ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาอุตฯ ทำไม “วิญญาณถึงไม่ยอมทิ้งร่าง”

ศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาอุตฯ ทำไม “วิญญาณถึงไม่ยอมทิ้งร่าง”

12 ธันวาคม 2012


ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2555 ในแวดวงธุรกิจดูเหมือนไม่มีข่าวอะไรฮอตเท่ากับข่าวความขัดแย้งระหว่าง 2 ขั้วอำนาจในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) องค์กรที่มีความน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และต่างชาติ และเป็นหนึ่งในองค์กรที่ได้รับเกียรติให้เข้าไปนั่งในคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) อันประกอบไปด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และ สอท. มีบทบาทสำคัญในการเจรจาต่อรอง และเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต่อรัฐบาล

ตลอด 45 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีปรากฏการณ์ด่างพร้อยเกิดขึ้น

แต่เมื่อ”สันติ วิลาสศักดานนท์” อดีตประธาน สอท. 2 สมัย ผู้ลงจากตำแหน่งอย่างสง่างาม จู่ๆ ก็ยอมลงมา “ชก” เปิดศึกชิงเก้าอี้ประธาน สอท.

บทบาทของ สอท. ที่มีมาตั้งแต่สมัย นายทวี บุณยเกตุอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ของประเทศไทย เป็นประธาน สอท. คนแรก หรือ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เคยดำรงตำแหน่งนี้มาก่อน ดังนั้นตำแหน่งประธานสอท.จึงมีบทบาทสูงในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

หากให้บันทึกเหตุการณ์ครั้งนี้คงเป็นบันทึกที่ สอท.ไม่อยากเขียนถึงนัก

มีคำถามมากมายว่า ทำไม”สันติ วิลาสศักดานนท์” อดีตประธาน สอท. ถึงได้ลงมาชกเอง ทั้งๆ ที่ควรเป็นกรรมการห้ามมวยมากกว่า

นายสันติ วิลาสศักดานนท์  ที่มาภาพ : http://www.komchadluek.net
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ที่มาภาพ : http://www.komchadluek.net

เพราะ”สันติ” เป็นผู้ให้การสนับสนุน “พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล” นั่งเก้าอี้ประธาน สอท. ตั้งแต่แรก

ข่าววงในระบุว่า เหตุเพราะ “วิญญาณไม่ยอมทิ้งร่าง” แม้”พยุงศักดิ์” เป็นตัวจริงเสียงจริงในฐานะประธาน สอท. แต่ลึกๆ ก็ยังมี”แรงเงา”ที่อยู่เบื้องหลัง

ว่ากันว่า “อำนาจและหัวโชน” มันหอมหวานเสมอ

ว่ากันว่าในยุค “สันติ” เป็นประธาน สอท. มีข่าวปรากฏในหน้าสื่อจนได้ชื่อว่า “สันติรายวัน”

สอท. เป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีกลุ่มอุตสาหกรรมเข้ามาเป็นสมาชิกทั้งหมด 42 กลุ่ม และกลุ่มอุตสาหกรรมจังหวัดอีก 70 กลุ่ม ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมการผลิต โรงงาน คิดเป็นสัดส่วน 70% ของจีดีพี สอท. จึงมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศค่อนข้างมาก และเป็นหนึ่งในองค์กรเอกชนที่เข้าไปนั่งอยู่ใน กกร. ทำหน้าที่เจรจาเจรจาต่อรองกับรัฐบาล พร้อมเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางด้านการค้า การลงทุน อาทิ เรื่องของภาษี กฎหมาย กฎระเบียบ และขอรับสิทธิประโยชน์ความช่วยเหลือจากภาครัฐในเรื่องต่างๆ

สอท. จึงเปรียบเสมือนประตู หรือช่องทางในการเข้าถึงภาครัฐได้ง่ายที่สุด

ดังนั้น จึงหนีไม่พ้นที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเครือปูนซีเมนต์ไทย, ซีพี, ปตท, สหพัฒน์, ไทยเบฟเวอเรจ จึงมีตัวแทนเข้ามานั่งใน สอท.

ด้วยบทบาทของ สอท. ใครที่อยู่ในตำแหน่งจึงมีโอกาสในการเข้าถึง “สายสัมพันธ์” ระดับประเทศ หรือแม้แต่ระดับจังหวัด ก็มีโอกาสได้ร่วมโต๊ะกับผู้ราชการจังหวัดและข้าราชการระดับสูง

แหล่งข่าวจาก สอท. ให้ข้อมูลว่า หลังจากที่นายสันติสนับสนุนนายพยุงศักดิ์จนได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธาน สอท. นายพยุงศักดิ์แต่งตั้งให้นายสันติเป็นประธานที่ปรึกษาประธาน สอท. และมีห้องทำงานติดกับห้องนายพยุงศักดิ์ ทุกๆ สัปดาห์นายสันติมาทำงานที่ สอท. บ่อยครั้งมากพอๆ กับประธาน สอท. ขณะเดียวกันนายสันติแสดงบทบาทเหมือนสมัยที่ยังเป็นประธานสอท.อย่างเช่น การให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน หรือบางครั้งมีการสั่งการเจ้าหน้าที่โดยตรง ไม่ผ่านนายพยุงศักดิ์ ซึ่งช่วงแรกๆ นายพยุงศักดิ์ก็ยังพอยอมรับได้

แต่ 2 ปีผ่านไป สถานการณ์ยังคงเหมือนเดิม นายพยุงศักดิ์จึงต้องขอความเป็น “ไท”

การดำรงตำแหน่งประธาน สอท. เป็นสมัยที่ 2 ของนายพยุงศักดิ์ จึงไม่แต่งตั้งนายสันติเป็นประธานที่ปรึกษาประธาน สอท. รอยปริร้าวก็เริ่มแผ่ขยาย

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสอท.
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสอท.

เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล ตามแนวทางปฏิบัติเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใหม่ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงบอร์ดรัฐวิสาหกิจ วันที่ 1 ตุลาคม 2554 นายสันติยื่นใบลาออกจากกรรมการธนาคารกรุงไทย ซึ่งถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นดีที่มีการจ่าย ค่าตอบแทนค่อนข้างสูง

ต่อมา วันที่ 14 ตุลาคม 2554 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่งตั้งนายพยุงศักดิ์เข้านั่งในตำแหน่งกรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย ข่าววงในสอท.กล่าวว่าอาจจะทำให้นายสันติเข้าใจผิด คิดว่านอกจากนายพยุงศักดิ์จะแข็งข้อ ปีกกล้าขาแข็ง แล้ว ยังไปเบียดนายสันติจนตกจากเก้าอี้กรรมการแบงก์กรุงไทย

นอกจากนี้ ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 นายพยุงศักดิ์ร่วมคณะของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงงานที่ถูกน้ำท่วม ทั้งที่อยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมและนอกเขตนิคมอุตสาหกรรม และได้ร่วมกับรัฐบาลจัดมาตรการมาเยียวยาผู้ประกอบการภายหลังน้ำลด

จากนั้น นายพยุงศักดิ์ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลให้ไปดำรงตำแหน่งสำคัญๆ อีกหลายชุด อาทิ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตของประเทศ (กยอ.) หรือประธานคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติวงเงิน 50,000 ล้านบาท ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมจังหวัดที่เคยให้การสนับสนุนนายพยุงศักดิ์มองว่า นอกจากนายพยุงศักดิ์ตีตัวออกห่าง ยังไม่ออกมาคัดค้านนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท จึงได้รับเป็นการปูนบำเหน็จจากรัฐบาลให้นั่งในตำแหน่งสำคัญๆ

การขึ้นค่าแรง 300 บาทจึงเป็นอีกปมสำคัญหนึ่งของความขัดแย้ง ด้านหนึ่งเป็นกลุ่มสภาอุตสาหกรรมจังหวัดที่ไม่เห็นด้วยและมองว่าสอท.เดินตามนโยบายรัฐบาลมากเกินไป อีกด้านเป็นสอท. หากสอท.ไม่เอาด้วยกับนโยบายรัฐบาลในการขึ้นค่าแรง 300 บาท ภาพลักษณ์ของสอท.คงไม่สวยแน่ คงถูกหล่าวหาว่าไม่ให้ความร่วมมือ ด้วยเหตุนี้จึงมีการเจรจาต่อรองว่าเมื่อไม่สามารถคัดง้างนโยบายรัฐบาลได้ ทางที่ดีที่สุดคือหาทางออกร่วมกันอย่างไรให้กระทบน้อยที่สุด แต่การหารือไม่สามารถตกลงกันได้

เมื่อความขัดแย้งใกล้ถึงจุดแตกหัก ปมร้อนอีกปมก็เกิดขึ้นเมื่อสื่อมวลชนนำเสนอข่าว “โครงการฝึกอบรมชะลอการเลิกจ้างวงเงิน 60 ล้านบาทฉาว เร่งอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน-ป.ป.ช.-ส.อ.ท. ตรวจสอบ” โดยมีผู้ประกอบการโรงสีข้าวได้รับเงินจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรีไม่ครบ และมีผู้บริหารของ สอท. และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดที่เข้าไปเกี่ยวข้อง นายพยุงศักดิ์จึงแต่งตั้งนายสุชาติ วิสุวรรณ ที่ปรึกษารองประธานอาวุโส ในฐานะที่ดูแลสายงานต่างจังหวัด มาเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ได้ข้อยุติภายใน 30 วัน

นายสุชาติ วิสุวรรณ ถือเป็นผู้มีอิทธิพลไม่แพ้ประธาน สอท. เพราะคุมสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 70 แห่งทั่วประเทศ ในอดีต นายสุชาติเคยสนับสนุนให้นายสันติและนายพยุงศักดิ์ชนะการเลือกตั้งจนได้เป็นประธาน สอท.

เวลาผ่านมา 3 เดือน ปรากฏว่าผลการสอบข้อเท็จจริงไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด นายพยุงศักดิ์จึงปลดนายสุชาติ วิสุวรรณ ออกจากประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และแต่งตั้งนายบวร วงศ์อุดมสิน รองประธาน สอท. เข้าไปนั่งเป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแทน

สาเหตุที่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ นายพยุงศักดิ์กล่าวว่า “โครงการนี้ไม่เคยผ่านการพิจารณาจาก สอท. มาก่อน อาจจะเป็นการติดต่อโดยตรงระหว่างสภาอุตสาหกรรมจังหวัดกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ทำให้ สอท. ไม่ทราบว่ามีโครงการลักษณะนี้ บังเอิญมีผู้ประกอบการที่ได้เงินไม่ครบ เป็นเจ้าทุกข์ร้องเรียนไปยังสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส, ธรรมาภิบาลจังหวัด และสำนักงาน ป.ป.ช. จึงกลายเป็นเรื่องแดงขึ้นมา ผมจึงจำเป็นต้องตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง”

ตามกฎหมาย สอท. จะมีสถานภาพเป็นนิติบุคคลเพียงแห่งเดียว สภาอุตสาหกรรมจังหวัดไม่มีสถานภาพเป็นนิติบุคคล ดังนั้น ในการทำนิติกรรมสัญญาใดๆ กับส่วนราชการต่างๆ ต้องทำผ่าน สอท. เพียงแห่งดียวเท่านั้น จากนั้น สอท. ถึงจะส่งเรื่องต่อไปให้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดรับไปดำเนินการ

โครงการยกระดับฝีมือแรงงานลูกจ้างฯ มีทั้งหมด 750 โครงการ เฉพาะกรณีทุจริตในจังหวัดลพบุรีมี 150 โครงการ ผู้บริหารใน สอท. หลายท่านจึงตั้งข้อสังเกตว่า นอกจากที่จังหวัดลพบุรีแล้ว ยังมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นในจังหวัดอื่นๆ ที่ถูกน้ำท่วมอีกหรือไม่ นายพยุงศักดิ์จึงมอบหมายให้เป็นหน้าที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ขยายผลการสอบสวน

วันที่ 7 ธันวาคม 2555 กลุ่มอุตสาหกรรม 40 กลุ่มจับมือสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 10 แห่งสนับสนุนนายพยุงศักดิ์  ชาติสุทธิผล เป็นประธานสอท.ต่อไป

วันที่ 7 ธันวาคม 2555 กลุ่มอุตสาหกรรม 40 กลุ่ม จับมือสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 10 แห่ง สนับสนุนนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ให้เป็นประธาน สอท.

จากนั้นก็มีขบวนการล้มนายพยุงศักดิ์ออกมาเคลื่อนไหว โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ สอท. กลุ่มหนึ่งเดินสายล็อบบี้กลุ่มอุตสาหกรรมจังหวัด 70 แห่ง เดินทางมาประชุมคณะกรรมการสอท. เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 โดยเปิดให้กรรมการ สอท. ลงคะแนนเสียงปลดนายพยุงศักดิ์ออกจากตำแหน่ง พร้อมกับแต่งตั้งนายสันติขึ้นมาเป็นประธาน สอท. โดยใช้อาคารเอ็มดีทาวเวอร์ ชั้น 20 ถนนบางนาตราด เป็นที่ทำการ นายสันติเข้ารับตำแหน่งประธาน สอท. ได้ไม่นาน วันที่ 6 ธันวาคม 2555 ก็ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งประธาน สอท. พร้อมกับเรียกร้องให้นายพยุงศักดิ์ลาออกจากตำแหน่งเพื่อเปิดให้มีการเลือกตั้งกันใหม่

วันที่ 7 ธันวาคม 2555 นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน สอท. พร้อมกับกลุ่มอุตสาหกรรม 40 กลุ่ม และกลุ่มอุตสาหกรรมจังหวัด 10 จังหวัด เปิดแถลงข่าวยืนยันว่าตนเองยังดำรงตำแหน่งประธาน สอท. อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และจะนั่งในตำแหน่งนี้ไปจนครบวาระเดือนมีนาคม 2557 เพราะตาม พ.ร.บ.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 2530 การปลดตนออกจากประธาน สอท. ได้ต้องเปิดประชุมสามัญหรือวิสามัญ และให้สมาชิกลงคะแนนเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 และถ้าหากพบว่าตนการกระทำความผิดขั้นร้ายแรง สามารถเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมส่งให้ที่ประชุม ครม. ลงมติถอดถอน ดังนั้น กรณีที่คณะกรรมการ สอท. ลงมติปลดตนออกจากตำแหน่งจึงไม่มีผลบังคับใช้ ตนยังคงอยู่ในตำแหน่งประธาน สอท. ต่อไป

เกมการต่อสู้ยังไม่จบ คงเป็นเรื่องยาวที่ติดตามกันต่อไป