ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มหาวิทยาลัยนอกระบบ(1): จุดเริ่มต้นสู่ปัจจุบัน?

มหาวิทยาลัยนอกระบบ(1): จุดเริ่มต้นสู่ปัจจุบัน?

19 ตุลาคม 2012


มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ หรือชื่อที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า “มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” หมายความว่า มหาวิทยาลัยจะมีอิสระ และความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ทั้งเรื่องการจัดการทางการเงิน การงบประมาณ และการบริหารงานบุคคล มีกฎระเบียบที่กำหนดโดยสถาบัน เพื่อใช้บริหารจัดการภายใน ซึ่งต่างกับ “มหาวิทยาลัยในสังกัดของรัฐ” ตรงที่ยังมีสภาพเป็นส่วนราชการ บริหารจัดการสถาบันโดยอ้างอิงกฎระเบียบของทางราชการ ระเบียบของทางราชการ

แนวคิดเรื่องมหาวิทยาลัยนอกระบบมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2507 และเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2514 แต่เรื่องก็ชะงักลงเพราะมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และคณะปฏิวัติยังไม่พร้อม

ต่อมาในปี พ.ศ.2517 แนวคิดดังกล่าวก็ถูกรื้อฟื้นอีกครั้งเมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการวางพื้นฐานเพื่อการปฏิรูปการศึกษา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

จนกระทั่ง พ.ศ. 2530 ทบวงมหาวิทยาลัยริเริ่มโครงการจัดทำแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี (พ.ศ. 2533–2547) ขึ้น ซึ่ง 1 ใน 6 ข้อเสนอระบุว่า “รัฐบาลพึงให้การสนับสนุนการปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญากับรัฐ โดยพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยที่มีอยู่แล้วให้มีความเป็นอิสระ คล่องตัว มีประสิทธิภาพและสามารถบรรลุความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยปรับเปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่เป็นส่วนราชการ ส่วนสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่จะจัดตั้งใหม่ ให้มีฐานะและรูปแบบเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตั้งแต่แรกตั้ง”

จากแผนดังกล่าว ประเทศไทยจึงเกิดมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแต่แรกตั้งอยู่ 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2533, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2534 และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2541

นอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนสภาพจากมหาวิทยาลัยในสังกัดของรัฐ มาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐอีก 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2540, มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2540 และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2541

การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบในครั้งนี้ เกิดกระแสต่อต้านจากผู้ไม่เห็นด้วยในหลายรูปแบบ ทั้งการชุมนุมประท้วง การยื่นหนังสือคัดค้านต่อผู้นำระดับประเทศ การแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย โดยมีประเด็นที่เป็นข้อกังวล เช่น หลักเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณจากรัฐยังไม่ชัดเจน การสรรหาผู้บริหาร การบริหารงานบุคคล เป็นต้น

หลังจากปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบถูกนำเสนออย่างจริงและถูกผลักดันอย่างมากในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อตอบสนองเงื่อนไขการกู้เงินจากธนาคารเพื่อพัฒนาเอเชีย (ADB) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2541 ว่า

1. มหาวิทยาลัยจะได้รับมอบอำนาจการบริหารงบประมาณในส่วนงบดำเนินการที่มิใช่เงินเดือน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2542 เป็นต้นไป โดยสร้างระบบการติดตามผลการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในเรื่องความสามารถในการตรวจสอบได้ และความโปร่งใสในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย

2. มหาวิทยาลัยของรัฐทุกแห่งจะได้รับการพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยอิสระ (Autonomous University) หรือมหาวิทยาลัยในกํากับรัฐบาลภายในปี 2545 โดยที่ภายในเดือนธันวาคม 2541 จะมีมหาวิทยาลัยของรัฐอย่างน้อย 1 แห่ง ปรับสภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

เพื่อผลักภาระงบประมาณด้านการศึกษาของประเทศไปให้กับผู้เรียนหรือผู้ปกครองแทน ในขณะที่ประเทศประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

ต่อมาทบวงมหาวิทยาลัยได้ผลักดันเรื่องนี้มาตลอด โดยจัดทำหนังสือสมุดปกขาวเรื่อง “หลักการและแนวปฏิบัติมหาวิทยาลัยในกํากับรัฐบาล” เมื่อเดือนกันยายน 2541 เพื่อสนับสนุนและทำความเข้าใจกับประชาคมภายในมหาวิทยาลัยต่างๆ และให้แต่ละมหาวิทยาลัยเตรียมความพร้อมสู่การออกนอกระบบในอนาคต

ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา มีมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบเพิ่มอีก 7 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม2550, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2550, มหาวิทยาลัยบูรพา เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2551, มหาวิทยาลัยทักษิณ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2551 และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2551

นอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยพะเยาและสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ที่ออกนอกระบบตั้งแต่ก่อตั้ง คือ วันที่ 16 กรกฎาคม 2553 และ 11 พฤษภาคม 2555 ตามลำดับ เพิ่มเติม

รวมแล้ว ปัจจุบันประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐหรือออกนอกระบบทั้งหมด 15 แห่ง ยังเหลือมหาวิทยาลัยในสังกัดของรัฐอีก 65 แห่ง

จากแนวคิดนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ที่มุ่งยกระดับและพัฒนาการศึกษาไทยให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยแบ่งเบาภาระงบประมาณของรัฐบาลนั้น หากดูจากงบประมาณที่รัฐบาลอุดหนุนให้มหาวิทยาลัยที่แปรสภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐภายหลังนั้นก็ไม่ได้ลดลงมากแต่อย่างใด ในบางปีกลับอุดหนุนเงินงบประมาณมากขึ้นด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดคือจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

ตัวอย่างเช่น กลุ่มมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบพร้อมๆ กัน คือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยทักษิณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลครั้งแรกหลังจากออกนอกระบบในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 เช่นเดียวกับ พบว่า

เมื่อเปรียบเทียบงบประมาณที่มหาวิทยาลัยได้รับจากรัฐบาลในปี 2551 และ 2552 แล้ว มีเพียงมหาวิทยาลัยบูรพาและมหาวิทยาลัยทักษิณเท่านั้น ที่ได้รับงบประมาณน้อยลงจากเดิมประมาณ 3.6% และ 5.8% ตามลำดับ แต่ก็ได้รับงบประมาณเพิ่มมากขึ้นในปีต่อๆ มา เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแห่งอื่นๆ

ในส่วนของมหาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีที่ออกนอกระบบตั้งแต่ปี 2541 นั้น พบว่า งบประมาณที่ได้รับตั้งแต่ปี 2542-2544 ลงลดเรื่อยๆ และค่อยๆ เพิ่มขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่างบประมาณที่ได้รับน้อยลงนั้นอาจเป็นเพราะอยู่ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจของไทย ไม่ใช่เพราะการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยก็เป็นได้

(อ่านต่อตอนต่อไป)

ป้ายคำ :