ThaiPublica > คอลัมน์ > คนเดินเท้า

คนเดินเท้า

26 กันยายน 2014


ณัฐเมธี สัยเวช

“คนเดินเท้า” เป็นสถานะที่ในแต่ละวันเราๆ ท่านๆ จะต้องเป็นกันบ้างไม่มากก็น้อย และในช่วงเวลาที่ต้องเป็นคนเดินเท้านั้น ด้วยความเป็นก้อนเนื้อที่ห่อหุ้มด้วยเสื้อผ้า ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ เพศอะไร เราต่างกลายเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำที่สุดในห่วงโซ่อาหารที่เรียกว่าการจราจรทางบก ดินแดนที่หากวัดกันด้วยกำลังแล้วรถยนต์ประเภทต่างๆ ย่อมแข็งแกร่งที่สุด รองลงมาคือมอเตอร์ไซค์ ตามด้วยรถจักรยาน และสุดท้ายก็คือคนเดินเท้าอันเป็นสถานะชั่วคราวของเราๆ ท่านๆ

คนเดินเท้าดำรงสถานะไปโดยอาจไม่รู้ว่าในโลกส่วนนี้นั้นมีพระเจ้าที่ชื่อพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ คอยคุ้มครองอยู่ ซึ่งเมื่อไม่รู้ก็อาจจะดีกว่า เพราะหากรู้ว่ามีอยู่และมีหลักปฏิบัติสำคัญอะไรบ้าง ก็คงต้องสิ้นหวังด้วยรู้สึกว่าเหล่าผู้อยู่เหนือเราขึ้นไปในห่วงโซ่อาหารนี้นั้นช่างไม่มีพระเจ้าองค์นี้สถิตในใจ (กล่าวอย่างอนุรักษนิยมก็ต้องเรียกว่าพวกนอกรีต) หรือเลวร้ายกว่านั้นก็คือ พระเจ้าองค์นี้นั้นได้ทรงทอดทิ้งเราไปแล้ว (ทั้งที่ก็เห็นหน้าตากันได้ง่ายๆ ในอินเทอร์เน็ตนั่นแหละ)

คนเดินเท้าจึงกลายเป็นสิ่งต่ำที่ต้องดำรงอยู่อย่างเจียมตัว เป็นภาพสะท้อนของการจำนนด้วยกำลังที่ด้อยกว่า คือภาพการพ่ายแพ้แบบเดรัจฉานป่าทั้งที่อยู่ในสังคมศิวิไลซ์

คนเดินเท้าคือขีวิตที่ไม่ได้รับการเคารพสิทธิ ทั้งยังอาจไม่รู้สิทธิของตนเอง ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้สอนให้คนเดินเท้ารู้จักลิดรอนสิทธิของตัวเองแต่เด็กๆ เลวร้ายที่สุดคือได้รู้ว่าสิทธิเดียวที่ตนมีคือสิทธิที่จะบาดเจ็บล้มตายหากสัญจรไปโดยสิ้นไร้ความเกรงใจต่อรถราทั้งปวง และทั้งหมดผ่านมาในคำสอนให้มองซ้ายมองขวาก่อนข้ามถนน หรือแบบสุดขั้วไปเลยคือรอให้ไม่มีรถทั้งสองฝั่งค่อยข้าม เพราะเราต้องเกรงใจรถที่แทรงขวาสวนเลนด้วย นี่ยังไม่ต้องนับว่า เมื่อถึงเวลาข้ามถนนจริง คนเดินเท้าอาจไม่สามารถเดินลงไปที่ทางข้ามโดยตรง เพราะต้องเดินอ้อมรถที่จอดทับทางข้ามอยู่ และรถที่จอดในเขตทางข้ามนั้นก็อาจบดบังทัศนวิสัยทั้งของคนเดินเท้าและผู้ขับขี่ ทำให้การข้ามถนนเป็นเรื่องที่เร้าใจขึ้นไปอีก

พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๕๒ มาตรา ๒๒ (๔) ระบุว่า สัญญาณ จราจรไฟลูกศรสีเขียวชี้ให้เลี้ยวหรือชี้ให้ตรงไป หรือสัญญาณจราจรไฟสีแดงแสดงพร้อมกับสัญญาณจราจรไฟลูกศรสีเขียวชี้ให้เลี้ยว หรือชี้ให้ตรงไปให้ผู้ขับขี่เลี้ยวรถหรือขับรถตรงไปได้ตามทิศทางที่ลูกศรชี้ และต้องขับรถด้วยความระมัดระวัง และต้องให้สิทธิแก่คนเดินเท้าในทางข้ามหรือรถที่มาทางขวาก่อน และในมาตรา ๑๕๒ กำหนดโทษของการไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๒ ไว้ว่า ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนี่งพันบาท นอกจากนี้ ในมาตรา ๕๗ (๔) ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่จอดรถในทางข้าม หรือในระยะสามเมตรจากทางข้าม หากฝ่าฝืน จะมีโทษตามมาตรา ๑๔๘ เป็นการปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

คนเดินเท้าจึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่จมในคำขู่มาตั้งแต่รู้ความ ทำให้เกรงใจพาหนะทั้งหลายนั้นไปในทุกบริเวณ หรือต่อให้ขัดใจแต่อย่างไรก็ต้องยอมจำนน เพราะในจิตใต้สำนึกต่ออำนาจดิบอย่างการปะทะกันด้วยกำลังแล้ว คนเดินเท้าตระหนักดีว่าตัวเองต่ำสุดในห่วงโซ่นี้ อาวุธอย่างกฎหมายหรือก็ไม่มีผู้ใดนำมาติดให้ หรือต่อให้หามาติดเอง ก็ไม่มั่นใจว่าจะใช้มันได้อย่างมีประสิทธิผล เพราะเต็มไปด้วยความกังวล คุ้มค่าจะเสียเวลาไหม ต้องแจ้งอย่างไร จะจับตัวลงโทษได้หรือไม่ ก็ในเมื่อบางที มีเจ้าหน้าที่อยู่ตรงนั้นแท้ๆ แต่การกระทำผิดบางประการก็เกิดขึ้นและผ่านไป…ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ที่มาภาพ : http://www.matichon.co.th/online
ที่มาภาพ : http://www.matichon.co.th/online

คนเดินเท้าจึงอ่อนแอและถูกเบียดขับอย่างไม่รู้จบ ต้องหลบทุกสิ่งหลีกทุกอย่างบนทางเท้า คนเดินเท้าต้องเดินหลบต้นไม้ใหญ่ ต้องหลีกเสาไฟฟ้า ต้องหลบรถมอเตอร์ไซค์หรือจักรยานที่แล่นสวนหรือไล่หลังมา มอเตอร์ไซค์บางคันนั้นมีมารยาทในการละเมิดสิทธิและทำผิดกฎหมาย จึงกล่าวคำขอโทษเป็นการบอกให้คนเดินเท้าหลีกทาง หรือก็คือขอคำยินยอมให้ตนได้ทำผิดกฎหมายต่อ แต่บางรายก็อุกอาจถึงขั้นบีบแตรใส่ และไม่ว่าจะรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ ผู้ขับขี่บางท่านก็จอดมันทิ้งไว้บนทางเท้า ทำให้คนเดินเท้าต้องเดินอ้อมเอาเอง

พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๕๒ มาตรา ๔๓ (๗) ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถบนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร เว้นแต่รถลากเข็นสำหรับทารก คนป่วยหรือคนพิการ และมตราเดียวกัน (๘) ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น ซึ่งการฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ (๗) จะมีโทษตามมาตรา ๑๕๗ เป็นการปรับตั้งแต่สี่ร้อยถึงหนึ่งพันบาท ในขณะที่หากฝ่าฝืนมาตรา ๔๗ (๘) จะมีโทษตามมาตรา ๑๖๐ เป็นการจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับตั้งแต่สองพันถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ มาตรา ๕๗ (๑) ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่จอดรถบนทางเท้า ซึ่งหากฝ่าฝืน ก็จะมีโทษตามมาตรา ๑๔๘ เป็นการปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

คนเดินเท้าจึงได้แต่บ่น เพราะไม่รู้สิทธิของตัวเอง หรือรู้สิทธิของตัวเองแต่ก็ไม่ได้มีกำลังใจจะเรียกร้อง ด้วยไม่มั่นใจดังกล่าวไปแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ก็เห็นได้ว่าโทษตามกฎหมายในหลายกรณีนั้นไม่รุนแรง ทำให้ไม่เชื่อว่าหากลงโทษแล้วจะเกิดความหลาบจำ ไม่กระทำผิดอีก แต่ในอีกทางหนึ่ง หากคิดจะเพิ่มโทษให้รุนแรง ก็ให้กังวลว่าจะเกิดปัญหาเรื่องกินสินบาทคาดสินบนเพิ่มขึ้น ยอมจ่ายน้อยให้จบเรื่องตรงหน้า ดีกว่าต้องไปเสียเวลาชำระค่าปรับอย่างเป็นทางการ

คนเดินเท้ากับการจราจรทางบกไม่ใช่แค่ปัญหาเล็กน้อยน่ารำคาญใจรายวัน เพราะความเป็นจริงแล้ว นี่่คือปัญหาว่าด้วยการตระหนักในสิทธิของตัวเองและผู้อื่น การรู้ว่าตามกฎหมายแล้วตัวเองและคนอื่นทำอะไรได้หรือไม่ได้ รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ต้องทำในการอยู่ร่วมกัน นอกจากนี้ ยังเป็นปัญหาเรื่องการไม่ปลูกฝังให้คนได้รู้ถึงสิทธิของตัวเองแต่แรก ทั้งยังกลับไปทำให้คนปฏิบัติในทางที่ลดทอน จำกัด หรือกระทั่งละเลยซึ่งสิทธิของตัวเอง และยังเชื่อมโยงถึงปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ที่ไม่อาจทำให้คนเดินเท้าเชื่อมั่นว่าการยืนยันสิทธิของตัวอย่างเข้มข้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในทางที่ดีขึ้น จนสุดท้ายแล้ว สิทธิที่ถูกหลงลืมเหล่านี้กลับกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปอย่างไม่ควรจะเกิดขึ้น และจะกลายเป็นวงจรอุบาทว์ เมื่อคนเดินเท้าขยับตัวเองไปเป็นผู้ขับขี่ แล้วกระทำทุกอย่างในแบบเดียวกับที่ตนเองเคยถูกกระทำ