ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “รู้ สร้าง สื่อ” กระบวนการผลิตสื่อสร้างสรรค์สไตล์ “รู้ สู้! Flood” เคล็ดลับของการสื่อสารคือไม่มีเคล็ดลับ

“รู้ สร้าง สื่อ” กระบวนการผลิตสื่อสร้างสรรค์สไตล์ “รู้ สู้! Flood” เคล็ดลับของการสื่อสารคือไม่มีเคล็ดลับ

4 มิถุนายน 2012


เวิร์คชอป

รู้ สู้! Flood เป็นกลุ่มอาสาสมัครที่เกิดขึ้นเฉพาะกิจ เพื่อผลิตสื่อสร้างสรรค์ในรูปแบบอินโฟกราฟฟิก (Info Graphics) ในการอธิบายเหตุการณ์น้ำท่วม และวิธีรับมืออย่างมีสติ จากเหตุการณ์มหาอุทกภัยปลายปี 2554 ที่ผ่านมา

ในวันนั้น นอกจากปัญหาน้ำท่วมจะสร้างความเดือดร้อนให้ผู้คนเป็นวงกว้างแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ภาวะข้อมูลข่าวสารที่ท่วมท้น คอยซ้ำเติมให้ผู้คนตื่นตระหนก เกิดความโกลาหลวุ่นวาย มีสื่อที่นำเสนอข่าวจากเหตุการณ์น้ำท่วมเป็นจำนวนมาก แต่มีปัญหาไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี

ในภาวะที่การสื่อสารมีปัญหา สิ่งที่รู้ สู้! Flood ทำก็คือ การออกมากระตุกสังคมให้หันกลับมาคิดว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการรับมือน้ำท่วมคือ “สติ” พร้อมยื่นความช่วยเหลือ ด้วยการนำข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่มากมายมหาศาลในตอนนั้นมาจัดระเบียบ มาย่อย ให้ผู้ที่กำลังประสบปัญหารู้ว่าควรรับมือกับเหตุการณ์เหล่านี้อย่างไร

ความสำเร็จของ รู้ สู้! Flood ในวันนั้น ถือเป็นปรากฎการณ์ใหม่ในวงการสื่อสารมวลชนบ้านเรา ที่กลุ่มคนตัวเล็กๆ ออกมาสร้างสรรค์สื่อใหม่ผ่านโซเชียลมีเดีย แต่กลับมีความหมายต่อผู้คนเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางภาวะการสื่อสารที่ล้มเหลวของคนตัวใหญ่ มีคนตั้งคำถามว่า รู้ สู้! Flood มีเคล็ดลับอะไร จึงสามารถตอบโจทย์คนในสังคมได้อย่างถูกจุด เหมือนมานั่งอยู่ในใจของผู้กำลังประสบอุทกภัย

เพื่อตอบคำถาม กิจกรรม รู้ สร้าง สื่อ จึงเกิดขึ้นมาในวันที่ 2 มิถุนายน 2555 โดยมี เกรียงไกร วชิรธรรมพร, ธวัชชัย แสงธรรมชัย และวรรธนะ รุจิโรจน์สกุล ตัวแทนของกลุ่มรู้ สู้! Flood ออกมาแบ่งปันประสบการณ์ และแนวคิดในการทำงาน

สิ่งหนึ่งที่ทีมงานรู้ สู้! Flood ย้ำแล้ว ย้ำอีก ตลอดการเวิร์คชอปในวันนี้คือ การสื่อสารไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เคล็ดลับ คือการไม่มีเคล็ดลับ สิ่งที่ทีมงานนำมาแบ่งปันในวันนี้ จึงเป็นเพียงบทเรียนจากความสำเร็จ และความผิดพลาดของทีมงาน ตลอดเหตุการณ์มหาอุทกภัยที่ผ่านมา สรุปได้เป็นกระบวนการง่ายๆ 3 ขั้นตอนคือ ตีโจทย์, ทำอย่างไร? และวางแผนงาน

ตีโจทย์

“เป็นกระบวนการวิเคราะห์ปัจจุบันและเป้าหมาย เป็นการเข้าใจตัวเอง เข้าใจปัญหาอย่างถูกจุดก่อนเริ่มต้น เพื่อรู้ความต้องการของการสื่อสารที่จะทำ และไม่หลงทาง”

จากสถาณการณ์ในขณะนั้น ปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญคือ ภาวะที่ผู้คนตื่นตระหนกกับข่าวสารเรื่องน้ำท่วม เป้าหมายของรู้ สู้! Flood จึงเป็นการทำอย่างไรให้ผู้คนลดความตื่นตระหนก และรับมือกับภัยพิบัติได้

“สิ่งหนึ่งที่รู้ สู้! Flood เชื่อคือ ความรู้สามารถจัดการความตื่นตระหนกได้ แต่ปัญหา ณ ตอนนั้น สังคมยังขาดสื่อที่เป็นกลาง และไม่มีการนำเสนอข่าวสารอย่างคัดสรร กลุ่มเป้าหมายในตอนนั้นจึงมุ่งไปที่ประชาชนที่ยังไม่ประสบภัย และยังคงสามารถรับสื่อต่างๆ ได้ แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไร ให้สิ่งที่เราต้องการบอกสามารถไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ทำอย่างไร?

“สิ่งที่รู้ สู้! Flood ทำในตอนนั้น จึงเป็นการคิด สร้างสรรค์ คัดกรองเนื้อหาให้ได้ใจความสำคัญที่ต้องการจะสื่ออย่างชัดเจน โดนใจผู้รับสาร ผ่านรูปแบบที่เหมาะสมกับเนื้อหา และตรงกับพฤติกรรมการรับสื่อของกลุ่มเป้าหมาย”

ทำไมการสื่อสารแบบรู้ สู้! Flood ถึงโดนใจ และเข้าไปอยู่ในใจของใครหลายคนในครั้งแรกที่ได้เห็น ว่านี่แหละคือสิ่งที่เขาอยากรู้ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความบังเอิญ หรือโชคช่วย แต่เป็นผลมาจากการทำงานหนัก การใช้เวลาและหาข้อมูลอย่างจริงจัง

“ในขณะที่น้ำกำลังมา สิ่งที่ผู้คนอยากรู้ไม่ใช่น้ำจะมีขนาดเท่าไร กี่ลูกบาศก์เมตร สูงกว่าระดับน้ำทะเลมากแค่ไหน แต่เป็นเพียงคำถามง่ายๆ ว่าน้ำจะท่วมบ้านเขาหรือไม่ จะมาเมื่อไหร่ และจะอยู่นานแค่ไหน แต่การจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีข้อมูลพื้นฐาน”

สิ่งที่รู้ สู้! Flood ทำ คือการระดมความเห็นของทีมงาน ผ่านการตั้งคำถามด้วยใจที่เปิดกว้าง กลายมาเป็นโจทย์สำคัญ 5 ข้อ ที่รู้ สู้! Flood ตั้งใจจะตอบ และกลายมาเป็นหมุดหมายสำคัญในการทำงานคือ 1. ทำไมต้องสนใจน้ำท่วมปีนี้ 2. เราจะดูแลตนเองได้อย่างไร 3. เราจะมีบทบาทต่อสังคมอย่างไร 4. ผลกระทบที่ตามมาหลังน้ำท่วม 5. จะทำอย่างไรให้อยู่กับน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่สำคัญคือ ต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมายที่เรากำลังจะสื่อ ต้องมีการคิดแทนผู้ฟัง เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมมีคนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง และแต่ละคนก็มีพื้นฐาน มีความรู้ที่ไม่เท่ากัน การจะให้ความรู้เพื่อเรียกคืนสติกลับมาจำเป็นต้องเริ่มจากส่วนที่ง่ายที่สุด ส่วนที่เป็นพื้นฐานที่สุด คิดกันถึงขนาดว่าถ้าแม่ของเราเป็นคนไม่มีความรู้เรื่องน้ำท่วมเลย แต่อยากให้แม่เข้าใจเพื่อที่จะตระหนักและรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ คิดว่าแม่เราควรจะรู้อะไรบ้าง ไม่ใช่เอาตัวเองเป็นบรรทัดฐาน คิดว่าตัวเองรู้แล้วคนอื่นจะต้องรู้เหมือนกับตัวเอง นี่จึงเป็นที่มาของรู้ สู้! Flood ในตอนแรกคือ “รู้จักน้ำท่วมให้มากขึ้น”

จากโจทย์สำคัญ 5 ข้อ เมื่อต้องสรุปให้เหลือประโยคเดียว ให้ง่ายต่อการสื่อสาร จึงกลายมาเป็นใจความสำคัญที่สุด ที่ต้องการบอกกับประชาชนในตอนนั้นคือ “รับมือภัยพิบัติด้วยสติ”

แต่ในตอนที่น้ำกำลังจะเข้ากรุงเทพฯ ประชาชนกำลังประสบภาวะข้อมูลข่าวสารที่ล้นหลากเช่นเดียวกัน มีคนเป็นร้อยเป็นพัน แชร์ข้อความ แชร์รูป หรือส่งข่าวลือโดยขาดสติยั้งคิด จึงนำมาสู่รูปแบบการตอบโจทย์อย่างสร้างสรรค์

“ทีมงานทุกคนตกลงกันว่าจะให้ความรู้อย่างเป็นกลาง เน้นข้อเท็จจริงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ปราศจากการแสดงความคิดเห็น ไม่มีการแนะนำให้ใครต้องอพยพ เพราะเข้าใจถึงข้อจำกัด ที่แต่ละคนมีศักยภาพต่างกัน การเสนอข้อมูลจึงเป็นไปเพื่อให้คนเอาตัวรอด มากกว่าจะทำให้คนดูยิ่งตกใจหรือยิ่งเป็นทุกข์ มีการกำหนดจุดยืนอย่างชัดเจนว่า จะไม่ทำให้ข้อมูลที่มีอยู่ในสังคมเพิ่มมากขึ้น และจะไม่ขยายความตื่นตูมให้เป็นไปมากกว่านี้”

แต่ด้วยภาวะน้ำท่วม ที่ทำให้ทีมงานหลายคนเปลี่ยนสถานะกลายเป็นผู้ประสบภัย การเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบาก การออกไปถ่ายทำนอกสถานที่จึงแทบเป็นไปไม่ได้ในตอนนั้น และด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ การรวมตัวกันในที่ใดที่หนึ่ง และใช้ทักษะที่หลายคนถนัดคือการทำอินโฟกราฟฟิก ผ่านรูปแบบของสื่อออนไลน์ จึงเป็นทางออกที่ดีในราคาถูกที่สุด และเป็นช่องทางที่เหมาะสม ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย

และไม่ใช่แค่ผลิตสื่อแล้วปล่อยให้ไหลไปตามกระแสบนโลกอินเทอร์เนตที่มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว จึงต้องมีการควบคุมทิศทาง ว่าจะสื่ออย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ทีมงานจึงได้วางบุคลิกของรู้ สู้! Flood ถ้าเปรียบเป็นคน ก็ต้องเป็นคนที่พูดน้อย แต่เมื่อพูดมาแล้วต้องหนักแน่น และน่าเชื่อถือ

วางแผนงาน

“การวางแผนงานเป็นการลงรายละเอียดให้ชัด เพื่อดำเนินการให้เกิดชิ้นงานการสื่อสารอย่างไม่ติดขัด เป็นไปตามไอเดียที่วางไว้”

ในกระบวนการทำงาน รู้ สู้! Flood เริ่มต้นจากเนื้อหาก่อน หลังจากที่รู้จุดประสงค์ของการทำงานแล้ว ทีมงานก็คุยกันว่ามีเนื้อหาอะไรที่จะต้องรู้หรือจะต้องทำในตอนนี้ เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ ไม่ใช่ดูแค่จะเล่าอะไร แต่ต้องดูว่าในตอนนั้นคนที่จะฟังเป็นอย่างไรด้วย จากนั้น จึงทำการเก็บข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และนำข้อมูลทั้งหมดมาจัดลำดับ ร้อยเรียงเป็นเรื่องราว

มีคนถามว่ารู้ สู้! Flood มีขั้นตอนการเขียนสคริปต์อย่างไร เกรียงไกร วชิรธรรมพร ผู้เขียนสคริปต์เล่าว่า สิ่งที่เขาให้ความสำคัญคือ การเข้าใจกระบวนการคิด วิธีผลิตงานสื่อสารทั้งหมด โดยไม่ข้ามขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งในการทำงานไป ตั้งแต่การตีโจทย์ การวางเนื้อหาและรูปแบบ ไปจนถึงการวางแผนลงรายละเอียดของงาน ถ้าข้ามส่วนใดส่วนหนึ่งไปการทำงานอาจไม่เป็นไปอย่างที่คิด

อย่างที่บอกในตอนแรกคือ รู้ สู้! Flood มีคำถามสำคัญที่ต้องการจะตอบ 5 ข้อ จึงกลายมาเป็นที่มาของอินโฟกราฟฟิก ทั้ง 10 ตอน แม้ไม่ได้มีการวางไว้แต่แรกว่าจะต้องทำให้ได้ 10 ตอน แต่ในการคิดผลิตสื่อ เมื่อทบทวนโจทย์ เมื่อจัดการข้อมูลแล้วพบว่า เมื่อสามารถตอบคำถามทั้ง 5 ข้อได้อย่างครบถ้วน ก็ถือว่างานชิ้นนี้เสร็จสมบูรณ์

แต่ในระหว่างทาง ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา มีบางเรื่องที่ทีมงานคิดว่าจะทำแต่ก็ไม่ได้ทำ ตอนทำอินโฟกราฟฟิกไปถึงตอนที่ 5 ทีมงานคุยกันว่าอยากทำเรื่องเกี่ยวกับนวัตกรรม สอนให้คนเอาของใช้ในบ้านมาประยุกต์ เล่นประเด็นสัญชาตญาณคนสร้างนวัตกรรม

ทุกคนอยากทำเรื่องนี้มาก แต่หลังจากไปทบทวนโจทย์ที่ตั้งขึ้นก็พบว่า สิ่งที่อยากเสนอ คนดูอาจไม่อยากรู้ และไม่แน่ใจว่านวัตกรรมที่เสนอไปจะสามารถนำไปใช้ได้จริง ทีมงานจึงตัดสินใจเอาตอนนี้ออกทั้งที่เขียนบทไปเสร็จแล้ว เป็นปัญหาของภัยเฉพาะหน้า ที่เราไม่ได้วางแผนสื่อตั้งแต่แรก

“และอีกข้อผิดพลาดหนึ่งที่ทุกคนคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่คือ ในตอนสุดท้ายที่ทำ ตอน “รู้ สู้! ทุกสิ่ง” เราตีโจทย์ว่าคนไทยลืมง่าย เป็นตอนที่เราค้นคว้ากันอย่างหนักที่สุดตอนหนึ่งจากทั้งหมด ใช้เวลาเป็นเดือนเพื่อทำตอนนี้เพียงตอนเดียว เราคิดว่าเนื้อหาสำคัญมีเยอะมาก และคนไทยไม่ควรลืมเรื่องสำคัญเหล่านี้จริงๆ มีทั้งหมด 9 เรื่อง เราเลยเอาข้อมูลที่เราค้นคว้า ใส่เป็นเอกสารต่อยอดความรู้ “9 เรื่องในน้ำท่วม ที่เราไม่อยากให้ลืม” ให้คนโหลด เหมือนเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่ง แต่ปรากฎว่าจากยอดดูที่มีหลักหมื่น กลับมีคนโหลดเอกสาร ไปดูเพียงหลักพันเท่านั้น ทั้งที่เป็นสิ่งที่เราตั้งใจมาก”

รู้ สู้! Flood จึงสรุปว่า ความผิดพลาดในครั้งนี้ เป็นปัญหาเรื่องการวัดผล ที่ตอนก่อนหน้ามีลิงค์ให้โหลดข้อมูลเพิ่มจากแหล่งข้อมูลอื่นคู่ไปกับอินโฟกราฟฟิกที่ทำ แต่ทีมงานกลับไม่เคยไปเช็คดูว่า ยอดคนดูจะแตกต่างกับยอดคนโหลดมากขนาดนี้ หากมีการวัดผลจนรู้ก่อนหน้าว่า คนที่เข้ามาดูอินโฟกราฟฟิกกับคนที่โหลดงานมีจำนวนต่างกันขนาดนี้ ทีมงานอาจจะไม่ทำ หรือหาวิธีนำเสนอที่ดีกว่านี้

ถ้าจะให้วิเคราะห์ความสำเร็จ ทีมงานรู้ สู้! Flood มองว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเข้ามาถูกที่ ถูกเวลา รู้ว่าคนที่อยากจะพูดด้วย ต้องการอะไร และที่สำคัญคือการทำงานหนัก คิดให้มาก อยู่กับความเข้าใจและใช้เวลา เพื่อให้ได้เนื้อหาที่แข็งแรง น่าสนใจ คนฟังก็อยากฟังเวลาที่เราพูด

แต่อย่างที่กล่าวในตอนต้นว่า เคล็ดลับของการสื่อสารคือไม่มีเคล็ดลับ สูตรสำเร็จในการทำงานจึงไม่มี คำแนะนำทั้งหมดที่รู้ สู้! Flood บอก เป็นเพียงทิศทางคร่าวๆ ที่พวกเขาใช้ และได้ผลในเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา

“สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีโดยไม่ต้องไปเสาะหาที่ไหนคือสามัญสำนึก (common sense) ให้คิดว่าถ้าเราเป็นคนฟัง เวลามีคนมาพูดกับเราแบบนี้ เราจะเชื่อหรือไม่ ถ้าเชื่อ เป็นเพราะอะไร และถ้าไม่เชื่อ ทำไมถึงไม่เชื่อ มันเป็นพื้นฐานที่ทุกคนมี และสามารถทำให้การสื่อสารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพได้”

วันนี้ เมื่อเหตุการณ์อุทกภัยผ่านพ้นไป ทีมงานแต่ละคนจึงแยกย้ายกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของตัวเอง คนที่ทำงานก็กลับไปทำงาน คนที่เป็นนักเรียนก็กลับไปเรียน แต่ใช่ว่าบทบาทและหน้าที่ของเหล่าจิตอาสาจะยุติลง เขาเหล่านี้ยังคงความสัมพันธ์ของกลุ่มอาสาสมัคร ที่พร้อมจะออกมาทำประโยชน์ให้กับสังคม ขึ้นอยู่กับเวลาที่เหมาะสม แต่จะมาในชื่ออะไรนั้น คงเป็นเรื่องของอนาคต

กระบวนการคิด วิธีผลิตงานสื่อสาร สไตล์ "รู้ สู้! Flood"
กระบวนการคิด วิธีผลิตงานสื่อสาร สไตล์ "รู้ สู้! Flood"