ThaiPublica > เกาะกระแส > คดีกำแพงใจชาวบ้านต่อต้านเหมืองทุ่งคำถูกฟ้องแพ่ง 2 คดี เรียก 120 ล้านบาท และอาญาอีก 2 คดี

คดีกำแพงใจชาวบ้านต่อต้านเหมืองทุ่งคำถูกฟ้องแพ่ง 2 คดี เรียก 120 ล้านบาท และอาญาอีก 2 คดี

3 มกราคม 2014


ลำดับการถูกฟ้องคดีของชาวบ้านวังสะพุงโดยบริษัท ทุ่งคำ จำกัด

ข้อพิพาทระหว่างภาคประชาชนกับภาคธุรกิจ เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น ด้วยความตื่นตัวและการเข้าถึงข้อมูลที่มากขึ้นของชาวบ้าน ทำให้เขาพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิที่พึงมี การลุกขึ้นต่อสู้ของพวกเขา เพราะไม่มีทางเลือกอื่นและไม่มีเครื่องมืออื่นให้เขาพึ่งพิง “สุรชัย ตรงงาม”กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)เคยบอกเล่าประสบการณ์การต่อสู้ของประชาชนว่าเมื่อชาวบ้านมาใช้สิทธิเรียกร้อง ก็จะพบปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ไม่ต้องพูดถึงอิทธิพลเถื่อน และกระบวนทางกฎหมายเองที่ชาวบ้านโดนฟ้องร้องจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นคดีอาญา คดีแพ่ง คดีหมิ่นประมาท ซึ่งกลุ่มธุรกิจเขาฟ้องกลับชาวบ้านเป็นการตอบโต้

กรณีชาววังสะพุง “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” ก็เช่นเดียวกัน ถูกฟ้องแพ่ง 2 คดี รวมเงินต้น 120 ล้านบาท และต้องจ่ายเพิ่มอีกวันละ 10 ล้านบาท จนกว่าจะยอมรื้อกำแพง และถูกฟ้องคดีอาญาข้อหาบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์สินอีก 2 คดี มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวม 4 คดี 20 คน หลังจากที่ร่วมกันก่อสร้างกำแพงกั้นทางสัญจรของเหมืองทองคำบริษัท ทุ่งคำ จำกัด

หลังจากที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เปิดกิจการเหมืองแร่ทองคำที่ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นต้นมาจนกระทั่งหน่วยงานราชการ ตรวจพบสารปนเปื้อนในลำน้ำฮวยในปี 2549 ซึ่งอยู่ใกล้เหมือง และต่อมาตรวจพบสารพิษปนเปื้อนในร่างกายของชาวบ้านรอบเหมือง พบสารปนเปื้อนทุกคน และพบคนที่สารพิษเกินเกณฑ์มาตรฐาน จนปัจจุบันชาวบ้านบางรายป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ และนาข้าวมีผลผลิตตกต่ำ

จนมีข้อพิพาทระหว่างบริษัททุ่งคำกับชุมชนในพื้นที่รอบเหมืองทองคำทำให้ชาวบ้านสร้างมาตรการในการดูแลรักษาและปกป้องชุมชนของตัวเอง ด้วยการจัด “งานทำบุญภูทับฟ้าต่อชะตาภูซำป่าบอนหาบคอนภูเหล็ก” ขึ้นเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยหวังให้เป็นมงคลเพื่อรักษาภูทับฟ้าและภูซำป่าบอนซึ่งเป็นพื้นที่ทำเหมืองไม่ให้ถูกทำลายไปมากกว่านี้ อีกทั้งได้สร้างกำแพงกั้นทางเข้า-ออกเหมือง เพื่อไม่ให้รถน้ำหนักมากวิ่งผ่านบนถนนของหมู่บ้านอีกต่อไป อันเป็นสาเหตุให้เหมืองต้องหยุดกิจการและยื่นฟ้องชาวบ้านร่วม 4 คดี แบ่งเป็นคดีแพ่งและอาญาอย่างละ 2 คดี

สรุปชาวบ้านวังสะพุงที่ถูกบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้องทั้ง 4 คดี (ที่มา: เพจเฟซบุ๊กเหมืองแร่เมืองเลย)
สรุปชาวบ้านวังสะพุงที่ถูกบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้องทั้ง 4 คดี (ที่มา: เพจเฟซบุ๊กเหมืองแร่เมืองเลย)

คดีหมายเลขดำที่ 859/2556 ณ ศาลจังหวัดเลย ว่าด้วยความแพ่ง โดยบริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยนายวิมล ศรีบุรินทร์ ผู้รับมอบอำนาจ ยื่นฟ้องชาวบ้านอำเภอวังสะพุงจำนวน 14 คน ได้แก่ นายสมัย ภักดิ์มี, นายกองลัย ภักมี, นางมล คุณนา, นายพุฒ อินทสอน, นายมานะ ภักมี, นายเลิศศักดิ์ ศรีทอง, นายถาวร ชัยสิทธิ์, นายจำเนียร คุณนา, นายเสถียน สนม, นายเตียม ปีนา, นายลำดวน ตองหว้าน, นางสาวดอกไม้ มูลกองศรี, นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ และนางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 ข้อหาละเมิด และเรียกค่าเสียหายจำนวน 50 ล้านบาท

ทั้งนี้ศาลยกฟ้องจำเลย 1 คน คือ นายจำเนียร คุณนา ซึ่งเสียชีวิตเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่บริษัททุ่งคำก็ใส่ชื่อเป็นหนึ่งในผู้ถูกฟ้องด้วย ดังนั้นคดีนี้จึงเหลือจำเลยรวม 13 คน

เนื่องจากเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2556 จำเลยและพวก “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” ประมาณ 200 คน มาชุมนุมปิดกั้นถนนสายบ้านนาหนองบง หมู่ที่ 3 ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย และใช้สิ่งกีดขวางบริเวณทางแยกที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ผ่านเข้า-ออกที่ทำการเหมืองทองคำและทองแดง ซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์ และห้ามพนักงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ผ่านทางถนนดังกล่าวเข้ามายังที่ทำการ เพื่อประท้วงการประกอบกิจการของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด อีกทั้งยังก่อสร้างกำแพงอิฐบล็อกความยาวประมาณ 15 เมตร สูงประมาณ 2 เมตร บนถนนสาธารณประโยชน์บริเวณทางแยกที่ชุมนุมดังกล่าว เพื่อปิดกั้นผู้เกี่ยวข้องกับบริษัท ทุ่งคำ จำกัด นำยานพาหนะต่างๆ ผ่านเข้าไปประกอบกิจการในเหมือง นอกจากนี้ยังปิดกั้นเส้นทางเข้า-ออกอื่นๆ เพื่อไม่ให้คนของบริษัทเข้า-ออกได้ด้วย

การกระทำดังกล่าวทำให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และประชาชนผู้ใช้ทางสาธารณะไม่ได้รับความสะดวก โดยบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ไม่สามารถประกอบกิจการที่เหมืองได้ จึงเกิดความเสียหายและสร้างความเดือดร้อนเกินกว่าจะคาดหมายได้ และทำให้รายได้ไม่น้อยกว่าวันละ 10 ล้านบาท ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด หายไป เนื่องจากต้องหยุดประกอบกิจการหลังจากถูกปิดกั้นเส้นทาง

ชาวบ้านอำเภอวังสะพุงทั้ง 14 คน จำเลยในคดีความแพ่งเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาทที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 (ที่มา:เพจเฟซบุ๊กเหมืองแร่เมืองเลย)
ชาวบ้านอำเภอวังสะพุงทั้ง 14 คน จำเลยในคดีความแพ่งเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท ที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 (ที่มา: เพจเฟซบุ๊กเหมืองแร่เมืองเลย)

ดังนั้น จำเลยทั้ง 14 คน ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทวันละ 10 ล้านบาท นับแต่วันที่ 5 กันยายน 2556 จนถึงวันฟ้อง (10 กันยายน 2556) รวม 60 ล้านบาท แต่บริษัทขอคิดเพียง 50 ล้านบาท โดยมีคำขอท้ายฟ้อง ดังนี้

1. จำเลยต้องรื้อกำแพงอิฐบล็อกและสิ่งกีดขวางต่างๆ บนถนนที่เกิดข้อพิพาท และทำทางสาธารณะดังกล่าวให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดีดังเดิม

2. ให้จำเลยยุติการชุมนุมและใช้สิ่งของกีดขวางทางหรือปิดกั้นทางสาธารณะหรือการกระทำใดที่ละเมิดต่อบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ตามฟ้อง

3. จำเลยต้องชำระค่าสินไหมทดแทนให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จำนวน 50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้น ไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ

4. จำเลยต้องชำระค่าเสียหายให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด วันละ 10 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2556 ไปจนกว่าจะรื้อกำแพงอิฐบล็อกออกและย้ายวัสดุสิ่งกีดขวางออกไปและทำให้ทางสาธารณะใช้ประโยชน์ได้ดีดังเดิมแล้วเสร็จ (กำแพงนี้ถูกรื้อและสร้างใหม่ในวันที่ 11 ตุลาคม 2556 รวม 31 วัน)

5. ให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในอัตราสูงแทนบริษัท ทุ่งคำ จำกัด

ทั้งนี้ การชุมนุมดังกล่าวคือ “งานทำบุญภูทับฟ้าต่อชะตาภูซำป่าบอนหาบคอนภูเหล็ก” ระหว่างวันที่ 4-8 กันยายน 2556 ซึ่งทาง “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” ได้ทำหนังสือชี้แจงนายอำเภอวังสะพุง, นายกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง, กำนันตำบลเขาหลวง, ผู้ใหญ่บ้าน 6 หมู่บ้าน, ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเลย, สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง และหัวหน้าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านห้วยผุก ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง แล้วเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2556 ว่าจะจัดงานบริเวณทางแยกดังกล่าวซึ่งเป็นทางแยกขึ้นภูทับฟ้าและภูซำป่าบอน เพราะเป็นรอยต่อที่เชื่อมทั้ง 3 ภู จึงเหมาะสมที่จะจัดงานดังกล่าวที่สุด ซึ่ง “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” จัดมา 4 ปีแล้ว

ต่อมาวันที่ 27 กันยายน 2556 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยนายสราวุธ สารวงษ์ ผู้รับมอบอำนาจ ยื่นฟ้องชาวบ้านวังสะพุงรวม 7 คน ได้แก่ นายสุรพันธุ์ รุจิไชยวัฒน์, นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์, นายสมัย ภักดิ์มี, นายกองลัย ภักมี, นายเตียม ปีนา, นายลำดวน ตองหว้าน และนางสาวดอกไม้ มูลกองศรี ในคดีความอาญาตามคดีหมายเลขดำที่ 4217/2556 ณ ศาลจังหวัดเลย ข้อหาบุกรุก และทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362, 365, 358 และ 83

ชาวบ้านอำเภอวังสะพุงทั้ง 7 คน จำเลยในคดีความอาญาข้อหาบุรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362, 365, 358 และ 83 ที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2556 (ที่มา:เพจเฟซบุ๊กเหมืองแร่เมืองเลย)
ชาวบ้านอำเภอวังสะพุงทั้ง 7 คน จำเลยในคดีความอาญาข้อหาบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362, 365, 358 และ 83 ที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2556 (ที่มา: เพจเฟซบุ๊กเหมืองแร่เมืองเลย)

เนื่องจากเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2556 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน จำเลยเป็นแกนนำพาชาวบ้านประมาณ 200 คน เข้าไปในที่ดินของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เพื่อก่อสร้างกำแพงปิดกั้นทางสัญจรไป-มาของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในการประกอบธุรกิจ ทำให้พนักงานและผู้ติดต่อเข้าไปยังบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ไม่ได้ อีกทั้งการขุดทางสัญจรและก่อสร้างกำแพงนั้นเป็นเหตุทำให้ที่ดินของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้รับความเสียหาย ถูกทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือไร้ประโยชน์ ทั้งนี้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนแล้วเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 แต่พนักงานสอบสวนทำงานล่าช้าจึงนำคดีมาฟ้องศาลเอง

ทั้งนี้ ปัจจุบันเหลือจำเลยเพียง 6 คน เนื่องจากบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ถอนฟ้องนางสาวดอกไม้ มูลกองศรี ออกจากคดี

ต่อมาวันที่ 11 ตุลาคม 2556 กำแพงต้นเหตุของทั้ง 2 คดีข้างต้นถูกทำลายลงหลังจากที่ข้าราชการในองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวงพาตำรวจ 100 นาย มารื้อถอน แต่ในวันเดียวกันนั้นชาวบ้านก็สร้างกำแพงเป็นโครงหลังคาเหล็กขึ้นมาอีกครั้ง จนกลายเป็นสาเหตุที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้องชาวบ้านอีก 2 คดีในทางแพ่งและอาญา

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2556 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยนายสราวุธ สารวงษ์ ผู้รับมอบอำนาจ ยื่นฟ้องคดีความแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ 974/2556 กับชาวบ้านรวม 6 คน ได้แก่ นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์, นางสุ่ม ศรีทอง, นายสมัย ภักดิ์มี, นายกองลัย ภักมี, นายเตียม ปีนา และนางสาวภัทราภรณ์ แก่งจำปา ข้อหาละเมิดและเรียกค่าเสียหาย 70 ล้านบาท

เนื่องจาก “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” มีเจตนาจะปิดเหมืองแร่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยกระทำการต่างๆ ที่ละเมิดกฎหมายเพื่อขัดขวางการทำงานของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด มาตลอด จนกระทั่งวันที่ 11 ตุลาคม 2556 จึงได้ก่อสร้างโครงเหล็กขนาดใหญ่แบบถาวรคร่อมทางสาธารณะสายบ้านนาหนองบง เพื่อปิดขวางทางเข้าที่ทำการของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และปิดเส้นทางเข้าบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ทุกเส้นทาง ทำให้พนักงานของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ไม่สามารถเข้าทำงานได้ ซึ่งพนักงานได้พยายามไปใช้เส้นทางอื่นแล้ว แต่เนื่องจากไม่ใช่เส้นทางสำหรับรถยนต์และต้องผ่านลำธารฝายน้ำล้นซึ่งน้ำไหลเชี่ยวและมีปริมาณน้ำมากจึงอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ขับขี่และผู้โดยสารได้ และแม้จะหลีกเลี่ยงมาใช้เส้นทางดังกล่าวแล้ว “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” ยังตั้งป้อมยามบริเวณปากทางแยกเข้าถนนดังกล่าว โดยมีคนสังเกตการณ์ประมาณ 15 คน ถ้าใครประสงค์จะเข้าบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ก็จะถูกตะโกนด่าทอ ข่มขู่ พร้อมทั้งวางตะปูเรือใบเพื่อไม่ให้รถยนต์ใช้ทางดังกล่าวได้ ทำให้พนักงานหวาดกลัวไม่กล้าเข้าทำงานตามปกติ รวมถึงบุคคลภายนอกที่ติดต่อกับบริษัท ทุ่งคำ จำกัด อยู่เป็นประจำไม่สามารถเข้ามาติดต่อได้ ทำให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ต้องหยุดกิจการโดยปริยาย

การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่จงใจให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนมูลค่ามหาศาล และได้รับประทานบัตรถูกต้องตามกฎหมายและทำเหมืองมาหลายปีแล้วโดยใช้เส้นทางดังกล่าวสัญจรไป-มา แต่เมื่อ “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” มาปิดเส้นทาง บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จึงได้รับความเสียหายประกอบกิจการไม่ได้ จึงคิดค่าเสียหายในอัตราวันละ 10 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2556 จนถึงวันที่ยื่นฟ้องรวม 7 วัน เป็นเงิน 70 ล้านบาท

ชาวบ้านอำเภอวังสะพุงทั้ง 6 คน จำเลยในคดีความแพ่งเรียกค่าเสียหาย 70 ล้านบาทที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2556 (ที่มา:เพจเฟซบุ๊กเหมืองแร่เมืองเลย)
ชาวบ้านอำเภอวังสะพุงทั้ง 6 คน จำเลยในคดีความแพ่งเรียกค่าเสียหาย 70 ล้านบาทที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2556 (ที่มา: เพจเฟซบุ๊กเหมืองแร่เมืองเลย)

ทั้งนี้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ติดตามทวงถามจำเลยทั้ง 6 คน ให้ดำเนินการแก้ไขการปิดกั้นเส้นทางแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จึงทำให้ต้องนำคดีขึ้นศาล โดยมีคำขอท้ายฟ้อง ดังนี้

1. ให้จำเลยทั้ง 6 กับพวกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดร่วมกันรื้อโครงหลังคาเหล็กที่สร้างคร่อมถนนสาธารณะเส้นบ้านนาหนองบงออก และทำให้ถนนอยู่ในสภาพใช้การได้ดีดังเดิม

2. ห้ามจำเลยทั้ง 6 กับพวกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ละเมิดบริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยการสร้างสิ่งก่อสร้างใดๆ บนถนนสาธารณะเส้นบ้านนาหนองบงหรือบนที่ดินของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เพื่อกีดขวางทางสัญจรไป-มาของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด อีกต่อไป หรือกระทำการใดๆ ที่รบกวนการประกอบธุรกิจของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด

3. จำเลยทั้ง 6 ต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัทจำนวน 70 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากเงินต้น 70 ล้านบาท นับตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2556 ไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ

4. จำเลยทั้ง 6 ร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายให้บริษัทวันละ 10 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะรื้อโครงหลังคาเหล็กออกจากถนน และทำถนนให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดีดังเดิม

5. จำเลยทั้ง 6 ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมค่าทนายความแทนบริษัท ทุ่งคำ จำกัด

ในคดีหมายเลขดำที่ 4542/2556 ณ ศาลจังหวัดเลย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยนายสราวุธ สารวงษ์ ผู้รับมอบอำนาจ ยื่นฟ้องชาวบ้านวังสะพุงรวม 7 คน ได้แก่ นายสุรพันธุ์ รุจิไชยวัฒน์, นางสุ่ม ศรีทอง, นางสาวภัทราภรณ์ แก่งจำปา, นายเภ่า พรหมหาราช, นางประนอม นามวงษ์, นายธานิล ภักมี และนางพรทิพย์ หงชัย ในคดีความอาญาข้อหาบุกรุกมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362, 365 และ 83

เนื่องจากเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2556 ทั้งกลางวันและกลางคืน จำเลยทั้ง 7 แบ่งหน้าที่ร่วมกันกับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดประมาณ 100 คน ก่อสร้างโครงหลังคาเหล็กคร่อมถนนสาธารณะสายบ้านนาหนองบงและรุกล้ำที่ดินของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งปิดกั้นขวางทางเข้าออกของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ทำให้พนักงานและผู้มาติดต่อธุรกิจไม่สามารถเข้าบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์และปิดกั้นทางเข้า-ออกของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ทำให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถทำประโยชน์ในกิจการและขนส่งสินค้าได้ทันกำหนดเวลาจนต้องสูญเสียรายได้ และยังทำให้พนักงานเข้าทำงานในบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ไม่ได้ด้วย

ชาวบ้านอำเภอวังสะพุงทั้ง 7 คน จำเลยในคดีความอาญาข้อหาบุรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362, 365 และ 83 ที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 (ที่มา:เพจเฟซบุ๊กเหมืองแร่เมืองเลย)
ชาวบ้านอำเภอวังสะพุงทั้ง 7 คน จำเลยในคดีความอาญาข้อหาบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362, 365 และ 83 ที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 (ที่มา: เพจเฟซบุ๊กเหมืองแร่เมืองเลย)

ทั้ง 4 คดีเลื่อนนัดไต่สวนมูลฟ้องออกไปโดยศาลนัดคดีอาญาแรกในคดีหมายเลขดำที่ 4217/2556 ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 และอีก 3 คดีในวันที่ 20 มกราคม 2557 เนื่องจากกบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ยื่นคำร้องต่อศาลขอไกล่เกลี่ยให้ “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” รื้อกำแพงออกเพื่อที่จะยกฟ้องทั้ง 4 คดี

สำหรับทนายความฝ่ายจำเลยของทั้ง 4 คดี ได้รับความช่วยเหลือจากทีมทนายของ “สำนักงานและที่ปรึกษากฎหมาย ฅนกฎหมาย” ได้แก่ นายวสันต์ พานิช, นายธัชชัย พานิช, นายธนู เอกโชติ, ร.ต.ต.สุรศิษฎ์ เหลืองอรัญนภา และนายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา ซึ่งทีมกฎหมายนี้เคยไปอบรมให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดตั้งแต่ช่วงปี 2549-2550

ด้านนายวสันต์ พานิช ทนายความคดีทั้ง 4 กล่าวว่า คดีทั้ง 4 นี้มีความแตกต่างกับคดีด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่เคยมีมาหรือเป็นอยู่ในขณะนี้ คือ เรื่องมูลค่าของผลประโยชน์จากเหมืองทองคำที่มากกว่าทำให้การต่อสู้คดีมีความยากลำบากมากขึ้น แต่จากความเสียหายและผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริงกับชาวบ้าน เช่น ผลผลิตตกต่ำ แหล่งธรรมชาติปนเปื้อนสารพิษ และมีสารพิษปนเปื้อนในเลือดของชาวบ้าน ทั้งสารหนู ไซยาไนด์ ปรอท ฯลฯ ทั้งนี้ทางจำเลยมีข้อโต้เแย้งกับคำฟ้องที่ชัดเจนทุกประการ ถ้าหากชาวบ้านไม่ยอมไกล่เกลี่ยและเริ่มดำเนินคดีจริง ก็น่าจะสิ้นสุดคดีได้ภายในปี 2557

ทั้งนี้ เรื่องถนนดังกล่าวในความจริงแล้วไม่ใช่ที่ดินของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด อีกทั้งก่อนหน้าที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ยังเคยบอกชาวบ้านว่าจะไม่ใช้ถนนร่วมกับชาวบ้าน เพราะสารเคมีที่ใช้ในเหมืองจะปนเปื้อนในทางสาธารณะ

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ชาวบ้านวังสะพุงรวม 22 คน ได้รับ “หมายเรียกผู้ต้องหา” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ออกโดย ตำรวจภูธรวังสะพุง จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 โดยบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และ อบต.เขาหลวง กล่าวหาว่าผู้ต้องหาทั้ง 22 คน “ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายฯ กระทำการปิดกั้นทางหลวงหรือนำสิ่งใดมาขวางฯ ร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ฯ” อีกด้วย

สรุปคดีความของประชาชนผู้คัดค้านการทำเหมืองทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 83 ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา 358 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 362 ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 365 ถ้าการกระทำความผิดตาม มาตรา 362 มาตรา 363 หรือ มาตรา 364 ได้กระทำ
(1) โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย
(2) โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือ
(3) ในเวลากลางคืน
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ