ThaiPublica > คอลัมน์ > “Tropico 5” : สร้างบ้านแปงเมืองบนเกาะร้างกลางทะเล

“Tropico 5” : สร้างบ้านแปงเมืองบนเกาะร้างกลางทะเล

12 สิงหาคม 2014


รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์

Tropico-5

“ท่านประธานาธิบดีครับ ตอนนี้ประชาชนเริ่มไม่พอใจกับการขาดดุลอย่างรุนแรงของประเทศ หากท่านไม่ทำอะไรระวังจะมีการชุมนุมประท้วงนะครับ”

“ถ้าความสัมพันธ์กับอเมริกาในปีนี้ยังไม่ดีขึ้น ประเทศของเราอาจจะถูกรุกรานได้ ผมขอแนะนำให้ท่านลองสร้างสถานทูตและเส้นทางการค้าสายใหม่กับอเมริกา และไล่ไอ้พวกอักษะออกจากประเทศ ท่านประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ กระซิบกับผมมาว่า ถ้าท่านทำได้จะตบรางวัลให้อย่างงาม”

“นักอนุรักษ์ค่อนข้างพอใจมากที่ท่านยกเลิกเหมืองทั้งหมดภายในประเทศ พวกเขาเสนอการก่อสร้างโรงบำบัดขยะแบบไม่มีค่าใช้จ่าย หรือท่านอยากจะส่งลูก Fernando ไปอบรมด้านสิ่งแวดล้อมแล้วเก็บเงินเข้ากระเป๋าที่ธนาคารสวิตเซอร์แลนด์ก็ได้นะคะ”

“ผมไม่อยากจะเชื่อว่าพวกมันจะกล้าก่อการรัฐประหาร ผมว่าคงได้เวลาประกาศกฎอัยการศึกและแก้รัฐธรรมนูญลดสิทธิเสรีภาพ ควบคุมสื่อทั้งหมดโดยรัฐเพื่อป้องกันเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกครั้งครับท่าน”

สถานการณ์เหล่านี้คือสิ่งที่ท่านประธานาธิบดีแห่งเกาะกลางทะเลต้องพบเจอในเกม Tropico 5 เกมสร้างบ้านแปงเมืองโดยให้ผู้เล่นรับบทเป็นผู้บริหารประเทศในทุกๆ มิติคล้ายกับ SimCity และ Banished เพียงแต่ว่า Tropico 5 จะค่อนไปทางเสียดสีเกมการเมืองของเหล่าประเทศมหาอำนาจในหลากระบบการปกครอง

เนื้อเรื่องหลักของเกมจะถูกแบ่งออกเป็น 4 ยุคสมัย ตั้งแต่ช่วงจักรวรรดินิยมที่เกาะตกอยู่ใต้การปกครองของจักรพรรดิ หลังจากการประกาศอิสรภาพก็เข้าสู่ยุคสงครามโลก ตามมาด้วยสงครามเย็น และโลกสมัยใหม่

หากใครลองเล่นเกมนี้เป็นครั้งแรกอาจต้องกุมขมับ เพราะมีรายละเอียดค่อนข้างมากที่ต้องทำความเข้าใจ ไม่ต่างจากการบริหารประเทศจริงๆ ที่ถูกย่อส่วนอยู่ในเกาะที่เต็มไปด้วยทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ ยิ่งเมื่อต้องดูแลทุกเรื่องเพียงลำพัง ก็ชวนทำให้ปวดหัวไม่น้อย แต่หลายอย่างก็ชวนให้อดนึกถึงโลกนอกเกมไม่ได้

หากเริ่มคุ้นเคยกับการบริหารเกาะการเอาชนะในเกมก็ไม่ยาก เพราะการทำภารกิจอาจไม่ง่ายหากประเทศอยู่ในสภาวะไม่ปกติ

เกาะพื้นที่ขนาดหยิบมือ ฉายภาพให้เห็นถึงสภาวะประเทศโลกที่สามซึ่งอาจถูดจัดชั้นเป็น ‘กำลังพัฒนา’ และการได้มาซึ่งรายได้ก็มีอยู่ทางเดียวเป็นหลักคือการส่งออกทรัพยากรที่มีอยู่ให้กับประเทศมหาอำนาจ โดยต้องไม่ลืมดูแลความเป็นอยู่ ปากท้อง เสรีภาพ สุขภาพ และความปลอดภัยของคนบนเกาะให้อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ ผ่านการก่อสร้างสารพัดสิ่งอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบ้านพัก ฟาร์ม โรงเรียน โรงงาน ไปจนถึงสถานบันเทิง

แต่หากคุณมีการบริหารงานที่ไม่น่าพอใจ ก็อาจมีการประท้วงหยุดงานของกรรมกร ความไม่สงบในชุมชน หรือนำไปซึ่งการปฏิวัติโดยทหารที่ไม่จงรักภักดี การเกิดเหตุการณ์แต่ละครั้งหากไม่จบแบบนองเลือด คุณก็ต้องใช้เงินปิดปาก

ความสนุกสนานของเกมอยู่ที่การเลือกตั้ง ซึ่งผู้เล่นจะต้องเลือกคนในตระกูลเพื่อลงสมัครรับตำแหน่ง โดยจะมีข้อเสนอให้ ‘แก้ตัวเลขนิดหน่อย’ เพื่อให้คุณชนะเลือกตั้งได้ไม่ยาก หรือจะว่าจ้างมือปืนไป ‘อุ้ม’ ผู้สมัครอีกฝ่ายก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจในเกมการเมืองบนเกาะ

หน้าตาของรัฐธรรมนูญ
หน้าตาของรัฐธรรมนูญ
ตัวอย่างมาตรการที่สามารถเลือกใช้ได้ตามจังหวะเวลาภายในเกมส์.jpg
ตัวอย่างมาตรการที่สามารถเลือกใช้ได้ตามจังหวะเวลาภายในเกมส์

รายละเอียดเช่นรัฐธรรมนูญในเกมก็สะท้อนภาพการเมืองในระดับโลกทั้งในอดีตและปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ เพราะเรามีทางเลือกในการแก้ไข ซึ่งอาจนำไปสู่การแพ้ชนะของเกมได้ เช่น

มาตราว่าด้วยสิทธิในการออกเสียง ‘ผู้ชายออกเสียงเท่านั้น’ หรือ ‘คนรวยเท่านั้นที่ออกเสียง’ และสุดท้ายคือ ‘ทุกคนออกเสียงเท่ากัน’ (ขอกระซิบนิดหนึ่งว่า ถ้าประเทศที่ยังไม่พัฒนาสักเท่าไร ควรจะเลือกให้คนรวยเท่านั้นที่ออกเสียง เพราะคนจนมักไม่ค่อยมีการศึกษา)

มาตราว่าด้วยความอิสระในสื่อ ‘สื่อเสรี’ เพิ่มความสุขจากเสรีภาพ แต่อาจมีการประท้วงบ่อยขึ้น ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับ ‘โฆษณาชวนเชื่อโดยรัฐ’ ที่ชวนให้นึกถึงบางประเทศอย่างเกาหลีเหนือ ที่ประกาศว่าท่านผู้นำเป็นผู้คิดค้นแฮมเบอร์เกอร์!

มาตราว่าด้วยสิทธิทางการเมือง ‘รัฐเผด็จการ’ มีการเลือกตั้งนานๆ ครั้ง คนไม่พอใจเพราะขาดเสรีภาพ ‘รัฐตำรวจ’ ตำรวจทุกๆ นายในประเทศจะลงคะแนนให้กับคุณ ลดความไม่ปลอดภัยในสังคม และ ‘ประชาธิปไตย’ ทำให้มีการเลือกตั้งบ่อยครั้ง ประชาชนมีความสุขจากเสรีภาพ

หรือแม้แต่ประเด็นกรีนๆ อย่างมาตราว่าด้วยระบบนิเวศ ที่อาจบัญญัติว่า ‘เศรษฐกิจต้องมาก่อน’ หรือมุ่งไปสู่ ‘การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับศูนย์’

อีกระบบหนึ่งที่ชวนขำไม่น้อยคือ การออกประกาศทางกฎหมาย (Edicts) ที่ผู้เล่นจะเลือกใช้ในตอนไหนก็ได้ (ถ้ามีเงินในคลังเพียงพอ) และหลายมาตรการก็ชวนให้นึกถึงบางประเทศที่ไม่ขอเอ่ยนาม เช่น

‘ประกาศกฎอัยการศึก’ บ้านเมืองจะสงบเรียบร้อย แต่คนจะไม่พอใจเนื่องจากถูกลดทอนเสรีภาพ ยกเลิกการเลือกตั้ง แต่จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศลดลง

‘อุดหนุนภาคเกษตรกรรม’ ที่จะช่วยให้ประสิทธิภาพในภาคเกษตรกรรมและความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น แต่ย่อมสร้างความไม่พอใจให้ฝ่ายทุนนิยม

‘นิรโทษกรรม’ เพื่อให้หัวหน้าฝ่ายกบฏยอมกลับตัวกลับใจ ไปรับใช้สังคมตามเดิม

‘เพิ่มระดับหนี้สาธารณะ’ ในสภาวะขัดสน รัฐคงไม่ต้องการอะไรมากนอกจากเงินสดเพื่อมาก่อสร้างอะไรสักอย่างที่จะทำให้ประชาชนพอใจ แต่ยิ่งถี่เท่าไหร่ยิ่งทำให้เครดิตของประเทศตกต่ำจนทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยแสนแพง

แต่ที่ชวนขันขื่นที่สุดคือมาตรการ ‘ออกใบอนุญาตก่อสร้าง’ ที่จะทำให้การก่อสร้างทุกรายการมีราคาสูงขึ้นร้อยละ 20 โดยส่วนต่างนั้นจะถูกโอนเข้าบัญชีส่วนตัวในสวิตเซอร์แลนด์ของท่านประธานาธิบดี

นอกจากเรื่องภายในที่ต้องใส่ใจ เรื่องภายนอกก็ต้องดูแลไม่แพ้กัน เพราะไม่ว่าจะเป็นโลกเสรีหรือโลกสังคมนิยม ต่างก็จ้องจะเขมือบทรัพยากรของประเทศชายขอบแห่งนี้ ทางเลือกที่ดีในการเอาตัวรอดในความขัดแย้งคือเลือก ‘เลีย’ ทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียม ส่งส่วยจัดเลี้ยงอย่างพอเหมาะพอประมาณ เพื่อไม่ให้โดนรุกรานหรือกดราคาผลผลิตเพื่อการส่งออกจนมาเกินไปนัก

เล่นไปสักพัก ผมเชื่อว่าหลายคนคงเข้าใจว่า หัวใจสำคัญของ Tropico 5 คือทำอย่างไรจึงจะได้ ‘เงิน’ ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งสร้างความสุข กำจัดภัยพาล ซื้อพันธมิตร และนำพาชาติไปสู่มหาอำนาจ

หวังว่า Tropico 5 คงไม่ทำให้ผิดหวัง และมองปัญหาการเมืองเป็นเรื่องร่วมสมัยที่ไม่ว่าประเทศใดก็คงต้องประสบพบเจอ แต่ขอว่าเล่นเกมแล้วอย่าไปทำอะไรให้ ‘เป็นภัยต่อความมั่นคง’ นะครับ

ป.ล. เกมนี้ถูกห้ามวางขายในไทย แต่สามารถดาวน์โหลดผ่าน Stream ได้ในราคา 39.99 ดอลลาร์สหรัฐฯ