ThaiPublica > คอลัมน์ > เป็นเรื่องเศร้าที่เราจะลืม (ในความตายบนท้องถนนของคนเดินเท้า)

เป็นเรื่องเศร้าที่เราจะลืม (ในความตายบนท้องถนนของคนเดินเท้า)

29 ธันวาคม 2014


ณัฐเมธี สัยเวช

กำลังจะสิ้นปี ก็พอดีมีเหตุการณ์พนักงานบริษัทแกรมมี่ถูกรถชนเสียชีวิตบริเวณถนนอโศกมนตรี อุบัติเหตุรถชนครั้งนี้นั้นคาหลายอย่าง คาทางม้าลาย คาสัญญาณไฟเขียวคนข้าม คาพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 จนกลายเป็นเรื่องคาใจให้ต้องนั่งคิดมาจนถึงทุกวันนี้

กับเรื่องเหล่านี้ เราจำเป็นจะต้องรณรงค์ให้ความรู้แก่ผู้ขับขี่ไหมว่า การขับขี่พาหนะเฉี่ยวชนคนเดินเท้านั้นสามารถสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินได้ มันฟังดูเป็นเรื่องตลกที่เราต้องมารณรงค์ให้ความรู้ในเรื่องที่เป็นจริงและชัดเจนราวกับบอกว่าพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก แต่สังคมบ้านเรามันก็น่าขันอย่างนั้นใช่ไหม

“ยานพาหนะคืออาวุธ” ผมคิดถึงประโยคนี้ขึ้นมาในขณะที่คิดว่าเหตุใดคนเดินเท้าจึงควรจะต้องได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษในการใช้ถนนร่วมกับยานพาหนะต่างๆ ซึ่งคำตอบก็คือแบบนั้น เพราะพาหนะคืออาวุธ และเป็นอาวุธที่เปิดใช้งานตลอดเวลา พร้อมจะสร้างความเสียหายให้กับสิ่งใดก็ตามที่มันปะทะด้วย (รวมทั้งตัวมันเอง) จะจักรยาน มอเตอร์ไซค์ หรือรถยนต์แบบไหนก็ตาม มันคืออาวุธที่สร้างความเสียหายไปจนถึงขั้นทำลายชีวิตคนเดินเท้าได้

เมื่อเดินไปตามอาณาบริเวณแห่งท้องถนน คนเดินเท้าก็เหมือนคนตัวเปล่าที่จะโดนลูกหลงของสงครามเมื่อไหร่ก็ได้

มันน่าตลกอย่างวิปริต ที่ทั้งที่มีกฎหมายให้ความคุ้มครองสิทธิคนเดินเท้าอยู่แล้ว แต่เรายังต้องสรรหาสิ่งต่างๆ มาคุ้มครองคนเดินเท้าเพิ่มเติม ทางข้ามอัจฉริยะที่มีปุ่มกดเพื่อรอไฟเขียวให้คนข้ามคือความพิลึกพิลั่นที่สะท้อนสภาพสังคมที่เห็นคนเดินเท้าเป็นสิ่งต่ำได้ดีมากในระดับหนึ่ง คนเดินเท้านั้นมือเปล่า เทียบกับรถราแล้วก็ไร้กำลังทางกายภาพ เรี่ยวแรงสู้ไม่ได้ จึงต้องแสดงความเกรงใจให้กับคนที่มีอาวุธ หรือก็คือผู้ขับขี่ยานพาหนะ ต้องรอให้เขาไปให้หมดก่อน ต้องวัดใจว่าเขาจะหยุดให้ข้ามไหม คนเดินเท้าถูกสอนให้ตระหนักถึงความต่ำของตัวเองมาแต่เด็ก ต่ำเพราะไม่มีกำลังอย่างคนอื่น ต้องเกรงใจเพราะไม่มีกำลังจะไปทำอะไรใครเขาได้ คนเดินเท้ากลายเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำในการจราจรทางบก ทั้งที่ก็มีศักดิ์มีศรีเป็นตัวหนังสืออยู่ในกฎหมายนั่นแหละ

สภาพแบบนี้นั้นฉายภาพให้เห็นถึงสำนึกของสังคมที่คนเราไม่เท่ากัน แม้แต่กฎหมายก็ถูกหลงลืมไปได้ถ้าอีกฝ่ายมี “พลังทำลาย” มากกว่า

ผมจะไม่กระบิดกระบวน และขอพูดตรงๆ ภายใต้ขอบเขตที่ความสุภาพของบทความที่เผยแพร่ต่อสาธารณะเอื้อให้ ว่าสังคมที่มีสำนึกแบบนี้มันจัญไร ต่ำช้า น่ารังเกียจ และยิ่งคิดว่าไม่นานเกินสิ้นปีเรื่องนี้ก็จะซาไป ถ้อยคำในหัวผมมันก็ยิ่งรุนแรงจนไม่กล้าจะเขียนลงไว้ในที่นี้

ดังที่บอกว่าลำพังการมีทางข้ามอัจฉริยะนั้นก็ตลกอย่างวิปริตมากแล้ว คือ ทั้งที่กฎหมายมีอยู่ มีอยู่ในระดับที่เรียกว่าคนเดินเท้านั้นต้องสามารถข้ามถนนได้ทันทีในทางข้าม คนขับขี่พาหนะต่างหากที่ต้องคอยระแวดระวังเมื่อเห็นทางข้าม แต่เรากลับเอื้อให้คนขับขี่ไม่ต้องใช้ความระมัดระวัง กลับให้คนเดินเท้าต้องเป็นฝ่ายระมัดระวังทั้งหมดทั้งสิ้นเสียเอง และรอคอยเวลา ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่ามันไม่ได้ผล ไม่ว่าจะกรณีนี้หรือกรณีไหน ผู้ขับขี่บางส่วนยังมองเห็นการฝ่าไฟแดงที่ทางข้ามเป็นเรื่องเล็กน้อย ถ้าไม่มีคนข้ามก็ไม่ต้องหยุดก็ได้ หรือคนข้ามผ่านไปแล้วก็ออกรถฝ่าไฟแดงไปเลยก็ได้ นี่คือสิ่งยืนยันว่าสิทธิของคนเดินเท้านั้นไม่มีความหมายอะไรเลยต่อผู้ขับขี่ประเภทนี้ หรือพูดให้หนักข้อกว่านั้นก็คือต่อบ้านนี้เมืองนี้

การเสนอทางออกด้วยการสร้างสะพานลอยคนข้ามเป็นเรื่องที่แย่ และเป็นการย้ำให้คนเดินเท้าต้องอยู่ในสถานะที่ต่ำต่อไป ในเมื่อกฎหมายก็ให้สิทธิคนเดินเท้าอยู่แล้ว มันเรื่องอะไรที่คนเดินเท้าต้องใช้แรงเพิ่มขึ้นเพื่อให้รถราวิ่งได้สะดวกโดยไม่สะดุด แล้วนี่ได้คิดถึงคนเฒ่าคนแก่ หรือคนที่มีปัญหากับแข้งกับขาตัวเองบ้างไหม การเสนอแบบนี้นั้นได้คำนึงถึงสิทธิและข้อจำกัดของคนเดินเท้าทั้งหลายบ้างหรือไม่

อีกสิ่งหนึ่งที่รุนแรงที่สุดในเหตุการณ์นี้ คือหลังจากที่เกิดเหตุขึ้นแล้ว มีเสียงเล่าลือว่าเป็นอาถรรพ์ศาลพระพรหมที่อยู่ตรงนั้น ที่ว่ารุนแรงนี้ไม่ใช่เพราะคิดว่านั่นคือความคิดที่งมงาย แต่มันคือการสะท้อนว่า เพราะสิ่งที่ “จับต้องได้” อย่างรัฐไม่ทำหน้าที่อย่างสมควรและเหมาะสม คนจึงต้องมองไปยังสิ่งที่ “จับต้องไม่ได้” ตรงนี้เราจะบอกว่าเป็นความโง่งมงายของสังคมได้หรือ ในเมื่อมันสะท้อนว่ารัฐเองไม่เคยแสดงตัวให้เห็นเลยว่านี่มันเป็นหน้าที่ปฏิบัติของตัว ไม่เคยแสดงตัวว่าเป็นที่พึ่งพาได้ เมื่อรัฐทำหน้าที่บกพร่อง คนก็ต้องหันไปพึ่งพาสิ่งอื่น และการที่คนหันไปหาสิ่งอื่นก่อนรัฐนี่แหละที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าจริงๆ แล้วรัฐนั้นเป็นอย่างไรในสายตาคน (อาจจะไม่ได้อยู่ในสายตาเลยก็ได้ เพราะไม่เคยทำอะไรให้รู้สึกว่าพึ่งพาได้อยู่แล้ว)

เราจะต้องอยู่กันแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน ต้องอยู่ในสังคมที่สิทธิพื้นฐานไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นจริงเป็นจังแบบนี้ไปนานแค่ไหน เราจะนึกถึงมันขึ้นมาได้เพียงในทุกครั้งที่มีคนเจ็บคนตายหรือ

เมื่อเวลาผ่านไป นี่คงเป็นอีกเรื่องเศร้าที่เราจะลืม…
และมันก็เป็นเรื่องเศร้า…ที่เราจะลืม