ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สัตว์รู้ล่วงหน้าก่อนเกิดแผ่นดินไหวจริงหรือ?

สัตว์รู้ล่วงหน้าก่อนเกิดแผ่นดินไหวจริงหรือ?

9 กรกฎาคม 2012


ตัวลีเมอร์ - ภาพจาก Getty Images
ตัวลีเมอร์ – ภาพจาก Getty Images

จากหลักฐานอ้างอิงโบราณชิ้นเก่าแก่ที่สุด ที่มีการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อว่า สัตว์สามารถพยากรณ์ หรือรู้ล่วงหน้าก่อนเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้ มีการค้นพบเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในประเทศกรีซ บันทึกโดยนักประวัติศาสตร์ชาวโรมัน ระบุว่า 373 ปีก่อนคริสตกาล ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ทำให้เมือง ฮีริค (Helike) ซึ่งเป็นเมืองโบราณของกรีซล่มสลาย ในช่วง 5 วันก่อนเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว มีผู้สังเกตุเห็นสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนู งู สัตว์ขนาดเล็ก และแมลงต่างๆ แตกตื่นและพยายามหนีออกจากรังไปสู่ที่ปลอดภัย

สอดคล้องกับความเชื่อของภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก ที่มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ระบุว่า มีการค้นพบพฤติกรรมที่ผิดปกติของสัตว์ต่างๆ ทั้งปลา นก สัตว์เลื้อยคลาน และแมลงต่างๆ ล่วงหน้าเป็นวินาที จนกระทั่งเป็นสัปดาห์ ก่อนเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว นำไปสู่ความเชื่อว่า สัตว์สามารถพยากรณ์ หรือรู้ล่วงหน้าก่อนเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้จริง

และไม่เพียงแต่คำบอกเล่าจากโลกยุคโบราณเท่านั้น ในโลกยุคปัจจุบัน ยังคงมีเหตุการณ์ที่คล้ายกันเกิดขึ้นเกิดขึ้นสม่ำเสมอ โดยเหตุการณ์ที่สัตว์แสดงพฤติกรรมแปลกประหลาดก่อนเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ล่าสุด ที่มีการพูดถึงกันในแวดวงวิทยาศาตร์ช่วงที่ผ่านมาคือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2011

วันที่ 23 สิงหาคม 2011 ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 5.8 จุดศูนย์กลางอยู่ที่รัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนไปทั่วฝั่งตะวันออกของประเทศ ไกลถึงกรุงวอชิงตันดีซีที่อยู่ติดกัน โดยก่อนหน้าจะเกิดแรงสั่นสะเทือนที่มนุษย์สามารถรู้สึกได้ มีการรายงานว่าสัตว์ที่สวนสัตว์แห่งชาติสมิธโซเนียน ที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตันดีซี มีพฤติกรรมที่แปลกประหลาด

5–10 วินาทีก่อนหน้าที่จะเกิดแผ่นดินไหว ลิงในสวนสัตว์ได้ทิ้งอาหารกลางวันที่กำลังกินอยู่ ปืนขึ้นสู่ที่สูง ลิงกอริลลา พยายามอุ้มลูกปีนขึ้นต้นไม้ไปสู่ที่ปลอดภัย ขณะที่สัตว์อื่นๆ เช่น ตัวลีเมอร์ มีการส่งเสียงเป็นสัญญาณเตือนเพื่อนในฝูงล่วงหน้านาน 15 นาทีก่อนเกิดแผ่นดินไหว ผู้ดูแลสวนสัตว์พบว่าช้างไม่ยอมออกมากินอาหารกลางวัน และมีนกฟลามิงโกรีบจัดกลุ่มรวมตัวกันอย่างผิดสังเกตในช่วงก่อนเกิดแผ่นดินไหว

และไม่ใช่เฉพาะในประเทศตะวันตกเท่านั้นที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ ประเทศฝั่งตะวันออกอย่างประเทศไทย มีการพบพฤติกรรมสัตว์ที่แปลกประหลาดก่อนเกิดแผ่นดินไหวเช่นกัน ในวันที่ 26 ธันวาคม 2004 วันที่มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวบริเวณเกาะสุมาตรา และเกิดสึนามิขนาดใหญ่พัดเข้าสู่ชายฝั่งทางภาคใต้ของไทย

ที่ปางช้างบนเกาะภูเก็ต มีการบอกเล่าจากควาญช้างว่า ช่วงเช้าก่อนหน้าที่สึนามิจะพัดเข้าสู่ชายฝั่ง ช่วงเวลาประมาณ 05.00–06.00 น. มีควาญช้างได้ยินเสียงช้าง 2 เชือกส่งเสียงร้องอย่างไม่มีสาเหตุโดยไม่มีใครไปทำร้าย จนถึงเวลาเกือบ 10.00 น. ช้าง 2 เชือกดังกล่าวก็มีพฤติกรรมที่ผิดปกติ ดูกระวนกระวาย และพยายามวิ่งหนีขึ้นไปอยู่บนภูเขา ซึ่งเป็นเวลาก่อนหน้าที่จะมีสึนามิพัดเข้าสู่ชายฝั่งเพียง 10 นาที เท่านั้น

[youtube http://www.youtube.com/watch?v=1MFzcl-kZHo&w=420&h=315]

ทางวิทยาศาสตร์ มองเรื่องการรับรู้ล่วงหน้าของสัตว์ก่อนเกิดแผ่นดินไหวช่วงไม่กี่นาที หรือไม่กี่วินาทีก่อนเกิดแผ่นดินไหว กับการรับรู้ล่วงหน้าเป็นวัน หรือเป็นสัปดาห์ว่าเป็นเรื่องที่แตกต่างกัน

ทฤษฎีที่มีการยอมรับเกี่ยวกับการแสดงพฤติกรรมที่ผิดปกติของสัตว์ในช่วงเวลาไม่กี่นาที หรือไม่กี่วินาทีก่อนเกิดเหตุ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวมองว่า เป็นเรื่องประสาทสัมผัสของสัตว์ที่ไวกว่ามนุษย์ ในการรับรู้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงบนโลก ขณะที่มนุษย์จะรับรู้การเกิดแผ่นดินไหวได้ก็ต่อเมื่อมีการสั่นสะเทือน แต่สัตว์สามารถรับรู้ได้ก่อนหน้าจากการเปลี่ยนแปลงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า สัตว์จึงตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีการต่างๆ

โดยองค์กรสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Geological Survey) มีคำอธิบายในเรื่องนี้ว่า พฤติกรรมที่ผิดปกติของสัตว์ในช่วงเวลาก่อนเกิดแผ่นดินไหว สืบเนื่องมาจากกลไกการเกิดแผ่นดินไหว ที่มีคลื่นความไหวสะเทือนกระจายออกมาจากจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหว โดยคลื่นดังกล่าวมี 2 ประเภท คือ คลื่นปฐมภูมิ (primary waves – P waves) และคลื่นทุติยภูมิ (secondary waves – S waves)

คำอธิบายคือ สัตว์สามารถรับรู้คลื่น P waves ได้ก่อนล่วงหน้าที่คลื่น S waves จะตามมา ซึ่งเกิดจากสัญชาตญาณของสัตว์ที่วิวัฒนาการมาจากสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดจากผู้ล่า เพื่อรักษาเผ่าพันธุ์ของตัวเองไว้ โดยการรับรู้ดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงไม่กี่นาทีก่อนเกิดแผ่นดินไหว ในขณะที่การรับรู้ล่วงหน้าเป็นวัน หรือเป็นสัปดาห์ ขณะนี้นักวิทยาศาตร์ยังไม่สามารถหาคำอธิบายที่ชัดเจนได้

ในปี 2009 มีการค้นพบพฤติกรรมของสัตว์ที่ใกล้เคียงพอที่จะเรียกได้ว่า มีโอกาสเป็นสัตว์ที่สามารถพยากรณ์แผ่นดินไหวได้ล่วงหน้านานที่สุดคือ คางคก ซึ่งเป็นการค้นพบโดยบังเอิญจากกลุ่มนักวิจัยของ Open University ประเทศอังกฤษ ที่กำลังศึกษาเรื่องการผสมพันธุ์ของคางคกตามปกติ ที่บริเวณตอนกลางของประเทศอิตาลี

โดยนักวิจัยต้องแปลกใจเมื่อพบว่า กลุ่มคางคกที่กำลังทำการศึกษา โดยเฉพาะคางคกตัวผู้ ได้อพยพหนีออกจากพื้นที่ผสมพันธุ์เป็นจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเป็นพฤติกรรมสัตว์ที่แปลกประหลาด เนื่องจากปกติ คางคกตัวผู้จะอยู่รอในพื้นที่จนกว่าการวางไข่เสร็จสิ้น

ภายหลังการอพยพของคางคก 5 วันต่อมา ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่เมืองลากวีลา (L’Aquila) ซึ่งอยู่ไกลออกไปจากจุดที่ทำการวิจัยเรื่องคางคก 74 กิโลเมตร ดร.ราเชล แกรนท์ นักชีววิทยา ผู้ทำการวิจัย จึงคาดว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญของการอพยพออกจากเขตผสมพันธุ์เพื่อเอาตัวรอด โดย 5 วันก่อนการเกิดแผ่นดินไหว จำนวนคางคกตัวผู้ในพื่นที่ลดลงถึง 96% และลดลงจนไม่เหลือในพื้นที่เลยในช่วง 3 วันก่อนหน้าแผ่นดินไหว ทำให้การค้นพบดังกล่าว กลายเป็นงานวิจัยสำคัญเรื่องพฤติกรรมสัตว์ก่อนเหตุการณ์แผ่นดินไหวชิ้นแรกๆ ของโลก

ดร.ราเชล แกรนท์ เชื่อว่า คางคกสามารถรับรู้ได้ถึงสัญญาณก่อนเกิดแผ่นดินไหว จากก๊าซหรืออนุภาคต่างๆ ที่มีการปลดปล่อยออกมาก่อนเกิดแผ่นดินไหว โดยคางคกรับรู้ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เปรียบเสมือนสัญญาณเตือนล่วงหน้าก่อนเกิดแผ่นดินไหว ทำให้เกิดการอพยพดังกล่าว

คางคก - ภาพจาก bbc
คางคก – ภาพจาก bbc

แต่ยังคงมีนักวิทยาศาสตร์เป็นจำนวนมาก ที่ยังไม่เชื่อว่าสัตว์สามารถรับรู้ล่วงหน้าก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหวได้จริง เนื่องจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของสัตว์ มีที่มาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเพราะหิว ต้องการปกป้องอาณาเขต หรือแสดงออกเพื่อแสดงความต้องการผสมพันธุ์ ทำให้การทดลองที่มีการใช้ปัจจัยควบคุมกับสัตว์จึงเป็นเรื่องยาก

ในขณะที่การรับรู้ของคน ยังมีคำอธิบายทางจิตวิทยามาเกี่ยวข้องว่า การจดจำพฤติกรรมที่ผิดปกติของสัตว์ เป็นผลทางจิตวิทยาที่คนจะเลือกจดจำพฤติกรรมของสัตว์ที่เปลี่ยนแปลงไปเฉพาะช่วงก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเท่านั้น ถ้าหากไม่มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น คนก็จะลืมพฤติกรรมของสัตว์เหล่านั้นไป

ทำให้ปัจจุบัน ความเชื่อว่าสัตว์สามารถรู้ล่วงหน้าก่อนเกิดแผ่นดินไหวได้หลายวันหรือหลายสัปดาห์ ยังคงเป็นที่สงสัยและถกเถียงกันในวงการวิทยาศาสตร์ ขณะที่หลายประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น กำลังทำการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ เพราะเชื่อว่าการนำสัญชาติญาณของสัตว์มาเป็นเครื่องมือเตือนภัยก่อนเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว จะเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ในการช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ในอนาคตข้างหน้า

แต่อย่างไรก็ตาม การจะสรุปว่าสัตว์สามารถรู้ล่วงหน้าได้เป็นเวลานานก่อนเกิดแผ่นดินไหว ยังคงต้องอาศัยการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่มากขึ้น เพื่อหารูปแบบ ของพฤติกรรมสัตว์ที่เปลี่ยนแปลงไปก่อนเกิดแผ่นดินไหว แล้วนำสิ่งเร้าที่ค้นพบ มาทดลองในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้แน่ใจว่าในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติที่หลากหลาย พฤติกรรมสัตว์ที่เปลี่ยนแปลงไป มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่เป็นจุดตั้งต้นของเหตุการณ์แผ่นดินไหวจริง

ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ยังคงต้องใช้เวลาอีกนาน เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของโลกก่อนเกิดแผ่นดินไหว เพื่อนำสิ่งที่ค้นพบเหล่านี้มาเปรียบเทียบ มายืนยันถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของสัตว์ องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าสัตว์สามารถรู้ล่วงหน้าก่อนเกิดแผ่นดินไหวได้จริง