ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มหาวิทยาลัยนอกระบบ การศึกษาที่คนจนเข้าไม่ถึง

มหาวิทยาลัยนอกระบบ การศึกษาที่คนจนเข้าไม่ถึง

21 กันยายน 2012


นศ.มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ที่มาภาพ : http://a7.sphotos.ak.fbcdn.net
นศ.มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ที่มาภาพ : http://a7.sphotos.ak.fbcdn.net

กลุ่มแนวร่วมนิสิต-นักศึกษาคัดค้านมหาวิทยาลัยนอกระบบ ชี้เป็นการผลักภาระให้ผู้เรียน ทั้งค่าเทอม ค่าครองชีพในมหาวิทยาลัย ที่แพงขึ้น 2-3 เท่าตัว และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและทรัพยากรทางการศึกษาที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้เรียนที่รับเพิ่มขึ้น สะท้อนมหาวิทยาลัยของรัฐที่คนจนเข้าไม่ถึง

นายปกรณ์ อารีกุล คณะทำงานข้อมูลกลุ่มแนวร่วมนิสิต-นักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เปิดเผยว่า ก่อนที่จะก่อตั้งกลุ่มแนวร่วมฯ ตนและเพื่อนๆ นักกิจกรรมในมหาวิทยาลัยบูรพาที่ไม่เห็นด้วยกับมหาวิทยาลัยนอกระบบ ได้พิจารณาถึงข้อดี-ข้อเสีย จนในที่สุดพบว่า การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยบูรพาออกระเบียบการเก็บค่าเทอมแบบเหมาจ่าย ซึ่งมีอัตราที่แพงกว่าการเก็บค่าเทอมแบบปกติ โดยจะทยอยขึ้นค่าเทอมทีละคณะ

“บางคณะ เช่น คณะเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยบูรพา มีอัตราค่าเทอมที่แพงกว่าคณะเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในประเทศทั้งที่ออกนอกระบบแล้วและยังไม่ได้ออกนอกระบบ จึงเกิดการเคลื่อนไหวคัดค้าน และให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทบทวนในช่วงปลายปี 2553 ซึ่งผู้บริหารก็กลับไปทบทวนแต่ไม่มีการแก้ไขอะไร” นายปกรณ์กล่าว

ทั้งนี้ การขึ้นค่าเทอมของมหาวิทยาลัยนอกระบบนั้นเป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัยโดยการเสนอของผู้บริหาร คำนวณจากต้นทุนทางการศึกษาของแต่ละคณะหักจากงบประมาณที่มี แล้วผลักภาระงบประมาณที่ขาดไปให้นิสิต-นักศึกษาจ่าย ดังนั้น บางคณะจึงมีค่าเทอมสูง เช่น คณะเภสัชฯ 75,000 บาท/เทอม คณะเวชศาสตร์ 30,000 บาท/เทอม ส่วนคณะศิลปศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ค่าเทอมจะอยู่ที่ประมาณ 14,000 บาท

“ในขณะที่ค่าเทอมในระบบเดิมอยู่ที่หน่วยกิตละ 100 บาท อย่างผมเรียนเทอมละ 21 หน่วยกิต ค่าหน่วยกิตรวมค่าบำรุงมหาวิทยาลัยแล้วอยู่ที่ไม่เกิน 7,000 บาท/เทอม เมื่อถามว่าทำไมถึงแพงกว่า ได้คำตอบว่ามีต้นทุนของค่าใช้จ่าย”

นายปกรณ์กล่าวต่อว่า ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยบูรพาไม่เอาค่าเทอมเหมาจ่ายขึ้น และเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลกระทบจากการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เนื่องจากมหาวิทยาลัยออกนอกระบบสามารถเปิดคณะได้เองโดยไม่ต้องรอคำสั่งจากรัฐ แต่อยู่ที่นโยบายของผู้บริหารมหาวิทยาลัย

แต่ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยในสังกัดรัฐหรือยังไม่ออกนอกระบบ การเปิดคณะด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ หรือสาธารณสุขต่างๆ เช่น คณะเภสัชศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ ต้องเป็นไปตามนโยบายของรัฐ เช่น กระทรวงสาธารณสุขประเมินว่า บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขกำลังจะขาดแคลนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า รัฐก็จะมีนโยบายให้มหาวิทยาลัยที่เหมาะสมมาเปิดคณะดังกล่าวเพิ่ม

ดังนั้น เมื่อเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยเอง จึงไม่ได้รับงบประมาณจากรัฐในการสร้างตึก จัดซื้ออุปกรณ์ จัดจ้างอาจารย์ผู้สอนในช่วงแรก ซึ่งมหาวิทยาลัยจะต้องแบกรับทั้งหมด และเมื่อมหาวิทยาลัยไม่มีงบประมาณ ก็ผลักภาระไปให้ผู้เรียน

“นี่เป็นคำพูดของผู้บริหารมหาวิทยาลัยบูรพาเอง ว่าเขาจำเป็นต้องผลักภาระ”

“เมื่อปีที่แล้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาจะออกนอกระบบบ้าง ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในช่วงร่าง พ.ร.บ. เพื่อนๆ นักศึกษาจากสวนสุนันทาก็มาคุยกับเราว่าการออกนอกระบบมีข้อดีข้อเสียอย่างไร หลังจากได้ข้อมูลไปแล้ว ในที่สุดเขาก็อยากเคลื่อนไหวคัดค้าน ทำให้เมื่อ 30 สิงหาคม 2554 นักศึกษากว่า 2,000 คน เดินขบวนภายในมหาวิทยาลัยเพื่อยื่นหนังสือแก่อธิการบดี และเดินขบวนไปรัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่นายกฯ ติดภารกิจ จึงยื่นให้ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นแทน” นายปกรณ์กล่าว

ด้วยผลจากการเคลื่อนไหวของนักศึกษาสวนสุนันทา เมื่อ 30 สิงหาคม 2554 ทำให้เกิดการรวมตัวกันของนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับมหาวิทยาลัยนอกระบบทั่วประเทศ เพื่อคัดค้านในเรื่องดังกล่าว

ต่อมา ในวันที่ 9-10 ธันวาคม 2554 กลุ่มนิสิต-นักศึกษาก็ไปเคลื่อนไหวคัดค้านที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เพื่อยื่นหนังสือให้อธิการบดี รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย ต่อกรณีที่ยืนยันการออกนอกระบบทั้งๆ ที่มีนักศึกษาบางกลุ่มคัดค้าน ประชาคมก็ไม่ได้มีส่วนร่วม อีกทั้งทำประชาพิจารณ์เมื่อไรก็ไม่มีใครรู้

หลังจากการเคลื่อนไหวที่ มข. แล้ว กลุ่มแนวร่วมนิสิต-นักศึกษาคัดค้านมหาวิทยาลัยนอกระบบก็ก่อตั้งขึ้นแบบหลวมๆ จนกระทั่งตั้งกลุ่มอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2555

ที่มาภาพ : http://www.uddkk.com
ที่มาภาพ : http://www.uddkk.com

สำหรับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ออกนอกระบบ ต่างก็มีร่าง พ.ร.บ. เสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะออกนอกระบบได้ตลอดเวลา อยู่ที่ว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะหยิบขึ้นมาเมื่อไร

ส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตและมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏนำร่อง ซึ่งอยากจะออกนอกระบบนั้น ต้องร่าง พ.ร.บ. ใหม่ทั้งหมด แล้วตัดคำว่าราชภัฏออกเพื่อไม่ให้มีผลทางกฎหมายไปโยงกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอื่นๆ ต่างจากมหาวิทยาลัยทั่วไปที่มี พ.ร.บ. เป็นของตัวเอง

นายปกรณ์กล่าวว่า ในมุมของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) หรือนักการศึกษาที่เห็นด้วยกับมหาวิทยาลัยนอกระบบ ก็จะพูดถึงข้อดีมากมาย ซึ่งข้อดีเรื่องความเป็นอิสระทางวิชาการหรือความคล่องตัวในการบริหารนั้นเรายอมรับ แต่สิ่งที่ไม่เห็นด้วยคือ

1. ต้องกำหนดเพดานค่าเทอม หมายถึงว่า การขึ้นค่าเทอมต้องไม่สูงเกินไป ไม่ควรผลักภาระให้นักศึกษา

2. อำนาจการบริหารของมหาวิทยาลัยจะต้องมีการตรวจสอบจากประชาคม มีการถ่วงดุลมากขึ้น แต่พบว่าการออกนอกระบบของทุกมหาวิทยาลัยจะทำให้สภามหาวิทยาลัยและฝ่ายบริหารมีอำนาจมากขึ้น

ในแง่ของหลักการ มหาวิทยาลัยของรัฐควรจะเป็นมหาวิทยาลัยของประชาชนที่รองรับคนทุกชนชั้น ทุกฐานะ เข้าถึงการศึกษาได้ แต่การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นการแปรรูปมหาวิทยาลัยไปเป็นกึ่งเอกชนหรือเอกชนก็ว่าได้ ซึ่งแสดงว่ามหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐกำลังจะสูญเสียวาทกรรมของการเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐไป

ทั้งนี้ พ.ร.บ. ของมหาวิทยาลัยจะเขียนไว้ว่า มหาวิทยาลัยมีสถานะเป็นนิติบุคคล และไม่อยู่ภายใต้ของบริหารของกระทรวงศึกษาธิการ และอธิการบดีคือผู้แทนกิจการทั้งปวงของมหาวิทยาลัย, อธิการบดีคือผู้บังคับบัญชาสูงสุดของมหาวิทยาลัย, กิจการของมหาลัยอยู่ภายใต้การควบคุมบริหารและการกำหนดทิศทางนโยบายของสภามหาวิทยาลัย เป็นต้น

การต่อสู้กับมหาวิทยาลัยนอกระบบของนิสิต-นักศึกษาตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา แต่ยังไม่มีพลังเพียงพอ ข้อเสนอในการคัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบของเราไม่ใช่การหยุดแบบหัวชนฝา แต่เป็นการออกนอกระบบอย่างมีประสิทธิภาพคือ

1. การจัดทำร่าง พรบ. เพื่อนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ต้องทำร่วมกันระหว่างนักศึกษา ประชาชน และประชาคมในมหาวิทยาลัย

2. ใน พรบ. ต้องกำหนดรายละเอียดต่างๆ เช่น สภามหาวิทยาลัยต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาคมในมหาวิทยาลัย เพราะปัจจุบันตำแหน่งนายกสภาหรือกรรมการแต่ละมหาวิทยาลัยล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ไขว้กันอยู่ไม่กี่คน เช่น น.พ.ประเวศ วะสี เป็นกรรมการอยู่ 6 มหาวิทยาลัย อ.เกษม สุวรรณกุล เป็นกรรมการอยู่ 4 มหาวิทยาลัย หรือ อ.วิจิตร ศรีสอ้าน แน่นอนว่าเขาเป็นบุคคลมีความสามารถ แต่ว่าแต่ละมหาวิทยาลัยมีรากเหง้า มีประวัติศาสตร์ต่างกัน จึงควรให้ประชาคมของมหาวิทยาลัยเป็นคนกำหนดเอง เพราะสภามหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและพัฒนามหาวิทยาลัย

3. จะต้องกำหนดเพดานค่าเทอมในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยจัดสรรงบฯ อุดหนุนไปที่ต้นทุนในการผลิตและพัฒนาบัณฑิตมากขึ้น ในสัดส่วนรัฐต่อนักศึกษา 60:40 ทุกหลักสูตร สำหรับนักศึกษาภาคปกติในมหาวิทยาลัยของรัฐ เพื่อให้ผู้เรียนจ่ายค่าเรียนถูกแต่มีคุณภาพ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยที่ยังไม่ออกนอกระบบ

ที่มาภาพ : http://www.uddkk.com
ที่มาภาพ : http://www.uddkk.com
“เป้าหมายของการศึกษาทุกระดับคือ การเข้าถึงเสรีภาพและอิสระทางวิชาการ แต่ความเป็นอิสระหรือความคล่องตัวที่พูดถึงกันมากในการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้น มันไม่คุ้มค่าและเทียบกันไม่ได้ที่จะผลักภาระไปให้ประชาชนแบกรับ ทั้งค่าเทอมที่สูงขึ้น และการขึ้นค่าหอพัก หรือค่าเช่าร้านต่างๆ ที่สุดท้ายแล้วคนที่จ่ายคือนักศึกษา/ผู้ปกครอง”

นายปกรณ์กล่าวว่า วิธีการให้งบประมาณของมหาวิทยาลัยนอกระบบที่เปลี่ยนไป คือ 1. ไม่ให้รายหัว 2. ให้ตามแผนงานโครงการของมหาวิทยาลัย และ 3. แม้จำนวนเงินจะเพิ่มขึ้นมาก แต่จำนวนนักศึกษาก็เพิ่มขึ้นมากกว่าทุกปี

สาเหตุที่จำนวนนักศึกษาเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากมหาวิทยาลัยสามารถรับนักศึกษาเพิ่มในภาคพิเศษ/สมทบได้ไม่จำกัด ซึ่งเป็นส่วนที่ทำเงิน เพราะค่าเทอมที่แพงกว่าภาคปกติถึง 2-3 เท่า บางแห่ง นศ. เพิ่มขึ้นปีละเกือบหมื่นคน แต่พื้นที่มหาวิทยาลัย จำนวนห้องและตึกเรียนยังเท่าเดิม

นอกจากนี้ ตารางเรียนจากเดิมที่แบ่งเป็น 3 ช่วงก็ต้องปรับเป็น 4 ช่วง คือ เริ่มเรียนตั้งแต่ 8.00-11.00 น., 11.00-14.00 น. คร่อมเวลาเที่ยงไปด้วย ซึ่งปกติจะต้องพักกลางวัน 14.00-17.00น. และ 17.00-20.00 น. แน่นตลอดทั้งวัน หากโชคร้ายอีก บางคนก็ต้องเรียน 3 วิชาต่อวัน สาเหตุที่ตารางเรียนเป็นเช่นนี้ก็เพราะไม่สามารถเอาผู้เรียนเป็นตัวตั้งได้ ต้องเอาความว่างของห้องเรียนเป็นตัวตั้ง

“กระบวนการเหล่านี้มันทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นตรงไหน ห้องสมุดเท่าเดิม หนังสือเท่าเดิม เวลานักศึกษาจะยืมก็ไม่พอ สาธารณูปโภคพื้นฐานก็เท่าเดิมทั้งห้องน้ำ สนามกีฬา ที่จอดรถ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องสร้างหากได้งบเท่าเดิมแล้วจะเอาเงินมาจากไหน” นายปกรณ์กล่าว

หมายเหตุ: อ่านเพิ่มเติม

ป้ายคำ :