ThaiPublica > เกาะกระแส > ปัญหาสังคมไร้ระเบียบ กับพฤติกรรมที่สังคมร้อง “ยี้!!!” – “มนุษย์ป้า-เสานี้ไม่ว่างเสาหน้านะน้อง…”

ปัญหาสังคมไร้ระเบียบ กับพฤติกรรมที่สังคมร้อง “ยี้!!!” – “มนุษย์ป้า-เสานี้ไม่ว่างเสาหน้านะน้อง…”

25 เมษายน 2014


“ความไร้ระเบียบ” “สังคมขาดวินัย” “ความเสียระเบียบทางสังคม” จะเรียกว่าอย่างไรก็ตาม แต่ภาวะเหล่านี้ คือ “ปัญหา” เมื่อเกิดขึ้นในสังคมก็ถูกจัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “ปัญหาสังคม” โดยเจ้าปัญหาสังคมนั้นอาจมีต้นต่อมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในด้านต่างๆ หรือการที่คนมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากระเบียบแบบแผนของสังคม

แล้วสังคมเสียระเบียบคืออะไร? “ความไร้ระเบียบ” ตีความง่ายๆ หากมองว่าสังคมที่มีระเบียบ มีกฎเกณฑ์แน่นอนเป็นสภาพปกติ ความไร้ระเบียบก็คือความผิดปกติของสังคม และหากมองเป็นเรื่องเป็นราวตามความหมายของนักสังคมวิทยา “ความไร้ระเบียบ” ก็หมายถึง “ภาวะที่สังคมไม่สามารถควบคุมสมาชิกของสังคมให้ปฏิบัติตามแบบแผนที่วางไว้…จึงเกิดสภาพความไม่พึงพอใจ หรือเป็นผลเสียหายแก่คนอีกส่วนหนึ่ง …ทำให้ชีวิตสังคมไม่อาจดำเนินไปอย่างราบรื่น”

เมื่อหันกลับมามอง “สังคมไทย” จะเห็นว่าเราเองก็กำลังประสบปัญหา “สังคมเสียระเบียบ” ยิ่งตอกย้ำมากขึ้นเมื่องานวิจัย 8 ประเด็น ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ชี้ถึงรากที่นำมาสู่ปัญหาต่างๆรวมทั้งปัญหาสังคมไร้ระเบียบ

ในภาวะที่เมือง เกิดภาวะการ “กลายเป็นเมือง” (Urbanization) ก็นำไปสู่การอพยพสู่ตัวเมืองเพื่อหารายได้ที่สูงกว่า และเมื่อคนกระจุกตัวอยู่ที่ใดมากๆ ปัญหาต่างๆ ย่อมตามมา

เมื่อคนล้นเมือง

จากข้อมูลจำนวนประชากรล่าสุดที่ปรากฏตามหลักฐานทะเบียนราษฎร ณ วันที่31 ธันวาคม 2556 พบว่าประเทศไทยมีจำนวนประชากรทั่วประเทศ 64,785,909 คน และกรุงเทพมหานครมีจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎรทั้งหมด 5,686,252 คน และจากข้อมูลของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2556ระบุว่า หากรวมประชากรแฝงแล้วกรุงเทพฯ จะมีจำนวนประชากรอยูที่ 8,839,022 คน หรือประมาณร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ ตลอดจนชาวต่างชาติที่แวะเวียนเข้ามาคาดว่าอาจมีจำนวนราว 500,000 คน ดังนั้นในแต่ละวันกรุงเทพฯ ต้องรองรับผู้คนที่เข้ามารวมตัวกันทำกิจกรรมเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ มากถึงกว่า 10 ล้านคน

ขณะที่นายมานิต เตชอภิโชค รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2556 ว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีจำนวนประชากรแฝงเพิ่มมากขึ้น โดยประชากรแฝงเหล่านั้นเป็นประชากรที่เดินทางจากปริมณฑลโดยรอบเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ขณะนี้มีจำนวนกว่า 3 ล้านคน ประชากรแฝงเหล่านั้นเป็นแรงงานต่างด้าวกว่า 1 แสนคน ข้อมูลล่าสุดเดือนธันวาคม ปี 2556 จากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว จากรายงานสถิตินักวิชาการคาดว่าจำนวน 3 ใน 4 ของประชากรในกรุงเทพฯ เป็น “คนจน” บางส่วนบุกรุกที่สาธารณะทำมาหากิน ทำให้เกิดปัญหาระหว่างคนใช้พื้นที่สาธารณะกับคนจน

โซเชียลเน็ตเวิร์ก กระแสสังคมปลุกจิตสำนึก

ปัญหาความไร้ระเบียบที่เกิดขึ้นในสังคมมีตั้งแต่ระดับรุนแรงอย่างการเกิดอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด จนกระทั่งเรื่องเล็กน้อยที่เห็นบ่อยอย่างการฝ่าฝืนกฎจราจร และที่กำลังเป็นกระแสในสังคมกรุงเทพฯ ตอนนี้ คือ ปัญหามารยาทบนรถไฟฟ้า/รถไฟใต้ดิน หรือแม้กระทั่งพฤติกรรมเฉพาะตัวของคนบางประเภท ก็สามารถเบียดเบียนคนรอบข้างจนถูกจัดเป็น “ความไร้ระเบียบ” ได้เช่นกัน

เมื่อคนเราไม่เคารพกฎเกณฑ์สังคม ปัญหาอื่นๆ ย่อมตามมา เหล่านี้ทำให้เรื่องเล็กๆ ที่หลายคนมองว่า “ปล่อยผ่านไปบ้างก็ได้” นั้น สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นที่อยู่ร่วมกับเราในพื้นที่เดียวกัน สังคมเดียวกัน และเมื่อความเดือดร้อนเหล่านั้นถึงจุดหนึ่งที่สังคมมองว่า “เกินพอดี” จึงมีการเล่าประสบการณ์ต่างๆ เพื่อให้สังคมเห็นถึง “ปัญหา” ที่เกิดขึ้น สำหรับมนุษย์ยุคโลกาภิวัตน์แล้วเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) เป็นหนึ่งในการปันประสบการณ์ และเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีให้สังคมมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น

“เสานี้ไม่ว่างเสาหน้านะน้อง”

เสานี้ไม่ว่างเสาหน้านะน้อง

พฤติกรรมบนรถไฟฟ้าของใครบางคนอาจไประรานคนอีกหลายคนได้โดยไม่รู้ตัว เสานี้ไม่ว่างเสาหน้านะน้องเป็นเพจในโซเซียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊ก มีสโลแกนสั้นๆ ว่า “ทุกรูปแบบการพิง การแนบ เรามองว่ามันคือศิลปะ!!!” เพจเบาสมองที่กระตุ้นเตือนให้หลายคนเห็นว่าเรื่องเล็กๆ บางเรื่องก็เป็นเรื่องเดือดร้อนของใครอีกหลายคน

สำหรับพฤติกรรมที่หลายคนคิดว่าเป็นเรื่อง “ธรรมดา” ในการใช้บริการรถไฟฟ้า หรือรถไฟใต้ดิน อย่างการ “ยืนพิงเสา” การ “วางของ” บนที่นั่ง หรือพฤติกรรมอื่นๆ แต่เรื่อง “ธรรมดา” เหล่านี้เองไปเบียดคนรอบข้างโดยไม่รู้ตัว หรือพฤติกรรมมักง่ายอื่นๆ เช่น การยืนขวางออกจากรถไฟฟ้า/รถไฟใต้ดิน นอนยาวบนที่นั่ง เป็นต้น รวมไปถึงพฤติกรรมแปลกประหลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนบริการสาธารณะนี้

ภาพส่วนใหญ่ถูกนำมาแบ่งปันโดยแฟนเพจที่ประสบพบเจอปัญหา หรือได้รับความเดือดร้อนจากพฤติกรรมเหล่านี้มาแสดง มีการให้คะแนนแต่ละภาพแต่ละพฤติกรรม ประกอบคำบรรยายสั้นๆ ขำๆ แต่ละภาพเปิดให้แสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งแต่ละความคิดเห็นจะมีการวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมเหล่านี้ มีทั้งเห็นด้วยไม่เห็นด้วยผสมกันไป บางภาพอาจดูตลก แต่เหล่านี้ถือเป็นความเดือดร้อนของผู้ร่วมบริการคนอื่นๆ หากคุณมีพฤติกรรมเช่นนี้วันหนึ่งอาจได้เป็นดาราหน้าเพจ “เสานี้ไม่ว่างเสาหน้านะน้อง”

เพจมนุษย์ป้า

มนุษย์ป้า

เพจนี้ไม่ค่อยขำ มีความจริงจังขึ้นมาอีกนิด กับเพจ“มนุษย์ป้า”ที่รวมพฤติกรรม และการกระทำป้าๆ เอาไว้โดยการเปิดเพจให้แต่ละคนเข้ามาโพสต์เรื่องราว แบ่งปันประสบการณ์ที่ได้พบเจอกับมนุษย์ป้า ที่กระทำพฤติกรรมป้าๆ เบียดเบียนคนรอบข้างโดยที่เจ้าตัวไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่แคร์

รวมทั้งให้นิยามของคำว่ามนุษย์ป้า ไว้ว่า “ด้วยความเป็นคนแก่ ที่อาบน้ำร้อนมาก่อน ทำให้พวกท่านคิดว่า สิทธิทุกอย่างต้องเป็นของพวกท่านก่อน โดยการแสดงออกกริยา เห็นแก่ตัว ที่เห็นแล้ว….น่าเกลียดชะมัด….. เนียนบ้าง ไม่เนียนบ้าง แต่ ท่านไม่สนใจ เดี๊ยนขอก่อนนนนนน”

เพจทวงคืนทางเท้า

ทวงคืนทางเท้า

ทางเท้า ควรจะมีไว้ให้คนเดินสัญจรไปมา ไม่ใช่ที่ตั้งแผงลอย เลนสวนมอเตอร์ไซค์ ที่ตั้งป้ายไฟโฆษณา ที่จอดรถ หรือส่วนต่อขยายร้านค้าริมถนน ควรจะให้คนไทยเข้าใจคำว่า “ที่สาธารณะ” มันควรจะต้องเป็นของทุกคนอย่างแท้จริง

ใครไม่อยากโดนมอเตอร์ไซค์เฉี่ยวบนทางเท้า หรือต้องไปเดินบนถนนจนโดนรถเฉี่ยว มารวมพลังขอทางเท้าคืนกันครับ คนเดียวทำอะไรไม่ได้ แต่มาลองร่วมแรงร่วมใจทวงคืน อาจจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงในสังคมบ้าง คำกล่าวแสดงทรรศนะของเจ้าของเพจ

“ทวงคืนทางเท้า” หน้าเพจนี้ประกาศจุดยืนไว้ชัดเจนว่า “ทางเท้ามีทุกอย่าง ยกเว้นที่เดิน เพจนี้เปลี่ยนแปลงสังคมไม่ได้ แต่ได้ช่วยกระตุ้นก็ยังดี” โดยเพจนี้เปิดให้บรรดาผู้ที่พบเรื่องราวต่างๆ บนทางเท้าที่เกิดจากการใช้ผิดประเภท นำภาพหรือวิดีโอมาโพสต์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แต่ก็มีแฝงเรื่องราวดีๆ ในบางครั้ง

เรื่องของทางเท้าได้มีเพจที่ตั้งขึ้นแนวเดียวกับ “ทวงคืนทางเท้ามากมาย” อาทิ “สิทธิคนเดินเท้า” “ขอทวงคืนทางเท้า” “Footpath Thailand” เป็นต้น สื่อให้เห็นว่าปัญหาทางเท้าเป็นอีกเรื่องสำคัญที่ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเร่งดำเนินการแก้ไข

แชร์พฤติกรรมรถสาธารณะเพื่อสังคมที่ดีขึ้น

เพจแชร์พฤติกรรมรถสาธารณะนี้มีการนำรูป หรือวิดีโอมาโพสต์คล้ายกับเพจอื่นๆ ข้างต้น ต่างกันที่ส่วนใหญ่เป็นการนำปัญหาที่ผ่านการบอกเล่าประสบการณ์ของคนอื่นๆ มาเผยแพร่ซ้ำ หรือที่เราคุ้นหูกันดีคือนำมา “แชร์” ให้สังคมได้รับทราบอีกต่อ โดยประเด็นเป็นเรื่องพฤติกรรมรถสาธารณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถแท็กซี่ รถเมล์ รถตู้รับจ้าง รถประจำทางอื่นๆ ทั้งเรื่องที่ดี และไม่ดี รวมไปถึงแจ้งข่าวสารการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในการที่จะจัดระเบียบการใช้ถนน ให้แก่บรรดารถสาธารณะเหล่านี้ให้แฟนเพจทราบ

แม้กระทั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาลก็รู้ถึงปัญหา เดือนมีนาคม 2557 ได้ประกาศจัดระเบียบรถยนต์ที่จอดแช่ป้าย ตามโครงการ “แก้ไขปัญหาจราจรหน้าห้างสรรพสินค้าตลาด และป้ายรถโดยสารประจำทาง” ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การจราจรติดขัดสะสมโดยวันนี้เริ่มดำเนินการพร้อมกัน 10 จุดที่มีปัญหา อย่างเช่นที่หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เจ้าหน้าที่พบว่ามีรถแท็กซี่ไปจอดแช่ป้ายจึงทำการยกรถ และหากพบว่ามีรถฝ่าฝืน จะถูกปรับทันที 500 บาท หากผลการปฎิบัติสำเร็จ จะขยายต่อไปอีกครั้งละ 10 จุด จนครบ 45 จุดตามแผน แต่ก็เป็นเพียงสัปดาห์เดียวมาตรการนี้ก็หายไป

การแสดงความเห็น หรือกดถูกใจสิ่งที่นำมาแชร์มีน้อยมาก แต่หากเข้าไปดูภาพต้นฉบับการแสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ต่างๆ ถือว่าไม่น้อยทีเดียว โดยส่วนใหญ่ภาพจะถูกนำมาจากเพจ “ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร – บก.02” ซึ่งเป็นเพจของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่จัดการจราจรเพื่อความสะดวกและปลอดภัยของประชาชน

สำหรับเรื่องพฤติกรรมรถสาธารณะก็มีเพจที่ตั้งขึ้นในแนวเดียวกันคือ “Thai Taxi Story” และอีกเพจที่บอกเล่าเรื่องราวการใช้รถใช้ถนนเช่นกัน เพียงขยายกรอบครอบคลุมถึงการขับรถทุกรูปแบบ แต่มีขอบเขตจำกัดอยู่ในจังหวัด จังหวัดเดียว คือ เพจ “เชียงใหม่ แฉ พฤติกรรมการขับรถยอดแย่”

เพจคาหนังคาเขา

คาหนังคาเขา

“คาหนังคาเขา” เป็นเพจที่สืบเนื่องมาจากรายการโทรทัศน์ “คาหนังคาเขา” ที่ออกอากาศทางช่อง 9 ส่วนใหญ่รายการจะออกแนวเตือนภัยสังคม แฉพฤติกรรมขโมย หรือการทำผิดกฎหมายอื่นๆ มีการแทรกประเด็นปัญหาสังคมอย่างพฤติกรรมไร้ระเบียบ อาทิ อุทาหรณ์เรื่องการขับรถ ขยะในคลอง รณรงค์เรื่องป้ายโฆษณาบนทางเท้า ไว้บ้าง ซึ่งในการโพสต์แต่ละครั้งก็เปิดโอกาสให้แฟนเพจได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นต่างๆ ได้เช่นเดียวกับเพจอื่นๆ ยิ่งหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความไร้ระเบียบแล้วจะมีการแสดงความคิดเห็นมากเป็นพิเศษ

สำหรับตัวรายการเองก็เปิดโอกาสให้ผู้ชมร่วมแจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจสดๆ ในรายการ อีกทั้งเปิดโอกาสให้ส่งคลิปจากทางบ้านเข้าร่วมตีแผ่สังคมด้วย

นอกจากการตั้งเพจต่างๆ ในเฟซบุ๊กแล้ว ช่องทางอื่นๆ ที่มีการนำเรื่องราวความไร้ระเบียบอันเป็นปัญหาพื้นฐานของสังคมมาตีแผ่ให้ทุกคนได้ทราบทางสื่อออนไลน์ที่พบได้บ่อยๆ คือทางยูทูบ (Youtube) ที่วีดีโอจะถูกโพสให้คนทั้งโลกได้เห็น และร่วมวิพากษ์วิจารณ์การกระทำเหล่านั้นได้ และเว็บไซต์ที่เราพบการบอกเล่าเรื่องราว ประสบการณ์เดือดร้อน อีกเว็บไซต์หนึ่งคงหนีไม่พ้นพันทิป (Pantip) ที่หลายคนรู้จักกันดี โดยกระทู้ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมไร้ระเบียบจะอยู่ในห้องศาลาประชาคม ที่เป็นแหล่งรวบรวมสารพันเรื่องราวของหลากหลายผู้คน โดยเฉพาะปัญหาชีวิต และปัญหาครอบครัว และปัญหาสังคม