ThaiPublica > เกาะกระแส > มหานครโตเกียว…โมเดลการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ครัวเรือน

มหานครโตเกียว…โมเดลการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ครัวเรือน

27 กรกฎาคม 2014


หากมองฉากมหานครโตเกียวจากเบื้องบนจะพบแสงไฟฉวัดเฉวียนสูบฉีดหล่อเลี้ยงเมืองอย่างไม่จบสิ้น การเผาผลาญพลังงานและการผลิตขยะเกิดขึ้นทุกวินาทีในเขตเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 13 ล้านคน หรือคิดเป็น 10% ของทั้งประเทศ จำนวนประชากรรวมทั้งหมดมากกว่าประเทศไทยเกือบเท่าตัว แต่เหตุใดจึงมีการกำจัดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากความเป็นระเบียบของประชากรญี่ปุ่นเองแลัว การแยกขยะก่อนทิ้งเป็นสิ่งที่แต่ละครัวเรือนต้องมีความรับผิดชอบ และการกำจัดขยะอย่างได้ผลสัมฤทธิ์ที่สุดต้องอาศัยระบบที่ดีด้วย

ในประเทศญี่ปุ่นระบบรัฐบาลท้องถิ่นมี 2 ระดับชั้น คือ ระดับจังหวัดและระดับเทศบาล ซึ่งมีการบริหารงานท้องถิ่นตามอํานาจหน้าที่เท่ากัน เขตปกครองมีอํานาจหน้าที่ในการบริหารงาน 47 จังหวัด ซึ่งมหานครโตเกียวเป็นส่วนหนึ่งของเขตปกครองดังกล่าว เขตเทศบาลเป็นหน่วยงานท้องถิ่นที่มีหน้าที่รับผิดชอบและจัดการสิ่งอํานวยความสะดวกให้กับประชาชนในพื้นที่

ประเทศญี่ปุ่นมีกฎหมายด้านการจัดการขยะเฉพาะ ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบการจัดการขยะ และกฎหมายดังกล่าวนำมาบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่นประสบความสําเร็จในด้านการจัดการขยะสูง

กฎหมายพื้นฐานในการสนับสนุนสังคมให้เป็นสังคมรีไซเคิลได้ถูกนํามาบังคับใช้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสู่สังคมรีไซเคิล ลดการใช้ทรัพยากร และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการพัฒนาข้อกฎหมาย ได้แก่ กฎหมายด้านการรักษาความสะอาดและการจัดการขยะเพื่อให้มีการจัดการขยะที่เหมาะสม กําหนดระเบียบข้อบังคับในการจัดตั้งโรงงานกําจัดขยะและธุรกิจด้านการกําจัดขยะ กําหนดมาตรฐานการจัดการขยะ มาตรการควบคุมการกําจัดขยะที่ไม่เหมาะสม และการพัฒนาการจัดการขยะโดยผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมีความรับผิดชอบ

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายด้านการส่งเสริมการนําทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ เพื่อส่งเสริมการใช้ซ้ำและนํากลับมาใช้ใหม่ของผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท โดยคํานึงถึงหลัก 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) ซึ่งได้มีการออกกฎหมายเฉพาะตามลักษณะของผลิตภัณฑ์ เช่น กฎหมายรีไซเคิลภาชนะและบรรจุภัณฑ์ กฎหมายรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้า กฎหมายรีไซเคิลขยะเศษอาหาร กฎหมายรีไซเคิลขยะจากการก่อสร้าง และกฎหมายรีไซเคิลยานพาหนะที่หมดอายุการใช้งานแล้ว เป็นต้น(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

การจัดการขยะของโตเกียว

ในเขตเมืองของโตเกียว 23 เขต ไม่นับรวมปริมณฑลของจังหวัดโตเกียวทั้งหมด มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบแต่ละหน่วยงานอย่างชัดเจน โดยหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละเมืองทําหน้าที่รวบรวมและขนส่งขยะ ส่วนการบําบัดขยะ เช่น การบําบัดด้วยเตาเผา ดําเนินการโดยหน่วยงานดูแลความสะอาดของกรุงโตเกียว 23 (Clean Association of Tokyo 23) ซึ่งก่อตั้งโดยมติของทั้ง 23 เขต และตามกฎหมายการปกครองส่วนท้องถิ่น

การลดและคัดแยกขยะในท้องถิ่นแต่ละเขตของกรุงโตเกียวมีการดําเนินกิจกรรมหรือโครงการเพื่อลดปริมาณขยะทั้งในที่พักอาศัย ร้านค้า และบริษัท ทั้งยังดําเนินการตามกฎหมายส่งเสริมการสร้างสังคมการนํากลับมาใช้ใหม่อย่างยั่งยืน รวมถึงกฎหมายเฉพาะของการจัดการขยะแต่ละประเภท นอกจากนี้ประชาชนในกรุงโตเกียวมีการคัดแยกขยะก่อนนํามาทิ้ง ณ จุดรวบรวมขยะ โดยแยกเป็นขยะ 4 ประเภท ดังนี้

1. ขยะเผาไหม้ได้ (Combustible Waste) เช่น เศษอาหาร กระดาษ พลาสติก
2. มลูฝอยเผาไหม้ไม่ได้ (Non-Combustible Waste) เช่น โลหะ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า แก้วเซรามิก
3. ขยะขนาดใหญ่ (Bulky Waste) เช่น เฟอร์นิเจอร์ ตู้ เตียง โต๊ะ
4. ขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Resources) เช่น กระดาษ พลาสติก แก้ว

แต่ละเมืองของกรุงโตเกียวมีการกําหนดวันและจุดสําหรับทิ้งขยะโดยขึ้นอยู่กับชนิดขยะและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้แผนการดําเนินงานจะขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลและแนวโน้มของปริมาณขยะในท้องถิ่น โดยไม่มีการคิดค่าธรรมเนียมการจัดการขยะสําหรับขยะจากบ้านพักอาศัย ยกเว้นกรณีที่มีการทิ้งขยะปริมาณมาก ซึ่งมีการคิดค่าธรรมเนียมจากขยะเฉพาะขยะที่มีขนาดใหญ่และขยะจากภาคธุรกิจ

ขยะจากบ้านพักอาศัยจะถูกเก็บรวบรวมโดยเทศบาลท้องถิ่น ซึ่งมีการกําหนดความถี่ในการเก็บ รวบรวมโดยแยกตามประเภทขยะ ขยะที่เผาไหม้ได้เก็บ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ขยะที่เผาไหม้ไม่ได้เก็บ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ขยะที่มีขนาดใหญ่จะทําการเก็บรวบรวมโดยขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชนในการร้องขอให้นําไปกําจัด และขยะรีไซเคิลเก็บ 1 ครั้งต่อสัปดาห์

ส่วนขยะจากสํานักงาน ร้านค้า และอื่นๆ จะถูกเก็บรวบรวมโดยรถเก็บขนขยะที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อนําขยะไปกําจัด ณ สถานที่กําจัดต่อไป(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ขั้นตอนการจัดการขยะของโตเกียว

ในแต่ละเมืองมีการกําหนดรูปแบบการขนส่งขยะ โดยขึ้นอยู่กับชนิดของขยะและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ขยะที่เผาไหม้ได้จะถูกเก็บรวบรวมในรถเก็บขนขยะและถูกขนส่งไปยังโรงงานเตาเผาขยะโดยหน่วยงานด้านความสะอาด Clean Association of Tokyo 23 ซึ่งมีเตาเผาทั้งหมด 19 แห่ง โดยขี้เถ้าที่เกิดจากการเผาจะถูกนําไปกําจัดโดยการฝังกลบ และนําไปแปรรูปเป็นตะกรัน (slag) เพื่อนําไปผสมกับซีเมนต์ซึ่งสามารถผลิตเป็นอิฐบล็อกหรือวัสดุสําหรับปูพื้นถนน

ขยะที่เผาไหม้ไม่ได้จะถูกเก็บรวบรวมและขนส่งไปยังโรงเผา 2 แห่ง คือ Chubo Incombustible Waste Processing Center และ Keihinjima Island Incombustible Waste Processing Center ขยะที่มีขนาดใหญ่จะถูกเก็บรวบรวมและขนส่งไปยังโรงงานบำบัดขยะขนาดใหญ่ ซึ่งในแต่ละเมืองจะมีศูนย์สําหรับขนส่งขยะขนาดใหญ่ไปยังโรงงานโดยการขนส่งด้วยรถเก็บขนขยะแบบอัดเพื่อทําให้ขยะมีขนาดเล็กลง

โรงงานเตาเผาที่มีอยู่ทั้งหมด 21 แห่ง ส่วนใหญ่จะเป็นเตาเผาระบบเผาไหม้โดยใช้แผงตะกรัน (Stoker Furnace Waste Incinerator) ซึ่งมีระบบป้องกันมลพิษ เช่น กลิ่น และสารไดออกซิน รวมทั้งมีการรักษาสิ่งแวดล้อมในโรงงานเตาเผา ขี้เถ้าที่เกิดจากการเผาบางส่วนจะนําไปกําจัดด้วยการฝังกลบ และบางส่วนจะนําไปหลอมเป็นตะกรันเพื่อนําไปผสมกับซีเมนต์ซึ่งสามารถผลิตเป็นอิฐบล็อกหรือวัสดุสําหรับปูพื้นถนนต่อไป ส่วนสารพิษที่ถูกปล่อยออกมาและน้ําเสียจะถูกควบคุมเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ โรงงานเตาเผาได้มีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนที่ได้จากการเผาขยะและการหลอมตะกรัน กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกนํามาใช้ในโรงงาน ส่วนที่เหลือจะขายให้กับบริษัทที่ต้องการและบ้านเรือนในราคาที่ถูกกว่าปกติ

ส่วนการฝังกลบขยะเผาไหม้ไม่ได้ที่ผ่านการบดย่อยให้มีขนาดเล็กลง ขยะประเภทขี้เถ้าจากการเผา และกากตะกอนจากระบบบําบัดน้ําเสีย จะถูกนํามากําจัดโดยวิธีการฝังกลบ ซึ่งการฝังกลบขยะที่ Outer Central Breakwater Landfill Disposal Site ถือเป็นสถานที่สุดท้ายของขยะ ซึ่งสร้างขึ้นและบริหารงานโดยเทศบาลมหานครโตเกียว โดยในการฝังกลบจะใช้วิธีแซนด์วิช คือ การเทขยะในหลุมฝังกลบสูง 3 เมตร แล้วทําการกลบดิน 50 เซนติเมตร เพื่อเป็นการปกคลุมขยะ ทำสลับกันไปเรื่อยๆ ส่วนขยะที่เป็นขี้เถ้าจะฝังกลบโดยการขุดหลุมให้เป็นคูก่อนนําขี้เถ้าเทลงหลุมเพื่อป้องกันลมพัดขี้เถ้า

การดําเนินการของสถานที่ฝังกลบขยะของเทศบาลมหานครโตเกียวมีการดําเนินการที่เป็นมาตรฐานตามกฎหมายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีจุดมุ่งหมายให้มีการใช้สถานที่ฝังกลบได้นานที่สุด ซึ่งปัจจุบัน กรุงโตเกียวอยู่ระหว่างการหาวิธีการต่างๆ เพื่อยืดอายุการใช้งานหลุมฝังกลบ