใหม่เลย หรือได้รับก็เพียงต่อหน้า หรือก็ด้วยความไม่อยากจะถือสาเพราะเห็นว่าเป็นคนแก่ที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร เป็นความเคารพที่จอมปลอม หลอกลวง และลึกๆ ก็คงแฝงฝังความดูถูกดูแคลนเอาไว้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อย ที่ใช้ความอาวุโสในการกำราบคนรุ่นใหม่ๆ และถึงอ้างความรู้ ก็อ้างบนฐานความเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งในโกลยุคปัจจุบันที่คนรุ่นใหม่มากมายเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การมีอายุที่มากกว่านั้นแทบจะเป็นหลักประกันไม่ได้เลยว่าจะรู้เรื่องอะไรที่ดีกว่า

ผู้สูงอายุควรจะเรียนรู้และยอมรับอย่างจริงจังแล้วว่า ทุกคนต่างมีเรื่องที่ตัวเองรู้น้อยกว่าคนอื่น และตรงนี้เป็นผลมาจากการเข้าถึงหรือแสวงหาข้อมูลต่างๆ ที่ต่างกัน นี่คือโลกที่ทุกคนเท่ากันมากขึ้นด้วยการแสวงหาความรู้อย่างไม่รู้จบ คนเรารู้มากกว่าเพราะมีข้อมูลหรือเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากกว่าคนอื่น ไม่ใช่เพราะมีอายุมากกว่า

การคงความเคารพนับถือในตัวผู้สูงอายุไว้นั้นไม่ใช่เรื่องเสียหายนะครับ ตราบใดที่มันไม่กลายมาเป็นการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น หรือกระทั่งขัดขวางการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ผู้สูงอายุพึงมีต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนี้เสียเอง

นี่คือสิ่งที่ต้องเตรียมการกันแต่เนิ่นๆ เตรียมการกันไปตลอดชีวิต ไม่ใช่แค่เฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ แต่คนหนุ่มสาวก็ต้องทำด้วย เพราะพวกเขาและเธอ หรือก็คือคุณและผม ต่างก็กำลังเข้าใกล้การเป็นผู้สูงอายุไปทุกวันเช่นกัน

ตามโลกให้ทัน แล้วมันจะไม่ทอดทิ้งคุณ