ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดงบประมาณกองทัพไทย ยุทธศาสตร์ปี 2020 หวั่นพุ่งอีก 2 เท่า

เปิดงบประมาณกองทัพไทย ยุทธศาสตร์ปี 2020 หวั่นพุ่งอีก 2 เท่า

5 กุมภาพันธ์ 2013


งบประมาณกระทรวงกลาโหม 2548 - 2556

หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กระทรวงกลาโหมกลายเป็นกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณที่กระทรวงกลาโหมเคยได้รับที่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ในช่วงก่อนหน้า แต่ภายหลังรัฐประหาร งบประมาณดังกล่าวกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ในเวลาไม่ถึง 3 ปี

ขณะที่หลายฝ่ายมีการตั้งข้อสังเกตถึงการเพิ่มงบประมาณด้านทหารและการป้องกันประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่า อาจเกิดจากความเกรงใจจากการที่ฝ่ายทหารเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในทางการเมือง ซึ่งการเพิ่มขึ้นของงบประมาณด้านทหารในปัจจุบันจะไปกระทบกับงบประมาณที่ใช้ในการพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ เช่น การศึกษาหรือการสาธารณสุข และขัดกับกระแสของโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่มุ่งเน้นการทำสงครามทางการค้ามากกว่าที่จะสะสมอาวุธ

จากข้อมูลของสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (Stockholm International Peace Research Institute – SIPRI) ระบุว่า การใช้จ่ายงบประมาณด้านการทหารทั่วโลกเริ่มมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลกเมื่อปี 2008

โดยในปี 2011 ถือเป็นปีแรกตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา ที่งบทหารรวมทั่วโลกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงน้อยลง โดยเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% จากปีก่อนหน้า และมีมูลค่ารวมกว่า 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 2.5% ของ GDP โลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปที่มีการตัดลดงบทหารลง เช่น กรีซ อิตาลี สเปน และประเทศมหาอำนาจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาก็มีการใช้จ่ายงบทหารต่ำกว่าแผนที่วางไว้ ยกเว้นบางประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ยังคงมีการเพิ่มงบประมาณด้านทหารอยู่ เช่น จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์

แผนปฏิรูปกองทัพ-Modernization plan

สำหรับประเทศไทย อาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากที่มีอยู่เป็นอาวุธที่ใช้มาตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น ซึ่งกำลังจะล้าสมัยและมีต้นทุนในการบำรุงรักษาที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเนื่องจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้กองทัพมีแผนที่จะปรับปรุง-ปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัยขึ้น ด้วยการเสริมเขี้ยวเล็บ สั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยมาแทนที่ของเก่า เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพไว้ถ่วงดุลกับประเทศเพื่อนบ้าน

ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อฝูงบินกริพเพนของกองทัพอากาศจำนวน 12 ลำ ที่มีการติดตั้งอุปกรณ์ไฮเทค มาแทนที่เครื่องบิน F-5 เก่าที่เคยประจำการ และมีการปรับปรุงฝูงบิน F-16 ที่มีอยู่ให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าการปรับปรุงนี้ จะเพิ่มศักยภาพด้านการรบทางอากาศของไทยให้อยู่ได้อีก 20–30 ปี เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ประเทศไทยมีกองทัพอากาศที่มีศักยภาพเท่าเทียมกับของเพื่อนบ้านในภูมิภาค

ส่วนกองทัพเรือก็มีการปรับปรุงระบบเรดาร์ชายฝั่งใหม่ ปรับปรุงกองเรือฟริเกต และมีแผนที่จะซื้อเรือดำน้ำในอนาคต แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายก็ตาม

และกองทัพบกก็ได้ซื้อรถหุ้มเกราะ BTR 3E1 จากยูเครน 96 คัน สั่งซื้อรถถัง OPLOT ประมาณ 100 คัน จากยูเครนเช่นกัน เพื่อแทน M41 ที่มีอายุการใช้งานมานาน และมีการปรับปรุงรถถังเบาสกอร์เปียนที่มีอยู่ให้มีความทันสมัยมากขึ้น

Presentation1

แผน 10 ปี Vision 2020 กับงบประมาณ “ล้านล้าน”

สำหรับประเทศไทย ในปี 2011 กระทรวงกลาโหมไทยได้มีการพัฒนาแผน 10 ปี ที่ชื่อว่า แผนพัฒนาขีดความสามารถกระทรวงกลาโหม ปี 2554-2563 (Modernization Plan : Vision 2020) ที่มีสาระสำคัญคือ

“จากการประมาณการของสำนักงบประมาณกลาโหม บนสมมุติฐานที่จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีจนถึงปีงบประมาณ 2563 กระทรวงกลาโหมจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณคิดเป็นร้อยละ 2 ของGDP”

โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ผู้ที่ผลักดันแผนนี้ เคยให้เหตุผลว่า ประเทศเพื่อนบ้านมีการเพิ่มงบประมาณทางการทหารเมื่อเทียบกับสัดส่วนจีดีพีอย่างต่อเนื่อง หากประเทศไทยยังคงสัดส่วนงบประมาณทางการทหารเมื่อเทียบกับจีดีพีในระดับต่ำ จะไม่สามารถสร้างดุลอำนาจกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเสริมกำลังรบอย่างต่อเนื่องได้

สำหรับร่างแผนพัฒนาขีดความสามารถกระทรวงกลาโหม ปี 2554-2563 ได้กำหนดความต้องการโครงการพัฒนา และจัดหายุทโธปกรณ์หลักของกระทรวงกลาโหม แบ่งเป็นความต้องการระดับสูงสุด 332 โครงการ วงเงิน 1.3 ล้านล้านบาท และความต้องการระดับต่ำสุด 301 โครงการ วงเงิน 0.77 ล้านล้านบาท

โดยความต้องการตามแผนนี้ เฉพาะการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์นั้นมีโครงการของกองทัพบกวงเงิน 4.97 แสนล้านบาท กองทัพอากาศ วงเงิน 4.4 แสนล้านบาท และกองทัพเรือ 3.25 แสนล้านบาท

ในอนาคต หากกองทัพไทยได้รับการจัดสรรงบประมาณในสัดส่วน 2% ของ GDP ต่อเนื่องจนถึงปี 2020 ตามแผนที่วางไว้ อาจทำให้งบประมาณของกระทรวงกลาโหมในปี 2020 เพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบเป็น 2 เท่าของงบประมาณที่กระทรวงกลาโหมในปัจจุบันได้รับ ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และคิดเป็นเงินงบประมาณตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสิ้นสุดแผนประมาณ 2 ล้านล้านบาท

ปัจจุบัน งบประมาณที่กระทรวงกลาโหมได้รับล่าสุด คือปี 2014 อยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่ 7.5 % ของงบประมาณภาครัฐ และเป็น 1.6% ของ GDP โดยงบประมาณส่วนใหญ่ถูกใช้ในการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ แต่หากนับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารในปี 2006 จะพบว่างบประมาณด้านการทหารของไทยจนถึงปัจจุบันยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้วิกฤติเศรษฐกิจจะส่งผลให้งบประมาณในปี 2010 ถูกตัดลดลงไป 11% เหลือ 1.5 แสนล้านบาท จากที่เสนอมา 1.7 แสนล้านบาท

แต่เมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ก็พบว่ากระทรวงกลาโหมยังคงได้งบประมาณเพิ่มขึ้นจนกลายเป็น 1.8 แสนล้านบาทในปัจจุบัน

ตารางแสดง งบประมาณทหาร (% ต่องบประมาณของรัฐบาล) – Military expenditure (% of central government expenditure)

งบประมาณทหาร (% ต่องบประมาณของรัฐบาล) - ที่มา SIPRI
งบประมาณทหาร (% ต่องบประมาณของรัฐบาล) – ที่มา: SIPRI

งบประมาณทหารไทย

จากการจัดอันดับของสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์มระบุว่า ในปี 2011 ทั่วโลกมีการใช้จ่ายงบประมาณด้านทหารรวมมูลค่ากว่า 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 2.5% ของ GDP โลก ประเทศที่มีงบประมาณด้านทหารมากที่สุดในโลกคือสหรัฐอเมริกา มีมูลค่ากว่า 0.71 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 40% ของทั้งโลก รองลงมาคือจีน 0.14 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และรัสเซีย 0.07 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ ส่วนประเทศไทย สถาบันวิจัยระบุว่ามีงบประมาณด้านทหารในปี 2011 ที่ 5,114 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โดยประเทศที่มีการใช้จ่ายงบทหารเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วน GDP ในปี 2011 มากที่สุดคือประเทศซาอุดีอาระเบีย มีงบทหารคิดเป็นสัดส่วน 8.4% ของ GDP รองลงมาคืออิสราเอล 6.8 % ของ GDP และโอมาน 6% ของ GDP ตามลำดับ ส่วนประเทศไทยมีงบประมาณด้านทหารคิดเป็นสัดส่วน 1.6% ของ GDP น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค คือ สิงคโปร์ 3.6% ของ GDP เวียดนาม 2.2% ของ GDP

ขณะที่การใช้งบทหารเมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่องบประมาณทั้งหมดของรัฐบาลในปี 2010 ปรากฏว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีการใช้จ่ายงบทหารมากที่สุด คิดเป็น 28% ของงบประมาณทั้งหมด รองลงมาคือ สาธารณรัฐคีร์กีซ 19.9% และโคลอมเบีย 19.8% สำหรับประเทศไทยในปี 2010 ซึ่งเป็นปีที่กระทรวงกลาโหมถูกตัดงบลง 11% เหลือ 1.5 แสนล้านบาท งบประมาณส่วนนี้มีสัดส่วนคิดเป็น 8.2% ของงบประมาณทั้งหมด เป็นอันดับที่ 29 ของโลก โดยในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่มากกว่าไทย มีมาเลเซีย 8.3% และสิงคโปร์ที่สูงที่สุด ส่วนที่ต่ำกว่ามีอินโดนีเซีย 4.6% และประเทศเพื่อนบ้านที่เหลือยังไม่มีข้อมูลที่ครบถ้วน

แรงกดดันของอาเซียนในการปฏิรูปกองทัพ

สาเหตุสำคัญที่ทำให้หลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนรวมถึงไทยมีการใช้จ่ายด้านงบประมาณทหารมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีนักวิเคราะห์ด้านการทหารหลายฝ่ายมองว่า การเติบโตด้านการทหารของจีนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

จากเศรษฐกิจที่เติบโต และการเพิ่มแสนยานุภาพทางทหารของจีน ส่งผลให้ชาติอาเซียนต่างเพิ่มการใช้จ่ายด้านการทหารมากขึ้นเพื่อถ่วงดุลอำนาจ และเป็นการปกป้องเส้นทางขนส่ง ท่าเรือ และเขตแดนทางทะเล ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญด้านเศรษฐกิจของประเทศ

และจากกรณีพิพาทเรื่องเขตแดนทางทะเลระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ทำให้หลายประเทศในอาเซียนต่างเพิ่มแสนยานุภาพทางการทหาร โดยเฉพาะแสนยานุภาพทางทะเล ด้านการเฝ้าระวังชายฝั่งและทางทะเล และเรือตรวจการณ์

จากข้อมูลของสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม พบว่า เศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่บูม ส่งผลให้การใช้จ่ายด้านกลาโหมเพิ่มขึ้น 42% ระหว่างปี 2545-2554 โดยเฉพาะเรือรบ เรือตรวจการณ์ ระบบเรดาร์ เครื่องบินโจมตี รวมถึงเรือดำน้ำ และขีปนาวุธโจมตีเรือ ซึ่งเป็นการสกัดการเข้าถึงน่านน้ำ โดยมีสิงคโปร์เป็นผู้นำเข้ายุทโธปกรณ์รายใหญ่อันดับ 5 ของโลก ขณะที่อินโดนีเซียและเวียดนามก็ลงทุนซื้อเรือดำน้ำเช่นกัน

ประเทศไทยในฐานะประเทศที่อยู่ในภูมิภาคนี้ จึงได้รับแรงกดดันให้มีการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย และมีศักยภาพมากขึ้น เพื่อให้ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน

ตารางแสดง งบประมาณทหาร (% ต่อ GDP) – Military expenditure (% of GDP)

งบประมาณทหาร (% ต่อ GDP) - ที่มา SIPRI
งบประมาณทหาร (% ต่อ GDP) – ที่มา: SIPRI

Data from World Bank

Data from World Bank