ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ปัญหาสารตะกั่วปนเปื้อนหมู่บ้าน”คลิตี้ล่าง” บทบาทและวิถีของเยาวชนในการฟื้นฟูชุมชน

ปัญหาสารตะกั่วปนเปื้อนหมู่บ้าน”คลิตี้ล่าง” บทบาทและวิถีของเยาวชนในการฟื้นฟูชุมชน

15 พฤษภาคม 2014


เหตุการณ์สารตะกั่วรั่วไหลลงสู่ลำห้วยคลิตี้ เป็นคดีในศาลปกครองประมาณ 16 ปี หลังจากชนะคดีโดยศาลปกครองสั่งให้กรมควบคุมมลพิษฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 สารตะกั่วดังกล่าวทำให้ชาวบ้านคลิตี้ล่างได้รับผลกระทบทางสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ โดยการต่อสู้ที่ผ่านมาเป็นหน้าที่คนรุ่นปู่ย่าตายายแล้วสานต่อมายังรุ่นพ่อแม่ ในวันนี้เด็กที่เกิดมาพร้อมกับปัญหาสารตะกั่วเติบโตขึ้นเป็นเยาวชนที่พร้อมมาช่วยพัฒนาหมู่บ้านคลิตี้ล่างให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมทั้งสืบสานวัฒนธรรมกะเหรี่ยงไว้ให้คงอยู่ ทั้งนี้ ปัจจุบันชุมชนคลิตี้ล่างมี 145 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 400 คน

จากปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วทั้งในดินและน้ำ เยาวชนส่วนหนึ่งมีแนวคิดที่จะร่วมกันพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้น แม้ว่าสารตะกั่วยังไม่หายไปจากวิถีชีวิตของพวกเขา

วิถีชีวิตของชาวคลิตี้ โดยเฉพาะชาวคลิตี้ล่าง แต่เดิมเป็นสังคมเกษตรกรรมเพื่อการยังชีพ เพาะปลูกข้าว ข้าวโพด ผักสวนครัว และเครื่องเทศ เช่น มะเขือเทศ ผักชี ต้นหอม พริก กระเทียม เผือก ฯลฯ ไว้บริโภคภายในครัวเรือน โดยอาศัยน้ำจากลำห้วยคลิตี้ในการเพาะปลูก อุปโภค และบริโภค สัตว์น้ำต่างๆ โดยเฉพาะปลาก็หาได้ง่ายๆ จากลำห้วย เครื่องใช้ต่างๆ เช่น ตะกร้า กระบุง ก็สานใช้เองจากตอก เสื้อผ้าก็ทอใช้เอง ผู้หญิงใส่ผ้าถุง ผู้ชายนุ่งโสร่ง ไม่ได้ใส่กางเกงอย่างในปัจจุบัน

ดังนั้น การดำรงชีวิตในสมัยก่อนจึงพึ่งพา “เงิน” ไม่มากนัก

แต่หลังจากสารตะกั่วปนเปื้อนลงแหล่งน้ำและหน่วยงานราชการแนะนำให้งดใช้น้ำจากลำห้วย วิถีชีวิตของชาวคลิตี้จึงเปลี่ยนแปลงไป สูญเสียทั้งแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร พึ่งพาคนภายนอก และต้องหาเงินเพื่อการยังชีพมากขึ้น

ชาวบ้านมีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อซื้ออาหารทั้งผักและเนื้อสัตว์ รวมทั้งเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของบุตรหลานที่เริ่มออกไปเรียนนอกชุมชนมากขึ้น ดังนั้นชาวบ้านจึงเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว

การปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ เป็นทางเลือกที่คนภายนอกแนะนำเข้ามา และชาวคลิตี้ก็ตัดสินใจปลูกเพื่อค้าขาย กลายเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของชาวคลิตี้จนถึงปัจจุบัน และนั่นทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้มากขึ้นเรื่อยๆ และผูกพันเป็นวงจรที่เลิกทำได้ยาก เพราะมีนายทุนนำเมล็ดพันธ์ุ ปุ๋ย ยาเคมี เข้ามาให้ชาวบ้านซื้อในแบบเงินเชื่อ แล้วหักค่าใช้จ่ายตอนขายผลผลิตซึ่งกลายเป็นต้นทุนที่มากถึงร้อยละ 80 ของรายได้ โดยมีราคาข้าวโพดอยู่ที่กิโลกรัมละ 5-8 บาท ผลผลิตประมาณ 800-900 กิโลกรัมต่อไร่

นอกจากข้าวโพดอาหารสัตว์แล้ว ชาวคลิตี้เริ่มปลูกยางพาราและมันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจด้วย ส่วนพืชผักเครื่องเทศอื่นๆ ก็ปลูกไว้ทานในครัวเรือน และหากมีมากพอก็จะขายบางส่วน เช่น พริก แตงเปรี้ยว สำหรับบางครัวเรือนก็ให้ชาวม้งมาเช่าที่ราคาไร่ละ 400 บาทต่อเดือนเพื่อปลูกกะหล่ำปลี ลุ่ย ฟักแม้ว ซึ่งเป็นพืชที่ใช้น้ำเยอะ ในขณะที่โดยดั้งเดิมแล้วชาวกะเหรี่ยงจะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และในการทำเกษตรกรรมก็อาศัยน้ำจากน้ำฝนเท่านั้น

สำหรับผลผลิตทั้งหมดที่ปลูกในคลิตี้ พบว่ามีการปนเปื้อนตะกั่วในพืช ผัก บางชนิด โดยเฉพาะพืชใบ เช่น กะเพรา แต่ผักชนิดอื่นๆ สามารถรับประทานได้ปกติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริเวณดินที่ปลูกด้วยว่ามีการปนเปื้อนสารตะกั่วมากน้อยแค่ไหน โดยจากการตรวจสอบของกรมควมคุมมลพิษพบว่า สารตะกั่วจะมีปริมาณมากที่ตะกอนกลางท้องน้ำ ค่อยๆ ลดปริมาณลงที่ริมตลิ่งและห่างริมห้วยออกมาเรื่อยๆ ส่วนบนบกจะพบตะกั่วปริมาณสูงที่บริเวณโรงแต่งแร่ ฉะนั้นจึงไม่ควรปลูกพืชบริเวณดังกล่าว ส่วนข้าวโพดอาหารสัตว์พบการปนเปื้อนสารตะกั่วแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน

ถังพักน้ำประปาภูเขาดั้งเดิม
ถังพักน้ำประปาภูเขาดั้งเดิม

ด้านการใช้น้ำ หลังจากที่ใช้น้ำจากลำห้วยไม่ได้ ก็ต้องพึ่งพาแหล่งน้ำอื่นเพื่ออุปโภคและบริโภคแทน นั่นคือประปาภูเขาซึ่งเริ่มมีในหมู่บ้านเมื่อปี 2538 โดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาสร้างให้ แต่ก็ไม่ครบทุกบ้าน ชาวบ้านคนใดที่มีเงินซื้อท่อประปาก็จะต่อท่อมายังบ้านของตนเอง ซึ่งจากข้อมูลปี 2556 ชาวคลิตี้ล่างมีประชากร 145 ครัวเรือน รวมประมาณ 400 คน โดยที่ประชากรครึ่งหนึ่งยังคงต้องใช้น้ำจากลำห้วยทั้งในการอุปโภคและบริโภค

ในปี 2545 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาแจกโอ่งขนาดบรรจุ 2,000 ลิตร แก่ชาวบ้านทุกครัวเรือนเพื่อรองน้ำฝนไว้ใช้บริโภค แต่ปัจจุบันมีเพียงบางบ้านเท่านั้นที่มีโอ่ง เนื่องจากโอ่งที่แจกนั้นแตกไปบ้าง และชาวบ้านไม่มีเงินซื้อใหม่เพราะมีราคาแพงคืออยู่ที่ประมาณใบละ 1,500 บาท บ้างก็ป็นครอบครัวใหม่ที่ปลูกแยกออกจากบ้านพ่อแม่

ทั้งนี้ ประปาภูเขาที่ครอบคลุมทั้งหมู่บ้านมีปัญหาน้ำไม่ไหลเพราะท่ออุดตัน และมีโอ่งไม่เพียงพอสำหรับบรรจุน้ำฝน ทำให้สุดท้ายแล้วชาวบ้านต้องหันไปใช้น้ำจากลำห้วย อีกทั้งวิถีโดยปกติของชาวคลิตี้ในปัจจุบันต้องออกไปทำไร่ บางครั้งก็นอนค้างที่ไร่ ทำให้ต้องกินต้องใช้น้ำจากลำห้วยคลิตี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“เราจำเป็นต้องกินต้องใช้น้ำจากลำห้วย ไม่งั้นก็ไม่มีกิน ความหิวบังคับให้เราต้องกิน แต่ถ้าจะให้เราย้ายที่อยู่เราก็ไม่ไปเพราะเราไม่ได้ปล่อยสารตะกั่ว ย้ายไปที่ใหม่ก็ต้องตั้งหลักใหม่ ปลูกบ้าน ปลูกต้นไม้ และเราก็ยังมีความหวังว่าลำห้วยคลิตี้จะฟื้นฟูให้กลับมาเหมือนเดิมได้” นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ชาวบ้านคลิตี้ล่างกล่าว

“อดน้ำกี่วันตาย ถ้ากินน้ำในลำห้วยกี่วันตาย เราจำเป็นต้องกินต้องใช้ ที่ผ่านมาเราอยู่กับความกลัวมาตลอดและกินใช้น้ำจากลำห้วยมาตั้งแต่เด็ก ฉะนั้นความกลัวจึงเป็นนามธรรม เพราะน้ำในลำห้วยก็ดูใสสะอาด ไม่ได้น่ากลัวจนเราไม่กล้าใช้” นางสาวชลาลัย นาสวนสุวรรณ ชาวบ้านคลิตี้ล่างกล่าว

จากปัญหาที่เกิดขึ้น เยาวชนชาวคลิตี้ล่างก็ได้เข้ามามีบทบาทในการฟื้นฟูและพัฒนาหมู่บ้านให้สามารถอยู่ได้อย่างมีเอกลักษณ์และรับมือกับปัญหาสารตะกั่วที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน

นางสาวรัตนา บุญเสริมถาวร เยาวชนชาวคลิตี้ล่าง อายุ 22 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน กล่าวถึงบทบาทในการพัฒนาชุมชนของตนว่า เป็นการทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ในชุมชนและประสานงานกับกลุ่มคนภายนอกเพื่อพัฒนาหมู่บ้านคลิตี้ล่างแห่งนี้ให้ดีขึ้น เริ่มตั้งแต่การทำสำมะโนประชากรในหมู่บ้านคลิตี้ให้กับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมหรือเอนลอว์ (EnLaw: โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม) ทำแผนที่หมู่บ้าน และประสานงานกับกลุ่มดินสอสีที่เข้ามาช่วยพัฒนาหมู่บ้าน

นางสาวรัตนา บุญเสริมถาวรนิจ
นางสาวรัตนา บุญเสริมถาวรนิจ
"รำตง" การแสดงของชาวกะเหรี่ยง
“รำตง” การแสดงของชาวกะเหรี่ยง

“รัตนา” เป็นลูกสาวคนโต ในแต่ละวันมีงานบ้านและการทำไร่ที่ต้องทำเป็นงานประจำอยู่แล้ว แต่ก็พยายามหาเวลามาทำงานเพื่อช่วยพัฒนาหมู่บ้านโดยการให้ความร่วมมือและประสานงานกับกลุ่มคนภายนอกที่เข้ามาช่วยเหลือ อีกด้านหนึ่งก็ช่วยฟื้นฟูวัฒนธรรมกะเหรี่ยงขึ้นมา เช่น สอนภาษากะเหรี่ยงและรำตงให้กับกลุ่มเด็กๆ ในหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีการทอผ้าและจักสานด้วย

รัตนาเล่าว่า วิถีชีวิตของคนในชุมชนเปลี่ยนไปตั้งแต่เริ่มหันมาทำไร่ข้าวโพด ทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้มากขึ้น ต้องทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด ดังนั้นการมาประชุมร่วมกันของหมู่บ้านจึงมีคนมาร่วมประชุมน้อยลง หรือที่เรียกว่า “ขึ้นวัด” เนื่องจากชาวบ้านใช้วัดเป็นสถานที่พบปะพูดคุยกัน สำหรับเด็กๆ ก็ไม่ได้อยู่ในหมู่บ้าน บ้างก็ไปเรียน บ้างไปทำงานที่นอกหมู่บ้าน

ด้านการแต่งกายก็เปลี่ยนไป ชาวบ้านแต่งชุดกะเหรี่ยงกันน้อยลง แล้วหันไปใส่เสื้อและกางเกงแบบสมัยนิยมแทนเพราะทำงานได้สะดวกกว่า ทำให้การทอผ้าในชุมชนลดลงไปด้วย ปัจจุบันเหลือเพียงบางบ้านเท่านั้นที่ยังทออยู่ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สอนต่อแก่ลูกหลาน เนื่องจากไม่มีเวลา ส่วนภาษากะเหรี่ยงที่ค่อยๆ หายไปก็เพราะเด็กๆ เข้าโรงเรียนรัฐซึ่งสอนด้วยภาษาไทย จึงไม่มีโอกาสได้เรียนอ่านเขียนภาษากะเหรี่ยง

จากปัจจัยข้างต้นทำให้รัตนาพยายามฟื้นฟูวัฒนธรรมของกะเหรี่ยงให้สานต่อไปในเด็กรุ่นหลัง โดยเริ่มจากตัวเองก่อน

“อย่างรำตงหนูก็ไปให้ตาฝึกให้ แล้วก็นำไปฝึกต่อกับเด็กๆ ในหมู่บ้าน ซึ่งการให้เด็กๆ มารวมตัวกันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องคอยเอาใจเด็กๆ โดยการรับส่งถึงบ้านและทำขนมแจก ซึ่งหนูออกเงินเองทั้งหมด อย่างเรื่องชุดรำตง โชคดีที่บ้านของหนูมีชุดเยอะ จึงไม่ลำบากในเรื่องนี้มากนัก” รัตนากล่าว

นอกจากนี้รัตนายังได้ไปขอเรียนภาษากะเหรี่ยงกับท่านเจ้าอาวาสตั้งแต่สมัยประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งปัจจุบันก็พยายามมาสอนต่อให้กับเด็กๆ ในหมู่บ้าน ซึ่งเด็กๆ ก็ชอบเรียนภาษา และในอนาคตเมื่อโรงเรียนประถมของตำรวจตระเวนชายแดนสร้างเสร็จแล้ว ก็จะเข้าไปสอนนักเรียนในโรงเรียนด้วย “หนูเกิดมาก็ไม่ได้เรียนภาษากะเหรี่ยงจึงอ่านเขียนไม่ได้ แต่พูดได้เท่านั้น เพราะในอดีตคนที่จะได้เรียนคือคนที่บวชเท่านั้น ทั้้งบวชพระและบวชชี ซึ่งถ้าไม่มีพระอาจารย์หนูก็คงไม่ได้เรียน”

ปัจจุบันชาวบ้านคลิตี้ที่อายุ 30 ปีลงมานั้นอ่านเขียนภาษากะเหรี่ยงไม่ได้แล้ว

ด้านนายธนกฤต โต้งฟ้า หรือมิ๊ก เยาวชนชาวคลิตี้คนหนึ่งที่ออกไปเรียนนอกหมู่บ้าน ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ระดับชั้นปริญญาตรี ได้กลับเข้ามาช่วยพัฒนาหมู่บ้านคลิตี้ล่างเรื่องการทำประปาภูเขา โดยมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมชักชวนมาทำงานอาสากับมูลนิธิฯ เนื่องจากเห็นว่าเป็นเยาวชนของหมู่บ้านคลิตี้ หลังจากนั้นจึงได้เข้ามารับผิดชอบโครงการประปาภูเขาของหมู่บ้านคลิตี้ล่าง

ผลจากสารตะกั่วในลำห้วยทำให้ชาวบ้านต้องหันมาใช้ประปาภูเขาแทน และประปาที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมทุกหลังคาเรือน และท่อประปาเดิมก็หมดอายุการใช้งานแล้ว เกิดสนิมในท่อ ดังนั้นระหว่างที่รอการฟื้นฟูลำห้วยของกรมควบคุมมลพิษ น้ำประปาภูเขาคือสิ่งจำเป็นของหมู่บ้าน

นายธนกฤต โต้งฟ้า
นายธนกฤต โต้งฟ้า
ถังพักน้ำประปาภูเขาใหม่ ที่กำลังก่อสร้างอยู่
ถังพักน้ำประปาภูเขาใหม่ ที่กำลังก่อสร้างอยู่

“เดิมชาวบ้านพึ่งพาธรรมชาติ แต่ปัจจุบันต้องพึ่งพาตนเองและคนภายนอกมากขึ้น สารตะกั่วในลำห้วยไม่ใช่ความผิดเรา แต่ว่าผมรอคนอื่นไม่ไหวจึงทำใหม่เองดีกว่า โดยมีเอนลอว์คอยช่วยเหลือด้านการระดมทุนเรื่องงบประมาณ” นายธนกฤตกล่าว

ปัจจุบันชาวบ้านช่วยกันสร้างถังพักน้ำประปาภูเขา 3 ถังเสร็จเรียบร้อยแล้ว ใช้งบประมาณ 840,000 บาท โดยใช้เงินกองกลางของชาวบ้าน 22 คนจากที่ได้จากการชนะคดีในศาลปกครอง ซึ่งตอนนี้ก็เกือบจะหมดแล้ว ในขณะที่ต้องใช้งบประมาณสำหรับท่อประปาอีกประมาณ 4.6 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 สาย คือ ตอนเหนือของหมู่บ้าน ศูนย์กลางหมู่บ้าน (วัด โรงเรียน) และตอนปลายหมู่บ้าน ซึ่งจะเริ่มทำสายแรกที่ศูนย์กลางหมู่บ้านก่อน แต่ว่างบประมาณอาจจะสูงกว่าข้างต้นอีกเท่าตัวหากต้องติดที่กรองน้ำ เนื่องจากน้ำประปาภูเขามีตะกอน และผลจากการตรวจน้ำในปี 2542 พบว่ามีค่าตะกั่วในน้ำ 0.03 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในขณะที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้มีค่าไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

“ในฐานะเยาวชนของหมู่บ้านคลิตี้ที่ได้ออกไปเรียนสูงๆ ในกรุงเทพฯ ผมก็ได้ใช้ความรู้มาพัฒนาหมู่บ้าน เช่น การก่อสร้างถังน้ำ ชาวบ้านจะไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรให้ได้มาตรฐาน แต่สามารถสร้างออกมาให้สำเร็จได้ ซึ่งเราต้องเข้าไปช่วยให้ความรู้เรื่องนี้้กับเขา นอกจากนี้ยังทำหน้าที่สื่อสารเรื่องของหมู่บ้านออกไปสู่ชุมชนภายนอก รวมถึงเป็นผู้ประสานงานระหว่างคนภายในหมู่บ้านและบุคคลภายนอกด้วย” นายธนกฤตกล่าว

ชาวบ้านคลิตี้ร่วมทำบุญผ้าป่าสร้างประปาภูเขา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2557
ชาวบ้านคลิตี้ร่วมทำบุญผ้าป่าสร้างประปาภูเขา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2557

ดูข้อมูลเพิ่มเติมกรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำประปาภูเขา และดูข้อมูลคลิตี้ทั้งหมด

สำหรับผู้ที่สนใจสมทบทุนสร้างประปาภูเขาให้หมู่บ้านคลิตี้ล่าง บริจาคได้ที่บัญชี “มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม เลขที่บัญชี 140-262534-7 ธนาคารไทยพาณิชย์ สี่แยกศรีวรา” (เป็นบัญชีแยกเฉพาะเพื่อการสร้างประปาภูเขาเท่านั้น)