ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดรายงานคุณภาพน้ำมาบตาพุด – พื้นที่ควบคุมมลพิษ จ.ระยอง (1) … ปนเปื้อนทั้งสารหนู เหล็ก แมงกานีส ห้ามบริโภค!!

เปิดรายงานคุณภาพน้ำมาบตาพุด – พื้นที่ควบคุมมลพิษ จ.ระยอง (1) … ปนเปื้อนทั้งสารหนู เหล็ก แมงกานีส ห้ามบริโภค!!

23 มกราคม 2012


แม้ว่าโครงการอุตสาหกรรมต่างๆ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจะเดินหน้าต่อไปได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าปัญหามลพิษในด้านต่างๆ ได้ถูกขจัดไปเรียบร้อยแล้ว

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้นำเสนอซีรี่ส์บทเรียนจากมาบตาพุด ที่กล่าวถึงปัญหาและผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งข้อมูลล่าสุดจากรายงานสำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ ได้จัดทำเอกสารเผยแพร่ “รายงานสถานการณ์คุณภาพน้ำและการดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำในเขตควบคุมมลพิษจังหวัดระยอง ประจำปี 2553” (ส่วนรายงานประจำปี 2554 อยู่ระหว่างดำเนินการ)

สำหรับเขตควบคุมมลพิษจังหวัดระยอง เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มี 5 นิคมอุตสาหกรรม เทศบาล 8 แห่ง ประชากรกว่า 130,000 คน โรงงาน 480 โรง ปริมาณน้ำทิ้งกว่า 184,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และมีปริมาณความสกปรกระบายออกในรูปของบีโอดีประมาณ 9,452 กิโลกรัมบีโอดีต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากโรงงานอุตสาหกรรม

จากรายงาน ได้มีการประเมินสถานการณ์และวิเคราะห์สภาพปัญหาคุณภาพน้ำในปี 2553 โดยมี 1. น้ำคลองสาธารณะ 2. น้ำทะเล ตะกอนดิน และสัตว์น้ำ 3. น้ำใต้ดิน ไว้ดังต่อไปนี้

น้ำคลองสาธารณะเสื่อมโทรม

โดยการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำคลองสาธารณะ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดระยอง ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2550 ต่อเนื่องจนถึงปี 2553 มีจุดตรวจวัดรวม 38 จุด ดำเนินการตรวจวัดจำนวน 3 ครั้งต่อปี โดยแบ่งช่วงเก็บตัวอย่างในฤดูฝนและฤดูแล้ง ครอบคลุมคลองสาธารณะ 16 สาย ได้แก่ คลองซากหมาก คลองน้ำหู คลองห้วยใหญ่ คลองตากวน คลองหลอด คลองบางเบิด คลองบางกระพรุน คลองน้ำตก คลองก้นปึก คลองคา คลองพยูน คลองน้ำดำ คลองทับมา คลองหนองคล้า คลองหนองผักหนาม และคลองกระเฉด

ผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำคลองสาธารณะพบว่า น้ำส่วนใหญ่ 37 จุดตรวจวัด ยังคงอยู่ในระดับเสื่อมโทรม และมี 1 จุด ที่อยู่ในระดับเสื่อมโทรมมากคือบริเวณคลองน้ำหู พบพารามิเตอร์ที่มีค่าเกินมาตรฐานคุณภาพแหล่งน้ำผิวดิน ได้แก่ ปริมาณออกซิเจนละลาย, ไนเตรต-ไนโตรเจน, แอมโมเนีย-ไนโตรเจน, แบคทีเรีย กลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด แบคทีเรียกลุ่มฟีคัลโคลิฟอร์ม สารหนู แมงกานีส และตะกั่ว โดยมีข้อสังเกตว่า แบคทีเรียทั้ง 2 กลุ่ม และโลหะหนัก 3 ชนิด ที่มีค่าเกินมาตรฐานนั้นมักพบในคลองเดิมที่เคยตรวจพบเป็นประจำ

รายงานระบุสภาพน้ำคลองสาธารณะว่า

1. คลองพยูน: บริเวณต้นคลองมีปริมาณน้ำมาก และมีความสกปรกค่อนข้างสูง มีกลิ่นเหม็น ต้นคลองมีค่าความเค็มค่อนข้างสูงในทุกครั้งที่มีการตรวจวัด แต่บริเวณปากคลองก่อนไหลออกสู่ทะเลมีปริมาณน้ำมากขึ้น ค่อนข้างใส และมีค่าความเค็มต่ำกว่าบริเวณต้นคลอง โดยมีชุมชนใกล้เคียง ได้แก่ ตลาดบ้านฉาง

2. คลองบางกระพรุน: น้ำมีปริมาณค่อนข้างมากตลอดทั้งปี ตลอดแนวคลองมีการดาดซีเมนต์เสริมเหล็กจนถึงปากคลองก่อนลงทะเล น้ำขุ่นไหลค่อนข้างเร็ว มีกลิ่นเหม็นเล็กน้อย บางช่วงมีตะกอนขุ่นและปนเปื้อนคราบสกปรก โดยส่วนใหญ่ไหลผ่านพื้นที่เกษตรกรรม เช่น มันสำปะหลัง และชุมชนหนองแฟบบางส่วน

3. คลองบางเบิด: มีการดาดซีเมนต์เช่นเดียวกัน บริเวณต้นคลองก่อนไหลผ่านนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก ปริมาณน้ำน้อย ใส มีกลิ่นเล็กน้อย แต่เมื่อผ่านนิคมฯ น้ำมีปริมาณมากขึ้น มีสีน้ำตาลแดง มีตะกอนหนาแน่นมาก ไหลค่อนข้างเร็ว มีกลิ่นเหม็นจนถึงบริเวณปากคลองก่อนออกสู่ทะเล

4. คลองน้ำหู: เป็นคลองชลประทาน น้ำบริเวณต้นคลองมีสีดำคล้ำ พืชน้ำพวกผักตบชวาหนาแน่น มีกลิ่นเหม็นมาก พื้นที่คลองส่วนใหญ่ผ่านบริเวณชุมชนต่างๆ น้ำมีสีน้ำตาลขุ่น ปากคลองมีประตูระบายน้ำ สภาพน้ำนิ่ง มีตะกอนหนาแน่นสีดำ กลิ่นเหม็นเล็กน้อย เป็นคลองที่รับน้ำทิ้งจากหมู่บ้านจัดสรรบริเวณต้นคลองมากสุด ไหลผ่านชุมชนคลองน้ำหูและเกาะกก-หนองแตงเม

5. คลองห้วยใหญ่: บริเวณต้นคลองปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย ต้นไหลช้า พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนยางพาราและชุมชน เมื่อเข้าเขตชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม น้ำมีปริมาณมากขึ้น ไหลแรง สีเทาดำและมีกลิ่นเหม็น ทั้งนี้ คลองมีการขุดลอกตั้งแต่ต้นคลองจนถึงชุมชนบ้านล่าง และมีการดาดซีเมนต์ตลอดแนวคลองก่อนเชื่อมกับคลองน้ำหู

6. คลองซากหมาก: บริเวณต้นคลองไหลผ่านนนิคมมาบตาพุด น้ำมีปริมาณค่อนข้างมาก ไหลแรงมีกลิ่นเหม็นเล็กน้อย เมื่อไหลผ่านนิคมฯ น้ำมีปริมาณมากขึ้น สีดำคล้ำ มีกลิ่นเหม็น ตลอดแนวคลองดาดซีเมนต์และมีการระบายน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม บริเวณปากคลองมีตะกอนสีดำคล้ำและมีกลิ่นเหม็นเป็นวงกว้าง โดยส่วนหนึ่งไหลผ่านชุมชนมาบชลูดและตากวน-อ่าวประดู่

บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ทำน้ำมันก๊าดผสมน้ำกว่า 10 ลิตร รั่วไหลลงคลองซากหมาก ที่มาภาพ : http://www.npc-se.co.th/backoffice/stock_photo/A_1386.jpg
บริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ทำน้ำมันก๊าดผสมน้ำกว่า 10 ลิตร รั่วไหลลงคลองซากหมาก ที่มาภาพ : http://www.npc-se.co.th/backoffice/stock_photo/A_1386.jpg

7. คลองตากวน: เป็นคลองที่รับน้ำจากคลองน้ำหูและคลองห้วยใหญ่ น้ำมีปริมาณมาก ไหลแรง มีตะกอนขุ่น มีกลิ่นเหม็นเล็กน้อย ตลอดแนวมีหินถมตลิ่งทั้งสองฝั่ง เป็นคลองที่ได้รับอิทธิพลจากการขึ้นลงของน้ำทะเล และบริเวณปากคลองมีเรือประมงค่อนข้างหนาแน่น แต่มีความสกปรกน้อยกว่าคลองซากหมาก ชุมชนใกล้เคียง ได้แก่ ตากวนอ่าวประดู่ และกรอกยายชา

8. คลองหลอด: น้ำน้อย ไหลช้า มีตะกอนขุ่น เนื่องจากการปนเปื้อนของอุตสาหกรรมแป้งมันริมคลอง ดาดซีเมนต์ตลอดแนวคลอง น้ำในบริเวณตลาดมาบตาพุด ปริมาณน้ำมีมากขึ้น สีดำคล้ำ และมีกลิ่นเหม็นมาก ก่อนไหลบรรจบกับคลองห้วยใหญ่ ไหลผ่านชุมชนตลาดห้วยโป่ง บ้านพลง วัดโสภณ และซอยร่วมพัฒนา

9. คลองก้นปึก: ต้นคลองบริเวณหลังโรงงานไออาร์พีซี พืชน้ำยืนต้นหนาแน่น เช่น โกงกาง น้ำค่อนข้างมาก น้ำขุ่นมีตะกอน ไหลช้า มีกลิ่นเหม็นเล็กน้อย คลองก้นปึกได้รับน้ำส่วนหนึ่งจากคลองคา บริเวณหมู่บ้านชาวประมงมีเรือหนาแน่นบริเวณปากคลองก่อนออกสู่ทะเล

10. คลองทับมา: ต้นคลองได้รับน้ำจากคลองกระเฉด คลองหนองผักหนามและคลองช้างตาย ปริมาณน้ำค่อนข้างมาก ไหลช้า มีตะกอนขุ่นสีขาว พืชน้ำหนาแน่นบริเวณริมคลอง เมื่อน้ำผ่านชุมชน ปริมาณน้ำมากขึ้น น้ำขุ่น มีกลิ่นเล็กน้อย คลองทับมาไม่มีการดาดซีเมนต์ แต่ความสกปรกได้รับจากชุมชนเป็นสำคัญก่อนไหลลงสู่ทะเล เช่น ชุมชนบ้านทับมา เกาะลอย บ้านหัวไทร บ้านหนองเต่าและบ้านเชิงเนิน

11. คลองหนองผักหนาม: ต้นคลองมีน้ำค่อนข้างมากตลอดปี มีสีขุ่นขาวหนาแน่นเนื่องจากมีการดูดทราย น้ำไม่มีกลิ่น พืชน้ำกระจายทั่วไป ความสกปรกส่วนใหญ่มาจากชุมชน เช่น ชุมชนมาบข่า มาบข่าล่าง บ้านหนองผักหนาม บ้านหนองปรือ ใช้ที่ดินบริเวณคลองทำเกษตรกรรม เช่น สวนยางพารา สวนสับปะรด และผลไม้ต่างๆ นอกจากนี้ พื้นที่ส่วนหนึ่งยังมีสภาพเป็นป่ากระจายอยู่ทั่วไป

12. คลองกระเฉด: ต้นคลองรับน้ำจากคลองหนองคล้าและคลองช้างตาย สภาพคลองมีการขุดลอกให้กว้างขึ้น น้ำค่อนข้างใส ไหลช้า มีสาหร่ายหนาแน่นกระจายอยู่ทั่วไป ช่วงล่างคลองมีน้ำมาก น้ำนิ่ง ขุ่นเล็กน้อย มีพืชน้ำมาก พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ทำเกษตรกรรม เช่น ยางพารา สวนผลไม้ มีชุมชนใกล้เคียง ได้แก่ บ้านกระเฉดบน บ้านกระเฉดล่าง

13. คลองหนองคล้า: บริเวณต้นคลองมีน้ำค่อนข้างน้อย ตื้น ไหลแรง ค่อนข้างใส มีกลิ่นเหม็นเล็กน้อย เมื่อไหลผ่านบริเวณท้ายนิคมฯ พัฒนา น้ำมีปริมาณมาก มาจากการระบายน้ำออกจากนิคมฯ ก่อนไหลไปบรรจบกับคลองกระเฉด โดยมีชุมชนใกล้เคียง ได้แก่ บ้านหนองหิน บ้านมาบใหญ่ บ้านหนองคล้า เป็นต้น พื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นป่าไม้และเกษตรกรรม

14. คลองคา: ต้นคลองอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรม น้ำมีปริมาณค่อนข้างมาก ขุ่นเล็กน้อย ไหลช้า ไม่มีกลิ่น เมื่อเข้าสู่เขตชุมชนน้ำมีปริมาณมากขึ้น ขุ่น มีกลิ่นเหม็นเล็กน้อย ก่อนเข้าสู่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาคลองคา ซึ่งมีประตูระบายน้ำก่อนบรรจบกับคลองก้นปึก ชุมชนใกล้เคียง ได้แก่ บ้านแลง บ้านหนองโพ บ้านคลองคา

15. คลองน้ำตก: เป็นคลองสายสั้นๆ ต้นคลองน้ำมาก ใสเล็กน้อยไม่มีกลิ่น แต่ก่อนถึงปากคลองมีน้ำมากขึ้น ขุ่น มีกลิ่นเหม็นเล็กน้อย พืชน้ำค่อนข้างหนาแน่น มีชุมชนใกล้เคียง ได้แก่ ชุมชนบ้านเนินโป่ง บ้านน้ำริน

16. คลองน้ำดำ: ต้นคลองน้ำน้อย เมื่อเข้าสู่เขตชุมชนน้ำมาก สีดำคล้ำมีกลิ่นเหม็น เข้าระบบบำบัดน้ำเสียของเทศบาลเมืองมาบตาพุดก่อนมาบรรจบกับคลองซากหมาก น้ำมีปริมาณมาก สีคล้ำมีกลิ่นเหม็นเล็กน้อย มีชุมชนใกล้เคียง ได้แก่ ชากลูกหญ้า มาบชลูด และตลาดมาบตาพุด

น้ำเสียที่ปล่อยลงทะเลที่มาบตาพุด ที่มาภาพ : http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/528/2528/images/mab9.jpg
น้ำเสียที่ปล่อยลงทะเลที่มาบตาพุด ที่มาภาพ : http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/528/2528/images/mab9.jpg

น้ำทะเล ตะกอนดิน และสัตว์น้ำ

จากการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเล บริเวณที่มีการระบายน้ำทิ้งจากฝั่งในพื้นที่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และพื้นที่ใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง 3 ครั้ง เพื่อศึกษาการปนเปื้อน รวมถึงสืบหาแหล่งกำเนิดมลพิษที่เป็นสาเหตุของการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมทางทะเล มีจุดเก็บตัวอย่างน้ำทะเล 22 จุด ตะกอนดินผิวหน้า 10 จุด และมีการสุ่มเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำ เช่น หอยแมลงภู่ ตัวแทนสัตว์ประเภท Plankton Feeder ที่กินแพลงตอนเป็นอาหาร ปูม้า เป็นตัวแทนสัตว์ประเภท Pelagic Feeder ที่อาศัยและหากินกลางน้ำ ปลากระบอก เป็นตัวแทนสัตว์ประเภท Interface Feeder ที่หากินบริเวณผิวสัมผัส เช่น ผิวน้ำ ผิวของหญ้าทะเล ผิวของหินใต้น้ำ ผิวของรากไม้ในป่าชายเลน เป็นต้น

การเก็บตัวอย่างครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ปากคลองบางกระพรุน ปากคลองบางเบิด จุดระบายน้ำโรงไฟฟ้าโกลว์ ภายในท่าเทียบเรือ จุดสูบน้ำเข้าและออกของระบบระบายความร้อนโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ปากคลองซากหมาก หาดทรายทอง บริเวณกระชังเลี้ยงหอย และปากคลองตากวน

ผลการตรวจสอบพบว่า 21 จุด อยู่ในระดับเสื่อมโทรมมาก โดยมีเพียงจุดเดียวที่อยู่ในระดับเสื่อมโทรม คือบริเวณท่าเทียบเรือ ทั้งนี้ พารามิเตอร์มีค่าเกินมาตรฐานคุณภาพแหล่งน้ำทะเล ได้แก่ ออกซิเจนละลาย แบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด แบคทีเรียกลุ่มฟีคัลโคลีฟอร์ม สังกะสี แมงกานีส ปรอท สารหนู และปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน

ส่วนคุณภาพของตะกอนผิวหน้าดิน พบปัญหาปากคลองซากหมากมีลักษณะเป็นดินตะกอนสีดำ มีกลิ่นไฮโดรเจนซัลไฟด์ (ก๊าซไข่เน่า) บริเวณปากคลองตากวน มีลักษณะเป็นดินตะกอนสีดำเช่นกัน แต่ไม่มีกลิ่นไฮโดรเจนซัลไฟด์ ทั้งนี้ ในปี 2553 ปริมาณโลหะหนักในตะกอนดินดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำบ่อยครั้งในทุกพารามิเตอร์

ส่วนคุณภาพเนื้อเยื่อสัตว์น้ำพบว่ามีสารปนเปื้อน

น้ำใต้ดิน…บ่อน้ำตื้น-น้ำบาดาล

เป็นการตรวจสอบคุณภาพน้ำใต้ดินในพื้นที่่ 33 ชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และพื้นที่ในเขตควบคุมมลพิษจังหวัดระยอง โดยเก็บตัวอย่างในเขตควบคุมมลพิษฯ 94 บ่อ แบ่งเป็นแหล่งน้ำบาดาล 29 บ่อ บ่อสังเกตการณ์ 18 บ่อ และบ่อน้ำตื้น 47 บ่อ แบ่งการประมวลผลการวิเคราะห์ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. ข้อมูลน้ำบ่อตื้น ซึ่งเป็นบ่อที่ประชาชนใช้บริโภคในครัวเรือน 2. ข้อมูลบ่อน้ำใต้ดิน ที่เป็นบ่อสังเกตการณ์และบ่อน้ำบาดาล พบว่าการปนเปื้อนส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากโลหะหนัก โดยการปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยง่าย ที่พบจำกัดในบางพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตโรงงานอุตสาหกรรม

เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำบ่อตื้นระหว่างปี 2551-2553 ที่มา : สำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ
เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำบ่อตื้นระหว่างปี 2551-2553 ที่มา : สำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ

ผลที่พบจากการตรวจสอบบ่อน้ำตื่นมีดังนี้

1. สารหนู (As): มีปริมาณสูงสุด 0.3360 มิลลิกรัม/ลิตร และปริมาณเฉลี่ย 0.0177 มิลลิกรัม/ลิตร (มาตรฐานกำหนดไม่สูงกว่า 0.01 มิลลิกรัม/ลิตร)

2. เหล็ก (Fe): พบปริมาณสูงสุดเท่ากับ 26 มิลลิกรัม/ลิตร ปริมาณเฉลี่ย 2.6601 มิลลิกรัม/ลิตร (มาตรฐานสำหรับน้ำบริโภคไม่สูงกว่า 1 มิลลิกรัม/ลิตร ส่วนมาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดินไม่ได้กำหนด)

3. นิกเกิล(Ni): พบปริมาณสูงสุด 0.021 มิลลิกรัม/ลิตร ปริมาณเฉลี่ย 0.0056 มิลลิกรัม/ลิตร(มาตรฐานกำหนดให้ไม่สูงกว่า 0.02 มิลลิกรัม/ลิตร)

4. แมงกานีส (Mn): พบปริมาณสูงสุด 4.20 มิลลิกรัม/ลิตร ปริมาณเฉลี่ย 0.5015 มิลลิกรัม/ลิตร (มาตรฐานไม่สูงกว่า 0.05มิลลิกรัม/ลิตร)

5. ตะกั่ว (Pb): พบปริมาณสูงสุด 0.027 มิลลิกรัม/ลิตร ปริมาณเฉลี่ย 0.0060 มิลลิกรัม/ลิตร (มาตรฐานกำหนดไม่สูงกว่า 0.01 มิลลิกรัม/ลิตร)

6. ซีลีเนียม (Se): พบปริมาณสูงสุด 0.017 มิลลิกรัม/ลิตร ปริมาณเฉลี่ย 0.0054 มิลลิกรัม/ลิตร (มาตรฐานกำหนดไม่สูงกว่า 0.01 มิลลิกรัม/ลิตร)

7. ไดคลอโรมีเทน: พบการปนเปื้อนสูงสุด 6.9 ไมโครกรัม/ลิตร ปริมาณเฉลี่ย 0.3308 ไมโครกรัม/ลิตร (มาตรฐานกำหนดไม่สูงกว่า 5 ไมโครกรัม/ลิตร)

8. 1,2-ไดคลอโรอีเทน: พบการปนเปื้อนสูงสุด 76.1 ไมโครกรัม/ลิตร ปริมาณเฉลี่ย 2.4794 ไมโครกรัม/ลิตร (มาตรฐานกำหนดไม่สูงกว่า 5 ไมโครกรัม/ลิตร)

9. คาร์บอนเตตระคลอไรด์: พบการปนเปื้อนสูงสุด 125 ไมโครกรัม/ลิตร ปริมาณเฉลี่ย 4.3981 ไมโครกรัม/ลิตร (มาตรฐานกำหนดไม่สูงกว่า 5 ไมโครกรัม/ลิตร

10. ไวนิลคลอไรด์: พบการปนเปื้อนสูงสุด 6.0 ไมโครกรัม/ลิตร ปริมาณเฉลี่ย 0.2731 ไมโครกรัม/ลิตร (มาตรฐานกำหนดไม่สูงกว่า 2 ไมโครกรัม/ลิตร)

เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำบาดาลระหว่างปี 2551-2553 ที่มา : สำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ
เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำบาดาลระหว่างปี 2551-2553 ที่มา : สำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ

รายงานระบุว่า การตรวจวัดคุณภาพน้ำในบ่อตื้นในช่วงปี 2551-2553 พบพารามิเตอร์ที่เป็นปัญหาของพื้นที่เขตควบคุมมลพิษจังหวัดระยอง ได้แก่ สารหนู เหล็ก แมงกานีส พบว่าค่าเฉลี่ยของการตรวจวัดตลอดทั้ง 3 ปี มีค่าไม่ได้มาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดินอย่างต่อเนื่อง จึงมีคุณภาพไม่เหมาะสมกับการใช้บริโภคในระยะยาว

เช่นเดียวกับคุณภาพน้ำบาดาลในช่วงปี 2551-2553 ตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนสารหนู เหล็ก แมงกานิส ทั้ง 3 ปี ค่าเฉลี่ยไม่ได้ตามมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง และสารอื่นๆ เช่น ตะกั่ว นิกเกิล และไวนีลคอลไรด์ เฉลี่ยเกินค่ามาตรฐาน ดังนั้น น้ำบาดาลในพื้นที่ดังกล่าวจึงมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมกับการใช้บริโภคในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่ผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำเสียก่อน

(ตอนหน้าจะนำเสนอข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษทางน้ำ ว่ามาจากไหน)