ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ข้อพิพาท “กรมศุลฯ-แอมเวย์” (4): ผู้แทนการค้ามะกันยื่นหนังสือถึง “กิตติรัตน์” กรณีมติ WCO

ข้อพิพาท “กรมศุลฯ-แอมเวย์” (4): ผู้แทนการค้ามะกันยื่นหนังสือถึง “กิตติรัตน์” กรณีมติ WCO

14 พฤศจิกายน 2013


กรณีข้อพิพาทระหว่างกรมศุลกากรกับบริษัทแอมเวย์ ที่ยังไม่มีข้อสรุปมา 10 ปี เนื่องจากเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรมีความเห็นแตกเป็น 2 ฝั่ง ฝ่ายสำนักสืบสวนและปราบปราม (สสป.) ซึ่งเป็นฝ่ายจับกุมเงินสินบนรางวัลนำจับ โดยยืนยันว่า “กรณีแอมเวย์จ่ายโบนัสให้ตัวแทนจำหน่ายอิสระ (IBO) เป็นส่วนหนึ่งของราคานำเข้า ต้องเสียภาษี” ขณะที่เจ้าหน้าที่สำนักมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร (สมพ.) ยืนยันว่า “เป็นค่าใช้จ่ายทางการตลาดธรรมดา ไม่ต้องนำไปคำนวณภาษีนำเข้า” ข้อกล่าวหานี้จึงยังไม่มีข้อสรุป

ระหว่างที่ข้อพิพาทยังไม่ชี้ขาด เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ถูกนำไปถกเถียงกันในเวทีระหว่างประเทศ โดยช่วงปลายปี 2553 ฝ่ายการเมืองพยายามที่จะยุติปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยนายเกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย สำนักงานผู้แทนการค้าไทยสั่งการให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือเชิญกรมศุลกากรและบริษัทแอมเวย์ (ประเทศไทย) มาประชุมในหัวข้อ“กรณีปัญหาการตีความและประเมินภาษีบริษัทแอมเวย์”ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 เวลา 9.30 น. ณ ห้องประชุม 302 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนแทนการค้าไทย ที่มา:  http://www.posttoday.com/media/content/2013/05/29/6FBACE5151BE4DA6B834DA1008D68739.jpg
นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนแทนการค้าไทย
ที่มา: http://www.posttoday.com

การหารือได้ข้อสรุปว่า หลังจากที่ได้มีการประชุมหารือเกี่ยวกับปัญหาภาษีของบริษัทแอมเวย์มาหลายครั้ง พบว่ายังมีประเด็นที่ต้องการข้อสรุปที่ชัดเจน เช่น การตีความสัญญาที่กระทำขึ้นระหว่างบริษัทแม่กับแอมเวย์ไทยมีความสัมพันธ์กันอย่างไร และควรต้องทำความเข้าใจร่วมกันให้ชัดเจน ในประเด็นข้อความที่ระบุไว้ในสัญญา และยังมีประเด็นที่ต้องหารือว่า แอมเวย์ไทยถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้าหรือไม่ รวมทั้งกฎระเบียบระหว่างประเทศ และกฎหมายในประเทศไทย เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับประเด็นการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่อัพไลน์ (upline) ในต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใสอย่างเต็มที่ โดยให้แอมเวย์และกรมศุลฯ ร่วมกันนำประเด็นที่ยังติดขัด ตั้งคำถามไปยังองค์การศุลกากรโลก (WCO) โดยไม่ต้องระบุว่าเป็นกรณีบริษัทใด

ทั้งนี้ฝ่ายตัวแทนบริษัทแอมเวย์เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะให้กรมศุลฯ ตั้งคำถามไปให้ WCO วินิจฉัย ซึ่งบริษัทขอเวลาในการรวบรวมข้อมูล เพราะบริษัทขายตรงแต่ละแห่งมีลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น ลักษณะของการเป็นเจ้าของบริษัท หรือการจ่ายค่าตอบแทนไปต่างประเทศ เป็นต้น และระหว่างการหารือไปยัง WCO คดีนี้จะถูกระงับเอาไว้ชั่วคราวโดยไม่ถูกส่งไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขณะที่กรมศุลกากรยืนยันว่า “จะปฏิบัติตามความเห็นของ WCO และจะยังไม่ดำเนินการใดจนกว่าจะได้รับความเห็นจาก WCO”

ประธานผู้แทนการค้าไทยกล่าวสรุปว่า สำนักงานผู้แทนการค้าไทยจะทำบันทึกการประชุมในครั้งนี้ และให้ทุกฝ่ายรับรองรายงานการประชุมอย่างเป็นทางการ

หลังจากการประชุมในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 “คณะกรรมการเทคนิคด้านการประเมินราคาศุลกากรของ WCO” วินิจฉัย 3 ประเด็น คือ 1. การจ่ายเงินโบนัส ถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาหรือไม่ 2. เงินโบนัสถือเป็นรายได้ที่ผู้ขายได้รับจากการขาย ตามมาตรา 8 (1) (ง) หรือไม่ และ 3. เงินโบนัส ถือเป็นเงื่อนไขของการขาย ตามภาคผนวก 3 วรรค 7 ของ GATT หรือไม่

ประเด็นคำถามถูกส่งถึง WCO ในช่วงเดือนตุลาคม 2554 โดยที่ประชุมคณะกรรมการเทคนิคฯ มีการพิจารณาเรื่องนี้ 4 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเรื่องได้ถูกส่งเข้าประชุมคณะกรรมการเทคนิคฯ ครั้งที่ 36 จัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของ WCO ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม ในระหว่างวันที่ 15-19 เมษายน 2556

ผลการพิจารณาของ WCO ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ เนื่องจากที่ประชุมมีความเห็นแตกเป็น 3 ฝ่าย คือ กลุ่มแรกประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา แคนาดา บราซิล สหภาพยุโรป และหอการค้านานาชาติ มีความเห็นว่า เงินโบนัส ไม่เป็นส่วนหนึ่งของราคาสินค้านำเข้า

กลุ่มที่ 2 ได้แก่ อุรุกวัย ฟิลิปปินส์ มาลาวี มีความเห็นว่ากรณีดังกล่าวมีความซับซ้อน และเห็นควรต้องสอบถามประเด็นต่างๆ เพิ่มเติม และกลุ่มที่ 3 ประเทศไทย ยืนยันว่าเงินโบนัสเป็นส่วนหนึ่งของราคาสินค้านำเข้า

สุดท้าย ที่ประชุมจึงมีมติให้ “แขวนเรื่องนี้” (conspectus) เอาไว้ในภาคผนวกที่ 3 ตามความเห็นของฝ่ายไทย (แขวนเรื่อง หมายถึง พักเรื่องเอาไว้ก่อนจนกว่าจะมีข้อมูลที่ชัดเจน ถึงจะนำกลับมาให้ที่ประชุมพิจารณาใหม่) ประเด็นที่กรมศุลกากรเขียนมาถาม WCO จึงไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากที่ประชุม

นายไมเคิล บี.จี.โฟรแมน ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา ที่มา : http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/0/01/Michael_Froman_official_portrait.jpg
นายไมเคิล บี.จี. โฟรแมน ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา
ที่มา: http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/0/01/Michael_Froman_official_portrait.jpg

จากกรณีที่ตัวแทนฝ่ายไทยตัดสินใจให้ที่ประชุมคณะกรรมการเทคนิคฯ ของ WCO แขวนเรื่องนี้เอาไว้ ซึ่งแม้ว่าความเห็นของ WCO จะไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในชั้นศาลได้ แต่ใช้เป็นหลักเกณฑ์ให้กรมศุลฯ พิจารณายุติการดำเนินคดีได้

ต่อมานายไมเคิล บี.จี. โฟรแมน ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลนักลงทุนชาวอเมริกันที่ลงทุนในต่างแดน ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2556 นายไมเคิลทำจดหมายถึงสถานฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โดยนางคริสตี เอ. เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ส่งจดหมายถึง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วันที่ 30 กรกฎาคม 2556

หนังสือดังกล่าวระบุว่า บริษัทอเมริกันที่มาประกอบธุรกิจในไทยกำลังเผชิญกับความยุ่งยาก บริษัทอเมริกันที่ว่าคือ แอมเวย์ ได้เข้ามาทำธุรกิจในไทยหลายปีมาแล้ว ก่อให้เกิดการจ้างงานโดยตรง 950 คน และยังมีการว่าจ้างตัวแทนจำหน่ายอิสระ ซึ่งเป็นคนไทยมากกว่า 1,000 คน มีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทย

หนังสือดังกล่าวระบุอีกว่า ในปี 2553 มีความพยายามจะแก้ปัญหาดังกล่าว โดยให้ WCO วินิจฉัย ซึ่งที่ WCO จะมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคสามารถวินิจฉัยประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยผู้ที่เข้าร่วมประชุมในวันนั้นได้ทำความเข้าใจกันแล้วว่าจะยอมรับผลการพิจารณาของ WCO อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นปี 2556 ดูเหมือนว่าที่ประชุม WCO มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าการจ่ายเงินโบนัสไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาศุลกากรซึ่งสอดคล้องกับความเห็นและจุดยืนของแอมเวย์ แต่ผู้แทนของฝ่ายไทยที่เข้าร่วมประชุม WCO ให้ความเห็น ทำให้ผลการพิจารณาของ WCO ครั้งสุดท้ายที่ออกมาไม่เป็นไปตามข้อตกลงของที่ประชุม เราเข้าใจว่าการดำเนินการของศุลกากรไทยในครั้งนี้ไม่ได้คำนึงถึงระเบียบปฏิบัติตามหลักสากล และอาจจะทำให้การทำงานเพื่อหาข้อสรุปของแอมเวย์ขาดความน่าชื่อถือ

พร้อมได้ตั้งข้อสังเกตว่า บทบัญญัติของกฎหมายศุลกากร อาจจะเป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาข้อพิพาทดังกล่าว กรณีการจัดสรรเงินสินบนและรางวัลนำจับ ซึ่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรไทยจะได้รับเงินส่วนแบ่งจากค่าอากรรวมกับปรับเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงมาก ซึ่งเงินสินบนและรางวัลนำจับดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติของสากล และประเทศเศรษฐกิจหลักๆ เขาไม่ทำกัน เพราะมันทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน และเป็นแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดกวดขันผู้ประกอบการ เพื่อหวังที่จะได้รับเงินรางวัล มากกว่าที่จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องอำนวยความสะดวก

“ผมเข้าใจว่าประเทศไทยกำลังจะยกเลิกระบบการจ่ายเงินสินบนรางวัล ก้าวต่อไป พวกเราอยากเห็นการปฏิรูปกรมศุลกากรให้ให้มีความเป็นธรรมและโปร่งใส ผมจะดีใจมากถ้าคุณกิตติรัตน์จะคอยติดตามดูการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้”

ทั้งนี้จดหมายดังกล่าวนายกิตติรัตน์ได้สั่งการไปยังนางเบญจา หลุยเจริญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและส่งต่อไปยังกรมศุลกากร