ThaiPublica > คอลัมน์ > ตระกูลการเมือง กับการลดต้นทุนของนักการเมือง (ตอนที่ 3)

ตระกูลการเมือง กับการลดต้นทุนของนักการเมือง (ตอนที่ 3)

1 มกราคม 2014


Hesse004

ในตอนที่แล้วผู้เขียนค้างไว้ถึงตระกูลการเมืองฟิลิปปินส์ที่เหลืออีกสองตระกูลซึ่งยังคงมีอิทธิพลต่อการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น

สองตระกูลที่ว่านี้ คือ ตระกูลมาคาปากัล-อาโรโย่ (Macapagal-Arroyo) และตระกูลมาร์กอส (Marcos)

ตระกูล Macapagal เป็นตระกูลการเมืองเก่าแก่ที่มีสมาชิกในครอบครัวถึงสองคนสามารถไต่เต้าถึงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศ คือ นาย Diosdado Macapagal อดีตประธานาธิบดีคนที่ 9 (1961-1965) บิดาของนาง Gloria-Macapagal Arroyo ประธานาธิบดีคนที่ 14 (2001-2010)

ตระกูล Macapagal มีฐานเสียงและที่มั่นทางการเมืองอยู่ในจังหวัด Pampaga ทางตอนกลางของเกาะลูซอน (Luzon) ตระกูลนี้นอกจากนาย Diosdado ผู้พ่อและนาง Gloria ลูกสาวจะเล่นการเมืองระดับชาติแล้ว สมาชิกครอบครัวอีกคน คือ นาง Cielo Macapagal-Salgado พี่สาวของนาง Gloria ก็เล่นการเมืองท้องถิ่นอยู่ในจังหวัด Pampaga ด้วยเช่นกัน

ตระกูล Macapagal มาดองกับตระกูล Arroyo หลังจากที่นาง Gloria แต่งงานกับนาย Jose Miguel Arroyo นักกฎหมายชื่อดังซึ่งมีคุณปู่ คือ นาย Jose Ma. Arroyo เป็นอดีตวุฒิสมาชิก (Senator)

จะเห็นได้ว่า การเกี่ยวดองกันของตระกูลการเมืองสองตระกูลมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งของฐานอำนาจให้กับครอบครัวการเมือง แทนที่จะเป็นคู่แข่งห้ำหั่นแย่งชิงอำนาจกันแต่ใช้วิธีผูกสัมพันธ์ผ่านการแต่งงานของสมาชิกในครอบครัว ยิ่งทำให้ฐานอำนาจทางการเมืองมีความแข็งแกร่งมากขึ้น

หลังจากที่ครอบครัว Macapagal-Arroyo วางฐานที่มั่นทางการเมืองได้มั่นคงแล้ว นาง Gloria ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองในฐานะประธานาธิบดีหญิงคนที่สองของฟิลิปปินส์ ต่อมาตระกูล Macapagal-Arroyo ได้ส่งทายาทคนโต คือ นาย Juan Miguel Macapagal- Arroyo หรือ Mikey Arroyo สืบทอดตำแหน่งทางการเมืองในฐานะ ส.ส. จังหวัด Pampaga

ก่อนเข้าสู่การเมืองสนามใหญ่ Mikey Arroyo เคยเป็นดาราหนังและผันมาชิมลางเล่นการเมืองท้องถิ่นโดยดำรงตำแหน่ง Vice Governor ของจังหวัด Pampaga ในช่วงที่มารดาของเขาเป็นประธานาธิบดี

นอกจาก Mikey พี่ชายคนโตจะเล่นการเมืองแล้ว น้องชายคนสุดท้อง คือนาย Diosdado Macapagal Arroyo หรือ Dato Arroyo ก็ลงเล่นการเมืองสนามใหญ่เช่นกันในฐานะผู้แทนประจำจังหวัด Camanires Sur

แม้ว่าวันนี้ตระกูล Macapagal-Arroyo จะไม่โดดเด่นทางการเมืองระดับชาติแล้ว เนื่องจากนาง Gloria ต้องเจอมรสุมเรื่องโกงเลือกตั้ง และต้องถูกคุมขังอยู่ในโรงพยาบาลพร้อมทั้งมีปัญหาสุขภาพ แต่ที่น่าจับตามองต่อไป คือ ในอนาคตลูกชายทั้งสองคนของนางจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองได้ตามคุณตาและคุณแม่หรือไม่ ซึ่งหากทำได้จะเป็นการสืบทอดอำนาจทางการเมืองอย่างสมบูรณ์แบบเช่นเดียวกับตระกูล Nehru-Gandhi ของอินเดีย

สาแหรกตระกูลการเมือง Macapagal-Arroyo การสืบทอด Political Dynasties จากรุ่นตาถึงรุ่นหลาน ที่มาภาพ: http://3.bp.blogspot.com
สาแหรกตระกูลการเมือง Macapagal-Arroyo การสืบทอด Political Dynasty จากรุ่นตาถึงรุ่นหลาน ที่มาภาพ: http://3.bp.blogspot.com

นอกจากตระกูล Cojuangco-Aquino และตระกูล Macapagal-Arroyo จะมีสมาชิกตระกูลละสองคนที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของประเทศแล้ว อีกตระกูลที่ต้องกล่าวถึงใน Political Dynasty ของฟิลิปปินส์ คือ ตระกูลมาร์กอส (The Marcos Family)

ตระกูล Marcos นับเป็นตระกูลการเมืองที่สร้าง “สีสัน” และ “รอยแปดเปื้อน” ให้กับการเมืองฟิลิปปินส์ เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่าอดีตประธานาธิบดี Ferdinand Marcos กลายเป็น “เผด็จการทรราช” ที่ชาว Filipino ลุกขึ้นมาขับไล่จนสร้างปรากฏการณ์ The People Power Revolution เมื่อปี 1986

The People Power Revolution หรือ Yellow Revolution เป็นการปฏิวัติประชาชนโดย “มวลมหาประชาชน” ฟิลิปปินส์ที่ออกมาไล่ Marcos แบบ “ม้วนเดียวจบ” เพียงแค่ 3 วัน

การ “ปฏิวัติสีเหลือง” หรือ EDSA Revolution เกิดจากความอัดอั้นของชาว Filipino ที่อยู่ใต้อำนาจเผด็จการ Marcos ร่วม 21 ปี อย่างไรก็ดี ชนวนสำคัญที่ทำให้ Marcos ร่วงจากอำนาจ คือ กรณีการลอบสังหารนาย Beniqno Aquino, Jr. หรือ Ninoy Aquino อดีตวุฒิสมาชิกฝ่ายค้านที่เป็นหัวหอกต่อต้านระบอบ Marcos

การลุกขึ้นสู้ของมวลมหาประชาชนในครั้งนั้น นอกจากจะขับไล่ครอบครัว Marcos พ้นจากแผ่นดินได้แล้ว สิ่งที่ตามมาคือ การร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจำกัดบทบาทการสืบทอดอำนาจตระกูลการเมือง

เนื้อความในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของฟิลิปปินส์ปี 1987 หมวดที่ 2 มาตรา 26 กำหนดไว้ว่า ห้ามบรรดาตระกูลการเมืองทั้งหลายส่งลูกเมียและนอมินีต่างๆ มาชิงชัยในสนามเลือกตั้งทั้งสนามเล็กและสนามใหญ่ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจไม่ให้อยู่ในมือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

Article II Section 26 The State shall guarantee equal access to opportunities for public service and prohibit political dynasties as may be defined by law.

THE 1987 CONSTITUTION OF THE REPUBLIC OF THE PHILIPPINES

แม้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญฟิลิปปินส์จะพูดไว้ชัดเจนเรื่อง Political Dynasty แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีนักการเมืองคนใดให้ความสนใจที่จะเสนอ “กฎหมายลูก” มาต่อยอดขยายความว่าเป็นการลดอำนาจผูกขาดทางการเมืองของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง

ทั้งนี้ เพราะนักการเมืองแต่ละคนล้วนแต่เป็นตัวแทนของตระกูลดังทางการเมืองด้วยกันทั้งนั้น

จากข้อมูลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2010 ปรากฏว่า มีตระกูลการเมืองในสภาฟิลิปปินส์ถึง 178 ตระกูล โดย 100 ตระกูล มาจากตระกูลการเมืองเก่าแก่ อีก 78 ตระกูล มาจากตระกูลการเมืองกลุ่มใหม่ที่เติบโตหลังยุค Marcos

แม้ว่าโดยหลักการแล้ว การปฏิรูปการเมืองของฟิลิปปินส์จะดู “เข้าท่า” แต่เมื่อเอาเข้าจริง ด้วยบริบทของสังคม “ตากาล็อก” ที่ชาวบ้านยังต้องยึดโยงและอาศัยอำนาจอุปถัมภ์ค้ำจุนที่ผูกพันกับผู้แทนตัวเองซึ่งมาจากตระกูลการเมืองในท้องถิ่น ทำให้การห้ามหรือจำกัดสิทธิการเล่นการเมืองของตระกูลใดตระกูลหนึ่งจึงกลายเป็นเรื่องยาก

กรณีตระกูล Marcos ก็เช่นกัน เพราะหลังจากคนในครอบครัว Marcos ถูกอัปเปหิออกนอกประเทศไปไม่ถึง 20 ปี ท้ายที่สุดตระกูล Marcos ก็กลับเข้าสู่วงจรการเมืองได้สะดวกโยธินเช่นเดิม

เริ่มจากนาง Imelda Marcos ผู้เป็นเมียก็ยังเล่นการเมืองในฐานะผู้แทนจังหวัด Ilocos Norte ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะลูซอน นอกจาก Imelda แล้ว ลูกสาวคนโต คือ นาง Imee Marcos ยังเป็นผู้ว่าการจังหวัด Ilocos Norte ฐานที่มั่นทางการเมืองของครอบครัวอีกด้วย

ลูกชายของประธานาธิบดี Ferdinand Marcos คือ นาย Ferdinand Marcos, Jr. หรือ Bong Bong ก็เป็นผู้แทนพื้นที่เดียวกับแม่ แถมยังเคยเป็นผู้ว่าการจังหวัด Ilocos Norte ก่อนที่จะส่งต่ออำนาจให้ลูกพี่ลูกน้อง คือ นาย Michael Marcos Keon

และเมื่อ Michael Marcos ลงจากตำแหน่งก็ส่งไม้ต่อให้กับ Imee Marcos พี่สาวของ Bong Bong …วนเวียนกันอยู่อย่างนี้ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา พูดง่ายๆ คือ ตระกูล Marcos สามารถครองอิทธิพลในจังหวัด Ilocos Norte ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

The Marcos Family ตระกูลการเมืองที่ครั้งหนึ่งเคยถูกอัปเปหิออกจากแผ่นดิน ที่มาภาพ : http://4.bp.blogspot.com
The Marcos Family ตระกูลการเมืองที่ครั้งหนึ่งเคยถูกอัปเปหิออกจากแผ่นดิน ที่มาภาพ: http://4.bp.blogspot.com

การสืบทอดอำนาจทางการเมืองของฟิลิปปินส์ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นกลายเป็น “ประเด็น” ให้นักวิชาการและ NGO ฟิลิปปินส์ตั้งข้อรังเกียจและพยายามชี้ให้เห็นว่าการผูกขาดดังกล่าวทำให้เกิดสภาพ “คณาธิปไตย”(Oligarchy) ในสภามากกว่าที่จะเป็นประชาธิปไตย

ทั้งนี้ มี NGO ที่เรียกตัวเองว่า Movement Against Dynasties หรือ MAD พยายามรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อลดอำนาจทางการเมืองของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ซึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีวุฒิสมาชิกหญิงท่านหนึ่งได้เสนอร่างกฎหมายที่เรียกว่า The Anti-Political Dynasty Act หรือ Senate Bill 2649 เข้าไปในสภา 1

เจตนารมณ์ของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ การนิยามคำว่า Political Dynasty ให้มีความชัดเจนว่าหมายถึงอะไร มีใครบ้างที่เข้าข่าย “วงศ์วานว่านเครือ” ตามกฎหมายนี้ และหากตระกูลใดละเมิดกฎหมายจะมีผลอย่างไร

อย่างไรก็ดี แนวคิดการจำกัดอำนาจผูกขาดตระกูลการเมืองจะสามารถเกิดขึ้นในเมืองไทยได้จริงหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่น่าติดตามยิ่งนัก

…เพราะการจะ “ขับไล่” ตระกูลใดตระกูลหนึ่งออกจากการเมืองหรือออกนอกประเทศคงไม่ใช่เรื่องง่ายและดูจะไม่เป็น “อารยะ” เอาเสียเลย

…เพราะการโค่นล้มที่แท้จริงนั้น มิใช่การโค่นล้มระบอบใดระบอบหนึ่งที่มีพื้นฐานมาจากอำนาจผูกขาดทางการเมืองของตระกูลใด หากเราควรมีระบบและกติกาการจำกัดอำนาจดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนตลอดจนรักษากติกานั้นโดยเคร่งครัด

หากทำเช่นนี้ได้ ก็น่าจะเป็นวิธีการที่ “เข้าท่า” และ “สง่างาม” ในการควบคุมให้ตระกูลการเมืองไทยเล่นการเมืองอย่าง “สร้างสรรค์” มากกว่าเห็นการเมืองเป็นเพียง “มรดก” ทางธุรกิจที่สืบทอดกันรุ่นสู่รุ่น

นี่อาจจะเป็นอีกคำถามหนึ่งที่ กปปส. ของคุณสุเทพและมวลมหาประชาชนต้องหาคำตอบให้ได้ว่า หากปฏิรูปการเมืองครั้งนี้สำเร็จลงด้วยการขับไล่ตระกูลการเมืองหนึ่งไปแล้ว… จะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีตระกูลอื่นๆ ที่ยังมีอิทธิพลหลงเหลืออยู่พอที่จะสร้างระบอบใหม่ๆ ขึ้นมาอีก

…เพราะหากเป็นเช่นนั้นแล้ว เราคงต้องลุกขึ้นมาขับไล่ตระกูลใหม่ๆ เหล่านี้ต่อไม่มีที่สิ้นสุด

ท้ายที่สุด ขอให้ดูตัวอย่างของฟิลิปปินส์ที่ขนาดเขียนเรื่องนี้ไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญแล้ว คนในตระกูล Marcos หรือ Arroyo ก็ยังกลับเข้ามาสู่สนามการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่นได้เช่นเดิม

หมายเหตุ 1 ร่างกฎหมาย The Anti-Political Dynasty Act ได้รับการเสนอโดยวุฒิสมาชิก Miriam Defensor Santiago ดูรายละเอียดเพิ่มเติม